ครูอุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท

ต่อให้มี ‘หุ่นยนต์ดูดฝุ่น’ อีกกี่เครื่อง เด็กก็ต้องทำงานบ้าน

  • เด็กปฐมวัย โดยเฉพาะในช่วง 0-7 ปี จะเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ สอดคล้องกับการเรียนรู้ในแบบมนุษยปรัชญาจะชวนเด็กให้หันกลับไปเตรียมตัวด้านทักษะ ผ่านการลงมือทำงานบ้าน-งานครัว-งานสวน ไม่ใช่การอัดแน่นหรือเร่งรีบบรรจุข้อมูล 
  • นิยามของงานบ้าน-งานสวน-งานครัว ไม่ใช่การบังคับเด็กให้ถูพื้นอย่างจริงจัง กวาดบ้านอย่างบ้าคลั่ง ต้มผัดแกงทอดให้เชี่ยวชาญ แต่มันคืองานอะไรก็ได้ที่เมื่อเด็กทำแล้ว นอกจากได้ความแข็งแรงของร่างกายกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ เขาได้เรียนรู้จังหวะ ความสม่ำเสมอ ให้เขาได้ลองเป็นผู้สังเกตการณ์ วางแผนลำดับขั้นตอน หรือเป็นส่วนหนึ่งกับบรรยากาศรอบๆ ตัว

“หุ่นยนต์ดูดฝุ่นทำให้ความสำคัญของ ‘มือ’ น้อยลง มือมนุษย์ทำอะไรได้เยอะแยะไปหมด เครื่องทุ่นแรงเป็นสิ่งจำเป็นแต่เอาไว้ทีหลังก็ได้ งานมือทำให้เราเห็นคุณค่าของพัฒนาการเด็ก การลงมือก่อให้เกิดการเชื่อมโยงของประสาททั้งหลาย มันจะพลุ่งพล่านไปทั่วตัว ถ้าไม่ทำตอนนี้เสียดายเวลา เราจะยอมแลกหรือเปล่า”

เมื่อโลกเปลี่ยนไป นวัตกรรมต่างๆ ถูกสร้างมาเป็นเครื่องทุ่นแรง ฝุ่นที่หนาเตอะตามพื้นบ้านถูกกำจัดอย่างง่ายดายในเวลาไม่นานโดยหุ่นยนต์ดูดฝุ่น แต่เจ้าหุ่นยนต์ที่ใครต่างบอกว่ามันชาญฉลาด อาจจะเข้าไม่ถึงมุมเล็กๆ หรือซอกตามบันไดในบ้านได้ ซึ่งบางครั้ง ‘มนุษย์’ ต้องลงมือกวาดถูและจัดการมันด้วยความละเอียดอ่อนของตัวเอง

คุยกับ ครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท แม่ครูผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรักและผู้เชี่ยวชาญหลักการเรียนรู้แบบมนุษยปรัชญาหรือการศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf) ในประเด็นความสำคัญของงานบ้าน-งานครัว-งานสวน

ครูอุ้ยบอกว่า ต่อให้ในบ้านจะมีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นอีกสักกี่เครื่อง แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างที่พ่อแม่จะไม่แบ่งงานให้เด็กทำ เพราะการปล่อยให้เด็กได้ลองทำงานบ้านด้วยตัวเอง เด็กจะเรียนรู้ว่า ‘ปัญหา’ เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ 

หากมองเผินๆ อนุบาลบ้านรักคงไม่ใช่โรงเรียนที่ตรงตามจิตนาการของใครเท่าไรนัก ที่นี่ไม่มีเสาธง ที่นี่ไม่มีภาพบรรยากาศแออัด ที่นี่มีสนามหญ้ากว้างโอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ มีโซนโต๊ะไม้เอาไว้ปั้นขนมปัง มีโซนซักล้าง มีโซนแยกขยะ กระทั่งพื้นที่เล็กๆ เอาไว้ปลูกผักสวนครัว

หลักการเรียนรู้แนวมนุษยปรัชญาหรือการศึกษาวอลดอร์ฟเชื่อว่าการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัยเกิดจากการ ‘เลียนแบบ’ หัวใจของการเรียนรู้ไม่ใช่การเร่งให้อ่านออก เร่งให้เขียนได้หรือฝึกท่องจำข้อมูล โดยเฉพาะในช่วง 0-7 ปีแรกความสำคัญที่สุดคือการทำให้เด็กมีจังหวะชีวิตที่ดี

“ตั้งแต่เด็กลืมตาดูโลก หน้าที่ของพ่อแม่คือการสร้างความไว้วางใจ สร้าง trust ให้เกิดขึ้นจริงต่อเด็กที่คุณกำลังอุ้มอยู่’ สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เขารู้สึกว่าเขาได้ใช้ร่างกายได้อย่างเต็มที่ ทุกวันนี้เราเร่งรีบกันมาก ‘เร็วๆ สิลูก เร็วๆๆ เร็วท่องหนังสือหรือยัง เดี๋ยวมันไม่ทัน ทำนู่นหรือยัง ทำนี่หรือยัง’ จังหวะชีวิตมันก็เพี้ยนหมด”

การเรียนรู้ในแบบมนุษยปรัชญาจะชวนเด็กให้หันกลับไปเตรียมตัวด้านทักษะ ไม่ใช่การอัดแน่นหรือเร่งรีบบรรจุข้อมูล 

“สักวันหนึ่งเขาต้องเติบโตไปเผชิญโลก เขาต้องดูแลตัวเอง เรามาเตรียมความพร้อม ทำอย่างไรไม่ให้เขากลัว ทำให้เขา trust โลก พ่อแม่ระมัดระวังเขาให้ดีที่สุด พอถึงเวลาก็ปล่อยให้เขาเติบโต ถ้าเขาเกิดความกลัวตั้งแต่เด็กมันโอเคเหรอ เด็กเล็กเป็นวัยที่เราต้องโอบกอดเขาให้มากที่สุด เมื่อเขาพร้อมก็ปล่อย พ่อแม่แค่คลายแขนออกให้เขาเจอโลกด้วยความมั่นใจและแก้โจทย์ด้วยตัวเอง” ครูอุ้ยบอก

รู้จักจังหวะชีวิตผ่านงานบ้าน-งานสวน-งานครัว

“การเรียนรู้พื้นฐานของเด็กปฐมวัย ตั้งอยู่บนหลัก 3R คือ Rhythm จังหวะ, Repetition ทำซ้ำ, Reverence  ให้ความเคารพ”

ครูอุ้ย อธิบายว่า rhythm หรือ จังหวะ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเสียงเพลง แต่เป็นจังหวะชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นจังหวะที่ลื่นไหล สม่ำเสมอ เป็นกิจวัตรที่เกิดในทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน เชื่อมโยงกับ repeatition หรือการทำซ้ำ ย้ำอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กทำซ้ำผ่านการเรียนรู้อย่างเข้าใจความมั่นคงจะค่อยๆ ก่อตัวเกิดขึ้นตามมา 

“rhythm ที่ดี คือจังหวะที่ไปตามตาราง day and night ลูกตื่นนอนตอนเช้า เก็บที่นอน ลุกอาบน้ำ ลงมากินเช้า ขับถ่าย เตรียมตัวไปโรงเรียน…สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี กลางวันเป็นกลางวัน กลางคืนเป็นกลางคืน มีวินัย การทำซ้ำเกิดขึ้นวนไปทำให้รู้ว่านี่คือชีวิตของเขา” ครูอุ้ยบอก

เมื่อลูกมั่นใจและเริ่มมั่นคง ความเคารพก็จะเกิดขึ้น

“reverence คือการให้ความเคารพ ไม่ใช่การบูชากราบไหว้ แต่เป็นการที่พ่อแม่เคารพในตัวลูกในฐานะที่เขาเกิดมาเป็นเพื่อนร่วมโลกมนุษย์ด้วยกันกับเรา เคารพตัวตน เคารพการตัดสินใจ พอลูกมีพื้นฐานเหล่านี้ตั้งแต่เขาเป็นเด็กเล็ก เราจะมองว่าเขียนอ่านเป็นเรื่องทีหลัง”

ครูอุ้ยย้ำอีกครั้งว่าเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบเป็นหลัก และสิ่งสำคัญที่จะเป็นรากฐานให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปีมี 3R ติดตัวไปตลอดกาลคือการพาให้เขารู้จักร่างกาย ซึ่งประสบการณ์ การได้ลองหยิบจับ ทำนู่นทำนี่ หรือได้ทำงานบ้าน งานสวน งานครัว มันจะช่วยทำให้เขารู้ว่า ‘ฉันมีกายแล้ว-ร่างกายฉันทำได้’ 

“เช่น การล้างจานชามก็เหมือนกัน ถ้าพ่อแม่ไว้ใจพาเขาทำ แค่เตรียมพื้นที่และอุปกรณ์ให้เด็กลองล้าง เด็กเขาสนุกนะ การล้างจานทำให้เขาเห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ พาเด็กย้อนกลับไปเห็นตั้งแต่อาหารที่ยังไม่ปรุง เห็นภาชนะที่กำลังใส่อาหาร เห็นตัวเองกำลังกินอาหาร กินเสร็จ เก็บจานชาม หน้าที่ของเขาคือเอาไปล้างคว่ำตาก แล้วเป็นแบบนี้ทุกวัน วนลูปไปเรื่อยๆ เขาจะโชคดีแค่ไหนที่เห็นกระบวนการเหล่านี้ทุกวันและมันเกิดจากมือเขาเอง”

ไม่ต่างจากปลูกผักบุ้ง ครูอุ้ยบอกว่าเด็กๆ จะเห็นจังหวะการงอกเงย วงจรการเติบโตของผักบุ้ง ตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดจนถึงจานอาหารถ้าปลูกแล้วตาย ก็ไม่เป็นไร นี่คือโอกาสที่เด็กๆ จะได้ลองดีลกับความเสียใจ

“เด็กจะเสียใจต่อเมื่อผู้ใหญ่เสียใจ เด็กเล็กเขาไม่รู้หรอกว่าผักบุ้งมันตาย ถึงรู้แต่เขาอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด ดังนั้นเขาอาจจะเสียใจมากๆ ถ้าได้ยินน้ำเสียงจากพ่อแม่ต่อว่าเขา ตำหนิเขา ถ้าปลูกแล้วผักมันตาย ไม่เป็นไร ปลูกเสียแก้ไขใหม่ได้ ถ้าเรากินไม่ได้ เราก็เอาเขาไปเป็นปุ๋ย”

ถ้าแม่กวาดบ้าน ลูกจะกวาดบ้าน

สำหรับนิยามของการศึกษา ครูอุ้ยบอกว่าเหมือนการทำงานศิลปะ education as an art ฉะนั้นการเลี้ยงเด็กจึงเท่ากับการปรุงหรือรังสรรค์ความงดงาม แน่นอนว่าการเลียนแบบและทำตาม เด็กจำเป็นต้องมีต้นแบบที่ดี เพื่อให้เกิดการทำซ้ำ ย้ำให้เด็กรู้สึกว่าเคารพและให้ความนับถือกับทุกสิ่งทุกอย่าง 

ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ‘งานบ้าน-งานสวน-งานครัว’ ช่วยได้

นิยามของ ‘งานบ้าน-งานสวน-งานครัว’ ไม่ใช่การบังคับเด็กให้ถูพื้นอย่างจริงจัง กวาดบ้านอย่างบ้าคลั่ง ต้มผัดแกงทอดให้เชี่ยวชาญ แต่มันคืองานอะไรก็ได้ที่เมื่อเด็กทำแล้ว นอกจากได้ความแข็งแรงของร่างกายกล้ามเนื้อมัดเล็ก-มัดใหญ่ เขาได้เรียนรู้จังหวะ ความสม่ำเสมอ ให้เขาได้ลองเป็นผู้สังเกตการณ์ วางแผนลำดับขั้นตอน หรือเป็นส่วนหนึ่งกับบรรยากาศรอบๆ ตัว

“ไม่ว่าจะเช็ดถูปัดกวาด เก็บที่นอน ล้างจาน ดูแลของใช้ส่วนตัว แค่พาเด็กทำ มันก็จะช่วยเด็กเชื่อมโยงทำให้เขามองเห็นลำดับขั้นตอนต่างๆ เช่น จะทำขนมปัง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เตรียมแป้ง ต้องนวดแป้ง ต้องเอาเข้าเตาอบกี่นาที นี่คืองานที่เกิดขึ้นได้ในบ้าน”

สำหรับครูอุ้ยการดูแลเด็กวัยอนุบาลจึงเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะใช้เวลานี้ทำให้เขาเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ โดยหยิบกิจวัตรประจำวันหรืองานใกล้ตัวเรามาเป็นตัวตั้งต้น 

“ถ้าเราอยากเห็นลูกกวาดบ้าน เราก็แค่กวาดบ้านให้เขาเห็นตลอด เมื่อเด็กในวัยเล็กๆ เขาเห็นสิ่งที่พ่อแม่ทำ เริ่มซึมซับ เขาก็จะจดจำได้ว่า ‘อ๋อ กวาดฝุ่นออกมาแล้วต้องโกยผงไปทิ้ง’ เขาก็จะไปหยิบที่โกยผงมารอโดยที่เราไม่ต้องสั่ง เขาจะเลียนแบบเรา ทำในสิ่งที่เราทำ แต่ถ้าชี้นิ้วสั่ง เขาก็จะเลียนแบบชี้นิ้วสั่งคนอื่นเหมือนที่เราทำนั่นแหละ”

ครูอุ้ยย้ำว่าพ่อแม่คือตัวอย่างที่ทรงพลังที่สุด 

“การพยายามให้เด็กทำงานบ้าน เราไม่ต้องคาดหวังความเนี้ยบ ความสะอาดหมดจดจากลูก เด็กเล็กหน้าที่หลักคือการเล่น การที่เขากวาดบ้านตามเราก็คือการเล่นผ่านเลียนแบบ แค่ผลลัพธ์คือการเรียนรู้ที่ติดตัวเขาไปตลอด แค่นั้นเอง”

ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกเริ่มทำงานบ้าน ครูอุ้ยอยากชวนพ่อแม่ทบทวนตัวเองว่า “คุณมองว่างานบ้านคืออะไร” 

“พ่อแม่อย่าตัดรำคาญ คิดว่าตัวเองเอามาทำเองเร็วกว่า สะอาดกว่า หรือไม่อยากให้ลูกสัมผัสสิ่งสกปรก แล้วชี้นิ้วสั่งให้ลูกไปเลียนแบบแม่บ้านน่ะหรือ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะย่อยความงามของโลกใบนี้ให้ลูกดูได้อย่างไร จะย่อยบรรยากาศดีๆ ทั้งหลายส่งต่อลูกอย่างไร”

เติมเจตจำนงของเด็ก ด้วยการเลี้ยงดูตามธรรมชาติ

การเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ (Natural Childhood) คือส่วนหนึ่งในการศึกษาสไตล์วอลดอร์ฟ 

ครูอุ้ยเล่าว่า แม่ครูในอนุบาลบ้านรักให้ความสำคัญกับการเตรียมทรายให้เด็กเล่น เตรียมดินให้เด็กได้หยิบจับ เตรียมน้ำให้เด็กได้เข้าไปคลุกคลีมากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะสิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติที่มีอยู่ก่อนเขาเกิด เพราะฉะนั้นอย่าปฏิเสธ เราต้องอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ เราอยู่ร่วมกับพืช อยู่ร่วมกับสัตว์

“แต่ทำไมเวลาได้ยินคำว่า ‘เลี้ยงเด็กคนหนึ่งด้วยวิธีธรรมชาติ’ เราจะกังวลว่า ‘ลูก’ จะไม่ได้อะไร แต่พอบอกว่ากุ้งนี้เขาเลี้ยงธรรมชาติ ไปเจอปลาหรืออาหารที่มาจากธรรมชาติ เรากลับเห็นคุณค่าของมัน”

ทำไมล่ะ ทำไมการเลี้ยงเด็กตามธรรมชาติ เราถึงคิดว่ามันไม่พอ? – ครูอุ้ยชวนตั้งคำถาม

“ถ้าเราทำให้เขาเป็นไปตามธรรมชาติ พลังในการเรียนรู้ของเขามันมีมาก เหมือนกับที่เราชอบกินอาหารตามธรรมชาตินั่นแหละ (หัวเราะ) แต่เราไม่เฝ้าดูจนถึงจุดนั้นไง เรามักจะเอาเร็วๆ ไว้ก่อน ต้องอัดข้อมูล เร่งเขียน เร่งอ่าน พอไม่เร็วทันใจเราจะใส่ให้เลย เด็กสูญเสียโอกาสที่เขาจะเอาตัวไปเรียนรู้”

ของขวัญทางธรรมชาติที่ติดตัวเด็กออกมาเมื่อเขาเกิด คือ will หรือเจตจำนง ดังนั้นเวลาที่เด็กได้ลงมือ ‘ทำ’ หรือ ‘เล่น’ อะไรสักอย่าง เขาจะมี will เกิดขึ้น ซึ่งมันดีมากถ้างานบ้าน-งานครัว-งานสวน จะทำให้เห็น will หรือความพยายามทำบางอย่างด้วยตัวของเขาเองจนสำเร็จ

“การเรียนรู้ที่ลงมือทำถือเป็นการเสริม will อย่างหนึ่ง แบบฝึกหัดอะไรที่อยู่ในกระดาษก็เอาไว้เถอะ ถ้าเรามีความสามารถที่จะให้ลูกลงมือทำได้ ลงมือทำเลย เพราะมันเป็นการเปิดประสาททั้งปวง ตัว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกอย่างจะพุ่งออกไปรับโลกใบนี้ will ของเขาจะออกมาทำงาน และผลประโยชน์ก็จะกลับมาสู่ตัวเขา” ครูอุ้ยทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer

Avatar photo

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

Related Posts