Never ending story of Ghibli 6 อนิเมชัน ที่บอกว่าทำไม ‘จิบลิ’ คือเพื่อนเราตลอดไป

  • วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ พลังหญิง สงครามและเยาวชน  คือ ลายเซ็นต์ที่เราเห็นในแต่ละเรื่องของอนิเมชันครอบครัวจิบลิ
  • mappa พา learn พาไปตีตั๋วชม 6 เรื่อง 6 ลายเซ็นต์ ที่ทิ้งเรื่องราวค้างนอนอยู่ในใจ เปิดดูเมื่อไหร่ก็มอบของขวัญชิ้นใหม่ๆ ให้กับเราเสมอ
  • อุ่นเครื่องก่อนออกไปท่องโลกจิบลิเต็มๆ ในนิทรรศการ #My style, My ghibli

อนิเมชันกว่า 20 เรื่องของสตูดิโดจิบลิเป็น coming of age ของหลายคน แต่หลายๆ เรื่องกลับ ‘ไร้กาลเวลา’ หลายเรื่องโปรดของพ่อแม่ก็กลายมาเป็นเรื่องโปรดของลูก 

วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ พลังหญิง สงครามและเยาวชน  คือ ลายเซ็นต์ที่เราเห็นในแต่ละเรื่องของอนิเมชันครอบครัวจิบลิ 

mappa พา learn พาไปตีตั๋วชม 6 เรื่อง 6 ลายเซ็นต์ ที่ทิ้งเรื่องราวค้างนอนอยู่ในใจ ไม่มีวันหมดอายุ เปิดดูเมื่อไหร่ก็มอบของขวัญชิ้นใหม่ๆ ให้กับเราเสมอ

ถือเป็นการอุ่นเครื่องก่อนออกไปท่องโลกจิบลิเต็มๆ ในนิทรรศการ #My style, My ghibli จัดโดย ยูนิโคล่ ประเทศไทย และสตูดิโอจิบลิ ที่จะพาเราไปสัมผัสกับฉาก ตัวละคร และเข้าใจแก่นการสร้างอนิเมชันจิบลิ

ภายในนิทรรศการจัดแสดงภาพแขวนจากฉากในอนิเมชันของจิบลิจำนวน 7 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Princess Mononoke, Spirited Away, Ponyo เป็นต้น และไฮไลท์ของงานจากเรื่อง My Neighbor Totoro ที่ทุกคนจะได้พบกับโทโทโร่และลองนั่งรถบัสแมวจำลองขนาดเท่าคนจริงๆ

นอกจากนี้มีมุมถ่ายทอดถ้อยคำประทับใจของโทชิโอะ ซูซูกิ โปรดิวเซอร์ของสตูดิโอจิบลิ และนิทรรศการภาพถ่าย Ghibli Museum and the Landscape of Pak Thong Chai โดย กานต์ญาดา

สามารถเข้าร่วมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ – 27 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 – 22.00 น. ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 โซน I

My Neighbors the Yamadas บอกเราว่า Que sera, sera อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด

“ขอให้พวกคุณเป็นคู่ที่อดทนและเข้ากันได้ดี” 

น่าจะเป็น motto ของ “ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา” หรือ My Neighbors the Yamadas ภาพยนตร์อนิเมชันลำดับที่ 10 ของสตูดิโอจิบลิ 

สมาชิก 5 คนและ 1 ตัวใต้หลังคาเดียวกันประกอบด้วย ทากาชิ คุณพ่อพนักงานบริษัท, มัทซึโกะ คุณแม่และแม่บ้าน, ชิเงะ คุณย่า, โนโบรุ ลูกชายวัยมัธยมปลาย, โนโนโกะ ลูกสาวคนเล็กศูนย์กลางของสมาชิกในบ้าน และ โปจิ เจ้าหมาหน้าบูดนักสังเกตการณ์ชีวิตที่แสนจะวุ่นวายของมนุษย์ทั้งห้า

คนต่างวัยต่างเพศที่ผูกพันด้วยสายเลือดมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน มันย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งเป็นธรรมดา แต่อยู่ที่ว่าจะจัดการและประคับประคองกันอย่างไรมากกว่า 

“ถ้าไม่มีพายุหรือลมพัดแรง ก็จะไม่มีทางรู้วิธีพายเรือ” ช่วงต้นของอนิเมชันวาดภาพเคลื่อนไหวให้ครอบครัวยามาดะอยู่ในเรือลำเดียวกัน 

ลมพัดมีตั้งแต่เอื่อยๆ พอให้เรือวิ่งไปข้างหน้าเร็วขึ้น ไปจนถึงลมพัดกรรโชกที่หวิดจะคว่ำเรืออยู่หลายครั้ง 

หลายครอบครัวเรือแตก ต้องแยกกันไป แต่ครอบครัวยามาดะประคองร่วมกันมาจนได้ ด้วยการยอมรับในส่วนที่แย่ของอีกฝ่าย 

“การยอมรับ คือ การหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่แย่ที่สุดโดยไม่หมดรักหรือหย่ากัน ยอมรับและให้อภัยกันและกันในส่วนที่แย่ที่สุด” 

ทากาชิกล่าวให้โอวาทคู่บ่าวสาวในการแต่งงาน จริงๆ เขาเตรียมโพยมาจากบ้านแต่พอจะก้าวขึ้นเวที มัทซึโกะ – ภรรยากลับหยิบโน้ตรายการซื้อของเข้าบ้านยัดใส่มือให้แทน 

งานนี้ ทากาชิจึงต้องด้นสดจากประสบการณ์และชีวิตจริง ขณะที่มัทซึโกะนั่งรู้สึกผิดเต็มที่อยู่ด้านล่าง แต่พอสามีพูดบางอย่างผ่านไมค์ออกมา ภรรยาถึงกับเงยหน้าขึ้น…

“ยกโทษ ยอมแพ้ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการเผชิญหน้าและใช้ชีวิตต่อไป” 

จบประโยคนี้ ทากาชิก็ลงจากเวทีและใช้ชีวิตต่อไปในแบบที่เขาพูด

ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยา แต่หลายฤดูกาลที่ผันผ่านครอบครัวยามาดะช่วยกันประคองเรือด้วยความเข้าอกเข้าใจที่ไม่เคยพูดออกมาสักคำว่าฉันเข้าใจ แต่ใช้การกระทำ 

  • พ่อเทน้ำซุปใส่ข้าว แต่ลูกเทข้าวใส่น้ำซุป – คนแก่กว่าก็บ่นนิดหน่อยแต่ก็เอาที่สบายใจ 
  • วันหยุดสามีอยากพักผ่อน สั่งภรรยาต้มชา ล้างห้องน้ำ ฝากซื้อบุหรี่  ภรรยาไม่ทำและไม่มีการเถียงแต่เดินออกไปเล่นปาจิงโกะที่สามีชอบแทน 
  • พ่ออยากถ่ายรูปหมู่กับหิมะแรกของปี แต่ทุกคนในบ้านติดหนึบอยู่หน้าจอทีวี พ่อเลยใช้วิธีตั้งกล้องอยู่บนทีวีแล้วถ่ายรูปทุกคนร่วมกัน แอคชันภาพนี้คือสี่คนดูซีรีส์อยู่ด้านหน้ากับพ่อที่เป็นแบคกราวน์หน้าตายคู่กับหิมะแรก
  • ไหว้วานในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ชอบแต่ก็ไม่ลืมคำว่าขอบคุณ

และอีกมากมายในยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา 

ก่อจะจบด้วยเพลง Que Sera Sera ซึ่งทำหน้าที่สรุปเรื่องราวทั้งหมด

Que sera, sera

Whatever will be, will be

The future’s not ours to see

Que sera, sera

What will be, will be

The Wind Rises บอกเราว่า หากลมแรงกล้า จะขอท้าแรงลม

The Wind Rises เรื่องอิงจากชีวิตของบุคคลจริง จิโร่ เด็กชายสายตาสั้นที่หลงใหลในเครื่องบินตั้งแต่ยังเด็กที่กลายมาเป็นวิศวกรผู้ออกแบบ Mitsubishi A6M Zero หรือ เครื่องบินขับไล่ของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ใช้ในปฏิบัติการกามิกาเซ่

ตอนจิโร่เป็นนักเรียน เขาเคยขอยืมหนังสือภาพเครื่องบินจากคุณครู ในหนังสือภาพเล่มนั้น เขารู้จักกับวิศวกรอิตาลีผู้หนึ่งชื่อว่า คาร์โปรนี คืนนั้นเขาได้เจอคุณคาร์โปรนีในฝัน ทั้งคู่ได้สนทนากันอยู่หลายประโยค ซึ่งมีประโยคหนึ่งที่เปลี่ยนใจจิโร่และกลายเป็นเส้นทางหลักในชีวิตของเขา

“จำไว้ไอ้หนู เครื่องบินไม่ได้สร้างมาเพื่อเป็นเครื่องมือในสงครามหรือเครื่องมือกอบโกยเงิน เครื่องบิน คือ ความฝันที่สวยงาม และวิศวกรก็ทำความฝันให้เป็นความจริง” 

จิโร่จึงเริ่มวิ่งตามความฝันตั้งแต่เช้าวันนั้นเป็นต้นมา เมื่อไรที่เขาเหนื่อยหน่ายท้อแท้กับการตามความฝัน เขาจะหลับฝันพบคุณคาร์โปรนีเสมอ นอกจากความฝันที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง อีกสิ่งที่เขาไม่คยเปลี่ยนไปคือ

“ไม่เคยหยุดเรียนรู้และหาแรงบันดาลใจ” 

จิโร่เป็นคนประเภทที่กินปลาซาบะแล้วนั่งวิเคราะห์ก้างปลาจนกลายมาเป็นปีกเครื่องบินขับไล่ ดูฮีตเตอร์แล้วเชื่อมโยงไปถึงพื้นผิวเครื่องบินโลหะ วันไหนลมแรงเขาจะพับเครื่องบินกระดาษมาร่อนเล่น และทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีการบินใหม่ๆ มาลง เขาจะสละเวลาพักเที่ยงบึ่งไปดูเสมอ เขาตื่นตาตื่นใจและหลงใหลในทุกอย่างที่เกี่ยวกับเครื่องบิน

แม้ในวันที่เขาถูกถอดจากโปรเจกต์เพราะการทดลองเครื่องบินล้มเหลว แต่เขาก็ไม่เคยปล่อยให้ความล้มเหลวใดๆ มาปิดกั้นหัวใจที่จะเรียนรู้และเขาเชื่อมั่นเสมอว่าตนเองมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้

“ผมคิดว่าปัญหาลึกและซับซ้อนกว่านั้น ผมจะไม่ลืมสิ่งที่เกิดวันนี้ มันเหมือนเส้นทางไกลไม่รู้จบที่ทอดยาวอยู่ต่อหน้าผม”

 นอกจากการเป็นคนช่างสังเกตและรักการเรียนรู้ของจิโร่ที่ทำให้เขามีความคิดสร้างสรรค์ เขายังคงต้องพึ่งอีกสิ่งหนึ่ง

“พลังความคิดสร้างสรรค์มาจากความสัมพันธ์ที่ยอมรับและเข้าใจ”

ลมพัดพาเขาไปตกหลุมรักกับเด็กสาวคนหนึ่งอย่างบังเอิญ และลมอีกเช่นกันที่พัดพาเขากลับมาหาเธอในอีกหลายปีต่อจากนั้น

ในฤดูร้อนปีหนึ่งที่เขาลาพัก เขาหวนกลับมาพบเธอ เขาไม่คิดว่ามันเป็นเพียงความรักชั่วคราวที่จะผ่านไปพร้อมฤดูร้อน แต่เขาพร้อมจะผ่านทุกฤดูไปกับเธอ

จิโร่ยอมรับที่เธอเป็นวัณโรค ยอมรับที่เธอลงมาจากโรงพยาบาลเรื้อรัง เข้าใจที่เธอมาพักอยู่กับเขาช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะจากไปอย่างไม่อำลา

“เราไม่ควรทำอะไรจนกว่ารถไฟจะแล่นจากไป เธออยากให้เขาจดจำเธออย่างนี้”

นาโฮโกะเดินจากไปและทิ้งเพียงจดหมายไว้ให้จิโร่ เธอเข้าใจดีว่าเขามีความฝันและยอมรับที่ว่าเธอและเขาต่างมีชีวิตเป็นอิสระต่อกัน

“เป็นความโหดร้ายที่สูญเสียเธอไป แต่ที่โหดร้ายเสียยิ่งกว่ายังคงเป็นสงคราม”

“ความฝันของมนุษย์คือการบิน แต่เป็นความฝันที่ต้องคำสาป เครื่องบินถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือเพื่อประหัตประหารทำลายกัน”

คาร์โปรนีเคยพูดไว้กับจิโร่ในความฝันครั้งหนึ่ง ในฝันครั้งนั้นสงครามสงบลงแล้ว เครื่องบินของคาร์โปรนีบรรทุกครอบครัวคนงานเต็มลำ พวกเขาโบกมือยิ้มแย้ม ความสุขของเขาคือการได้เห็นเครื่องบินใหญ่เพียงพอจะบรรทุกสมาชิกครอบครัว ได้เห็นพวกเขาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันบนเครื่องบิน

แต่ในฝันสุดท้าย ทุ่งหญ้าเดิมที่เคยมีเครื่องบินโดยสารที่อัดแน่นด้วยครอบครัวคนงาน ไม่เหลืออะไรนอกจากเศษเหล็กที่สันดาป ผลงานของจิโร่ที่เหลือแต่ซาก

แม้สุดท้ายนาโฮโกะจะปรากฏตัวที่ฟากหนึ่งของเนินหญ้าพร้อมร่มสีขาวที่ทำให้พวกเขามาพบกันอีกครั้ง เธอบอกลาและบอกให้เขา “มีชีวิตอยู่ต่อไป”

สิ่งที่จิโร่ทำได้เพียงเอ่ยปาก “ขอบคุณ” เขารู้ดีว่าหากไม่มีเธอ เขาคงไม่มีวันมาถึงจุดนี้ คงไม่มีทางสร้างสรรค์เครื่องบินรุ่นนี้ได้  ไม่มีใครตอบได้ว่าการที่เขาไม่ได้อยู่กับเธอในวันสุดท้ายของชีวิตเธอ แต่ไปออกแบบเครื่องบินสำเร็จ มันเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าไหม

แต่การเห็นสิ่งประดิษฐ์ที่ตนเองทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้างสรรค์กลายเป็นเครื่องจักรสงคราม นั่นไม่มีวันเป็นสิ่งที่เขาต้องการ แต่ในสังคมขณะนั้น ไม่ได้ให้ทางเลือกอื่นในการทำตามความฝันของเขาเลย

Spirited Away บอกเราว่า การเติบโตคือการเป็นตัวเองในแบบที่ดีกว่าเดิม

“ช่อดอกไม้ช่อแรก ดันเป็นช่อดอกไม้บอกลาซะงั้น” 

เรื่องราวของ Spirited Away เล่าผ่าน จิฮิโระ ตัวละครเด็กสาวผมหางม้าสีน้ำตาล เธอเป็นเด็กขี้กลัว ไม่กระตือรือร้น และไม่ชอบท้าทายสิ่งใหม่ๆ เมื่อถึงวันที่ครอบครัวของเธอต้องย้ายบ้านจากเมืองสู่ชนบท ซึ่งห่างไกลจากที่ที่เธอจากมาเป็นอย่างมาก 

จิฮิโระนั่งอยู่บนรถด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ยินดีเลยสักนิดที่ตัวเองจะต้องย้ายมาอยู่บ้านใหม่ โดยเธอต้องมาเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะการเริ่มต้นที่โรงเรียนใหม่ การหาเพื่อนใหม่ หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตในบ้านใหม่

“พอเราคุ้นเคยกับมันแล้ว ทุกอย่างจะดีเอง” 

พ่อผู้มีนิสัยที่ต่างกับจิฮิโระเป็นอย่างมาก ชอบท้าทายสิ่งใหม่ๆ ไม่กลัวการเริ่มต้นใหม่ และรักการผจญภัย ตรงข้ามกับแม่ที่คอยห้ามปรามเสมอ ความที่เป็นคนค่อนข้างใจเย็นและอยู่ในระเบียบ แม่มักจะบอกให้จิฮิโระทำตามที่เธอสอนเสมอ ทำให้จิฮิโระเป็นเด็กที่ลังเลและไม่กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ 

แต่เมื่อความท้าทายของพ่อทำให้ทั้งสามหลงเข้ามาทางอุโมงค์กลางป่า และได้เจอกับสถานที่แปลกตา ในที่สุดจิฮิโระก็ได้รู้ว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่

“หากวันนึงเราก้าวเข้าสู่สังคมใหม่ เราจะสูญเสียความเป็นตัวเองหรือไม่”

เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และสักวันหนึ่งเราต่างก็ต้องก้าวเข้าสู่สังคมใหม่ และสังคมใหม่นั้นมักจะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างจากสังคมเก่าเสมอ 

เมื่อจิฮิโระหลงเข้าไปในเมืองของภูติผีและวิญญาณ และได้พบกับ ฮาคุ เด็กชายที่คอยให้ความช่วยเหลือเธอ จิฮิโระได้เข้าไปทำงานในโรงอาบน้ำที่ฮาคุแนะนำไว้ว่า ถ้าเธอไม่มีงานทำจะถูกเจ้าของโรงอาบน้ำฆ่า 

ในที่สุดจิฮิโระก็ได้เข้ามาเป็นคนรับใช้ และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เซ็น มีหน้าที่ทำความสะอาดโรงอาบน้ำ และดูแลลูกค้าที่เป็นวิญญาณ จากเด็กผู้หญิงที่ไม่กระตือรือร้นและขี้กลัว จิฮิโระเริ่มเปลี่ยนตัวเองทีละนิด ค่อยๆ เป็นส่วนหนึ่งของโรงอาบน้ำจนคนรอบข้างยอมรับในที่สุด ในทางกลับกัน นั่นทำให้เธอเริ่มลืมตัวตนในโลกมนุษย์ไปเรื่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้นเธอพยายามจะไม่ลืมตัวตนและชื่อจริง และไม่ลืมว่าเธอต้องช่วยพ่อและแม่ของเธอที่ถูกคำสาป 

“การเติบโตไม่ได้ทำให้เราสูญเสียตัวตน แต่การเติบโตจะทำให้เรากลายเป็นตัวเองในแบบที่ดีกว่าเดิม”

จิฮิโระเรียนรู้และเริ่มเข้าใจวิถีชีวิตของโลกภูติผีและวิญญาณ เธอได้ข้อคิดและอะไรหลายๆ อย่าง แต่สิ่งที่ทำให้เธอกลายเป็นคนใหม่ กล้าที่จะรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด พร้อมที่จะพูดว่าทำผิดอะไร และพร้อมที่จะแก้ไข นี่เป็นสิ่งที่ทำให้จิฮิโระเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ในตอนแรกเธอแทบจะไม่มีตัวตนในโลกที่แปลกประหลาดนี้ และเกือบถูกสังคมกลืนกินว่าเธอต้องเป็นคนแบบไหน แต่ในที่สุดจิฮิโระก็มองมุมต่างออกไป การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายความว่าจะต้องถูกกลืนกิน เราสามารถเติบโตในสังคมใหม่แบบที่เราไม่สูญเสียความเป็นตัวเองได้ ขอแค่ยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่ตัดสินหรือไม่มองคนต่างกันจากรูปลักษณ์ภายนอก 

“ไปได้แล้ว อย่าหันหลังกลับมาล่ะ”

ท้ายที่สุด จิฮิโระได้แก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดอย่างกล้าหาญและกลายเป็นเด็กผู้หญิงที่มีความมั่นใจมากขึ้น  จิฮิโระเลือกเส้นทางที่เธอจะต้องเติบโตไปสู่สังคมใหม่จริงๆ ยอมรับและบอกลาตัวเองในที่ที่จากมา แต่แน่นอนว่าจิฮิโระจะไม่สูญเสียความเป็นตัวเองเด็ดขาด แม้จะพบเพื่อนใหม่ แม้จะต้องใช้ชีวิตในบ้านใหม่ เธอจะต้องเป็นจิฮิโระที่โตขึ้นในแบบที่ดีกว่าเดิม 

ต่อให้การเปลี่ยนแปลงจะน่ากลัวเพียงใด ทุกคนจะได้รับบทเรียนระหว่างการเปลี่ยนแปลง

Kiki’s Delivery Service บอกเราว่า ความพยายามที่ดีมักมาพร้อมกับความพอดีที่เป็นตัวของตัวเอง

Kiki’s Delivery Service หรือ แม่มดน้อยกิกิ เรื่องราวของแม่มดสาววัย 13 ปีที่ต้องออกจากบ้านเป็นเวลาหนึ่งปีเพื่อไปฝึกฝนการเป็นแม่มดและค้นหาทักษะที่เหมาะที่สุดให้ตัวเองในดินแดนแสนไกล

กิกิ แม่มดน้อยผู้สดใสร่าเริง เธอไม่มีทักษะโดดเด่นอะไรนอกจากการขี่ไม้กวาดที่แม่เคยสอนเมื่อตอนเด็ก ขี่ไม้กวาดจึงเป็นทักษะเดียวที่เธอทำได้และคิดว่าน่าจะใช้หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ จึงเป็นที่มาของบริการส่งถึงที่ (delivery service) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาตัวเอง 

มีอุปสรรคมากมายเกิดขึ้น บริการส่งถึงที่ของเธอไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ ฝนตกระหว่างทาง ขนส่งผิดพลาด ฯลฯ แต่ทุกครั้งก็รอดมาได้ด้วยการไม่ยอมแพ้ 

ภายนอกถึงจะเข้มแข็งและกล้าหาญ แต่ในใจกิกิยังรู้สึกเศร้าและสับสนถึงสิ่งที่เธอทำได้แต่ไม่ดีมาก นั่นคือการขี่ไม้กวาด เธอรู้ว่าการขี่ไม้กวาดเป็นทักษะเดียวที่ทำได้ แต่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการฝึกบังคับให้บินได้ตามใจ เธอจึงเกิดคำถามและมีความไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะทำมันได้ดีจริงๆ ไหม จิตวิญญาณในการเป็นแม่มดจึงเริ่มหายไปทีละน้อย ความร่าเริงสดใสค่อยๆ เจือจาง

เมื่อจิตวิญญาณเริ่มหายไป การกลับมาทำความเข้าใจถึงสิ่งที่กำลังทำจึงเป็นคำตอบสำคัญ 

ฉากที่ประทับใจมากและยังเป็นบทเรียนอย่างหนึ่งได้นั้นคือฉากที่กิกิเข้าไปพักในบ้านของเออร์ซูล่า เพื่อนสาวจิตรกรที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับการวาดรูปอยู่ในป่า ทั้งสองนั่งหันหน้าคุยกันก่อนเข้านอน เออร์ซูลาเล่าที่มาของการเป็นจิตรกร เธอบอกกิกิถึงสาเหตุที่ตัวเองเคยวาดรูปไม่ได้เพราะวาดตามศิลปินคนอื่น ไม่ได้ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป ซึ่งสถานการณ์นี้คล้ายกับที่กำลังเกิดขึ้นกับกิกิที่พยายามคิดเรื่องการบินมากจนเกินไป จนทำให้เธอสูญเสียพลังในการเป็นแม่มด

หากใครกำลังรู้สึกท้อแท้หรือกำลังสับสนกับสิ่งที่พยายามอยู่ ตัวละครในเรื่องนี้จะให้ข้อคิดเล็กๆ และพูดถึงการกลับมาทำความเข้าใจตัวเองว่า หากเราพยายามทำอะไรก็ตามที่ไม่เป็นตัวเอง นั่นไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีแถมยังสูญเสียจิตวิญญาณของการเป็นตัวเองอีกด้วย แต่การพยายามทำเท่าที่ทำได้ในแบบฉบับตัวเอง แม้ไม่ได้ดีเยี่ยมแต่นั่นทำให้เรารู้สึกดีและมีความสุข เท่ากับว่าเราทำสิ่งนั้นได้ดีมากเท่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้แล้ว

ความมั่นใจที่เคยหายไปของกิกิกลับมาพร้อมกับบริการส่งถึงที่อันเต็มเปี่ยมไปด้วยเป้าหมายและความร่าเริงอีกครั้ง

My Neighbor Totoro บอกเราว่า จินตนาการของเด็กๆ ไม่เคยไร้สาระ

“จริงๆ นะ โทโทโร่อยู่ตรงนี้จริงๆ! เมไม่ได้โกหก” 

เสียงยืนกรานของ เม ลูกสาวคนเล็กในครอบครัวคุซากาเบะ หลังตื่นเต้นกับการเจอ โทโทโร่ ครั้งแรกและพยายามพิสูจน์ให้พ่อและพี่สาวเชื่อว่าโทโทโร่มีอยู่จริงและกำลังซ่อนตัวอยู่ในโพรงต้นไม้ใหญ่

โทโทโร่เป็นตัวละครที่ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเรื่อง My Neighbor Totoro โทโทโร่เพื่อนรัก เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของสามพ่อลูกที่ย้ายเข้ามาอยู่ในชนบท เพื่อที่จะได้มาอยู่ใกล้ๆ แม่ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล

ความจริง ไม่ใช่แค่เมที่ช่างคิด ช่างสงสัย และช่างถาม แต่ ซะสึกิ พี่สาวของเธอก็มีบุคลิกและนิสัยไม่ต่างจากน้องสาว

และคนที่มักจะได้ยินเรื่องราวในจินตนาการของเด็กๆ ทั้งสองคน คือ พ่อ ผู้ไม่เคยเมินหรือบอกปัดเรื่องเล่าของสองสาว แต่พยายามเข้าใจและช่วยต่อเติมจินตนาการของเด็กๆ 

แม้แต่ครั้งแรกที่เจอกับโทโทโร่ พ่อยังมองตาแล้วบอกเมว่า  “พ่อไม่ได้คิดว่าลูกโกหก ลูกคงเจอกับราชาแห่งป่าได้แล้ว”

ในฐานะคนดูอาจมองว่า ราชาแห่งป่าที่คุซากาเบะบอกลูกอาจเป็นเพียงนิทานหลอกเด็ก แต่พ่อพูดด้วยความรู้สึกจริงว่า “มนุษย์กับต้นไม้เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน”

โทโทโร่เป็นตัวแทนของธรรมชาติที่คอยปกป้องและดูแลพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน แวะมาหยอกล้อเด็กสองคนเป็นครั้งคราว ปรากฏตัวในความฝัน และมักจะอยู่ข้างๆ ในเวลาที่เมและซะสึกิต้องการ ‘เพื่อน’ และ ‘ความช่วยเหลือ’ 

ถึงพ่อ แม่ คุณยาย และชาวบ้านจะไม่เห็น โทโทโร่ รสบัสแมว และชาวก้อนฝุ่นนับร้อยกับตา แต่สองพี่น้องเชื่อว่าทั้งสามสิ่งนี้มีอยู่จริงในจินตนาการของพวกเขาที่ผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองว่า ‘ไร้สาระ’

From up on poppy hill  บอกเราว่า จงก้าวต่อไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งอดีต ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด 

เรื่องราวของกลุ่มเด็กนักเรียนที่ร่วมกันปกป้อง ‘ควอเตอร์ละติน’ ตึกชมรมอันเก่าแก่แห่งโรงเรียนมัธยมโคแนน เมื่อมีคำสั่งจากเบื้องบนของโรงเรียนให้มีการรื้อถอนตึกชมรมแห่งนี้

ควอเตอร์ละติน ตึกไม้สูง 3 ชั้น ที่อัดแน่นไปด้วยชมรมหลากหลาย ทั้งดาราศาสตร์ โบราณคดี ปรัชญาและวรรณกรรม รวมไปถึงเป็นพื้นที่ในการค้นหาตัวตนและแสดงความหลงใหลของเด็กนักเรียน 

คาซามะ ชุน เด็กหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น และเป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านการรื้อถอนตึกครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึง ‘การยืนหยัด’ เพื่อสิ่งที่เชื่อมั่นและ ‘การไม่นิ่งเฉย’ ต่ออำนาจ 

“ปกป้องอาคารของเราไม่ให้ถูกทำลาย” คือ พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์โรงเรียนมัธยมจัดทำโดยนักเรียนจากชมรมวรรณกรรม ซึ่งนำไปสู่การโต้วาทีในหมู่นักเรียนกันเอง ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับการรื้อถอนตึกและฝ่ายที่ต่อต้านการรื้อถอน 

“ไม่มีอนาคตสำหรับคนที่ลืมอดีตหรอก” ชุนตะโกนเสียงดังลั่นด้วยแววตาเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ 

การโต้วาทีในวันนั้นจบลงโดยยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด แต่การมีพื้นที่ให้ทั้ง 2 ขั้วความเห็นได้มาแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีก็นำไปสู่การเสนอทางออกบางอย่าง 

“นายน่าจะทำความสะอาดมันหน่อย” มัตซึซากิ อูมิ เด็กสาวที่เพิ่งเคยมาเยือนตึกชมรมได้ไม่นานนัก ลองเสนอทางออกให้กับชุนระหว่างการกลับบ้านด้วยกัน

ทำให้เกิด ‘การปรับตัว’ เพื่อพบกันคนละครึ่งทางระหว่าง 2 ขั้วความเห็น

กลุ่มเด็กนักเรียนที่ต้องการรักษาตึกชมรมเอาไว้ จึงมารวมตัวกันเพื่อทำความสะอาดตึกในรอบหลายปี กัดฟันทิ้งข้าวของที่เก่าแก่เกินกว่าจะใช้งาน ทั้งทาสีใหม่และซ่อมไฟระย้ากลางตึกชมรม ซึ่งดูเหมือนความทุ่มเทนี้จะไม่เสียเปล่า เพราะทำให้นักเรียนฝ่ายที่เห็นด้วยกับการรื้อถอนตึกเปลี่ยนใจได้ 

แต่ความพยายามของกลุ่มเด็กนักเรียนอาจไม่ไปถึงสายตาผู้มีอำนาจ เมื่อคณะกรรมการโรงเรียนยังคงมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนตึกชมรมแห่งนี้ต่อไป โดยไม่เฉียดมาดูความเปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย 

กลุ่มตัวแทนเด็กนักเรียนผู้ไม่เคยยอมแพ้ต่ออำนาจและผูกพันกับตึกชมรม จึงต้องออกเดินทางเพื่อคุยกับประธานที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจว่าจะยุบหรือไม่ยุบตึกชมรมแห่งนี้ 

“พวกเรารักมันค่ะ” อูมิไม่ลังเลที่จะตอบกลับท่านประธานที่ถามว่าสนใจอะไรกับตึกชมรมเก่าคร่ำครึ และโน้มน้าวให้ประธานไปดูความเปลี่ยนแปลงและความพยายามของนักเรียนทุกคนในการรักษาสิ่งที่มีคุณค่าของพวกเขาเอาไว้ 

เป็นการเดินทางที่ทำให้เห็นพลังของหนุ่มสาวในการต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งพื้นที่แห่งความฝันและความหวังอย่างตึกชมรมควอเตอร์ละติน ทำให้เห็นว่าแม้จะผูกพันกับอดีตแต่ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ได้ไปต่อ แม้จะมุ่งมองไปข้างหน้าแต่ใช่ว่าการทำลายอดีตคือทางออกเสมอไป 

Ocean Waves บอกเราว่า ชีวิตวัยเรียนมันต้องได้ลองรัก

ว่ากันว่าความรักที่เกิดในวัยเรียน เป็นช่วงเวลาที่ ‘รัก’ ได้ทำงานอย่างเต็มที่

เพราะไม่มีปัจจัยอื่นให้ต้องคำนึงมากนัก นอกจากฉันรักเธอ เธอชอบฉันไหม และเราจะประคองความรักนี้ไปต่อได้อย่างไร 

Ocean Waves หรือสองหัวใจ หนึ่งรักเดียว ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวความรักระหว่าง โมริซากิ ทาคุ, มูโต้ ริคาโกะ และมัตสึโนะ ยูทากะ ช่วงฤดูร้อนตอนม.5

ริคาโกะเป็นเด็กใหม่จากโตเกียวที่ย้ายเข้ามากลางเทอม ความสวย ฉลาด และไม่เหมือนคนในพื้นที่ ดึงดูดให้คนในโรงเรียนต่างสนใจริคาโกะ รวมไปถึงยูทากะที่เป็นเพื่อนสนิทของทาคุเองก็หลงรักริคาโกะ

ตัวทาคุเอง แม้จะแสดงออกว่าไม่ชอบริคาโกะ แต่มักเกิดเหตุการณ์ที่เขาจับพลัดจับพลูไปช่วยริคาโกะเสมอ ทำให้ทาคุได้เห็นด้านบางด้านที่คนอื่นไม่เคยเห็น และนั่นค่อยๆ ส่งพลังงานบางอย่างไปที่ใจทาคุ

ความรักของพวกเขาเดินคู่ไปกับการใช้ชีวิตนักเรียนม.ปลาย ที่ต่างถูกคาดหวังว่าต้องเรียนเก่ง สอบติดมหาวิทยาลัยดังๆ และบทบาทการเป็นลูกที่พยายามทำตัวให้พ่อแม่พอใจ

“เรื่องทำร้ายลูกไว้ใจพ่อแม่ได้เลย”

ประโยคที่ทาคุพูดขึ้นหลังจากแม่ของเขาเล่าว่า ริคาโกะต้องย้ายจากที่เดิมเพราะพ่อแม่เลิกกัน ชีวิตที่ไปได้ดีของเธอเลยต้องเปลี่ยนเส้นทางกะทันหัน และแม้ริคาโกะจะแสดงออกว่าไม่ชอบการตัดสินใจของผู้ใหญ่แต่เธอก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะความเป็นเด็ก

ชีวิตเด็กม.ปลายคนหนึ่งอาจมีหลายเรื่องประดังประเดเข้ามา หากเราได้ลองมีความรักแล้ว มันอาจกลายเป็นตัวช่วยให้เราผ่านเรื่องยากๆ พวกนี้ไปได้ รวมถึงเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่เราจะได้รักอย่างเต็มที่


Writer

Avatar photo

mappa learning

Illustrator

Avatar photo

กมลชนก แก้วก่า

นักศึกษาฝึกงาน graphic design ชอบฟังพอดแคสต์ มีความฝันอยากเลี้ยงแมวส้ม

Related Posts