70ยังแต๋ว: เส้นทาง “สายแฟ” ของแม่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์กับลูกชายช่างภาพเบอร์ต้นของวงการ

  • “70ยังแต๋ว” คือเฟซบุ๊กแฟนเพจของ “แม่แต๋ว – อัจฉรา นรินทรกุล ณ อยุธยา” และ “นิน – นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา”
  • ลูกชาย บอกเล่าเรื่องราวการบำบัดผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วยแฟชั่น ผ่านภาพถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้าสีสันสดใสของแม่แต๋ว และเป็นผลงานการลั่นชัตเตอร์ของนินทร์นั่นเอง
  • จากความบังเอิญที่นินทร์พาแม่ออกไปทำงานกับเขา สู่การสร้างเพจ “70ยังแต๋ว” พื้นที่เก็บรวบรวมเสื้อผ้าสีสันแสบตาของแม่แต๋ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด การทำเพจกลับส่งผลดีกับอาการอัลไซเมอร์ของแม่แต๋วอย่างยิ่งยวด 
  • สิ่งที่นินทร์เชื่ออย่างสุดหัวใจคือ “ศิลปะส่งพลังไปถึงคนอื่นได้” การทำเพจจึงคล้ายกับการทำงานศิลปะที่ส่งพลังไปให้แม่แต๋ว และใครก็ตามที่กำลังยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ของการส่งพลังใจเท่านั้น แต่ “70ยังแต๋ว” ยังได้กลายเป็นช่องทางการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรื่องราวของผู้ดูแลอีกมากมาย
  • หลังจากทำเพจเพื่อบอกเล่าเส้นทางการบำบัดของแม่แต๋ว นินทร์ก็ต่อยอดการเล่าเรื่องราวของแม่แต๋ว มาเป็นนิทรรศการ “รันเวย์ชีวิต 70 ยังแต๋ว” ที่จัดแสดงเสื้อผ้าของแม่แต๋ว และได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อผ้า 70ยังแต๋ว ที่กำลังจะเปิดตัว 

บ้านไม้หลังเก่าตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางตึกสูงใจกลางเมือง รายล้อมไปด้วยพืชไม้นานาพันธุ์ที่ช่วยให้บ้านหลังนี้ร่มเย็นได้แม้ไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ และที่นี่ยังเป็น “ที่พักร่างกายและจิตใจ” ของอินฟลูเอนเซอร์สุดแซ่บแห่งโซเชียลมีเดียเมืองไทย ที่รับรองว่าไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เพราะเธอคือ “ผู้ป่วยอัลไซเมอร์” เจ้าของเพจ “70ยังแต๋ว” 

นินทร์ – นรินทรกุล ณ อยุธยา” คือลูกชายและช่างภาพส่วนตัวของ “แม่แต๋ว – อัจฉรา นรินทรกุล ณ อยุธยา” อินฟลูเอนเซอร์ที่เราพูดถึง ความสัมพันธ์ของสองแม่ลูกที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ที่ส่งผลให้ความทรงจำของแม่ค่อย ๆ ซีดจาง แต่ เสื้อผ้าสีสว่างสดใสที่นินทร์หยิบมาสวมใส่ให้แม่ กลับช่วยให้อาการของแม่แต๋วไม่ย่ำแย่ไปกว่าเดิม กลายเป็นว่า “แฟชั่น” คือตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ของแม่ลูกให้กลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง และพร้อมเดินหน้าต่อไป แม้วันหนึ่งแม่จะจดจำอะไรไม่ได้เลยก็ตาม

เมื่ออัลไซเมอร์มาเคาะประตูบ้าน

เพราะแม่แต๋วคือ “ผู้สนับสนุน” ให้ลูกชายได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักมาเสมอ จึงทำให้นินทร์สามารถทำงาน “ช่างภาพ” ได้นานถึง 20 ปี และงานที่รักนี่เอง ที่ทำให้นินทร์ได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก ใช้ชีวิตโลดโผนอย่างที่ใคร ๆ ต่างใฝ่ฝันถึง ทว่าโรคร้ายกลับมาเคาะประตูบ้าน ในวันที่เขาก็ไม่ทันได้ตั้งตัว 

“แม่มาเริ่มป่วยในช่วงเวลาที่เราชอบจะอยู่บ้านแล้ว คือเราก็พาเขาไปเที่ยว แล้วก็รู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่เห็นแม่เที่ยวแล้วไม่เหมือนเดิม แม่ตกเครื่องบิน จำห้องน้ำไม่ได้ จำอะไรในโรงแรมหรือสถานที่ใหม่ ๆ ไม่ได้เลย เรียกว่าถ้าเราอยู่บ้าน เราจะไม่รู้เลย แต่พอไปเปลี่ยนที่ใหม่ ถึงได้รู้ว่าอันนี้ไม่ปกติแล้ว ก็เลยพาแม่ไปตรวจ ก็พบว่าเป็นอาการสมองเสื่อมเบื้องต้น” นินทร์เริ่มต้นเล่า 

“จำได้ว่ากลับมาบ้าน ก็คิดว่าแม่ต้องมาอยู่กับเราแล้ว เขาจะอยู่เหงา ๆ คนเดียวที่ศาลายาไม่ได้แล้ว และสิ่งแรกที่เราทำก็คือ เราต้องทิ้งของที่จะทำเป็นห้องนอนของเขาก่อน ทิ้งของชนิดที่ว่า ถ้าไม่มีปัญหา เราจะไม่สามารถจัดการบ้านของเราได้เท่านี้ เราทิ้งของทุกอย่างที่เราเห็นว่าไม่สำคัญ จนกลายเป็นห้องโล่ง ๆ วันที่แม่ย้ายเข้ามาก็กลายเป็นห้องของแม่เลย” 

ความรู้สึกของผู้ดูแล 

ในขณะที่ความทรงจำของแม่แต๋วค่อย ๆ เลือนลาง ลูกชายผู้ทำหน้าที่ “ผู้ดูแล” ก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต การจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง คือสิ่งที่นินทร์ต้องฝึกฝน เพื่อรับมือกับแม่คนใหม่ที่ตัวเองไม่คุ้นเคย 

“ช่วงแรกเราก็ยังรับมือกับอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ เพราะกลายเป็นว่าอะไรง่าย ๆ เขาจำไม่ได้เลย แค่รีโมตอันเดียว เขาจะเร่งเสียง แต่ทำไม่ได้แล้ว เราก็โกรธจนแทบจะเขวี้ยงรีโมตทิ้งเลยนะ หรือว่าโทรศัพท์มือถือที่เคยใช้อยู่ทุกวัน ก็กลายเป็นว่ากดรหัสเข้าไม่ถูก มันเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่พอเราเจอแบบนั้น เรารู้สึกว่ามันดราม่ามากเลย ทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้นะ จนคุณหมอบอกว่าเราจะใช้ไม้บรรทัดของเราไปวัดไม่ได้อีกแล้วนะ เราต้องมองว่าคนคนนี้ไม่ใช่แม่คนเดิมอีกแล้ว แต่เป็นแม่อีกคนที่สมองไม่ทำงาน เพราะฉะนั้นเราอย่าไปบ้า อย่าไปโทษเขา เขาเองก็ไม่ได้อยากเป็น” 

นอกจากการดูแลเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองแล้ว “การจัดการเวลา” ก็เป็นสิ่งที่นินทร์ทำอย่างเคร่งครัด เขาไม่ยอมเป็นผู้ดูแลที่ “ตื่นก่อน นอนทีหลัง” เพราะนินทร์เชื่อว่าเขาจะสามารถดูแลคนป่วยได้ดี ก็ต่อเมื่อตัวเองมีสุขภาพที่แข็งแรง

“วันหนึ่งถ้าแบ่งออกเป็น 4 ส่วน หนึ่งส่วนก็คือเราไปฟิตเนสได้ อีกส่วนก็คือพาแม่ไปกินขนม ไปกินก๋วยเตี๋ยวในซอยได้เต็มที่ คือให้เป็นสัดส่วนแบบนี้เลย หรือถ้าเป็นส่วนของงาน เราก็จะไม่ออกมาดูเขาเลย เราก็จะอยู่ที่ห้องทำงาน ออกมาหาเขาไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าถ้างานไม่ดี มันก็จะพังไปหมด เพราะฉะนั้น ดูแลแม่แล้ว งานของเราก็ต้องเลิศเหมือนเดิม” 

“เราไม่ค่อยกลัวเรื่องที่ว่าแม่จะลืมเรา เพราะเวลาที่ต้องอยู่กับเขาจริง ๆ การที่เขาดูแลตัวเองได้เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าที่เขาจะมาจำเราได้ด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องมาสนใจเรื่องที่ว่าเรายังแคร์กันอยู่ไหมหรือเขาจำเราได้หรือเปล่า แต่ช่วยแปรงฟันให้ดี เข้านอนตรงเวลา ออกไปกินข้าวเมื่อหิว ดูแลตัวเองให้รอด เพราะฉะนั้นคำว่าที่ว่าเราจะรักกันเหมือนเดิมไหม มันเป็นเรื่องที่เราไม่ได้นึกถึงอีกแล้ว” นินทร์สะท้อน 

©70ยังแต๋ว

แฟชั่น การฟื้นฟู และอินฟลูเอนเซอร์ 

“แฟชั่นเป็นความบังเอิญนะ เพราะวันนั้นเราต้องออกไปข้างนอก แล้วต้องเอาแม่ไปด้วย เราก็เป็นสายสตรอง คือถ้าจะออกไปข้างนอก แม่ต้องสวย จำได้ว่าแม่ใส่ชุดสีชมพู แล้วก็ออกไปทำงานกับเรา บังเอิญไปเจอนักข่าว เขาก็เลยมาถามว่าแม่เป็นอะไร ทำไมต้องแต่งชมพูทั้งตัว เราก็บอกว่าเราบังคับให้ต้องแต่งแบบนี้ เพราะเสื้อผ้าเขาเยอะ แล้วเขาลืมใส่เสื้อผ้า” 

จากความบังเอิญในวันนั้น สู่การเป็นเพจ “70ยังแต๋ว” พื้นที่เก็บรวบรวมเสื้อผ้าสีสันแสบตาของแม่แต๋ว ผ่านฝีมือการถ่ายภาพของลูกชาย ที่ใครเห็นก็ต้องอมยิ้ม แต่เหนือสื่งอื่นใด การทำเพจก็ส่งผลดีกับอาการอัลไซเมอร์ของแม่แต๋วเช่นกัน

“จากคน ๆ หนึ่งที่เคยสวยมาก ดูแลตัวเองอย่างดี รักตัวเองมาก กลายเป็นคนหลุดลอย ทุกอย่างโกลาหลไปหมด ไม่รู้ว่าสมองจะไม่มีอะไรยึดขนาดนั้นได้ยังไง แต่พอเอาแฟชั่นเข้ามา มันทำให้แม่กลับมามองกระจก ซึ่งเราจำได้เลยว่าวันที่แม่มองกระจก แล้วทาลิปสติกเอง เรารู้สึกแบบ ‘ไอ้เชี่ย อันนี้คือดีมากนะ’ เราได้รับพลังเฮือกใหญ่เลย มันเลยกลายเป็นว่ากิจกรรมบำบัดช่วยอัลไซเมอร์ให้มองเห็นตัวเอง และไม่หลุดลอย” 

สิ่งที่นินทร์เชื่ออย่างสุดหัวใจคือ “ศิลปะส่งพลังไปถึงคนอื่นได้” การทำเพจ “70ยังแต๋ว” จึงคล้ายกับการทำงานศิลปะที่ส่งพลังไปให้แม่แต๋ว และใครก็ตามที่กำลังยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขา ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นพื้นที่ของการส่งพลังใจเท่านั้น แต่ “70ยังแต๋ว” ยังได้กลายเป็นช่องทางการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรื่องราวของผู้ดูแลอีกมากมาย

“ช่วงแรกที่ทำเพจ มีคนมาไลก์เพจเยอะ ๆ เราไม่ตอบข้อความใครเลยนะ ไม่ตอบคอมเมนต์เลยด้วยซ้ำ เพราะเราไม่รู้ว่าเราต้องตอบแทนแม่ ตอบเป็นตัวเอง หรือยังไงดี คือไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือมีผลกับใครทั้งนั้น มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องทำแค่นั้นเอง มันเป็นพื้นที่โพสต์เพื่อเก็บความทรงจำให้ตัวเองเห็นว่าแม่เป็นยังไงแค่นั้น แต่พอประตูบานนี้มันเปิดขึ้นมา มันก็ทำให้เรามองเห็นว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์หรือมีแง่มุมที่ส่งพลังได้ เราถึงได้มาเริ่มตอบ แล้วทุกวันนี้ก็ต้องตอบทุกคอมเมนต์”

“ทั้งเราและเขาก็มาเล่าปัญหา ว่าเจออะไรบ้าง มันเหมือนการแลกเปลี่ยนกัน สุดท้ายบางคนเข้าห้องน้ำแล้วล้างก้นไม่เป็น คือลืมแบบนั้นเลย แล้ววันหนึ่งถ้าเราต้องเจอแบบนั้น ถ้าเราไปเจอเองเลยก็อาจจะรับไม่ได้ แต่พอเราได้ฟังจากเขาแล้ว มันก็ทำให้เรามีภาพที่เราจะเข้าใจมันได้เร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการเจอคนในโซเชียลมีเดีย การได้แลกเปลี่ยนกัน จึงเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับเรามาก” 

แบรนด์เสื้อผ้า “70ยังแต๋ว” 

“มีวันหนึ่ง เราเอาผ้าเก่าของแม่ที่เขาไม่สนใจแล้ว มาทำเป็นชุด แล้วเราก็เริ่มรู้จักช่าง รู้จักเทคนิคต่าง ๆ ที่จะบอกช่าง ก็เลยกลายเป็นส่วนที่เราเอาผ้าเก่าของเขามาทำเสื้อผ้า จากนั้นก็ค่อย ๆ ไปสู่ส่วนที่เราใช้ผ้าลินินมาทำเสื้อผ้าให้เขา เพราะบ้านเราไม่มีแอร์ แล้วผ้าลินินก็มีเนื้อผ้าที่โปร่งสบาย ก็เลยเอามาให้แม่ใส่ ทีนี้พอแม่ใส่สบาย เขาก็สะบัดกระโปรง ซึ่งมันก็สนุกของเขาแหละ มันมาจากตัวตนของแม่ แล้วเราก็เลยเริ่มใส่ผ้าลินินตามเขา พอใส่ผ้าลินิน เราก็ต้องเริ่มหาว่าจะใส่กับกางเกงแบบไหน จนกระทั่งเราแต่งตัวเป็นอีกคนหนึ่งเลย คือเนี๊ยบขึ้นไปอีก กลายเป็นว่าในแง่ของการแต่งกาย เสื้อผ้าของเราก็ดีขึ้นตามแม่ไปด้วย” 

หลังจากทำเพจเพื่อบอกเล่าเส้นทางการบำบัดของแม่แต๋ว นินทร์ก็ต่อยอดการเล่าเรื่องราวของแม่แต๋ว มาเป็นนิทรรศการ “รันเวย์ชีวิต 70 ยังแต๋ว” ที่จัดแสดงเสื้อผ้าของแม่แต๋ว ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม และนอกจากจะมีเสื้อผ้าสีสดใสของแม่แต๋วแล้ว นินทร์ยังได้จัดทำคอลเลกชั่นเสื้อผ้ามาวางขายในงานด้วย ปรากฏว่าขายหมด จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อผ้า 70ยังแต๋ว ที่กำลังจะเปิดตัว 

“แบรนด์ของเราจะออกแบบจากตัวแม่ กระโปรงต่าง ๆ มันคือความสั้นยาวที่เหมาะกับผู้ป่วย ถ้ายาวไป เขาก็เข้าห้องน้ำไม่ได้ สั้นไป เขาก็ไม่ยอมใส่ เพราะฉะนั้น มันคือการดีไซน์จากตัวแม่เลย เสื้อเชิ้ตที่เขาต้องใส่ให้สวย เพราะเราก็ใส่เสื้อเชิ้ตเหมือนกัน ก็จะแบ่งเสื้อผ้าใส่กันได้ ความเป็น unisex ก็เป็นเรื่องเรื่อง sustainability เหมือนกัน คือเรียกว่าแบรนด์นี้มีความเป็นเราสองคนจริง ๆ” 

สิ่งที่ลูกชายได้เรียนรู้

“มาถึงวันนี้ อาการของแม่ที่เราต้องเจอต่อไป มันไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญอีกแล้วล่ะ คือช่วงสองปีแรก มันเป็นช่วงเวลาที่วัดเราเลย ว่าเราจะมีชีวิตอยู่กับแม่แบบไหนดี แล้วมันกลายเป็นว่าโรคที่แม่เป็นอยู่ตอนนี้ มันทำให้เรายิ่งเป็นคนที่เก่งกว่าเดิม เพราะทุกอย่างต้องเป๊ะ มีวินัย มันเลยทำให้เรากลายเป็นคนมีวินัย สามารถรับมือกับเขาได้ ไปเจองานยาก ๆ ก็ล้วนแต่กลายเป็นงานเบาไปเลย” นินทร์บอก 

นอกจากการใช้แฟชั่นบำบัดเพื่อช่วยเยียวยาโรคอัลไซเมอร์แล้ว นินทร์ยังใช้ “การพูดคุย” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลแม่แต๋วด้วย ซึ่งบทสนทนาของสองแม่ลูกมักเต็มไปด้วย “เซอร์ไพรส์” ที่ใครได้ยินก็คงอดหัวเราะไม่ได้ จนนินทร์มีแผนอยากจะเปิดการแสดงเดี่ยวไมโครโฟนกับแม่อัลไซเมอร์ดูบ้างเหมือนกัน 

“มันจะเป็นเรื่องบทสนทนาระหว่างแม่ลูก ซึ่งเรากับแม่ต้องคุยกันทุกวัน อย่างวันไหนเราออกไปทำงาน เราจะรู้ว่าแม่ต้องอยู่หน้าทีวีตลอด พอกลับถึงบ้าน เราจะเข้าไปคุยกับเขาเลยทันที ว่าดูอะไรอยู่ ลูกกลับมาบ้านแล้วนะ แม่ไม่มองหน้าลูกเลยเหรอ คือเราคุยเรื่องอะไรก็ได้ พูดอะไรก็ได้ คือให้เป็นช่วงเวลาของเขาเลย แล้วก็จะอยู่แบบนี้เป็นชั่วโมง ถามเรื่องทีวี เรื่องเสื้อผ้า หรือเอารูปเก่า ๆ มานั่งดู แต่สุดท้ายรูปพวกนี้ก็ดูบ้างไม่ดูบ้าง เขาอาจจะเอาขอบรูปมาแคะฟันก็มีเหมือนกัน” 

“อัลไซเมอร์ไม่มีกฎอะไรเลย บางทีเปลือกกล้วยไปอยู่ในกระเป๋าผ้าไหม เราก็จะแบบว่าทำไมเป็นอีกแล้ว แต่เราต้องปล่อยวาง หรือถ้าวันไหนที่เราอยู่กับเขาทั้งวัน แล้วเราทะเลาะกันทั้งวันแล้ว ก่อนนอนเราก็ต้องจบกันด้วยดี ตอนนี้อาการของแม่ก็ไม่ได้แย่ลง แม่ยังออกไปเดินเล่นกับเราได้ ซึ่งการออกไปเดินและการแต่งตัวสวยมันช่วยทุกอย่างเลย” นินทร์บอก 

แม้ว่าแม่แต๋วจะไม่ได้ร่วมให้สัมภาษณ์กับเรา แต่เธอก็ยังแต่งตัวสวย สมกับเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายแฟตัวจริง และถึงแม้ว่าบ้านหลังน้อยกลางเมืองแห่งนี้จะไม่ได้หรูหราหรือมีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน แต่เราก็รู้สึกได้ถึงความรักของลูกชายที่มอบให้กับแม่ของเขาได้เป็นอย่างดี และสิ่งสุดท้ายก่อนจบบทสนทนา นินทร์ก็ฝากมาบอกทุกคนที่กำลังรับมือกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ว่า

“จงหนักแน่น!”


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts