โลกนี้ไม่มีบ้านที่สมบูรณ์แบบ มีแต่บ้านที่อยากกลับ หนัง 5 เรื่องนี้บอกเราแบบนั้น

  • โลกนี้ไม่มีบ้านที่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็ยังอยากกลับบ้าน 
  • เพราะไม่ว่าอย่างไร บ้านก็คือบ้าน พื้นที่ที่เราเติบโตมา ถึงแม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบก็ตาม
  • mappa ชวนดูหนัง 5 เรื่องที่นิยามคำว่า ‘บ้าน’ ต่างกัน

โลกนี้ไม่มีบ้านที่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็ยังอยากกลับบ้าน 

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกๆ เทศกาลหยุดยาว หลายคนถึงฝ่ารถติด นั่งอยู่บนหลายชั่วโมงเพื่อกลับบ้าน

และพอถึงบ้าน เราจะทิ้งกระเป๋า ล้มตัวนอนและเป็นตัวเองได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องห่วงสายตาใคร 

mappa ชวนดูหนัง 5 เรื่องที่นิยามคำว่า ‘บ้าน’ ต่างกัน และทุกบ้านมีรอยร้าว แต่ทุกตัวละครก็ยังเลือกที่จะอยู่บ้าน อยากกลับบ้าน

แม้ว่าบ้านหลังนั้นจะขาดใครคนหนึ่งไปและสมาชิกครอบครัวบางคนต้องแยกย้ายไปเติบโต และเป็นบ้านที่ไม่ได้มีความสุขกันตลอดเวลา บางหลังคาอาจทุกข์มากกว่าด้วยซ้ำ

แต่ไม่ว่าอย่างไร บ้านก็คือบ้าน บ้านที่ไม่มีหลังไหนสมบูรณ์แบบ แต่เราก็รักในความเว้าแหว่งแต่ปลอดภัยของมัน

กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้ :  การเจอกันของเด็กมีบ้านแต่หนีออกจากบ้านกับเด็กไร้บ้านที่ไม่มีบ้านให้กลับ 

“มีพ่อแม่เมื่อพร้อม” 

ลูกสาววัยรุ่นน่าจะมากปีกว่า ‘โอ๋’ นิดหน่อยพูดขึ้นมาหลังดู ‘กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้’ จบ

เพราะเริ่มต้นเรื่องด้วยการบอกว่า “พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่กันอย่างมีความสุขตลอดไป”​ และการแยกทางอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับหลายครอบครัว 

แต่นั่นควรเกิดขึ้นบนความรับรู้และเข้าใจร่วมกันว่า ครอบครัวตัดสินใจอย่างนี้ ครอบครัวที่ไม่ได้มีแค่แม่และพ่อ แต่คือลูกด้วย 

เมื่อลูกถูกกีดกันออกจาก ‘เรื่องของผู้ใหญ่’ มันจึงกลายมาเป็นพล็อตหนังฉบับยาวกว่า 2 ชั่วโมงที่ตั้งต้นจากการหนีออกจากบ้านของโอ๋ อ้น และอั้ม (คนหลังนี่อาจไม่นับแต่เล็กมาก พี่สาวและพี่ชายจึงต้องพามาด้วย) 

การได้เจอ ‘นกแล’ และเพื่อนๆ อาจเป็นวิบากกรรมอย่างหนึ่งของเด็กๆ ชนชั้นกลางอย่างโอ๋กับอ้น ที่แม้จะย้ายบ้านแต่ก็ย้ายจากบ้านเดี่ยวไปอยู่บนตึกสูงที่มีห้องนอนเป็นของตัวเอง ดังนั้นมันจึงเป็นการเจอกันของเด็กมีบ้านแต่หนีออกจากบ้านกับเด็กไร้บ้านที่ไม่เคยได้พูดคำว่ากลับบ้าน 

แต่เด็กทุกคนกลับมีนิทานเป็นตัวเชื่อมใจ 

สำหรับเด็กมีบ้าน กระดาษนิทานทำมือคือตัวแทนความรักของพ่อ ที่มันอาจเป็นนิทานบ้าๆ รกบ้านของแม่แต่ถ้าให้เลือกเก็บของจำเป็นติดตัวไป โอ๋และอ้นก็หยิบมันใส่กระเป๋าเป็นชิ้นแรกๆ 

สำหรับเด็กไร้บ้าน กระดาษนิทานทำมืออาจคือตัวแทนของบ้าน – บ้านในความหมายของความอบอุ่น การได้พัก อย่างน้อยก็คืนนี้ที่นกแลและเพื่อนๆ ไม่ต้องย้ายหนีไปไหนและได้ฟังนิทานก่อนนอนเป็นครั้งแรก 

ไม่มีคำชมเปาะใดๆ ออกจากปากหรือบอกว่าดีมาก หากสีหน้าของเด็กไร้บ้านที่มีนิทานมาปลอบประโลมใจในตึกร้าง ทำให้เราอดยิ้มและเศร้าไปด้วยไม่ได้ 

หนังไม่ได้พยายามยัดเยียดว่าสุดท้ายเด็กไร้บ้านทุกคนจะอยากกลับบ้าน หรือเด็กมีบ้านคือเด็กที่มีความสุขมากกว่า 

โลกของโอ๋ อ้น และอั้มสอนเราว่า บ้านของพวกเขาคือความรู้สึกตอนฟังนิทาน ไม่ใช่บ้านมีหลังคาหรือแฟลตที่มีร้านสะดวกซื้ออยู่ข้างล่าง 

ส่วนโลกของนกแลและเพื่อนๆ เด็กไร้บ้าน สอนเราว่าบ้านของพวกเขาอาจเป็นเพียงกระดาษรูปคนที่ฉีกง่ายๆ ด้วยมือ แต่พร้อมไปกับเขาได้ทุกที่และไม่มีใครมาคอยทำร้าย 

Miracle : letters to the President ไม่ต้องมีบ้านหลังใหญ่ แค่มองเห็นกันจากมุมไกลๆ ก็พอ

“ผมไม่ได้พูดเล่นนะ หมู่บ้านเรามีรถไฟตัดผ่านแต่ไม่มีสถานี ทางเดียวคือเดินตามรางรถไฟ ผมแค่อยากให้คนในหมู่บ้านเดินทางอย่างปลอดภัย ช่วงสร้างสถานีย่อยไว้ที่หมู่บ้านเราได้ไหมครับ”

ส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับที่ 54 ถึงประธานาธิบดีที่เขียนโดย ‘จองจุนคยอง’ เด็กมัธยมปลายและลูกชายคนขับรถไฟที่อยากให้ชาวบ้านทุกคนออกจากบ้านและกลับบ้านอย่างปลอดภัย

แต่ไม่ว่าจะลองติดต่อประธานาธิบดีด้วยการเขียนจดหมาย ตอบคำถามชิงรางวัล หรือไปโซลก็ล้มเหลวทุกที นี่คือความพยายามอย่างเต็มที่ของจุนคยองเพื่อสถานีรถไฟหน้าหมู่บ้าน

ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ก็เล่าชีวิตของจุนคยองขนานไปกับการต่อสู้เพื่อสถานีรถไฟหน้าหมู่บ้าน

จองจุนคยองเป็นเด็กเรียนเก่งที่ทักษะชีวิตติดลบ ขนาดเขียนจดหมายก็ยังสะกดผิดๆ ถูกๆ แต่กลับคว้ารางวัลชนะเลิศคณิตศาสตร์ได้ตั้งแต่ป.4 และสนใจดาราศาสตร์ 

ขณะเดียวกัน ต่อให้จุนคยองมีความฝันที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน เขาก็พร้อมที่จะกดความฝันนั้นไว้ เพราะ ‘เขาต้องอยู่บ้าน’ กับจองโบคยองพี่สาวของเขา

ถึงพ่อจะย้ายไปอยู่บ้านใกล้สถานีรถไฟ แต่ลูกชายคนเล็กก็ยังล็อกประตูและยืนกรานเสียงแข็งว่า เขาจะอยู่ที่นี่

“ผมชอบอยู่ที่นี่กับพี่นะ” จุนคยองบอกพี่สาว หลังจากที่รู้ว่าเขาจะได้โอกาสไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา 

ถึงใครไม่รู้ แต่จุนคยองรู้ เหตุผลจริงๆ ที่เขาอยากสร้างสถานีรถไฟก็เพราะอยากให้พ่อชม

“ผมอยากสร้างสถานีเพราะผมอยากให้พ่อชมและได้รับการให้อภัย แม่ตายตอนคลอดผม พี่ตกสะพานก็เพราะผม ถ้าสร้างสถานีนั้นได้ ผมคิดว่าพ่อจะมองเห็นความพยายามของผมและชมผมว่าทำได้ดีมาก”

แต่วันที่สร้างสถานีรถไฟสำเร็จ พ่อก็ยังไม่สนใจและหลบหน้าเหมือนที่เคยทำมา ความฝันก็ยังถูกกดไว้เหมือนเดิมเช่นกัน

สำหรับเด็กติดบ้านแบบจุนคยองแล้ว เขาไม่ได้ต้องการบ้านหลังใหญ่ แต่สิ่งสำคัญ คือ แรงสนับสนุนของคนที่เขารักและรักเขาจากมุมไกลที่ทำให้เขาเชื่อมั่นว่า ในทุกๆ ก้าวของชีวิตขอแค่หันกลับมาจะเห็นพ่อและพี่ยืนยิ้มให้เขาอยู่เสมอ

เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว… 

รักแห่งสยาม : ‘บ้าน’ ไม่ต้องมีสมาชิกครอบครัวอยู่ครบ เพราะเราที่เหลือจะจดจำเขาตลอดไป

บ้านสำหรับ ‘กร’ คือสถานที่ที่สมาชิกในครอบครัวอยู่ เมื่อมีคนใดคนหนึ่งหายไป บ้านก็กลายเป็นสถานที่ที่กรอยากหนี เขาจึงตัดสินใจพา ‘สุนีย์’ และ ‘โต้ง’ ภรรยาและลูกชายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านหลังใหม่ หลังการหายตัวไปของ ‘แตง’ ลูกสาวคนโต

แต่กรยังคงใช้ชีวิตเฉกเช่นที่แตงยังอยู่ รูปในบ้านทุกรูปต้องมีแตงอยู่ด้วย รวมถึงบนโต๊ะอาหารยังมีจานข้าวของแตงวางเสมอ ขณะที่สุนีย์กับโต้งพยายาม move on จากความสูญเสียที่เกิดขึ้น

คนในบ้านต่างมีวิธีรับมือกับความจริงแตกต่างออกไป สุนีย์ที่ต้องลุกมาทำหน้าที่ดูแลครอบครัวแทน ภายนอกเธอดูเข้มแข็ง ยอมรับกับการหายไปของลูกสาวได้แล้ว แต่ลึกๆ ความเศร้าและเหนื่อยล้ากำลังกัดกินชีวิตเธอ พร้อมๆ กับความกลัวเป็นเงาอยู่ในใจว่าลูกชายอีกคนจะหายตัวไป

โต้งดูจะเป็นคนที่เหมือน move on จากเหตุการณ์ได้ แต่เมื่อกลับไปบ้านเก่าเขาก็ถาม ‘มิว’ เพื่อนข้างบ้านว่าเคยเจอพี่สาวเขากลับมาบ้างไหม 

เกมหาของที่กรชอบให้ทุกคนในบ้านเล่น ตอนนี้ดูเหมือนชีวิตของเขาก็กำลังตามหาของในบ้านที่ตัวเขาก็รู้ดีว่าอยู่ที่ไหน แต่การยอมรับความจริงกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวเกินไปสำหรับกร 

“ถ้าเรารักใครมากๆ จะทนได้เหรอถ้าต้องสูญเสียเขาไป การจากลาเป็นสิ่งที่คนต้องเจอ แต่เป็นไปได้เหรอที่เราจะรักใครโดยไม่กลัวการสูญเสีย” ประโยคที่มิวเอ่ยถามโต้ง เพราะเขากลัวที่จะรักใครหากพบว่า ท้ายที่สุดสิ่งที่รออยู่คือการจากลา

การพบและลาจากเป็นสิ่งที่คนเราต้องเผชิญ ไม่ว่าจะพบคนแปลกหน้า หรือต้องจากลาคนที่รัก สุดท้ายเราก็ยังคงต้องดำเนินชีวิตต่อไป เช่นเดียวกับกรที่สุดท้ายเขาต้องกลับมาเผชิญความจริง และยอมรับว่าเขาสูญเสียลูกสาวไปแล้ว 

บ้านอาจจะขาดสมาชิกคนใดคนหนึ่งไป แต่เราและคนที่เหลือจะยังคงอยู่ และจดจำพวกเขาตลอดไป

มหาลัยเหมืองแร่ : มีความเป็นญาติอยู่ในคำเรียก ไอ้ อี มีความหวังดีต่อกันอยู่ในบ้านหลังที่สอง 

“มหา’ลัยสอนความรักชาติ ส่วนเหมืองแร่สอนความรักชีวิต จากวันนั้นเหมืองแร่ได้กลายเป็นโลกที่ผมภูมิใจ”

ประโยคบอกเล่าสั้นๆ ของอาจินต์ที่กินใจความของหนังทั้งเรื่องได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวที่เป็นดั่งสารคดีชีวิตจริงของ ‘อาจินต์ ปัญจพรรค’ (ตัวเอกของเรื่อง) นักศึกษาปี 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ถูกรีไทร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ จนพ่อต้องส่งไปดัดสันดานในเหมืองแร่ดีบุกที่อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลกระโสม จังหวัดพังงา ถูกเล่าผ่านหนังที่มีชื่อว่า มหา’ลัยเหมืองแร่ (พ.ศ.2548)

การดำเนินเรื่องเริ่มต้นและเป็นไปอย่างช้าๆ ผ่านการบรรยายความรู้สึกนึกคิดจากเสียงในหัวของอาจินต์ที่เล่าถึงตัวละครร่วมชะตาชีวิตของเขาทีละคน 

ชีวิตมหา’ลัยในเมืองกรุงของเขาได้จบลงและเริ่มต้นการเป็นน้องใหม่อีกครั้งด้วยการเป็นกรรมกรที่มหา’ลัยเหมืองแร่ โดยมีนายฝรั่งชาวออสเตรเลียผู้เป็นทั้งใบเบิกทางที่พร้อมให้เขาเรียนรู้การทำงานอย่างไม่ตัดสิน และเจ้านายผู้มีความโอบอ้อมอารีกับคนรอบตัว 

จากวันสู่เดือน จากเดือนเลื่อนไปเป็นปี ชีวิตของเขาดำเนินเรื่อยไปผ่านการร่วมทุกข์ร่วมสุขและเรียนรู้การทำงานจากคนงานในเหมือง จากความโดดเดี่ยวและคิดถึงบ้านที่เมืองกรุงสู่การก่อตัวเป็นความสัมพันธ์แบบครอบครัวที่เปรียบดังบ้านหลังที่สองของเขา บ้านที่เรียกว่าความสัมพันธ์

“อยู่ในเหมืองแร่ บ้านคือที่นอนและที่หลบฝน ห้องส้วมของเราก็อยู่ในพุ่มไม้ ห้องกินข้าวอยู่ที่หาบขนมจีน และห้องรับแขกเราก็จัดขึ้นอย่างชาญฉลาดในร้านกาแฟ มันคือสโมสร ที่มีอาโกจอมหน้าเลือดคนหนึ่งเป็นนายกสโมสร มันคือโรงมหรสพ มันเป็นกรมประชาสัมพันธ์ โรงกาแฟกำลังจะกลายเป็นศาลตัดสินคดี ที่สำคัญ ยังกลายสภาพเป็นบ่อนพนันได้ด้วย”

“เรามาจากคนละถิ่น คนละโรงเรียน ฟังนิทานมาคนละเรื่อง หัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตก็คนละมุม แต่เราก็อยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัวยิ่งกว่าจะรู้สึกว่ามาทำงาน มีความเป็นญาติอยู่ในคำเรียก ไอ้ อี มีความเป็นกันเองและเปิดเผย และมีความหวังดีต่อกันอยู่ในเรี่ยวแรง ยามที่ช่วยกันออกแรงคนละมุม”

การเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับคนงานในเหมืองแร่ที่มีนายหัวและทีมคอยสอนงาน นายฝรั่งผู้ใจดีและไม่ถือตัวคอยสอนทักษะการใช้ชีวิต ลูกน้องคู่ทุกข์คู่สุขที่เข้ามาช่วยงาน สร้างรอยยิ้มและความป่วนให้เจ้านายอย่างเขาต้องปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน และยามแก่ชราผู้เฝ้าเหมืองที่เป็นเพื่อนปรับทุกข์ยามกลุ้มใจในตอนกลางคืน ทำให้เขาผู้ไม่สันทัดการใช้ชีวิตอะไรเลยกลายเป็นผู้มีตำแหน่งงานที่สูงขึ้น

“ด้วยความรู้ครึ่งๆ กลางๆ จากมหาวิทยาลัย ผมเรียนงานจากคนงาน และเรียนวิธีถนอมน้ำใจคนจากนายฝรั่ง จากวันนั้นผมผู้สะเพร่าในชีวิตจริง ก็กลายเป็นคนละเอียดลออที่สุดเมื่อได้นั่งโต๊ะแผนที่”

แม้ท้ายที่สุดเส้นทางชีวิตในมหา’ลัยเหมืองแร่ของเขาต้องจบลง แต่ความเป็นบ้านที่ก่อตัว การเวลาที่ใช้ร่วมทุกข์และสุขกับคนในเหมืองแร่ไม่ได้จบลงไปด้วย เรื่องราวจากชีวิตจริงที่เขาถ่ายทอดเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “เหมืองแร่” ที่ถูกสร้างเป็นหนังเรื่องนี้ ท้ายที่สุดก็ทำให้เขากับลูกน้องร่วมชะตาชีวิตได้กลับมาพบกันและหวนนึกถึงอดีตที่เคยผ่านไปด้วยกันอีกครั้ง 

Encanto : ความสมบูรณ์แบบไม่เคยปกปิดรอยร้าวในบ้านได้เลย 

“ไม่มีครอบครัวไหนเลยที่เพอร์เฟ็กต์” 

เมื่อไรกันที่คำพูดแบบนี้กลายเป็นคำพูดที่ปลอบประโลมใจของหลายครอบครัว 

เรื่องราวของครอบครัวมาดรีกรา ที่ทุกคนมีพลังพิเศษ แบกของหนัก ได้ยินเสียงไกลหลายพันไมล์ แปลงหลายร่าง คุยกับสรรพสัตว์ รักษาบาดแผล 

พลังพิเศษเหล่านี้ดูเผินๆ เหมือนเป็นความเพอร์เฟ็กต์ที่ใครๆ ก็ฝันใฝ่ถึง 

การมีพลังพิเศษเหล่านี้สร้างความเป็นมาดีกราขึ้นมา นั่นทำให้ ความเป็นมาดีกรา = การมีพลังพิเศษ และยังต้องเป็นพลังบวกอีกด้วย

ความเป็นมาดีกราจึงไม่นับรวมลูกหลานมาดีกราที่มีพลังนิมิตเห็นลางร้ายในด้านลบ 

ความเป็นมาดีกรา จึงไม่รับรวม ‘คนธรรมดา’ ในบ้านหลังนี้ 

เมื่ออยู่ในบ้านหลังนี้ การเป็นคนธรรมดาจึงกลายเป็นเรื่องต้องคำสาป เป็นเรื่องประหลาดสำหรับครอบครัว  ก่อนจะพบว่าการเป็นคนธรรมดานั้นเพียงแค่ ‘ดีไม่พอ’ ที่จะอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยความดีงามเท่านั้น 

จนไม่เคยกลับมามองเลยว่า การมีพลังพิเศษซุปเปอร์บวก ทำให้สมาชิกครอบครัวมาดีกราหลายคนละทิ้งตัวตนอีกด้านหนึ่งไป ซึ่งเป็นตัวตนที่เป็นเสมือน ‘บ้าน’ อันปลอดภัยของตัวเอง 

พี่สาวจอมพลังผู้แบกได้ทุกอย่าง ไม่ว่าของชิ้นนั้นจะหนักขนาดไหน เธอเป็นผู้ช่วยเหลือทุกคนในชุมชน เป็นหน้าเป็นตาของครอบครัว ในแต่ละวันเธอยกก้อนหิน แบกลา แบกสะพาน และสุดท้ายสิ่งที่เธอแบกเอาไว้ตลอดชีวิตคือ ‘แบกโลก’ 

สำหรับเธอ การพักผ่อนกลายเป็นความอ่อนแอ และการไม่แข็งแกร่งเพียงพอนั้นเป็นเรื่องที่เธอหวาดกลัว มันจะพังทลายชีวิตเธอ ถึงที่สุดมันจะทำให้เธอจะกลายเป็นแค่ ‘คนธรรมดา’ 

‘มิราเบล’ ผู้ที่เกิดมาพร้อมความธรรมดา และเป็นความธรรมดานี้เอง ที่ทำให้เธอมองเห็นรอยร้าวบางอย่างที่เกิดขึ้นภายในบ้านมาดีกรา บ้านที่ภายนอกสวยงามสมบูรณ์แบบ สวยเสียจนคนในหมู่บ้านไม่เคยสงสัยเลยว่าบ้านหลังนี้จะมีรอยร้าวตรงไหนและอย่างไร  

การออกค้นหาที่มาของรอยร้าวในครอบครัว พาเธอไปเจอกับ ‘บรูโน’ คุณอาผู้มีพลังพิเศษเป็นการเห็นนิมิตลางร้าย และด้วยพลังนี้ทำให้เขาถูกอัปเปหิออกจากบ้านมาดีกราที่ครอบครัวทุกคนต่างถือคุณค่าของความสมบูรณ์แบบแบบซุปเปอร์บวก การเห็นเรื่องลบเรื่องร้าย เป็นรอยด่างพร้อยที่ครอบครัวรับไม่ได้ จนต้องละทิ้งสมาชิกครอบครัวไป

ความเป็น ‘คนธรรมดา’ ของมิราเบล ยังเข้าไปสะกิดตัวตนอีกด้านหนึ่งของทุกคนในบ้านขึ้นมา ทำให้พี่สาวคนรองผู้แข็งแกร่งได้มองเห็นการพักผ่อนคือการพักผ่อน ไม่ใช่ความอ่อนแอ และทำให้พี่สาวคนโตได้รับรู้ว่าความสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพของดอกไม้สวยงามตามที่คนอื่นคาดหวัง แต่ความเป็นอิสระต่างหากเป็นพลังของการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยภาพสัญลักษณ์ของ ‘ชีวิตดีๆ’ ในครอบครัวปัจจุบัน และชวนคนดูอย่างพวกเราตั้งคำถามว่า เราควรดูแลรักษาอะไรเอาไว้กันแน่ระหว่าง ‘ความดีงาม’ ตามแบบฉบับที่สังคมคาดหวัง กับ ‘คนในครอบครัว’ ที่จะอยู่ข้างเราเสมอไม่ว่าตัวตนอีกด้านหนึ่งของเราจะเป็นอย่างไร 

และอีกหนึ่งคำถามสำคัญที่ว่า ไม่ใช่ครอบครัวหรอกหรือที่ควรสร้างพื้นที่ที่สมาชิกครอบครัวได้วางความสมบูรณ์แบบลง แล้วเป็นตัวเองได้อย่างปลอดภัย 


Writer

Avatar photo

mappa learning

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts