- ถ้าเมืองดี เด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่อยากเป็น
- เพราะการพัฒนาเมืองไม่ใช่แค่การปรับปรุงโครงสร้างหรือผังเมือง แต่รวมถึงการพัฒนา ‘คน’ ให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
- เปิดนโยบายการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัวของ 7 ผู้สมัครผู้ว่ากทม. save เก็บไว้ ใครได้เป็นพ่อเมือง จะได้กลับมาตรวจสอบอีกครั้งว่าใครทำจริงและใครแค่ขายฝัน
ถ้าเมืองดี เด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่อยากเป็นได้ ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ในยุคที่เด็กต้องเรียนผ่านจอ บางคนมีเพื่อนเป็นอวตาร์ และบางคนต้องเลิกเรียน โจทย์สำคัญของผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนต่อไป คือ ทำอย่างไรให้เมืองเป็นพื้นที่ที่ยอมรับตัวตน มองเห็นคุณค่า และสนับสนุนการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง
โรงเรียน หลักสูตร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พื้นที่การเรียนรู้ สวัสดิการเด็กและครอบครัว ระบบพัฒนาครู คือ 6 นโยบายด้านการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัว จาก 7 ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เพราะการพัฒนาเมืองไม่ใช่แค่การปรับปรุงโครงสร้างหรือผังเมืองให้ดีขึ้นจากเดิม แต่รวมถึงการพัฒนา ‘คน’ ให้มีความสามารถและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต
วันแรกของการเปิดรับสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร mappa ชวนดูนโยบายการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัว ของผู้สมัครทั้ง 7 คน
save เก็บไว้ ใครได้เป็นพ่อเมือง เราจะได้เอานโยบายซึ่งเปรียบเสมือนคำสัญญามาตรวจสอบอีกครั้งว่าใครทำจริงและใครแค่ขายฝัน
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล
5 นโยบายการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัว จากวิโรจน์ ลักขณา พรรคก้าวไกล มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพโรงเรียน หลักสูตร และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในกรุงเทพฯ
นโยบายแรก ‘อัพเกรดศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพเท่าเอกชน’ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถือเป็นตัวช่วยสำคัญของพ่อแม่ที่ต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูแลลูก นโยบายจากวิโรจน์ คือ จะเพิ่มงบสำหรับจัดการศูนย์เด็กเล็ก 5 ล้านบาทตลอด 4 ปี เน้นความปลอดภัย อาหารที่ตรงหลักโภชนาการ และสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในศูนย์
ถัดมาคือ การเตรียมบรรจุครูพี่เลี้ยงในศูนย์เด็กเล็กให้เป็นลูกจ้างประจำ เพิ่มค่าตอบแทนและหลักสูตรสำหรับพัฒนาทักษะดูแลเด็กปฐมวัย
นโยบาย ‘โรงเรียนกรุงเทพฯ ปลอดบูลลี่’ ทำให้โรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปลอดการบูลลี่ หรือการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เพื่อโอบรับความแตกต่างของเด็กๆ และปรับปรุงคุณภาพอาหารโรงเรียนให้ตรงหลักโภชนาการที่ถูกต้อง รวมถึงคุณภาพห้องน้ำ และเครื่องเล่นในโรงเรียนต้องมีความปลอดภัย
นโยบาย ‘หลักสูตรเพื่อนักเรียน’ คืนเวลาให้นักเรียนด้วยการทำหลักสูตรออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ควบคู่กับนโยบาย ‘แจกคูปองตาสว่าง’ เปิดโอกาสให้เด็กทำกิจกรรม ลงมือทำ และลองฝันถึงสิ่งที่เขาต้องการ
และนโยบายสุดท้าย ‘คืนอำนาจให้ครู’ แก้ระเบียบ ให้เวลาครูในการสร้างสรรค์การสอนและมอบทักษะต่างๆ ให้นักเรียน
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ
อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพฯ สกลธี ภัททิยกุล ก็ลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัวของผู้สมัครเบอร์ 3 มีทั้งหมด 5 นโยบาย ได้แก่
‘โรงเรียนดีใกล้บ้าน’ พัฒนาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ 437 แห่งให้มีคุณภาพเท่ากัน ทำให้ผู้ปกครองวางใจโรงเรียนใกล้บ้านที่จะส่งลูกหลานไปเรียน และ ‘ปรับให้เป็นโรงเรียนสองภาษา’ เพราะภาษาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันและในอนาคต จะเพิ่มบุคลากรสำหรับสอนภาษาให้นักเรียน
‘โรงเรียนผสมและเฉพาะทาง’ เปิดโอกาสให้เด็กเรียนตามความถนัด สร้างหลักสูตรที่หลากหลายและตอบโจทย์เด็กทุกคน เพราะเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่สามารถใช้รูปแบบเดียวสอนเด็กทุกคนได้ หาหลักสูตรที่เหมาะและเฉพาะทางให้เด็กทุกคน
‘อาหารครบโภชนาการฟรี’ กรุงเทพฯ จะสนับสนุนงบอาหารโรงเรียนเพิ่มจากงบที่ได้จากกระทรวงศึกษาธิการ
‘ลดภาระครู ยกระดับครูคุณภาพ’ ให้ครูปรับวิธีการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก เน้นสอนให้เด็กคิดมากกว่าการท่องจำ
และนโยบายสุดท้าย ‘หลักสูตรหลังเลิกเรียน เพิ่มทักษะการใช้ชีวิต พร้อมหารายได้เสริม’ กรุงเทพฯ จะประสานภาคเอกชนจัดพื้นที่ให้เด็กมีโอกาสฝึกงาน สร้างรายได้ให้กับตัวเอง
ดร.เอ้ – ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์
3 นโยบายการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัวจากดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ หรือ ‘พี่เอ้’ เน้นเรื่องการพัฒนาโรงเรียนและหลักสูตร
เริ่มที่นโยบายแรก ‘50 เขต 50 โรงเรียนต้นแบบ’ สร้างโรงเรียนต้นแบบ 1 โรงเรียน ต่อ 1 เขต รวม 50 โรงเรียนต้นแบบในกรุงเทพฯ พร้อมกับทำ ‘หลักสูตรไฮบริด’ ที่ผสมผสานการเรียนในห้องเรียนร่วมกับการเรียนออนไลน์ ให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความสนใจ พร้อมกับเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพ ความสามารถผ่านงาน ‘Bangkok Showcase’ เวทีและพื้นที่ในการสร้างสรรค์และนำเสนอผลงานของเด็กๆ
นโยบาย ‘เรียนสามภาษา สนับสนุนดนตรี กีฬา และวิชา Robotic Coding AI’ ไม่ใช่เรียนแค่ภาษาอังกฤษ แต่ให้นักเรียนได้เรียนภาษาที่สามเพิ่ม โดยเรียนกับเจ้าของภาษาโดยตรง เพื่อต่อยอดในอนาคต
นโยบายดังกล่าว นอกจากจะส่งเสริมการเรียนด้านวิชาการแล้ว ยังสนับสนุนวิชาดนตรีและกีฬา ต่อยอดไอเดียในการประกอบอาชีพอื่นๆ ตามความสนใจและวิชาพัฒนาทักษะแห่งอนาคต เช่น AI Coding Quantum Metaverse เตรียมพร้อมยุคดิสรัปชั่น วิชาทักษะการขายของออนไลน์ วิชาการสร้างแบรนด์ วิชาบัญชีและภาษีเบื้องต้น เป็นต้น
และนโยบายสุดท้าย ‘อาหารดี มีคุณภาพ’ เพิ่มงบประมาณค่าอาหารเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 เท่า จาก 20 บาท เป็น 40 บาท พร้อมจัดอาหารมื้อเช้าในศูนย์พัฒนาฯ เด็กๆ จะต้องได้รับสารอาหารครบถ้วน ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง
รวมถึงควบคุมคุณภาพอาหารเช้าและอาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ โดยมีนักโภชนาการดูแลจัดการอาหารโดยตรง
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ
อดีตผู้ว่ากรุงเทพ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน จุดขายคือประสบการณ์ทำงานในตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพฯ กว่า 6 ปี และต้องการไปต่อ
หนึ่งนโยบายใหญ่ด้านการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัวของอัศวิน คือ ‘นโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้’ ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย
แผนของอัศวิน คือ ‘พัฒนาโรงเรียนสังกัดกทม.’ จำนวน 437 แห่ง ให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ฟรีค่าธรรมเนียมการศึกษา) รวมถึงมีอาหารเช้าและอาหารกลางวันตามหลักโภชนาการ และสนับสนุนค่าเครื่องแบบปีละ 300 บาทต่อคน
นอกจากนี้ ยังพัฒนาหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนตามความถนัดและเหมาะสมกับตัวเอง เพิ่มหลักสูตรสองภาษาและหลักสูตรฝึกอาชีพ ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถนำไปต่อยอดประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้
รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ
แม้จะไม่มีนโยบายการศึกษาที่ครอบคลุมเท่าผู้สมัครคนอื่น แต่รสนา โตสิตระกูล อิสระ ผู้สมัครหมายเลข 7 ชูนโยบายสำหรับ ‘แม่และเด็ก’
โดยเตรียมร่วมมือกับยูนิเซฟ (UNICEF) “ยกระดับศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพ” ผ่านโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในศูนย์เด็กเล็ก และขยายจำนวนให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพ เพื่อลดภาระผู้ปกครอง และวางแผนจัดตั้งกองทุนสวัสดิการช่วยแม่เลี้ยงเดี่ยว ให้มีอาชีพ พึ่งตนเองได้และสามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
“ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วกรุงเทพฯ” จัดบริการรับฝากและดูแลโภชนาการของหญิงมีครรภ์และเด็กอ่อน
“สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงในครอบครัว และการคุกคามทางเพศ” สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้หญิงสามารถใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ได้อย่างอิสระและปลอดภัยในทุกพื้นที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะมีศูนย์รับแจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง เพื่อคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายทั้งร่างกายและจิตใจ
รวมถึง “ให้บริการผ้าอนามัยแบบให้เปล่าแก่ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย” ผลักดันให้เป็นสวัสดิการฟรีสำหรับสตรีถ้วนหน้า
และนโยบาย ‘จัดศูนย์บริการรับ-ส่งผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ทุพพลภาพช่วยเหลือตัวเองไม่ได้’ สำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ในการเดินทางไปสถานพยาบาลและสถานที่ราชการ
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เตรียมนโยบายด้านกับการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัวของชัชชาติไว้ทั้งหมด 28 นโยบาย ครอบคลุมเรื่องโรงเรียน หลักสูตร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พื้นที่การเรียนรู้ สวัสดิการเด็กและครอบครัว และระบบพัฒนาครู
นี่คือ 6 จาก 28 นโยบายหมวดการศึกษาของชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นโยบายแรก ‘ให้การศึกษาพัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก (Global citizen)’ ปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อพัฒนานักเรียนสู่การเป็นพลเมืองโลก (global citizen) เช่น เพิ่มการศึกษาประวัติศาสตร์และประเด็นสังคมต่างๆ ทำความเข้าใจประเด็นอ่อนไหว เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ ชาติพันธุ์ ฯลฯ และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยี
ต่อมา ‘ปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะครู’ ศึกษาแนวทางในการประเมินผลวิทยฐานะครูใหม่ เช่น ระบบการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรครูร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ระบบการประเมินผลงานตามสมรรถนะ โดยระบบการประเมินใหม่นี้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระงานเพิ่มเติมให้กับครูจนไม่มีเวลาให้กับนักเรียน
‘Digital Talent ผู้ช่วยด้านเทคโนโลยีให้ครู’ สร้างทีม Digital Talent เพื่อช่วยเหลือในด้านความรู้และสร้างความคุ้นเคยสำหรับการใช้เทคโนโลยีให้กับครูกทม. จะกำหนดให้ Digital Talent หนึ่งคนดูแลโรงเรียนประมาณ 5 โรงเรียน จัดกลุ่มให้โรงเรียนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่ด้วย เช่น โรงเรียนมัธยมปลายเหมือนกัน อยู่ในพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เพื่อให้สามารถช่วยดูแลครูได้อย่างทั่วถึงในแต่ละด้านที่กำหนดไว้
‘โรงเรียนประสิทธิภาพสูงด้วย open data เปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนในมิติต่างๆ’ เปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนในมิติต่างๆ เช่น การใช้งบประมาณ แผนการดำเนินการ ตัวชี้วัด ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ผลการประเมินคุณภาพโรงเรียน ขึ้นอยู่บน Cloud พร้อมกับการแสดงผลบน Dashboard ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ เช่น โรงเรียน ภาคประชาสังคม ผู้ปกครอง เอกชน เป็นต้น ให้เข้ามาช่วยกันคิด แก้ไขปัญหา ออกแบบแนวทางการพัฒนาโรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อนักเรียนมากยิ่งขึ้น
‘After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน’ จัดกิจกรรมหลังเลิกเรียน พร้อมกับสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการทำกิจกรรม บุคลากร และค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับคุณครูที่ต้องอยู่ดูแลนักเรียน ในรูปแบบต่างๆ ให้นักเรียนสามารถเลือกที่จะเข้าร่วมระหว่างรอผู้ปกครองมารับได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มการสอนตั้งแต่เวลาเลิกเรียนไปจนถึง 6 โมงเย็น
และนโยบาย ‘พัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน’ เพิ่มทางเลือกให้กับการศึกษาผ่านโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพในกทม. ทั้งการสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อรองรับการประกอบอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม และการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ระบบแรงงานเอกชน โดยการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น e-Commerce
น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย
ผู้สมัครที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานอย่าง น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย มาพร้อมกับนโยบาย 3P คือ People Profit และ Planet เขาเชื่อว่าประชาชน คือ คนที่สร้างเมือง ฉะนั้น การลงทุนในคนเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้นโยบายในหมวดการศึกษา เด็ก เยาวชน และครอบครัวของศิธามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบการศึกษาและสังคม ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งโอกาสของทุกคน
‘ทำให้โรงเรียนที่ดีที่สุดอยู่ใกล้บ้านทุกคน’ พัฒนาให้โรงเรียนในกรุงเทพฯ ทั้งหมดมีคุณภาพและมาตรฐานเท่ากัน ลดภาระผู้ปกครองและนักเรียนที่ต้องเรียนไกลบ้าน
บ่มเพาะเด็กในกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘nano entrepreneur’ (ผู้ประกอบการขนาดเล็ก) ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนและให้ความรู้ ควบคู่ไปกับการสร้าง ecosystem ของกรุงเทพฯ ให้เป็นออฟฟิศดึงดูดคนเก่ง และนักลงทุนจากทั่วโลก
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=66QhVBGUsWA
https://www.facebook.com/suchatvee.ae/posts/546170213535471
https://www.thansettakij.com/politics/506907
https://www.matichon.co.th/politics/news_3258128
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1204370626637758&set=pcb.1204425346632286
https://mgronline.com/politics/detail/9650000023176
https://www.facebook.com/thaisangthaiparty