เขาหยาบคาย เขาใจร้าย หรือเขาบูลลี เมื่อ 3 สิ่งนี้ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

  • มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบูลลีกันผ่านช่องทางออนไลน์เป็นอันดับ 2 ของโลก ส่วน เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ก็ระบุว่า ร้อยละ 91 – 79 ของเด็กอายุ 10 – 15 ปี ใน 15 โรงเรียน เคยถูกบูลลี
  • เมื่อผู้คนให้ความสนใจ คำว่า “บูลลี” จึงมักหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่เสมอ ทั้งในบริบทที่หมายถึงการบูลลีจริง ๆ ในบริบทหยอกล้อ และการใช้ผิดบริบท โดยหลายคนมักจะสับสนและเหมารวมว่า พฤติกรรมที่หยาบคายและใจร้ายคือการบูลลี
  • ซีเน วิทสัน นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสงเคราะห์โรงเรียน เชื่อว่า เราไม่ควรใช้คำว่า บูลลี ในบริบทผิด ๆ และควรเข้าใจนิยามของคำว่าบูลลีให้ชัดเจน เพราะการใช้คำว่า บูลลี เพื่อกล่าวถึงสถานการณ์ที่ไม่รุนแรงเท่ากับการบูลลี ก็อาจทำให้คนมองว่า การบูลลีเป็นเรื่องเล็ก และเบื่อคำว่า บูลลี ไปในที่สุด

ปัจจุบัน “การบูลลี” (bullying) แทบจะกลายเป็นคำยอดฮิตเมื่อพูดถึงสาเหตุปัญหาสุขภาพจิตของเยาวชน เมื่อก่อนเราอาจเคยได้เห็นหรือรู้จักการบูลลีผ่านสื่อบันเทิงของต่างประเทศ เช่น หนังและซีรีส์ แต่ในปัจจุบัน ปัญหาการบูลลีในโรงเรียนและโลกอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัญหาใหญ่ในไทยด้วยเช่นกัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เปิดเผยว่า ในปี 2563 ประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น ที่มีการบูลลีกันทางโลกออนไลน์ (cyber bullying) ส่วน เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจกลุ่มเด็กอายุ 10 – 15 ปี ใน 15 โรงเรียน พบว่า ร้อยละ 91.79 เคยถูกบูลลี

เมื่อกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ คำว่า “บูลลี” จึงถูกนำมาใช้บ่อย ๆ ในหลายบริบท ทั้งเวลาพูดถึงการบูลลีจริง ๆ การใช้ในความหมายที่ใกล้เคียงกับคำว่า “แกง” ที่หมายถึงการกลั่นแกล้งหยอกล้อกันโดยไม่ได้มีเจตนาร้าย หรือการใช้โดยเข้าใจนิยามของคำว่า บูลลี แบบผิด ๆ โดยนำคำว่าบูลลีไปใช้บรรยายการกระทำในลักษณะอื่น ๆ   

ซีเน วิทสัน นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมสงเคราะห์โรงเรียน ผู้ผลักดันประเด็นการบูลลีในโรงเรียน กล่าวว่า ตั้งแต่ที่การบูลลีกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เธอก็เริ่มสังเกตเห็นการใช้คำว่า “บูลลี” ในความหมายผิด ๆ โดยเด็กและผู้ปกครองหลายคนที่เธอได้พบมักจะใช้คำว่า “บูลลี” เพื่อกล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดจากความหยาบคายหรือการกลั่นแกล้งทั่ว ๆ ไปซึ่งเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

ซีเน จึงมองว่า  การใช้คำว่า บูลลี โดยพร่ำเพรื่อหรือผิดความหมาย แม้โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็เหมือนการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากปัญหาที่แท้จริงและทำให้คำว่า “บูลลี” นั้นเป็นคำที่มีความหมายเบาบางลงไปด้วย  หากมีการใช้คำนี้ในบริบทที่ผิดเพื่อพูดถึงสถานการณ์ที่ไม่รุนแรงเท่าการบูลลี ก็อาจทำให้สังคมเบื่อคำว่าบูลลีไปในที่สุด และเหยื่อของการบูลลีจริง ๆ ก็อาจถูกตีตราเหมารวมว่าเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ” ไปด้วย

หยาบคายไม่ใช่การบูลลี

ทรูดี ลุดวิก ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับทักษะการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ของเด็ก ให้ความเห็นว่า สิ่งที่หลาย ๆ คนมักจะแยกแยะไม่ออกคือนิยามของคำว่า หยาบคาย ใจร้าย และ บูลลี

ลุดวิก กล่าวว่า การทำตัวหยาบคาย คือการพูดหรือทำบางสิ่งที่ทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ตั้งใจ ในขณะที่ ไมเคิล พี ไลเทอร์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์การจากออสเตรเลีย กล่าวว่า การทำตัวหยาบคาย คือการที่ใครสักคนแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่สุภาพในสายตาคนอื่น ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ไม่ฉุกคิด ไม่คิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นไม่เหมาะสม หรือเกิดจากความไม่รู้  

วิทสัน เสริมด้วยการยกตัวอย่างว่า เธอมีผมหยักศกสีแดง และมักจะมีญาติคนหนึ่งที่ชอบลูบผมเธอและถามด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “เคยคิดจะไปย้อมผมบ้างไหม” หรือ “ฉันว่าเธอดูดีกว่าเวลาที่ผมตรงนะ” ด้วยความหวังดี แม้คำพูดนั้นจะทำให้วิดสันรู้สึกแย่ แต่นั่นก็เป็นเพียงการพูดโดยไม่ได้ไตร่ตรองและไม่ได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งเธอ

ใจร้ายก็ไม่ใช่การบูลลี

อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนมักจะสับสนกับการบูลลีก็คือ “ความใจร้าย” ซึ่งลุดวิกนิยามไว้ว่าเป็นการพูดหรือทำสิ่งที่ทำร้ายผู้อื่นโดยเจตนาเพียงครั้งเดียว (หรือไม่กี่ครั้ง) สิ่งที่ทำให้ความหยาบคายและความใจร้ายต่างกันจึงเป็นเรื่องของเจตนา และถึงแม้การใจร้ายต่อกันจะโหดร้ายกว่า แต่นั่นก็ยังไม่ใช่การบูลลี

ทุกวันนี้เรามักจะเห็นโพสต์จากพ่อแม่ผู้ปกครองที่มาขอความเห็นชาวเน็ตเรื่อง “ลูกโดนบูลลี” ทว่าหลาย ๆ เรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองเล่านั้นกลับเป็นเพียงการทะเลาะวิวาทหรือรังแกกันไม่กี่ครั้ง แท้จริงแล้วการ “ทำตัวร้าย ๆ” ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก ๆ เสียด้วยซ้ำ ใน งานวิจัยของเดบรา เพปเลอร์และคณะจากมหาวิทยาลัยยอร์ก ได้มีการตั้งกล้องบันทึกวิดีโอที่สนามเด็กเล่นเพื่อสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ เกรด 1 – เกรด 6 โดยมีทั้งคนที่ครูระบุว่าเป็นเด็กที่มีนิสัยก้าวร้าวกับเด็กที่ไม่ก้าวร้าว

ผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ครูระบุว่าก้าวร้าวนั้นจะทำพฤติกรรมก้าวร้าวในทุกๆ 2 นาที ทว่าเด็กที่ถูกระบุว่าไม่ก้าวร้าวเอง ก็ทำพฤติกรรมก้าวร้าวทุกๆ 3 นาที และแม้แต่เด็กที่กล่าวว่าพวกเขาเป็นเพื่อนสนิทกัน ก็ยังทำพฤติกรรมแย่ ๆ ต่อกัน นั่นเป็นเพราะเด็กยังไม่มีทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการจัดการด้านอารมณ์ ยังมีขีดจำกัดในทักษะการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น หรือกำลังเรียนรู้การเข้าสังคมว่าพฤติกรรมใดที่เป็นที่ยอมรับหรือไม่เป็นที่ยอมรับ

เรย์แชล คาสซาดา โลห์มันน์ นักจิตบำบัด ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่แตกต่างกันเพื่อให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าใจร้ายกับบูลลีแตกต่างกันอย่างไร

สถานการณ์ที่ 1

โซฟีกำลังอารมณ์ไม่ดีเพราะเธอเจอเรื่องแย่มาทั้งวัน เธอต้องการอยู่คนเดียวเพื่อสงบสติอารมณ์ พอถึงเวลาพักเที่ยง โซฟีเลือกนั่งที่โต๊ะอันห่างไกลผู้คนในโรงอาหาร แต่แล้วก็มีเพื่อนนักเรียนอีกคนวางถาดอาหารลงตรงหน้าและถามเธอว่า “ขอโทษนะ เธอจะว่าอะไรไหม ถ้าฉันขอนั่งด้วยคน” โซฟีไม่พอใจและตอบไปว่า “ไม่เห็นหรือไงว่าฉันอยากอยู่คนเดียว ทีนี้ก็ไปให้พ้นหน้าได้แล้ว”

สถานการณ์ที่ 2  

อิซาเบลเกลียดโคลมาก เพราะโคลชอบทำตัวเด่นเกินหน้าเกินตาเธอทั้งที่เป็นเด็กใหม่ เธอจึงอยากให้บทเรียนกับโคล อิซาเบลเริ่มจากการปล่อยข่าวลือเสีย ๆ หาย ๆ เกี่ยวกับโคล จัดงานปาร์ตี้ที่บ้านและชวนเพื่อน ๆ ทุกคนในชั้นไปร่วมงานยกเว้นโคล ทำให้เพื่อน ๆ ไม่อยากยุ่งกับโคล

จากที่โคลเคยเป็นเด็กสาวที่มั่นใจในตัวเอง เธอก็เริ่มไม่อยากเข้าสังคม ขาดเรียนบ่อย เมื่อมาเรียนก็หลบลี้หนีหน้าผู้คน แต่อิซาเบลก็ยังไม่เห็นใจหรือรู้สึกผิด แถมยังมีความสุขที่ทำให้โคลสูญเสียความมั่นใจ

สถานการณ์แรกนั้นโซฟีเพียงแค่ใจร้ายกับเพื่อนนักเรียนอีกคนเพราะเธอต้องการใช้เวลากับตัวเองแต่ถูกขัดจังหวะ เธอจึงตั้งใจพูดจาแรง ๆ เพื่อให้เพื่อนอีกคนไม่กล้านั่งกับเธอ แน่นอนว่าสิ่งที่โซฟีแสดงออกไปไม่ใช่เรื่องที่ถูกและอาจทำให้เพื่อนเสียใจ แต่นั่นก็ไม่ใช่การบูลลี เพราะเธอไม่ได้มีการวางแผนไว้แต่แรก ไม่ได้ตามไปด่าทอต่อว่าเพื่อน หรือทำร้ายเพื่อนต่อ แม้จะล่วงพ้นวันแย่ ๆ วันนั้นไปแล้ว และเธอไม่ได้เจาะจงที่จะเลือกทำร้ายเพื่อนคนนั้น

ทว่าในสถานการณ์ที่ 2 อิซาเบลมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนที่จะทำร้ายจิตใจโคล และกระทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน เธอเจาะจงว่าต้องเป็นโคล และถึงแม้โคลจะเสียใจจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต แต่อิซาเบลก็กลับรู้สึกยินดีที่การกลั่นแกล้งนี้สัมฤทธิ์ผล

นี่ต่างหากที่เรียกว่าบูลลี

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้นิยามคำว่า บูลลี ตรงกันว่าเป็น “พฤติกรรมรุนแรงที่แสดงออกอย่างจงใจ มีการทำซ้ำอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้สึกผิด และที่สำคัญคือมีความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ”

จากตัวอย่างเรื่องของโซฟีกับเรื่องของอิซาเบลและโคล จะเห็นได้ว่าอิซาเบลมีการเล่นพรรคเล่นพวก เช่น การปล่อยข่าวลือและการชวนเพื่อนทุกคนไปงานปาร์ตี้ยกเว้นโคล เพื่อทำให้โคลเหลือตัวคนเดียว ทำให้เธอมี “อำนาจ” ที่เหนือกว่าโคล

การบูลลีสามารถทำได้หลายแบบ ได้แก่

การทำร้ายร่างกาย เช่น การทุบตี ต่อย เตะ ผลัก ซึ่งถือเป็นการบูลลีที่ชัดเจนและจับต้องได้ที่สุด เด็กหลาย ๆ คนที่ถูกบูลลีในโรงเรียนจึงมักจะมีผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลือหลังจากถูกทำร้ายร่างกายแล้ว

การทำร้ายทางคำพูด เช่น การล้อเลียน ด่าทอ ข่มขู่ ดูถูกเหยียดหยาม เป็นการบูลลีที่ไม่ชัดเจนเท่ากับการทำร้ายร่างกาย เหยื่อของการบูลลีจึงมักไม่ได้รับความช่วยเหลือ

การบูลลีทางสังคม คือการที่ผู้บูลลีจะใช้ความสัมพันธ์ทางสังคมมาข่มขู่ผู้ที่ถูกบูลลี เช่น การข่มขู่ว่าจะเลิกคบ การปล่อยข่าวลือให้ผู้ถูกบูลลีเสียหาย กีดกันไม่ให้ใครมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ถูกบูลลี

การบูลลีในโลกออนไลน์ เช่น การส่งข้อความรุนแรงผ่านข้อความมือถือ อีเมล โพสต์ ภาพ หรือวิดีโอ การกีดกันเหยื่อออกจากกลุ่มบนโลกออนไลน์ การปล่อยข่าวเสียหายเกี่ยวกับเหยื่อผ่านโลกออนไลน์ การปลอมแปลงเป็นผู้ที่ถูกบูลลี โดยสร้างบัญชีใหม่หรือเข้าถึงบัญชีของเหยื่อโดยที่เหยื่อไม่ยินยอม ศูนย์วิจัยการบูลลีในโลกออนไลน์ ได้นิยามการบูลลีประเภทนี้ไว้ว่าเป็น “การทำร้ายด้วยเจตนาและกระทำซ้ำ ๆ ผ่านการใช้งานคอมพิวเตอร์ มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ” การบูลลีทางโลกออนไลน์นั้นเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการ “ทำซ้ำ” ได้ง่ายที่สุด

เว็บไซต์ต่อต้านการบูลลี (stopbullying.gov) ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงผลกระทบของการบูลลีไว้ว่า

เด็กที่ถูกบูลลี มักจะได้รับผลกระทบด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ การเรียน และสุขภาพจิต โดยมักจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล รวมถึงเกิดความรู้สึกเศร้าและโดดเดี่ยว มีพฤติกรรมการกินและนอนที่เปลี่ยนไป ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยสนใจ มีปัญหาสุขภาพกาย และมักจะมีผลการเรียนต่ำลงหรืออาจจะไม่มาโรงเรียน นอกจากนี้ จากสถิติยังพบว่า 12 ใน 15 ของผู้ก่อเหตุกราดยิงในช่วงปี 1990 – 1999 ล้วนเคยเป็นเหยื่อของการถูกบูลลีมาก่อน

เด็กที่บูลลีผู้อื่น ก็มักจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงและทำพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เช่น ติดสุราและยาเสพติด ทะเลาะวิวาท ทำลายข้าวของ ลาออกจากโรงเรียน ก่ออาชญากรรมหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ใช้ความรุนแรงกับคู่รักหรือลูก

ส่วนเด็กที่อยู่ในเหตุการณ์บูลลี ก็ได้รับผลกระทบจากการบูลลีเช่นเดียวกับคนบูลลีหรือคนที่ถูกบูลลี โดยเด็กที่เห็นการบูลลีบ่อย ๆ มักจะหันไปพึ่งสุราและยาเสพติด มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และโดดเรียนเช่นกัน

เขาหยาบคาย เขาใจร้าย หรือเขาบูลลี

วิทสันได้ทำแบบทดสอบด้วยการจำลองสถานการณ์สั้น ๆ ให้เราลองตอบคำถามดูว่า เหตุการณ์ใดคือหยาบคาย เหตุการณ์ใดคือใจร้าย และเหตุการณ์ใดคือบูลลี

  1. เคย์ลาไม่ให้แม็กเคนซีย์นั่งข้างเธอบนรถบัสในเช้าวันนี้ เพราะเธอจองที่ไว้ให้เพื่อนอีกคนแล้ว
  2. ลูคัสบอกเดเมียนว่าจะไม่ให้เขาเล่นต่อเลโก้ด้วย เพราะเขาต่อเลโก้ได้ห่วยที่สุดในชั้น
  3. ทาเลียจะไปเรียนเต้นกับเพื่อนใหม่อย่างเกว็น แต่เคธีบอกทาเลียว่าถ้าเธอไปคบกับเกว็น คนต้องคิดว่าเธอบ้าไปแล้วแน่ ๆ และจะไม่มีใครชอบเธออีกต่อไป ช่วงพักเที่ยง เคธีก็บอกให้เพื่อน ๆ คนอื่นเตรียมล้อทาเลีย ถ้าเธอเดินมาขอนั่งด้วย
  4. เดวินและเดวิดเป็นเพื่อนกัน ทั้งคู่ความเห็นไม่ตรงกันที่โรงเรียน ในระหว่างนั้น เดวินพูดจาแย่ ๆ กับเดวิด ส่วนเดวิดก็ผลักเดวิน
  5. แม็กกีล้อเลียนเจสซีเรื่องที่เธอไปเล่นกับเพื่อนผู้ชายช่วงปิดเทอมและชอบใส่กางเกงบาสเกตบอลยาว ๆ มาที่โรงเรียน ในวิชาพลศึกษา แม็กกีบอกเจสซีให้ไปจับกลุ่มเล่นกับผู้ชาย และวันก่อนเธอยังเขียนข้อความว่า “ทำตัวยังกับทอม” ลงบนโต๊ะของเจสซี
  6. แบรดดีบอกเจพีว่าเขาจะฆ่าเจพีแน่ถ้าเจพีแตะต้องรถเขา จากนั้นเขาก็ผลักเจพี ในคาบคณิตศาสตร์ แบรดดีถ่มน้ำลายใส่เจพีและเตะเก้าอี้เขาจากด้านหลัง จากนั้นก็บอกเจพีว่าเขาจะชกหน้าเจพีแน่ ๆ ถ้าฟ้องครู
  7. เอ็มมากับบริทอยู่ในทีมฮอกกีทีมเดียวกันและเป็นเพื่อนสนิทกันด้วย แต่ตอนนี้เขาทะเลาะกันมา 3 วันแล้ว เอ็มมาด่าบริทหลังการซ้อม ส่วนบริทก็ส่งข้อความแย่ ๆ ไปหาเอ็มมาเช่นกัน

เฉลย

  1. เคย์ลาทำตัวหยาบคายกับแม็กเคนซี แต่ไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่าเธอตั้งใจ จะทำซ้ำ หรือใช้อำนาจกดขี่แม็กเคนซี
  2. ลูคัสใจร้ายกับเดเมียน แน่นอนว่าเขาพูดกับเดเมียนด้วยความตั้งใจที่จะทำให้เดเมียนรู้สึกแย่ แต่ก็ไม่ได้มีสัญญาณบ่งบอกว่าเขาจะทำแบบนั้นอีกหรือใช้อำนาจกับเดเมียน
  3. การที่เคธีชักชวนเพื่อน ๆ ให้ล้อเลียนทาเลียคือการใช้อำนาจทางสังคมเพื่อทำร้ายทาเลีย และยังทำร้ายทาเลียซ้ำหลาย ๆ ครั้ง นั่นจึงแปลว่าเคธีกำลังบูลลีทาเลียอยู่
  4. เดวินและเดวิดหยาบคายใส่กัน เพราะความเห็นไม่ลงรอยกัน พวกเขาจึงเผลอพูดจาแย่ ๆ หรือแตะเนื้อต้องตัวกัน แต่ไม่ได้มีเจตนาหรือการวางแผนที่จะทำร้ายอีกฝ่ายซ้ำ ๆ และทั้งสองคนก็ยังอยู่ในสถานะเท่าเทียมกันอีกด้วย
  5. แม็กกีบูลลีเจสซีเพราะมีการทำร้ายซ้ำ ๆ ด้วยเจตนา แถมยังล้อเลียนเจสซีด้วยถ้อยคำที่แสดงถึงการดูหมิ่นรสนิยมทางเพศ
  6. แบรดดีบูลลีเจพี เพราะเขาเจตนาทำร้ายเจพีซ้ำ ๆ และยังข่มขู่เจพีว่าจะใช้ความรุนแรงทางร่างกายกับเขาหากเขาขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ
  7. เอ็มมากับบริทใจร้ายต่อกัน พวกเขาพูดจาแย่ ๆ กับอีกฝ่ายด้วยความตั้งใจ แต่ทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนสนิทกัน และทั้งคู่ก็เพียงแค่ทะเลาะเบาะแว้งกันในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะทำร้ายกันและกันต่อ

แม้บางครั้งเรื่องแย่ ๆ ที่คนอื่นกระทำกับเราอาจจะทำให้เราเจ็บปวดหรือเสียใจจริง ๆ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือการบูลลี และการเรียกทุกการกระทำแย่ ๆ ว่าเป็นการบูลลี ก็ไม่ต่างอะไรกับการลดทอนความรุนแรงของการบูลลี นั่นอาจทำให้ผู้คนมองภาพของการบูลลีเป็นเพียงการเสียมารยาทหรือการทะเลาะเบาะแว้งชั่วครั้งชั่วคราว และเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่น่าเก็บเอามาใส่ใจในที่สุด

อ้างอิง :

https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30612

https://www.nbcnews.com/better/pop-culture/why-rudeness-so-toxic-how-stop-it-ncna876131

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/teen-angst/201211/mean-vs-bullying

https://www.ncab.org.au/bullying-advice/bullying-for-parents/types-of-bullying/

https://www.stopbullying.gov/bullying/effects

https://www.psychologytoday.com/us/blog/passive-aggressive-diaries/201211/is-it-rude-is-it-mean-or-is-it-bullying

https://www.psychologytoday.com/intl/blog/growing-friendships/201410/is-it-bullyingor-ordinary-meanness

https://signewhitson.com/is-it-rude-is-it-mean-or-is-it-bullying/


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts