เปิดแผนการปฏิวัติการศึกษาสู่อนาคตที่สร้างสรรค์ จากงาน ‘Creativity in Education Summit 2023’

  • Mappa สรุปใจความสำคัญจากวงเสวนา ‘Building Momentum for Creativity in Education 2024 and Beyond’ ในระหว่างการประชุม “Creativity in Education Summit 2023” 
  • Natalie Foster นักวิเคราะห์จาก PISA ได้แบ่งปันความคืบหน้ารายงานการประเมินด้านความคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยรายงานดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลจากทั้งหมด 66 ประเทศทั่วโลก ที่จะทำให้ทั่วโลกได้เข้าใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
  • Bill Lucas จาก Global Institute of Creative Thinking ได้ยกให้ปี 2024 เป็น “ปีแห่งความเป็นผู้นำ” โดยคาดว่าในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงจะต้องมีความก้าวหน้าในด้านการศึกษาอย่างมาก
  • Stéphan Vincent-Lancrin ได้เน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือกันของคนในวงการการศึกษา พร้อมระบุถึงความสำคัญของการแบ่งปันความรู้ในหมู่นักการศึกษาทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดกระบวนทัศน์การศึกษารูปแบบใหม่ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นฐานของการศึกษา

ในระหว่างการประชุม “Creativity in Education Summit 2023” จัดขึ้นโดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), Centre of Education and Research and Innovation (CERI) และ Global Institute of Creative Thinking (GloCT) ของวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา สัมมนาเรื่อง ‘Building Momentum for Creativity in Education 2024 and Beyond’  ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างมาก โดยผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย Stéphan Vincent-Lancrin , Natalie Foster และ Bill Lucas ซึ่งมาร่วมกันแลกเปลี่ยนและพูดคุยเรื่องแผนการในปี 2024 เพื่อสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในการศึกษาทั่วโลก

Mappa สรุปใจความสำคัญจากวงเสวนาที่จะปฏิบัติการศึกษาสู่อนาคตที่สร้างสรรค์

การคิดเชิงสร้างสรรค์แบบ PISA

เริ่มต้นการเสวนาด้วย Natalie Foster นักวิเคราะห์จากโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ซึ่งได้แบ่งปันความคืบหน้ารายงานการประเมินด้านความคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยรายงานดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลจากทั้งหมด 66 ประเทศทั่วโลก ที่จะทำให้ทั่วโลกได้เข้าใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทีม PISA ยังวางแผนที่จะออกรายงานพิเศษอีก 2 ฉบับ ที่จะชี้ให้เห็นความพยายามของประเทศต่างๆ ในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในระบบการศึกษา 

ปีแห่งความเป็นผู้นำ

จากนั้น Bill Lucas จาก Global Institute of Creative Thinking ได้ยกให้ปี 2024 เป็น “ปีแห่งความเป็นผู้นำ” โดยคาดว่าในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงจะต้องมีความก้าวหน้าในด้านการศึกษาอย่างมาก เขาระบุว่า Global Institute of Creative Thinking ได้วางแผนที่จะใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง เพื่อรวบรวมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจุดเน้นจะอยู่ที่องค์ประกอบพื้นฐานด้านการศึกษา ทั้งหลักสูตร การเรียนรู้ และการประเมินผล 

ไม่เพียงเท่านั้น Lucas ยังกล่าวถึงแผนการที่จะจัดกิจกรรมระดับนานาชาติเพื่อสร้างคอมมูนิตี้การศึกษาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย, กาตาร์, แอฟริกาใต้, ไทย, อังกฤษ, และบราซิล เป็นต้น โดยมุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายของผู้คนในวงการการศึกษาทั้งหมด นอกจากนี้ เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นที่จะทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่นักการศึกษา และจะทำควบคู่ไปกับการปฏิบัติการอื่นๆ เช่นเดียวกับความสำคัญของการแบ่งปันไอเดีย การสร้างความร่วมมือ และการใช้กรอบการเรียนรู้ทางวิชาชีพมาช่วยในการออกแบบการเรียนการสอน 

ท้ายที่สุด Lucas มองว่าการร่วมมือกันของคนในวงการการศึกษาจะเป็น “หัวใจสำคัญ” ในการรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น พร้อมกำหนดให้ปี 2024 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

การสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์และเชิงวิเคราะห์แบบ OECD

Stéphan Vincent-Lancrin จาก OECD ซึ่งเป็นผู้ร่วมเสวนาคนสุดท้าย ได้เน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือกันของคนในวงการการศึกษาอีกครั้ง พร้อมกับการดัดแปลงกรอบการเรียนรู้ทางวิชาชีพที่พูดถึงในการประชุมมาใช้กับบริบทของการศึกษาของประเทศตัวเอง ซึ่งเป้าหมายก็เพื่อพิจารณาว่ากรอบการเรียนรู้ทางวิชาชีพดังกล่าวจะสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ จากนั้น เขาได้ระบุถึงความสำคัญของการแบ่งปันความรู้ในหมู่นักการศึกษาทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดกระบวนทัศน์การศึกษารูปแบบใหม่ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นฐานของการศึกษา

ในขณะที่ภูมิทัศน์ด้านการศึกษาได้รับการพัฒนาขึ้น แผนปฏิบัติการใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินด้านความคิดเชิงสร้างสรรค์ และกรอบการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ที่จะช่วยให้นักเรียนได้รับความรู้ทั้งในด้านวิชาการและด้านทักษะความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสิ่งที่คนในวงการการศึกษาต้องทำคือร่วมกันแบ่งปันไอเดีย เข้าร่วมงานต่างๆ และเป็นผู้บุกเบิก เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่ดีสำหรับเด็กรุ่นต่อๆ ไป

“ถ้าเราสามารถเอาทุกอย่างมารวมกันได้ เราก็จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกนี้ได้ มันง่ายแบบนั้นแหละ” Foster กล่าวปิดท้าย


Related Posts