เมื่อคะแนนสอบสำคัญกว่าความรู้ : ภาพสะท้อนการศึกษาไทยในหนังอินเดียของอาเมียร์ ข่าน

  • หากใครเป็นคอหนังและสนใจในประเด็นการศึกษา คงต้องเคยได้ยินชื่อภาพยนตร์อย่าง 3 Idiots (2009) และ Taare Zameen Par (2007) หนังจากอินเดียสองเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาอินเดียได้อย่างเผ็ดร้อนกันมาบ้าง
  • อาเมียร์ ข่าน (Aamir Khan) นักแสดงชื่อดังของอินเดีย ผู้ซึ่งเป็นนักแสดงนำในหนังทั้งสองเรื่องก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของอินเดียผ่านภาพยนตร์และการเดินสายพูดประเด็นเรื่องการศึกษาของเขา
  • สารพัดปัญหาการศึกษาในอินเดียที่หนังนำเสนอ อาเมียร์ ข่านเคยกล่าวติดตลกว่า เขาพูดเรื่องเหล่านี้ซ้ำๆ มาสามปีติด ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมมีลูกชายให้เป็นวิศวกร ลูกสาวให้เป็นหมอ ห้ามตอบต่างจากในหนังสือ ต้องสอบได้ที่หนึ่ง คือปัญหาการศึกษาในอินเดียที่จะว่าไปก็แทบเหมือนกระจกสะท้อนปัญหาระบบการศึกษาไทยเช่นกัน

หากใครเป็นคอหนังและสนใจประเด็นการศึกษา คงจะเคยดูหรืออย่างน้อยก็ต้องได้ยินชื่อของ 3 Idiots ผ่านหูกันมาบ้าง เรื่องนี้เป็นหนังที่นำแสดงโดย อาเมียร์ ข่าน นักแสดงชื่อดังขวัญใจชาวอินเดีย ว่าด้วยเรื่องของเพื่อนรักสามคนอย่าง รานโช ฟาร์ฮาน และ ราจู ที่พาเราย้อนกลับไปในวันวานที่พวกเขายังเป็นนักศึกษานอกคอกในมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศ มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาต่างพากันก้มหน้าก้มตาท่องจำเนื้อหาในหนังสือ แต่รานโชกลับเป็นหัวโจกนำเพื่อนตั้งคำถามที่แสนจะท้าทายระบบการศึกษา โดยเฉพาะระบบการวัดประเมินผลที่ใช้การสอบซึ่งไม่ต่างอะไรกับการท่องจำ

และยังมีหนังอีกเรื่องอย่าง Taare Zameen Par ซึ่งนำแสดงโดยอาเมียร์ ข่านเช่นกัน แต่เรื่องนี้เขานั่งแท่นผู้กำกับเองด้วย ชื่อของหนังแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘ดวงดาวบนโลก’ ที่หมายถึงเด็กทุกคนต่างมีความพิเศษเป็นของตัวเอง ว่าด้วยเรื่องราวของ อิชาน เด็กชายที่ต้องเรียนซ้ำชั้น ป.3 มาสองรอบเพราะสอบตก เขาอ่านหนังสือไม่ออก ทำตามคำสั่งที่ซับซ้อนของครูไม่ได้ ดูเป็นคนไม่มีระเบียบวินัย ความสามารถเดียวที่อิชานมี ก็คือการวาดรูป แต่กระนั้นก็ยังถูกพ่อมองว่าเขาเป็นคนขี้เกียจจนถูกส่งไปโรงเรียนประจำเพื่อดัดนิสัย ความกดดันในโรงเรียนใหม่ทำให้อิชานกลายเป็นคนเศร้าซึมและสูญเสียแรงใจที่จะทำในสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดอย่างการวาดไป จนกระทั่งเขาได้มาเจอกับ ครูนิคุมบ์ ครูสอนศิลปะอัตราจ้างที่ได้สังเกตเห็นพรสวรรค์เล็กๆ ของอิชาน และเข้าหาเขาด้วยความเข้าใจ

เพราะดูหนังทั้งสองเรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่าเหตุใดอาเมียร์จึงไปอยู่ในหนังทั้งสองเรื่องที่วิจารณ์ระบบการศึกษาได้เผ็ดร้อนและตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่เราเคยดู เขาสนใจในประเด็นการศึกษามากแค่ไหน หรืออะไรเป็นแรงผลักดันให้เขามีส่วนร่วมในหนังที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาอินเดียได้เผ็ดร้อนทั้งสองเรื่อง

“ส่วนใหญ่สถาบันการศึกษามักจะมาบอกผมว่า ที่โรงเรียนเราเด็กสอบผ่านหมดนะ ที่โรงเรียนเราเด็กได้ที่หนึ่งนะ สอบผ่านกันยกโรงเรียนเลย แต่คำถามที่ผมอยากถามคือ แล้วเด็กมีความสุขกี่คน”

นั่นคือการตั้งคำถามไปยังระบบการศึกษาของอินเดียของอาเมียร์ ข่านในสุนทรพจน์เปิดงานเกี่ยวกับการศึกษางานหนึ่ง มันอาจเป็นประโยคที่ฟังดูจำเจและเราอาจจะได้ยินมาเป็นร้อยๆ รอบ อาเมียร์เองก็รู้ เขายังเคยล้อตัวเองว่าเขาพูดประโยคนี้มาสามปีติดในทุกทุกที่ที่เขาไป

แต่ที่อาเมียร์ยังต้องพูดประโยคทำนองนี้มาหลายปีติดๆ กันในทุกที่ที่เขาไป กล่าวซ้ำๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง ก็เพราะการศึกษาของอินเดีย – แม้ว่าในสายตาคนนอกจะดูก้าวหน้าแค่ไหนและอาจจะผลิตบุคลากรด้าน STEM ที่มีคุณภาพออกมามากมาย แต่ก็แทบไม่ต่างอะไรกับระบบการศึกษาไทย 

การวัดประเมินยังคงทำผ่านการสอบ เส้นทางอาชีพที่ดูมั่นคงในสายตาของพ่อแม่มีไม่เยอะนัก และเด็กๆ ก็ยังคงต้องหน้าดำคร่ำเคร่งในการเรียน “เพื่อแข่งขัน”

และนี่คือประเด็นการศึกษาสุดฝังใจของอาเมียร์ ข่าน ที่ปรากฏในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องของเขา 

มีลูกชายให้เป็นวิศวกร มีลูกสาวให้เป็นหมอ

“ผมอยากเป็นอะไรน่ะเหรอ ไม่มีใครถามเลย” นี่คือประโยคแรกๆ ในเรื่อง 3 Idiots ที่ตัวละครซึ่งเป็นตัวดำเนินเรื่องอย่าง ฟาร์ฮาน เป็นคนกล่าว ฟาร์ฮานเล่าว่าชีวิตของเด็กๆ ในอินเดียคือการแข่งขัน แข่งขันมาตั้งแต่เกิดและชะตาชีวิตก็ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด 

คนอินเดียมีค่านิยมว่าหากมีลูกชายก็ต้องโตไปเป็นวิศวกร และหากได้ลูกสาวก็ต้องโตไปเป็นหมอ ฟาร์ฮานก็เหมือนกับเด็กชายอินเดียอีกหลายล้านคนที่พ่อเลือกให้เขาเป็นวิศวกรตั้งแต่เกิด แม้ว่าในภายหลังฟาร์ฮานจะพบว่าตัวเองหลงใหลในการถ่ายภาพ แต่ชีวิตของเขาก็ถูกกำหนดไว้ให้เป็นวิศวกรแล้ว

“ระบบการศึกษาของอินเดียสนใจแค่ความฉลาด 2 อย่าง คือด้านการอ่านและเขียน เราไม่ได้ใส่ใจพัฒนาการความฉลาดด้านอื่นๆ เช่น การสื่อสาร ความสามารถในการใส่ใจคนอื่น นักเรียนถูกคาดหวังให้ทำได้ดีในวิชาแบบคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และคนที่ไม่เข้าใจวิชาพวกนี้มักจะโดนดูถูก” อาเมียร์เล่าถึงระบบการศึกษาในอินเดียระหว่างการเสวนากับฮิลลารี คลินตัน

อาเมียร์มองว่าแม้ทักษะพื้นฐานอย่างการอ่านออกเขียนได้นั้นเป็นทักษะที่สำคัญ แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยที่เราจะใช้ทักษะเพียงสองสิ่งนี้มาเป็นเกณฑ์ชี้วัดความสามารถของเด็กๆ เขาเชื่อว่าเด็กๆ เรียนรู้ได้หลากหลายแบบ 

เด็กบางคนอาจไม่ชอบอ่าน เด็กหลายคนอาจไม่ชอบเขียน แต่ถ้าหากเด็กคนหนึ่งรักการร้องเพลง เขาก็ควรจะได้ร้องเพลง

นั่นอาจเป็นสาเหตุให้ ‘อิชาน’ ตัวละครหลักจาก Taare Zameen Par เป็นดิสเล็กเซีย (Dyslexia : ความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การสะกดคำ การทำความเข้าใจและการเขียนอธิบาย) โดยที่ไม่มีใครรู้ 

ในสายตาของคนอื่นๆ ทั้งครู ทั้งเพื่อน หรือแม้แต่พ่อแม่ อิชานเป็นเด็กขี้เกียจ ไม่ยอมทำตามคำสั่ง วันๆ เอาแต่เล่น ทั้งที่อิชานมีพรสวรรค์ในด้านการวาดรูปและรักในการวาดรูป แต่ความสามารถในด้านศิลปะของเขากลับถูกมองข้าม การวาดรูปของอิชานก็เป็นแค่นั้น แค่ ‘การวาดรูปเล่น’ ของเด็กขี้เกียจเรียนคนหนึ่ง ไม่ได้ถูกมองเป็นความสามารถ เป็นทักษะ หรือเป็นอะไรที่จะต่อยอดไปได้

3 idiots ก็ไม่ได้กำลังจะบอกว่าทักษะทางศิลปะอย่างการถ่ายภาพนั้นดีกว่าทักษะด้าน STEM และหนังอย่าง Taare Zameen Par ก็ไม่ได้กำลังจะเชิดชูทักษะด้านศิลปะมากกว่าด้านอื่นๆ เพราะท้ายที่สุด ครูนิคุมบ์ ครูศิลปะที่เข้าใจอิชานก็ไม่ได้ยุยงเขาว่าการอ่านออกเขียนได้ไม่สำคัญเลย แต่เขามองว่าทักษะที่อิชานถนัดคือการวาดรูป ดังนั้นจึงควรต่อยอดการวาดรูป ในขณะที่ทักษะอื่นๆ แค่ ‘พอผ่าน’ ก็น่าจะพอแล้ว อย่างที่อาเมียร์เคยกล่าวไว้ในสุนทรพจน์ว่าเราต่างมีหน้าที่หาให้เจอว่า “หัวใจของเด็กๆ รักอะไร” ส่วนเรื่องที่เขาไม่ได้รัก ทักษะที่เขาไม่ได้มีความโดดเด่นนั้น ‘เสริม’ ให้เขาไปบ้างก็เพียงพอแล้ว

และคำถามสำคัญที่หนังอย่าง 3 idiots ทิ้งไว้ให้เราก็คือ หากเรามองว่าบางทักษะของเด็กๆ ไม่สำคัญและบังคับให้เขาต้องหันเหไปฝึกทักษะที่เรามองว่าดี โลกนี้จะเป็นอย่างไร

“ถ้าพ่อไมเคิล แจ็กสันบังคับให้เขาเป็นนักมวยจะเป็นยังไง ถ้าพ่อมูฮัมหมัด อาลี บังคับให้เขาเป็นนักร้อง โลกนี้จะเป็นยังไง” คือคำถามที่รานโชทิ้งไว้ให้พ่อของฟาร์ฮานผู้กีดกันลูกออกจากเส้นทางการเป็นช่างภาพและบังคับให้ลูกชายเป็นวิศวกร

คะแนนสอบสำคัญกว่าความรู้

“ผมถามว่าอะไรคือสาเหตุ ผมไม่ได้ถามว่าอาการของเขาเป็นยังไง” ครูนิคุมบ์ใน Taare Zameen Par บอกกับพ่อของอิชานหลังจากแวะไปเยี่ยมบ้านของเด็กน้อยเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมเขาจึงกลายเป็นเด็กนิสัยเสียและเอาแต่เล่นในสายตาคนอื่น แต่แทนที่พ่อของอิชานจะพยายามหาว่าอะไรคือสาเหตุที่ลูกเป็นแบบนั้น หรือมองหาพัฒนาการของลูก เขากลับมองเพียงแค่การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และได้คะแนนสอบน้อย เพื่อจะตอบว่า “ก็เพราะมันขี้เกียจ เอาแต่เล่น ไม่ใส่ใจจะเรียนไงล่ะ”

การประเมินลูกตัวเองจากผลลัพธ์ปลายทางดูไม่ต่างอะไรจากการประเมินเด็กโดยการสอบปลายภาคนัก ข้อสอบวัดประเมินเด็กๆ ที่อิชานและเพื่อนๆ ของเขาต้องทำเป็นข้อสอบที่วัดประเมินจากคะแนนที่เด็กทำตาม ‘มาตรฐาน’ ที่ครูหรือส่วนกลางกำหนด ไม่ได้วัดประเมินจากพัฒนาการหรือความสามารถของเด็กแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่ากระดาษคำตอบของอิชานก็มักจะเต็มไปด้วยปากกาแดงเน้นย้ำความผิดพลาดของเขาอยู่แดงเถือกเต็มหน้ากระดาษ ขณะที่วิชาศิลปะที่เขาควรจะได้คะแนนดี ก็กลับทำให้เขาโดนดุเพราะ ‘วาดสี่เหลี่ยมไม่ตรง’

“กุญแจสู่การศึกษาสำหรับผมไม่ใช่ว่าคุณอ่านเอ บี ซี ออก หรือหาพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้ แต่คุณต้องสนับสนุนให้เด็กๆ กล้าที่จะตั้งคำถาม สนับสนุนให้เด็กๆ หิวกระหายในการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่คนที่มีความจำดี เราบอกเด็กๆ ให้ท่องจำให้ขึ้นใจ แต่เราไม่ได้สอนอะไรที่จะทำให้มนุษยชาติก้าวหน้าไปได้เลย นั่นคือการสอนให้เขาเห็นต่าง ให้เขาท้าทาย ให้เขาค้นหา ให้เขาค้นพบ” อาเมียร์แสดงความเห็น

เพราะการวัดประเมินความรู้ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ในอินเดียนั้นเน้นการท่องจำเป็นหลัก หนังเกี่ยวกับการศึกษาทั้งสองเรื่องจึงมักจะตั้งคำถามว่า สรุปแล้วการ ‘ได้เรียนรู้’ คืออะไร ระหว่างการท่องจำคำตอบตายตัว หรือการเรียนเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้จริงได้และเรียนเพื่อเข้าใจบางสิ่งบางอย่างในโลกที่นอกเหนือไปจากบทเรียน

ใน Taare Zameen Par มีฉากหนึ่งที่อิชานซึ่งเพิ่งถูกส่งตัวไปโรงเรียนประจำ และครูขอให้เขา ‘ตีความ’ บทกวีบทหนึ่งในหนังสือเรียน อิชานตีความในแบบที่เขาเข้าใจ แต่กลับโดนครูหัวเราะเยาะ ครูต่อว่าอิชานว่าเขาแปลความหมายของบทกวีผิดจนอิชานเสียความมั่นใจ แถมยังให้นักเรียนอีกคนบอกความหมาย ‘ที่ถูกต้อง’ ของบทกวี ซึ่งที่จริงแล้วเป็นความหมายที่ครูตีความได้ และใครที่ท่องการตีความของครูได้ก็ถือว่าตีความได้ถูกแม้จะไม่ได้ตีความเองด้วยซ้ำ

ส่วน 3 idiots ก็มีหลายฉากหลายตอนที่วิพากษ์วิจารณ์การสอนที่ไม่เน้นใช้งานหรือต่อยอด แต่เน้นท่องจำ

“มหาวิทยาลัยนี้สอนให้ได้คะแนนดีๆ ไม่ได้สอนวิศวกรรมศาสตร์หรอก” รานโชวิพากษ์วิจารณ์การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของเขา รานโชบอกว่าเขาไม่เห็นว่าเมื่อถูกถามในแต่ละครั้ง เพื่อนๆ จะตื่นเต้นกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกคนต่างตื่นตระหนกและแข่งกันเปิดหนังสือเพื่อชิงตอบเอาคะแนนให้ได้เป็นคนแรก รานโชเปรียบเปรยการเรียนที่อาศัยการท่องจำหนังสือ ทำตามอาจารย์ทุกอย่างว่าไม่ต่างอะไรกับสิงโตที่โดนฝึกฝน ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเราอาจจะควรเรียกตัวเองว่า well-trained (ถูกฝึกฝนมาอย่างดี) เหมือนที่เรียกสิงโต มากกว่า well-educated (ได้รับการศึกษามาอย่างดี)

ที่น่าสนใจคือนอกจากเนื้อเรื่องที่สื่อสารประเด็นนี้แล้ว ในเรื่อง 3 idiots ยังมีการนำสิ่งประดิษฐ์ของนักประดิษฐ์ตัวจริงที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักในอินเดียมาเข้าฉากเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้เห็นด้วยว่าการต่อยอดความรู้นั้นทำได้จริง

“ก่อนหนังเรื่อง 3 idiots เข้าฉาย เรามีรอบทดลองฉายที่เราไปฉายให้ศิลปินดู พอดูจบมีคนถามว่ารานโชประสบความสำเร็จและเป็นนักประดิษฐ์ที่ได้รับการยอมรับได้อย่างไรในเมื่อท้ายที่สุดเขาไม่มีใบปริญญาเป็นของตัวเอง” อาเมียร์เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการทดลองฉายภาพยนตร์ 3 idiots ให้คุณครูและนักเรียนหลายๆ คนฟัง “ผมเลยถามเขาว่า ถ้าพูดถึงผมคุณนึกถึงอะไร เขาบอกว่า นักแสดงเก่งๆ ผมเลยบอกว่า แต่ผมก็ไม่มีใบปริญญาด้านการแสดงที่จะยืนยันได้เลยนะว่าผมเป็นนักแสดงที่ดี คำตอบอยู่ตรงนี้ไง การศึกษามันไกลกว่าคะแนน มันไกลกว่าเกรด การศึกษาคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาโดยตลอด”

ความเป็นมนุษย์ที่สูญหายไปในระหว่างการแข่งขัน

สิ่งหนึ่งที่อาเมียร์กังวลมากที่สุดในระบบการศึกษาที่เน้นการท่องจำและการแข่งขันนั้น คือเรื่องที่ว่าเรากำลังพัฒนา ‘มนุษย์’ แบบไหนให้กับโลกของเราในอนาคต

“เรื่องนี้เกิดขึ้นกับผมเองและเราทุกคนด้วย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ เราถูกถามเสมอว่าสอบได้ที่เท่าไหร่ ต้องที่หนึ่งนะ ถ้าที่หนึ่งไม่ได้งั้นเอาที่สอง ได้ที่สิบเมื่อไหร่แสดงว่ามีปัญหาแล้ว เด็กก็รู้สึกว่ามันสำคัญกับพ่อแม่ของพวกเขาเหลือเกินที่ต้องได้ที่หนึ่ง เพราะเราถามพวกเขาตั้งแต่เด็ก เราถามพวกเขาตั้งแต่ยังอยู่ชั้นต้นๆ ความคิดแบบนี้ก็ฝังอยู่ในหัวเขา แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเด็กคนนั้นอายุ 21 เขาก็จะกลายเป็นคนที่คิดถึงแต่ตัวเองและเรานี่แหละที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้น ระบบนี่เองที่ทำให้เขาไม่คิดถึงคนอื่น นี่ไงที่เราฝึกเขามาตั้งแต่เด็ก”

อาเมียร์มองว่าการศึกษาทุกวันนี้เน้นการแข่งขันมากไปจนอาจทำให้บุคลากรทางการศึกษาหลงลืมไปว่าภายใต้การพัฒนา ‘นักเรียน’ คนหนึ่งให้ได้คะแนนดีๆ นั้น เรากำลังมีหน้าที่พัฒนาเด็กในฐานะ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตของเรา ทัศนคติที่เราปลูกฝังเขาในวันนี้คือรากฐานของสังคมในวันข้างหน้า

ระบบการศึกษาที่เน้นผลคะแนนและลำดับที่ เปลี่ยนให้จุดประสงค์ของการศึกษากลายเป็นการส่งเด็กเข้าแข่งขันห้ำหั่นกันในสนามรบที่มีแม่ทัพเป็นพ่อแม่หรือโรงเรียนผู้รอเอาชัยชนะของเด็กไปโอ้อวดกัน อย่างที่หนังแสดงให้เราเห็นผ่านการคุยโวโอ้อวดว่าลูกชายคนโตเก่งแค่ไหนของพ่ออิชานใน Taare Zameen Par และการเน้นย้ำแต่ลำดับของมหาวิทยาลัยที่ตัวเองของวิรุส อธิบการบดีใน 3 idiots

“เด็กๆ มักจะสนใจการท่องจำเนื้อหาเพราะเขาต้องเจอกับคำถามประเภท “วันนี้ได้ที่หนึ่งหรือเปล่า” “วิชาคณิตศาสตร์ได้คะแนนเท่าไหร่” ผมอยากได้ยินครูถามเด็กแทนว่า “นี่ เพื่อนเราไม่ค่อยเข้าใจวิชานี้ ช่วยเขาหน่อยได้ไหม” ซึ่งจะเสริมสร้างความรู้สึกที่อยากแบ่งปันและอยากช่วยเหลือคนอื่นๆ ในหมู่เด็กๆ” 

ฉากหนึ่งที่เราชอบใน Taare Zameen Par คือตอนที่ครูนิคุมบ์ให้คนทั้งโรงเรียนซึ่งรวมทั้งครูและนักเรียนมาแข่งขันวาดรูป แม้จะขึ้นชื่อว่าการแข่งขัน แต่เมื่อจุดประสงค์ไม่ใช่การห้ำหั่น แต่เพื่อให้ทั้งโรงเรียนได้เห็นความสามารถของอิชาน บรรยากาศในงานจึงดีไปด้วย เด็กๆ ยินดีกับเพื่อนที่วาดรูปได้ดี ไม่ตีอกชกหัวแม้จะมองว่าผลงานของตัวเองอาจไม่ดีพอจะได้รางวัล ครูหลายคนที่เคยต่อว่าอิชานที่ทำอะไรก็ผิดไปหมด เมื่อได้มานั่งวาดรูปไปพร้อมกับเด็กๆ ถอดหัวโขนของการเป็นศูนย์กลางอำนาจในชั้นเรียนออก พวกเขาก็ยอมรับความผิดพลาดของเด็กๆ และตัวเองได้ ไม่มีการบอกว่าเธอวาดรูปสี่เหลี่ยมเบี้ยว เธอวาดวงกลมไม่สวย เพราะครูบางคนก็วาดสี่เหลี่ยมเบี้ยว วาดวงกลมไม่เป็นวงกลมเหมือนกัน ที่สำคัญคือครูก็ยังสนุกไปกับการวาดรูปได้

ส่วนฉากที่เราชอบที่สุดใน 3 idiots คือฉากที่ฟาร์ฮานตัดสินใจบอกพ่อเขาว่าเขาอยากเป็นช่างถ่ายภาพมาโดยตลอด แน่นอนว่าในทีแรกพ่อของฟาร์ฮานโกรธจนหัวฟัดหัวเหวี่ยง

“ต่อจากนี้ถ้าเห็นเพื่อนมีบ้าน แกจะสาปแช่งตัวเอง” พ่อของฟาร์ฮานเตือนลูกชาย ภายใต้การกำหนดเส้นทางชีวิตของลูก มีความหวาดกลัวและความห่วงใยว่าลูกจะไม่มีชีวิตที่ดีหากเลือกอาชีพที่เขามองว่า ‘ไม่มีความมั่นคง’ อยู่

“แต่การเป็นวิศวกรมันมีแต่ความเจ็บปวด ถ้าวันหนึ่งต้องสาปแช่งใคร ผมขอเลือกสาปแช่งตัวเองดีกว่าสาปแช่งพ่อ”

แม้ในสายตาพ่อแม่มันคือการ ‘หัวรั้น’ แต่ในความคิดของคนเป็นลูกอย่างฟาร์ฮาน เขารู้ดีว่าการทำในสิ่งที่ไม่ชอบและไม่มีความสุขกับมัน ไม่ช้าไม่นานความกดดันนั้นคงเปลี่ยนเป็นความเกลียดชังคนที่บอกให้เขาต้องมาทำในสิ่งที่ไม่ได้รัก นั่นคือพ่อของเขาเอง

อาเมียร์เองก็เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ในชีวิตจริง เขาเล่าว่าเขาเริ่มหลงใหลในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ในเวลานั้นเขาอยากจะลาออกจากโรงเรียนธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ที่กำลังเรียนอยู่ และไปหาความรู้ให้ตรงกับเป้าหมาย แต่พ่อแม่ของเขาไม่เห็นด้วยเพราะอยากให้เขา ‘เรียนให้จบ’ ขณะที่อาเมียร์มองว่าการลาออกจากโรงเรียนธุรกิจฯ ไม่ได้ถือว่าเขาเรียนไม่จบ ที่จริงแล้วการได้เริ่มเรียนสิ่งที่เขาสนใจและรู้ว่าจะนำไปต่อยอดความสามารถของเขาได้ต่างหากคือตอนที่เขาได้เริ่มเรียนจริงๆ และการวัดผลการเรียนรู้ของเขา ก็ควรจะวัดเป็น ‘ภาพยนตร์ของเขา’

“เป็นความจริงที่พ่อแม่ขอให้ลูกเดินตามเส้นทางสักเส้นโดยยึดจากความเข้าใจของพวกเขาที่ว่านี่เป็นเส้นทางที่ดีที่สุดของลูก แต่ความคิดแบบนั้นใช้อารมณ์ขับเคลื่อนล้วนๆ” อาเมียร์ให้สัมภาษณ์กับ Youth Incorporated Magazine ในประเด็นนี้ 

“พ่อแม่ไม่ควรยัดเยียดความทะเยอทะยานของตัวเองให้ลูกๆ ที่จริงแล้วพวกเขาควรช่วยให้เด็กๆ ค้นพบและรับรู้ว่าความฝันของพวกเขาคืออะไร และจากนั้นก็สนับสนุนให้เขาเติมเต็มความทะเยอทะยานของตัวเองได้ ในอีกแง่หนึ่ง เด็กก็ควรจะฟังมุมมองของพ่อแม่ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรที่สำคัญ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ควรจะทำตามหัวใจตัวเอง ลองผิดพลาดด้วยตัวเอง และอย่าไปฟังแค่คำแนะนำ ‘ที่ทำได้จริง’ ของคนอื่นๆ”

ความพยายามของอาเมียร์ ข่านที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาของอินเดียผ่านหนัง ส่งผลให้คณะกรรมการกลางของการศึกษาระดับมัธยมศึกษาของอินเดีย Central Board of Secondary Education (CBSE) ออกนโยบายเพิ่มเวลาให้กับเด็กพิเศษในการสอบ 

ส่วนผู้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กดิสเล็กเซีย (Action Dyslexia Delhi) ก็ให้สัมภาษณ์ว่าหลังจากหนังออกฉาย มีผู้ปกครองเข้ามาขอคำปรึกษาจากเธอมากขึ้นถึงสิบเท่า ขณะที่ผู้ก่อตั้งอีกคนเล่าว่าเขาได้รับสายโทรศัพท์และจดหมายจากผู้ปกครองมากมายโทรมาสารภาพว่าพวกเขาก็เพิ่งได้รู้ว่าลูกเป็นดิสเล็กเซียจากเรื่องนี้และที่ผ่านมาก็เคยปฏิบัติแย่ๆ กับลูกเหมือนพ่ออิชานปฏิบัติ

แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจน้อยเกินไปที่จะขจัดปัญหาเหล่านี้ไปได้ ปัญหาที่ว่ายังคงมีอยู่ในระบบการศึกษาทั่วทั้งเอเชีย (และอาจรวมถึงทั่วทุกมุมโลก) แต่อย่างน้อยความพยายามของชายผู้บอกว่าพ่อแม่ควรวัดการเรียนของเขาจากหนังที่เขาทำออกมามากกว่าคะแนน ก็อาจจะช่วยให้หลายๆ คนได้ฉุกคิดว่าสรุปแล้วระบบการศึกษาควรให้ความสำคัญกับอะไร และการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ นี้เองที่อาจกลายเป็นฐานรากการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

อ้างอิง
https://economictimes.indiatimes.com/industry/media/entertainment/taare-zameen-par-could-change-the-face-of-education-in-india/articleshow/2950104.cms?utm_source=contentofinterest&utm_medium=text&utm_campaign=cppst
https://www.hindustantimes.com/india/teaching-should-be-a-high-paying-job-aamir-khan/story-e8YazBZhgqWVCrzdEUC7ON.html
https://youthincmag.com/the-education-reformist-aamir-khan
https://www.educationtimes.com/article/newsroom/69560104/aamir-khan-teach-children-to-be-caring
https://www.youtube.com/watch?v=bxoyQUMwLow
https://www.youtube.com/watch?v=JDxO46_JJgg&t=85s
https://en.wikipedia.org/wiki/Taare_Zameen_Par


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Related Posts