ในวันที่เราดูและฟังมากกว่า 5 หนังสือเยียวยาใจที่บรรณารักษ์ชวนอ่าน

  • ดู อ่าน ฟัง คุณเสพสื่อผ่านช่องทางไหนมากที่สุด?
  • “ดูเเละฟัง” คือ ช่องทางการเสพสื่อช่วงนี้ของสองบรรณารักษ์จากหอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เเต่เก็บการอ่านไว้ฮีลใจเเละกิจกรรมยามว่างช่วงวันหยุด 
  • เพราะการอ่านไม่จำเป็นต้องพบข้อคิดยิ่งใหญ่ ชวนดู 5 หนังสือเยียวยาใจที่บรรณารักษ์ชวนอ่าน

ข้อมูลการอ่านของประชากรไทยของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้’ (TK park) ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 พบว่า ช่วงอายุ 15-24 ปี จำนวน 8.9 ล้านคน ใช้เวลากับการอ่าน 109 นาทีต่อวัน โดยอ่านหนังสือ 96.5% เเละมีจุดประสงค์การอ่านเพื่อเพิ่มความรู้

ส่วนเหตุผลที่ไม่ชอบอ่าน อันดับต้นๆ คือ ชอบดูมากกว่าอ่าน เช่นเดียวกับสองเเอดมินหอสมุดธรรมศาสตร์ ‘จุ๊บแจง’ พิมพ์ชนก สิริพงศ์ทักษิณ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยสื่อสารองค์กรและเครือข่าย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘แพรว’ แพรววนิต ประสิทธิ์เวโรจน์ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สังกัดงานบริการ หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เป็นคนทำงานด้านการอ่าน ตกหลุมรักในการอ่านเเต่ช่วงนี้กลับไม่ค่อยได้อ่าน 

จึงเป็นที่มาของการเเชร์หนังสือ 5 เล่มโปรดเเละพูดคุยเรื่อง ‘การอ่าน’ กับสองเเอดมินหอสมุดธรรมศาสตร์ที่มองว่า ถึงจะไม่ได้อ่าน เเต่การอ่านคือช่วงเวลาสำหรับการเยียวยาใจเเละเก็บเข้าลิสต์ในวันหยุด

ถึงจะบอกกันว่าคนหันไปหาการดูและฟังมากขึ้น เเต่ทั้งคู่เชื่อว่าการอ่านจะเข้ามาเก็บรายละเอียดที่ขาดหายไปจากสื่อต่างๆ การทอดเวลากับตัวหนังสือตรงหน้าจะยิ่งทำให้เข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นมากขึ้น

จุ๊บแจง’ พิมพ์ชนก สิริพงศ์ทักษิณ

ทั้งสองคนคิดว่าการอ่านสำคัญอย่างไร

จุ๊บแจง: ตอนเด็กๆ พ่อเเม่เเละคุณตา รวมถึงคนอื่นในบ้านจุ๊บเเจงเป็นนักอ่านตัวยง เวลาเห็นเขาอ่านเราก็ไปหยิบมาอ่านตาม ตอนเด็กๆ อาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร อย่างตอนเด็กๆ เคยอ่านว่า เปลือกไข่กันมด กันเเมลงได้ ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไร เเต่พอโตมีบ้าน มีคอนโด เราก็สามารถนำหลักคิดหรือประโยชน์จากสิ่งที่อ่านมาใช้ได้

หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เรายังไม่เคยประสบ แต่หนังสือบอกเล่ารายละเอียดหรือประสบการณ์ทุกอย่างโดยที่เราไม่ต้องไปพบเจอเอง อันนี้ก็ถือว่าเป็นเหมือนผู้หยั่งรู้ให้เราล่วงหน้า 

เเพรว: สมัยก่อนเราไม่ค่อยอ่าน เเต่เเพรวก็อยู่ในสภาพเเวดล้อมที่คนรอบข้างอ่านหนังสือพอสมควร เเต่รูปเเบบการอ่านจะแตกต่างออกไป ตอนเด็กๆ อยู่กับครอบครัวใหญ่ มีอาเจ็กอยู่ เขาจะชอบอ่านพวกการ์ตูนมังงะ เราก็จะอ่านด้วย พอประถม อาเจ็กอีกฝั่งหนึ่งอ่านวรรณกรรม เวลาไปร้านหนังสือ เขาก็จะแนะนำวรรณกรรมเด็กให้อ่าน เข้าช่วงมัธยม อยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ชอบอ่านนิยาย เด็กดี จะเห็นได้ว่าแต่ละช่วงวัยเรามีการอ่านที่แตกต่างกันไป

เมื่อลองอ่านเเล้วก็รู้ว่าทักษะนี้ช่วยเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น มีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้เเต่รู้จากการอ่านเเละทำให้เราทันคนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สุภาษิต ถ้าไม่รู้กฎหมายจะเอามาเป็นข้ออ้างในการยกเว้นความผิดไม่ได้ เป็นเพราะบางครั้งกฎหมายเราไม่รู้ว่า กฎหมายนั้นจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเราจะรู้วิธีใช้กฎหมายได้ก็มาจากการเเสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือการอ่านจะช่วยเพิ่มพูนความรู้เราไปเรื่อยๆ 

ดู อ่าน ฟัง ช่วงนี้เปิดรับคอนเทนต์ทางไหนมากที่สุด 

จุ๊บแจง: ดูค่ะ เพราะเข้าใจง่าย ตอนนี้ทำงานด้วยอาจจะไม่ค่อยมีเวลาไปอ่านมากจะใช้การดูมากกว่า การอ่านส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างจริงๆ หลังจากการทำงาน เช่น วันหยุด โดยเริ่มจากหนังสือที่ชอบหรือเล่มที่อ่านเเล้วติดใจเลยกลับมาอ่านซ้ำ

เเพรว: ดูกับฟังพอดเเคสต์สลับกัน

จะอ่านเฉพาะตอนเครียดหรือหมดกำลังใจ เราหยิบหนังสือมาอ่าน บางเล่มอ่านไม่จบ เราอ่านแค่หน้า 2 หน้านี้ก็รู้สึกว่าหนังสือบางเล่มมันสามารถช่วยฮีลใจเราได้ เวลาที่เราเหนื่อยหรือต้องการกำลังใจ 

แพรว’ แพรววนิต ประสิทธิ์เวโรจน์

เเม้เเต่บรรณารักษ์ยังดูมากกว่า ชวนคิดต่อว่าการอ่านจะเกิดพร้อมกับวิธีการรับสื่อเเบบอื่นได้ไหม 

จุ๊บแจง: ได้ เพราะในหนังสืออาจจะไม่ได้บอกในสิ่งที่ตัวละครมี อย่างเเฮร์รี่ พอตเตอร์ มีจุดเด่นเรื่องการร้อยเรียงที่สละสลวยเเละมีภาษาที่สวยงาม บอกเลยว่าตัวละครรู้สึกอะไรจะเห็นมุมของตัวละครที่เเตกต่างกัน ขณะที่หนังอาจจะไม่ได้สะท้อนความละเอียดเท่าตัวอักษร เเต่ถ่ายทอดให้คนดูรู้เรื่อง รวบรัดจากเนื้อหา ทำให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นเเละเห็นภาพจากที่เราจินตนาการไว้ ดังนั้นทั้งสองอย่างนี้อาจจะเป็นตัวเสริมกัน

เเพรว: คิดว่าการอ่านสามารถเกิดควบคู่กับหลายๆ อย่างได้ สมมติว่าเราดูอย่างเดียวก็อาจจะดูไม่หมดหรือไม่ถ่ายไม่ได้ตามในหนังสือทั้งหมด จึงเป็นไปไม่ได้ที่การดูจะสามารถเก็บรายละเอียดได้เท่าการอ่าน ถ้าอยากได้รายละเอียดก็อาจจะต้องมาตามอ่านเอง เช่นเดียวกับการฟังพอดเเคสต์ก็มีระยะเวลาจำกัดทำให้ต้องอ่านหรือหาความรู้เพิ่มเติม เลยคิดว่ามันจะช่วยเติมเเละสนับสนุนกันเเละกัน

ขณะเดียวกัน เราไม่จำเป็นต้องพบข้อคิดยิ่งใหญ่จากการอ่าน เพราะเรื่องราวในหนังสือก็มาจากชีวิตประจำวันของเรา เช่นเดียวกับหนังสือ 5 เล่ม 5 เรื่องราวผ่านคำบอกของสองบรรณารักษ์หอสมุดธรรมศาสตร์ที่ชวนนักอ่านทุกคนเรียนรู้ในโลกหนังสือ

เล่มที่ 1: เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด  

“คนแต่ละยุคแต่ละสมัยเติบโตขึ้นมาในแบบแผนที่ตัวเองรับรู้และเข้าใจ ดังนั้นการบังคับคนรุ่นอื่นจากประสบการณ์ของตัวเองจึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรนัก”  

เเพรวนิยามหนังสือเล่มนี้ว่า “คู่มือชีวิตวัยรุ่น” ที่เขียนโดยปลายปากกาของ ‘คิมรันโด’ นักเขียนชาวเกาหลีใต้ที่บอกคำเเนะนำวิธีก้าวผ่านชีวิตวัยรุ่นให้ผ่านไปได้ด้วยดี

“วัยรุ่นบางคนอาจจะไม่ได้รับคำแนะนำหรือไม่มีคนปรึกษาจากคนรอบข้างในบางเรื่อง หนังสือเล่มนี้อาจจะเป็นทางออกที่ช่วยแนะนำการดำเนินชีวิตหรือว่าคอยให้คำปรึกษาเราได้

เล่มที่ 2: เจ้าชายน้อย 

“สิ่งที่ยากที่สุด คือ เราจะตัดสินตัวเองมากกว่าตัดสินผู้อื่น ถ้าตัดสินตัวเองได้สำเร็จดีก็นับว่าผู้นั้นเป็นปราชญ์โดยแท้”

เเพรวเล่าว่า เจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมชื่อดังที่มีการตีพิมพ์ต่อเนื่องเเละยังถูกยืมบ่อยๆ อาจเป็นเพราะข้อคิดในการใช้ชีวิตจากวรรณกรรมระดับตำนานเรื่องนี้ คือ “ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน” ทั้งเรื่องเงินทองหรืออำนาจ

“สุดท้ายตายไป เราก็เอาความร่ำรวยติดตัวไปได้ หรืออำนาจที่เรามี ก็ใช่ว่าจะอยู่กับเราตลอดไป”

เล่มที่ 3:  Harry Potter 

“Happiness can be found, even in the darkest of times, if one only remembers to turn on the light.” – ความสุขจะถูกค้นพบได้ แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด ขอเพียงเราไม่ลืมที่จะเปิดไฟ”

เเพรวบอกว่า Harry Potter (เเฮร์รี่ พอตเตอร์) เป็นวรรณกรรมที่วัยไหนก็อ่านได้ นอกจากความเเฟนตาซีเเล้ว ยังมีเรื่องลึกลับ การผจญภัย ที่แฝงด้วย Coming of age ของแต่ละยุคแต่ละสมัย ความรัก เเละอคติของตัวละคร

จุ๊บเเจงเสริมว่า เเฮรร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนังสือเล่มโปรดที่อ่านตั้งเเต่ป.1 โดยไม่รู้ว่าสนุกอย่างไร เเต่เมื่อโตขึ้น จุ๊บเเจงพบว่าความสนุกของเรื่องมีประโยชน์มากกว่าวรรณกรรมเยาวชน 

“อย่างเช่น การมองคน บางครั้งเรามองเขาด้านเดียวหรือเปล่า อาจมีอีกมุมหนึ่งที่ไม่ได้มอง เเต่ตัดสินเเล้วว่าเขาร้าย อย่างศาสตราจารย์สเนปเราอาจจะมองว่าเขาร้ายมาตลอด แต่จริงๆ เเล้ว เขาเคยเป็นคนที่เคยโดนรังแกมาก่อน แล้วเขาก็ไม่ได้ร้ายขนาดนั้นคือเขายังจงรักภักดีกับดัมเบิลดอร์เเละแฮร์รี่มาตลอด ในภาคสุดท้ายสเนปก็ดูแลปกป้องแฮร์รี่ เพราะเป็นลูกชายของคนที่เขารักมากที่สุด 

นอกจากนี้จุ๊บเเจงยังชื่นชมถึง J.K. Rowling นักเขียนวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า ทำได้อย่างไรที่เเฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นวรรณกรรมที่อ่านได้ทุกวัย เด็กอ่านจะมีจินตนาการของตัว ขณะที่ผู้ใหญ่อ่านก็ได้เเง่คิดสำหรับการใช้ชีวิต

เล่มที่ 4: ในวันที่แม่ไม่อยู่

“ความทรงจำเกี่ยวกับมนุษย์คนหนึ่งมีมากแค่ไหนกันนะ โดยเฉพาะความทรงจำเกี่ยวกับแม่”

“เราทำทุกอย่างไปหมดแล้ว นี่คือสิ่งที่พอทำได้ ดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ใช่หรอ”

เเพรวเล่าว่า ในวันที่แม่ไม่อยู่ เป็นวรรณกรรมแปลเกาหลีว่าด้วยเรื่องการตามหาเเม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของเเม่ที่ไม่มีใครรู้มาก่อน เเต่เรื่องเหล่านั้นกลับทำให้คนในครอบครัวรู้สึกดีเเละรักแม่มากขึ้น

เล่มที่ 5: บ้านเล็กในป่าใหญ่

“เมื่อคุณมีบางสิ่งที่ต้องทำ ขอให้ทำอย่างเต็มที่ อย่าให้สิ่งใดมากวนใจ หากแน่ใจว่าถูกต้อง ขอจงทำงานต่อไปด้วยกำลังทั้งหมดที่มี”

วรรณกรรมเยาวชนเเนวครอบครัวที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้เเต่ง คือ ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ สะท้อนเรื่องราววัยเด็กเเละสิ่งที่พบระหว่างการย้ายถิ่นในเเต่ละตอน

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เเพรวชอบ เธอบอกว่า บ้านเล็กในป่าใหญ่เหมาะกับเด็กเล็กจนถึงวัยรุ่นเนื่องจากภาษาที่อ่านง่าน นึกภาพตามได้ง่าย อีกทั้งยังเเสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในกระท่อมเล็กๆ กลางป่า

“ตัวอย่างเช่น ตอนเช้าพ่อออกไปล่าสัตว์ตัดฟืน เมื่อถึงบ้านพ่อจะกลับมาเล่นไวโอลินให้ลูกๆ หรือเเม่ก็จะอยู่บ้านทำอาหารหรือหากลูกต้องการเรียนอะไรเเม่จะเป็นครูที่สอนลูกได้”

รวมถึงยังสัมผัสถึงความรักความอบอุ่นของครอบครัว การใช้ชีวิตร่วมกัน การปลอบใจ เเละการให้กำลังใจ  คงดีถ้าครอบครัวอ่านด้วยกันอาจทำให้กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ 


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts