ภารกิจพิชิต 22 สะพานทั่วกทม. ของเด็ก 9 ขวบที่การเรียนรู้เกิดจากพ่อแม่ลูกนั่งรถหาคำตอบเอง

  • การนั่งรถดูสะพาน คือ วิธีพิชิตภารกิจดู 22 สะพานทั่วกทม.ของเด็ก 9 ขวบ
  • เพราะพัฒนาการของลูกไม่หวนกลับมา หน้าที่ของพ่อแม่ คือ สังเกตและปักหมุด สร้างรากฐานที่มั่นคงให้ลูกสามารถต่อยอดได้เอง
  • ชวนเปิดแผนที่กางแผนการเดินทาง 22 สะพานในบ่ายวันหนึ่งของคณะผู้จัดทำทั้งสามคนที่เชื่อว่า จุดหมายปลายทางอาจไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ระหว่างทาง

ภารกิจพิชิตสะพาน คือ ชื่อโปรเจกต์งานวิจัยของเด็กวัย 9 ขวบ

“เราเริ่มต้นจากสิ่งที่เขาสนใจ ในวัย 9 ขวบ ความสนใจของลูกหลากหลาย พ่อแม่ต้องสังเกตลูกและโมเมนต์นั้นเราต้องขโมยไว้เลยแล้วนำมาต่อยอดว่าเขาอยากทำอะไร”

‘โบว์ลิ่ง’ เรืองรัตน์ ว่องสุวรรณเลิศ คุณแม่ของ ‘น้องธีร์’ ธีรัช คุมพ์ประพันธ์บอกว่า ผู้ใหญ่รอบตัวคือคนสำคัญในการช่วยออกแบบการเรียนรู้ ไม่จำกัดเพียงพ่อแม่หรือคุณครูเท่านั้น ยิ่งบทบาทของพ่อแม่ สิ่งที่ทำได้ คือ การสังเกตลูกว่า เขากำลังสนใจเรื่องอะไร แล้วเปิดพื้นที่ให้เขาทดลองทำ 

เช่นเดียวกับโปรเจกต์ภารกิจพิชิตสะพานที่เริ่มต้นจากความสนใจเรื่องเส้นทาง คุณแม่จึงชวนลูกมาดูสะพานจริงๆ ขณะเดียวกันเขาก็ได้เชื่อมโยงความคิดกับเรื่องถนนที่กำลังหลงใหล

ทุกเส้นทาง ทุกถนน ทุกสะพาน ธีร์สามารถเล่าได้โดยไม่ต้องเปิดแผนที่หรือ GPS นำทาง นั่นเพราะเขาสนุกที่จะทำเรื่องนี้ ส่วนพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นแค่ผู้แนะนำและอำนวยความสะดวก

“เพราะพัฒนาการของลูกไม่มีวันหวนกลับมา ถ้าตอนนี้ทำอะไรได้ เราก็ทำ” คุณแม่บอก

mappa ชวนนั่งรถพร้อมเปิดบทสนทนากับคุณแม่ น้องธีร์ และคุณพ่อ ‘เอก’ เอกวิชญ์ คุมพ์ประพันธ์ คณะผู้จัดทำภารกิจพิชิตสะพานที่เชื่อว่า การลงไปหาคำตอบด้วยตัวเองคือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เพราะจุดหมายปลายทางอาจไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

ภารกิจพิชิตสะพานที่เริ่มต้นจากความสนใจของลูก

“จริงๆ สนใจเรื่องทางหลวงแล้วมาสนใจเรื่องถนน มันจะเอ๊ะว่า ถนนจะพาเราไปโผล่ตรงไหนแล้วเชื่อมกันยังไง”

เพราะเกิดคำถามระหว่างนั่งรถข้ามหลายจังหวัดไปหาอากงกับอาม่าที่ภาคใต้ช่วงก่อนปีใหม่ ทำให้ธีร์สนใจทุกเรื่องราวบนถนน ตั้งแต่ทางหลวง ถนน หมายเลขถนน รวมถึงสะพาน

“ตอนนั่งรถไป เราเปิด GPS มีป้ายบอกทาง เขาก็ถามว่า ตอนนี้อยู่บนถนนชื่ออะไร ไปจังหวัดไหน ทำไมทางหลวงมันถึงหมายเลขเป็นแบบนี้” คุณพ่อเสริม

พอกลับมากรุงเทพฯ ธีร์ก็มีคำถามเรื่องถนนเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะทางจากบ้านเขาและบ้านญาติ โปรเจกต์นั่งรถดูถนนก็เลยเริ่มต้นขึ้น ภารกิจนี้ไม่ได้มีอะไรพิเศษ คุณพ่อคุณแม่แค่อยากชวนลูกมารู้จักสิ่งที่เขาสนใจให้มากขึ้น 

คุณพ่อ ‘เอก’ เอกวิชญ์ คุมพ์ประพันธ์

“บ้านเราอยู่แถวบางหว้า บ้านลูกพี่ลูกน้องอยู่ปทุมธานี แต่ว่าเวลาไปเยี่ยมอากงอาม่าเราจะไปพร้อมกัน เขาเลยตั้งคำถามว่าลูกพี่ลูกน้องเดินทางยังไง ต้องขับรถผ่านบ้านเราหรือเปล่า ตอนนั้นตอบลูกไปว่า บ้านเราอยู่ตอนใต้ของกรุงเทพฯ  แต่บ้านญาติอยู่ตอนเหนือ ถ้าจะผ่านก็ต้องผ่านถนนราชพฤกษ์หน้าบ้านเรา ก็เลยกลายเป็นการทำแผนที่ครั้งแรก ดูว่าถนนราชพฤกษ์เริ่มและจบตรงไหน นั่งรถไปด้วยกัน ผมขับ ส่วนลูกก็จดข้อมูลระหว่างทาง”

หลังโปรเจกต์แรกผ่านไป เพื่อที่จะต่อยอดความสนใจของลูกได้ ภารกิจพิชิต 22 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่รถข้ามได้ทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ยกเว้นสะพานพระราม 6 ซึ่งตอนนี้เป็นสะพานรถไฟ) จึงเริ่มขึ้น 

โดยมีคุณพ่อเป็นคนขับรถ คุณแม่ช่วยถ่ายภาพและดูทาง และมีธีร์ที่นั่งอยู่ด้านหลังเป็นคนจดข้อมูล ทั้งสามคนแบ่งหน้าที่ไว้แบบนั้นและวางแผนว่าจะเดินทางช่วงวันหยุดสงกรานต์ เพราะถนนในกรุงเทพฯ จะค่อนข้างโล่ง ซึ่งจะทำให้ภารกิจสำเร็จได้ใน 1 วัน

เมื่อมีแผนการเดินทางคร่าวๆ แล้ว ทุกคนก็ค่อยเริ่มหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ปีที่สร้าง รูปแบบสะพาน ความยาว ความสูง และประวัติที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถึงวันเดินทาง อุปกรณ์สำหรับการพิชิตสะพานครั้งนี้ใช้เพียงโทรศัพท์มือถือเพื่อถ่ายรูป กระดาษ ดินสอ แผ่นรองจดของธีร์ และ GPS หน้ารถ

ทั้งสามคนเริ่มจากสำรวจสะพานกาญจนาภิเษกตอน 9 โมงเช้าไปจนถึงสะพานเชียงรากตอน 4 โมงเย็น  ระหว่างทางอาจจะเหนื่อย หิว อยากเข้าห้องน้ำ และไม่ชินเส้นทางบ้าง แต่การนั่งรถดูสะพานคือความสุขร่วมกันของครอบครัว

“ตอนเริ่มทำ ตั้งใจจะดูสะพานเฉยๆ แต่พอข้ามสะพานสุดท้าย เราปรบมือเฮพร้อมกันเลย เพราะเราทำสำเร็จแล้ว” 

จุดหมายไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง 

ภารกิจจบ การเรียนรู้ไม่จบลงตาม

หลังจากนั่งรถชมสะพานแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การสรุปข้อมูล

คุณแม่ชวนธีร์กางข้อมูลที่จดระหว่างดูสะพานมาเรียบเรียงใหม่แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะโจทย์สำคัญ คือ เราจะทำให้เรื่องราวและข้อมูลต่างๆ ที่หามาน่าสนใจได้อย่างไร 

โดยขณะที่ลูกเขียน คุณแม่เห็นว่า แม้จะหาข้อมูลเรื่องเดียวกัน แต่ว่าแต่ละสะพานมีรายละเอียดแตกต่างกัน ทำให้ข้อมูลที่ได้ดูกระจัดกระจาย คุณแม่จึงสอนลูกใช้โปรแกรม Excel เพื่อจัดระเบียบข้อมูลให้อ่านง่ายขึ้น

‘น้องธีร์’ ธีรัช คุมพ์ประพันธ์

“การให้ลูกลองจัดกลุ่มข้อมูลใน Excel เขาจะเห็นข้อมูลที่ต่างออกไป เช่น ถ้าเรียงตามปีที่เปิดใช้ เราจะเห็นสะพานพระราม 6 เป็นอันดับ 1 ถ้าเรียงตามความยาว พระราม 3 มาเป็นอันดับ 1 นะ พระปกเกล้าสั้นสุด หรือประเภทสะพานก็จะเห็นว่าสะพานในกรุงเทพเขาสร้างแบบไหนบ้าง”

ในมุมคุณแม่มองว่า การพิชิตสะพานจะไม่สามารถได้ข้อมูลที่รอบด้านและจบลงได้ หากลูกไม่รู้สึก ‘สนุก’ และมี ‘ความสุข’ กับสิ่งที่เขากำลังทำ

“แม่เชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรารู้สึกสนุก หัวข้อต้องสนุก กระบวนการเรียนหรือกระบวนการทำงานอาจจะมีบางขั้นตอนที่ไม่สนุก แต่พอเป็นหัวข้อที่เราสนใจเราจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ อย่างทำโปรเจกต์สะพาน ธีร์ก็ไม่ได้สนุกทั้งหมดหรอก ยิ่งตอนเขียนเพราะข้อมูลเยอะ แต่เราจะช่วยกันอย่างไร”

โบว์ลิ่ง’ เรืองรัตน์ ว่องสุวรรณเลิศ

สำหรับคุณพ่อและคุณแม่แล้ว การพิชิต 22 สะพาน จุดหมายปลายทางไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ที่ลูกได้รับระหว่างทาง 

“ความจริง แม่คิดว่า โปรเจกต์นี้เราใช้สิ่งที่เขาสนใจเป็นแค่สื่อกลาง ส่วนกระบวนการระหว่างทางเขาจะได้หัดคิด ฝึกวางแผน ตั้งเป้าหมาย และไม่ท้อต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น ถ้าตั้งเป้าหมายแล้วทำได้ เขาจะภูมิใจในตัวเองแล้วจะรู้สึกอยากทำอีก” 

การเรียนไม่ควรจบในห้องเรียน ผู้ใหญ่ทุกคนคือนักออกแบบการเรียนรู้

“การเรียนรู้ต้องไม่ใช่เรียนเพื่อให้ได้แค่ความรู้ แต่ต้องเรียนให้ได้ทักษะอื่น” คุณแม่เล่า

ในสภาพแวดล้อมของเด็กวัย 9 ปีที่เต็มไปด้วยความสงสัยและความอยากรู้ในเรื่องต่างๆ หนึ่งในหลักที่คุณพ่อคุณแม่เลือกใช้ คือ เปิดโอกาสให้ลูกลงมือทำ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

“มีอยู่วันหนึ่งเขาลองวาดคอนเซปต์ของสินค้าในจินตนาการ แล้วพูดว่า มันคงเกิดขึ้นไม่ได้หรอก ไร้สาระ โมเมนต์แบบนี้ เราจะบอกว่า ไอเดียนี้เจ๋ง เราบอกว่ามันแค่ยังเป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ ไม่แน่อนาคตอาจจะเป็นไปได้”

หน้าที่ของพ่อแม่ คือ การสังเกตลูกว่าเขากำลังสนใจเรื่องอะไร ขโมยโมเมนต์นั้นไว้ แล้วมองหาวิธีต่อยอดความสนใจนั้น ไม่มีผิดหรือถูก แต่อย่างน้อยลูกจะได้ลองทำ

“ในวัย 9 ขวบ ความสนใจของลูกหลากหลาย สะพานก็เป็นอย่างหนึ่ง พ่อแม่ต้องสังเกตลูกและโมเมนต์นั้นเราต้องขโมยไว้เลยแล้วนำมาต่อยอดว่าเขาอยากทำอะไร” คุณแม่ขยายความ

การที่เด็กคนหนึ่งจะรู้ว่าเขาสนใจอะไร คุณแม่บอกว่า ผู้ใหญ่รอบตัวคือคนสำคัญในการช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็ก ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนก็ตาม

ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่ลูกที่เรียนรู้ แต่คุณพ่อเองก็เรียนรู้ไปกับลูกด้วยเช่นกัน หนึ่งในคือความเชื่อเรื่องการเรียนรู้ จากที่เคยเชื่อว่า การศึกษาเริ่มต้นและจบลงที่โรงเรียน แต่กิจกรรมนี้บอกว่า พ่อแม่เป็นแรงซัพพอร์ตสำคัญ

“การศึกษาไม่ได้จบแค่ในโรงเรียน พ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งในการปักหมุดว่า ลูกสนใจอะไร แล้วค่อยๆ ดูว่าจะหาองค์ความรู้อะไรมาเสริมสิ่งที่เขาสนใจได้ และไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกัน เหมือนที่คุณแม่สอนให้ลูกใช้ Excel มันแทบจะไม่เกี่ยวข้องกับสะพาน แต่เราเห็นว่ามันสามารถเอามาใช้ประโยชน์กับข้อมูลได้นะ มันคือการแตกยอดประสบการณ์”

อีกทั้งโปรเจกต์สะพานก็ไม่ใช่กิจกรรมเดียวที่ทั้งสามคนตัดสินใจเดินทางไปหาคำตอบด้วยกัน อย่างเช่นการเตรียมสอบวิชาประวัติศาสตร์ครั้งล่าสุดของธีร์ คุณพ่อคุณแม่พาธีร์ไปพิพิธภัณฑ์ดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์

“การเรียนต้องไม่จบด้วยการท่อง” คุณพ่อเสริม

ผลงานจากการเตรียมสอบ คือ สมุด Treasure Hunt ซึ่งธีร์ออกแบบเอง 

รายละเอียดด้านใน คือ การตามหาขุมทรัพย์ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 10 อย่างพร้อมดูว่า ขุมทรัพย์เหล่านั้นเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แบบใด

“จริงๆ รายละเอียดข้างใน คือ เนื้อหาออกสอบ แต่เราจะทดสอบว่า เขาสามารถวิเคราะห์ได้ไหมว่า สิ่งนี้เรียกว่า หลักฐานชั้นต้นหรือเรียกว่าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเปล่า อย่างรอยพระพุทธบาทไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ลานจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร เขาก็จะได้เห็นได้เข้าใจโดยไม่ต้องท่อง” คุณแม่บอก

กิจกรรมครอบครัวเกิดขึ้นได้ในบ่ายวันหนึ่ง

จากทั้งหมด 22 สะพาน ธีร์ชอบสะพานพระราม 8 มากที่สุด เพราะรูปแบบสะพานเป็นสะพานแขวน

“สะพานแขวนทั้งหมดก็สวย” ธีร์บอก

แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่การวางตำราเรียนลงแล้วมาทำกิจกรรม ทำให้ธีร์มีความสุขมาก ถึงจะไม่ได้บอก แต่เราก็เห็นรอยยิ้มของเด็กชายวัย 9 ขวบขณะที่กำลังนึกถึงคำตอบ

ส่วนคุณพ่อมองว่า ตลอดระยะเวลาของภารกิจ บางครั้งเขาก็ทึ่งในตัวลูกที่สามารถจัดระบบความคิดของตัวเองได้อย่างเป็นระบบ เหตุผลหนึ่งมาจากแนวคิดของครอบครัวที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้ลูกได้ลองผิด ลองถูกอย่างเต็มที่ บทบาทของพ่อแม่ คือ การสร้างรากฐานที่มั่นคงให้เขาใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองในอนาคต

“โลกเปลี่ยนตลอดเวลา หน้าที่ของเราคือสร้างรากฐานว่า เขาควรรู้อะไร ส่วนเขาจะไปต่อยอดยังไงขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง”

ด้านคุณแม่มองว่า ระบบการศึกษายังต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ลูกเรียนวันนี้ก็ยังเป็นการเรียนแบบเดิม แต่เธอเชื่อว่า เราไม่สามารถเฝ้ารอการเปลี่ยนแปลงจากคนอื่นได้เพราะลูกโตขึ้นทุกวัน ถ้ามีอะไรที่เธอจะทำให้ลูกได้ เธอก็ยินดีทำ

“เราไม่สามารถเฝ้ารอให้การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นจากคนอื่นได้ เพราะเวลาของพัฒนาการของลูกไม่หวนกลับมา ถึงจะแก้ปัญหา (ระบบการศึกษา) ได้ในอนาคต แต่ตอนนั้นลูกเราคงโตแล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้ ถ้ามีอะไรที่เราสามารถช่วยลูกได้ เราก็จะทำ”

โปรเจกต์สะพานคือหนึ่งในสิ่งที่เธอทำ เพราะเธอคิดว่า ความสนใจของลูกคือศูนย์กลางของการเรียนรู้ทุกอย่างและสามารถเกิดได้ในบ่ายวันหนึ่งที่จะเป็นความทรงจำของทุกคนในครอบครัวไปอีกนาน 

“เด็กทุกคนมีความมหัศจรรย์ในตัวเอง แต่พ่อแม่ต้องสังเกตว่าลูกสนใจเรื่องอะไร กิจกรรมในครอบครัวมันสามารถเกิดขึ้นได้ในบ่ายวันหนึ่ง และไม่ต้องแบ่งแยกว่า กิจกรรมนี้ของลูก กิจกรรมนี้ของฉัน แต่มองหาสิ่งที่ครอบครัวทำร่วมกันได้” คุณแม่ทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Avatar photo

ชัชฎา วัฒนสมบุญดี

นักออกแบบที่สนใจเรื่องคนและพฤติกรรมมนุษย์ ตื่นเต้นทุกครั้งเวลาเจอแมวส้มและมีม เป้าหมายในชีวิตตอนนี้คืออยากทำงานที่คนอ่านได้ประโยชน์

Related Posts