ความเป็นเด็กในสายตาของคุณเป็นอย่างไร? ชวนมอง ‘ความเป็นเด็ก’ ใหม่ที่มากกว่าแค่การเรียนรู้และเชื่อฟัง

‘ความเป็นเด็ก’ ในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร?

เด็กคือ ‘ผ้าขาว’ ที่ต้องรอการ ‘แต้มสี’ จากพ่อแม่จริงไหม?

การจะเป็น ‘เด็กดี’ ได้ ต้อง ‘เชื่อฟัง’ ผู้ใหญ่แต่เพียงเท่านั้น?

ไม่ควรเถียงอะไร เพราะผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน

ประโยคเหล่านี้สะท้อนถึงมุมมองของสังคมที่มีต่อเด็กหรือเปล่า

วันนี้ Mappa อยากชวนทุกคนมาลองทบทวนมุมมองเหล่านี้กันอีกครั้ง

เพราะคุณสมบัติของ ‘ความเป็นเด็ก’ อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่เท่าที่ระบุในภาพจำ แต่ยังรวมไปถึงการต้องอาศัยทั้งนิเวศรอบตัวและคนรอบข้าง เพื่อทำความเข้าใจว่าการเติบโตของเด็กสักคนหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจของคนทั้งสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่งร่วมกัน

เด็กอาจไม่ใช่คือ ‘ผ้าขาว’ ที่รอการ ‘แต้มสี’ จากพ่อแม่เสมอไป

หากแต่พวกเขาก็มีวิธีเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในแบบของพวกเขาเอง

(และเราสามารถเรียนรู้บางอย่างได้จากพวกเขาเช่นกัน)

การเปรียบเทียบว่าเด็กทุกคนคือผ้าขาวอาจเป็นความเข้าใจผิดที่น่าเสียดาย เพราะว่าการเปรียบเทียบเช่นนี้จะทำให้เรามองไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายที่เด็กแต่ละคนมี

อีกทั้ง ลวดลายหลากสีที่ถูกแต่งเติมอาจเปรียบได้กับสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่พ่อและแม่ แต่การประกอบสร้างเด็กสักคนหนึ่งต้องอาศัยคนรอบข้างอีกหลายคน และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโต

และเด็กอาจไม่ได้เป็นเพียงผู้เรียนรู้ฝ่ายเดียวเสมอไป เพราะเราก็อาจเป็นผู้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างได้จากพวกเขาเช่นเดียวกัน

เราและเด็กๆ สามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้อย่างไม่รู้จบ

เรามักพูดกันอย่างติดปากว่า “อยากกลับไปเป็นเด็ก เพราะเจ็บสุดก็แค่หกล้ม”

ในประโยคนี้สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง

อย่างแรก อาจมองได้ว่าเด็กไม่คิดอะไรมาก และสามารถเป็นขวบวัยที่ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ได้อย่างง่ายดายเพียงแค่มีใครสักคนเป่าแผลให้และเยียวยาด้วยไอศกรีมแท่งโปรด

หรือในแง่อีกหนึ่ง วัยผู้ใหญ่เป็นอะไรที่เราทำให้ความไร้เดียงสาหล่นหายไปกับระหว่างทางที่สั่งสมประสบการณ์ จนกลายมาเป็นเราที่เป็นเรา ที่ความวัยเยาว์อาจหล่นหายไปดังเช่นในทุกวันนี้

เด็กๆ สามารถ ‘ตั้งคำถาม’ และ ‘แสดงความคิดเห็น’ ได้

มายาคติว่าด้วยการจะเป็น ‘เด็กดี’ ได้ต้อง ‘เชื่อฟัง’ ผู้ใหญ่ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าสังคมกล่อมเกลาวิถีปฏิบัติของเด็กไทยอย่างไร

ทั้งที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการปิดกั้นความคิดของเขาโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งจะส่งผลให้เขากลายเป็นคนไม่กล้าคิด และอาจกลายเป็นคนไม่กล้าพูด หรือไม่กล้าลงมือทำตามไปด้วย 

นั่นจึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายว่าเราอาจพลาดความคิดที่น่าสนใจหลายอย่าง เพียงเพราะเราบอกเขาว่าเป็นเด็กต้องไม่เถียงผู้ใหญ่

ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเรียนรู้จากการเรียนการสอนแบบให้เชื่อ จำ และนำไปใช้อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงสุดเสมอไป

แต่ ‘การตั้งคำถาม’ ต่างหากที่เป็นจุดสำคัญ

และนั่นต้องมาพร้อมกับการเปิดโอกาสให้พวกเขาแสดงความคิดเห็น

เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงได้เจออะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่ในตำราเรียน

เราอาจใช้กระบวนการออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design) ที่หมายถึงแนวคิดที่ทำให้ผู้เรียนรู้ได้รับประสบการณ์หลายรูปแบบ เช่น การจัดกิจกรรม (workshop) การทดลอง (experiment) การตั้งคำถาม (inquiry) การเล่นเกม (game based) การออกแบบรูปแบบการบรรยายเพื่อกระตุ้นความคิด (leisure) หรืออื่นๆ ที่เหมาะสมกับสไตล์การเรียนรู้ของแต่ละคน

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างมายาคติที่เกี่ยวกับ ‘ความเป็นเด็ก’ ที่สังคมไทยหล่อหลอมเรามา ซึ่งเมื่อคลี่ออกมาดูนั้นจะทำให้ยิ่งเห็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นส่วนประกอบสร้างความเข้าใจผิดๆ เหล่านี้ เช่น การเรียนรู้ในรูปแบบเดิมๆ ความเข้าใจเก่าๆ ที่แฝงฝังในสังคมที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งเมื่อความเชื่อและคุณค่าเหล่านั้นถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมาโดยปราศจากการตั้งคำถาม นั่นจึงทำให้ความเข้าใจเหล่านั้นถูกผลิตซ้ำราวกับเป็นวาทกรรมที่อยู่คู่สังคมมาโดยตลอด

ในวันนี้เราอยากชวนทุกคนมา Relearn ความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับความเป็นเด็กเหล่านี้

อาจจะเริ่มมองจากสิ่งต่างๆ หรือเหตุการณ์ใกล้ตัวก่อนก็ได้

หรือถ้าอยากเรียนรู้ด้วยกัน แวะมางาน Relearn Festival 2024 ของ Mappa ในวันที่ 27-28 มกราคม 2567 นี้ที่มิวเซียมสยามได้นะ 🙂


Writer

Avatar photo

รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts