อำนวย พลสุขเจริญ : “ประเทศมันเล็กเมื่อเทียบกับโลก” เส้นทางชีวิตจากเด็กเก่งสู่นักเรียนทุนผู้ขอใช้ชีวิตที่อเมริกา

  • มีนักเรียนทุนหลายคนเลือกใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน แทนที่จะกลับมาเมืองไทย และ ‘ตี๋’อำนวย พลสุขเจริญ คือหนึ่งในนั้น 
  • “ภาระที่จะต้องใช้ทุนมันหนักมาก สิ่งที่ยุติธรรมสำหรับเด็ก ผมคิดว่าควรจะมีข้อมูลทั้งสองฝั่ง ไม่ใช่แค่การรับทุนเป็นสิ่งที่สวยหรูหรือมีเกียรติ แต่ควรจะมีอีกฝั่งที่บอกว่า มานี่มันลำบากนะ”
  • “ผมอาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย แต่ผมตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่ผมทำเกิดประโยชน์กับมนุษยชาติ” ตี๋เชื่อมั่น

“ประเทศมันเล็กเมื่อเทียบกับโลก และยิ่งไปกว่านั้น การสร้างคุณค่าให้กับคนอื่นคือความสุขไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม” 

คือคำพูดของ ‘ตี๋’ อำนวย พลสุขเจริญ อดีตเจ้าของเหรียญโอลิมปิกวิชาการสาขาฟิสิกส์ ที่มองว่าการเป็นเด็กนักเรียนทุนได้ไปเรียนต่างประเทศถือเป็นประสบการณ์ 11 ปีที่ดีซึ่งต้องแลกมาด้วยภาระหน้าที่ที่จะต้องกลับมาทำงานในฐานะนักวิจัยหรือทำงานในองค์กรรัฐอีก 10 ปี

แต่เมื่อเขาได้ไปเห็นผู้คนหลากหลายและเชื่อมั่นว่าสามารถสร้างแรงบันดาลใจใครต่อใครได้ เขาจึงตัดสินใจใช้ทุนคืนแม้จะมีค่าปรับก็ตาม

“ผมเป็นคนใช้ทุน ผมไม่ควรจะไปพูดให้คนอื่นไม่อยากรับทุน แต่ส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่ามันควรจะยุติธรรมกว่านี้คือ การตัดสินใจเลือกรับทุนมันเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับเด็กม.ปลายคนหนึ่งจะเลือก เพราะว่ามันเป็นสิบปี แล้วในสิบปีนั้นมันจะต้องเจออะไรบ้าง เขาควรได้รู้ก่อนเลือก”

สำหรับตี๋ การเป็นเด็กเก่งไม่จำเป็นต้องจบที่การได้รับทุนหรือเรียนสายวิทย์-คณิตเสมอไป เขาเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและพัฒนาตัวเองหรือเลือกออกแบบเส้นทางของตัวเองได้ แม้บางคนอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะเจอเส้นทางนั้น

เช่นเดียวกับตี๋ที่ปัจจุบันเขาทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หลังตัดสินใจไม่กลับประเทศไทย ใช้ทุนคืนทั้งหมดพร้อมค่าปรับ 

บทสนทนาที่ตอบอย่างตรงไปตรงมาต่อจากนี้คือเส้นทางชีวิตและเหตุผลที่ ‘ตี๋’ เลือกทำตามความฝัน…

ฝันที่เกิดขึ้นยากถ้ากลับมาอยู่ในระบบ 

คุณตี๋เรียนเก่งตั้งแต่เด็กๆ เลยไหม

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ บ้านผมทำธุรกิจค้าขาย พ่อกับแม่ไม่มีใครเรียนจบมหาวิทยาลัยเลย แต่พ่อจะบอกตลอดว่า การศึกษาสำคัญ ต้องขยันเรียน ต้องเรียนให้เก่งซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ผมตั้งใจเรียนมาตลอด

การเป็นเด็กเก่งมีความกดดันอะไรบ้าง

ผมว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับความเป็นเด็กเก่งหรือไม่เก่ง แต่เชื่อว่าทุกคนกลัวล้มเหลว กลัวผิดหวัง กลัวว่าสิ่งที่เราพยายามจะไม่เป็นผล ซึ่งตอนนั้นเข้าใจว่าความสุขคือความสำเร็จหรือการผ่านเกณฑ์บางอย่าง การทำอะไรสำเร็จเป็นความรู้สึกดีแต่ไม่ได้กดดัน อาจจะมีบางครั้งที่คิดว่าทำไมผลลัพธ์ไม่เป็นแบบที่เราคิด แต่มันก็ไม่ได้รู้สึกแย่ อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำแล้วสำเร็จมันก็โอเค

สมัยเรียนมัธยม (โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์) ตอนนั้นมีแบ่งเป็นห้องคิง ห้องควีน หรือแบ่งห้องตามผลการเรียนไหม

ตอนผมเรียนจะมีหลักการประมาณว่าถ้าสนใจฟิสิกส์ก็ไปเกาะกลุ่มฟิสิกส์ ถ้าสนใจชีววิทยาก็ไปอยู่กลุ่มนั้น แต่ที่เห็นชัด คือ สายภาษาอังกฤษที่ต้องสื่อสารกัน ถ้าเรามีคนที่สื่อสารได้และไม่ได้อยู่ด้วยกัน การเรียนก็จะช้าลง ทำให้โรงเรียนแยกเด็กที่พูดภาษาอังกฤษได้ไปอยู่อีกห้องหนึ่ง

โรงเรียนจะมีข้อสอบประเมินก่อนแบ่งห้อง ตอนนั้นเราคิดว่ามันเป็นวิธีที่ดีที่สุด แล้วตอนที่เราเป็นนักเรียนเราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่ามันมีความไม่เท่าเทียมอยู่ โลกมันก็เป็นอย่างนี้แหละแต่พอโตขึ้น รู้จักอะไรมากขึ้นเราก็รู้สึกว่าจริงๆ มันควรจะมีทางที่ดีกว่าที่เราจะทำได้

ในตอนนั้นคิดอย่างไรกับการวัดผล

ผมคิดว่าการศึกษามันควรจะเป็นไปตามความสามารถของคน ณ ตอนนั้น

ถ้าการวัดผลเพื่อให้นักเรียนรู้ว่าเขาอยู่ตรงไหนแล้วเอาไปพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งที่ดี แต่เราใช้ผิดจุดประสงค์ เพราะเราตัดสินไปแล้วว่าเด็กที่ไม่ผ่านคือคนที่ไม่มีความสามารถ สำหรับผมมันคือจุดจบ ทั้งๆ ที่การวัดผลมันควรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กพัฒนาตนเอง มีความสุข และเจอสิ่งที่ชอบ

สมมติเด็กอยากเรียนบัญชีแต่บวกลบเลขไม่เป็น ตัดสินไปแล้วว่าเขาบวกลบไม่เป็น ทำไม่ได้ ไม่มีสิทธิ์เรียนบัญชี แต่การศึกษาก็ไม่ได้สอนให้เขาบวกลบเลขให้เป็น เพื่อจะได้เป็นนักบัญชีตามที่เด็กต้องการ ผมคิดว่าการที่เราช่วยให้เด็กเข้าใจเพื่อมีพื้นฐานที่แน่นพอก่อนที่เขาจะไปสู่ขั้นต่อไปมันเป็นสิ่งสำคัญ

คุณตี๋มีความมุ่งมั่นจะเข้ามหิดลวิทยานุสรณ์มากแค่ไหนและเพราะอะไร 

เราเต็มที่มาก ตั้งใจอ่านหนังสือมาก เพราะตอนม.ต้นเรียนพิเศษน้อยมาก แต่ก็ไปเรียนตามเพื่อน เพราะเพื่อนชวน ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือว่าเราอยากแข่งขัน หรือเราอยากประสบความสำเร็จมากจนอยากเรียนพิเศษ แต่เพราะเพื่อนชวนหรือพี่ชายชวนก็เลยตามเขาไป

แต่การได้ไปเรียนพิเศษมันก็มีครูที่เขาค่อนข้างรู้ว่าข้อสอบจะเป็นแนวไหน และเขาก็เชี่ยวชาญ เลยคิดว่าส่วนหนึ่งที่สอบผ่านได้ก็เพราะว่าไปเรียนพิเศษมา

แล้วเรียนในห้องเรียนปกติไม่ได้ช่วยหรือ

ผมว่ามันมาช่วยๆ กัน จำได้ว่าตั้งแต่ชั้นประถม ผมได้ครูสอนเลขที่ดีมากแล้วเขาเป็นคนที่เก่งเลขมาก เหมือนเราได้ครูส่วนตัว ทำให้ผมไม่มีปัญหากับเลขเลย ต่อให้คิดว่าไม่เรียนพิเศษก็คิดว่าการเรียนเลขสบาย แต่วิทยาศาสตร์ค่อนข้างยากเพราะเรื่องต่างๆ ของวิทยาศาสตร์มันเยอะมีหลายเรื่องมาก

นอกจากหมวดคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ชอบวิชาอื่นไหม

ผมจำได้ว่าผมชอบประวัติศาสตร์นะ รู้สึกว่ามันสนุกดี จริงๆ มันเริ่มชัดว่าชอบอะไรตอนม.ต้น ผมชอบอ่านนิยาย ผมชอบเรื่องราว จำได้ว่าตอนนั้นอยากหาอะไรผ่อนคลายแล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งได้ดูละครแล้วชอบมาก ฉายในทีวีทุกอาทิตย์แต่เรารอไม่ไหว ดูจบตอนหนึ่งอยากรู้เรื่องต่อเลยไปยืมหนังสือห้องสมุดมาอ่าน

แล้วหลังจากนั้นก็ชอบอ่านนิยายพวกหนังสือนอกเวลา เลยรู้สึกว่าชอบวิชาภาษาไทย แล้วก็ประวัติศาสตร์ก็รู้สึกว่าโอเคดูสนุก โดยรวมในเส้นทางผมคือชอบอ่านหนังสือ ส่วนในตอนเด็กเกลียดพละมาก ไม่ถนัดเลย ไม่ชอบกีฬา แต่ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว รู้สึกว่าชอบกีฬามากขึ้น

แล้วตอนเด็กตั้งเป้าไว้ไหมว่าอยากเป็นอะไร

มีเยอะแล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วย อาชีพแรกสุดที่อยากเป็นตั้งแต่จำความได้คือครูสอนคณิตศาสตร์ 

เพราะว่าเจอครูดีหรือเปล่า

ใช่ รู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากทำอาชีพนี้ ต่อมาคือนักบินอวกาศ สมัยเด็กผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เขาจะคอยมาเล่าให้ผมฟังว่า เฮ้ย อันนี้มันน่าสนใจมากเลยนะ มีเครื่องมือ มียานอวกาศ เราก็รู้สึกว่ามันเท่ดี หลังจากนั้นพอมาอยู่มหิดลวิทยานุสรณ์เราเลยรู้สึกว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์

ณ ปลายทางก็มีความรู้สึกว่าอยากเป็นนักเขียนด้วย มีหลายอย่างจริงๆ แต่ที่ยังรู้สึกตลอดมาคืออยากเป็นครู เพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราตลอดไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม รู้สึกว่าการที่เราได้ให้ความรู้หรือได้ช่วยให้คนหนึ่งคนเจอสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขมันยังเป็นสิ่งที่ทำให้มันอยู่กับเรา

ถ้าได้เป็นครูสอนคณิตศาสตร์แล้วมีเด็กคนหนึ่งไม่เก่งเลขเลยแต่ชอบวิชานี้มาก คุณตี๋จะสอนเขาอย่างไร

ผมคิดว่ามันต้องเริ่มต้นด้วยการบอกเด็กคนนั้นว่าแต่ละคนอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน สิ่งสำคัญคือต้องเชื่อว่าเราทำได้ อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อย ถ้าชอบให้ฝึกฝน ตั้งใจกับมันก็จะเก่งขึ้นเอง ต้องพยายามมากขึ้น

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ‘ความชอบ’ กับ ‘ความเก่ง’ ไปด้วยกันได้ไหม

แน่นอนครับ ยกตัวอย่างเช่น เราพูดเรื่องความเก่ง แล้วความเก่งมันคืออะไร มันคือการที่ต้องเทียบกับคนอื่นหรือเปล่าถึงจะเป็นความเก่ง หรือเรามองว่าความเก่งคือการที่เราสามารถพัฒนาทักษะหรือความสามารถของเราได้มากขึ้น ถ้าสมมติว่ามันเป็นอย่างแรก เราคงต้องค้นหาความหมายในชีวิตหรือความสุขในชีวิตที่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราบอกว่าความเก่งในที่นี้คือการที่เราสามารถพัฒนาตัวเราได้ เชื่อว่าชีวิตของเราเกิดมามันจะมีคุณค่าที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ก็โอเค 

ผมเชื่อว่า โดยพื้นฐานชีวิตมันมีทั้งความชอบและมันมีทั้งความเก่งของเราอยู่แล้ว มันเลยไม่ต้องมานั่งเลือกว่า อะไรดีกว่าหรืออะไรสำคัญกว่าเพราะว่ามันมีรากเดียวกันคือการที่เราเชื่อว่าชีวิตของเรามันมีความหมายและมีคุณค่าอยู่ในนั้น เราแค่ทำให้มันงอกเงยขึ้นมาแค่นั้นเอง

ด้วยความชอบและอยากเป็นครู คุณตี๋มองตัวเองเป็นครูแบบไหน

ผมอยากเป็นครูที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้

เป้าหมายอย่างหนึ่งคืออยากสร้างโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้ทดลองและค้นหาตัวเอง เพราะชีวิตผมมาไกลแล้ว และมีความสุขมากพอที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครได้ ถ้าเด็กอยากเป็นตำรวจก็พาไปเรียนรู้ว่าวันหนึ่งตำรวจเขาทำอะไร จริงๆ ผมอยากสร้างสถานที่แบบนี้ มันอาจจะไม่ใช่โรงเรียนแต่เป็นที่ที่ให้คนได้ลองค้นหาตัวเองว่าเขาชอบอะไร แล้วก็ผมคิดว่ามันน่าสนุกที่จะทำ

สร้างโรงเรียนที่ไหน?

ผมอยากลองทำทั้งที่ไทยและอเมริกา แค่มีความรู้สึกว่าอันนี้มันจะเป็นอะไรที่น่าจะสร้างแรงบันดาลใจได้

การได้ทุนโอลิมปิกวิชาการ ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดไหม

ตอนได้เหรียญก็ดีใจนะที่เราก็ทำได้ ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ทำให้คนที่อุตส่าห์สอนเรามาหรือทำให้คนที่สนับสนุนเราภูมิใจ มันเป็นความรู้สึกที่ดี แต่มันก็ไม่ได้แบบว่า โอ้โห นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต ไม่ขนาดนั้น

ถ้าตามสัญญา คุณตี๋ต้องกลับมาทำงานใช้ทุนกี่ปี

10 ปีครับ เทียบกับเวลาที่เรียนไปคือใช้เวลาเรียน 11 ปี ใช้ทุน 10 ปี

แล้วเพราะอะไรอดีตนักเรียนโอลิมปิกถึงเลือกตัดสินใจที่จะใช้เงินคืนทุนทั้งหมดและไม่กลับมาทำงานที่เมืองไทย

ผมเป็นคนใช้ทุน ผมไม่ควรจะไปพูดให้คนอื่นไม่อยากรับทุน แต่ส่วนหนึ่งผมคิดว่ามันควรจะแฟร์กว่านี้คือ การตัดสินใจเลือกรับทุนมันเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับเด็กม.ปลายคนหนึ่งจะเลือกเพราะว่าชีวิตต้องวางแผนล่วงหน้าถึง 10 ปี 

แล้วภาระที่จะต้องใช้ทุนมันหนักมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ค่อนข้างยุติธรรมสำหรับเด็ก ผมคิดว่าควรจะมีข้อมูลทั้งสองฝั่ง ไม่ใช่แค่การรับทุนเป็นสิ่งที่สวยหรูหรือมีเกียรติ มันได้เงิน แต่ควรจะมีอีกฝั่งที่บอกว่า มานี่มันลำบากนะ ถ้ามันมีสองเสียงให้ฟังผมคิดว่าดีกว่า

แล้วสังคมไทยกับสังคมอเมริกาต่างกัน สังคมอเมริกาเป็น individualistic หรือปัจเจกนิยม ฉันดูแลชีวิตของฉันเอง ฉันเคารพความคิดเห็น เคารพความรู้สึกของคุณแต่นี่คือสิ่งที่ฉันเลือก อันนั้นคือความเป็นตัวตนของอเมริกัน ขณะที่ความเป็นไทยจะมีความ collective หรือรวมกลุ่ม/รวมหมู่ คือเราควรจะคิดถึงกัน เราควรจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและเราไม่ควรจะขัดแย้งกัน ซึ่งทั้งสองแบบมันมีข้อดีข้อเสียอยู่แล้ว ยิ่งในสภาวะการเมืองที่ไทยด้วย ผมเลยคิดว่า มันยิ่งทำให้เห็นความแตกต่าง

สมมติว่าถ้าเราเข้ามาปุ๊บเราต้องคิดแบบเดียวกับผู้นำของประเทศ ต้องคิดแบบเดียวกับคนที่อยู่มาก่อน มันก็ทำให้คนที่อยู่ที่นี่ (อเมริกา) รู้สึกว่าการอยู่เมืองไทยมันไม่ใช่ หลายคนจึงสมัครใจไม่กลับไป 

คิดนานไหมกว่าที่จะตัดสินใจเลือกใช้เงินคืนแทน

คิดนานนะ พูดตามตรงตอนแรกผมไม่มีความคิดอยากอยู่อเมริกาเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากการมาที่นี่ทำให้ผมคิดได้ว่าประเทศมันเล็กเมื่อเทียบกับโลก ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างคุณค่าให้กับคนอื่นคือความสุขไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม มันอาจจะไม่ใช่การกระทำที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าการใช้ทุนมันแฟร์นะ ผมไม่หนี รัฐบาลก็มีทุนเพิ่มไปให้นักเรียนคนอื่น ผมก็โอเค มันเป็นสัญญาที่เราตกลงกันไว้แล้ว

อีกหนึ่งสาเหตุที่ผมอยากอยู่ คือผมเชื่อว่าอยู่ที่นี่ผมสร้างคุณค่าได้ และผมช่วยคนอื่นได้ ผมมีความฝันที่อยากทำ ที่ผมเริ่มเจอแล้วเริ่มโผล่มาเรื่อยๆ แล้วมันมีโอกาส มีคนที่สนับสนุนมีคนที่เชื่อเหมือนกัน 

อะไรที่ทำให้รู้สึกว่าสามารถสร้างคุณค่าในตัวเอง สร้างโอกาสให้คนอื่นมันง่ายกว่าเมื่ออยู่ในอเมริกา

ถ้าผมอยากเป็นนักบินอวกาศ อยู่ไทยมันเป็นไปไม่ได้เลย แต่อยู่นี่มันทำได้ มันไม่ใช่เรื่องของตรรกะว่าเราต้องอยู่ที่นี่หรือสร้างคุณค่าได้ง่ายกว่าเมื่ออยู่ที่อเมริกา สำหรับผมมันเป็นเรื่องความรู้สึกมากกว่า

“มันสมองของประเทศก็น่าจะกลับมาบริหารหรือช่วยประเทศสิ” รู้สึกอย่างไรกับประโยคนี้

ผมไม่เชื่อเรื่องนั้น ผมมีความรู้สึกว่าถ้าผมจะเป็นหนี้บุญคุณใคร ผมควรจะเป็นหนี้บุญคุณกับโลกทั้งใบ ไม่ใช่การเป็นหนี้บุญคุณที่จำกัดเฉพาะที่ เพราะฉะนั้น ในมุมที่แคบ ผมอาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย แต่ผมตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่ผมทำเกิดประโยชน์กับมนุษยชาติ เราช่วยให้คนคนหนึ่งมีความสุขได้ เราทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ แล้วตอนนี้ถ้าถามว่าผมสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นไหม ผมตอบได้เต็มปากเลยว่า ผมทำได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามันโอเคแล้ว ต่อให้สิ่งนั้นมันไม่ได้เรียกว่าประเทศไทย ไม่เป็นไร


Writer

Avatar photo

สุภาพรรณ ฤทธิยา

หายใจเข้าเพลง k-indie หายใจออกซีรี่ย์ อนิเมะ นิสิตฝึกเขียนเอกวารสารฯ ที่ตอนนี้กำลังสนุกกับการเรียนรู้โลกกว้างก่อนเรียนจบ

Illustrator

Avatar photo

กมลชนก แก้วก่า

นักศึกษาฝึกงาน graphic design ชอบฟังพอดแคสต์ มีความฝันอยากเลี้ยงแมวส้ม

Related Posts