แค่เดือนแรกของปีแต่มีอะไรเกิดขึ้นมากมาย จนหลายคนบ่นพ้อว่าเหมือนผ่านร้อนหนาวมายาวมาก ถ้าวาร์ปได้ อยากข้ามไปปีหน้าแล้ว
แต่ของจริงคือเรายังต้องใช้ชีวิตไปอีกกว่า 300 วัน คำ keep calm ว่า “จงอยู่กับปัจจุบัน” จึงไม่น่าเวิร์คเท่า “แล้วจะอยู่กับมันอย่างไร”
“อยู่อย่างพยายามรักษาสมดุล มันทำให้ชีวิตเราเบาและง่ายขึ้น”
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และรองคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึง CORE หลักในการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์ส่วนตัว เก็บข้อมูลและสังเกตจากผู้นำสาขาต่างๆ ที่คลุกคลีศึกษา
ถ้าใครกำลังหาฮาวทูอยู่ให้รอด CORE ไม่มีคำตอบให้
แต่ถ้ายังเชื่อในพลังชีวิตตัวเองว่าไปต่อได้ แต่จะไปอย่างไร CORE คือเข็มทิศ ที่ไม่บอกว่าต้องไปทางไหน แต่จะบอกว่า “เรากำลังอยู่ตรงไหน”
“เราไม่ได้ใช้เข็มทิศเพื่อที่จะบอกว่าจะไปทางไหน เราใช้เพื่อไกด์เฉยๆ มันบอกเราแค่ว่าถ้าคุณไปทางนี้คุณหลงทางแน่ แต่เข็มทิศไม่ได้บอกว่าต้องทำยังไงบ้าง”
ส่วนไปทางไหนต่อ เราเลือกเอง
ทำความรู้จัก CORE
CORE เป็นหลักที่มาจากศิลปะและความเชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ความเฉพาะตัวของหลักนี้อยู่ที่การเอามาใช้ได้ทั้งเรื่องส่วนตัว (personal) และวิชาชีพ (professional) เพื่อผ่อนความเร็วชีวิตรีเช็คตัวเองและมองไปข้างหน้าว่าอยากพัฒนาตัวเองเรื่องใดบ้าง
“มาจากทั้งประสบการณ์ การทำงานอบรมต่างๆ รวมทั้งอาจจะเรียกว่าเส้นทางการฝึกฝนตัวเองของตนเองด้วย มันจึงเป็นสี่เรื่องที่เราคิดว่าสำคัญต่อการกำหนดชีวิต ค่อยๆ พัฒนามาเป็นคอนเซ็ปต์ CORE”
C-courage กล้าหาญ รู้ว่าเรากำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ กล้าเผชิญกับความกลัว
กล้าที่จะลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง อาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นชิน ไม่แน่ใจ ไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะดีหรือเปล่า
“กล้าหาญแบบที่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรบางอย่างอยู่ กล้าเผชิญกับความกลัว ไม่ใช่ความบ้าบิ่น แต่คือความกล้าหาญเผชิญหน้ากับความไม่ยุติธรรม เผชิญหน้ากับสิ่งที่เราเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง”
O-openness เปิดกว้าง พร้อมที่จะฟัง พร้อมอยู่กับความเป็นไปได้อื่นๆ อย่ายึดติดว่าวิธีการของเราคือสุดท้ายแล้ว
ไปข้างหน้า กล้าที่จะกระโดด การทำบางสิ่งบางอย่างใหม่ๆ ได้ ต้องอาศัยการเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ใหม่ๆ นวัตกรรมต่างๆ
“openness ในที่นี้หมายความได้ทั้งระดับภายนอก คือมองสิ่งใหม่ๆ วิธีคิดแบบใหม่ และภายใน คือเรื่องการเปิดใจ ลองให้ตัวเองได้ไปสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ”
R-reflection กลับมาทำงานกับตัวเอง ใคร่ครวญ เรียนรู้ความผิดพลาด เอาประสบการณ์ข้อมูลต่างๆ มาทบทวน
“กลับมาฟังเสียงตัวเราเอง กลับเข้ามาเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง กลับเข้ามาเห็นว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ เรารู้สึกยังไงอยู่ กลับเข้ามาเห็นแม้กระทั่งความกลัวในการทำอะไรบางอย่าง”
E-endurance มั่นคง ไม่ล้มลงไปง่ายๆ ยืดหยุ่น ไม่ย่อท้อ รู้ว่าหลักการหรือคุณค่าที่เรายึดอยู่คืออะไร
“สภาวะของการที่เรารู้ว่าเราอยู่บนอุดมการณ์อะไร ยึดมั่นอะไร ถ้าเราเชื่อมั่นว่า อุดมการณ์นี้ช่วยทำให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้”
CORE กระโดดไปข้างหน้าในจังหวะที่คิดว่า “ไปต่อไม่ไหวแล้ว”
กับช่วงยากลำบากเช่นนี้ หลายคนตกอยู่ในภาวะ “ไปต่อไม่ไหวแล้ว” จำเป็นต้องกระโดดจากหน้าผา หรือรวบรวมความกล้าออกจาก safe zone
CORE ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปแต่มาเพื่อช่วยอธิบายการดำเนินชีวิต
“มันอาจจะไม่ได้เป็นคำตอบสำเร็จรูป แต่เป็นองค์ความรู้ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ไหนโดยเฉพาะในยุคนี้ซึ่งมีความปั่นป่วน เต็มไปด้วยสถานการณ์ไม่แน่นอน มีทั้งปัญหาเก่า ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและปัญหาใหม่ที่มันมาเรื่อยๆ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะแก้ยังไง หรือจะใช้ชีวิตยังไงกับสถานการณ์ต่างๆ แบบนี้ CORE จะเข้ามาช่วยอธิบายในการดำรงชีวิต เป็นคุณภาพภายในที่เรากลับมาเช็คได้”
ในจังหวะที่ชีวิตต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ เหมือนเรายืนอยู่ตรงขอบหน้าผาแล้วเรารู้ว่ามันถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรบางอย่างแล้ว
CORE ไม่ห้าม ไม่ยุ แต่จะตั้งคำถามว่า กล้ากระโดดหรือเปล่า ด้วย C-courage
“ช่วงนี้หลายคนต้องตัดสินใจ กระโดดออกไปแล้วคิดใหม่ทำสิ่งใหม่ นี่คือ C คุณภาพแบบแรกที่คิดว่าจำเป็นสำหรับยุคสมัยนี้”
อาจารย์อดิศรยกตัวอย่างการจัดการศึกษา หลายคนอาจจะต้องกล้าลุกขึ้นมาบอกว่าที่ทำอยู่มันไม่เวิร์ค
“ตอนนี้ที่เราทำคือวิ่งตามข้อแม้ที่เราเจอใช่ไหม เช่น การที่เราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนปกติได้ เราก็จะต้องย้ายไปสอนออนไลน์ คำถามคือกระบวนวิธีมันต้องการการคิดใหม่บ้าง ไม่ใช่แค่การดิ้นรนภายใต้วิธีคิดแบบเดิม หรือโครงสร้างแบบเดิม”
การคิดใหม่ต้องอาศัย O-openness หรือ การไปข้างหน้า เปิดกว้างว่ามีทางไหนที่เราจะไปต่อได้ภายใต้โจทย์ใหม่
“แล้วนำกลับมาใคร่ครวญ ตกตะกอน R-reflection ทำงานกับตัวเอง จากสถานการณ์ทั้งหมด ถามตัวเองว่ารู้สึกยังไง เรียนรู้อะไรบ้าง”
เหมือนเวลาเราจะยิงธนู ต้องง้างสายกลับมาข้างหลังก่อนจะพุ่งไปข้างหน้า เช่นเดียวกัน เวลาที่เราต้องการจะพุ่งไป มันไม่ใช่แค่การพุ่งไปอย่างเดียวแต่ยังต้องการพลังที่จะส่งเราพุ่งไปข้างหน้าได้
“ถ้าเรากำลังโกรธ แล้วเราไม่ถอยมา reflection ตัวเอง ถามตัวเองว่าโกรธเพราะอะไร มันจะทำให้เราเอาอีโก้ตัวเองเข้ามา สุดท้าย เราจะกลายเป็นไม่อยากทำสิ่งที่ควรทำ”
อีกทางหนึ่ง refection จะช่วยให้เราค่อยๆ วางความโกรธลงได้ และกลับมาตอบตัวเองได้ว่า เรากำลังทำอะไร เพื่อคุณค่าอะไรอยู่
นั่นคือ E-endurance ความมั่นคง รู้ว่าเรากำลังยึดหลักการอะไรอยู่
“เปรียบเทียบกับเรื่องการศึกษา เราจัดการศึกษาเพื่ออะไร endurance หรือหลักการหรือแก่นคือการที่เราจะพัฒนาเด็กให้เป็นคนที่สมบูรณ์”
อีกความหมายของ endurance คือ ล้มแล้วลุก เพราะไม่ว่าจะมิติไหน การเมือง โรคระบาด หรือชีวิต เราต้องล้มกันอีกหลายรอบ สู้กันอีกหลายยก
“แต่เราต้องไม่ยอมแพ้ เหนื่อยได้ ท้อได้ ความสามารถของการลุกขึ้นมาได้ใหม่ เป็นสิ่งที่สังคมกำลังต้องการ สังคมกำลังต้องการคนกล้าลงมือทำในสิ่งที่ตัดสินใจ”
CORE ไปข้างหน้าแต่อย่าลืมกลับมารีเช็คตัวเอง
ทั้ง C O R และ E ไม่ใช่ฮาวทู หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่อีกฟังก์ชั่นหนึ่งคือเครื่องมือสำหรับรีเช็คตัวเอง พร้อมกับเข้ามาเตือนหัวใจว่าเราหนักทางไหนเกินไปหรือเปล่า
“โดยประสบการณ์ส่วนตัว CORE ช่วยทำให้เราเห็นว่า ช่วงนี้ คุณภาพด้านนี้เริ่มอ่อนแรง ต้องกลับมาเติมพลัง ถ้าช่วงไหนเริ่มรู้สึกว่าบ้าพลังจะมุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่กลับมาใคร่ครวญว่าคุณค่าหลักที่เรายึดถือคืออะไร บางทีเราหลุดได้ หรือไหลไปตามกระแส หรือถ้าบางทีเรามัวแต่ยึดอยู่กับคุณค่าของตัวเอง ไม่เปิดทางเลือกอื่นๆ ในการทำงาน เราก็จะยึดติดแต่วิธีการเดิมๆ”
ในความหมายนี้ CORE จึงคล้าย 4 ประโยคคำถาม เรียงตามตัวอักษร
- Courage เรากล้าหาญจนมุทะลุไปหรือเปล่า จนลืมย้อนกลับมาใคร่ครวญภายใน
- Openness เราเปิดกว้าง พยายามจะสร้างสรรค์ตลอดเวลา จนเราลืมแก่นของเราหรือเปล่า
- Reflection เราง่วนอยู่กับการคิดใคร่ครวญ จนไม่กล้าลงมือปฏิบัติสักทีไหม
- Endurance เรามีความเชื่ออะไรบางอย่างจนเราลืมมอง option ความเป็นไปได้อื่นๆ หรือเปล่า
ทั้งหมดนี้ คือคำถามที่ต้องหมั่นคอยถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ และไม่ใช่เรื่องง่าย
“ยากอยู่แล้ว บางอย่างมันเป็นแค่ทิศทาง และไม่ได้หมายความว่าพอไปถึงจุดสุดยอดแล้วคุณคือที่สุด”
เพราะ CORE เป็นเพียงเข็มทิศ ไม่ใช่ Google map
“มันไม่ได้ต้องให้สำเร็จ อย่าคิดว่ามันยากหรือง่าย อยากให้คิดแค่ว่ามันเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่เราเอามาใช้ได้ตลอดเวลา เพราะสุดท้ายแล้ว CORE ไม่ใช่ฮาวทู รู้ ทำความเข้าใจแล้วจบ ต่อให้อ่าน ท่องจำจนเข้าใจว่า CORE คืออะไร แต่ถ้าไม่สามารถลงมือปฏิบัติหรือเอาไปใช้ในชีวิตจริงได้ ก็ไร้ประโยชน์” อาจารย์อดิศร ทิ้งท้าย