ดูซีรีส์ดูละครแล้วย้อนมาดู ‘จิตใจ’ ตัวเองผ่านเรื่อง ‘BEEF’

‘The Birds Don’t Sing, They Screech in Pain’

นี่คือชื่อ Episode แรกของ Beef ซีรีส์แนวดาร์กคอเมดี้ที่ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์เป็นครั้งแรกเมื่อต้นเดือนเมษายน และติดอันดับท็อปเทนของโปรแกรมที่มีคนดูมากที่สุดในไทยยาวตลอดเกือบทั้งเดือน

ชื่อเรื่องที่เป็นแค่คำสั้นๆ คำเดียวนั้นคือการบอกเล่าจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความโกรธเกรี้ยวบนท้องถนนระหว่างคนแปลกหน้าสองคน คือ แดนนี่ โช (Danny Cho) และ เอมี่ เหลา (Amy Lau) ที่รับบทโดยสตีเวน ยอน (Steven Yuan) และอาลี หว่อง (Ali Wong) ตามลำดับ

ส่วนชื่อตอนแรกจากทั้งหมด 10 ตอนนั้น เป็นการเปิดเผยถึงคาแรกเตอร์ที่ภายนอกดูเหมือนจะแตกต่างกันระหว่างตัวละครหลักทั้งสองคน โดยคนแรกเป็นผู้รับเหมาที่แทบจะต้องกราบกรานของานจากคนอื่น โดยมีเป้าหมายเพื่อหาเงินมาสร้างบ้านให้พ่อแม่ พร้อมฝันที่ครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน ขณะที่อีกคนเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัวที่กำลังจะพาธุรกิจตัวเองก้าวขึ้นไปอีกระดับ ซึ่งจะนำมาทั้งเงินทองและชื่อเสียงที่มากกว่าเดิม มีสามีที่ดูอบอุ่นคอยช่วยดูแลลูก และอาศัยอยู่ในบ้านที่ตกแต่งในแบบที่เธอต้องการแทบทุกรายละเอียด นอกจากนี้ แม้ทั้งแดนนี่และเอมี่จะเป็นเอเชียน-อเมริกัน แต่ต่างก็เติบโตมาในสภาพครอบครัวที่แตกต่างกัน ดังนั้น ตัวละครสองคนนี้จึงดูเหมือนไม่มีอะไรที่จะมาบรรจบกันได้เลย นอกจากสถานการณ์ที่เรื่องปูมาให้เป็นจุดเริ่มต้น

แต่เมื่อมองลึกลงไปภายใน ทั้งคู่กลับมีสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือภายในจิตใจกลับมีความว่างเปล่าที่ถูกเติมด้วยความตึงเครียดจากความพยายามที่จะซ่อนความว่างเปล่านั้น

‘นกไม่ได้ร้องเพลง แต่นกกำลังกรีดร้อง’ เป็นข้อความที่ได้แรงบันดาลใจมาจากส่วนหนึ่งในสารคดีเรื่อง Burden of Dreams ผลงานของผู้กำกับชาวเยอรมันอย่าง เวอร์เนอร์ เฮอร์ซ็อก (Werner Herzog) ที่เมื่อนำมาใช้เป็นชื่อตอนก็สะท้อนถึงภาวะภายในจิตใจของตัวละครหลักที่คนรอบข้างอาจมองไม่ออก เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่า การแสดงออกต่าง ๆ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติของคนทั้งคู่นั้น แท้จริงแล้วคือเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดที่ไม่อาจกรีดร้องออกมาจริงๆ ได้

ต่อเนื่องมาถึงชื่อตอนที่ 2 ‘The Rapture of Being Alive’ ที่ ลี ซุง จิน (Lee Sung Jin) ผู้สร้างซีรีส์เรื่องนี้มองว่า BEEF เป็นการย้อนสำรวจความยากของการมีชีวิตอยู่ที่มีความซับซ้อน ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันไปหมด แต่เลือกเอาคำว่า ‘Rapture’ มาใช้ เพื่ออธิบายความคิดความรู้สึกของตัวละครที่เริ่มต้นด้วยความเดือดดาลและไล่ล่ากันบนท้องถนน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในทุกวัน ยกระดับขึ้นเป็นการแก้แค้นที่เริ่มขยายผลไปถึงคนรอบตัวด้วย

ความรู้สึกต้องการเอาชนะอีกฝั่งจึงกลายเป็นสิ่งที่ทั้งคู่ยึดเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ในชีวิต เพราะในมุมหนึ่ง การแก้แค้นครั้งนี้ก็ได้ทำให้ทั้งคู่เผยความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ภายใน และแสดงออกมาในรูปแบบของการกระทำต่าง ๆ ได้ จากที่เคยเก็บซ่อนไว้เพราะไม่ใช่ตัวตนที่อยากให้คนอื่นเห็น

ซีรีส์ทำให้เราเห็นว่า จากจุดเล็ก ๆ ที่เริ่มจากความไม่พอใจกันบนท้องถนน สามารถนำไปสู่อะไรต่อมิอะไรที่ต้องเรียกว่า เลยเถิดจนเกินคาดเดา และทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่ทั้งแดนนี่และเอมี่ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น แต่ในเมื่ออารมณ์อยู่เหนือสติ นอกจากจะทำให้ความว่างเปล่านั้นไม่ได้รับการเติมเต็มแล้ว ทั้งคู่ยังต้องพบกับความเจ็บปวดในแบบที่ตัวเองไม่เคยคิดว่าจะต้องเจอกับสิ่งนี้

ด้วยโทนในการนำเสนอที่เป็นดาร์กคอเมดี้ทำให้คนดูสนุกกับ BEEF ได้ไม่ยาก อีกทั้งการแสดงของสองนักแสดงนำเองก็ชวนให้เชื่อกับบทบาทที่พวกเขาได้รับ ในขณะที่ดู หลายคนจึงอาจลืมสังเกตว่า จริง ๆ แล้วทั้งสองคนเข้าฉากพร้อมกันน้อยมาก ถ้าวัดจากจำนวนซีนทั้งหมด ซึ่งในการถ่ายทำจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะมีเพียงไม่กี่ซีนเท่านั้นที่นักแสดงนำทั้งสองจะได้เจอกัน

แต่ความเชื่อมโยงของภาวะภายในจิตใจของทั้งคู่ที่เหมือนกันอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนดูลืมนึกถึงเรื่องนี้ และรู้สึกเหมือนตัวละครทั้งคู่ปะทะกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นการปะทะกันทางอารมณ์และปะทะทางอ้อมผ่านตัวละครอื่น ๆ ที่แวดล้อม

หากเป็นชีวิตจริง เรื่องราวใน BEEF จะไม่ส่งผลกระทบต่อเนื่องจนขยายเป็นเนื้อหาอันเข้มข้นแต่บั่นทอนจิตใจของตัวละครได้ขนาดนี้ เพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง สถานการณ์ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป แม้ความว่างเปล่าอาจจะยังไม่ได้ถูกเติมเต็มในทันที แต่อย่างน้อยการปะทะที่ไม่จำเป็นต้องปะทะก็จะไม่เกิดขึ้น

ถ้าคุณยังไม่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ เราอยากชวนให้คุณมองลึกลงไปกว่าเรื่องราวความความหัวร้อนของสองคน เพราะทุกรายละเอียดที่ทีมงานใส่มานั้น ตั้งแต่เส้นเรื่อง พล็อตหลัก ซับพล็อต ไดอะล็อก เพลงประกอบ ไปจนถึงชื่อตอนทุกตอน คือการซ่อนความตั้งใจที่เชื่อว่าน่าจะมีบางอย่างที่คนดูรู้สึกเชื่อมโยงได้ไม่มากก็น้อย ต่างกันไปตามประสบการณ์ที่เจอ และต่างกันตรงที่ว่าใครจะดึงสติไว้ได้แค่ไหนด้วย

หรือถ้าคุณดูแล้วและอ่านบทความนี้อยู่ อาจจะทำให้คุณนึกทบทวนถึงเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า ถ้าวันนั้น ฉันลดความหัวร้อนลง มีสติกับเหตุการณ์ตรงหน้า เรื่องก็คงจะไม่เป็นแบบที่ผ่านมา

เราอาจสนุกกับการดูซีรีส์เรื่องนี้ เราอาจเอาใจช่วยตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นการลุ้นให้ฟาดฟันกันไปเรื่อย ๆ หรือลุ้นให้หยุดทะเลาะกันเสียที เราอาจมีความรู้สึกอยากด่าตัวละครบางตัวที่ตัดสินใจหรือทำเรื่องที่ไม่ถูกใจเรา

แต่ท้ายที่สุดเมื่อซีรีส์จบลงแล้ว คงจะดีถ้าเราได้กลับมามองตัวละครในชีวิตจริงอย่างตัวเราเอง พร้อมกับสำรวจจิตใจและเตือนตัวเองให้รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วันของชีวิต แม้ยังสัมผัสได้ถึงความว่างเปล่าในจิตใจ แต่อย่างน้อยเราก็จะไม่ทำให้หลุมที่ว่างเปล่านั้นขยายขึ้น หรือขยายออกมาจนส่งผลกระทบกับคนอื่น ๆ ที่ต้องสัมพันธ์กัน


Writer

Avatar photo

พนิชา อิ่มสมบูรณ์

นักเขียนที่ชอบบอกทุกคนอย่างภูมิใจว่าเคยเป็นครูอนุบาลและยังชอบเล่นกับเด็กๆ อยู่ แต่ชอบคุยกับคนทุกวัยผ่านงานสัมภาษณ์ ส่วนชีวิตอีกด้านเป็นโอตาคุกีฬาโอลิมปิกและการ์ตูนญี่ปุ่น

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts