เพราะเติบโตขึ้นมาจากนิทานที่ขาวเป็นขาว ดำเป็นดำ และสอนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร พอเข้าโรงเรียนก็ไม่สนับสนุนให้ตั้งคำถาม สอนให้ไม่ทำ ท่องจำเป็นเลิศ
ต่อมา เมื่อพาตัวเองย้ายเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คิดว่า การตั้งคำถามคือสิ่งสำคัญ ผ่านการเรียนรู้ต่างๆ จากศาสตร์การละคร สุภาพสตรีคนนี้จึงสร้าง ‘พื้นที่ทางการละคร’ เพื่อเด็กขึ้นมา ด้วยความคิดว่าไม่สอน พากัน ‘เล่น’ สนุก แล้วเด็กๆ จะงอกงามเอง
คุยกับ อุ๊-อัจจิมา ณ พัทลุง ในฐานะผู้อำนวยการสร้างแห่ง BICT Fest (Bangkok International Children’s Theatre Festival) หรือเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ที่มุ่งเน้นสร้างนิเวศการเรียนรู้ให้เด็กผ่านการทำเทศกาล ทั้งจัดโชว์ละครเวที จัดวงเสวนา และจัด workshop พัฒนาทักษะต่างๆ
อุ๊ คือ อดีตเด็กหญิงที่ไม่ค่อยฟิตอินกับทุกสิ่งอย่างในโรงเรียน เพราะครูมักเอาแต่สอนโดยไม่ค่อยให้ลองลงมือทำ
ในมุมหนึ่งที่นี่อาจเป็นแค่พื้นที่เอาไว้จัดแสดง ทว่าสำหรับอุ๊ พื้นที่แห่งนี้คือ open space ที่รวมศิลปินซึ่งเชื่อเรื่อง ‘การเรียนรู้’ มารวมตัวกัน
ซึ่งเป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ การวิจัย การทดลองและปฏิบ้ติ
เด็กผู้หญิงผู้ไม่ค่อยฟิตอินกับทุกสิ่งในวันนั้น วันนี้เธอมียิ้มกว้างตลอดการคุยเรื่องละครสำหรับเด็ก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะละครช่วยมอบประสบการณ์ในสิ่งตรงข้ามกับที่เคยเจอ คลี่คลายความไม่เข้าใจในวัยเด็ก จนกลายเป็นพลังผลักดันให้อยากสร้างพื้นที่ศิลปะเติมเต็มความสุขให้เด็กรุ่นต่อไป
ละครเด็ก ไม่ต้องเริ่มด้วยนิทานเจ้าหญิงเจ้าชายและจบด้วยคำสอนคุณงามความดี
แรกเริ่มเดิมที อุ๊ ไม่เคยคิดอยากทำงานกับเด็ก
ย้อนไปสมัยเรียนชั้นประถม เธอเติบโตมากับโรงเรียนเคร่งกฎระเบียบ
เธอบอกว่าชีวิตวัยเด็กของตัวเอง ไม่เคยได้อยู่ในพื้นที่ที่เอื้อต่อการตั้งคำถามเลย
“เราโตมาในโรงเรียนอย่างอึดอัดมาก เราเป็นเด็กผู้หญิงตัวโตที่ไม่ฟิตอินกับทุกอย่าง เรารู้สึกไม่เหมือนคนอื่น โรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ที่เราจะ blossom ทุกอย่างถูกสอนผ่านคำพูดของครูบาอาจารย์ โดยที่เราไม่เคยได้โอกาสเรียนรู้เองโดบการลงมือหรือลองทำ”
หลังจากจบปริญญาตรี เธอมีโอกาสไปศึกษาต่อด้านการละครที่ประเทศอังกฤษ ก่อนมีโอกาสได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในกลุ่มละคร Theatre Rites ซึ่งเป็นคณะละครที่ทำละครเพื่อเด็กโดยเฉพาะ จากนั้นโลกทัศน์ของเธอที่มีต่องานละครเด็กก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
“ช่วงเรียนที่อังกฤษ เรารู้สึกเชื่อมโยงกับวิธีการเรียนได้มากขึ้น ด้วยกระบวนการให้ฝึกคิดเชิงวิเคราะห์และตั้งคำถาม เป็นการเรียนที่เราไม่คุ้นชิน แต่เราชอบที่ครูให้ถกเถียง เราได้พื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างการเรียนรู้ นี่เลยทำให้เรายิ่งชอบละครมากยิ่งขึ้น ตอนจบป.ตรีคิดว่าคงจะเป็นอาจารย์ แต่พอมาเรียนต่อ ได้ทำงานละครที่นั่น เราพบว่าศิลปะการละครยังมีช่องว่างระหว่างศิลปินและคนดูอยู่ จึงอยากลองทำงานในฐานะผู้ผลิตงาน”
ทว่าการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับสำหรับอุ๊ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยฉพาะการสื่อสารกับเด็ก
“เราทำงานกับ Theatre Rites ประมาณ 2 ปี เราทำแค่ 2 โปรเจ็คต์ ซึ่งทุกโปรเจ็คต์ใช้เวลาทำเฉลี่ย 1 ปี กว่าจะได้แสดง เบื้องหลังเราต้องต้องทำ R&D (research and development) แต่สนุกนะ เป็นความสนุกที่ไม่เคยเห็น เราไม่เคยคิดว่าการทำละครต้องคิดอะไรแบบนี้ด้วย เราไม่เคยคิดว่าการสร้างสรรค์งานละครเพื่อเด็กจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและมืออาชีพขนาดนี้”
เชื่อว่าประสบการณ์จากอดีตทำให้ทุกคนคิดว่า ‘ละครเด็ก’ จะต้องเริ่มด้วยนิทานเจ้าหญิงเจ้าชายและจบด้วย Happy ending หรือ คำสอนคุณงามความดี แต่ Theatre Rites ทำให้อุ๊รู้ว่าละครเด็กไปไกลกว่าที่เราจินตนาการ ละครเด็กสามารถเป็นได้หลายรูปแบบ และมีเนื้อหาหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ความตาย นรก สวรรค์ รวมถึงด้านมืดที่ผู้ใหญ่คิดว่าเด็กไม่พร้อมหรือควรรับรู้
สำหรับอุ๊ Theatre Rites เป็นคณะละครในใจของอุ๊ เพราะมีการทำงานแนวราบ และการสร้างงานเริ่มจากความสนใจในกลุ่มคนดูของเขาคือเด็ก เมื่อสนใจก็จะลงแรงพยายามเชื่อมโยงผ่านตัวงาน ฉะนั้นกว่าจะได้ละครเวทีหนึ่งเรื่องจึงต้องผ่านกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมาก เช่น ศึกษาพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย
เด็กแบเบาะยังมีพัฒนาการไม่เต็มที่งานที่สื่อสารออกไปอาจจะเน้น visual และ sound เรามักจะเห็นงานสำหรับเด็กวัยนี้เรียบง่าย และ abstract
“หากขยับขึ้นมาหน่อย เด็กวัย 3-5 ขวบเริ่มมีพัฒนาทักษะด้านภาษาแล้ว ศิลปินก็ทำงานกับเด็กต่างไปอีกแบบ สามารถใช้บทพูดเข้ามาประกอบ หรือออกแบบงานที่ตื่นเต้นเร้าใจมากกว่าเดิมได้ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับงานเด็กแบเบาะนักเพราะจะไปกระตุ้น Senses ของพวกเขาที่ยังพัฒนาอยู่ มากเกินไป”
อุ๊บอกว่าสิ่งสำคัญเวลาสร้างงาน คือการพาคนดูร่วมสนุกไปกับเรื่องราว ช่วยให้เขาเชื่อมโยงกับคาแรคเตอร์ในเรื่อง เรียนรู้ทางอ้อม เพราะเด็กๆ ก็เหมือนฟองน้ำ ที่พร้อมจะดูดซับการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้ดี เชื่อว่าเมื่อเด็กๆ ได้เห็น ได้ยินเรื่องที่เขาเทียบเคียงได้กับเรื่องใกล้ตัว หรือได้ฟังเรื่องแปลกใหม่ เขาจะสนใจ ผู้ใหญ่สนุกไปด้วยได้และแค่เฝ้าดูปฏิกิริยาของพวกเขาผ่านการติดตามการเดินทางของตัวละคร ปล่อยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร เมื่อเขาต้องเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริง ก็อาจจะช่วยให้เขาเข้าใจและปรับใช้สิ่งที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตัวละครในเรื่องได้
“ละครทำหน้าที่เชื่อมโยง สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ให้พื้นที่เด็กในการรับรู้เรื่องราวของคนอื่นที่เขาอาจจะไม่มีโอกาสได้เจอในชีวิตจริง ทำความเข้าใจสถานการณ์และความรู้สึกของตัวละคร เตรียมพร้อมเมื่อเขาต้องเผชิญเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงในชีวิตจริง นี่คือพลังของศิลปการละคร”
BICT Fest เทศกาลเล็กๆ เด็กคือผู้ยิ่งใหญ่
เมื่อโลกละครของอุ๊เปิดกว้างขึ้น สิ่งที่อยากเห็นคือพื้นที่สร้างสรรค์ คนดูและคนทำละครที่มีจำนวนมากขึ้นอยากเห็นละครเพื่อเด็กที่เคารพเด็ก และอยากแชร์ประสบการณ์เช่นเดียวกันกับที่ได้รับจากการทำงานกับ Theatre Rites นี่คือจุดกำเนิดของเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ BICT Fest
BICT Fest เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2559 แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทยเรายังคงโหยหาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับครอบครัวอยู่อีกมาก เพราะเมื่อหันซ้ายมองขวาทุกอย่างคือห้างสรรพสินค้า อุ๊จึงตั้งใจสร้างพื้นที่ทั้งทางกายภาพและความคิดเพื่อแชร์ประสบการณ์การดูละครเวทีเด็กในรูปแบบใหม่ๆ
ทุกครั้งของการจัดเทศกาลของ BICT Fest จะถูกแบ่งเป็น 3 โปรแกรม ได้แก่ การแสดง เวิร์คช็อป และวงเสวนา ที่เป็นเช่นนี้เพราะอุ๊เชื่อว่าจะทำให้คนดูไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ผู้ชม
“ดังนั้นเวลาคนมาชมงานที่ BICT Fest ถ้าเขาสงสัยหรืออยากรู้อะไรเพิ่มเติม เกี่ยวกับงานที่ดู เราต้องจัด talk (เวที) ให้คุยต่อได้ ถ้าเขาอยากเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ก็มาร่วม workshop กับเราได้”
เพราะ BICT Fest คือพื้นที่แลกเปลี่ยน พัฒนาทักษะ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ผ่านเทศกาลได้เสมอ
แต่เมื่อกระโดดลงมาทำงานกับเด็กอย่างเต็มตัว อุ๊พบว่าเรื่องยากรออยู่อีกเยอะ
สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างละครเวทีสำหรับเด็กให้ดีกลายเป็นเรื่องของกระบวนการ ดังนั้นเกณฑ์การคัดเลือกละครเวทีที่นำมาแสดงใน BICT Fest จึงต้องอาศัยขั้นตอนที่ใส่ใจ พิถีพิถัน ผ่านการค้นหา รีเสิร์ช และถกเถียงในทีม
“เราพยายามเลือกศิลปะที่ shift คนดูด้วยคอนเทนต์ที่น่าสนใจหรือวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ที่คนอาจจะไม่ได้คิดว่านี่คืองานที่สร้างสรรค์มาเพื่อเด็ก เช่น เราเคยเชิญงานของศิลปินญี่ปุ่น ที่เป็น dance installation เห็นศิลปินออกมาเต้นท่าแปลกๆ พิลึกพิลั่นไม่ธรรมดา แต่มีเนื้อหาชวนให้เข้าใจอวัยวะภายใน สิ่งสำคัญคืออย่าตัดสินใจว่างานแบบนี้เท่านั้นที่เด็กควรดู อย่าลิมิตการรับรู้ของเขาว่ายังไม่พร้อมสำหรับเรื่องราวที่อาจดูซับซ้อนหรือ Abstract เพราะที่จริงแล้วเขามีจินตนาการที่เปิดกว้างกว่าเราเสียอีก เพราะเขายังไม่ได้ถูกปัจจัยและความกดดันทางสังคมมาสร้างกรอบให้เขาคิด” อุ๊บอก
เวลามาดูละคร ผู้ชมจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับนักแสดง สร้างประสบการณ์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนกันผ่านบริบทของเรื่องราว ผู้ชมรู้สึกได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกผ่านการแสดงสดได้ยินเสียงลมหายใจและหยาดเหงื่อ การดูละครเวที BICT Fest จึงเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning)
สิ่งหนึ่งที่อุ๊เรียนรู้จากการทำงานกับเด็กคือการไม่กดทับและอย่าไปปิดกั้นพวกเขา
“ผู้ใหญ่มักคิดว่าเด็กยังไม่พร้อมที่จะรับ ไม่อยากให้คิดว่าเด็กต้องชอบสิ่งนี้ ไม่ควรดูสิ่งนั้น เพราะไม่ต่างอะไรจากเราที่ตีกรอบให้ตัวเองมากไป การให้ประสบการณ์เขาในช่วงนี้สำคัญมาก เราไม่อยากเห็นเด็กรุ่นใหม่เป็นเหมือนตัวเองตอนเรียนประถมที่ถูกจำกัดด้วยกรอบของกฎเกณฑ์ ไม่ถูกสนับสนุนให้ตั้งคำถาม จนทำให้เขาไม่งอกงามในแบบที่เขาควรจะเป็น”
“เราแค่อยากให้เห็นว่ามีการสร้างสรรค์ละครเด็กในรูปแบบใหม่ๆ ที่คนอาจไม่ได้คิดว่าเป็นงานที่ทำมาเพื่อผู้ชมเด็ก จริงๆ เราแค่อยากเปิดพื้นที่ให้เห็นความหลากหลายนี้ ได้ดูสิ่งที่ไม่คุ้นชิน ไม่ใช่งานที่ adapt มาจากดิสนีย์เท่านั้นท่ีเขาดูได้ มันมีงานละครเพื่อเด็กที่สร้างแรงบันดาลให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และอาจเป็นละครที่ไม่ได้มีคำตอบสำเร็จรูปเหมือนกับที่เราท่องจำในห้องเรียน”
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ไม่ได้ช่วยสร้างนิเวศการเรียนรู้ใหม่ให้เพียงผู้ชมเทศกาลเท่านั้น แต่หวนกลับมาทำงานย้ำความสำคัญของการเรียนรู้กับทีมงานหลังฉากทุกคนผ่านกระบวนการการสร้าง
“BICT Fest เราไม่ตั้งตัวเองเป็นผู้รู้ เป็นเรื่องยากทุกครั้งที่เราคุยกันว่าจะเลือกใครมาแสดง ทุกครั้งที่เราทำเทศกาลเสร็จเราพยายามคุยกันเสมอว่างานต่อไปเราจะทำอย่างไรดี เราต้องการให้งานที่ทำมีคุณค่าและคนทำก็สนุก คำว่า play ที่ BICT Fest ใช้โปรโมท ไม่ใช่สำหรับคนดูเท่านั้น แต่คนทำก็ต้องสนุกด้วย”
สำหรับอุ๊ ความสนุกในการทำงานคือการได้เรียนรู้ ได้สร้างเครือข่ายใหม่ๆ เพราะมองว่านี่คือโอกาสในการขยายพื้นที่เพื่อสร้างสรรค์งานให้ดีขึ้น
ศิลปะเกิดได้ที่บ้าน ใครก็เป็นศิลปินได้…ถ้าอยากเป็น
ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อโลกเจอกับไวรัส ส่งผลให้โจทย์ของ BICT Fest เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยทำงานอยู่ในโรงละคร จึงต้องย้ายเข้ามาทำงานในแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
ถึงแม้อุ๊จะยังเชื่อมั่นใน Live performance หรือการแสดงแบบเจอตัวต่อตัว แต่ในขณะเดียวกันช่วงเวลาท่ามกลางโรคระบาดนี้ก็ไม่สามารถปล่อยให้เกิด gap โดยไม่สื่อสารอะไรออกไปได้ และคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้างให้งานของ BICT Fest เข้าไปช่วยบรรเทาความตึงเครียดของครอบครัวที่ต้องอยู่แต่ในบ้านได้บ้าง
ไอเดีย PLAY FROM HOME จึงเกิดขึ้นมา โดยกิจกรรมในระยะแรกที่ BICT Fest ทำคือ ‘Stories from Home’ รายการพอดคาสท์เล่านิทานที่ชวน 11 ครอบครัวมาแชร์เรื่องเล่าจากที่บ้าน ทั้งจากหนังสือ ประสบการณ์ หรือเรื่องที่แต่งกันเองในครอบครัว
สำหรับอุ๊ Stories from Home ไม่ใช่แค่กิจกรรมสันทนาการฆ่าเวลา แต่คือดอกผลของการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ และช่วยย้ำว่างานศิลปะเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่ในบ้าน ที่สำคัญ ทุกคนในบ้านเป็นศิลปินได้
“เราสนใจชวนพ่อแม่มาเล่าเรื่อง เพราะการเล่าเรื่องเป็นศิลปะที่มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นสิ่งที่หลายครอบครัวทำกันอยู่แล้ว เป็นการใช้เวลาร่วมกันอย่างใกล้ชิดและอบอุ่น แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ได้อย่างสนุกสนาน เราเห็นว่านี่ก็เป็นศิลปะเช่นกัน เราเลยชวนพ่อแม่ที่อ่านนิทานเป็นประจำมาร่วมโครงการ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ครอบครัวอื่นๆ หันมาทำกิจกรรมนี้มากขึ้น”
อุ๊ยกตัวอย่างเรื่องราวของ ‘คุณแม่น้ำส้ม’ ครอบครัวนักวาดภาพประกอบที่ย้ายไปอยู่กับครอบครัวที่สหรัฐอเมริกา หนึ่งในครอบครัวที่ได้รับเชิญในโปรเจ็คต์ Stories from Home
บรรยากาศบ้านของน้ำส้มรายล้อมไปด้วยเสียงเพลงอยู่เสมอ เสียงเพลงเด็ก เสียงจากเครื่องดนตรีต่างๆ รวมไปถึงเสียงการเล่านิทาน โดยนิทานที่แม่น้ำส้มเตรียมนำมาแบ่งปันคือนิทานชื่อเรื่องว่า ‘คุณเต่ากับเจ้าเหมียว’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ตัวโปรดของลูกชายคนโต
ท้ายที่สุด อุ๊ทิ้งท้ายไว้ว่านิทานที่พ่อแม่เป็นผู้เล่าด้วยตัวเอง นั้นสมจริงกว่านิทานเรื่องไหนๆ ที่ลูกได้ฟังมา
“นิทานที่จะได้ฟังกันผ่าน Stories from Home Podcast นั้น ผู้ฟังจะได้ฟังทั้งเสียงพ่อ แม่ ผู้เล่า และเด็ก บางครั้งมีการเปลี่ยนหน้าที่กันด้วย มันคือเสียงของการเชื่อมโยง ความผูกพัน และการแบ่งปันเวลาที่มีค่าและพิเศษเฉพาะของแต่ละบ้าน เป็นความสัมพันธ์ที่ ‘จริง’ ท่ีละครก็ให้ไม่ได้”