เวลานึกถึงหนังไทย หนัง 3 ประเภทที่จะผุดขึ้นในใจเป็นอันดับแรกๆ คือหนังรัก หนังตลก และหนังผี จนบางครั้งคนดูหลายคนอาจรู้สึกซ้ำซาก จำเจ และเลือกเบือนหน้าหนี
ทว่านั่นเป็นข้อยกเว้นสำหรับ เพื่อน(ไม่)สนิท หนังเรื่องใหม่ล่าสุดของค่ายหนังอารมณ์ดี gdh ที่หากดูชื่อเรื่องหรือโปสเตอร์ บางคนอาจคิดว่าเป็นหนังรักวัยมัธยมแน่นอน แต่พอได้ดูตัวอย่างเต็มแล้ว เราจึงได้รู้ว่าหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องมิตรภาพของเพื่อนและการวิ่งตามความฝันในการเป็นคนทำหนังของเด็กๆ ต่างหาก
อัตตา เหมวดี คือผู้กำกับหน้าใหม่ผู้รับบทหัวเรือใหญ่ของหนังเรื่องนี้ บางคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเขาในฐานะผู้กำกับโฆษณาและเอ็มวีดังอย่าง ดวงใจ-PALMY, ไม่รู้ทำไม-Whal & Dolph, หนึ่งเปอร์เซ็นต์-STAMP และตื่นเต้นกับการกระโดดลงมากำกับหนังยาวเรื่องแรกของเขา
เมื่อได้นั่งสนทนากัน อัตตาเปิดเผยกับเราว่าเขาตื่นเต้นไม่แพ้กัน เขาเล่าให้ฟังอีกว่า ไม่ต่างจากผู้กำกับหลายๆ คนที่เลือกเล่าเรื่องในสิ่งที่รู้จักดีและหลงใหลให้ค่า สำหรับเขา เพื่อน(ไม่)สนิทคือส่วนผสมของ 2 สิ่งสำคัญในชีวิต นั่นคือ ‘เพื่อน’ และ ‘การทำหนัง’
คอลัมน์ Becoming Me ขอใช้บรรทัดนี้เชิญชวนทุกคนมาทำความรู้จักอัตตาและเส้นทางชีวิตก่อนจะมาเป็นผู้กำกับของเขาไปพร้อมกัน รวมทั้งหาคำตอบกันว่าเพื่อนกับการทำหนังสำคัญกับเขายังไง
Musician
“ผมเป็นคนพัทยา เติบโตมาแบบเด็กธรรมดาทั่วไป และไม่ได้ชอบหรือมีความสนใจเรื่องหนังเลย ความฝันวัยประถมคืออยากเป็นนักมายากล เพราะตอนนั้นเดวิด คอปเปอร์ฟิลด์กำลังดัง แต่พอขึ้น ม.ปลาย ผมอยากเป็นนักดนตรี เลยพยายามจะตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ตอนนั้นเล่นกับ พี่ปอ-กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ ที่ตอนนี้เป็นสมาชิกวง Whal & Dolph ตำแหน่งที่ผมเล่นคือกลอง และเราตระเวนประกวดกันหลายเวที
“แต่ช่วงม.6 ผมพักความฝันเรื่องดนตรี เพราะบ้านผมไม่ได้มีตังค์ จะได้เรียนดุริยางคศิลป์มันก็แพง ตอนนั้นชอบอ่านการ์ตูน พอวาดรูปได้ เลยคิดอยากสอบเข้าคณะมัณฑศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ช่วงนั้นเลยได้มาติวสอบที่กรุงเทพฯ นั่งรถทัวร์เข้ามาวันเสาร์เช้า มาถึงก็เรียนวาดรูปทั้งวัน อาทิตย์กลางคืนนั่งรถทัวร์กลับ แต่พี่คนที่ติวผมตอนนั้นเขาชอบสาขาภาพยนตร์ที่ลาดกระบังมาก เหมือนเป็นมหาวิทยาลัยที่เขาใฝ่ฝัน เขาบอกว่าเขารู้สึกว่าผมดูเหมาะกับลาดกระบัง
“ตอนนั้นผมยังไม่เชื่อ พอสอบตรงผมก็ไปสอบมัณฑศิลป์ แล้วก็ต้องสอบอีกที่หนึ่งไว้เผื่อไม่ติด ผมเลยไปสอบลาดกระบังไว้ด้วยเพราะเปิดรับสมัครพอดี จำได้ว่านั่งรถไฟไปกลับ ตอนเดินลงมาจากตึกสอบมาเป็นช่วงเย็น จำได้ว่าแสงอาทิตย์ตอนนั้นมัน magic hour มาก แถมยังมีเครื่องบินบินผ่านใกล้ๆ ตอนนั้นก็ตัดสินใจได้ว่าจะเรียนที่นี่แหละ
“ผมติดมัณฑศิลป์แต่ก็สละสิทธิ์ แล้วมาเรียนภาพยนตร์ลาดกระบังฯ ด้วยความคิดว่าจบมาคงจะวาดสตอรีบอร์ดเป็นอาชีพได้”
Editor
“ความชื่นชอบเรื่องหนังของผมเหมือนกับคนทั่วไป ผมเคยเช่าดีวีดีจากร้านบูมเมอแรงมาดูกับพ่อ ไม่ได้ชื่นชอบหรืออยากเป็นผู้กำกับคนไหนเป็นพิเศษ
“ผมเรียนสถาปัตถ์ที่ลาดกระบัง ซึ่งมีภาควิชานิเทศศิลป์ แล้วภาพยนตร์เป็นสาขาย่อยในนั้นอีกที ผมอยากเขียนสตอรี่บอร์ดเป็นอาชีพเลยคิดว่าต้องเรียนภาพยนตร์ ช่วงปีแรกก็เรียนศิลปะทั่วไป ดรอว์อิ้ง เพนท์ติ้ง ปั้น ก่อนที่ปี 2 เทอม 2 จะได้ไปทำหนัง (หัวเราะ) พอได้ไปทำหนังก็ถ่ายเอง ถ่ายโง่ๆ แล้วตัดต่อเอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่ไปซื้อปลาทอง แล้วปลาทองตัวนี้ก็ทำให้ผู้ชายคนนี้โชคดีสลับกับโชคร้ายในแต่ละวัน ตอนนั้นผมก็เข้าใจตัวเองว่า เฮ้ย แม่งเป็นหนังว่ะ มันเจ๋งว่ะ แต่พอวันส่งงาน พอเห็นของเพื่อนๆ ก็รู้สึกว่าหนังของตัวเองห่วยแตก (หัวเราะ) แต่ไม่ได้มีใครบอกผมอย่างนั้นนะ
“ตอนนั้นเพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า กูชอบหนังมึงนะเว้ย แต่กูอยากเห็นแบบที่มันเป็นตัวมึงมากกว่า หลังจากนั้นทุกอาทิตย์ผมก็เลยทำหนังสั้นให้เพื่อนคนนี้ดู แล้วมันก็กลายเป็นเซสชั่นว่า ทำหนังสั้นส่งให้มันดู แล้วเราจะได้ไปกินเบียร์ นั่งคุยกันว่าหนังเป็นยังไง เลยกลายเป็นว่าผมสนิทกับมันมากๆ มาถึงทุกวันนี้ และปัจจุบันเพื่อนคนนี้ก็เป็นผู้กำกับเหมือนกัน
“พอเรียนจบมา ผมทำวิดีโอให้กับสำนักพิมพ์ของ พี่คุ่น-ปราบดา หยุ่น แต่ก็ยังชอบทำวิดีโอ อยากเป็นผู้กำกับอยู่นะ แค่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง เวลาเรานึกภาพผู้กำกับที่ออกกอง เขามักจะ (ตะโกนโหวกเหวก) ผมเลยรู้สึกไม่อยากไปเจอสิ่งนั้น ระหว่างนั้นก็เริ่มรับฟรีแลนซ์ตัดต่อโฆษณาจากงานเล็กๆ ก่อน พอเริ่มได้เยอะๆ ก็ออกมาเป็นฟรีแลนด์ตัดต่อวิดีโอ
©GDH
“วันหนึ่งผมไปทำวิดีโอให้กับนิตยสารหัวหนึ่ง ซึ่งเพื่อนในรุ่นทำงานอยู่ที่นั่น แล้ว พี่เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ แชร์วิดีโอนั้น ผมเลยเริ่มมีพอร์ตฯ ขึ้นมา พี่พงศ์-ฐิติพงศ์ เกิดทองทวี Hello Filmmaker เห็นเข้า เขาก็โทรหาผม ถามว่าอยากเป็นผู้กำกับไหม ยื่นข้อเสนอให้ว่าจะหางานให้ แต่ถ้าทำออกมาแล้วไม่เวิร์ก ต้องมาเป็นผู้ช่วยเขาหนึ่งปี
“ผมตอบตกลง แต่ภายหลังก็ไม่ได้งานนั้น ผมเลยทำตัดต่อมาเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมีโครงการประกวด Internet Film หนังสั้น 20 นาที ที่พี่พงศ์มาบอกข่าวเหมือนกัน ผมสมัครไปแล้วได้ทำ นั่นคือการออกกองใหญ่ครั้งแรกในชีวิต ปรากฏว่าทำเสร็จแล้วไม่ได้ออนอีก แต่พี่พงศ์เขาชอบ เขาเลยส่งหนังสั้นตัวนี้ไปที่เอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่ง ทำให้หลังจากนั้นผมได้ทำโฆษณามาเรื่อยๆ สักพักหนึ่งก็ได้ทำเอ็มวี
“คนอาจคิดว่าผมทำเอ็มวีเยอะ เพราะเห็นงานจากเพลงดังอย่าง ไม่รู้ทำไม, ดวงใจ, หนึ่งเปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆ แล้วผมทำเอ็มวีน้อยมาก ข้อดีคือพอมีเอ็มวีดัง คนในวงการเขาก็กลับไปดูว่าผมเคยทำอะไรมาบ้าง
“จนวันหนึ่ง พี่บาส-นัฐวุฒิ พูลพิริยะ ก็ทักมาว่า อยากทำหนังยาวกับ gdh ไหม”
Filmmaker
“ถ้าถามว่าทำหนังเรื่องแรกกดดันกับความคาดหวังของคนดูไหม ผมไม่ได้รู้สึกกดดันเท่ากับความกดดันที่อยากทำหนังให้มันดีที่สุด ไม่ว่าจะงานโฆษณา เอ็มวี หรือภาพยนตร์ สิ่งที่ผมตั้งไว้ในใจเสมอคืองานทุกชิ้นต้องมีความรู้สึก
“ถึงอย่างนั้น การทำโฆษณา เอ็มวี กับภาพยนตร์ก็มีความต่างกัน การทำโฆษณาหรือเอ็มวีนั้นมองภาพรวมของงานทั้งชิ้นได้ง่ายกว่า เราจะรู้ว่าถึงตอนไหนต้องพีคแล้ว แต่พอได้ทำหนัง พอทำไปเรื่อยๆ หนังจะมีชีวิตของมัน ตัวละครที่เราเขียนไว้ พอน้องๆ มาสวมบทบาทมันมีชีวิตแล้ว และบางทีการพยายามทำภาพในหัวเราให้เกิดขึ้นแบบเป๊ะๆ มันดันไม่รู้สึกเท่าที่ควร แต่ถ้าได้สำรวจกับนักแสดงไปเรื่อยๆ แล้วให้ทิศทางการกำกับใหม่ มันไม่เหมือนภาพในหัวเราแต่แรกก็จริง แต่มันได้ความรู้สึกที่เราอยากได้ ผมเพิ่งเรียนรู้จากการทำหนังเรื่องนี้ และชอบมันมากๆ จนอยากทำหนังให้เก่งเลย (หัวเราะ)
©GDH
“ตอนที่ผมรู้ว่าผมจะได้ทำหนังเรื่องแรก ผมตั้งโจทย์ให้ตัวเองเลยว่าผมจะทำหนังนักเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องมิตรภาพ เพราะผมไม่อยากแก่กว่านี้แล้วทำเรื่องนี้ (หัวเราะ) นี่อาจเป็นโค้งสุดท้ายในชีวิตที่ผมจะอินหรือยึดโยงกับประเด็นนี้ได้อยู่ หนังเรื่อง เพื่อน(ไม่)สนิท จึงเล่าเรื่องของกลุ่มเพื่อนที่ช่วยกันทำหนังส่งประกวด ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ผมเคยทำหนังให้เพื่อนคนหนึ่งดูตอนยังเรียนมหาวิทยาลัย ความรู้สึกช่วงนั้นมันดีเหมือนกัน ผมเลยอยากทำหนังที่เกี่ยวกับการทำหนัง ซึ่งการทำหนังของเด็กๆ ในเรื่องมันก็ไปเล่าอีกประเด็นหนึ่งในเรื่อง
“อีกแรงบันดาลใจคือเพื่อนคนหนึ่งที่ผมรู้จักตอน ม.3 วันหนึ่งผมกำลังจะเดินกลับบ้านตอนโรงเรียนเลิก แล้วผมเจอเพื่อนคนนี้ที่ไม่ได้อยู่ห้องเดียวกัน มันนั่งปวดขาอยู่ที่บันไดและบอกให้ผมช่วยแบกมันไปส่งขึ้นรถตู้ได้ไหม ผมก็งงว่าทำไมมันมีคนที่ไม่ได้สนิทกับเราแต่ขอให้เราแบกไปส่งที่รถตู้ (หัวเราะ) แต่มันก็ดูจริงจังมาก ผมเลยแบกมันไปส่ง และพบว่าอีกวันหนึ่งมันไม่ได้มาโรงเรียนแล้ว ครูประกาศว่าเพื่อนคนนี้เป็นอัมพฤกษ์
“แต่วันนั้นเราได้รู้จักกันแล้ว ผมเลยได้คุยกับมันใน MSN บ้าง ไปเยี่ยมมันที่บ้านบ้าง พอจบ ม.3 ปุ๊บ ครูก็ประกาศว่าเพื่อนคนนี้เสียชีวิตแล้ว ตอนนั้นผมก็งง ไม่ได้คิดว่าอัมพฤกษ์จะทำให้ตายได้ จนตอนหลังผมเพิ่งมารู้ว่าจริงๆ เพื่อนคนนี้เป็นลูคีเมีย
“เย็นวันนั้นผมก็เหมารถสองแถวไปงานศพของเพื่อนคนนี้ และในงานเขามียาพาราฯ กระปุกใหญ่แจกเป็นของชำร่วย เพราะบ้านของเขาเป็นร้านขายยา จำได้ว่าผมได้มาผมก็ตั้งยาพาราฯ กระปุกนี้ไว้กลางบ้าน ป่วยก็กิน
“เวลาผ่านมานานจนผมอายุ 27 – 28 ปี ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมพูดว่าผมทำอาชีพผู้กำกับได้เต็มปาก มีคืนหนึ่งที่ผมป่วย สั่งยาพาราฯ มากิน แล้วจู่ๆ ผมก็นึกถึงเพื่อนคนนั้น คิดสงสัยว่าถ้ามันไม่ตาย ปัจจุบันมันจะประกอบอาชีพอะไร เมียมันจะหน้าตาเป็นยังไงนะ หรือมันจะเรียนอะไร คืออาจเพราะป่วยอยู่ทำให้ผมนึกไปได้เรื่อยๆ แล้วก็คิดได้ว่า ในชีวิตเรามันมีคนที่ผ่านมาและผ่านไปในชีวิตเยอะเหมือนกันนะ เรามีคนที่เขาทิ้งอะไรไว้ในชีวิตของเราเยอะเหมือนกันนะ ผมพิมพ์ความคิดเหล่านี้เก็บไว้ในโน้ต แล้ววันที่มีโอกาสได้ทำหนัง ผมก็เอาโน้ตเหล่านี้มาทำเรื่องเพื่อน (ไม่) สนิท ซึ่งจริงๆ หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำขึ้นแด่เพื่อนคนนั้นเสียทีเดียว แต่ผมนึกถึงเพื่อนหลายคน ทั้งที่พัทยาและมหาวิทยาลัย
“ในชีวิตจริง ผมเป็นคนให้ความสำคัญกับมิตรภาพมาก ไม่ใช่ว่าผมเพื่อนเยอะนะฮะ (หัวเราะ) สำหรับผม ผมรู้สึกว่าเพื่อนของผมเป็นเพื่อนดี เป็นคนที่รู้จักตัวเราจริงๆ คุยกันเรื่องชีวิต ให้คำปรึกษาหลายๆ อย่าง และแชร์เรื่องความฝันกันได้ ในขณะเดียวกันก็คุยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ถึงเราจะโตมาจนถึงอายุ 32 แล้ว เราก็ยังคุยกันว่า เฮ้ย มึงอ่านวันพีซตอนใหม่ยังวะ พาร์ทมิตรภาพในชีวิตผมยึดโยงกับความเป็นเด็กไว้ แต่เราก็คุยกันแบบผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน
“หลังจากทำหนังเรื่องนี้จบ ผมได้เรียนรู้ว่าการทำหนังนี่มันยากเหมือนกันนะ (หัวเราะ) มากกว่านั้น ผมได้เรียนรู้เรื่องการให้พื้นที่กับคนอื่น ตอนทำงานสั้น ทุกอย่างจะถูกฟิกซ์โดยผมหมดเลย แต่พอทำหนัง มันเป็นการแชร์ความรู้สึกหรือความคิดกับทีมงานคนอื่นๆ ทุกคนทำการบ้านมาแล้วเราสำรวจไปด้วยกัน
“ผมคิดว่าในชีวิต ผมคงไม่ได้ทำหนังจำนวนเยอะมาก เพราะหนังเรื่องหนึ่งก็ใช้เวลาทำนาน การทำหนังของผมก็คงคล้ายๆ อัลบั้มเพลงหนึ่งอัลบั้ม ตอนนี้เพลงแรกในเพลย์ลิสต์คือเรื่องเพื่อน(ไม่)สนิท เพลงต่อๆ ไปจะเป็นอะไร และอัลบั้มชุดอัตตา เหมวดี จะมีเพลงอะไรบ้าง นั่นคือสิ่งที่ต้องคิดต่อ
“ระหว่างที่ผมทำหนังเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่าทั้งน้องๆ นักแสดงและทีมงานทุกคนรักบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมได้รับพลังบวกและมิตรภาพที่ดีจากทุกคน จนผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันตอบคอนเซ็ปต์ของมันแล้วสำหรับผม ส่วนคนดูที่จะไปดูในโรงภาพยนตร์ ถ้าจะคาดหวังอะไรจากมันได้ ผมคิดว่าถ้าดูเรื่องเพื่อน(ไม่สนิท)จบแล้ว ระหว่างทางเดินออกจากโรง ผมว่าพวกเขาจะแบกความรู้สึกที่ดีมากออกไปด้วยแน่ๆ
“มากกว่านั้นคือดูแล้วอาจจะนึกถึงใครสักคนในชีวิต และคุณอาจจะให้ความสำคัญกับเพื่อนและมิตรภาพมากขึ้น”