โลกหนึ่งใบในหนังสือเล่มเดียว เมื่อการอ่านเชื่อมโยงโลกของพ่อแม่ลูก

ในโลกปัจจุบันที่หมุนเร็วและเต็มไปด้วยความเร่งรีบ การหาช่วงเวลาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับครอบครัว โดยเฉพาะกับลูกๆ อาจเป็นเรื่องท้าทาย เพราะแต่ละคนก็มีสิ่งที่ต้องสะสาง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การทำธุระ การทำหน้าที่ หรือการดูแลเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน กระนั้น การหาเวลาเพื่อสร้างช่วงเวลาคุณภาพกับครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ และหนึ่งวิธีที่ทำได้ง่ายแต่ได้ผลดีที่สุดก็คือการใช้ ‘หนังสือ’ เป็นสื่อกลางสำหรับช่วงเวลาในครอบครัว 

ทว่า ในความเป็นจริง ท่ามกลางสื่อดิจิทัลที่มีอยู่มากมาย หนังสือมักกลายเป็นตัวเลือกท้ายๆ เมื่อสมาชิกในครอบครัวเลือกใช้เวลาร่วมกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสื่อดิจิทัลที่เต็มไปด้วยแสง สี เสียง เข้าถึงง่ายและดึงดูดความสนใจมนุษย์เราได้ดีกว่า แต่การใช้เวลาร่วมกันโดยมีสื่อดิจิทัลเป็นตัวกลางนั้น มักไม่ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้มีปฏิสัมพันธ์กันเท่าใดนัก เพราะต่างคนต่างจดจ่ออยู่กับสื่อ ขณะที่หนังสือเพียงเล่มเดียวที่อ่านไปพร้อมๆ กัน กลับสามารถเชื่อมโยงโลกของคนต่างวัย ผ่านการพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ที่ก่อร่างเป็นสายสัมพันธ์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

โลกหนึ่งใบในหนังสือ สื่อประสานใจ

คุณพ่ออุ้มลูกนั่งตัก โดยมีคุณแม่ที่นั่งข้างๆ หยิบหนังสือนิทานขึ้นมา 1 เล่ม ชี้ชวนให้พ่อลูกดูรูปภาพฮิปโปตัวน้อยบนปกหนังสือ คุณพ่ออ่านชื่อเรื่องออกมาดังๆ ให้ลูกได้ยิน ขณะที่คุณแม่ชวนลูกคุยว่า จากรูปภาพและชื่อเรื่องคิดว่านิทานจะเกี่ยวกับอะไร 

“หมูเด้ง เด้ง เด้ง” ลูกวัยเตาะแตะส่งเสียงตอบเจื้อยแจ้ว คุณยายที่นั่งอยู่ไม่ไกล ส่งเสียงหัวเราะด้วยความเอ็นดู

“โอโห อ่านเรื่องหมูเด้งด้วย ยายอยากฟังด้วยจังเลย” คุณยายเดินมานั่งใกล้ๆ เพื่อร่วมฟังเรื่องราว ขณะที่คุณแม่เริ่มอ่านนิทานชีวิตของเจ้าฮิปโปน้อย ทุกครั้งก่อนที่จะพลิกหน้าถัดไป ลูกโยกตัวรอด้วยความตื่นเต้น เมื่อพลิกหน้าหนังสือ ลูกไล่สายตามองรายละเอียดของฮิปโปในแต่ละหน้า คุณพ่อชี้ให้ลูกสังเกตลูกฮิปโปตัวเล็กที่ซ่อนอยู่หลังแม่ฮิปโป

“ใช่หมูเด้งหรือเปล่านะ” คุณยายถาม
“หมูเด้ง เด้ง เด้ง” ลูกส่งเสียงพูดซ้ำๆ หัวเราะเอิ๊กอ๊าก ทำให้ทั้งบ้านหัวเราะไปพร้อมกัน

การอ่านหนังสือทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขและได้ปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน จริงอยู่ที่ว่าการชมภาพยนตร์หรือสื่อดิจิทัลต่างๆ ก็เป็นการแบ่งปันประสบการณ์เช่นกัน แต่การเสพสื่อจากหน้าจอ ความสนใจของแต่ละคนมักจับจ้องอยู่กับภาพที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้ขาดโอกาสที่จะมองหน้า สบตา และสนทนากับคนที่อยู่ข้างๆ ในทางกลับกัน การอ่านหนังสือนิทาน ผู้อ่านสามารถกำหนด ความเร็ว ช้า ของเนื้อหาได้ ทำให้มีเวลาหยุดระหว่างเรื่องราว เพื่อปฏิสัมพันธ์กับคนข้างๆ ว่ามีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไร หนังสือเพียง 1 เล่มจึงเป็นสื่อที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้มีประสบการณ์ในเรื่องเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น แต่ยังต่อยอดบทสนทนาออกไปได้อย่างไม่รู้จบ

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ เรื่อง Shared Book Reading Interactions Within Families From Low Socioeconomic Backgrounds and Children’s Social Understanding and Prosocial Behavior สำรวจลักษณะการสนทนาระหว่างแม่และลูกจำนวน 61 คู่ ระหว่างการอ่านหนังสือร่วมกัน (SBR) และหลังจากการอ่าน พบว่าทั้งแม่และเด็กจะมีการพูดคุยที่ก้าวไปไกลกว่าเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือ นอกจากนี้ ยังพบว่า ลูกที่เข้าร่วมการศึกษา (อายุเฉลี่ย 5 ปี 8 เดือน) มีความเข้าใจทางสังคมและการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นสูงกว่าระดับความเข้าใจคำศัพท์ตามวัย กล่าวคือ เด็กอาจไม่รู้จักคำศัพท์แสดงความคิดเห็นประเด็นทางสังคม แต่พวกเขา ‘รู้สึก’ เข้าใจประเด็นทางสังคมแม้จะอธิบายออกมาได้ไม่ดีนัก เพราะฉะนั้น การอ่านหนังสือกับลูก จึงไม่เพียงเปิดโลก แต่ยังค่อยๆ สอนให้เด็กรู้จักคำศัพท์ต่างๆ ที่อาจไม่พบในชีวิตประจำวันด้วย

หนังสือ 1 เล่ม ประโยชน์มหาศาลต่อพัฒนาการลูก

ไม่ว่าจะในช่วงเวลาดีหรือร้าย กุมารแพทย์แนะนำให้พ่อแม่อ่านหนังสือกับลูกฟัง การทำกิจกรรมที่เต็มไปด้วยการใช้ภาษาสื่อสาร ไม่เพียงสร้างความผูกพันและความอบอุ่นใจ แต่ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กในหลายด้าน

เด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ มีแนวโน้มมีผลการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ได้อ่านหนังสือด้วยกันเป็นครอบครัว เพราะอ่านหนังสือด้วยกันช่วยพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ พัฒนาสติปัญหาและนำไปสู่การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 

พัฒนาทางอารมณ์ที่ดีขึ้นก็เป็นประโยชน์อีกประการหนึ่งของการอ่านหนังสือกับลูก เพราะเรื่องราวสามารถช่วยให้เด็กๆ เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของตนเอง พัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และพัฒนาทักษะในการสื่อสาร ขณะเดียวกันก็สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัว ประสบการณ์ร่วมกันที่มาจากการอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน ส่งเสริมความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเอง 

การเห็นคุณค่าในตนเองไม่เพียงแต่สำคัญต่อเด็กๆ ที่กำลังเติบโต แต่ยังจำเป็นต่อผู้ใหญ่ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความรับผิดชอบที่หลากหลาย เมื่อสมาชิกในครอบครัวต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตนเอง บ่อยครั้งอาจทำให้ละเลยการใช้เวลาร่วมกัน ยิ่งพ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ก็มักมีโลกแห่งการทำงานที่คนในครอบครัวไม่เคยสัมผัส ปู่ย่าตายายที่อยู่บ้าน อาจมีโลกส่วนตัวที่โดดเดี่ยวและไม่รู้จะแบ่งปันกับลูกหลานอย่างไร การอ่านหนังสือร่วมกัน จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีส่วนร่วม เมื่อการเห็นคุณค่าในตนเองก็เกิดขึ้น ช่องว่างในครอบครัวได้รับการเติมเต็ม ก็นำมาซึ่งความสุขใจของสมาชิกในครอบครัวทุกคน 

อ่านหนังสือร่วมกัน เริ่มได้ทันทีที่บ้านของเรา

การอ่านหนังสือกับลูก ทำได้ง่ายๆ ทันทีที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือราคาแพง เพียงนิทาน 1 เล่มที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว สิ่งสำคัญคือความสม่ำเสมอและความตั้งใจของพ่อแม่ต่างหากในการสร้างกิจวัตรการอ่านร่วมกันในครอบครัว กำหนดเวลาอ่านหนังสือให้เป็นส่วนหนึ่งของตารางประจำวัน เช่น อ่านนิทานก่อนนอนทุกคืน หรือเลือกวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นเวลาพิเศษในการอ่านร่วมกัน การมีกิจวัตรประจำวัน ทำให้เด็กๆ ตั้งตารอและรู้สึกตื่นเต้นกับเวลานี้มากขึ้น 

พ่อแม่ควรให้เด็กๆ ได้เลือกนิทานเรื่องที่เขาชื่นชอบ หากลูกชอบเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ป่า การผจญภัย หรือเรื่องราวของเจ้าหญิง ก็ควรให้เขาได้เลือกหนังสือเหล่านั้น การได้อ่านเรื่องที่ชอบจะทำให้เด็กตื่นเต้นและรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วม นอกจากนี้ การเลือกหนังสือเอง ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการตัดสินใจ เพราะเด็กๆ จะรู้สึกว่ามีอิสระในการเลือกสรรและสามารถทำให้การอ่านเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ 

พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถใช้เทคนิคการอ่านแบบโต้ตอบ โดยชวนลูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน ทายเนื้อหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป หรือช่วยกันเล่าเรื่องราวเพิ่มเติมหลังจากที่อ่านเสร็จแล้ว เทคนิคที่จะทำให้ช่วงเวลาการอ่านเป็นช่วงเวลาแห่งครอบครัวอย่างแท้จริง คือ ชวนปู่ย่าตายายมาล้อมวงฟังนิทานไปด้วยกัน เปิดโอกาสให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็น และตั้งคำถาม อาจให้สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนรับบทตัวละครแตกต่างกัน และสลับกันอ่านเมื่อตัวละครของตนเองมีบทพูด ก็จะเพิ่มสีสันและความสนุกสนานมากขึ้น 

การเพิ่มสีสันให้กับการอ่านยังสามารถทำได้ด้วยการใช้พร็อพหรือเครื่องแต่งกายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา เช่น ใช้ตุ๊กตา หรือสวมเสื้อผ้าที่เข้ากับฉากสำคัญในนิทาน อาจจะหาหมวกที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ มาใส่เมื่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ นอกจากนี้ การเปลี่ยนเสียงในการเล่าและใส่อารมณ์ขณะอ่านก็จะช่วยทำให้เด็กๆ เพลิดเพลินและตื่นเต้นกับการฟังมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีที่ทำให้การอ่านหนังสือร่วมกันกลายเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสนุกและเป็นประโยชน์ในเวลาเดียวกัน

หากปู่ย่าตายาย หรือ สมาชิกคนอื่นๆ เคอะเขินไม่รู้จะมีส่วนร่วมอย่างไร พ่อแม่อาจเป็นคนกลาง ถามคำถามสมาชิกเหล่านั้น หรือ ให้สมาชิกแต่ละคนผลัดกันอ่านนิทานคนละหน้า เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ก็จะทำให้ช่วงเวลานี้เป็นที่น่าจดจำ 


การได้ใช้เวลาร่วมกันผ่านการอ่าน ไม่เพียงแต่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางการเรียนรู้ที่ดีขึ้น แต่ยังสร้างความผูกพันในครอบครัว เมื่อทำเป็นประจำจนกลายเป็นกิจวัตร คุณอาจพบว่าสายสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น หนังสือ 1 เล่ม อาจเปลี่ยนให้บ้านที่เงียบเหงา ต่างคนต่างอยู่ กลายเป็นบ้านที่มีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เพราะทุกคนมีเรื่องราวที่แบ่งปันร่วมกัน ทำให้เด็กๆ ได้เติบโตขึ้นมาในบ้านที่อบอุ่นและมีความสุข 

ลองชวนทุกคนในครอบครัวมาเปิดใจค้นพบโลกใบใหม่ ในหน้าหนังสือไปพร้อมกับลูกหลาน เพื่อสร้างช่วงเวลาแห่งความรักและความทรงจำที่มีค่าให้เกิดขึ้นในทุกๆ วัน แล้วคุณอาจค้นพบความมหัศจรรย์ของหนังสือนิทาน ที่การอ่านเชื่อมโยงจิตใจทุกคนไว้ด้วยกัน 

อ้างอิง :
https://lionstory.com/blog/articles/why-reading-together-is-important#:~:text=Conclusion-,Reading%20together%20as%20a%20family%20is%20an%20excellent%20way%20to,performance%2C%20and%20foster%20emotional%20developmen
https://www.researchgate.net/publication/309858743_Shared_Book_Reading_Interactions_Within_Families_From_Low_Socioeconomic_Backgrounds_and_Children’s_Social_Understanding_and_Prosocial_Behavior
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0885200622000692


Writer

Avatar photo

สุภาวดี ไชยชลอ

ชอบเดินทาง ชอบดูซีรีส์เกาหลี สนใจทฤษฏีจิตวิเคราะห์ และชอบตอบคำถามลูกสาวช่างสงสัยวัยประถม

Illustrator

Avatar photo

นักวาดทาสหมา ลายเส้นนิสัยดี หลงไหลไก่ทอดเกาหลี และการฟัง true crime

Related Posts