ในวันที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน เด็กหลายคนอาจออกไปเรียนแล้วไม่ได้กลับบ้าน

  • ย้อนเส้นทางการศึกษาของเด็กๆ อัฟกานิสถานที่การเดินทางไปโรงเรียนเสี่ยงตายกว่าอยู่ที่บ้าน
  • วันเวลาที่ตาลีบันไร้อำนาจ เด็กๆ อัฟกันฯ กว่า 9.5 ล้านคนได้ไปโรงเรียน
  • แต่วันนี้ที่กลุ่มตาลีบันควบคุมการปกครองและระบบการศึกษาทั้งหมดของเมือง เด็กที่แต่งตัวออกจากบ้าน เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนในวันธรรมดา อาจไม่มีโอกาสได้กลับบ้าน

กว่าหนูจะเดินถึงโรงเรียน โรงเรียนก็เลิกแล้ว”

“ตาลีบันอยู่ใกล้ๆ บ้านเรา ถ้าเราออกจากบ้าน พวกเขาก็อาจจะฆ่าเราทิ้ง ถ้ารัฐบาลปกป้องเราได้ เราคงมีแรงจูงใจที่จะไปเรียน”

“มีแต่โจรระหว่างทางไปโรงเรียน”

20 ปีที่ผ่านมา การศึกษาของเด็กและผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานเป็นอย่างไร

บทที่ 1

ย้อนกลับไปครั้งตาลีบันเถลิงอำนาจ เด็กผู้หญิงชาวอัฟกันฯ ถูกกีดกันไม่ให้ไปโรงเรียน ถูกบังคับให้อยู่แต่ในบ้าน ออกไปข้างนอกได้ต่อเมื่อมีผู้ชายนำ ถ้าเปรียบเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม หากผู้อ่านเปิดออกอาจพบเพียงหน้ากระดาษเปล่าๆ ชีวิตผู้หญิงภายใต้การนำของตาลีบันเสมือนตัวอักษรสีขาวที่มองไม่เห็นแต่มีอยู่ จนมาถึงแถลงการณ์ล่าสุดที่โฆษกตาลีบันแจ้งต่อประชาคมโลกว่าตาลีบันจะปรับตัว ผู้หญิงจะไม่ถูกริดรอนสิทธิทางร่างกาย ได้รับสวัสดิการ มีที่อยู่ และได้รับการศึกษาที่เหมาะสม

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการภาคสนามของ UNICEF ออกความเห็นว่าจากการเจรจาเบื้องต้นกับตัวแทนของตาลีบันยังมองเห็นสัญญาณที่ไม่น่าเป็นห่วงมากเพราะมีการชี้แจงชัดเจนว่าจะไม่ละทิ้งการศึกษาสำหรับผู้หญิง 

กลุ่มตาลีบันที่กำลังเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่กับโลกสัญญาตกลงกับ UNICEF ว่าจะเปิดโรงเรียนไม่เป็นทางการกว่า 1,000 โรงเรียนตามพื้นที่ปกครอง และไม่ว่าจะเด็กผู้ชายหรือผู้หญิงก็ล้วนมีสิทธิได้เรียนหนังสือ กล่าวชัดเจนว่าพวกเขาจะเคารพสิทธิของผู้หญิง “ตามกรอบของกฎศาสนา” ที่ตาลีบันสมาทานและบอกแม้กระทั่งว่าอยากให้ผู้หญิงมาเข้าร่วมทำงานในรัฐบาลด้วย

ซึ่งจากประวัติศาสตร์ของการปราบปรามและกดขี่สิทธิของผู้หญิงอย่างร้ายแรงของตาลีบัน ทั่วโลกต่างตั้งข้อสังเกตว่าคำกล่าวนี้จะเป็นโฆษณาชวนเชื่ออีกหรือไม่

เพราะเมื่อตลอดเดือนมกราคมจนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวหลายสำนักเพิ่งรายงานว่ากลุ่มตาลีบันไล่ปลิดชีวิต สังหารผู้หญิงตามหมู่บ้านที่ต้องการยึดครอง มาลาลา ยูซาฟไซ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวอัฟกันฯ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2558 ออกมาแสดงความกังวลอย่างชัดเจนว่าชีวิตของผู้หญิงชาวอัฟกันฯ กำลังตกอยู่ในอันตราย

กลุ่มตาลีบันสังหารเด็กนักเรียนอย่างน้อย 90 คนที่กลับจากเรียนหนังสือในเมืองคาบูล ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิงจากกลุ่มชายขอบ Shi’ite Hazara

คราบเลือดเปื้อนเป้นักเรียน ตำราเรียนไหม้เกรียม กลุ่มตาลีบันปัดความรับผิดชอบ

Credit : Amors photos / shutterstock.com

บทที่ 2

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเกลี้ยกล่อมให้พ่อยอมให้ลูกสาวออกไปเรียนหนังสือ”

“ฉันไม่มีเงินซื้อดินสอให้ลูกชาย ลูกสาวยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย”

ตาลีบันยึดพื้นที่อัฟกานิสถานได้แล้วกว่าร้อยละ 40 ของเขตทั้งหมดในประเทศ หลายครอบครัวต้องหลบหนีออกจากบ้าน การศึกษาของเด็กสาวหลายคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลตาลีบันต้องแขวนอยู่บนความเสี่ยงภัยทางร่างกาย เช่น การโดนคุกคามทางเพศ การถูกลักพาตัว ถูกทำร้ายร่างกาย   

เด็กหญิงวัย 18 ปีหวาดกลัวว่าเธอจะไม่ได้เรียนไฮสคูลต่อเมื่อที่โรงเรียนได้รับ ‘จดหมาย’ จากกลุ่มเอมิเรตอิสลาม (Islamic Emirate) ชื่อใหม่ของประเทศอัฟกานิสถานภายใต้การนำของกลุ่มตาลีบันในคืนวันหนึ่งของเดือนเมษายนให้หยุดสอนหนังสือเด็กผู้หญิง

Credit : Arctic Wolves / Flickr

ในระดับการเมือง คอร์รัปชันและการบริหารจัดการก็ยิ่งถ่างช่องว่างเหล่านี้ให้กว้างขึ้น ครอบครัวยากจนที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนก็จริง แต่ก็ติดกับดักเรื่องค่าเดินทางของลูก ไม่นับข้อจำกัดของงบครอบครัวที่ส่วนใหญ่จะตัดใจเลือกให้ลูกชายมีโอกาสเรียนหนังสือมากกว่า

เด็กๆ ชาวอัฟกันฯ ถึงหนึ่งในสี่ของประชากรต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวแทนเรียนหนังสือเพราะแร้นแค้นอย่างมาก เด็กผู้หญิงอาจเย็บปักถักร้อย ขอทาน หรือไม่ก็เก็บขยะไปขายแทนการนั่งอยู่ในโต๊ะเรียนและจดสิ่งที่ครูสอน

ก่อนหน้านี้ ประชากรชาวอัฟกานิสถานจำนวนหลายล้านคนเติบโตมาแบบคุ้นเคยกับการเข้าถึงการศึกษา การที่ลูกสาว พี่สาว น้องสาว ผู้ยากไร้ได้เข้าโรงเรียน และมีความพยายามที่จะเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เด็กชาวอัฟกันฯ ไม่ถึง 100,000 คนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในปีพ.ศ. 2493 และเด็กเหล่านั้นคือเด็กผู้ชาย เราเริ่มเห็นพัฒนาการที่เด็กผู้หญิงได้เริ่มตบเท้าเข้าเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาในปีพ.ศ. 2503 อยู่ราวร้อยละ 10 และถึงแม้ว่าอัฟกานิสถานจะมีจำนวนเด็กที่ได้เข้าถึงการศึกษาทั้งระดับประถมและมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านในปีพ.ศ. 2511 แต่เด็กผู้หญิงที่ได้เรียนหนังสือจริงๆ ก็มีเพียงแค่ร้อยละ 15 เท่านั้น

แม้ในยุคที่จักรวรรดิโซเวียตนำเสนอการศึกษาภาคบังคับเพื่อจัดระบบสังคมและการเมืองของประเทศ ประชากรถึงร้อยละ 90 ก็ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

บทที่ 3

“เราขายผลไม้ได้เงินอยู่ 29-34 เซนต์ (US) เด็กน้อยวิ่งเล่นในตลาด หาเปลือกผลไม้กินตามพื้น พวกเราไม่มีอันจะกิน เด็กๆ ไม่รู้หนังสือ เขาต้องอิ่มท้องก่อนหรือเรียนก่อนดีล่ะ ถ้าท้องยังไม่อิ่ม ก็ไม่มีทางไปเรียนได้”

ธนาคารโลกหรือ World Bank ก็แจ้งว่าระดับการรู้หนังสือของเด็กชาวอัฟกันฯ ในวัย 15 ปีขึ้นไปเพิ่มจากร้อยละ 31.4 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 43 ในปี 2558 

การเข้ามาของต่างชาติเสิร์ฟเกมการเมืองที่ซับซ้อนและปัจจัยทางการทูตที่มองไม่เห็น กว่า 20 ปีที่ชาติตะวันตกและสหรัฐอเมริกาเข้ามากำกับดูแล แต่อัฟกานิสถานก็ยังคงตำแหน่งประเทศโลกที่สาม ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ประเทศที่ผู้หญิงและเด็กไม่มีที่ทางในสังคม ประเทศที่มีแหล่งพลังงานแร่ธาตุมหาศาล อีกทั้งยังครอบคลุมพื้นที่ในแถบยูเรเชีย ศูนย์กลางที่จักรวรรดิบริเตนและรัสเซียเคยต่อสู้แย่งชิง

Credit : Lizette Potgieter / Shutterstock.com

ศักยภาพเหล่านี้เพียงพอที่จะทำให้อัฟกานิสถานเติบโตได้ แต่โชคร้ายอำนาจไม่ได้สังกัดอยู่ที่พวกเขา

แต่การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ภายใต้ยุคที่มีสหรัฐอเมริกาและกลุ่มทุนฝรั่ง เช่น สหภาพยุโรปหรือ EU กุมบังเหียน การพัฒนาจากชาติตะวันตกก็นำมาซึ่งความก้าวหน้าทางการศึกษาและการวางระบบที่ชัดเจนอย่างปฏิเสธไม่ได้

ปีพ.ศ. 2544 เด็กผู้หญิงชาวอัฟกันฯ ทั่วประเทศแทบไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ แต่ ณ ปัจจุบันก่อนที่ตาลีบันจะรวบอำนาจ มีผู้หญิงกว่าล้านคนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัย และเลือกเรียนสาขาวิชาหลากหลายตั้งแต่แพทย์ไปจนถึงศิลปะ

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่าจำนวนนักเรียนหญิงที่เข้าเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 สูงสุดในปีพ.ศ. 2554 หรือเป็นปีที่สองของกองทัพของประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่กลับตกลงจากร้อยละ 65 เป็นร้อยละ 57 ในปีพ.ศ. 2558

ผู้ให้ทุนด้านการศึกษาของอัฟกานิสถานทำงานกับรัฐบาลเพื่อออกแบบนวัตกรรมที่เอื้อให้ผู้หญิงมีที่ยืนท่ามกลางความขัดแย้งที่ถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) เสนอการศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based learning) เพื่อสอนหนังสือเด็กที่บ้าน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่จะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้แม้บ้านอยู่ไกลจากโรงเรียนรัฐ

แต่ช่องโหว่ของโมเดลการศึกษาแบบนี้ก็คือการศึกษาของเด็กจะขาดความต่อเนื่องเพราะผู้ให้ทุนมีกลุ่มเดียว โครงการดำเนินงานโดยมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร ระบบการศึกษาจึงไม่ค่อยเชื่อมโยงกับระบบปกติที่รัฐบาลออกแบบไว้ และอาจขาดเงินทุนหากมีเหตุขัดข้องเกิดขึ้น

Credit : Amors photos / Shutterstock.com

“ฉันไม่อยากไปจากที่นี่ แต่ถ้าเราไม่มีทางเลือกแล้วจะให้ทำยังไง ฉันไม่อยากทิ้งเด็กๆ ไว้แบบที่โลกทิ้งเรา และฉันต้องทำให้พวกเธอได้เรียนหนังสือแม้ว่าจะผิดกฎหมายก็ตาม” เดอร์รานี ผู้ก่อตั้งและผู้บริการขององค์กร LEARN มูลนิธิการศึกษาในอัฟกานิสถานเอ่ย

เธอกล่าวซ้ำว่าการเรียนรูปแบบออนไลน์ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งมูลนิธิและเด็กเองก็ไม่พร้อมและพวกเขามีแรงใจเต็มเปี่ยมในการตื่นนอน แต่งตัว และไปเรียนหนังสือ

Pen Path คือห้องสมุดเคลื่อนที่ที่มีอาสาสมัครกว่า 2,300 คนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์ไปเพื่อส่งหนังสือประวติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณกรรมให้เด็กๆ อ่าน ปักธงชาติไว้ที่รถเพื่อป้องกันการถูกทำร้าย 

ก่อนหน้านี้องค์กรเพื่อการศึกษาก็สนับสนุนการก่อตั้งโรงเรียนในหลากหลายพื้นที่ ทำแคมเปญแจกเป้ให้กับเด็กๆ ที่ปกติใช้ถุงพลาสติกใส่หนังสือ และทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อจัดหาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ที่บางครั้งมีแต่ตึกเรียน แต่ไม่มีครูสอน

#1book4peace แคมเปญห้องสมุดเคลื่อนที่ ขี่มอเตอร์ไซค์เพื่อแจกหนังสือให้กับเด็กๆ ก็ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 อาสาขับรถไปทั่วแคว้นราว 34 แคว้นภายในระยะเวลา 8 เดือน แจกหนังสือให้กับเด็กด้อยโอกาสและเยาวชนชายขอบ

to be continued

แต่ในห้วงยามนี้ อัฟกานิสถานทั้งประเทศเองก็อาจตกอยู่ในสถานะชายขอบเพราะทุกชีวิตไร้สิทธิที่จะเข้าถึงชีวิตที่สามารถอยู่-กินอย่างสงบ เข้าถึงปัจจัยสี่ เด็กผู้ชายและผู้หญิงมีความฝัน และเข้าถึงการศึกษาได้โดยไม่ต้องแลกมาด้วยชีวิต

เด็กที่แต่งตัวออกจากบ้าน เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนในวันธรรมดา อาจไม่มีโอกาสได้กลับบ้านท่ามกลางสถานการณ์ที่กลุ่มตาลีบันควบคุมการปกครองและระบบการศึกษาทั้งหมดของเมือง

เด็กกว่า 468 ชีวิตถูกสังหารตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ประชาชนพยายามช่วยพยุงกันเองโดยคิดค้นสรรพวิธีในการเข้าถึงการศึกษา งานวิจัยในปีพ.ศ. 2550 และ 2553 ระบุว่าผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันฯ ที่อยู่ในอิหร่านและปากีสถานลี้ภัยออกจากประเทศภายใต้การนำของตาลีบันเพราะต้องการให้ลูกได้ไปโรงเรียน

สหรัฐอเมริกาถอนกำลังออกจากประเทศอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็ว ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนหรือรัสเซียเองก็มีท่าทีเป็นกังวลเพราะอาจกระทบต่อการบริหารจัดการอำนาจทางการเมือง การกำหนดนโยบาย หรือกลัวโดนผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมสุดโต่งรวมกันตลบหลังในพื้นที่ที่กดขี่พวกเขาไว้ก่อนแล้ว

เด็กๆ ในอัฟกานิสถานไม่ใช่หมากเดินเกมของผู้นำไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม ในโลกที่ดูเหมือนจะมีองค์กรเมตตาจิตมหาศาล พวกเขาไม่อยู่ในสมการใดๆ เลยด้วยซ้ำ 

วิ่งเล่นเป็นตัวหนังสือสีขาวในหน้ากระดาษประวัติศาสตร์สีขาว ที่เปี่ยมไปด้วยชีวิต เปราะบาง บริสุทธิ์ แต่ไม่มีใครสนใจจะเปิดอ่าน

อ้างอิง

https://www.hrw.org/news/2017/10/17/afghanistan-girls-struggle-education

https://www.cbsnews.com/news/afghanistan-education-taliban-takeover/

https://theconversation.com/protecting-education-should-be-at-the-centre-of-peace-negotiations-in-afghanistan-161769

https://time.com/6078072/afghanistan-withdrawal-taliban-girls-education/

https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3145035/taliban-violence-forces-schools-afghanistan-close-mobile

https://www.npr.org/2021/08/16/1028016109/with-the-talibans-return-to-power-will-afghan-girls-keep-going-to-school

https://georgewbush-whitehouse.archives.gov/infocus/backtoschool/commitment.html

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Comment/US-retreat-from-Afghanistan-threatens-China-and-Russia


Writer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts