เดชรัต สุขกำเนิด

แพ้แต่ไม่ผิด ฝึกทุกการตัดสินใจในชีวิตผ่าน ‘บอร์ดเกม’

ใครต่อใครก็บอกยุคนี้คือยุคของเกมออนไลน์

ตามประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยยุคอียิปต์โบราณ​มีข้อมูลหลักฐานระบุถึงการค้นพบเกมกระดานเก่าแก่ที่สุดชื่อว่า Senet โดยค้นพบในสุสานสมัยก่อนราชวงศ์และราชวงศ์ที่หนึ่ง แม้ยังคงถกเถียงกันถึงวิธีการเล่นที่ถูกต้อง ทว่าเกมกระดานเกมนี้ได้ทิ้งมรดกและสะท้อนว่า ‘มนุษย์’ กับ ‘เกม’ ไม่เคยถูกแยกห่างจากกัน

เมื่อโลกเปลี่ยนไป เกมกระดานก็พัฒนาไปตามวิวัฒนาการของยุคสมัย จากเดิมที่เคยเรียกว่าเกมกระดาน ปัจจุบันเรากลับคุ้นชินกับเกมประเภทนี้ภายใต้ชื่อว่า ‘บอร์ดเกม’ และมันยังคงยืนหยัดไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา ซ้ำยังพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาพร้อมกติกาการเล่นที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ฉะนั้นบอร์ดเกมในยุคใหม่ จึงไม่ใช่แค่การทอยลูกเต๋าแล้วเดินไปตามจำนวนที่ทอยได้ หรือการจั่วการ์ดปริศนาและออกคำสั่งให้ฝ่ายตรงข้ามทำตาม แต่บอร์ดเกมยกระดับจนกลายเป็นสื่อเรียนรู้ชั้นเยี่ยม ที่อาศัยการวางแผน คิดวิเคราะห์ รวมถึงฝึกฝนทักษะการเจรจาต่อรองและการทำงานเป็นทีม ไล่ตั้งแต่ระดับง่ายไปจนถึงยากขั้นสุด

คุยทุกมิติของบอร์ดเกมกับ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะสมาชิกกลุ่ม ‘เถื่อนเกม’ กลุ่มที่เล่นบอร์ดเกมทั้งเพื่อความสนุกและใช้บอร์ดเกมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้สู่ประเด็นทางสังคม 

รวมถึง แดนไท สุขกำเนิด ลูกชายที่ตัดสินใจเข้าสู่โลกของบอร์ดเกมอย่างจริงจังตั้งแต่ ป.4 ก่อนขยับตำแหน่งจากผู้เล่นสู่นักพัฒนา จนวันนี้แดนไทกลายเป็นนักพัฒนาบอร์ดเกมในเชิงประเด็นสังคมไปแล้วด้วยวัยเพียง 18 ปี 

เกมคืออะไร

ถ้าพูดในแง่การเรียนรู้ เกมคือการฝึกฝนอย่างหนึ่ง

ในอดีตถ้าพูดถึงเกม เรานึกถึงการพุ่งแหลน หรือการวิ่งเพื่อล่าสัตว์และหลบหนีอันตราย มนุษย์ทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำไปมา ฝึกฝนมันอย่างมีกติกา ซึ่งคุณสมบัตินี้คือคุณสมบัติของเกม

สำหรับผม เกมคือพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเกมเชิงตอบสนองอารมณ์สนุก ไม่ได้เน้นคอนเทนต์หนักๆ เช่น หมากรุก ก็เป็นเกมที่ช่วยเรื่องการวางแผนและเรียกร้องการคิดอย่างเป็นระบบ ที่บอกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นขณะเล่นเกม จะต้องไม่เอื้อให้เรารู้สึกว่าเรากำลังทำผิดมากมายขนาดนั้น เกมทำให้เรารู้จักและมีโอกาสเรียนรู้ในด่านต่อไปได้ว่าตกลงแล้วควรที่จะปรับหรือแก้เกมได้อย่างไร ขณะที่บริบทอื่นๆ เช่น การทำแบบฝึกหัดหรือทำการบ้าน มันอาจจะไม่สนุกและทำให้รู้สึกกังวลว่าจะผิดไม่ได้ 

นอกจากนี้ด้วยลักษณะความว่องไวของเกมยังช่วยกระตุ้นให้เราต้องเร็ว คิดทันที ทำทันที บางเกมต้องสู้กันด้วยความไว อาศัยไหวพริบ สิ่งนี้มันยิ่งช่วยฝึกฝน เหมือนกับการที่เราได้ทำซ้ำหลายรอบโดยที่เราไม่รู้สึกตัว ความรู้สึกจะต่างจากการอ่านหนังสือหรือทำแบบฝึกหัด

ผมยกตัวอย่าง เกม Thai Democracy Timeline Game ของกลุ่ม ELECT: เป็นเกมเกี่ยวกับการไล่เลียงลำดับเวลาเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในเมืองไทย โดยผู้เล่นต้องไล่เลียงเหตุการณ์ผ่านการ์ดเกมว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดก่อนหรือหลังปี 2475 เป็นต้นมา

หรือ เกม River Bank เป็นเกมที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน เช่น ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้ง ผลกระทบอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง รวมไปถึงถ้าเกิดภาวะน้ำแล้ง เราต้องรับมือและจัดการน้ำอย่างไร 

จะเห็นได้ว่าบอร์ดเกมทั้งสองคือการนำเนื้อหาหนักๆ มาทำให้เราเข้าใจกลไกความหนักนั้น โดยไม่ต้องเปิดตำรา

 ใครก็บอกว่าเกมมีประโยชน์ แต่เราจะประเมินผลมันอย่างไร

 จริงๆ แล้วการประเมินผลเด็กหนึ่งคนที่เรียนรู้ผ่านเกม ประเมินได้ 3 อย่าง

อย่างแรกคือ เมื่อเล่นเกมกันเสร็จกลับไปประเมินผลกันด้วยข้อสอบวัดความรู้ตามปกติ

สองคือ เราประเมินจากการเล่นเกมได้ทันที เช่น ถ้าเกมนี้เขาเล่นแล้วเฟลจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เขาจะจัดการสถานการณ์อย่างไรในด่านต่อไป เราเฝ้าดูการบริหารจัดการของเขาได้ผ่านการเล่นเกม พูดง่ายๆ เหมือนกับการทำวิจัยเชิงคุณภาพ เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเกม แล้วกลับมาดูในชีวิตจริงว่าเขาเปลี่ยนไปอย่างไรก่อนประเมินผลออกมา 

อย่างที่สามคือ การประเมินผ่านสิ่งที่เด็กจะทำต่อไป ดูว่าหลังจากเขาเล่นเกมแล้วจะครีเอทออกมาเป็นชิ้นงานอื่นๆ ได้ไหม ยกตัวอย่าง เกม Just One คอนเซ็ปต์ของมันคือการใบ้คำ โจทย์คือผู้เล่นทั้งหมดจะต้องพยายามทายคำออกมา เช่น โจทย์คือคำว่าเกลือแกง เด็กๆ ต้องวางแผนการคิดว่าจะใบ้คำนี้อย่างไร โดยใช้คำให้กระจายออกไปหลายคำและต้องสื่อถึงคำว่าเกลือแกงมากที่สุด บางคนใบ้ว่าโซเดียมคลอไรด์ อีกคนหนึ่งใบ้ว่าทะเล หรือบางคนใบ้ว่าใช้ถนอมอาหาร ความสนุกอยู่ที่ทั้ง 4 คนปรึกษากันไม่ได้ เมื่อคำตอบถูกเฉลย เราก็แปลคำใบ้ตรงนั้นเป็นความรู้ว่าเกลือแกงสามารถเอาไปใช้ในชีวิตจริงในด้านใดได้บ้าง

Board Game, Game Based Learning และ Gamification เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

สำหรับบอร์ดเกม กับ gamification ไม่ได้เหมือนกันทีเดียวนะครับ บอร์ดเกมเป็นประเภทของเกม แต่กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นผ่านเกมเราจะเรียกว่า game based learning หรือ gamification

game based learning ก็คือการเล่นเกมที่เราตั้งโจทย์เพื่อไปสู่การเรียนรู้ เราเอาการเรียนรู้เป็นตัวตั้งต้น เช่น เราต้องการรณรงค์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในทะเล เกมจะพาเราเรียนรู้อะไรได้บ้าง เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องขยะ การเรียนรู้เกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำ จากนั้นเรามาพัฒนาเครื่องมือและค้นหาวิธีเล่นเกมให้ตอบโจทย์กับการเรียนรู้นั้น

ส่วน gamification หมายถึงกระบวนการที่ทำให้พฤติกรรมในชีวิตจริงมีความเป็นเกมอยู่ในนั้น เช่น เราเป็นครูที่สอนหนังสือ เราลองตั้งกติกาในการส่งการบ้านของนักเรียน เอาเวลามาเป็นลูกเล่น ถ้าใครส่งเร็วได้คะแนนเพิ่ม 

หัวใจของ gamification คือการเพิ่มความคึกคักให้สิ่งที่ทำอยู่แล้วในชีวิตจริงเหมือนกับความเป็นเกม 

การเล่นเกมเป็นหนึ่งในพฤติกรรมของมนุษย์ ตามหลักเศรษฐศาสตร์เราสามารถอธิบายความเกี่ยวข้องของพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร 

โดยพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มันคือการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการตัดสินใจของมนุษย์อยู่ ฉะนั้นเศรษฐศาสตร์ต้องการแค่อยากให้มนุษย์ฝึกเรื่องของการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ต่างๆ เท่านั้น 

แต่ดูเหมือนกลายเป็นว่าวิชาเศรษฐศาสตร์กับเกมมีความสัมพันธ์กันเยอะ เนื่องจากความเป็นเกมมันอาศัยทักษะการตัดสินใจเยอะมากๆ หากเทียบกันกับการกระทำอย่างอื่น การเล่นเกมถือว่าใช้การตัดสินใจแทบจะทุกวินาที มันอาจจะไม่ได้เทียบเคียงกับวิชาโดยตรง ในทางเศรษฐศาสตร์เราอาจจะบอกไม่ได้ว่าแรงจูงใจที่ทำให้นักแบดมินตันเปลี่ยนจากตบเป็นหยอดหรือเปลี่ยนจากหยอดเป็นโยกคืออะไร เราไม่รู้จะอธิบายในทางเศรษฐศาสตร์ออกมาอย่างไร แต่ถ้าในบอร์ดเกมเราสามารถที่จะอธิบายได้ เพราะนักแบดประเมินสถานการณ์คู่ต่อสู้เฉพาะหน้าอะไรแบบนี้

อีกแง่หนึ่ง ความเป็นเกมช่วยทำให้การเรียนการสอนในทางเศรษฐศาสตร์ง่ายขึ้น เพราะมันได้ทดลองจริง เล่นเกมจริง ได้ลงมือทำจริงๆ ทำอย่างปลอดภัย ผ่านการตัดสินใจในเกม

นอกจากองค์ประกอบการตัดสินใจ เราพบอะไรในบอร์ดเกมที่เหมือนกับองค์ประกอบทางเศรษฐศาสตร์บ้าง 

ที่เหมือนที่สุดน่าจะเป็นแรงจูงใจของมัน ในการเล่นบอร์ดเกมเราจะพบแรงจูงใจที่ไม่ใช่แรงจูงใจเชิงผลประโยชน์เยอะกว่าในชีวิต เวลาเราพูดถึงระบบเชิงเศรษฐกิจ เราจะรู้สึกว่าทุกการตัดสินใจของมนุษย์เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ แต่พอมาเล่นเกม เราจะมีโอกาสได้เห็นการตัดสินในมิติอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น

เช่น เกมวารีพินาศ เราเห็นการแข่งกันประมูลแย่งกระสอบทรายเพื่อเอาไปป้องกันน้ำท่วม แต่พอถึงจุดหนึ่ง กระสอบทรายที่เราอุตส่าห์ประมูลแข่งแย่งกับเพื่อนอีกคน สุดท้ายเรากลับยกกระสอบทรายนั้นไปให้เพื่อนเพราะว่าน้ำกำลังจะท่วมบ้านเพื่อน นี่คือสิ่งที่เศรษฐศาสตร์เรียนรู้ได้จากเกม 

เกมสามารถมาอธิบายได้ว่าแรงจูงใจของมนุษย์มีหลายรูปแบบ ซึ่งก็สะท้อนข้อจำกัดของวิชาเศรษฐศาสตร์ ถ้าเราพูดในภาษาเศรษฐศาสตร์ เรามักจะบอกว่ามนุษย์เป็น self oriented นั่นคือสนใจตัวเองเป็นหลัก แต่เกมทำให้เรารู้ว่าไม่ใช่แบบนั้น และเกมก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าไม่ต้องช่วยทุกคน 

อย่างต่อมาที่น่าจะเหมือนกันก็คือกติกา ในหลักเศรษฐศาสตร์เราต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เป็นเพราะเขาอยู่ภายใต้กติกาอะไรบางอย่างที่มันซ่อนเร้น ซึ่งกติกาบางอย่างที่ซ่อนเร้นเป็นเรื่องน่าคิด เพราะมันมีผลในทางเศรษฐศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ทำไมสมัยก่อนบ้านเราไม่มีรั้ว ทำไมสมัยนี้บ้านเราถึงมีรั้ว เพราะรั้วทำให้เราพึงพอใจเพิ่มขึ้น รู้สึกปลอดภัยขึ้น ไม่ต่างจากเกมที่มีเงื่อนไขและกติกากำหนดให้คนผู้เล่นตัดสินใจออกแบบการเล่นของตัวเอง 

เกมเหมือนเป็นโลกจำลอง ดังนั้นถ้าถอยออกมา เราเป็นคนสร้าง ถ้าเราอยากให้บอร์ดเกมเป็นไปเพื่อสร้างการเรียนรู้ เราต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอะไรบ้าง

การเป็นคนสร้างบอร์ดเกมเป็นโลกที่น่าสนใจมากเลย 

อย่างแรกเราต้องคิดถึงเป้าหมายการเรียนรู้ของเราไว้ว่าเราต้องการให้ผู้เรียน เรียนรู้อะไร ต่อมาเราต้องคิดว่าผู้เรียน (ผู้เล่น) เขาจะเป็นยังไง รู้สึกยังไง เพราะฉะนั้นคนออกแบบบอร์ดเกมต้องเหมือนเข้าไปนั่งในหัวคนเล่นหลายๆ รูปแบบ ถ้าคนเล่นที่ขี้กลัว ไม่กล้าเสี่ยง เขาจะรู้สึกอย่างไรเมื่อเล่นเกมของเรา หรือผู้เล่นที่บุ่มบ่าม ผู้เล่นสายลุย ผู้ที่ชอบเจรจาต่อรอง เราต้องเข้าไปนั่งในหัวของคนหลายคนมาก 

สิ่งที่ทำให้บอร์ดเกมต่างจากการเลคเชอร์คือ การเลคเชอร์ไม่เคยเรียกร้องให้เราเข้าไปนั่งในหัวของคนฟังด้วยซ้ำ ขอแค่สอนๆ ไปก่อน เราไม่ได้สนใจว่าผู้ฟังเขาฟังทันไหม ผู้ฟังไม่ได้เหมือนกันทุกคน บางคนฟังแล้วลืมเป็นระยะ บางคนถนัดฟังยาวๆ เราแทบจะไม่เคยนึกถึงสิ่งเหล่านี้เลย เราลุยของเราอย่างเดียว แต่ในบอร์ดเกมคิดแบบนั้นไม่ได้ 

ผมจะชอบเปรียบเทียบเสมอว่าคนออกแบบบอร์ดเกมเหมือนกับผู้กำกับการแสดง แต่ไม่ได้กำกับโดยการเขียนบทหรือเขียนกติกา สุดท้ายเราในฐานะผู้กำกับจะต้องเป็นคนเล่นเองด้วย จึงกลายเป็นว่า โลกของคนออกแบบบอร์ดเกม เราต้องนึกถึงทั้งเนื้อหาวิชา ตัวผู้เล่น กติกาการเล่น ไปพร้อมกันๆ 

ชวนอาจารย์คิดเร็วๆ จากบรรยากาศตอนนี้ ถ้าให้อาจารย์ทำบอร์ดเกม จะทำเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร

ถ้าในสถานการณ์ตอนนี้ อาจพูดถึงเรื่องโรคระบาดที่เกิดขึ้น สมมุติว่าสักวันหนึ่งมีวัคซีนสำหรับโควิด-19 แต่แน่นอนว่ามันอาจจะยังไม่พอสำหรับผู้คนทั้งประเทศ เราอาจจะหยิบประเด็นตรงนี้มาออกแบบบอร์ดเกม เราจะแจกจ่ายวัคซีนบน criteria หรือกฎเกณฑ์ของโรคอย่างไร หรือถ้าโลกยังต้องเผชิญ กับการระบาดหนักขึ้นแต่วัคซีนยังไม่พอ เราจะมีวิธีการแจกจ่ายวัคซีนที่เหมาะที่สุดอย่างไร โมเดลมันควรจะเป็นยังไง นี่คือเกมที่อยากทำ 

หรืออีกเกมหนึ่ง ผมอยากทำเกมที่จำลองกับชีวิตจริงมากกว่านี้อีก เช่น การจัดสรรงบประมาณของแต่ละจังหวัด เอาข้อมูลมาออกแบบเป็นบอร์ดเกมดูว่าจังหวัดนั้นอยากจะพัฒนาอะไรในแต่ละปี แล้วจำลองให้คนในจังหวัดมาร่วมเล่นเกมกัน ดูว่ามันสะท้อนความต้องการของคนในจังหวัดอย่างไรบ้าง

เด็กไม่เรียนรู้ผ่านเกมได้ไหม

ผมคิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่เรามักลืมให้ความสำคัญกับมัน ก็คือความรู้สึกของผู้เรียน หรือ learning mood 

ความรู้สึกระหว่างการเรียนรู้สำคัญมาก ถ้าเอาแต่พูดถึงวัตถุประสงค์ เช่น เด็กต้องเรียนรู้สิ่งนี้ สิ่งนั้น แต่ไม่ได้นึกถึงความรู้สึกของผู้เรียน ซึ่งมันมีผลเพราะอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ 

ในช่วงหนึ่งเราทำสิ่งนี้ตกหล่นไปจากระบบการวางแผนออกแบบเรื่องการเรียนรู้ของเมืองไทย เราลืมคิดว่าความรู้สึกของคนเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นถ้ามีคนถามผมว่าเกมมันดีที่สุดไหม ไม่ใช่หรอก มันอยู่ที่ learning mood มากกว่า แม้วัตถุประสงค์เดียวกัน แต่เราอยากจะให้มันมี learning mood ที่ต่างกันได้  

หมายความว่าการเรียนรู้กับความรู้สึกสนุก ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นด้วยกันเสมอไปทุกครั้ง?

อย่างบางเกม ถามว่าสนุกไหม มันก็จะสนุกแบบเครียดครับ คือเราใช้ความคิดกับมันหนักมาก แต่ถ้านี่คือความอิ่มเอมก็อาจจะเป็นความสนุกก็ได้สำหรับบางคน ฉะนั้นเวลาเราพูดถึงความสนุกในเกมมันไม่ใช่ความสนุกแบบต้องหัวเราะเอิ๊กอ๊าก มันมีความสนุกหลายแบบ สุดท้ายผมเลยต้องย้ำคำว่า learning mood 

เราอยากได้ learning mood แบบว่า deep มากๆ เล่นแล้วเครียด เราก็ต้องออกแบบเกมให้มันเกิดความรู้สึกเครียดในนั้น แต่สุดท้ายไม่ว่ายังไงก็ตาม ก็ต้องย้อนกลับไปถึงหัวใจของเกมที่กล่าวไปแล้วว่าเกมต้องเป็นความสนุกและปลอดภัย มันอาจจะเครียดได้ แต่สุดท้ายหลังจากเล่นเสร็จต้องปลอดภัย 

ผมยกตัวอย่างเกมเรื่องรัฐสวัสดิการ มันคือเกมสนุก แต่ไม่ใช่สนุกที่ต้องหัวเราะ เพราะในเกมจะต้องมีคนรับบทเป็นคนรวย คนจน และเขาจะต้องโวยถึงปัญหาปากท้องของเขา เขาต้องสวมบทบาทการเลือกเกิดไม่ได้ ซึ่งนี่คือ learning mood ที่ซ่อนไว้อยากให้เกิดในเกม 

เราก็ทราบกันดีว่าแดนไท (ลูกชาย) อยู่กับการเรียนรู้ผ่านเกมมานาน เขาเป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับแดนไทวันนี้ เขามีสถานะหลายอย่างแล้ว

หนึ่ง-เขาคือคนที่เรียนรู้ผ่านการเล่นเกม 

สอง-เขาคือคนที่เรียนรู้ในฐานะคนออกแบบเกม 

สาม-เขาคือคนที่เรียนรู้ในฐานะผู้ประกอบการ 

การที่เขาเปลี่ยนสถานะจากคนเล่นมาเป็นคนออกแบบเกม มันช่วยทำให้แดนไทยต้องเข้าไปลึกถึงเนื้อหาเรื่องนั้นๆ มากขึ้น เขาต้องทดลองค้นหา learning mood ในเกมของเขา หมายความว่าสิ่งนี้จะช่วยทำให้เขาฝึกคิดเรื่องอารมณ์หลายรูปแบบ ไม่ต่างจากการรับบทบาทผู้ประกอบการ ขอบเขตงานเขาคือ ต้องดูแลลูกค้า จะได้เรียนรู้อีกแบบหนึ่ง วัตถุประสงค์ของเขา ทีมงานของเขา การบริหารจัดการเรื่องการเงินต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้แดนไทยได้มีการเรียนรู้ที่ครบถ้วน 

ทั้งหมดทั้งมวลจะทำให้เขาตัดสินใจได้เองว่าก้าวต่อไป เขาจะไปต่อด้านไหน ถ้าเขาจะไปต่อในแง่ของความเป็นเกม เขาจะต้องลงไปถึงระดับปรัชญาของเกมไหม  

ส่วนตัวผมเคยพูดไว้นานแล้วว่าเราไม่เคยบังคับให้ลูกเป็นอะไร เมื่อลูกอยู่ในระดับประถม เราเห็นเขาเป็นผู้ผลิต เขาออกแบบเกม เขียนบทความ ทำของเล่นเอง แทบจะไม่ต้องซื้อเลยเพราะเขาก็จะเอาตรงโน้นตรงนี้มาตัดทำเล่นเอง 

ผมคิดว่าการฝึกลูกให้เป็นผู้ผลิต ต้องเร็ว ถ้าเราเลยมาจนถึงมัธยม ไอ้ความรู้สึกเป็นผู้บริโภคมักจะชนะผู้ผลิต ถ้าความรู้สึกความเป็นผู้ผลิตเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก มันจะรู้สึกว่า เอ๊ะ บางเรื่องเราจะต้องการจริงไหม ถ้าเราต้องการจริงแล้วเราจะผลิตมันไหม แล้วเราจะผลิตยังไง ให้คนชอบ 

พอระดับมัธยม ผมอยากจะฝึกเรื่องการประกอบการ มันคือการทำงานร่วมกับคนอื่นจนสำเร็จ จริงๆ ผมไม่ได้คิดเรื่องกำไรหรืออะไร แต่อยากให้เขาลองดำเนินการอะไรสักอย่างให้ลุล่วงไปได้ก็พอ

พอถึงวัยมหาวิทยาลัย เราอยากเห็นเขาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงทางสังคมอะไรบางอย่างได้ ซึ่งตอนนี้ แดนไท ทำกลุ่ม Deschooling Game ส่วนกระติ๊บเคลื่อนไหวในนามกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ผมก็รอดูทั้งสองคน ขั้นสุดท้ายมันอาจจะยากไปสักหน่อย แต่ก็ไม่เป็นไร ถ้าได้มันก็ดี อย่างน้อยเขาก็ลองคิดที่จะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงทางสังคมและลองทำมันดูแล้ว 

อาจารย์วางบทบาทของตัวเองกับลูกทั้งสองคนไว้อย่างไร  

มันต้องมี space ที่มันเหมาะสม หมายความว่าเราต้องรักษาระยะที่ห่างพอสมควร ให้เขาสามารถคิดแล้วก็เติบโตได้ด้วยตัวเอง แล้วก็เลือกเส้นทางของเขาเองเป็นหลัก ส่วนเราก็อาจจะมีหน้าที่ให้คำแนะนำ คำแนะนำของเราก็ต้องไม่ใช่คำชี้แนะ เปรียบเหมือนกับการพูดเปรยๆ ว่าเรื่องนี้เคยเห็นหรือยัง เคยดูหรือยัง อะไรอย่างนี้ 

เราคิดว่าหน้าที่สำคัญของพ่อแม่คือการสังเกตการณ์ 

เพราะการสังเกตการณ์จะช่วยให้เราเป็นผู้จุดประเด็นในการเข้าไปคุยกับเขา ส่วนจุดแล้วเขาจะรับหรือไม่รับก็เป็นสเต็ปที่เขาเลือกเอง ถ้าเขาไม่รับก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นประเด็นใหม่ๆ เราก็ต้องทำให้มันจริงจังมากขึ้น คุยกันอย่างตรงไปตรงมา

 คนที่เล่นเกมตั้งแต่เด็ก คาแรคเตอร์เมื่อโตขึ้น จะเป็นคนอย่างไร  

ผมเริ่มต้นจากการเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์แล้วจึงมาเล่นเกม เพราะฉะนั้นความรู้สึกของผมก็คือ เราก็ยังต้องฝึกเยอะๆ ซึ่งคนเล่นเกมก็มีลักษณะหลายรูปแบบ จนไม่สามารถตอบได้ว่าตกลงแล้วคนเล่นเกมมีลักษณะแบบใดแบบหนึ่งเพียงแบบเดียว แต่ผมว่ามันมีบางสิ่งบางอย่างที่สะท้อนแง่มุมของเหตุการณ์ปัจจุบัน นี่เป็นข้อสังเกตของผมเองนะ 

ผมคิดว่าคนเล่นเกมมีโอกาสในการตั้งคำถามเชิงระบบและโครงสร้างมากๆ หากเขารู้สึกรับไม่ได้กับความไม่เป็นธรรมของกลไกหรือกติกาที่ครอบเขาไว้ในเกม เขาจะรู้สึกได้รวดเร็วทันที ซึ่งเอามาใช้ในชีวิตจริงได้

ต้องยอมรับว่าบอร์ดเกมคือการเรียนรู้ที่มีต้นทุน บางกลุ่มอาจเข้าไม่ถึง อาจารย์พอมีไอเดียหรือมีวิธีการที่มีคอนเซ็ปต์การเรียนรู้คล้ายกันแนะนำไหม 

ไม่แน่ใจว่าประเด็นเรื่องหาเช้ากินค่ำจะเป็นประเด็นในแง่ไหน แต่ถ้ามองเรื่องต้นทุนด้านเวลา อันนี้ก็อาจจะแก้ไม่ได้ครับ เพราะในทางกลับกัน เวลาคือสิ่งสำคัญที่สุด เวลาช่วยสร้างประสบการณ์หรือความสัมพันธ์ร่วมกัน คือถ้าไม่มีแม้กระทั่งเวลา หมายถึงเราไม่สามารถให้เด็กมีประสบการณ์ร่วมกันได้ สังคมก็คงจะเป็นสังคมที่ดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องตั้งคำถามว่า คนในสังคมของเราควรที่จะมีเวลาที่อยู่กับครอบครัวยังไง 

เมื่อเห็นข่าวปัญหาในครอบครัว เราก็มักจะโทษว่าครอบครัวดูแลไม่ดี แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า ระบบให้เขามีเวลาอยู่ด้วยกันมากน้อยแค่ไหน ตัวเลขล่าสุดของยูนิเซฟ พบว่า ครอบครัวที่ฐานะยากจน ครอบครัวมีเวลาอยู่กับลูกหรือทำกิจกรรมกับลูกแค่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นี่แปลว่าเรากำลังทำให้เด็กรุ่นต่อไปซึ่งเกิดในครอบครัวที่ยากจนไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับครอบครัว แล้วเขาจะเติบโตไปยังไง

เพราะฉะนั้นถ้าตอบตรงไปตรงมา ถ้าครอบครัวไม่มีเวลาร่วมกัน เราก็ยังแก้ปัญหาการเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมไม่ได้ แต่ในทางกลับกันนั่นคือปัญหาที่ต้องเร่งแก้ 

พอจะมีอะไรที่ง่ายและสนุกนำมาทำเป็นเกมในบ้านได้ไหม

ถ้าเขาสามารถเข้าใจคอนเซ็ปต์ของเกม แม้กระทั่งนั่งรถอยู่ด้วยกัน เขาก็สามารถเล่นเกมได้ เช่น เล่นเกม 20 คำถาม นี่เป็นตัวอย่างเกมที่ผมเล่นกับแดนไทเป็นประจำเวลาอยู่ในรถด้วยกัน หรืองานบ้าน-งานสวน ก็นำมาพลิกแพลงเป็นเกมได้อยู่แล้ว มันก็จะคล้าย gamification นั่นคือการพยายามนำลักษณะของงานเหล่านี้มาทำให้ท้าทายขึ้น ตื่นเต้นเหมือนกับการเป็นเกม

เราได้ยินประโยชน์ของบอร์ดเกมมานาน แต่ทำไมมันยังไม่เป็นการเรียนรู้ในกระแสหลัก

มันยังมีข้อจำกัดอยู่เยอะ ข้อจำกัดด้านเวลาที่ไม่เหมาะกับการเอาไปใช้ในห้องเรียน เพราะเกมบางเกมอาจจะใช้เวลานานเกิน 50 นาที แต่ครูมีเวลา 50 นาทีในการสอนหนึ่งคาบ รวมไปถึงคนนำเกมที่บางเกมอาจจะต้องใช้มากถึง 6-7 คน แต่ให้คุณครูคนเดียวนำเด็ก 50 คน บางครั้งก็ทำไม่ได้

นอกจากนั้นบอร์ดเกมแต่ละบอร์ดเกมมันอาจจะตอบวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน แต่คุณครูอาจจะต้องเข้าสอนไม่รู้ตั้งกี่คาบในแต่ละสัปดาห์ เลยทำให้ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด มันก็เลยอาจจะกลายเป็นจุดที่ไม่ได้ถูกใช้แบบอัตโนมัติ

ผมเชื่อว่าคุณครูหลายท่าน เข้าใจแล้วว่าการเรียนรู้ผ่านเกมมันสนุก เรียนรู้ได้จริง แต่ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น เวลายังเป็นอุปสรรค ครูอาจจะใช้เวลาทั้งวันในการเตรียมบอร์ดเกม แต่ถ้าเตรียมเลคเชอร์ใช้ 3 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว 

ท้ายที่สุดแนวโน้ม 5 ปี 10 ปี การเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ผ่านเกม จะมีหน้าตาประมาณไหน

ผมคิดว่ามันคงเยอะขึ้นมากเลย แต่ยังมีประเด็นสำคัญคือการยกระดับให้เด็กลองมาเป็นผู้ประกอบการ ตอนนี้เรายังไปไม่ถึงเด็กๆ ยังไม่ได้สัมผัสกับอาชีพนักออกแบบบอร์ดเกม เหมือนอยู่ในภาวะคอขวดอยู่ จึงตอบไม่ได้ว่าอนาคตจะรุ่งโรจน์แค่ไหน จะมีบอร์ดเกมให้ใช้เยอะขึ้นจริงไหม เพราะเรายังไม่สามารถสร้างความเป็นอาชีพที่แท้จริงให้กับเขาได้ 

ผมเชื่อว่าความเป็นผู้ประกอบการหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นคนพิมพ์เกม (publisher) คนที่ทำร้านบอร์ดเกม หรือคนออกแบบเกม ตอนนี้ทุกคนล้วนอยู่ในสภาวะลุ้นทั้งสิ้น เราก็เลยยังตอบไม่ได้ว่าจะสถาปนาตัวเกมให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมต่างๆ ในสังคมเราได้มากน้อยแค่ไหน ทุกอย่างต้องไปคู่กันเหมือน supply กับ demand ตอนนี้มันเหมือน demand เพิ่มขึ้น แต่ว่ามันไม่ได้เป็น demand ที่มั่นคงมากพอ ที่จะทำให้ supply มั่นใจได้ว่าตัวเองจะอยู่รอด ต้องพยายามและก็ต้องจับตาดูอีกสักพักมั้งครับ

การเรียนรู้ผ่านบอร์ดเกมแนวนี้ มันอยู่ภายใต้ข้อจำกัดอยู่แล้วครับ

การเรียนรู้เช่นนี้ยังจำกัดอยู่สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น เราไม่สามารถให้เวลากับพ่อแม่เอาไปใช้อยู่กับลูกได้ ซึ่งหลายประเด็นยังคงต้องแก้ด้วยนโยบายเรื่องเศรษฐกิจ สังคม เราแก้ไม่ไหว แต่อาจจะช่วยให้คนที่มีทรัพยากรน้อย สามารถใช้ได้ ขณะนี้แดนไทเขาทำบอร์ดเกมฟรีสามารถปรินท์ไปเล่นกันได้ ซึ่งอาจจะช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ก็อยู่ภายใต้สิ่งที่เราอาจจะใช้คำใหญ่ๆ ว่า ระบบนิเวศการเรียนรู้ 

ระบบนิเวศการเรียนรู้ของเมืองไทยตอนนี้ได้รับการสนับสนุนน้อยไปหน่อย ถ้าจะทำให้เกิดผลจริงๆ ผมคิดว่าจะต้องมีรัฐบาลที่มีความเชื่อเรื่องนี้จริงจังสักนิดหนึ่ง 

คำว่ารัฐบาลอาจจะหมายถึงรัฐบาลท้องถิ่นก็ได้นะ ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลทั้งชาติก็ได้ ถ้ารัฐบาลท้องถิ่นทำมันจนสำเร็จ ทำจนเห็นผล ก็มาเป็นโมเดลให้รัฐบาลระดับประเทศก็ได้ ผมคิดว่ามันต้องการการอัดฉีดที่แรงกว่านี้ ถ้าเราอยากจะให้การเรียนรู้มันไปสู่จุดนั้น 

ถ้าการเมืองดี เราก็อาจจะเล่นบอร์ดเกมได้

จริงๆ แล้ว ในทางกลับกันบอร์ดเกมอาจจะช่วยให้การเมืองดีก็ได้ (เพราะจะทำให้คนตั้งคำถามต่อกติกาและนึกถึงโครงสร้างระบบมากขึ้น) แต่ว่าเราอาจจะต้องกัดฟันอีกสักนิดหนึ่ง



Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

Avatar photo

อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts