ภารกิจสร้างเด็กสมาธิสั้นรักการอ่าน แค่ฝันหวานหรือทำได้จริง

แค่เห็นชื่อเรื่องมีคำว่าสมาธิสั้น อยู่บรรทัดเดียวกับคำว่า รักการอ่าน ก็อาจทำให้หลายๆ คนสงสัยว่าสองคำนี้จะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กสมาธิสั้น ย่อมเข้าใจดีว่าพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กกลุ่มนี้ อาจไม่เอื้อต่อการนั่งอ่านหนังสือนิ่งๆ สักเท่าไร 

ด้วยพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้นมักถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย บางคนอาจลุกจากที่นั่งระหว่างทำกิจกรรม บางคนพูดแทรกโดยไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจเปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ได้นาน แม้พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้พวกเขาดูเป็นเด็กที่กระตือรือร้นและสนุกสนาน เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังงานที่ไม่มีวันหมด แต่ขณะเดียวกัน แต่ก็อาจเป็นเรื่องท้าทายเมื่อต้องฝึกอ่านเขียน 

การขาดสมาธิและการถูกรบกวนได้ง่าย ส่งผลให้เด็กสมาธิสั้นมักพบปัญหาในการอ่านหนังสือ พวกเขาอาจต้องกลับมาอ่านประโยคเดิมซ้ำหลายครั้ง เพราะความคิดหลุดลอยระหว่างอ่าน บางครั้งความเร่งรีบหรือการข้ามเนื้อหาโดยไม่ตั้งใจ ทำให้พวกเขาไม่เข้าใจสิ่งที่อ่าน และที่สำคัญ ความยากในการติดตามข้อมูลทางสายตาและการจดจำสิ่งที่เพิ่งอ่าน อาจส่งผลให้ความเร็วและความเข้าใจในการอ่านลดลง พฤติกรรมเหล่านี้เป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นไม่สามารถสัมผัสความสนุกของการอ่านได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาหาวิธีให้เด็กสมาธิสั้นสามารถเปิดประตูและสัมผัสความสุขในโลกของการอ่านไปพร้อมๆ กัน 

เข้าใจพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นที่เป็นอุปสรรคต่อการอ่าน

โรคสมาธิสั้น หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) เป็นอาการที่เกิดจากสารเคมีในสมองส่วนหน้าไม่สมดุลโดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้ง พันธุกรรม ปัจจัยสภาพแวดล้อมขณะต้ังครรภ์ ที่คุณแม่มีความเครียด สูบบุหรี่ หรือได้รับสารพิษจำพวกยาฆ่าแมลงเข้าสู่ร่างกาย ก็อาจส่งผลต่อสมองของลูกในครรภ์ นอกจากนี้ การเลี้ยงดู ก็อาจมีส่วนทำให้เกิดอาการสมาธิสั้น เช่น การให้เด็กๆ ดูหน้าจอดิจิทัลมากเกินไป ส่งผลให้อาการสมาธิสั้นรุนแรงขึ้น 

อาการสมาธิสั้นพบมากในเด็กวัยเรียน เมื่อพฤติกรรมสมาธิสั้นส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ เช่น ขาดสมาธิในการเรียน อยู่เฉยไม่ได้ หลงลืม มีปัญหากับการจัดการเวลา ถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย 

เมื่อเป็นเรื่องของการอ่าน เด็กสมาธิสั้น อาจอ่านย่อหน้าเดิมซ้ำไปซ้ำมา เพราะจับใจความไม่ได้ หรือลืมไปแล้วว่าย่อหน้านั้นกล่าวถึงอะไร เพราะมักถูกสิ่งรอบตัวเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย กรณีเด็กเล็ก ที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง ลูกอาจไม่ยอมนั่งอยู่เฉยๆ อาจหยิบคว้าหนังสือ พลิกหน้าหนังสือไปมา ไม่สนใจฟัง เมื่อพ่อแม่ถามคำถาม ก็มักจดจำเนื้อหาไม่ได้ รวมทั้งมีปัญหาในการตีความและทำความเข้าใจเนื้อหาที่ได้ฟัง

การศึกษาเมื่อปี 2019 เรื่อง Comorbidity of reading disabilities and ADHD: Structural and functional brain characteristics ที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ PubMed Central เด็กที่มีอาการสมาธิสั้น มักมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านใดด้านหนึ่งร่วมด้วย ทำให้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการอ่านหนังสือของเด็ก 

เด็กสมาธิสั้น พลาดอะไรบ้าง หากไม่อ่านหนังสือ

แม้ว่าในวัยเด็กเล็ก การอ่านจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสุขและสายสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหลัก แต่ผลพลอยได้จากการนั่งตักฟังพ่อแม่เล่านิทาน ก็คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ การลำดับเหตุการณ์ เชื่อมโยงเหตุและผล คิดวิเคราะห์ เมื่อโตขึ้น เด็กเริ่มอ่านหนังสือด้วยตัวเอง เนื้อหาในหนังสือเริ่มซับซ้อน ทำให้ต้องใช้สมาธิในการอ่าน และทำความเข้าใจเนื้อหา ซึ่งสำหรับเด็กที่มีอาการสมาธิสั้น การนั่งอ่านหนังสือนิ่งๆ ด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่ขัดกับธรรมชาติของพวกเขาโดยสิ้นเชิง

ยิ่งหากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็อาจทำให้เด็กสมาธิสั้นพลาดโอกาสหลายด้าน ทั้งการฝึกสมาธิ การเรียนรู้จากมุมมองใหม่ๆ และการเชื่อมโยงความคิดจากเรื่องราวต่างๆ นอกจากนี้ การอ่านยังช่วยสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ในอนาคตและการพัฒนาทักษะชีวิตที่สำคัญ แม้กิจกรรมอื่น เช่น การดูวิดีโอหรือเล่นเกม จะมอบความบันเทิงได้ แต่มักขาดความลึกซึ้งและการกระตุ้นจินตนาการที่มาจากการอ่านหนังสือ เพราะทักษะการเชื่อมโยงข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงลึกที่ได้จากการอ่าน เป็นสิ่งที่กิจกรรมอื่นๆ ไม่สามารถทดแทนได้อย่างสมบูรณ์

ช่วยเด็กสมาธิสั้นอ่านหนังสือ…คุณทำได้

สำหรับเด็กสมาธิสั้น พฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการอ่านหนังสือ อาจส่งผลกระทบทักษะสำคัญทั้งด้านการเรียนรู้และการใช้ชีวิต บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองจึงสำคัญในการที่จะช่วยให้เด็กสมาธิสั้นสามารถก้าวข้ามอุปสรรค ด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อเปิดประตูสู่โลกแห่งการเรียนรู้และจินตนาการที่ไร้ขีดจำกัดให้พวกเขา

สิ่งที่ควรทำเป็นประการแรก หากสงสัยว่าลูกมีอาการสมาธิสั้น คือ พาลูกพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ใจว่าลูกมีภาวะสมาธิสั้นจริง เพราะในปัจจุบันพบว่า เด็กจำนวนมากมีอาการสมาธิสั้นเทียม อันเนื่องมาจากการใช้หน้าจอมากเกินไป ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง การปรับพฤติกรรม จำกัดเวลาของการใช้หน้าจอก็อาจทำให้อาการสมาธิสั้นเทียมหายไปได้ ตรงข้ามกับสมาธิสั้นที่เป็นมาแต่กำเนิด จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างเหมาะสมจากแพทย์ 

หลังจากนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง จึงอ่านหนังสือให้ฟังช่วยให้เด็กสมาธิสั้น มีสมาธิจดจ่อกับหนังสือได้นานขึ้นด้วยวิธีต่อไปนี้

  • Pomodoro Technique: เทคนิคการบริหารเวลาที่กำหนดให้พักเบรคในการทำงาน อ่านหนังสือ หรือกิจกรรมใดๆ ทุก 25 นาที และพัก 5 นาที หรือสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น อาจกำหนดเวลาอ่านให้สั้นลง เป็นทุกๆ 15 นาที แล้วพักก็ได้ ผู้ปกครองอาจพิจารณาความเหมาะสม เพราะเด็กแต่ละคนมีขีดจำกัดที่แตกต่างกัน สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ไม่ทำให้เด็กๆ รู้สึกอึดอัดจนคิดว่าการอ่านเป็นยาขม
  • พูดคุยและรับฟัง: เพราะการนั่งอ่านหนังสือ อาจเป็นกิจกรรมที่ขัดธรรมชาติเด็กสมาธิสั้น เพราะฉะนั้น ก่อนชวนลูกอ่านหนังสือ พ่อแม่ควรพูดคุย สอบถามความต้องการและสิ่งที่ลูกคิดว่าเป็นปัญหาในการอ่าน พร้อมเสนอทางออกที่เหมาะสมกับเด็กๆ อาจชวนกันตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง เช่น อ่านวันละ 30 นาที พักเบรค 1 ครั้งทุก 15 นาที เด็กบางคนอาจต้องการให้พ่อแม่อ่านให้ฟัง และพูดคุยซักถามทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน พ่อแม่ควรยืดหยุ่นและค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกมีกำลังใจในการอ่านหนังสือด้วยตนเองในที่สุด 
  • ลดสิ่งรบกวน: เด็กสมาธิสั้น มักถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย จึงควรจัดบริเวณที่ปลอดสิ่งเร้า และเสียงรบกวนต่างๆ เพื่อให้พวกเขามีสมาธิและจดจ่ออยู่กับการอ่านได้อย่างเต็มที่
  • ใส่ความคิดสร้างสรรค์: ไม่มีข้อกำหนดว่าเราต้องนั่งนิ่งๆ เพื่ออ่านหนังสือเท่านั้น หากลูกมีอาการ Hyperactive ร่วมด้วย คงทนนั่งอ่านหนังสือนิ่งๆ ไม่ได้นาน เพราะฉะนั้นจะยืนอ่าน หรือเดินอ่าน (ในบริเวณที่ปลอดภัย) ก็ไม่ใช่ปัญหา หรือจะมีชิงช้าไว้หน้าบ้านให้ลูกแกว่งไปมาขณะอ่านหนังสือก็ย่อมได้ สำหรับเด็กเล็ก การให้รางวัลเมื่ออ่านจบแต่ละบท เป็นแรงกระตุ้นที่ดี โดยอาจทำเป็นบัตรสะสมแต้มไว้แลกรางวัลเมื่ออ่านครบตามที่กำหนดก็ได้
  • เลือกหนังสือที่ดึงดูด: ควรให้เด็กๆ เลือกหนังสือที่มีเนื้อหาที่เขาสนใจจริงๆ เช่น เด็กมีความเชื่อมโยงกับตัวเอกในเรื่อง นำเสนอเรื่องที่เด็กชื่นชอบ สนใจ เช่น กีฬา หรือ สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ขนาดตัวอักษรค่อนข้างใหญ่ อ่านง่าย หลีกเลี่ยงหนังสือที่มีตัวอักษรเยอะติดๆ กัน แต่หากเป็นเรื่องที่เด็กสนใจจริงๆ อาจช่วยขีดคั่นประเด็นแต่ละย่อหน้า เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น 
  • Active Reading: แทนการอ่านในใจเงียบๆ ลองใช้วิธี Active Reading ที่มีการใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆ ช่วยในการอ่าน เช่น อ่านออกเสียง ใช้นิ้วลากตามตัวอักษรที่อ่าน ใช้ปากกาไฮไลท์ส่วนสำคัญ วาดภาพเพื่อสรุปสิ่งที่อ่านแต่ละบท หรือทบทวนความเข้าใจของตัวเองเมื่ออ่านจบแต่ละบท ด้วยการสรุปว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร 

แม้ว่าการอ่านหนังสือจะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเด็กสมาธิสั้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเหลือและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งหากว่าได้ปลูกฝังให้ลูกรู้สึกดีกับหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ ได้สร้างความคุ้นเคยกับการอ่านตั้งแต่เล็กๆ ทำให้เด็กๆ มองว่า การอ่านเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจ ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่พวกเขาจะยอมการอ่านหนังสือโดยไม่ต่อต้าน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสู่การเรียนรู้ที่มีคุณค่าในอนาคต

สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ผู้ปกครองควรเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะเด็กสมาธิสั้น ก็อาจแสดงอาการและพฤติกรรมที่หลากหลาย การส่งเสริมการอ่านจึงควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดดัน ปรับวิธีการอ่านให้เหมาะสมกับธรรมชาติของลูก เพื่อเปลี่ยนการอ่านที่เคยเต็มไปด้วยความเครียด ให้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความผูกพันในครอบครัว เปิดประตูสู่จินตนาการอันกว้างไกล เพราะพ่อแม่ช่วยสร้างเด็กสมาธิสั้นให้ค้นพบศักยภาพของตนเองจากการอ่านได้อย่างแท้จริง 

Ref: 

https://psychcentral.com/adhd/adhd-and-reading#tips-to-build-reading-skills
https://pmc.ncbi.nlm.nih.gov/articles/PMC6508987/
https://www.springer-ld.org/2017/11/01/helping-students-with-ld-adhd-choose-just-the-right-book/


Writer

Avatar photo

สุภาวดี ไชยชลอ

ชอบเดินทาง ชอบดูซีรีส์เกาหลี สนใจทฤษฏีจิตวิเคราะห์ และชอบตอบคำถามลูกสาวช่างสงสัยวัยประถม

Illustrator

Avatar photo

KHAE (แข)

นักวาดทาสหมา ลายเส้นนิสัยดี หลงไหลไก่ทอดเกาหลี และการฟัง true crime

Related Posts