วีรพร นิติประภา

มีปัญหาปรึกษาป้าแหม่ม : แด่ผู้ป่วยซึมเศร้าและไม่เคยรู้สึกรักตัวเอง

สวัสดีค่ะป้าแหม่ม

หนู บี (ขอใช้นามสมมติง่ายๆนะคะ) 

หนูขอแนะนำตัว หนูอายุ 24 ย่าง 25 ปี ผู้ป่วยซึมเศร้าที่ถึงจะยังไม่อยากฆ่าตัวตายเพราะไม่รู้ว่าตายแล้วต้องไปไหน แต่ก็ไม่เคยรู้สึกรักตัวเองเลย แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาทำไม หนูคืออดีตนักเรียนผลการเรียนดีและอดีตนักศึกษาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองที่ได้มาด้วยเกรดเฉลี่ยสูงสุด หนูเคยมีความพยายามอย่างมากเพื่อจะเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัว แต่ทุกอย่างก็พังลงเพราะความหวังของพ่อแม่ก็เหมือนแก้วน้ำที่รั่ว เหมือนเหวที่ไม่มีก้น…มันไม่มีทางถูกเติมจนเต็ม

ใช่ค่ะ หนูจะเล่าเรื่องครอบครัวของหนูเอง

ครอบครัวหนูมีกันสามคนค่ะ หนูเอง พ่อ และแม่ ส่วนใหญ่หนูกับแม่จะไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ แม่เป็นคนที่ไม่ฟังเหตุผล ไม่ฟังคำอธิบาย ไม่ว่าเรื่องอะไรถ้าแม่บอกว่า ‘ไม่’ ทุกอย่างก็จบสิ้น การฝืนพูดต่อ หรือพยายามอธิบาย มีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง ส่วนพ่อมีหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุน (แม่) ทำให้หนูกับแม่ทะเลาะกันบ่อยๆ และทุกครั้ง คำพูดของแม่มักทำร้ายความรู้สึกและขณะเดียวกับก็ทำลายความรักที่หนูมี

“มึงมันไม่น่าเกิดมาเลย”

“เด็กเหี้ย”

“คนอย่างมึงไม่มีทางเจริญ” และอีกมากมายเท่าที่แม่จะนึกออก

สำหรับพ่อซึ่งอยู่ฝ่ายประนีประนอม ไม่พูดอะไรมากนักเพราะพ่อไม่ได้สนใจถูกผิด แต่ไปโฟกัสที่สถานะแม่ลูกมากกว่า 

“อย่าเถียงแม่สิลูก” 

“ยังไงเค้าก็เป็นแม่ เค้าด่าเพราะเค้ารัก”

“แม่ด่าก็เหมือนแม่ให้พร ถ้าคนอื่นด่าสิถึงแปลว่าเกลียด” 

การทะเลาะโต้เถียงกันแบบนี้ จะจบลงด้วยพวงมาลัยดอกมะลิเหี่ยวๆ ผอมๆ ที่พ่อไปซื้อมาให้  และการกราบกรานคลานเข่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ จนหนูเข้ามหา’ลัย

หนูเลือกไปเรียนมหา’ลัยในจังหวัดที่ไกลบ้านที่สุดเท่าที่จะไกลได้ อ่านถึงตรงนี้ป้าแหม่มคงเดาได้ว่าเพราะอะไร 🙂

4 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก ความเครียดเรื่องการเรียนและความที่หนูมักจะกดดันตัวเองอยู่เสมอ ทำให้มีโรคซึมเศร้าแอบติดกระเป๋ากลับบ้านมาด้วย อาการไม่ได้แย่อะไรมากมายจนกระทั่ง….แม่รู้ว่าหนูมีแฟนเป็น ‘ผู้หญิง’ หนูจำเรื่องวันนั้นได้ไม่มากนักเพราะหนูพยายามอย่างหนักที่จะลืม แต่ก็ยังจำได้อยู่ว่ามันรู้สึกแย่แค่ไหน และเหมือนคำพูดบางคำของแม่จะยังก้องอยู่ในหู      

“มึงมันผิดเพศ” “กูอายคนอื่นเค้า กูรับไม่ได้” 

“มึงไม่ได้เป็นเด็กมีปัญหา ครอบครัวก็อบอุ่น ทำไมมึงเป็นแบบนี้” 

ตั้งแต่วันนั้นที่ทะเลาะกันบ้านแทบแตกอาการหนูก็แย่ลง หนูไม่เคยนอนหลับได้โดยไม่พึ่งยาเลยเวลาอยู่ที่บ้าน กินข้าวไม่ลงเลยแต่ก็ต้องฝืนเพราะถ้าไม่กิน พ่อกับแม่จะหงุดหงิดและทุกอย่างจะเริ่มแย่ลงอีก แล้วก็จะจบลงด้วยการบอกให้หนูอย่าเครียด ทำจิตใจให้สงบ หรือที่แย่ที่สุดคือ “ถ้ามึงเรียนเก่งแล้วจบออกมาเป็นแบบนี้ กูก็ไม่เอานะ” 

….แต่หนูแค่ป่วยนะแม่ ;(

ตอนนั้นในหัวมีแต่คำถามว่า “เราผิดอะไร?” หรือ “ทำดีแค่ไหนถึงจะพอ?” 

ในที่สุดหนูก็รีบดิ้นรนหางานทำท่ามกลางสถานการณ์ covid ถึงสภาพหนูตอนนั้นจะไม่พร้อมออกไปเผชิญหน้ากับอะไรทั้งสิ้น แต่หนูคิดว่าอย่างน้อยคงดีกว่าอยู่แบบนี้ 

นับจากวันนั้นก็ผ่านมาปีกว่าแล้วที่หนูออกมาใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือนข้างนอก หนูจะกลับไปเยี่ยมที่บ้านบ้างนานๆ ครั้ง ถึงจะไม่ได้เจอกันบ่อยๆ แล้ว แต่ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง 

เท่าที่ป้าแหม่มอ่านมาอาจจะดูเป็นเรื่องเล่าซะส่วนใหญ่ และต้องขออภัยสำหรับเรื่องราวอื่นๆ ที่รอต่อคิวอยู่ จริงๆ หนูมีเพียงแค่คำถามไม่กี่คำถามที่อยากจะถามป้าแหม่ม

“พอมีวิธีที่จะทำให้หนูรู้สึกดีกับตัวเองและไม่คิดถึงเรื่องแย่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นได้บ้างมั้ยคะ เพราะหนูมักจะคิดถึงเรื่องเหล่านี้ซ้ำๆ เวลาที่เหนื่อยหรือท้อ (เพราะครอบครัวควรจะเป็น safe zone แต่หนูไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย)”

“ผิดมั้ยคะถ้าหนูไม่อยากกลับบ้าน หนูกลัวค่ะ ไม่รู้จะกลับไปเจออะไร แล้วก็กลัวว่าถ้าวันนึงพวกท่านจากไป จะทำให้รู้สึกแย่และโทษตัวเองไปตลอดชีวิต”

______________________________________________

บาดแผลจากการเลี้ยงดูและเติบโตเป็นเรื่องยากที่สุดที่คนคนหนึ่งจะต้องเผชิญ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่เอาชนะเรื่องนี้ได้ และคุณบีมาไกลมากแล้วนะคะ ลองกลับไปอ่านจดหมายที่เขียนถึงพี่ดูสิ ตอนนี้คุณมีชีวิตของตัวเองแล้ว      

อันดับแรก กลับบ้านให้น้อยที่สุดค่ะ เพื่อจะไม่ต้องถูกทำร้ายอีกซ้ำๆ สิ่งที่แม่ทำคือการทำร้ายค่ะ ไม่ใช่ไม่เป็นที่พอใจ มีบางอย่างที่ทำให้เขาอยากทำร้ายใครสักคนต่างหาก และคนที่เขาทำได้คือคุณ ไม่ใช่คุณไม่ดีพอ และนี่คือเหตุผลที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอใจเสียที  แม่คุณบีก็ด้วย…อาจจะป่วยก็ได้    

แต่คุณโตแล้ว เรียนจบแล้ว ทำงานแล้ว ดูแลตัวเองแล้ว คุณต้องไม่กลับไปให้เขาทำร้าย หรือทำให้รู้สึกอย่างที่เคยอีก และคุณก็ต้องไม่รู้สึกผิดที่ไม่ต้องการกลับไปเผชิญกับการถูกทำร้ายด้วย แต่นั่นแหละ ดูจากการเลี้ยงดูที่ผ่านมา…คุณรู้สึกผิดอยู่ดี  ลองวิธีนี้นะคะ อาจจะช่วยได้ ไม่ต้องกลับ แต่เก็บเงินบางส่วนซื้อของส่งให้พ่อแม่บ้าง อย่างน้อยคุณก็จะได้รู้สึกว่าได้ดูแลเขาสองคน ไม่มากก็น้อย

โปรดเข้าใจว่าการโทษตัวเองของคุณก็เป็นส่วนของการที่เขาโทษคุณมาตลอด แต่คุณต้องไม่ยอมให้ตัวเองปฏิบัติกับตัวเองเช่นที่เขาปฏิบัติต่อคุณนะคะ คุณต้องไม่โทษตัวเอง ไม่ปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นแม่ไปอีกคน

พยายามหาหมอให้สม่ำเสมอ ออฟยาทันทีเมื่อดีขึ้นและปรึกษานักจิตวิทยา เขาจะมีวิธีการฉลาดๆ ในการช่วยให้เรารับมือกับอดีตและความบอบช้ำต่างๆ ได้ดีขึ้น ถ้านักจิตวิทยาที่คุยคุยแล้วดีขึ้นก็ไปต่อ  แต่ถ้าไม่ก็ขอให้หาคนใหม่ไปเรื่อยๆ ค่ะ

สิ่งสำคัญกว่าทุกอย่างคือคุณแสวงหาคุณค่าให้กับตัวเอง  

คุณจะเป็นคนกำหนดคุณค่าของตัวเองได้ก็ต่อเมื่อคุณสร้างคุณค่านั้นให้ตัวเอง และนับจากนี้ไปคุณเท่านั้นที่จะเป็นคนกำหนดคุณค่าของตัวเอง คุณจะไม่ติดอยู่กับคุณค่าที่คนอื่นกำหนด พ่อ แม่ ที่ทำงาน  สังคม รัฐบาล หรือใครทั้งนั้น  

พยายามตั้งใจทำงานให้เก่ง ให้ดี มีความมั่นคงในอาชีพ เรื่องนี้สำคัญ มิเช่นนั้นคุณก็จะต้องกลับไปอยู่บ้านอีก    

จากนั้นก็มองหางานอดิเรก หาสิ่งที่คุณชอบทำ ทำแล้วผ่อนคลาย สนุก มีความสุข อาจจะแค่งานเล็กๆ อย่างถักโครเชต์หรือปักครอสติช  ที่คุณสามารถเก็บเกี่ยวชัยชนะและความภาคภูมิใจให้กับตัวเองได้บ่อยๆ …ก็ทุกครั้งที่ทำเสร็จชิ้นหนึ่งนั่นแหละ ไปจนถึงต่อต้านโลกร้อน การเรียกร้องสิทธิสำหรับผู้ถูกริดรอน  …ผู้หญิง เยาวชน รวมทั้งงานอาสาสมัครต่างๆ  

ขอพูดเรื่องงานอาสาสมัครสักนิด งานนี้จะพาคุณออกจากเรื่องของตัวเองไปไกลได้อย่างไม่น่าเชื่อ  และแนะนำมากๆ ค่ะ เมื่อเริ่มทำ…คุณจะมองเห็นความยากลำบากของคนอื่น และดีใจที่อย่างน้อยคุณก็ไม่ต้องอยู่บ้านแสนเศร้ากับพ่อแม่แล้ว  ไม่ต้องทนให้แม่ทำร้ายคุณอีกแล้ว    

และคุณยังโชคดีพอที่มีเรี่ยวแรง มีบางอย่างที่สามารถทำได้ ทำเพื่อคนอื่นด้วย แม้จะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่คุณก็มีคุณค่ามีความหมายต่อคนเหล่านั้น ถัดมาคุณจะเริ่มมองเห็นคุณค่าของคนอื่น  แม้จะป่วยไข้หรือยากจนสิ้นไร้  เขาก็ยังเป็นมนุษย์  และแค่เป็นมนุษย์หนึ่งคนก็มีค่าเพียงพอที่คุณจะทำบางอย่างเพื่อการเรียนรู้ที่จะให้คุณค่าและเคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่นจะช่วยให้คุณเข้าใจและเคารพความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ความเป็นมนุษย์ที่พ่อแม่ของคุณไม่เคยเคารพ  

งานสร้างสรรค์เหล่านี้จะยังช่วยให้คุณไม่มีเวลาเหลือว่างมากพอที่จะกลับไปนั่งนึกถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วอีกด้วย

คุณไม่ได้เล่าต่อเรื่องคนรัก แต่ป้าหวังว่าคุณจะเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของใครทั้งนั้น  ไม่จำเป็นไม่ต้องให้เขารู้อะไรอีก ตัดปัญหาไป คุณไม่ต้องรายงานเรื่องส่วนตัวค่ะ คุณไม่ต้องขอความเห็น  การรับรอง คุณรักเขาและเขารักคุณ ทุกอย่างจบแค่ตรงนี้ รักกันให้มากๆ ดูแลกัน  เติบโตไปด้วยกันนะคะ

ทุกอย่างใช้เวลาค่ะคุณบี แต่อย่างที่บอก…คุณมาไกลมากแล้ว แม้จะยังมีหนทางไกลให้เดินทางไปต่อ ป้าก็มั่นใจว่าคุณจะสามารถทำได้ดีกว่าที่ผ่านมามากๆๆๆ คุณไม่จำเป็นต้องลืมเรื่องราวขมขื่นต่างๆ แค่สามารถอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ ได้และไม่จมกับมันบ่อยเกินไปก็พอ  เมื่อรู้สึกตัวก็ให้ท่องว่าเลิกคิดๆๆ  และเมื่อหยุดคิดหลุดออกมาจากอดีตได้ก็บอกตัวเองว่าคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว คุณไม่ได้อยู่บ้านที่มีแม่ใจร้ายนั้นแล้ว คุณโตแล้ว ไม่ใช่เด็กหญิงที่ใครนึกจะพูดจาทำร้ายอะไรอย่างไรก็ได้อีกแล้ว  คุณมีค่ากว่านั้นมากและคุณก็รู้ดีว่าคุณมีคุณค่า

เป็นกำลังใจให้ค่ะ    

หมายเหตุ : ใครอยากถาม อยากเล่า อะไร พี่แหม่ม แม่แหม่ม หรือป้าแหม่ม สามารถส่งและหรือเล่ามาได้ที่กล่องข้อความของเพจเฟซบุ๊ค mappa หรือ อีเมล์ mappalearning@gmail.com ทีมงานจะรวบรวมนำไปเป็นวัตถุดิบสำคัญแล้วส่งต่อให้พี่แหม่มค่ะ

เพราะคอลัมน์นี้ตั้งต้นจากผู้อ่านไม่ใช่ผู้เขียน

   


Illustrator

Avatar photo

ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts