วันที่ฉันเริ่มอยากมีสีแดงบนริมฝีปาก  มองตัวตนและการเติบโตของ ‘วัยรุ่น’ ผ่านการแต่งแต้มสีสันบนใบหน้า

‘แก่แดด ผิดระเบียบ ไม่มีวินัย เสียการเรียน โตเกินวัย ไม่รู้จักรักนวลสงวนตัว’ 

คำที่เราหลายคนเคยชินและมักได้ยินบ่อยครั้ง สำหรับการยกมาเป็น ‘เหตุผล’ ของการห้ามนักเรียนแต่งหน้าทาปากมาโรงเรียน กระทั่งกลายมาเป็นกฎระเบียบที่เคร่งครัดของโรงเรียนบางแห่งในการ ‘ห้ามแต่งหน้า’ ห้ามพกลิปสติกและอุปกรณ์แต่งหน้า ราวกับว่านี่คือความผิดบาปและอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ อีกทั้งหลายต่อหลายครั้งก็เกิดเป็นประเด็น ‘ดราม่า’ ในโรงเรียนให้เราเห็นผ่านสื่ออยู่เสมอ 

ช่องว่างแห่งความไม่เข้าใจระหว่างความคิด และช่องว่างระหว่างวัยก็ถ่างขยายออกมาให้พวกเราได้เห็นอยู่ไม่ขาด 

…คำดุด่า การควบคุม การสั่งสอน…

หากเรามองการเติบโตของวันวัยแล้วเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นเป็น ‘การมองความเปลี่ยนแปลง’ หรือ ‘ความรู้สึกของเยาวรุ่น’ ด้วยความเข้าใจ การคอยสังเกตอาจนำไปสู่ ‘การเรียนรู้’ ระหว่างกันที่มากกว่าเดิม

ช่องว่างแห่งความไม่เข้าใจบางอย่าง โดยเฉพาะช่องว่างทางความคิดระหว่างกัน หากเรามองเป็นพื้นที่แห่งคำถาม มากกว่าการลดทอนต่อกันแล้ว เราอาจเห็นความเป็นไปได้ใหม่อีกมากมายที่แต่งแต้มสีสันในช่องว่างตรงนั้น และเชื่อมเราถึงกันได้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเยาวรุ่นริมฝีปากแดงเหล่านั้น

จากเรื่องที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องผิด อย่างการแต่งหน้า แท้ที่จริงอาจเป็นการเปิดช่องทางใหม่ๆ ที่ทำให้เด็กและผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้ร่วมกันมากกว่าจะมานั่งติเตียน ดังเช่นว่า ผู้ใหญ่สามารถให้ข้อมูลหรือแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการเลือกใช้เครื่องสำอางได้ดีขึ้นให้กับเด็กๆ อีกด้วย 

ที่มาภาพ : https://www.freepik.com/free-photo/frame-cosmetic-products-desk

พื้นที่การเรียนรู้บนใบหน้า

นอกจากเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของวันวัยแล้ว การแต่งหน้ายังเป็นเหมือน ‘พื้นที่การเรียนรู้’ ที่พาเด็กๆ ไปค้นพบสำรวจร่างกายและตัวตนของตัวเอง การทำความรู้จักกับริมฝีปาก ดวงตา จมูก แก้ม คิ้ว ที่อยู่บนใบหน้า นอกจากจะได้ทำความรู้จักลักษณะของร่างกายตัวเองแล้ว ยังสามารถเป็นพื้นที่หนึ่งในการออกแบบหรือนำเสนอตัวตน ผ่านใบหน้าของพวกเขาหรือพวกเธอด้วย     

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า วัยรุ่นอเมริกันอายุ 12-17 ปี จำนวนหนึ่ง รู้สึกว่าการแต่งหน้านั้น ทำให้ตัวเองรู้สึกมั่นใจมากขึ้น ศาสตราจารย์คนหนึ่งยังกล่าวอีกว่า เป็นเรื่องดีสำหรับเด็กๆ ที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงออกและภูมิใจในร่างกายของตนเอง เพราะมันทำให้พวกเขาได้พัฒนาอัตลักษณ์ของตนเองอีกด้วย

ที่มาภาพ : https://www.freepik.com/free-photo/applying-make-up_5535578.htm

เติมสีสันลงใน ‘ความฝัน’ เติบโตจากใบหน้าสู่อาชีพ 

นอกจากการเรียนรู้ในพื้นที่ตัวตนอย่าง ‘ใบหน้า’ ของตัวเองแล้ว การที่เด็กๆ ได้ลองตกแต่งใบหน้าของเขา ยังเป็นพื้นที่ละเลง ‘ไอเดีย’ ใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับความเป็นไปได้อีกมากมาย  

เราจะเห็นเด็กและเยาวชนบางคนที่เติบโตจากการลองเติมแต่งใบหน้าของตัวเองจนกลายเป็นช่างแต่งหน้าที่ทำงานด้านนี้โดยตรงอีกด้วย 

ล็อตตี้ ทิมลินสัน (Lottie Tomlinson) คนรุ่นใหม่ในบทบาทช่างแต่งหน้าอาชีพ (Make-up Artist) ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ www.teenvogue.com ว่า    

“เมื่อฉันอายุประมาณ 12-13 ปี ฉันเริ่มถามแม่เกี่ยวกับการแต่งหน้า” 

เธอยังบอกอีกว่า พออายุประมาณ 13 ปี เธอก็เริ่มรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการแต่งหน้า 

เธอจึงลองเป็นช่างแต่งหน้าให้กับพี่สาวน้องสาวหลายคนของเธอ และใช้เป็นพื้นที่ในการฝึกฝนฝีมือ จนเธอกลายเป็น Make-up Artist ขณะที่อายุยังน้อยได้ในที่สุด 

เช่นเดียวกับ ธันญา ชีบัน (Tanya Cheban) ที่แม้ว่าเธอจะไม่ได้เป็นช่างแต่งหน้าให้กับดาราที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เธอก็นำเสนอเรื่องการแต่งหน้าผ่านเครื่องมืออย่างยูทูบ (YouTube) และช่องทางโซเชียลมีเดียของเธออีกหลายช่องทาง โดยที่มีผู้ติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว เธอเริ่มแต่งหน้าตอนอายุ 15 ปี และพบว่าในขณะที่ตัวเองกำลังไล่ดูคลิปในยูทูบ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ดูนั้น ก็มักเป็นการสอนทำผม ซึ่งนำไปสู่การสอนแต่งหน้า เธอยังบอกด้วยว่า การแต่งหน้าเป็นพื้นที่ที่ทำให้เธอมีความสุข และเป็นอีกหนทางหนึ่งในการบำบัดใจ

“ฉันก็รู้ว่านี่คือสิ่งที่ฉันรักและอยากทำไปตลอดชีวิต”

หากหันกลับมาที่ประเทศไทย หลายคนก็อาจจะเคยได้ยินชื่อของ ‘น้องแพรพาเพลิน’ หรือ แพร-ณัฏฐนันท์ สนุ่นรัตน์ เด็กสาวจากจังหวัดจันทบุรี เธอเป็นเด็กน้อยที่แต่งหน้าพร้อมบรรยายและอัดคลิปลงโซเชียลในวัย 5 ขวบ ซึ่งเมื่อได้รับการแชร์ต่อไปในโซเชียล ตัวเธอเองก็ได้รับเสียงตอบรับทั้งในแง่ดี และแง่ที่ผู้ใหญ่หลายคนวิจารณ์ไปในทางเสียหาย ซึ่งเป็นคำวิจารณ์ที่รุนแรงสำหรับเด็ก แต่สุดท้ายเธอก็ได้ไปเรียนแต่งหน้าที่สถาบันสอนแต่งหน้าเมลวิก ในเมืองวอร์ริงตัน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะได้ร่วมงานลอนดอนแฟชั่นวีค 2018 (London Fashion Week 2018) ในที่สุด 

ช่องว่างแห่งความไม่เข้าใจบางอย่าง โดยเฉพาะช่องว่างทางความคิดระหว่างกัน หากเรามองเป็นพื้นที่แห่งคำถาม มากกว่าการลดทอนต่อกันแล้ว เราอาจเห็นความเป็นไปได้ใหม่อีกมากมายที่แต่งแต้มสีสันในช่องว่างตรงนั้น และเชื่อมเราถึงกันได้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเยาวรุ่นริมฝีปากแดงเหล่านั้นนั่นเอง

ที่มา

https://www.teenvogue.com/story/teen-makeup-artists-tell-us-how-they-got-their-start
https://www.bbc.com/thai/thailand-43184519
https://brightside.me/articles/why-you-should-allow-your-kids-to-wear-makeup-802867/


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts