- บุญรอด อารีย์วงษ์ คือยูทูบเบอร์อารมณ์ดี ที่ถึงแม้จะเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว แต่เขาไม่ยอมให้ร่างกายมาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต
- พลังรักและแรงสนับสนุนจากแม่ลัดดาและทุกคนในครอบครัว คือสิ่งสำคัญที่ทำให้บุญรอดเดินมาได้ไกลอย่างในทุกวันนี้
- แม่ลัดดาเชื่อว่าครอบครัวคือขุมพลังแห่งความมั่นใจ และครอบครัวต้องให้การสนับสนุนทุกอย่างที่บุญรอดเลือก
- การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว และครอบครัวอารีย์วงษ์ก็ให้ความสำคัญกับการพูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก
เดือนสิงหาคม พ.ศ.2535 ครอบครัว “อารีย์วงษ์” ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัวอย่างชื่นมื่น ทว่า 3 เดือนหลังจากนั้น พวกเขาค้นพบว่าสมาชิกใหม่ตัวน้อยป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ ต้องทำการรักษาด้วยการให้คีโม จนกระทั่งอาการเริ่มดีขึ้น แต่เด็กน้อยที่ต้องนอนรักษาตัวตั้งแต่คลอด มีอาการกล้ามเนื้อยึดทั้งร่างกาย และส่งผลให้การเคลื่อนไหวของเขามีความผิดปกติ
นี่คือจุดเริ่มต้นชีวิตของ “บุญรอด อารีย์วงษ์” ยูทูบเบอร์อารมณ์ดี ผู้สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้างอยู่เสมอ แม้จะเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว แต่บุญรอดไม่ยอมให้ร่างกายมาเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต บุญรอดไม่กลัวที่จะเยื้องย่างอย่างเฉิดฉายท่ามกลางผู้คน และแสดงออกว่าตัวเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเปิดเผย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากพลังรักและความเข้าใจของครอบครัว โดยเฉพาะ “แม่ลัดดา อารีย์กุล” ที่พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้านให้กับบุญรอดเสมอ ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุน ผลักดัน และเชื่อมั่นในตัวบุญรอด ที่เปรียบเหมือนแก้วตาดวงใจของแม่มาตลอด 30 ปี
30 ปีที่แม่ลัดดากับบุญรอดมีกันและกันอยู่ในชีวิต
แม่ลัดดา: แม่มองว่าบุญรอดเป็นเด็กตลอดเวลาเลย ถึงแม้เขาจะอายุ 30 ปีแล้วก็ตาม ตั้งแต่เกิดมาจนถึงตอนนี้ แม่เคยดูแลอย่างไร แม่ก็ยังทำแบบนั้น เพราะแม่ก็กังวลว่าบุญรอดจะทำอะไรไม่ได้ด้วยตัวเอง แม่ก็เลยพยายามปลูกฝังสิ่งที่บุญรอดต้องทำในวันข้างหน้า ให้เขาช่วยเหลือตัวเอง ให้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสังคม ให้เขาก้าวเดินต่อไปได้ในวันที่แม่ไม่อยู่แล้ว แม่สอนทุกเรื่องเลย เพราะบุญรอดเกิดมาไม่เหมือนคนอื่น เขาไม่แข็งแรง แม่ก็กลัวว่าถ้าเราไม่ดูแลเขาให้ดี ถ้าวันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เขาไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง เขาจะยืนยากในสังคม
บุญรอด: แม่ก็คือแม่จริง ๆ ตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 30 ปี แม่ดูแลเราทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอนเลย ตื่นมาปุ๊บ แม่ก็จะทำกับข้าวให้กินแล้ว รีดผ้า ซักผ้า ซัพพอร์ตเราทุกอย่าง หรือตอนที่เราป่วย แม่ก็ดูแลเราทุกวัน เราคิดภาพไม่ออกเลยว่าถ้าไม่ใช่แม่คนนี้ เราจะเป็นอย่างไร แต่การซัพพอร์ตของแม่ไม่ใช่การสปอยล์นะ เป็นการฝึกเรามากกว่า เพื่อให้เราดูแลตัวเองได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ มันคือการซัพพอร์ตที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตได้เอง
ความมั่นใจในตัวเองสร้างได้จากครอบครัว
บุญรอด: ตอนเราเป็นเด็ก เราเดินได้ไม่แข็งแรง เราก็จะเดินแปลกจากคนอื่น แม่จะบอกเราเสมอว่า เดินไปเลยลูก อย่าไปกลัว ใครมองก็ช่างมัน เราเดินได้ก็คือตัวเรา อย่าไปสนใจ หรือเวลาเราทำอะไรก็แล้วแต่ แล้วมีคนมอง แม่จะบอกว่าอย่าไปแคร์ ปล่อยเขาไป ทำให้ได้ แล้วคือจบ แม่ ปะป๊า (พ่อฐิติศักดิ์ อารีย์วงษ์) กับที่บ้านจะเป็นคนที่บอกเราเสมอว่า อย่าไปแคร์คนอื่น แคร์ตัวเราเองก็พอ มันทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น เราไม่กลัว เราจะเดินยังไงก็ได้ มันเป็นเรื่องของเรา ใครมองก็ช่าง บางทีเรามองกลับด้วยซ้ำ ก็แล้วไง นี่มันคือตัวเรา
แม่ลัดดา: แม่พยายามมองโลกให้กว้างไว้ เราจะเอาความสุขของตัวเองไปให้คนอื่นทำไม ความสุขต้องอยู่ที่ตัวเราสิ แม่บอกบุญรอดตลอดว่าอะไรที่ทำแล้วมีความสุข ก็ทำไปเลย ทำในสิ่งที่บุญรอดทำได้ แม่เชื่อว่าบุญรอดต้องทำได้ บุญรอดต้องมั่นใจในสิ่งที่บุญรอดทำ แม่จะบอกเสมอว่าให้มั่นใจไว้ลูก ทำได้ดีหรือไม่ดี ก็ทำไปเถอะ ผิดพลาดเราแก้ไขได้ คนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปทุกเรื่อง มันต้องมีล้มบ้างลุกบ้าง บาดเจ็บบ้าง เอาประสบการณ์ที่ผ่านมา มาปรับปรุงแก้ไขตัวเราเอง เพื่ออนาคตของเราในวันข้างหน้า
บุญรอด: แม่สร้างความมั่นใจให้เราทุกเรื่องจริง ๆ เรื่องเรียนก็เช่นกัน ตอนที่เราสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะที่คะแนนสูงมาก แล้วเราไม่ใช่คนเรียนเก่ง เราสอบโควต้าคนพิการเข้าไปเรียน แล้วเราก็คิดว่าเราเรียนไม่ได้แน่เลย เพราะมันยากมาก คนเก่ง ๆ เยอะมาก ก็มีแม่นี่แหละที่บอกว่าไม่เป็นไร เรียนไปก่อน ทำให้เต็มที่ แค่ไหนแค่นั้น แม่ไม่ได้คาดหวังอะไรกับเราเลย แต่แม่คอยซัพพอร์ตเรามากกว่า มันเลยเป็นสิ่งที่ทำให้เรากล้าเดินไปข้างหน้าอย่างไม่กลัวเลย ล้มก็ลุกใหม่ ไม่แคร์อะไรเลย แล้วก็ทำให้เรามีความมั่นใจในการใช้ชีวิตมาก ๆ ครอบครัวสอนเราทุกเรื่อง เขาพาไปข้างนอก พาไปเจอทุกอย่าง เขาไม่เคยบอกว่าห้ามไปตรงนั้นตรงนี้ ไม่มีเลย แต่เขาให้เราไปเรียนรู้ว่ามันเป็นแบบนี้นะ ทำให้เราได้รู้และทำให้เรากล้าก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ
พูดคุยกันได้ทุกอย่าง แบ่งปันกันได้ทุกเรื่องราว
บุญรอด: เราเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น ป๊ากับแม่สร้างครอบครัวที่อบอุ่นมากให้กับเรา ซัพพอร์ตเราทุกอย่างจริง ๆ เพราะฉะนั้น ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา พ่อแม่ต้องรู้ทุกอย่าง เราจะไม่ปิดบังพ่อแม่เลย เรื่องความรักก็ไม่ปิดบัง เรารู้สึกว่าเพื่อนหลายคนพยายามปิดกั้นพ่อแม่ ไม่ให้พ่อแม่มีเฟสบุ๊ก ไม่ให้มีไอจี ซึ่งสำหรับเรา เราว่าไม่ควรทำแบบนั้น
แม่ลัดดา: แม่จะพยายามบอกบุญรอดว่า มีเรื่องอะไร ให้มาคุยกันตรง ๆ อย่าโกหก เพราะถ้าโกหก แล้วแม่จับได้ คือแม่จะไม่ไว้ใจบุญรอดแล้วนะ ดังนั้นมาคุยกันตรง ๆ บุญรอดมีอะไรอย่าโกหกแม่ เอาความจริงมาคุยกัน แล้วเราจะไปกันได้ ถ้าเขาแรงมา เราก็จะหยุดก่อน ไม่พูดแล้ว เดี๋ยวจะทะเลาะกัน หรือถ้าแม่แรงไป บุญรอดเขาจะหยุด พออารมณ์ดีก็กลับมาคุยกัน การสร้างความเข้าใจในวัยที่ต่างกันคือต้องไว้วางใจกัน เมื่อบุญรอดไม่ปิดแม่ พอเขาพูดอะไร แม่ก็จะรับฟังเขา มันทำให้เราเชื่อใจกัน
บุญรอด: การพูดและการฟังสำคัญมากต่อการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เมื่อแม่พูด ลูกก็ต้องฟัง เมื่อลูกพูด แม่ก็ต้องฟังเหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างไม่ฟังกัน มันจะแก้ปัญหาไม่ได้เลย ดังนั้น พ่อแม่ต้องเปิดใจฟังลูก แล้วลูกก็ต้องเปิดใจฟังพ่อแม่ บุญรอดเชื่อว่ามันมีตรงกลางระหว่างคนสองวัยที่มาอยู่ด้วยกัน เลยต้องรับฟังกันให้มาก ๆ แล้วปัญหาจะหมดไป
เสียงรอบข้างที่ไม่เคยเป็นปัญหา
แม่ลัดดา: แม่ไม่เคยฟังคนอื่นเลยนะ แม่จะมองว่าลูกของแม่เก่งแล้ว ทำไปเลยลูก ทำแบบนี้แหละดีแล้ว ถ้ามันไม่ดีก็ทำใหม่ อย่าไปสนใจคนอื่นเขา เพราะจะทำให้เราเองเป็นทุกข์ มีครั้งหนึ่งมีคนในหมู่บ้านถามบุญรอดว่าเรียนจบแล้ว ได้งานทำหรือยัง เขาก็มาบอก แม่เลยบอกลูกว่าอย่าไปสนใจ เราไม่ได้ขอเขากิน มันก็เรื่องของเรา ค่อย ๆ หางานไป ใจเย็น ๆ แต่บุญรอดเขาก็เครียด แม่ก็เลยบอกไม่ต้องเครียดเรื่องอะไรทั้งสิ้น หางานทำไม่ได้ก็เครียด เรียนได้เกรดน้อยก็เครียด แม่บอกไม่ต้องเครียดอะไรทั้งสิ้น ชีวิตคนเรามันก็มีแค่นี้ ทำให้ดีที่สุดก็พอ
บุญรอด: คนที่แคร์กลายมาเป็นเราเสียเอง บางครั้งเราก็กดดันตัวเองว่าเราทำได้ดีพอหรือยัง ว่าเราโอเคหรือยัง เราทำเต็มที่หรือยัง แต่ที่บ้านไม่เคยกดดันเลยนะ ทำงานก็อยากได้เงินมากขึ้น เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวให้อยู่สบาย พยายามหาเงินหางานให้มากขึ้น
ชีวิตอินฟลูเอนเซอร์ของบุญรอดและแม่ลัดดา
บุญรอด: อาชีพนี้ (ยูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์) ไม่ใช่แค่การสร้างความสนุกสนาน แต่เป็นอาชีพที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้คนด้วย คนที่เข้ามาดูเรา เขาก็คาดหวังอะไรมากกว่าความสนุก เราดูจากการอินบ็อกซ์เข้ามาคุยกับเรา ปรึกษาปัญหาชีวิต ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาหัวใจ อย่างน้อยเราก็ได้เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขามีชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข ตอนนี้เราก็ยังมีความสุขกับอาชีพนี้ค่อนข้างมาก เพราะได้อยู่กับที่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัว อนาคตก็คงทำไปเรื่อย ๆ แต่เราก็ไม่อยากคาดหวังไปไกล 5 ปี 10 ปี เพราะเราไม่รู้ว่าสังคมจะเปลี่ยน หรือแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนหรือเปล่า ก็อยากใช้ชีวิตที่มีความสุขมากกว่า คือเราไม่อยากมองอนาคตแบบไกล ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน
แม่ลัดดา: แม่ไม่ได้คาดหวังอะไร คือที่ไปช่วยบุญรอดทำ ก็เพราะเขามาขอให้เราช่วยอ่านคอมเมนต์หน่อย แม่มาช่วยหนูหน่อย เราก็ทำตามที่เขาบอก เราเองก็ไม่รู้หรอกว่าต้องทำยังไง เพราะวัยก็ต่างกัน แต่แม่ก็สนุก ๆ ไป ให้บุญรอดมีความสุขของเขาไป วันไหนอารมณ์ดีก็แต่งหญิง บอกแม่รูดซิปให้หน่อย แม่ช่วยเย็บตรงนี้หน่อย แม่จับกางเกงให้หน่อย แม่เป็นเหมือนผู้ช่วยของเขานั่นแหละ อย่างที่บอกว่า 30 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้ก็ยังเหมือนเดิม ยังเป็นลูกแม่เหมือนเดิม จะเปลี่ยนก็คงจะเป็นตอนที่เราทำไม่ไหวแล้ว หรือบุญรอดมีคนมาดูแลแทนแม่แล้ว