‘ครูมอส’ อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี

อย่าระบายสีด้วยความรู้สึกผิดตลอดเวลา ‘ศิลปะ’ จะพาไปค้นหาตัวเอง

ส้มกลมๆ หนึ่งลูกถูกวางไว้ริมหน้าต่างห้องเรียน – นี่อาจเป็นโจทย์ชั่วโมงศิลปะของเด็กๆ หลายคน เพื่อฝึกฝนการลากเส้น แรเงา ให้เหมือนผลจริงมากที่สุด

แต่ศิลปะในแบบของ ครูมอส-อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกร ศิลปิน นักบำบัดศิลปะมนุษยปรัชญา และครูใหญ่แห่ง ‘โรงเรียนในภูเขา’ จะให้เด็กๆ เริ่มต้นวาดด้วย ‘กลิ่น’ ไม่ใช่โจทย์

วาดด้วยกลิ่น วาดอย่างไร?

“มันคือสีที่อยู่รอบๆ ดอกไม้ แสงที่อยู่รอบๆ ดอกไม้ บรรยากาศหรือว่าลมที่อยู่รอบๆ ดอกไม้ แล้วค่อยดึงดอกไม้ออกมา มันจะทำงานตรงกันข้ามกับวิธีการวาดแบบเดิม ด้วยวิธีนี้เราวาดบรรยากาศก่อน คำว่าบรรยากาศมันอบอวลไปด้วย ลมพัด สีสัน มีกลิ่นหอมของดอกไม้ ซึ่งคือสีในความหมายที่ผมกำลังอธิบายอยู่ เด็กจะไม่ยึดติดกับฟอร์มหรือรูปทรง”

หากการยึดติดกับฟอร์มหรือรูปทรง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเด็กๆ มีความสุขกับศิลปะแบบนั้น แต่จะผิดมากกว่าถ้าศิลปะที่ว่านั้นมีคำว่าผิด-ถูก และนำคะแนนมาเป็นตัวตัดสินคุณค่า

นั่นทำให้เด็กหลายคนวนอยู่กับการพยายามจะถูก จนลืมถามตัวเองว่า ชอบอะไร หรือ อยากเป็นอะไร โดยเฉพาะกับวัยรุ่นที่เริ่มเจอทางแยกสำคัญของชีวิต

แต่ศิลปะจะพาเด็กๆ ที่หลงวนอยู่ในความรู้สึกผิดตลอดเวลา ออกมาค้นหาตัวเองได้

หาทางออกจากความพยายามจะถูก

โจทย์ที่โยนมา ไม่ต่างอะไรกับการเริ่มต้นวาดด้วยดินสอ จนลากเส้นไปปิดกั้นความอิสระ

“แต่การที่เราใช้สีหรือพู่กัน ขึ้นภาพโดยที่ไม่ต้องล็อคขอบเขต เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เด็กออกนอกกรอบ และไม่ต้องใช้ยางลบตั้งแต่แรก”

ครูมอสอธิบายว่า การระบายสี หรือการทำงานศิลปะที่สม่ำเสมอ คือ การออกกำลังกาย แต่เป็นการออกกำลังกายทางจิตวิญญาณ หรือ soul exercise

แล้ว soul exercise สำคัญอย่างไร

“เวลาเราระบายสีบนกระดาษ มันก็จะมี “โอ๊ย รูปมันแน่นแล้ว” “เอ๊ะ ผมว่ามันโล่งไปหรือเปล่า” เราไม่เคยได้ชั่งตวงวัดเลยว่าอันนี้น้อย อันนี้มาก นี่ไม่ใช่วิชาคณิตศาสตร์ เอาไม้บรรทัดมาวัดไม่ได้ว่าจะต้องมีตรงนี้อีก 3 เซนติเมตร รูปถึงจะเต็ม มันจะต้องอาศัยการชั่งตวงวัดทางจิตใจเท่านั้น การกะมันเป็นพื้นที่นึงที่เราไม่ค่อยพูดถึง จนไม่รู้ว่า ‘พอดี’ คืออะไร”

พอหาคำว่าพอดีของตัวเองไม่เจอ เด็กหลายคนจึงอยู่กับการพยายามจะถูก นั่นหมายถึง เขารู้สึกว่าเขาผิดแล้ว และผิดอยู่ตลอดเวลา

พอคำว่าผิดติดอยู่ในสมองตัวโตๆ มันจึงไม่เหลือพื้นที่ (space) ให้รู้สึกอิสระพอที่จะค้นพบตัวเอง

“การที่เด็กมีสเปซกับข้างในตัวเอง นั่นจะทำให้เขามีพื้นที่พินิจพิจารณาและใคร่ครวญ”

เปรียบเทียบกับเด็กๆ ในช่วงมัธยมปลาย ที่โดนโจทย์ต่างๆ ขโมยพื้นที่ ฉวยเวลาที่ควรจะใช้สำหรับฝึกฝนด้านจิตใจไปเสียหมด

“บางประเทศ ม.6 ให้ gap year 1 ปี ไปเป็นอาสาสมัคร ตามที่ต่างๆ เช่น สถานสังคมสงเคราะห์ ในบ้านพักคนชรา ผมว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้เห็นโลกตามความเป็นจริง ได้เห็นสายตาของคนที่ทุกข์ยาก ได้เห็นสายตาของการทำงานร่วมกัน ได้เห็นถึงการทำงานว่าจะต้องมีปลายทางอย่างไร”

แต่ก่อนจะถึงปลายทาง เด็กบางคนอาจจะได้แผลมาระหว่างทาง บางคนอาจถูกกรีดลึกด้วยคำว่า “วาดไม่สวย” มาตั้งแต่เล็ก

หรือคะแนน 3/10 ที่วงกลมอยู่บนหัวหรือท้ายกระดาษ เหล่านี้คือแผลระหว่างทางของการเรียนรู้ศิลปะ

“เราไม่สามารถให้คะแนนทางศิลปะด้วยการใช้สายตาของคนคนเดียว เด็กมีอะไรตั้งหลายอย่างที่ทำได้และยังทำไม่ได้ในรูป สิ่งที่เขาอาจทำได้คือท้องฟ้าที่สวยมาก แต่ที่เขายังทำไม่ได้คือการวาดรูปคนที่สมบูรณ์ เพราะมือมันแข็งแรงไม่เท่ากัน”

การเรียนรู้ศิลปะที่ผ่านมา จึงอยู่บนเส้นทางที่ไม่ควรจะเรียนรู้ ประสบการณ์การเป็นนักศิลปะบำบัดในโรงพยาบาลมานานกว่า 10 ปี ทำให้ครูมอสกลับมาถามตัวเองว่า เราจะรอเป็น ‘ผู้แก้ไข’ ที่ปลายทางแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน

“ทำไมเราไม่ใช้ศิลปะในการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง และทำให้เด็กที่อยู่กับคำว่าผิดและถูกมาตลอดชีวิต ก้าวข้ามกำแพงนี้ได้”

ศิลปะจะพากลับมา

ศิลปะจะพาเด็กๆ กลับมาค้นพบตัวเองได้อย่างไร?

“การที่เด็กคนนึงได้ทำงานศิลปะกับตัวเอง หรือการที่ศิลปินคนนึงได้ทำงานศิลปะกับตัวเอง เป็นเรื่องเดียวกัน เด็กใช้สิ่งที่เราเรียกว่าเจตจำนง หรือ willing ในการทำศิลปะ ถ้าผมมีกระดาษวาดรูปอยู่ตรงหน้า เด็กไม่ต้องคิดเลย เด็กวาดไปแล้ว มันตอบสนองด้วยการลงมือทำ นี่คือเจตจำนง”

ต่างจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะถามก่อนว่า จะให้วาดอะไร ครูมีโจทย์ไหม เป็นอย่างนี้กันทั้งโลก ครูมอสยืนยัน

“เด็กใน 7 ปีแรก จะทำงานศิลปะจากฐาน willing เด็กเคลื่อนไหวทั้งมือและเท้า ไม่ต่างกับพู่กันและแปรง เคลื่อนไหวแบบไม่มี direction ด้วย ฉะนั้นภาพวาดของเด็กจึงเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น การลงมือทำ ไม่ต้องคิด เด็กไม่ใช้ความคิด แล้วก็ไม่ได้ใช้ความจำด้วย”

ตามพัฒนาการของเด็กวัย 7-14 ปี จะไวกับความรู้สึก มีสีมาเป็นองค์ประกอบเยอะ ธรรมชาติรอบตัวเด็ก ทุ่งนาป่าเขา บ้าน เรื่องราวต่างๆ จึงเข้ามาในภาพวาดของเด็กผ่านสี

“พอเด็กอายุ 14 ก็จะเป็นเรื่องของความคิด เพราะฉะนั้นเด็กในวัย 14 ก็ต้องมีคอนเซ็ปต์ ต้องมีโจทย์เยอะ เพราะว่าใช้ความคิดในการทำงานเยอะ”

เมื่อวิชาศิลปะที่ผ่านมาทำให้เด็กมุ่งมั่นพยายามจะถูก ครูมอสบอกว่าก็ต้องใช้ศิลปะมาเป็นตัวละลายความผิดถูกเหล่านั้นออกไป

“เราละลายเขาก่อนด้วยศิลปะ ด้วยการระบายสี โดยที่เขายังไม่ต้องคิดเป็นฟอร์ม” รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาการศึกษา ผู้ก่อตั้งการศึกษาแนววอลดอร์ฟ แนะนำว่า การที่เราไม่ต้องร่างภาพก่อน จะสื่อถึงความรู้สึกของการไม่ต้องรู้สึกว่าผิดหรือถูกตั้งแต่แรก

นอกจากการใช้สีและพู่กันขึ้นภาพโดยไม่ต้องล็อคขอบเขตแล้ว การจูงมือพาเด็กก้าวพ้นความผิดถูก ครูมอสจะใช้วิธีพาทำ มีขั้นตอน มีระบบ แต่ช้า เด็กๆ จะได้เดินตามครูได้

“ยกตัวอย่าง เวลาเราปั้นสัตว์ ผมว่าส่วนใหญ่ปั้นแยก ปั้นขามาแปะก้อนดิน ปั้นหัวมาแปะก้อนดิน แต่วิธีการที่เราทำ คือ ใช้ดินก้อนเดียว แล้วดึงขาดึงศีรษะ ออกมาจากก้อนดินนั้น แล้วเด็กจะหารูปทรงเจอ มันจึงไม่ใช่ว่า อยู่ดีๆ ศีรษะก็ลอยมาจากไหน หางหรือครีบ ทุกอย่างต้องมาจากเนื้อเดียวกัน มนุษย์ก็เช่นกัน”

หรือถ้าจะวาดต้นไม้สักต้น ครูมอสจะเริ่มวาดจากดิน ราก ขึ้นไปเป็นลำต้น แตกเป็นกิ่ง ก้าน และยอดไม้

“เราเอากระบวนการธรรมชาติมาใช้ในศิลปะด้วย เพราะต้นไม้เกิดจากรากจริงๆ มันถึงจะกลายเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง ฉะนั้นเวลาเด็กวาดจากล่างสู่บน จะให้ความรู้สึก secure (มั่นคง) ในจิตใจมาก”

เพราะต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการ upright คล้ายกับเด็ก ถ้าเขารู้สึกกังวล ห่อเหี่ยว เขาก็จะไม่สามารถ upright ได้

upright ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแสดงความโดดเด่นออกมาหน้าชั้น

“แต่เขาจะต้องยืนได้ในโลก” ครูมอสเฉลย

ฉะนั้นในกระดาษ 1 แผ่นจึงไม่ได้มีเพียงต้นไม้สูงเด่น แต่มีบรรยากาศระบายอยู่เต็มไปหมด

“เด็กจะหายใจได้ดีขึ้น เด็กจะใส่สี มันมีวิธีการระบายอยู่ เราจึงไม่ได้วาดอะไรเป็นกรอบแล้วมาลงสีตามช่อง”

นี่คือกระบวนการศิลปะที่พาไปสู่คำว่าอิสรภาพ และเป็นอิสรภาพข้างในที่นำไปสู่หลายอย่างในชีวิต หนึ่งในนั้นคือการค้นหาตัวเอง

“เราเคารพเด็กให้เด็กไม่ตีกรอบตัวเอง ครูกับคุณแม่คุณพ่อหลายบ้านไม่มีสเปซให้เด็ก ปัญหาหลายอย่างเกิดเพราะว่ามันใกล้กันเกินไป คือไม่มีสเปซ แม้กระทั่งการทำงานศิลปะ เด็กไม่เคยมีสเปซเลยว่า นี่คือพื้นที่ของเขา เหมือนกับนี่คืออากาศของเขาที่เขาอยากจะหายใจกับสิ่งต่างๆ”

มี ‘สเปซ’ ที่โรงเรียนในภูเขา

การให้พื้นที่หรือ space ของศิลปะจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เด็กๆ กลับมาค้นหาและเจอตัวเอง ผ่านสเปซที่กว้างและจับต้องได้จริงใน ‘โรงเรียนในภูเขา’ อำเภอชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้แนวทาง Transitional Artistic School

ครูมอสรับหน้าที่เป็นครูใหญ่ ของเด็กๆ วัย 10-15 ปี ที่หลายคนอาจมาพร้อมกับความว่าง

“คำว่าว่างในทีนี้หมายถึงไม่รู้จะไปยังไงต่อ คือ lost มีบางสิ่งหายไปจากชีวิตของเขา”

ผลลัพธ์จากความว่างหรือ lost คือการเสียสมดุลของเด็กๆ

“ในมนุษยปรัชญาเราสามารถเข้าใจได้ว่าภาวะแบบนี้เกิดขึ้นจากการที่มีอะไรหายไป หรือจุดไหนเสียสมดุล เพราะฉะนั้นถ้า sense of touch ของเด็กเสียสมดุลไป เขาจะไม่ trust ใครอีกเลย แม้แต่แม่ เพื่อน หน้าที่ของเราคือเรียก trust กลับมา แต่ไม่ใช่การบอกว่าขอให้หนูเชื่อใจครู มันเป็นไปไม่ได้”

ปีที่ 3 ของโรงเรียนในภูเขา ไม่ได้ใช้แค่การระบายสี (painting) เรียก trust ของเด็กกลับคืนมา แต่ยังมีศิลปะแขนงอื่นร่วมแรงกัน เช่น วิชาการเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า ยูริธมี (Eurythmy), The Storytelling, วิชา The Art in Nature รวมถึงการร้องเพลงและเครื่องดนตรี ทั้งหมดคือการดึงเอาศิลปะต่างสายมาช่วยกันดูแลเด็กๆ

“เช่น เด็กคนนึงที่ไม่ trust ใครเลย เราอาจจะต้องปั้นดินขึ้นมาฟอร์มนึง แล้วค่อยๆ เปิดดินนั้นให้กว้างขึ้น ให้เหมือนกับถ้ำ แล้วเอาสัตว์บางชนิดกลับเข้าไปอาศัยในถ้ำนั้นได้ ไม่ใช่สัตว์ตัวนั้นตัวเดียว อาจจะเป็นแม่ของสัตว์ตัวนั้น เพื่อนของสัตว์ตัวนั้น ความเป็นถ้ำทั้งหมดก็คือการโอบตัวเขาอีกทีหนึ่ง”

สีกับฟอร์มจะทำงานกับ ความตระหนักรู้ (awareness) ของเด็กโดยธรรมชาติ

“ถ้าเด็กคนนี้ระบายสีโค้งฟ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นโค้งเว้า เด็กที่ได้รับการโค้งเว้าในภาพ ภาพนั้นจะกลับเข้าไปในใจเด็ก เด็กจะได้รับความโอบอุ้ม”

ฟังดูยาก แต่ครูมอสค่อยๆ อธิบายว่า การโค้งเว้าสื่อถึงความรู้สึกกลับเข้ามาข้างในตัวเองอีกครั้งหนึ่ง นี่คือพลังของศิลปะที่ต้องผ่านการลงมือทำ แล้วจะกลับมาสู่ข้างในเนื้อตัวเด็ก เด็กจะสงบขึ้น รู้ตัวมากขึ้น

“ไม่ใช่แค่การระบายสี ถ้าเด็กได้ไปเดินป่า ทุกก้าว ทุกการเคลื่อนไหวจะมี awareness ว่าเขาจะก้าวยังไงต่อ อีกกี่ก้าวจะถึงเพื่อนคนหน้า อีกกี่ก้าวจะเข้าไปในสเปซเพื่อน ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสเปซตัวเอง เป็นการชั่งตวงวัดอย่างหนึ่ง”

พ่อแม่สร้างสเปซให้ลูกได้

เป็นเรื่องจริงที่ว่า ครูมอสไม่สามารถสอนเด็กทุกคนได้ แต่พ่อแม่และคนในครอบครัว ช่วยได้ ด้วยการเข้าใจและเชื่อในคำว่า ‘เด็กตามธรรมชาติ’ จริงๆ

“เราจะต้องรอได้ แต่เราไม่ค่อยรอกัน เรารอต้นไม้โตไม่ได้ เราก็ไปซื้อต้นไม้ที่โตแล้วมาปลูก ลำดับแรกอยากให้พ่อแม่หนักแน่นกับตัวเอง และไม่ต้องเปรียบเทียบ มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นรายบุคคล ลำดับสอง เมื่อเชื่อในวิถีทางเด็กอย่างธรรมชาติ และความเป็นศิลปะแล้ว ขอให้มีสเปซ อันนี้สำคัญ”

สำคัญเพราะพ่อแม่ไม่ค่อยปล่อยให้ลูกมีสเปซ หลายคนอาจคิดว่าการให้ลูกอยู่ในสายตาตลอดเป็นเรื่องเล็ก แต่ไม่ใช่

“ผมเคยอบรมเรื่อง parents หลายครั้ง พบว่าสเปซเป็นสิ่งที่ปล่อยยากมาก เรามีความคาดหวังเป็นพื้นฐานของทุกครอบครัวอยู่แล้ว การทำงานศิลปะหรือทำอย่างอื่น ทุกอย่างอยู่ในสายตาคุณพ่อคุณแม่ จนเด็กรู้สึกว่าอึดอัด เพราะไม่มีสเปซ”

ไม่ใช่แค่เด็ก เวลาทำงานศิลปะทุกคนต้องมีสเปซ จะเติมนั่น โน่น นี่ ดีไหม ให้เด็กได้ลองทำอย่างปลอดภัย ไร้ถูกผิด ถ้าเขาไม่มั่นใจจริงๆ ถึงจะหันมาถาม

ถ้าเป็นครูมอส จะไม่ตอบว่าเติมอะไร เข้าไปเท่าไหร่ แต่จะฝึกให้หาว่าสเปซที่เหลือ ทำอะไรได้อีกบ้าง – พ่อแม่ก็ทำได้เช่นกัน

ในทางปฏิบัติ พ่อแม่ลองปล่อยให้ลูกอยู่กับกระดาษ 1 แผ่น สี 1 กล่อง ครูมอสแนะนำให้หามุมๆ หนึ่งในบ้านที่มีตู้และอุปกรณ์ศิลปะอยู่ตรงนั้น

“เด็กสามารถรู้ว่าหยิบจากตรงนี้ ชั้นนี้เป็นอุปกรณ์อะไร จานสี ขวดแก้ว พู่กันอยู่ตรงไหน ตัดยังไงเวลาเก็บ แรกสุดคุณแม่อาจจะพาทำ หรือทำไปด้วยกัน ถ้าเด็กเลียนแบบแล้วทำตาม เช่น คุณพ่อคุณแม่ทำปุ๊บก็ล้างเก็บ ผมเชื่อว่าพรุ่งนี้เวลาเดิม เด็กจะอยู่ตรงนั้น”

ถ้าอยากให้บ้านเรียบร้อย พ่อแม่ต้องยอมเก็บบ้าน เก็บข้าวของทุกอย่างเข้าที่เดิมของมัน

“เป็นสิ่งที่ทุกคนเอาไปใช้ได้จริง พอเด็กทำงานเสร็จแล้วเขาจำได้ว่าเมื่อวานแม่พาเก็บแบบนี้ เขาก็จะไปล้างตรงนั้นแล้วก็เอามาคว่ำ ถ้ามันยังไม่คลีนถึงกับเพอร์เฟ็คต์ ก็อาจจะ เอ้า…มาเช็ดด้วยกันอีกสักนิดนึง เพื่อให้พู่กันแห้ง แก้วแห้ง”

ข้ามไปอีกขั้น ขณะที่เด็กทำงาน บางบ้านเด็กอาจจะขอให้แม่นั่งใกล้ๆ แม่วาดด้วย แต่ถ้าเขาไม่ได้ขอ พ่อแม่คือผู้เฝ้ามอง (observer) ปล่อยให้เขาได้ทำงานอย่างอิสระ

“นักบำบัดส่วนใหญ่จะไม่ค่อยถามไปที่ภาพเยอะมาก จะไม่ค่อยหาความหมายเยอะ เพราะเราดูสิ่งที่ทำไปหมดแล้ว และเราเข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นคืออะไร แต่ส่วนหนึ่งพ่อแม่อาจจะไม่ได้สังเกตสิ่งที่ทำ เลยไม่รู้ว่าทำอะไร เลยไปถามว่าลูกวาดอะไร”

ถ้าพ่อแม่เฝ้ามองตลอด และเห็นว่าลูกวาดรูประบายสีอย่างมีความสุข เขาจะไม่ลืมเลยว่าล้างเช็ดพู่กันอย่างไร ข้อนี้ครูมอสยืนยัน

“ถามว่าเด็กได้อะไร เด็กได้ระเบียบ ได้ระบบ ได้ความสะอาด ได้ความสงบ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้มองเลย… มันคืออะไรหนู อธิบายให้แม่ฟังหน่อย ทำไมไม่มีตรงนี้ อันนี้คือสิ่งที่ไม่แนะนำ (ยิ้ม)”

หรือถ้าจะถามสักหน่อย ครูมอสแนะนำให้ชวนคุยว่า

“ไหนมีอะไรเล่าให้แม่ฟังหน่อย เด็กคนนี้มีเลยนะ หรือเด็กบางคนก็เล่าตั้งแต่ตอนระบายสี ขึ้นอยู่กับลักษณะของเด็กแต่ละคน แต่อย่างหนึ่งที่เราไม่ทำเลยคือ เด็กวาดรูปเสร็จแล้วให้ออกไปพรีเซนต์หน้าห้อง เพราะสิ่งสำคัญคือว่าเด็กได้รับความสงบ และได้รับกระบวนการเรียบร้อยแล้ว”

แล้วถ้าเปลี่ยนพู่กันเป็นปากกาอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษเป็นแทบเล็ต พอจะทดแทนกันได้ไหม

“ถ้าเราให้ความสำคัญเรื่องผัสสะอันละเอียดอ่อนที่ทำงานกับเด็กเล็ก จะพบว่าพลังแสง สี ในธรรมชาติล้วนเป็นสิ่งบำรุงให้กับสายตา ความมีชีวิตชีวา ความสงบ และความนุ่มนวลที่เกิดขึ้นกับจิตวิญญาณในวินาทีนั้นได้ทันที ซึ่งในแง่คอมพิวเตอร์เป็นกระแสเทคโนโลยีที่ส่งมาได้ แต่คนละการทำงานกับกระบวนการบนกระดาษเบื้องหน้าที่ให้ ‘ความรู้สึกสัมผัสจริง’ ”

เหมือนที่เราเรียนศิลปะผ่าน online กัน เราจะค้นพบว่ามันอิ่มใจยากกว่า แต่ถ้าเราได้มีปฏิสัมพันธ์ทั้งผู้สอน สี ไม่ต่างจากดอกไม้จริงกับดอกไม้พลาสติก จึงอยากให้ทำงานกับธรรมชาติจริงๆ”


รับฟัง Podcast อย่าระบายสีด้วยความรู้สึกผิดตลอดเวลา ‘ศิลปะ’ จะพาไปค้นหาตัวเอง โดย ‘ครูมอส’ อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ได้ที่นี่: คลิก


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

Avatar photo

อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts