แม้โรงเรียนจะเปิดแล้ว แต่มีอีกหลายบ้านที่ยังไม่สามารถกลับไปเรียนได้ตามลูปปกติ
สถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ ไม่อาจหยุดการเรียนรู้ได้ mappa ขอมีส่วนร่วมในการแนะนำ 8 แพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์ ทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศ ที่เหมาะสำหรับครอบครัวเด็กวัย 0-8 ปี เพื่อเป็นธงตั้งต้นให้พ่อแม่ตั้งหลักและเดินต่อได้
1. MAPPA
mappa learning คือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนบ้านและสถานที่ต่างๆ ในโลกจริงให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างสรรค์ สนุก และปลอดภัย
หากเปรียบการเรียนรู้คือโลกหนึ่งใบ นี่คือโลกใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยได้เข้าไปสำรวจมาก่อน เพราะในโลกของ mappa learning เด็กๆ จะรับบทบาท ‘นักผจญภัย’ และผู้ใหญ่ที่ร่วมเดินทางจะรับบทบาทเป็น ‘คู่หู’ ทั้งสองจะร่วมกันทำ ‘ภารกิจ’ ในดินแดนต่างๆ เพื่อค้นหาความสนใจใหม่ๆ เติมทักษะ และสะสมประสบการณ์ โดยแต่ละภารกิจมีจุดมุ่งหมายเพื่อไปปักธงสร้าง ‘ดินแดนการเรียนรู้ร่วมกัน’
เช่น ภารกิจออกเดินทางตามหา ‘สระอุ’ ในนิทานสุกรนอนอุตุ~
ภารกิจนี้คู่หู (ผู้ปกครอง) อ่าน ‘นิทานสุกรนอนอุตุ’ ให้นักผจญภัย (เด็ก) ฟัง ซึ่งเป็นหนังสือชุดกลอนสระ ที่มีการใช้สระอุมาสร้างเป็นตัวละครและเรื่องราว เมื่อคู่หูอ่านให้ฟังแล้วลองชวนนักผจญภัยหาคำสระอุจากหนังสือ รับรองว่าคู่หูจะได้เจอคำตอบที่สนุก สร้างสรรค์ และไม่คาดฝันอย่างแน่นอน
การเรียงร้อยรูปประโยคเป็นจังหวะจะโคน เป็นทักษะหนึ่งของการใช้ภาษาของมนุษย์ การอ่านนิทานที่มีจังหวะและคำคล้องจองจะทำให้สมองได้รับการกระตุ้นให้เกิดการจดจำคำศัพท์ต่างๆ เกิดเป็นความสนุกสนานจากการใช้ภาษา
สิ่งที่นักผจญภัยจะได้จากภารกิจนี้ คือ
– ทักษะตีความอย่างนุ่มลึก การเข้าใจ-ใช้เป็น
– ทดลองกระโดดลงไปสัมผัสเรื่องราวและประสบการณ์อื่นๆ จากตัวละครในนิทาน
– เด็กๆ ได้รู้จักกำกับควบคุมตัวเอง
สามารถติดตามได้ที่: https://app.mappalearning.co
2. มหา (ออน) ไลน์เถื่อน
ท่ามกลางสภาวะที่เปลี่ยนแปลง มหา’ลัยเถื่อนเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่พยายามจะสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบใหม่ที่สนุก ท้าทาย และมีความเป็นไปได้ เพื่อก้าวขอบขีดของการศึกษาในระบบแบบเดิมๆ
ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ มีท้องฟ้า ภูเขา ทุ่งนา สายลมเย็นๆ และต้นไม้ บ้านไม้สองชั้นคือห้องเรียนของ มหา’ลัยเถื่อน นำทัพโดยครูใหญ่ ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร แห่งมะขามป้อม
มหา’ลัยเถื่อน มีหลากหลายวิชาเจ๋งๆ ให้เราเลือกกระโดดเข้าใส่ วิชาเหล่านั้นล้วนเต็มไปด้วยสิ่งล้ำค่าซ่อนอยู่ทั้งประสบการณ์ ทักษะ มุมมองใหม่ๆ คล้ายกับเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตทางการเรียนรู้ มีทั้งการ ‘ทอล์ค’ ‘ทำ’ และ ‘การเรียนรู้อย่างเสรี’ ที่ชวนคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาตั้งวง พูดคุยแลกเปลี่ยนในหัวข้อที่พวกเขาเป็นตัวจริง เช่น ตั้งวงชวนคุยเรื่องการเมืองผ่านการใช้ละคร, ล้อมวงฟังนิทานเพื่อเดินทางไกลไปเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ, ออกไปปะทะโลกโดยการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในสายน้ำลำธาร, ร่ายรำไปกับชีวิตภายในและโลกภายนอกผ่านศาสตร์การละคร รวมถึงการทำอาหาร-ทำขนม
แต่สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น เป็นข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถเกิดการเรียนรู้เช่นนั้นได้ มหา’ลัยเถื่อน จึงต้องปรับตัว อยู่ในรูปแบบออนไลน์ โดยยังคงปักธงการเรียนรู้เช่นเดิม โดยวิธีการคือตั้งวงพูดคุยกับเหล่า 10 วิทยากรเพื่อแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ภายใต้ซีรีส์ ‘Learning Space Living Community พื้นที่เรียนรู้ ชุมชนมีชีวิต’ ในทุกคืนวันพุธและอาทิตย์ โดยโปรแกรมในเดือนกุมภาพันธ์ มีดังนี้
วันพุธที่ 3: พบกับ พ่อปุ๊ แปลน ปูน ในหัวข้อ ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’
วันอาทิตย์ที่ 7: พบกับ ครูเดนท์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ ‘ความเป็นไปได้ใหม่ท่ามกลางวิกฤติทางการศึกษา’
วันพุธที่ 10: พบกับ คุณนกและคุณอุ้ย ในหัวข้อ ‘จากศานตินิเกตันสู่ศูนย์ศิลปะสวนไผ่ลายศิลป์’
วันอาทิตย์ที่ 14: พบกับ คุณผึ้ง ณัฐยา ในหัวข้อ ‘ปักธง Learning Space ในสังคมไทย’
สามารถติดตามได้ที่: https://www.facebook.com/guay.makhampom
3. ‘ภาษาของธรรมชาติ’ จากห้องเรียนทางช้างเผือก
ห้องเรียนทางช้างเผือกคือบ้านเรียนที่มีสื่อการสอนเป็นข้าวของธรรมชาติ โดยมีแบบฝึกหัดและข้อสอบเป็นประสบการณ์ที่ผ่านการลงมือทำจริง อบขนมปัง ยิงธนู ค้นหาสีจากหิน ปลูกผัก แม้กระทั่งกลไกทางคณิตศาสตร์จากธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้คือวิชาที่ถูกบรรจุอยู่ในห้องเรียนที่นี่
ห้องเรียนทางช้างเผือกเกิดจากความตั้งใจ ใส่ใจ ของ โอ๊ค-คฑา กับ โรส-วริสรา มหากายี ที่อยากจะส่งต่อความคิดและความรักต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ
ในยุคที่ไวรัสระบาดห้องเรียนทางช้างเผือกจึงย้ายตัวไปสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเปิดวิชา ‘ภาษาของธรรมชาติ’ เป็นวิชาแรก ซึ่งเหมาะกับผู้สนใจการเรียนรู้ธรรมชาติและคณิตศาสตร์ด้วยตัวเองจากการสังเกตโลก ต่อเนื่องในบทที่ 2 หัวข้อจักรวาลในวงเวียน ที่เน้นการเรียนเรื่องมุมของวงกลม รวมถึงค้นหาที่มาที่ไปของวันเวลา ชั่วโมง ปฏิทิน และโครงสร้างที่ซ่อนอยู่หลังความงามนั้น โดยอุปกรณ์ที่จัดเตรียมก่อนเข้าเรียน มีเพียงกระดาษ ดินสอ ไม้บรรทัด วงเวียน สีไม้
โดยการเปิดห้องเรียนออนไลน์ครั้งนี้ โอ๊คเน้นเสมอว่า อย่าโยนลูกหรือบังคับเด็กๆ มาเรียน หากลูกยังไม่สนใจแต่พ่อแม่อยากรู้เอง แนะนำให้พ่อแม่มาทดลองเรียนด้วยตัวเองก่อนและนำไปพูดคุยกับลูกๆ ตามวิถีและเวลาที่เหมาะสมของแต่ละบ้าน
สามารถติดตามได้ที่: https://www.facebook.com/katamahakayi
4. Inskru – พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน
หากมองปลายทางการเรียนรู้คือ ‘เด็ก’ การแบ่งปันเครื่องมือหรือเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยให้การเรียนรู้สำเร็จลุล่วง นับเป็นตัวช่วยสำคัญและจำเป็น นี่จึงเป็นที่มาที่กลุ่ม @Inskru สร้างพื้นที่เพื่อแบ่งปันไอเดียต่างๆ โดยเน้นทำงานกับครู
หลังสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ยกระดับความรุนแรงขึ้น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศงดจัดการเรียนการสอน เหล่าคณะครูและอาจารย์ทั้งหลายจึงต้องเปลี่ยนตัวเองมา teach from home ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และนี่คือเรื่องที่ยากและน่ากลัว เพราะเนื้อหาบางวิชาที่เรียกร้องการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เรียน
workshop the series หนึ่งในโปรเจ็คต์ที่ช่วยครูออกแบบการสอนออนไลน์ของตัวเองช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ตั้งแต่การเตรียมตัวเตรียมใจของครูสอนออนไลน์/เทคนิควิธีการสอน/วิธีการประเมินผลและจัดเก็บร่องรอยการเรียนรู้ ซึ่งบางส่วนของเทคนิคต่างๆ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสามารถหยิบไปใช้และเรียนรู้ไปพร้อมกับครูและเด็กๆ ได้
สามารถติดตามได้ที่: https://www.facebook.com/InskruThailand
5. วิชาหมา แมว โปเกม่อน ยูนิคอร์น และอื่นๆ
นี่คือหนึ่งในห้องเรียนออนไลน์ขวัญใจเด็กๆ และพ่อแม่โฮมสคูล เพราะแต่ละวิชาคิดขึ้นมาตามความชอบและความสนใจของเด็กจริงๆ ตรงกับมอตโตของเว็บที่เขียนไว้ว่า ‘Where Kids Love Learning’
ทุกวิชาในนี้ออกแบบมาให้เด็กๆ อายุ 3-18 ปี และเพราะรู้ดีว่าเด็กๆ จะนับหนึ่งได้ง่ายจากเรื่องที่ชอบ ทีมจึงดีไซน์วิชาต่างๆ ออกมาให้สะดุดใจตั้งแต่ต้น เช่น วิชาปรุงยาจากห้องเรียนของ แฮร์รี พอตเตอร์ และเพื่อน ภายใต้หมวดวิชาเคมี
นอกจากนี้ แต่ละสาขา ก็เต็มไปด้วยวิชาย่อยที่แต่ละหลักสูตรแทบจะเข้าไปนั่งในใจเด็กๆ เลย อาทิ
Arts: ถ่ายภาพ ภาพยนตร์ เย็บผ้า
Coding & Tech: ออกแบบเกม หุ่นยนต์ (robotics) การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย (internet safety) แอนิเมชั่น
English: creative writing, book club, กวี (poetry), วรรณกรรม (literature)
Life Skill: ทำอาหาร, ทักษะทางการเงิน
Science & Nature: สัตววิทยา, ชีววิทยาใต้ทะเล marine biology
Social Studies: ประวัติศาสตร์โลก, มานุษยวิทยาการเมือง
หรือ วิชาสุดโปรดของเด็กๆ คุกใต้ดินและมังกร เลโก้ โปเกม่อน หมา แมว ยูนิคอร์น และหุ้น
สามารถติดตามได้ที่: https://outschool.com/
6. DIY: สร้างผลงาน สร้าง Self
สิ่งของรอบตัว สามารถสร้างเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงให้กับเด็กหลายๆ คนได้
diy.org เป็นห้องเรียนออนไลน์ที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ โดยการนำสิ่งของที่มีอยู่ในบ้านมาเปลี่ยนนู่นแปลงนี่แล้วประดิษฐ์เป็นสิ่งใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เพิ่ม ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่พ่อแม่อีกต่างหาก
เด็กๆ ยังสามารถโพสต์และแชร์ผลงานที่ตัวเองสร้างสรรค์ได้บนเว็บไซต์ นอกจากได้ขิงได้อวดกันแล้ว มากกว่านั้นยังช่วยจุดไฟ เพิ่มแรงบันดาลใจให้เพื่อนๆ หรือเด็กคนอื่นๆ ต่อยอดไปสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ๆ ของตัวเองได้อีกด้วย
ยกตัวอย่าง คอร์สสอนออนไลน์อย่าง drawing bootcamp – คอร์สสอนวาดรูปที่ให้เด็กๆ ได้ลองสนุกกับการวาดภาพแบบใหม่ เช่น ให้ปิดตาแล้วใช้ดินสอวาดตามภาพในจินตนาการของตัวเองโดยไม่ต้องมอง หรือจะเป็นการลองใช้สิ่งของรอบๆ ตัว เช่น เก็บกล่องสีไว้ก่อน แล้วเดินไปรอบบ้าน หยิบดอกไม้มาระบายสีจนได้งานศิลปะชิ้นใหม่ไม่เหมือนใคร
เมื่อเด็กๆ จบคอร์สศิลปะไปแล้ว แต่ละคนก็จัดแสดงงาน (gallery) ของตัวเองบนเว็บไซต์ได้ด้วยนอกเหนือจากความปลื้มใจ สิ่งที่ตามมาคือความภูมิใจ ที่ได้ลงมือทำอย่างครบขั้นตอนด้วยตัวเอง
สามารถติดตามได้ที่: https://diy.org/
7. คิดอย่างเป็นระบบ
นี่คือห้องเรียนออนไลน์ที่สอนให้เด็กสนุกกับการเขียนโปรแกรมผ่านเกม
แวบแรก coding อาจฟังดูเหมาะสำหรับผู้ใหญ่หรือคนที่สนใจการเขียนโค้ด หรือเขียนรหัสยากๆ ในโลกแห่งโปรแกรมมิ่งหรือคอมพิวเตอร์ แต่ห้องเรียนออนไลน์อย่าง code.org แปลงเรื่องยากให้ง่าย ความรู้ coding เท่ากับ 0 ก็สามารถมานับ 1 ได้ที่ห้องเรียนแห่งนี้ เพราะจริงๆ แล้วหลักการพื้นฐานของ coding คือการคิดอย่างเป็นระบบ
ยกตัวอย่าง block coding แทนที่จะสอนเขียนโปรแกรมยากๆ แต่แบบฝึกหัดนี้จะแปลงภาษาคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นจิ๊กซอว์สีสันสดใส ให้เด็กๆ ฝึกต่อโดยไม่ต้องสับสนกับเรื่องไวยากรณ์หรือความซับซ้อนของภาษาคอมพิวเตอร์
โดยสามารถเลือกเล่นได้ตามระดับช่วงอายุ ตั้งแต่ ป.1 – ผู้ใหญ่ ที่สำคัญมีหลักสูตร Unplugged Lessons สอนการสร้างโปรแกรมโดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแทน เหมือนเล่นเกมอะไรสักอย่าง แล้วได้ฝึกคิดตามไปด้วย
หลายห้องเรียนในสหรัฐอเมริกา นำวิชา Computer Science จาก code.org เข้าไปสอน เพราะวิชาที่แปลว่าวิทยาการคำนวณนี้ ไม่ใช่แค่การสอนเขียนโปรแกรมเท่านั้นแต่ยังสอนให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ และสร้างสรรค์มากขึ้นอีกด้วย
ยกตัวอย่าง เกม Arrow Key Art ที่สร้างโดยเด็กวัย 18 โดยผู้เล่นต้องหาวิธีวาดรูปตามโจทย์ออกมาให้ได้ โดยอนุญาตให้ใช้แค่ลูกศรบนแป้นคีย์บอร์ดเท่านั้น
สามารถติดตามได้ที่: https://code.org/
8. มาเปลี่ยนวิชาเลขเป็นสนามเด็กเล่นกันเถอะ
แนวทางการเรียนรู้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา การเปิดหนังสือตำราเพื่ออัดความรู้ต่างๆ ให้เด็กไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป คณิตศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน วิธีการค้นหาคำตอบอาจสำคัญกว่าการได้คำตอบที่ถูกต้อง การปรับตัวของวิธีการเรียนรู้เนื้อหาคณิตศาสตร์จึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับยุคสมัยและธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กแต่ละวัย
Math Playground คือเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษา ความสนุกอยู่กลยุทธ์จูงใจต่างๆ ที่จะพาเด็กไปเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับตัวเลข ทั้งการ บวก ลบ คูณ หาร ผ่านเกมคณิตศาสตร์ต่างๆ ที่มีความตื้นเต้น ท้าทาย โดยการเรียนรู้จะเกิดขึ้นผ่านการแก้ปัญหาและปริศนาผ่านโจทย์ในรูปแบบวิดีโอเกมต่างๆ เช่น การแข่งขับรถเพื่อแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ หรือเกมแบบฝึกหัดที่อยู่ในรูปแบบของเกม Flash Cards
สามารถติดตามได้ที่: https://www.mathplayground.com/