- Aftersun เป็นภาพยนตร์ฝีมือการกำกับและเขียนบทของ ชาร์ลอตต์ เวลส์ ได้รับและเข้าชิงรางวัลมากมาย อีกทั้งยังเป็นที่กล่าวขานถึงในหมู่นักวิจารณ์
- ‘โซฟี’ พาเราระลึกถึงความทรงจำจากสองทศวรรษก่อน ที่ทั้งกระท่อนกระแท่น สวยงาม และร้าวราน
- ภาพยนตร์เรื่อง Aftersun อาจกำลังสื่อสารกับเราว่า แม้ความทรงจำคือสถานที่ที่คนที่เรารักสามารถมีชีวิตชั่วนิรันดร์ เราไม่อาจจมกับมันไปตลอด
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
ขณะนั้นเป็นฤดูร้อน พ่อกับลูกสาวเดินทางไปท่องเที่ยวที่ตุรกี พักผ่อนที่รีสอร์ตริมทะเล ในระยะเวลาไม่กี่วันนั้นหาได้มีเรื่องราวหวือหวาเกิดขึ้นไม่ อย่างน้อยก็เท่าที่โซฟี ลูกสาวจำได้ และจากวิดีโอบางส่วนที่ถูกถ่ายไว้ด้วยกล้องวิดีโอของพ่อ มันไม่ได้มีเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจแต่อย่างใด
ตลอดเวลาที่รีสอร์ตริมทะเล สองพ่อลูกใช้เวลาร่วมกันอย่างไม่มีแบบแผนตายตัว เพียงพักผ่อน นอนอาบแดด เล่นน้ำทะเล แทงพูล เต้นรำ และดื่มด่ำกับอาหารคลอเคล้าเสียงเพลง ทว่าในความทรงจำเรียบเรื่อยนี้กลับมีรายละเอียดซุกซ่อนให้เราสอดส่ายสายตามองหาคำใบ้ เฝ้าสังเกตเหตุการณ์ เงี่ยหูฟังเพลงกับบทสนทนา และซึมซาบบรรยากาศ ซึ่งต่างเล่าเรื่องที่ไม่ถูกเล่าตรง ๆ ได้อย่างแยบยล เฉพาะบทสนทนาซึ่งไม่ได้ปรากฏมากนักยังกระตุ้นให้เราหาคำตอบและถมช่องว่างด้วยตัวเอง
“หนูเพิ่งอายุสิบเอ็ด แต่พ่ออายุร้อยสามสิบย่างร้อยสามสิบเอ็ด”
เรื่องเปิดด้วยประโยคนี้ของโซฟี เด็กน้อยพูดพลางหัวเราะคิกคักขณะถ่ายวิดีโอเพื่อทดลองใช้กล้อง
สำหรับเด็กอย่างโซฟี วันเกิดถือเป็นหมุดหมายอันดีที่เธอก้าวเข้าใกล้วัยผู้ใหญ่อีกขั้น การได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่เด็กโตทำได้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และการรู้ว่ายังมีชีวิตทอดยาวรออยู่เบื้องหน้าเป็นเรื่องที่น่าตั้งตาคอย แต่สำหรับพ่ออย่าง คาลัม เขากลับไม่ยินดียินร้าย หากคำนวณอย่างหยาบ คาลัมน่าจะมีลูกตั้งแต่อายุยี่สิบต้น ๆ
มุมมองต่อชีวิตและขวบปีที่เพิ่มขึ้นของสองพ่อลูกสวนทางกัน อันเป็นเรื่องที่จะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อภาพความทรงจำดำเนินไป โซฟีตื่นเต้นที่เห็นวัยรุ่น – วัยที่เธอกำลังคืบเข้าใกล้ – พวกเขาเมามาย กอดจูบ อยู่ฉลองจนดึกดื่น ซึ่งบางอย่างเธอยัง “เด็กเกินไป” ที่จะทำ ฟากของคาลัม รักในวัยแรกแย้มอย่างนั้น ความสนุกสนานบ้าคลั่งอย่างนั้นอาจเป็นอดีตที่ผ่านมาแล้ว หรือเป็นกระทั่งอดีตแสนสั้นของเขา เพราะเข้าวัยยี่สิบได้หมาด ๆ ก็กลายเป็นพ่อคนเสียแล้ว
กระนั้นคาลัมหาได้โทษโซฟีที่เส้นทางชีวิตเขาลุ่ม ๆ ดอน ๆ เขารักเธออย่างที่พ่อคนหนึ่งพึงรัก ทั้งสองสนิทสนมกลมเกลียว เล่นมุกที่เข้าใจกันสองคน ทำตัวบ้าบวม และดูแลเอาใจใส่กันเป็นอย่างดี แต่บางทีด้วยเหตุนี้ คาลัมจึงแสร้งทำตัวร่าเริงตลอดช่วงเวลานั้น เขาอยากสร้างความทรงจำดี ๆ ร่วมกับลูกสาวผู้เป็นยอดดวงใจ พยายามไม่แสดงออกถึงด้านอ่อนแอ โดยไม่รู้ว่าปัญหาของเขาใหญ่เกินจะปิดมิด ทั้งการงานไม่มั่นคง ปัญหาทางการเงิน ความสัมพันธ์ใหม่ที่ล้มไม่เป็นท่า และสุขภาพใจที่แปรปรวนยิ่งกว่าท้องทะเล
เราเห็นความทุ่มเทจัดการกับพายุภายในใจของคาลัม เขาฝึกสมาธิ ฝึกกายบริหารแบบไทเก๊ก ปลีกตัวไปร้องไห้ลำพัง หรือแม้แต่สูบบุหรี่ในที่ลับสายตาลูก ทว่าสำหรับลูกสาวที่รู้จักเขาอย่างดี ความเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยในน้ำเสียงหรือแววตาย่อมไม่รอดพ้นจากสายตาเธอได้
ลูกสาวหวังจะช้อนพ่อขึ้นมาจากอารมณ์ขุ่นข้องหมองมัวที่ตัวเธอเองยังไม่เข้าใจ และพยายามทำความเข้าใจด้วยความเป็นห่วง เธอถามพ่ออย่างเถรตรง ทำไมพ่อกับแม่ยังบอกรักกันทางโทรศัพท์ทั้งที่แยกทางกันแล้ว ความสัมพันธ์ของพ่อกับสาวคนใหม่เป็นอย่างไร พ่อไปเยี่ยมย่าครั้งสุดท้ายเมื่อไร หรือ…
“พ่ออยากย้ายกลับสก็อตแลนด์บ้างไหม”
“ไม่” คาลัมตอบ สำหรับเขาที่ย้ายออกมาอยู่อังกฤษนานหลายปี บ้านเกิดเมืองนอนกลายเป็นเพียงอดีต เขาเสริมด้วยว่าเมื่อเราจากที่ใดที่หนึ่งมานาน เราจะไม่รู้สึกเหมือนที่นั่นเป็นบ้านของเราอีกต่อไป และสำหรับเขาเอดินเบอระไม่เคยให้ความรู้สึกนั้นตั้งแต่ต้น ต่างจากลูกสาวที่เห็นมันเป็นบ้าน
“ดีแล้วที่ลูกรู้สึกอย่างนั้น แต่ลูกไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายจะไปอยู่ที่ไหน ลูกจะอยู่ที่ไหนก็ได้ที่อยากอยู่ เป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ลูกยังมีเวลา”
คำตอบของคาลัมเล่าภาพรวมชีวิตของเขาที่พอจะเดาต่อได้ เขารู้สึกเป็นอื่นที่บ้านเกิด เขาไม่อยากกลับไป ทั้งยังสะท้อนความคิดว่าเขามองเห็นอนาคตของลูกสาว เขาหวังว่าเธอจะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระและได้ค้นหาตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาอาจล้มเหลว ไม่อนุญาตให้ตัวเองทำ หรือไม่สามารถทำได้อีกแล้ว
บางคำถามของโซฟีเป็นคำถามที่ซื่อใสแต่อาจแทงใจใครหลายคน
“พ่อเคยรู้สึกไหม รู้สึกว่ามีความสุขล้นปรี่ วันทั้งวันดีมาตลอด แล้วจู่ ๆ ก็รู้สึกดิ่งเหมือนกับ…จมน้ำ ทำนองนั้น มันแปลก ๆ ไม่รู้สิ” โซฟีถามขณะนอนแผ่หลาบนเตียง คาลัมที่แปรงฟันในห้องน้ำเงียบไปอึดใจหนึ่ง คล้ายมีคำตอบในใจแต่ไม่พูด เขาถุยยาสีฟันใส่เงาตัวเองในกระจกแล้วตอบเพียงว่า “เรามาที่นี่เพื่อสนุกกัน”
สัญญาณเตือนที่เราในฐานะผู้ชมคงสัมผัสได้ – เหมือนที่โซฟีวัยเยาว์พอรู้ – คือการกระทำกับคำพูดกำกวมและย้อนแย้งของเขา แม้จะมีเงินไม่มากแต่เขากลับซื้อพรมผืนแพงให้ลูกเป็นของฝาก เขาสอนศิลปะป้องกันตัวให้เธอราวกับเขาจะจากไปแสนไกล
แม้ปากบอกว่าต่อให้โซฟีโตแล้วยังสามารถปรึกษาเขาได้ทุกเรื่อง แต่เขากลับไม่อาจรักษาสัญญา
“บางครั้งหนูจะแหงนมองฟ้า และถ้าเห็นพระอาทิตย์ หนูจะนึกถึงความจริงที่ว่าพ่อก็เห็นตะวันดวงเดียวกัน ดังนั้น แม้เราจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็เหมือนอยู่ด้วยกันจริงไหม ใต้ฟ้าผืนเดียวกันนี้”
โซฟีพูดกับพ่อ เธอรู้ว่าทั้งสองจะพบกันไม่บ่อยนักหลังจากที่เธอย้ายไปอยู่กับแม่ แต่ไม่รู้ว่านั่นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เจอกัน ณ ตอนนั้นเธอพูดด้วยความรู้สึกเปี่ยมหวัง
ความทรงจำของมนุษย์คงเป็นอย่างนี้กระมัง ผันผวน บิดแปร บางส่วนชัดแจ้งเหมือนกลางวัน บางส่วนหม่ดมืดขมุกขมัวอย่างกลางคืน รายละเอียดไม่สำคัญบางอย่างหล่นหายตามกาล ขณะบางฉากเล่นซ้ำวนเวียน สำหรับโซฟี ฉากสำคัญคือการเต้นรำกับพ่อ
“มาเถอะ คืนสุดท้ายแล้ว มาเต้นกัน” โซฟีอิดออดในตอนแรกแต่ก็ยอม ทั้งสองโยกย้ายไปตามจังหวะเพลง Under Pressure ของเดวิด โบวีย์และวงควีน – เพลงที่กล่าวถึงความกดดันมหาศาลของบรรดามนุษย์ผู้ค้นพบความจริงอันโหดร้ายของโลก – เพลงที่เหมือนจะขัดกับความรื่นเริงของสองพ่อลูก แต่สะท้อนสภาวะภายในใจของคาลัมได้เป็นอย่างดี ดังที่กล่าวไปแล้ว บทสนทนา เพลงประกอบ และภาพกำลังเล่าเรื่องที่ไม่มีผู้บรรยายหรือตัวละครใดเอื้อนเอ่ย
เมื่อเวลาผ่านไป ภาพขณะเต้นรำจะหวนกลับมาหาโซฟี พ่อลูกเต้นรำกันอีกครั้งท่ามกลางแสงไฟกะพริบถี่ราวอยู่ในดิสโกเท็ก จังหวะที่แสงสาดต้องใบหน้า โซฟีเป็นโซฟีคนปัจจุบัน ไม่ใช่เด็กสาวอีกต่อไป ครั้นแสงไฟสาดไปทางพ่อ เขายังมีใบหน้าดุจเดิม สวมเสื้อตัวเดียวกับวันสุดท้ายที่โซฟีเห็นตอนแยกกันที่สนามบิน พอแสงไฟในห้องมืดสาดกลับไปหาโซฟีอีกครั้ง หนนี้เธอย้อนกลับไปเป็นเด็กหญิงโซฟี
แสงไฟขาวจนตาพร่าเผยให้เห็นคนสองคนเต้นรำ ประเดี๋ยวดึงกันเข้าไปกอด ประเดี๋ยวผลักออก ยื้อยุดฉุกกระชากอยู่เช่นนั้น รอยยิ้มเริ่มเผือดหาย กลายเป็นสีหน้าเจ็บปวดรวดร้าวบิดเบี้ยวแล้วคลายลง เรียบนิ่ง จนสุดท้ายร่างของพ่อก็ถูกเหวี่ยงคว้าง หายห่างไปในความมืดมิด
ฉากนั้นอาจเป็นฝัน ความปรารถนาเบื้องลึก หรือจิตใต้สำนึกของโซฟีที่ทั้งอยากโอบกอดและผลักไส ขุ่นเคืองใจและถวิลหาพ่อ ผู้ไม่อาจรักษาคำมั่นสัญญาว่าจะอยู่คอยดูเธอเติบโต ไม่ว่าจะอย่างไร โซฟีทำได้เพียงเต้นรำกับเขาในห้วงเวลาอันเป็นนิรันดร์ของความทรงจำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่าแข้งขาจะล้ากำลัง จนกว่าอ้อมแขนและมือที่ยื้อยุดจะหมดแรง จนกว่าภาพของพ่อจะเลือนลง
และท้ายที่สุด เธอคงต้องปล่อยมือจากเขาไปตลอดกาล
อ้างอิง :