“ห้องสมุดมีไว้ทำไม” คุยกับแอดมินเพจ บรรณารักษ์ และนักทำคอนเทนต์แห่งหอสมุด ม.ธรรมศาสตร์

  • ในวันที่การดู ฟัง เข้ามาแย่งพื้นที่การอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนั้นแล้ว ห้องสมุดยังมีไว้ทำไม
  • คุยกับบรรณารักษ์ของทีมหอสมุด ม.ธรรมศาสตร์ ที่ ‘เป็นทุกอย่าง’ เพื่อให้การอ่านไม่มีทางกลายเป็นตำนาน ห้องสมุดเองก็เป็นมิตรและอ่อนโยนมากขึ้น 
  • “โลกใบนี้ต้องการห้องสมุด ไม่ว่าคุณจะก้าวไปสู่จุดไหนของชีวิต” บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้บอกเราเช่นนั้น

ภาพ: หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

6 คือจำนวนเพจเฟซบุ๊คของหอสมุดภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

12 คือจำนวนแอดมินเพจ ที่อายุตั้งแต่ 18-32 ปี ในจำนวนนี้มีผู้หญิง 80 เปอร์เซ็นต์ 

จริงๆ แล้วแอดมินเพจคืออาชีพเสริมที่กลายมาเป็นหนึ่งในงานหลักของบรรณารักษ์ หลายคนอยากรู้จัก อยากเห็นหน้าทีมผลิตโพสต์ที่หลายครั้งไวและไวรัลกว่าสื่อออนไลน์ แสบสันอย่างมีน้ำหนักแบบคนรักการอ่าน เหมาทุกงานทั้งครีเอทีฟ กราฟิก คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ฯลฯ รวมไปถึงที่พึ่งทางใจให้นักอ่าน 

“ห้องสมุดไม่ใช่แค่สถานที่ที่รอให้คนเข้าไปหยิบหนังสือมาเปิดอ่าน ห้องสมุดต้องลบภาพจำที่เคยมี ห้องสมุดคือพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ปลอดภัย” 

mappa สนทนากับ ‘จุ๊บแจง’ พิมพ์ชนก สิริพงศ์ทักษิณ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยสื่อสารองค์กรและเครือข่าย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘แพรว’ แพรววนิต ประสิทธิ์เวโรจน์ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ สังกัดงานบริการ หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

ทั้งคู่เติบโตมากับการอ่าน ทำงานกับการอ่าน และมั่นใจว่าการอ่านไม่มีทางกลายเป็นตำนาน ห้องสมุดเองก็เป็นมิตรและอ่อนโยนมากขึ้น 

ทำไมเพจเฟซบุ๊คจึงแยกย่อยขนาดนี้ 

นโยบายหรือว่าวิสัยทัศน์ของหอสมุด มธ. ปัจจุบัน มองเห็นว่าคนที่จะเข้ามาดูเพจหรือเพจของเรามีความแตกต่างกันไป ไม่ใช่แค่แบบองค์รวมแล้ว เพราะถ้าเป็นองค์รวม มันอาจจะไม่ละเอียดมากพอ และมองว่าควรจะมีเพจที่จะลงลึกให้แต่ละผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม แต่ละสาขาวิชา ได้รับรู้รับทราบข่าวสารของเราที่เฉพาะเจาะจง มันตอบโจทย์และเป็นประโยชน์โดยตรงกับเขา 

การลงลึกในคอนเทนต์แบบห้องสมุดเป็นอย่างไร 

จุ๊บแจง: ทีมงานประชุมกัน ซึ่งรวมถึงแอดมินเพจ เรื่องแนวปฏิบัติที่ดี คือเดิมทีเราไม่มีตรงนี้เลย การทำงานจึงสะเปะสะปะมาก เราเลยมองหาแนวปฏิบัติที่ดีว่า เราควรจะลงลึกในคอนเทนต์แค่ไหนหรือว่าตอบโจทย์ใครบ้าง

เรามองไปที่ธรรมชาติของลูกเพจเราด้วย ว่าเขามีความรู้เบื้องต้นแค่ไหน เรามองเป็น persona ของลูกเพจว่าช่วงอายุประมาณเท่าไหร่ เช่นลูกเพจของเราอายุ 18-30 ปี 

เราจะประชุมปีละครั้งเพื่อวางแผนและปรับปรุงแนวปฏิบัติที่ดีในการทำงานว่าเราควรจะโพสต์เวลาไหน โพสต์กี่โพสต์ต่อวัน รวมไปถึงหน้าที่ในการตอบคำถามผู้ใช้บริการ ความเร็วในการตอบกลับผู้ใช้บริการควรจะไม่เกินเท่าไหร่ ลักษณะการเป็น persona ของทีมแอดมินควรจะเป็นแบบไหน เช่น มองว่าเป็นเพื่อน อย่าใช้คำที่เป็นทางการ หรือว่าคุณห้ามใช้คำแบบนี้ อาจยากไปสำหรับลูกเพจ

แอดมินไม่ได้เป็นแอดมินอย่างเดียวใช่ไหม นี่น่าจะเป็นอาชีพเสริม งานหลักของแต่ละคนคืออะไร 

จุ๊บแจง: ตอนนี้เป็นหัวหน้าหน่วยสื่อสารองค์กรและเครือข่าย เบื้องต้นจะดูแลควบคุมการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ งานหลักคือดูแลภาพลักษณ์ขององค์กร เช่น ผู้บริหารมีนโยบายอะไรมา เราต้องคิดว่าจะส่งต่อใครบ้าง กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร กำหนดช่องทางในการสื่อสารว่ามีใครบ้าง แล้วก็มีการเผยแพร่ไปเพื่อให้บุคลากรภายในและคนภายนอกได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของเรา 

แพรว: ถ้าไม่รวมงานด้านแอดมิน ก็จะเป็นงานด้านบริการค่ะ ช่วงนี้เราเน้นบริการออนไลน์เป็นหลัก ดูแลบริการนักศึกษา อาจารย์ เพราะเขาต้องการยืมหนังสือ ตอนนี้เรามีบริการให้นักศึกษาส่งคำขอออนไลน์ แล้วเราก็จะเข้ามาจัดส่งหนังสือให้ทางไปรษณีย์ รวมถึงบริการด้านการเรียนรู้อื่นๆ ที่ผู้ใช้จำเป็นต้องใช้เรียนออนไลน์ 

หรือบริการ Netflix เพื่อผ่อนคลายจากการเรียนการสอน เราก็จะช่วยเชื่อมต่อบริการให้นักศึกษาได้ 

เดิมไม่ได้สมัครงานเป็นแอดมินแต่มาด้วยตำแหน่งบรรณารักษ์?

จุ๊บแจง: ใช่ค่ะ มาด้วยแบบตำแหน่งบรรณารักษ์ที่มีหน้าที่ให้บริการผู้ใช้ นอกจากนั้นเราก็จะดูแลคำชมเชย ข้อเสนอและข้อร้องเรียนที่เข้ามา เพราะปัจจุบันเราสื่อสารสองทาง  feedback ต่างๆ ก็เอามาพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

เวลามีประเด็น current เข้ามา ตัดสินใจกันอย่างไร ในการทำและปล่อยคอนเทนต์ 

จุ๊บแจง: ผู้บริหารให้อิสระในเชิงความคิดมากแต่ต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม คอนเทนต์ที่ทุกคนมองเห็นว่ามันไว เราคิดในทีมแอดมินด้วยกัน ช่วยกันหาแหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ซึ่งแต่ละคนเขาคิดว่า โอเค ตรงนี้เล่นได้ เขาก็สามารถคิดคอนเทนต์ออกมาได้เลย แล้วเขาก็สามารถลงได้เลย ถ้าเกิดเขาไม่มั่นใจจริงๆ ว่ามันมีความเสี่ยง เขาก็จะมาถามในกลุ่มไลน์ว่า อันนี้ควรลงไหม เราก็ช่วยดูกันอีกทีหนึ่ง 

เป็นข้อดีของทีมแอดมินที่มีความหลากหลาย แต่ละคนมีความคิดที่ค่อนข้างจะนอกกรอบ มันเป็นเรื่องดีที่เขาจะคิดแล้วเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรามีได้ 

นั่นหมายความว่าทุกคนต้องอ่านมาพอสมควร ถึงจะหยิบเอาวัตถุดิบที่เรามีอยู่มาเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน

จุ๊บแจง: ใช่ค่ะ ต้องรู้จักก่อนว่าเรามีอะไรบ้างนะที่สามารถนำไปขายได้ หรือแม้แต่บริการที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก จะทำยังไงให้มันโดดเด่นหรือปัง แล้วมีคนใช้บริการเยอะพอสมควร

กรอบที่วางไว้ ที่ถึงมีความอิสระแต่ก็จะมีกรอบกว้างๆ กรอบนั้นมันคืออะไร

จุ๊บแจง: ลักษณะของคอนเทนต์ต้องไม่ผิดต่อจรรยาบรรณของวิชาชีพบรรณารักษ์นะคะ รวมถึงศีลธรรมอันดีต่างๆ ถ้าพูดถึงเรื่องของการเมืองหรือความมั่นคงของชาติ ก็ต้องกลับมาคิดนิดหนึ่งว่าควรจะเล่นไหม ควรจะทำไหม มันมีผลกระทบอะไรต่อองค์กรบ้าง คือไม่ใช่แค่ห้องสมุดนะ แต่ว่าเป็นภาพรวมของมหาวิทยาลัย

ยกตัวอย่างได้ไหม 

จุ๊บแจง: ถ้าเป็นเรื่องการเมืองและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เราจะไม่ไปแตะรายละเอียดหรือตัวบุคคลนะคะ แตะแค่ประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมและทุกคนเห็นตรงกัน เช่นเรื่องน้ำท่วม เรื่องแผนที่ เราจะจัดคีย์เวิร์ดมาว่าเข้ากับอะไรบ้างในห้องสมุด เช่น วิจัยเรื่องแผนที่ วิจัยเรื่องน้ำท่วม แล้วเรามองว่ามันเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้บริการ เป็นกระแสตอนนั้นด้วย เลยเอามาทำเป็นคอนเทนต์ได้ 

ผู้บริหารเองก็มองว่าห้องสมุดเปลี่ยนไป พลิกโฉมไปจนไม่เหมือนเดิม คอนเทนต์ที่เราทำก็ไม่เคยมาตีกรอบเรา เป็นเราเองที่จะรู้ว่าจุดไหนเล่นได้ อันไหนล้ำเส้น

เคยมีเหมือนกัน เขาก็เตือนเราว่าไม่ควรเล่นนะอันนี้ มันเกินไป (หัวเราะ) แต่บางครั้ง ผู้บริหารก็จะเป็นคนบอกเองว่าให้เล่นสนุกไปกับกระแสที่กำลังเกิดในสังคม ส่งมาเลยว่า เอ๊ะ ประเด็นนี้เล่นหรือยัง บางครั้งก็แอบแชร์ (หัวเราะ) มันก็เป็นข้อดีที่เรามีผู้ใหญ่ดูอยู่ห่างๆ ไม่มาก้าวก่าย แต่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ 

feedback จากการสื่อสารสองทางมีผลต่อยอดคนใช้บริการมากน้อยแค่ไหน และมีผลต่อพฤติกรรมการใช้ห้องสมุดอย่างไรบ้าง 

จุ๊บแจง: เดิมเพจเฟซบุ๊คเราค่อนข้างเงียบมาก จนมาคิดกันว่าจะทำยังไงให้บริการหรือหนังสือที่ใช้น้อยมากมียอดใช้มากขึ้น

ละคร บุพเพสันนิวาส เป็นจุดเปลี่ยนของเรา ตอนนั้นเราติด และเราก็มองว่า ละครเรื่องนี้มันมีหนังสือประวัติศาสตร์ที่เราเคยอ่านในห้องสมุด แล้วจะเป็นยังไงถ้าให้คนอื่นมาอ่านกับเราด้วย คืนที่ละครอวสานก็เล่นคอนเทนต์นี้ รวบรวมหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่มีในห้องสมุด แล้วเอามาเชื่อมโยงกับเรื่องบุพเพสันนิวาส 

หลังจากคืนนั้น ยอดการยืมเพิ่มขึ้นเยอะมากๆ (หัวเราะ) ถือเป็นจุดเปลี่ยนเลย

ทำกราฟิกกันเองด้วย?

จุ๊บแจง: ใช่ค่ะ (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้เครื่องมือกราฟิกมันมีหลากหลาย Illustrator, Photoshop หรือ Canva ที่มันเป็นสำเร็จรูปแล้ว

คิดว่าพฤติกรรมการอ่านตอนนี้ สามารถผูกไว้แค่หนังสือได้ไหม

แพรว: หนังสืออาจจะไม่ใช่แหล่งเดียว แต่การอ่านจากหนังสือก็ยังมีความสำคัญอยู่มาก ถึงจะมีสื่อมากขึ้น แต่หนังสือยังเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญ มีความละเอียดในเนื้อหามากกว่าสิ่งอื่นๆ การอ่านหนังสือทำให้เราจินตนาการได้มากกว่า สมมุติเราเปิดการ์ตูน การ์ตูนมันมีภาพอยู่แล้ว ดูจากภาพแล้วนึกออก แต่ถ้าเราอ่านหนังสือซึ่งมีแต่ข้อความ มันจะทำให้เราได้ใช้สมอง ได้ใช้จินตนาการความรู้ในการนึกภาพขึ้นมาเอง

ฟังก์ชั่นหรือหน้าที่ของห้องสมุด ณ ตอนนี้คืออะไร 

จุ๊บแจง: แต่ก่อนคนอาจจะมองว่าห้องสมุดมันเก่า มีบรรณารักษ์แก่ๆ อาจจะมองว่าห้องสมุดมีแค่หนังสือเท่านั้น แต่ในปัจจุบันภาพมันเปลี่ยนไปแล้ว

ห้องสมุดมีอะไรที่มากกว่าหนังสือ ตอนนี้ห้องสมุดหลายๆ ที่ รวมถึงที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น มี coworking space เพราะความรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ในหนังสืออยู่แล้ว แต่อาจจะมาจากการพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไรกัน หรือว่าสื่อต่างๆ เช่น เรามีการให้บริการ Netflix อันนี้ก็เป็นอีกสื่อที่จะสามารถสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ที่ไม่ใช่แค่มีอยู่ในหน้าหนังสือ 

เดี๋ยวนี้คนมาห้องสมุดเพื่อทำอะไรกัน 

จุ๊บแจง: ส่วนใหญ่มานั่งติว แล้วตอนนี้สามารถนำน้ำ ขนมเข้าไปได้ แต่ต้องอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิทมิดชิด เหมือนเดินคนละครึ่งทาง ครึ่งแรกมาจากข้อเสนอแนะของเด็กๆ เองว่า “พี่คะ เวลาอ่านหนังสือสอบ หนูเครียด หนูหิว หนูอยากกินน้ำ” งั้นเราขอครึ่งหลังแล้วกัน 

คุยกันเสียงดังได้ไหม

จุ๊บแจง: ตอนนี้แบ่งเป็นโซนแล้วค่ะ โซน discussion room สามารถคุยกันเสียงดังได้ ส่วนใครที่ต้องการใช้สมาธิ ก็จะมีห้องสำหรับให้ใช้สมาธิไปเลย 

ยังมีป้ายห้ามส่งเสียงดังอยู่หรือเปล่า

แพรว: มีค่ะ เป็นบางโซน ถ้าโซนไหนที่ต้องใช้สมาธิหรือโซนเงียบ เราก็จะแปะป้ายไว้ แต่ไม่ใช้คำว่าห้าม จะใช้คำซอฟต์ๆ แบบขอความร่วมมือ (หัวเราะ) 

จัดกิจกรรมอะไรในห้องสมุดได้บ้าง

จุ๊บแจง: เปิดอิสระเลย ไม่ว่าคุณอยากจะทำกิจกรรมนันทนาการหรืออะไรต่างๆ ก็สามารถทำได้ รวมไปถึงที่หอสมุดป๋วยฯ ที่รังสิต เรามีพื้นที่ coworking space ให้นักศึกษาสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งดนตรี เสวนาให้ความรู้ แต่ว่าอาจต้องติดต่อมาก่อน ส่วนใหญ่ห้องสมุดก็จัดเองด้วยนะ

มีข้อเสนอแนะหรือกฎอะไรบ้างของห้องสมุดที่มาจากเสียงของผู้ใช้บริการ

จุ๊บแจง: ยกตัวอย่างแรก ค่าปรับค่ะ อันนี้มาจากข้อเสนอแนะว่า “พี่คะหนูไม่สามารถจริงๆ พอจะลดหย่อนได้ไหม” เดิมเราไม่มีการลดหย่อนค่าปรับให้ มีเท่าไหร่จ่ายมาเท่านั้นเลย แต่ตอนนี้เรามองว่าสภาพคล่องต่างๆ ผนวกกับเศรษฐกิจ เลยมาคิดวิธีลดหย่อนค่าปรับให้นักศึกษา คือถ้าใครที่มีค่าปรับ 300 บาทขึ้นไปเราก็จะลดหย่อนให้ 1 ใน 3 และสามารถโอนจ่ายออนไลน์ได้ 

อีกเรื่อง มีนักศึกษาเสนอมาว่า “พี่คะ ท่าพระจันทร์มันทึบมากเลยหนูอยากได้พื้นที่ coworking space ที่เยอะกว่านี้” อันนี้เราไปศึกษาแล้วพบว่าห้องสมุดปัจจุบันควรจะเป็นมากกว่าการเก็บหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน ตอนนี้กำลังปรับปรุงหอสมุดปรีดีฯ กับห้องรวมเศรษฐศาสตร์ข้างบนชั้น 3 เป็นพื้นที่ coworking space มากขึ้น

แล้วก็ สงสัยไหมคะว่าทำไมหนังสือไม่เคยเต็มห้องสมุด เพราะว่าเราสแกนเก็บเป็นไฟล์ให้ คุณไม่ต้องเข้ามาห้องสมุดก็สามารถไปดาวน์โหลดได้ เพราะพื้นที่เก็บหนังสือมันจำกัด ทำยังไงก็ได้ให้มันยืดหยุ่นเเละคนมาใช้บริการได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม 

ภาพห้องสมุดตอนเด็กๆ กับภาพห้องสมุดตอนนี้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

แพรว: แตกต่างมากเลยค่ะ ตอนเด็กๆ อาจจะมองว่าบรรณารักษ์น่ากลัว ถ้าเราเสียงดังก็จะโดนเตือน ทำให้เราไม่ค่อยอยากไปห้องสมุดหรือใกล้ชิดกับบรรณารักษ์ เราเลยพยายามลดภาพจำอันนั้นให้น้อยลงที่สุด ให้เราเข้าถึงนักเรียนนักศึกษาได้มากขึ้น ทั้งจากการพูดคุย การใช้ภาษาต่างๆ ทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนเราได้นะ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้ที่เป็นอาจารย์หรือคนที่อาวุโสกว่าเราก็ใช้คำพูดที่สุภาพ 

ปัจจุบัน บรรณารักษ์ต้องทำอะไรบ้าง

จุ๊บแจง: บรรณารักษ์ทำทุกอย่างเเล้วตอนนี้ ต้องรู้รอบด้านมากขึ้น เพราะตอบคำถามที่เฉพาะทางจริงๆ เช่นเรื่องคู่มือการทำวิทยานิพนธ์ เด็กถามต้องตอบให้ได้ว่าทำยังไง มีลักษณะอย่างไรในการทำ รวมไปถึงในเรื่องของการตรวจสอบ plagiarism (การคัดลอกผลงานทางวิชาการ งานวิจัย) บรรณารักษ์ก็ต้องตอบเขาได้ว่าเปอร์เซ็นต์ความซ้ำที่มหาวิทยาลัยกำหนดคือเท่าไหร่และวิธีการไปตรวจสอบทำได้อย่างไร ตรวจสอบยังไง ฯลฯ และจะทำยังไงให้ผู้ใช้บริการรู้ว่ามีบริการนี้ซัพพอร์ตเขาอยู่นะ ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการอบรม

แพรว: เทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่บรรณารักษ์ต้องเรียนรู้และมีติดตัวไว้ ทั้งเครื่องมือหรือวิธีการต่างๆ เช่นกล้อง เพราะเรามีให้บริการยืมแก่นักศึกษา ตัวเราเองก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมไว้เผื่อมีนักศึกษามายืมแล้วถามวิธีการใช้จะได้ตอบได้

จุ๊บแจง: ยังต้องคิดกิจกรรมที่จะมีส่วนร่วมกับผู้ใช้ด้วย หรือสร้างความผูกพันไม่ให้เขาหนีหายเราไปไหน (brand loyalty) แต่ก่อนเรามีกิจกรรมอย่างสัปดาห์นักอ่านหนังสือ ขายหนังสือ แต่บรรณารักษ์เองไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนั้นเลย แต่ตอนนี้เราก็พยายามเปลี่ยน มาทำกิจกรรมในเชิงรุกมากขึ้น จากเดิมที่เราจะรอให้คนมายืมหนังสือ แต่ตอนนี้เราต้องเข้าหา เพราะผู้ใช้ยุคนี้อาจจะไม่ได้ขวนขวายมาห้องสมุดเท่าไหร่ อะไรที่เสิร์ฟเขาได้ มีประโยชน์กับเขา หรือทำให้เขาได้รับความสะดวกสบาย เราก็ทำ 

บรรณารักษ์ต้องรู้จักหนังสือทุกเล่มไหมว่าเล่มนี้เกี่ยวกับอะไรเพื่อตอบคำถาม 

จุ๊บแจง: อาจจะไม่ต้องรู้ในเชิงที่ลึกมาก แต่พอรู้ว่าอันนี้หมวดหมู่อะไร แล้วผู้ใช้บริการต้องการหนังสือเกี่ยวกับอะไร สมมุติ “พี่คะหนูอยากได้หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์” ให้คำค้นมากว้างมาก เเล้วเราทำยังไง เราก็จะถามไปเรื่อยๆ ว่าประวัติศาสตร์ยุคไหน ช่วงไหน เราก็จะนำคีย์เวิร์ดตรงนั้นมากรอกในระบบค้นหาของเรา เเล้วก็นำสิ่งที่น่าจะใช้ได้ไปเสิร์ฟเขา 

ทำไมห้องสมุดถึงยังใช้คำว่า ‘ห้องสมุด’ ทั้งที่สมุดก็ไม่มี มีแต่หนังสือ และห้องสมุดมีไว้ทำอะไร

จุ๊บแจง: คำว่าห้องสมุด มันเป็นคำที่ทุกคนรู้จัก ในสมัยก่อนอาจจะเป็นหอหนังสือ หอสมุด ก็เพี้ยนมาเป็นห้องสมุด 

ปัจจุบัน ห้องสมุดไม่ได้มีแค่หนังสือ เรามองว่ามันเป็นที่รวบรวมความรู้ วิทยาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากหนังสือ หนังสืออาจเป็นเหมือนสัญลักษณ์หนึ่งที่ให้ความรู้ ซึ่งตอนนี้ก็มีวิธีอื่นอีกมากมาย เช่น การเสวนา (ที่เกิดขึ้นในห้องสมุด)

ยังมีฐานข้อมูลที่เราจัดเก็บในห้องสมุด โดยเปลี่ยนแปลงจากรูปเล่มมาเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อให้ผู้ใช้ได้มาค้นคว้า คิดและต่อยอด นำไปใช้ได้ 

ถ้าถามว่าทำไมยุคนี้หรือโลกนี้ต้องมีห้องสมุด เรามองว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน เชื่อว่าโลกใบนี้ต้องการห้องสมุด ไม่ว่าคุณจะก้าวไปสู่จุดไหนของชีวิต หรืออาจจะถึงจุดสูงสุดแล้ว ในมือของคุณก็ต้องมีกุนซือไปด้วยเสมอ กุนซือในที่นี้ก็คือหนังสือ คือความรู้ที่ติดตัวเรา

ยกตัวอย่าง ลี เซียนลุง ผู้นำของสิงคโปร์ เขาก็จะหาวันหยุดมาอ่านหนังสือ หรือผู้นำประเทศอื่นๆ ผู้นำบริษัทยักษ์ใหญ่ เขาจะมีหนังสือที่ชอบ ที่อ่านประจำ เรามักจะเห็นในช่วงปีใหม่ ‘5 หนังสือที่ผู้นำอ่าน’ หรือ ‘5 หนังสือที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อ่าน’ จะเห็นว่าหนังสือคือกุนซือที่สำคัญของเขา

ห้องสมุดจึงไม่ใช่แค่สถานที่ที่รอให้คนเข้าไปหยิบหนังสือมาเปิดอ่าน ห้องสมุดต้องหลุดจากกรอบเดิมๆ ลบภาพจำที่มี คนที่เคยคิดว่าหนังสือน่าเบื่อ มีหลายบรรทัด ซึ่งจริงๆ มันก็ไม่ใช่ อยู่ที่ว่าเราจะเลือกหยิบสิ่งที่หนังสือมีออกมาใช้ได้อย่างตรงจุดหรือเปล่า 

ตอนนี้คนต้องการห้องสมุด เพราะว่าห้องสมุดมีสิ่งที่เขาต้องการ เช่น เขามีปัญหาในการทำวิจัย และในอินเทอร์เน็ตไม่มีข้อมูลนี้ให้ แต่ห้องสมุดมี น่าเชื่อถือกว่าด้วย เพราะบางข้อมูลเราหาในอินเทอร์เน็ตได้ แต่ไม่มีคนมาคอยแนะนำหรือให้คำปรึกษา ซึ่งห้องสมุดมี ทั้งเพื่อนและคนให้คำปรึกษา อินเทอร์เน็ตมันสื่อสารทางเดียว แต่ถ้ามาห้องสมุด เราพูดคุยกับคุณได้ บรรณารักษ์คือเพื่อน นี่คือการพยายามหลุดจากภาพเดิมๆ ที่ห้องสมุดเคยเป็น 

แพรว: เรามองว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การมีห้องสมุด ก็เป็นอีกแหล่งเรียนรู้ที่มีให้ หรืออย่างนักศึกษา นอกจากจะเข้าไปอ่านหนังสือ ยังพักผ่อนกับเพื่อน ไปหลับ ไปตากแอร์เย็นๆ ได้ด้วย (หัวเราะ) 

เป็นเหมือน public space ที่เป็นมิตรกับเรา ไปห้างยังต้องเสียเงิน แต่ที่นี่เราสามารถเข้าฟรี แถมยังแวดล้อมด้วยคนที่เราคุ้นเคย

จุ๊บแจง: ขอเสริมนิดนึง อันนี้ไม่ได้คิดไปเองนะว่า นักศึกษารู้สึกสนิทกับเรา อย่างช่วงสอบ ก็มีนักศึกษาทักมาหาเรา บอกว่า “แอดฯ ครับ ผมขอกำลังใจในการสอบหน่อยครับ พูดอะไรมาก็ได้” ขนลุกเลยนะที่เขาต้องการกำลังใจจากเรา แสดงว่าเราเป็นที่พึ่งพิงของเขาได้นะ หรือแม้แต่มาถามว่า “พี่ครับเย็นนี้กินอะไรดี” ก็มีเหมือนกัน (หัวเราะ)

บางคนมาทำคอนเทนต์ว่าแบบ ตอนนี้อยู่ศูนย์การเรียนรู้ฯ นะ แอร์หนาวมาก แล้วก็มีผ้าคลุม (หัวเราะ) ซึ่งที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ จะเปิด 22 ชั่วโมง จะมาแบบหน้าสด มานอนตอนกลางคืนแล้วตื่นตอนเช้าก็ได้ เพราะหอปิดเที่ยงคืนเข้าไม่ได้เลยมาอยู่ที่ห้องสมุดก่อน เป็นที่ปลอดภัย นอนได้


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Related Posts