“การศึกษาไทยตอนนี้ ไม่ใช่เดินตามหลัง แต่กำลังเดินหลงทาง” เปิด #งบประมาณ2567 การศึกษาไทย ที่ยังคงมีปัญหาเรื่องการจัดสรรปันส่วนและลำดับความสำคัญ

ช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ผ่านมา (5 มกราคม 2566) ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นวันสุดท้าย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีประเด็นสำคัญอย่างเรื่องของ ‘งบประมาณด้านการศึกษา’ ของกระทรวงศึกษาธิการไทย ที่มีการตัดลดงบฯ บางส่วน และมีการจัดสรรปันส่วนงบประมาณผิดที่ผิดทาง ไม่ตรงกับวิกฤตการศึกษาที่สังคมเผชิญอยู่

พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ได้เริ่มอภิปรายโดยการหยิบยกการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาดังกล่าวเพื่อฉายภาพว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตการศึกษาใหญ่ๆ ถึง 3 ด้าน ได้แก่

1. จากผลการสอบวัดผลสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยมีคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งยังลดลงและห่างจากค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มากขึ้น

2. ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึง ‘โอกาส’ ในการศึกษา และเด็กส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในกลุ่มที่ถูกประเมินว่ายัง ‘ขาดทักษะ’ ในการนำความรู้มาใช้งานในชีวิตจริง

3. เด็กไทยไม่มีความสุขในโรงเรียนเพราะความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ทั้งในแง่สุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ ทั้งยังพบว่า 3 ใน 10 ของเด็กไทยต้องอดอาหาร 1 ครั้งต่อสัปดาห์เพราะไม่มีเงินซื้ออาหาร และบางส่วนรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ เมื่อต้องไปโรงเรียน

“ปัญหาที่ก่อให้เกิดวิกฤตเหล่านี้ ไม่ได้มาจาก ‘ปริมาณทรัพยากร’ แต่อยู่ที่ ‘ประสิทธิภาพ’ ในการจัดสรรทรัพยากร” โฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวย้ำเพิ่มเติม ก่อนจะเสนอถึง ‘ทางออก’ ด้วยการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนต่างๆ เสียใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่การเพิ่มงบประมาณไปเสียทั้งหมด แต่เน้นไปที่การจัดสรรปันส่วนในงบประมาณเหล่านั้นให้เหมาะสมกับวิกฤตที่กำลังเผชิญ

“เหมือนกับคนที่มีปัญหาหัวใจ จะให้เลือดเขาเพิ่มแค่ไหนก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ วันนี้เราจึงต้องผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ชื่องบประมาณการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 4 ห้องตามประเภทการใช้จ่าย”

หัวใจ 4 ห้อง จัดสรรปันส่วนงบประมาณการศึกษาเสียใหม่

ห้องที่ 1 งบบุคลากร อันหมายถึงครอบคลุมค่าตอบแทนของครูและบุคลากรในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ (คิดเป็น 64%)

ห้องที่ 2 เงินอุดหนุนนักเรียน ด้วยโครงการเรียนฟรี 15 ปี และเงินอุดหนุนผู้ปกครองผ่านกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (คิดเป็น 26%) 

ห้องที่ 3 งบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการพัฒนาระบบการศึกษา (คิดเป็น 4%)

ห้องที่ 4 งบนโยบายที่ใช้ในแผนงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบการศึกษา (คิดเป็น 6%)

ทั้งนี้ หนึ่งในงบประมาณที่สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)​ ปรับลดไปดังที่ปรากฏในงบประมาณปี 2567 คือ โครงการเกี่ยวกับเด็กพิการลดลงถึง 37% (จาก 557 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ลดลงมาเหลือ 351 ล้านบาท) ส่วนของเด็กด้อยโอกาส ปรับลดถึง 45% เช่นกัน (จาก 418 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ลดลงมาเหลือ 230 ล้านบาท) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะอยู่ในส่วนของงบลงทุนด้านการก่อสร้างในด้านการศึกษา

พริษฐ์กล่าวต่อว่า ความน่าเป็นห่วงก็คือ การที่ภาพรวมของการตั้งโครงการในงบประมาณของรัฐบาลชุดปัจจุบันแทบจะไม่แตกต่างกับรัฐบาลชุดก่อนหน้า รวมถึงยังเข้าทางในลักษณะ ‘เบี้ยหัวแตก’ อีกด้วย เพราะมีการจัดสรรงบประมาณไปยังโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อโครงการ ราวกับว่าพยายามจะ ‘หว่านแห’ ให้เห็นว่ากำลังดำเนินการหลายโครงการพร้อมๆ กัน ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลควรยืนยันในแง่ความโปร่งใสไม่ทุจริต และเพื่อไม่ให้โครงการที่จะจัดตั้งมีความซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

วิกฤต ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ที่เป็นปัญหาขนาดใหญ่

ทางด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเกี่ยวกับวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งหมายถึง โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีงบประมาณจัดสรรที่เพียงพอ นักเรียนน้อย ครูก็น้อยตาม ซึ่งยากต่อการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ 

“การศึกษาไทยตอนนี้ ไม่ใช่เดินตามหลัง แต่กำลังเดินหลงทาง 

เดินตามหลังนั้นยังดี แม้ไปถึงช้าก็ยังไปถึง

แต่เดินหลงทางมองไปไม่เจอใคร ยิ่งเดินต่อไป ยิ่งเข้ารกเข้าพง” 

“งบประมาณปี 2567 กระทรวงศึกษาธิการยังไม่แก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจริงจัง การควบรวมโรงเรียนก็ไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้า และมีแนวโน้มน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งงบประมาณบริหารจัดการต้องมากกว่าหลักร้อยล้าน”

วิโรจน์กล่าวต่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ผลคะแนน PISA ของเด็กไทยตกต่ำ มาจากวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็กเช่นเดียวกัน ซึ่งได้เสนอแนะรัฐบาลต่อว่า หากให้ความสำคัญในการบริหารงบประมาณและแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ จะสามารถลดงบประมาณได้ถึง 12,985 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งหากนำมารวมกับการปรับลดงบรายจ่ายอื่นที่สร้างภาระทางการศึกษาอีก 2,117 ล้านบาทต่อปี จะมีเงินจัดสรรใหม่อีก 15,102 ล้านบาทต่อปี

หากทำได้ดังนั้นแล้ว งบที่จัดสรรใหม่สามารถนำไปอุดหนุนเฉพาะกิจได้ถึง 4 พันล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศนำไปใช้ทำรถโรงเรียนภายในจังหวัด เพื่อให้เด็กทุกคนเดินทางไปเรียนได้ ส่วนอีก 6.6 พันล้านบาท สามารถนำไปจัดสรรงบให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อช่วยเด็กยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน ให้ได้รับทุนเสมอภาคเพิ่มจาก 3 พัน เพิ่มเป็น 4.2 พันบาทต่อคนต่อปีได้ทันที และหากเป็นไปตามนี้จะไม่มีเด็กยากจนที่ตกหล่นอีกด้วย


Writer

Avatar photo

รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

Culture

mappa ชวนอ่าน

‘ความสัมพันธ์’ เป็นสิ่งที่สอนยากที่สุด แต่เรียนรู้ง่ายที่สุด : ชุดนิทาน Kidscape บอกเราอย่างนั้น