- Blue Period คือ อนิเมะบอกเล่าเรื่องราวของคนเรียนศิลปะที่ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย ทั้งค่านิยมของสังคมมีต่ออาชีพสายศิลปะ ความกดดันจากการแข่งขันในการสอบเข้า ค่าใช้จ่ายอุปกรณ์มหาศาล หรือแม้กระทั่งการโน้มน้าวใจคนในครอบครัวให้เชื่อมั่นในตัวพวกเขา
- ยาโทระ นักเรียนมัธยมปลายหัวดีที่เพิ่งค้นพบว่าตัวเองชอบวาดรูป และอยากเรียนศิลปะ แต่ฐานะทางบ้านที่สวนทางกับค่าใช้จ่ายในการเรียน กลับทำให้เป้าหมายของเขาไกลออกไปทุกที จะทำอย่างไรเมื่อการอธิบายให้แม่เข้าใจกลายเป็นเรื่องยาก
- เป้าหมายของลูกจะไม่มีวันสำเร็จ หากแม่ยังกังวลใจและไม่เชื่อมั่นในตัวลูก ความสัมพันธ์และบทบาทที่เปลี่ยนไปเมื่อลูกโตขึ้น
“ ผมไม่อยากให้แม่เป็นห่วงผมอย่างเดียว แต่อยากให้แม่เชื่อใจผมด้วย สักนิดก็ยังดี ”
ยาโทระ ยางุจิ นักเรียนมัธยมปลายหัวดี จากอนิเมะสัญชาติญี่ปุ่นเรื่อง Blue Period บอกแม่อย่างตรงไปตรงมาว่า เขาชอบศิลปะและอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะ แม้ว่าเส้นทางชีวิตต่อจากนี้ที่เขาเลือกจะไม่ตรงใจแม่ก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ยาโทระไม่มีความฝัน ไม่มีสิ่งที่ชอบเป็นพิเศษ ใช้ชีวิตอย่างอิสระตามประสาเด็กมัธยมปลาย ถึงจะออกไปเที่ยวกลางคืนยันเช้า แต่ก็ไม่เคยขาดเรียน แถมยังเรียนดีระดับท็อปห้องด้วย
แต่วันหนึ่งนักเรียนคนนี้ก็ถูกภาพวาดสีน้ำมันของรุ่นพี่ในห้องชมรมศิลปะดึงดูดความสนใจ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ยาโทระอยากเรียนศิลปะ
หากในสังคมเอเชีย ศิลปะมักเป็นตัวแทนของความไม่มั่นคง ทั้งๆ ที่ทุ่มแรงกายแรงใจเสียค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งค่าอุปกรณ์และค่าเรียนเสริม แต่รายได้กลับสวนทาง ทำให้ศิลปะถูกผลักให้เป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้นในสายตาของใครหลายคน
แม่ของยาโทระคือหนึ่งในคนที่คิดแบบนั้น..
“แต่ว่ายัคคุง ไม่ได้จะวาดภาพเป็นอาชีพหรอกใช่ไหม”
แม่บอกลูกชาย เพราะห่วงว่าสถานการณ์ทางการเงินของบ้านจะไม่สามารถส่งให้ลูกเรียนศิลปะตามที่เขาต้องการได้ ‘เกได’ จึงเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ยาโทระจะต้องสอบเข้าให้ได้
แต่อุปสรรคคือ ยาโทระเหลือเวลาเตรียมตัวสอบเพียง 1 ปีเท่านั้น แต่เขาไม่ยอมแพ้และใช้เวลาตลอดซัมเมอร์ฝึกฝนวาดรูปอย่างหนัก โดยหวังว่าช่วงเวลาเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มทักษะที่ขาดหายไปได้
แม้เป้าหมายตรงหน้าจะท้าทาย แต่สำหรับคนขยัน ทะเยอทะยาน และชอบทำเป้าหมายให้สำเร็จอย่างยาโทระแล้ว ความท้าทายนี้คงกลายเป็นแค่ก้อนหินก้อนเล็กๆ ที่เข้ามาขวางทางเท่านั้น เพราะก้อนหินชิ้นโตที่แท้จริงสำหรับเขา คือ ความคิดเห็นจากแม่ต่างหาก
เพราะจริงๆ แล้ว มากกว่าค่าเล่าเรียน สิ่งที่แม่ห่วงคือ กลัวลูกชายผิดหวัง ยาโทระเพิ่งเปิดใจให้กับการวาดภาพได้ไม่นาน แต่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะรัฐที่มีอัตราการแข่งขันสูงลิ่ว ถึงลูกจะเป็นคนหัวดี แต่ก็มีโอกาสที่จะผิดพลาด
และที่สำคัญคือ เธอเป็นแม่บ้านที่ไม่รู้เรื่องศิลปะเลย และไม่มั่นใจว่า ในอนาคตเส้นทางของลูกจะเป็นอย่างไร ได้แต่หวังว่าลูกคงไม่จริงจังอะไร และรอจังหวะที่จะได้เปิดอกคุยกัน
แต่เธอคิดผิด เมื่อเจอกองผลงานที่ยาโทระวาดไว้กระจัดกระจายเต็มห้องนอน ตอนนั้นเองถึงได้มั่นใจว่าลูกรักศิลปะจริงๆ
เป็นห่วงได้ เป็นเรื่องธรรมดา
ระหว่างที่แม่กำลังทำใจยอมรับเรื่องเป้าหมายของลูก ยาโทระก็ได้รับแรงสนับสนุนจากชมรมศิลปะ เพื่อนร่วมชั้น อาจารย์ หรือแม้แต่วิวชิบูย่าตอนเช้ามืดก็ทำให้ยาโทระมีกำลังใจและทุ่มเทกับสิ่งที่เขารักอย่างเต็มที่ให้กับโลกที่ใครต่อใครมองว่าสิ่งที่เขากำลังพยายามอยู่ ปลายทางจะเป็นเพียงงานอดิเรก
จนสุดท้าย นักเรียนมัธยมปลายคนนี้ก็ตัดสินใจว่าจะเรียนวาดภาพอย่างจริงจังเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะให้ได้ และเมื่อตั้งเป้าหมายไว้แล้ว เขาจะทำทุกทางเพื่อให้มันเกิดขึ้นจริง แต่เป้าหมายนี้คงไม่สำเร็จ ถ้าแม่ยังไม่อนุญาตและเชื่อในตัวเขา
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยาโทระมีอิสระในการเลือกทำอะไรด้วยตัวเองอยู่เสมอ แต่พอพูดเรื่องเรียนต่อในมหาวิทยาลัยศิลปะ แม่จะมีท่าทีลังเลไม่น้อย
“แม่ว่า เกได มันไม่ค่อยเข้าท่าหรอครับ?” ยาโทระโยนหินถามทางด้วยคำถามสั้นๆ
“แล้วทำไมอยากเข้าเกไดขนาดนั้นล่ะ?” แม่ไม่ตอบแต่ถามกลับ
เพียงเท่านี้ลูกชายเพียงคนเดียวก็พอจะคาดเดาได้ว่า แม่คงไม่เห็นด้วยเท่าไร แต่ก็ไม่ถึงกับปฏิเสธ ซึ่งหมายความว่ายาโทระยังมีหวัง
เขาขอเวลาแม่เพื่อพูดคุยเรื่องมหาวิทยาลัยอีกครั้ง ก่อนจะยื่นภาพสเก็ตช์ของตัวเธอเองที่ยืนหันหลังอยู่ในครัวให้ พร้อมอธิบายว่า เขาไม่แน่ใจว่าจะสามารถเรียบเรียงเป็นคำพูดได้ดี แต่หวังว่ารูปเล็กๆ ขนาดเท่าฝ่ามือนี้จะพูดความรู้สึกในใจของเขาได้
“มือของแม่ จมูกเล็บฉีกเพราะล้างจานด้วยน้ำร้อน และเพราะต้องแบกของหนักเวลาไปซื้อของ แขนเลยมีกล้ามเนื้อกว่าที่คิด พอวาดไปเรื่อยๆ ผมก็นึกขึ้นได้ทีละเล็กทีละน้อย เลยคิดได้ว่าคนคนนี้คิดถึงเพียงแต่ครอบครัวอยู่เสมอ ถ้าไม่ได้วาดรูป ผมคงไม่ได้สังเกตสิ่งเหล่านี้”
ขณะที่แม่นึกเป็นห่วง คำพูดของลูกก็ทำให้เธอเพิ่งรู้ว่า ศิลปะมีความหมายกับเขาอย่างไรเป็นครั้งแรก
เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะห่วงลูก แต่บางครั้งความเป็นห่วงอาจทำให้ลูกไม่สบายใจ เขาอาจจะไม่ได้ต้องการเพียงความห่วงใย แต่อาจต้องการใครสักคนที่เชื่อมั่นและเป็นกำลังใจในสิ่งที่เขาเลือก
วันหนึ่งที่ลูกโต เบาะรองของพ่อแม่จะโอบกอดเขาได้เสมอ
“ขอโทษที่ผมเป็นลูกที่ดีไม่ได้ ผมอาจจะไม่มีพรสวรรค์ แต่ว่าผมอยากทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ตอนนี้เพื่อการวาดรูป ผมอยากจะเก่งขึ้นกว่านี้ อยากจะเห็นโลกอีกหลายใบ เพื่อที่จะทำแบบนั้นได้ ผมไม่อยากให้แม่เป็นห่วงผมอย่างเดียว แต่อยากให้แม่เชื่อใจผมด้วย สักนิดก็ยังดี”
ก่อนที่แม่จะตอบกลับว่า “ขอบคุณนะที่มาพึ่งพาแม่”
ยาโทระไม่ได้อยากให้แม่เลิกเป็นห่วง เขาแค่อยากให้แม่เลิกกังวลและเชื่อใจว่าลูกชายคนนี้จะทำได้ดีในสิ่งที่เขาเลือกเอง เพียงเท่านี้ที่เขาร้องขอ…
ไม่เป็นไรเลย ถ้าแม่จะไม่เข้าใจศิลปะ เพราะบางทีสิ่งที่ยาโทระอยากได้ยินอาจจะไม่ใช่ ‘คำอนุญาต’ แต่เป็น ‘คำยินดี’ จากแม่ที่รู้ว่าในที่สุดเขาก็ได้เจอตัวตนที่ชอบเสียที
เพราะเมื่อวันหนึ่งที่ลูกโต เขาจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับเป็นผู้ให้ เริ่มสังเกตและใส่ใจแม่ ถึงลูกจะปฏิเสธเกราะป้องกันที่แน่นหนาของพ่อแม่ แต่เขาอยากหันกลับไปแล้วเห็นแม่ยืนยิ้ม ชื่นชม พร้อมกับถือเบาะรองจากที่ไกลๆ เผื่อวันไหนที่ลูกล้มหรือเจอความผิดพลาด พ่อแม่จะยังเป็นคนแรกๆ ที่โอบกอดเขาเสมอ
บทบาทที่เปลี่ยนผัน ในวันที่ลูกโตขึ้น
การเปลี่ยนแปลงบทบาทเล็กๆ ระหว่างยาโทระกับแม่ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามวัยของทั้งสองคน บางครอบครัวอาจไม่ทันสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงอันเล็กจ้อยนี้ แล้วคาดหวังต่อกัน
คาดหวังว่าแม่จะเข้าใจ และ คาดหวังว่าลูกจะเข้าใจ
ความสัมพันธ์ของแม่ลูกจาก Blue Period ก็เป็นแบบนั้น
แม่ตั้งหลักไม่ทันที่วันหนึ่งลูกชาย ซึ่งใช้ชีวิตธรรมดาๆ ไม่มีความสนใจอะไรเป็นพิเศษจะหันมาหลงใหลงานศิลปะ เธอปฏิเสธความจริงและหวังว่ายาโทระจะแค่ชอบวาดภาพเป็นงานอดิเรก ในขณะที่ลูกก็หวังให้แม่เข้าใจตัวตนของเขาเช่นกัน
เมื่อผ่านจุดที่คาดหวังในกันและกัน ทั้งคู่ได้มีโอกาสพูดคุยอีกครั้ง แม่จึงเข้าใจว่า ยาโทระก็แค่โตขึ้น เขาไม่ได้หันหลังให้เธอ เพียงแต่ได้เจอสิ่งที่อยากทำ สุดท้ายเด็กมัธยมปลายคนนี้ก็ยังต้องการที่พึ่งพา และที่พึ่งที่ว่าก็คือ แม่
การค้นพบตัวเองของลูกในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเพศ ตัวตน ความชอบ หรืออะไรก็ตามแต่ที่ไม่ตรงกับความคาดหวังของพ่อแม่ อาจจะทำให้ลูกต้องเจ็บปวดเพราะรู้สึกไม่มีสิทธิ์ในชีวิตของตัวเอง ต้องใช้ชีวิตโดยตั้งอยู่บนความคาดหวังของพ่อแม่
ตรงกันข้าม พ่อแม่ก็อาจจะรู้สึกสูญเสียลูกด้วยเช่นกัน ในเมื่อเราต่างก็หวังให้อีกฝ่ายเข้าใจ หากทั้งลูกและพ่อแม่ได้ลองสวมมุมมองของกันและกันดูบ้าง อย่างที่ยาโทระกับแม่เปิดใจคุยกันและเปล่งความต้องการของตนออกมา อาจจะช่วยคลี่คลายความรู้สึกติดค้างในใจของลูกและพ่อแม่ก็ได้
ตัวตนที่แข็งแกร่ง เริ่มต้นได้จากครอบครัว
ความหวังของแต่ละคนที่เอาไปวางไว้บนบ่าของอีกฝ่ายถูกแสดงผ่านคำพูดและการกระทำ
เมื่อทั้งคู่กล้าแสดงความรู้สึกตามใจต้องการ แม้จะไม่ได้มีคำพูดที่สวยหรู แต่เพียงบทสนทนาเรียบง่ายและภาพวาดฝีมือลูกชายก็สามารถปลดล็อกปัญหาคาใจระหว่างยาโทระกับแม่ได้
ที่ผ่านมาเธออาจจะไม่รู้ว่าลูกคิดอะไรอยู่ แต่พอได้ฟังความรู้สึกในใจลูก เธอก็เริ่มเข้าใจ เมื่อแม่ยอมรับและโอบกอดตัวตนนี้ของลูกไว้ ยาโทระก็สามารถก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางที่เขาเลือกได้อย่างมั่นคง
ไม่ใช่เรื่องแย่หรือน่าผิดหวังที่พ่อแม่จะปล่อยมือให้ลูกได้เดินด้วยตัวเอง เพราะเขาจะรับรู้ได้เองว่า พ่อแม่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้กลับมาหาในเวลาที่เขาต้องการ เหมือนกับบ้านยางุจิที่มีพื้นที่เล็กๆ บนโต๊ะอาหารเป็นพื้นที่เคลียร์ใจอยู่เสมอ
สำหรับครอบครัวยางุจิ ‘ศิลปะ’ คือ ตัวแปรความสัมพันธ์ที่ทำให้แม่เป็นห่วงลูก ครั้งแรกการยอมรับความจริงเป็นเรื่องยาก แต่เธอก็รับรู้ว่ายาโทระรักและตั้งใจมากแค่ไหน ถึงเธอจะเป็นเพียงแม่บ้านที่ไม่รู้เรื่องศิลปะ และทางข้างหน้าก็อาจจะไม่ได้สวยงามอย่างที่ลูกคิด แต่สิ่งเดียวที่เธอทำได้ คือ เชื่อใจ
เชื่อใจว่าลูกจะผ่านทุกปัญหาและอุปสรรคไปได้ด้วยตัวเขาเอง ตัวตนที่แข็งแกร่งจะทำให้เขาลุกขึ้นใหม่ได้ แม้จะล้มเหลว แน่นอนว่ายาโทระจะยังมีแม่ที่คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลัง และรอเพิ่มพลังในวันที่ลูกต้องการเสมอ