ทำไมการอยู่คนเดียวจึงน่ากลัวกับเรานัก บางครั้งมันน่ากลัวว่าการอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่เฮลธ์ตี้เสียอีก

นี่คือยุคสมัยที่ความเหงากำลังระบาดหนัก-บทความหนึ่งของ CNN บอกไว้อย่างนั้น ไม่น่าเชื่อว่าในยุคที่ Dating Application เป็นที่นิยม มีช่องทางให้ออกไปพบเจอผู้คนใหม่ๆ ทุกสัปดาห์ แต่หลายคนก็ยังรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว และเปล่าเปลี่ยวอย่างห้ามไม่ได้ 

ยิ่งเป็นคนที่เคยอยู่ในความสัมพันธ์หนึ่งมานาน แม้จะเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษจนตัดสินใจเดินออกมาได้ในท้ายที่สุด แต่บางครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อใจ แต่เราก็เลือกเดินกลับเข้าไปหาความสัมพันธ์นั้น เพราะมันเป็นพื้นที่ที่สบายใจของเราเช่นกัน

ความโหวงเหวงในใจจนทนไม่ไหวนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร และเพราะเหตุใดสายสัมพันธ์บางเส้นจึงเป็นสิ่งที่เราปล่อยมือจากมันไปไม่ได้ เราอยากชวนคุณสำรวจรากลึกของความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว และการรับมือกับมันในยุคที่ความเหงากำลังระบาดหนัก

Photo by Samuel Austin on Unsplash

ภูมิใจในตัวเองที่เดินออกมาได้แต่การอยู่คนเดียวมันก็น่ากลัวจัง 

ไม่แปลกหรอกที่เราจะรู้สึกว่าการอยู่คนเดียวนั้นน่ากลัว โดยเฉพาะกับคนที่เคยมีสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง  แต่วันหนึ่งอาจต้องจำใจเดินออกจากความสัมพันธ์นั้นเพราะมันไม่เป็นมิตรกับเรา

บางครั้ง ความโหวงเหวงในใจของเราจึงเข้มข้น บางเวลาก็รู้สึกว่ามันช่างรุนแรงและร้าวรานจนทนไม่ไหว แม้ว่าจะพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายแต่รู้สึกเหงา คำถามคือ เพราะอะไรเราจึงรู้สึกโหวงเหวงแบบนั้น

ในทางจิตวิทยา มีอาการที่เรียกว่า Monophobia หรือ ‘ความกลัวจากการอยู่อย่างโดดเดี่ยว’ ซึ่งอาการอาจเป็นได้ทั้งการกลัวจากการแยกจากบุคคล กลัวการอยู่บ้านหรืออยู่ในที่สาธารณะคนเดียว กลัวว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายและไม่มีคนมาช่วย สาเหตุของความกลัวอาจมาจากระบบประสาท พันธุกรรม บางแผลทางจิตใจ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อความกลัวนี้เข้าครอบงำจิตใจ อาจส่งผลทำให้เราเหงื่อออก ใจเต้นแรง เป็นลมได้เลยก็มี และแน่นอนว่าถ้ามีอาการขนาดนี้ สิ่งที่ควรทำคือการพบหมอใจเพื่อรักษาอย่างจริงจัง 

แต่หากอาการยังไม่เข้มข้นถึงขั้นนั้น ในมุมที่กว้างกว่า เราอาจอธิบายได้ว่าเรากลัวการอยู่คนเดียวเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการความใกล้ชิดสนิทสนม คุณไม่ได้รู้สึกแบบนี้อยู่คนเดียวหรอก เพราะผลสำรวจจาก CNN ระบุว่าเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่รู้สึกเปล่าเปลี่ยว จนคนยุคนี้ถูกเรียกว่าเป็นยุคแห่ง ‘การระบาดของความเหงา’ (Loneliness Epidemic) ที่น่าสนใจคือความเหงาไม่ได้เกิดขึ้นตามช่วงวัยอายุมากขึ้นด้วย แต่สามารถเกิดขึ้นกับคนได้ทุกเพศและทุกวัย

‘สุขภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่ค่อยโอเค ชีวิตไม่มีสมดุล ไม่ค่อยได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีความหมาย และการสนับสนุนจากคนรอบข้างที่ไม่เพียงพอ’ ทั้งหมดนี้คือเหตุผลของความเปล่าเปลี่ยวที่ผู้คนบอกในผลสำรวจ

Photo by Gabriel on Unsplash

Toxic นะ แต่หยุดคิดถึงไม่ได้เลย

ข้อมูลจากการสำรวจชิ้นนี้ ทำให้เรานึกถึงเมื่อตอนที่ได้คุยกับ มะเฟือง-เรืองริน อักษรานุเคราะห์ อย่างช่วยไม่ได้

ในบทสนทนา เราคุยกันถึงเรื่องความสัมพันธ์อันเป็นพิษ (Toxic Relationship) และเพราะอะไรใครหลายคนถึงคิดถึงสายสัมพันธ์ที่พวกเขา (คิดว่า) ตัดขาดได้แล้ว และบางครั้งก็ห้ามตัวเองไม่ได้ที่จะกลับเข้าไปในความสัมพันธ์นั้นใหม่ มะเฟืองให้เหตุผลข้อหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเป็นเหตุผลข้อเดียวที่ทำให้หลายคนรู้สึกเปล่าเปลี่ยว

เหตุผลข้อนั้นคือคำว่า กลุ่มคนที่หนุนหลังเราทางจิตใจ (Support System) ที่คล้ายว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่คอยประคับประคองไม่ให้เราล้มในวันที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว 

ที่น่ากลัวคือ ส่วนใหญ่คนที่สร้างความท็อกซิกในความสัมพันธ์มักจะทำให้เรารู้สึกว่าเราเหลือแค่เขาคนเดียว และพยายามตัดขาดตัวเราจากเพื่อน ครอบครัว และสังคมที่พร้อมจะซัพพอร์ตเรา เมื่อเราอยู่ในความสัมพันธ์นั้นนานๆ เราจึงคิดว่าชีวิตทั้งชีวิตคืออีกฝ่ายเท่านั้น เมื่อเราเลือกเดินออกมาจากสายสัมพันธ์นั้น มันก็ช่วยไม่ได้เลยที่เราจะรู้สึกว่าเรากำลังขาดเสาหลักทางใจ คล้ายครึ่งหนึ่งของชีวิตถูกเฉือนออกไป และสุดท้ายต้องเดินกลับไปหาสายสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อใจในที่สุด 

Photo by Taylor Smith on Unsplash

สายสัมพันธ์ใหม่อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด

แต่ลึกลงไปในใจ เราอาจรู้ดีว่าความสัมพันธ์ไหนที่เราอยู่แล้วสบายใจ ความสัมพันธ์ไหนที่เรารู้สึกว่าต้องอยู่แบบจำทน

‘ไม่ว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์แบบไหน มันไม่ควรทำให้เรารู้สึกกลัวจนขนหัวลุก’ มะเฟืองสรุปเรื่องนี้ให้เราได้ดีมาก เพราะเชื่อเถอะว่า ถึงแม้การอยู่คนเดียวอย่างเปล่าเปลี่ยวอาจทำให้เรารู้สึกกลัว แต่มันคงไม่น่ากลัวไปกว่าการอยู่ในความสัมพันธ์ที่น่ากลัวจนขนหัวลุกหรอก

ถ้าหากเราต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเข้าสักวันแล้วจริงๆ มันจะเป็นเรื่องแย่สักแค่ไหนกันเชียว เพราะ “การอยู่คนเดียวไม่ได้แปลว่าคุณอยู่อย่างเปล่าเปลี่ยวเสมอไป นี่คือความจริงที่หลายคนควรจะตระหนักได้” Dr.Ami Rokach ผู้ทำงานวิจัยเรื่องความเหงาระบุกับ CNN 

ความรู้สึกโหวงเหวงเปล่าเปลี่ยวอาจคล้ายกับความรู้สึกอื่นๆ ในชีวิตที่เราต้องเรียนรู้ที่จะรับมือ หากเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองได้อย่างเอ็นจอยได้ วันหนึ่งความเปล่าเปลี่ยวอาจเป็นแค่คลื่นของความรู้สึกที่พัดพาเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว ถาโถมแล้วก็สงบนิ่ง 

พอๆ กับการตระหนักว่าคุณอยู่คนเดียวได้สบายๆ คือการรู้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องอยู่คนเดียวก็ได้ เมื่อรู้สึกว่าตัวเองพร้อมก็ลองพาตัวเองเชื่อมโยงกับสายสัมพันธ์ใหม่ๆ พาตัวเองไปทำงานอาสา ออกเดต ลงคอร์สเรียนเพื่อพบผู้คน  สิ่งเหล่านี้อาจช่วยเติมเต็มความแข็งแรงทางใจ และหากโชคดีและทุ่มเทมากพอ  มันอาจกลายเป็นสายสัมพันธ์ใหม่ที่แกร่งกว่าเดิม

เพราะสุดท้ายแล้ว มนุษย์คือสัตว์สังคมที่ต้องการความใกล้ชิดสนิทสนม และต้องการสายสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อเจริญงอกงาม

อ้างอิง

https://www.glamour.com/story/how-to-face-your-fear-of-being-alone

https://www.lifehack.org/articles/lifestyle/7-ways-get-over-your-fear-being-alone.html

https://www.webmd.com/anxiety-panic/what-is-monophobia

https://edition.cnn.com/2023/10/24/health/lonely-adults-gallup-poll-wellness/index.html

https://mappamedia.co/posts/interpersonal-toxic-relationship


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts

mappa media

ชวนอ่าน The Dark เมื่อ ‘ความไม่รู้’ ที่เราต่างหวาดกลัว คือเพื่อนคนสำคัญของการเติบโต

‘ความมืด’ ใช่ไหม ที่บอกเราว่าต้องใช้ไฟอีกกี่ดวง ชวนอ่าน The Dark เมื่อ ‘ความไม่รู้’ ที่เราต่างหวาดกลัว คือเพื่อนคนสำคัญของการเติบโต