หมอแพมชวนอ่าน

การอ่านเริ่มที่ผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก 5 เล่ม ‘หมอแพม’ ชวนพ่อแม่อ่าน

“ถ้าอยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จงอ่านหนังสือ พ่อแม่ทุกคนทำได้ เป็นวิธีปรับปรุงโครงสร้างสมองลูกที่ง่ายที่สุด ใช้ได้จริง ง่ายที่สุดแล้วในการแก้ปัญหาเด็ก ทำไมจะไม่ทำล่ะ” 

พ่อแม่หลายคนบอกว่าอ่านหนังสือให้ลูกฟังไม่เป็น 

‘หมอแพม’ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี เจ้าของเพจ หมอแพมชวนอ่าน บอกว่า “ก็แค่เล่า” เล่าไปตามภาพของหนังสือ หรือเล่าเรื่องจากประสบการณ์ 

แต่จะดีกว่ามากๆ ถ้าพ่อแม่เริ่มอ่าน และปรับมุมมองว่าการอ่านสำคัญจริงๆ ผ่านหนังสือ 5 เล่มนี้

1. How Children Success: Paul Tough

เล่มนี้คือ the must ชอบที่สุด คนเขียน พอล ทัฟ (Paul Tough) เป็นนักข่าวที่สนใจเรื่องการเลี้ยงลูก สัมภาษณ์หลายคนแล้วเอามาร้อยเรียงกัน เขาไปดูโรงเรียนหลายแบบ ทั้งโรงเรียนที่ไม่ได้รับการดูแลเลย โรงเรียนที่ครูเป็นคนพลิกระบบ และครูสร้างเด็ก 

เล่มนี้เปิดโลกทัศน์เราเลย ให้มองเรื่องความสำเร็จของเด็กในมุมที่ต่างจากเดิม ไม่ต้องเรียนเก่ง ขอแค่เขามีจุดเด่นอะไรสักอย่างมันจะเป็นทุ่นพาเขาลอยไปได้ ในหนังสือเล่มนี้ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งซึ่งเล่นหมากรุกเก่ง พอเขาได้ลงลึกในอะไรสักอย่าง จะรู้สึกว่า ฉันทำได้ และอย่างอื่นมันจะตามมาเอง

2. Mindset: Carol S. Dweck 

เล่มนี้ดีตรงที่เราอ่านแล้วนึกถึงตัวเอง เราเป็นตัวแม่ fixed mindset ตั้งแต่เด็ก พออ่านเล่มนี้เราเข้าใจเลยว่าทำไมบางเหตุการณ์เราทุกข์ทรมาน เราอายที่จะให้คนอื่นรู้ว่าเราทำไม่ได้ 

เมื่อก่อนคนเรียนหมอจะต้องที่ 1 จริงๆ ชีวิตหมอไม่เคยตกเลยนะแต่เราคาดหวังว่าเราจะได้ท็อป แล้วพอเราไม่ได้ อายหนักมาก ซึ่งก็แบบอายทำไมวะ แม่ คนรอบตัวคาดหวังกับเรามาก จนทำให้เรารู้สึกว่าความผิดพลาดคือความพ่ายแพ้ เป็นตราบาป 

ตอนเรียนจบหมอเป็นความภูมิใจของทั้งอำเภอ เราเป็นเด็กบ้านนอก แม่ก็แม่หม้าย แม่ชอบบอกว่า แม่เชื่อใจลูกได้ แม่รู้แหละลูกทำได้ คือ คำนี้มันค้ำคอ มันกลายเป็น fixed mindset ที่สูงมาก 

แต่เล่มนี้ จะบอกคุณว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น พ่อแม่ได้ปลดล็อคตัวเอง เมื่อเร็วๆ นี้เอง เคยเขียนลงเพจว่าเป็นช่วงที่ผิดหวังมาก ลูกเริ่มเข้า ป.1 เขาเรียนจริงจัง ก่อนหน้านั้นอนุบาลเราส่งลูกเรียนบูรณาการมาตลอด เล่นนก เล่นปลา เล่นแมลงไปตามเรื่องตามราว ไม่ได้สอนอ่านเขียน 

แต่พอ ป.1 สัปดาห์แรก วิชาการเลย ให้จดการบ้านเอง ครูบอกลูกไม่ทำงานส่ง ลูกเราไม่ซีเรียส แต่ครูซีเรียส เราต้องฝึกลูกเราเพราะไม่ว่าอย่างไรลูกจะต้องอยู่รอดในสังคม ต้องเรียนรู้กติกา เราเครียดมากเลยสำรวจตัวเองว่าทำไมถึงเครียด อ๋อ motivation ของเรากับลูกมันไม่เหมือนกัน ตอนเด็กๆ motivation ของเราคือต้องเรียนให้ดี การเรียนเก่งจะทำให้เราได้ทุกอย่าง ได้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากครู ได้ความไว้เนื้อเชื่อใจจากแม่ 

ทีนี้ของลูก เขาเต็มมาจากครอบครัวแล้วไง เขาไม่ต้องการพิสูจน์ เขาไม่ได้รู้สึกว่าทำไมครูต้องชมเขา ก็แม่ทำอยู่ทุกวัน ใครๆ ก็รักเขา เขาไม่ได้กระเสือกกระสนให้คนรอบข้างยอมรับเขา เพราะเขายอมรับในตัวตนของตัวเองอยู่แล้ว เขาไม่เข้าใจค่ะ

ก็เลยพลิก ลูกเรามองเห็นความรู้สึกคนอื่นเป็นเรื่องสำคัญ คุยกับเขาว่าน้องพรีมรู้ไหมในห้องเรียนมี 30 คน ครูบอกว่าน้องพรีมมีปัญหานะ น้องพรีมทำงานแล้วครูต้องมารุม 3 คน ไม่สามารถโฟกัสจนทำงานให้เสร็จได้ แล้วการที่พรีมเอาครูมา ทำให้เพื่อนอีก 29 คนไม่ได้คุณครูนะ เขาอาจอยากได้ความช่วยเหลือเหมือนกันไหม 

พอพูดถึงคนอื่น เขาจะแบบเออจริง ต้องรับผิดชอบต่อคนอื่นเนอะ แต่อันดับแรกต้องรู้จักรับผิดชอบตัวเองก่อน รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ อย่าไปหวังจะไปช่วยคนอื่น คือ คำว่าช่วยคนอื่นมัน motivate ลูกมาก หลังจากนั้นเขาก็เลยดีขึ้นๆ จนครูเห็นพัฒนาการ 

อยากบอกพ่อแม่ว่าต้องเข้าใจด้วยว่า motivate ของเรากับลูกไม่ใช่ยุคเดียวกัน เราเข้าใจเขาเพราะเราเลี้ยงลูกมาแบบนี้ เขาเลยมองโลกแบบนี้ แม่เราก็เลี้ยงลูกมาแบบหนึ่ง เราเลยเป็นอีกแบบ 

ก่อนจะเลี้ยงลูกให้มี growth mindset พ่อแม่ต้องปรับ mindset ตัวเองก่อน  

พ่อแม่ที่ fixed mindset แต่อยากให้เลี้ยงลูกให้มี growth mindset พูดเลยว่าฝืนและเฟค พูดแบบนี้ หมอก็ยังเป็นนะคะ แต่พยายามดึงตัวเองกลับมา ลูกไม่ได้อยู่ยุคเดียวกับเราแล้ว มันยากแต่ก็ต้องทำ อย่าว่าแต่ยุทธศาสตร์ 20 ปีเลย 10 ปีก็นึกไม่ออกแล้วว่ามันจะเปลี่ยนไปยังไง 

3. Grit: Angela Duckworh 

สำหรับเล่มนี้ ความเก่งไม่ใช่คำตอบ ความกัดไม่ปล่อย ไม่ยอมแพ้ต่างหากจะพาไปถึงจุดหมาย ล้มกี่ครั้งก็ให้ถือเป็นประสบการณ์ไป

ชีวิตเหมือนการวิ่งมาราธอน ออกตัวเร็วไม่ได้แปลว่าจะถึงจุดหมายเร็วนะ อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ 3 ขวบก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จใดๆ อยากให้มองเด็กคนหนึ่งยาวๆ แล้วค่อยๆ ใส่คุณสมบัติที่อยากให้ลูกโฟกัสไปรายทาง

ถ้าเราสร้างเส้นทางที่มุ่งไปถึงจุดหมาย ให้เขาเดินทุกวัน อาจมีเหนื่อย แวะนั่งบ้าง ยังไงมันก็จะต้องถึง แต่ไม่ใช่เปลี่ยนไปเดินอีกเส้นเลย ยังไงก็ไม่ถึง

4.พลังแห่งการอ่านออกเสียง: Jim Trelease

จิม เทรลีส (Jim Trelease) ผู้เขียน ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย เขาเป็นคุณพ่อคนหนึ่งที่รู้สึกว่าการอ่านมันสำคัญจังเลย เพราะเขาศรัทธา เขาจึงไปสุดโต่งมาก เขาศึกษาและอ่านงานวิจัยหลายที่ที่ยืนยันว่าการอ่านคือพื้นฐานของทุกสิ่ง

จิม เทรลีส ไม่ได้เป็นดอกเตอร์ ไม่ได้เป็นนักพัฒนาการ เป็นแค่พ่อที่อ่านกับลูกและเชื่ออย่างมุ่งมั่นว่าการอ่านสำคัญ อย่างที่เขาเคยได้รับจากพ่อเมื่อตอนเด็กๆ พ่อทำให้เขารู้สึกว่าการอ่านดีเพียงใด เขาจึงอยากให้ลูกได้รับความรู้สึกนั้นบ้าง

หนังสือเล่มนี้คือ คู่มือของพ่อแม่ทั้งโลกที่อยากจะอ่าน หนังสือเล่มนี้จะบอกว่าทำไมเราต้องอ่านหนังสือกับลูก ไม่ว่าเขาจะเล็กหรือโตเป็นวัยรุ่น มันมีเหตุผลมารองรับทุกสิ่งอย่าง 

คำพูดที่คลาสสิกของหนังสือเล่มนี้คือ การที่ผู้ใหญ่ไม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังมีความผิดพลาดพอๆ กับที่เลิกอ่านเร็วเกินไป  

คือการเลิกอ่านกับไม่อ่าน มีความผิดร้ายแรงพอๆ กัน อยากชี้ให้เห็นว่า ช่วงนี้หนังสือเด็กเล็กบูมมาก เล่มไหนที่คุณหมอแนะนำพิมพ์กันไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่พอเด็กขึ้นชั้นประถม (7-8 ขวบ) ลูกค้ากลุ่มนี้หายไป เพราะวัยนี้เด็กสะกดเองได้แล้ว อ่านเองได้แล้ว พ่อแม่ไม่ต้องเข้าไปอ่านด้วยแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งคือ เขาเริ่มมีโทรศัพท์มือถือ เวลาอ่านหนังสือจึงถูกแย่งไป 

ถ้าเป็นไปได้ พ่อแม่อย่าเพิ่งเลิกอ่านเร็วเกินไป ถ้าลูกไม่ได้รังเกียจ เราก็อ่านไปเลย

ในเล่มนี้เล่ากรณีศึกษาของครอบครัวหนึ่งซึ่งเลิกอ่านกับลูกไปแล้ว แต่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือเล่มนี้เลยกลับมาอ่านใหม่ ตอนนั้นลูกเขาเป็นวัยรุ่น รู้สึกห่างเหินกับลูก ไม่มีเรื่องอะไรคุยกับลูก เหมือนอยู่กันคนละโลกไปแล้ว วันหนึ่งเขาหยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่านดังๆ ตอนลูกนั่งอยู่ในห้องรับแขกโดยเขาไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะฟังไหม แล้วก็ทำแบบนี้เรื่อยๆ จนในที่สุดลูกก็ค่อยๆ เขยิบเข้ามาจนการอ่านกลายเป็นเวลาของบ้าน

5. รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว: Masaru Ibuka

เล่มนี้เหมือนเข้ามาปฏิวัติวงการประถมวัย คือ เมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่าเด็กมันยังเล็กไม่ต้องสอนอะไร แต่กลับกลายเป็นว่าเกมพลิก ช่วงปฐมวัย สมองเขาคือเวลาทองที่สุดแล้ว เล่มนี้ทำให้ทั้งโลกหันกลับมามองช่วงปฐมวัยกันใหม่ 

ลูกของผู้เขียน มาซารุ อิบุกะ (Masaru Ibuka) ผู้ก่อตั้งบริษัท SONY มีความบกพร่องทางสติปัญญา เขาจึงไปหาข้อมูลอย่างบ้าคลั่งว่าจะทำยังไงให้ลูกใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีเขา เขาไปศึกษาเรื่องสอนเยอะมากจนพบว่าไม่ว่าเด็กจะมีสมองตั้งต้นยังไง เด็กทุกคนฝึกได้ สอนได้ 

จากเล่มนี้ ทั้งโลกได้ทำความเข้าใจเรื่องสมองเด็กเล็กกันใหม่

สาระสำคัญอย่างหนึ่งของเล่มนี้คือ สิ่งแวดล้อมทุกอย่างในบ้าน มีอิทธิพลต่อเด็กหมด เช่น ส่งหลานไปอยู่กับคุณยายที่พูดเหน่อ เด็กคนนั้นจะพูดเหน่อ 

หัวใจสำคัญของเล่มนี้ ไม่ใช่การนำเสนอให้เด็กเล็กเรียนหนังสือก่อนวัยอนุบาล แต่เป็นการเสนอข้อเท็จจริงและกรณีศึกษาของเด็กที่ได้รับการเรียนรู้ในช่วงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

Avatar photo

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

Related Posts