- “เราจะขจัดความเหลื่อมล้ำได้ก็ต่อเมื่อลูกต้องได้ดีกว่าพ่อแม่ เพราะถ้าลูกไม่สามารถพัฒนาได้ดีกว่าพ่อแม่ เขาก็จะตกอยู่ใน vicious cycle (วงจรอุบาทว์) วนไป รัฐจึงต้องเอาสวัสดิการไปช่วยให้เขาหลุดพ้นจากวงจรนี้”
- เพราะประเทศคือผู้คน ไม่ใช่สถานที่ ในความคิดของ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี เห็นว่าการลงทุนเรื่องการศึกษาและการลงทุนกับเด็ก คือเรื่องสำคัญ
- การมีรัฐสวัสดิการที่ดีและเหมาะสมจะช่วยให้ความสัมพันธ์ครอบครัวและความสัมพันธ์อื่นๆ ในสังคมแข็งแรงได้อย่างไร อ่านได้จากบทความนี้
“ผัวเมียจนตรอก ตกงานไร้เงิน เข้าห้างลักนมผง ส่งให้แม่เลี้ยงลูกวัย 8 เดือน”
“แม่ขโมยนมผงให้ลูก เพราะยากจน”
“สาวแม่ลูก 2 ถูกจับคดีลักทรัพย์ ญาติวอนช่วย อ้างขโมยนมผง-อาหารเพื่อประทังชีวิต”
ข้างต้นเป็นบางส่วนของพาดหัวข่าวการลักขโมยสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงวิกฤติโรคระบาด ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางสังคม หรือหากพูดให้ชัดขึ้นคือ ปัญหาการขาดสวัสดิการแห่งรัฐในการดูแลประชาชน
ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง กลัว และกังวล ล้วนเป็นความรู้สึกที่คิดว่าชีวิตมีความเสี่ยง เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือไม่มีหลักประกันรองรับชีวิต
“ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ จากปีละ 700,000 เหลือ 500,000 คน เพราะพ่อแม่ไม่มั่นใจกับอนาคต ว่ามีลูกแล้วจะมีความมั่นคงไหม จะหาโรงเรียนให้ลูกยังไง จะมีงานทำ หรือจะมีปัญหาสุขภาพไหม พอพ่อแม่ไม่มั่นใจอนาคตตัวเองก็ส่งผลถึงความไม่มั่นใจในอนาคตลูกด้วย และแสดงถึงความล้มเหลวในระบบสวัสดิการของรัฐ ถ้ารัฐมีสวัสดิการที่เหมาะสม พ่อแม่จะมั่นใจ ไม่กลัว และกล้าที่จะมีลูกมากขึ้น”
ประโยคจาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่สนทนากับ mappa ในหัวข้อ ‘สายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี มาจากรัฐสวัสดิการ’ ในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่เห็นว่าปัญหาอัตราเด็กเกิดใหม่ของไทยที่ลดลงอย่างน่ากังวล คือผลพวงของความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต บ้างกลัวว่าถ้ามีลูกจะไม่มีเงินเลี้ยงดู บ้างกลัวว่าจะไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ หรือบ้างกลัวว่าลูกจะเติบโตมาในสังคมที่ไม่ดี
สารพัดปัญหาเหล่านี้ ชัชชาติเห็นว่าหากประเทศมีรัฐสวัสดิการที่ดี เหมาะสม และตรงต่อความต้องการของคนในประเทศ ก็จะทำให้คนพร้อมมีลูกมากขึ้น หากปราศจากความกลัวและความไม่มั่นคงต่างๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ของครอบครัว สถาบันที่เล็กที่สุดของสังคมให้เข้มแข็งขึ้นได้
รัฐสวัสดิการสำคัญอย่างไร และจะช่วยเหลือประชาชนด้านไหนบ้าง
รัฐสวัสดิการ คือการที่รัฐมาช่วยสนับสนุนสิ่งที่จำเป็นให้กับประชาชนในการดำเนินชีวิต
อย่างยุโรปหลายประเทศเป็นรัฐสวัสดิการ ประชาชนไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต เพราะรัฐช่วยดูแลหมด แต่ก็เก็บภาษีค่อนข้างแพงเพื่อแลกกลับมาเป็นสวัสดิการ สวัสดิการมีหลายระดับ ประเทศไทยเองก็มีอยู่ระดับหนึ่ง อย่างบัตรทองของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ช่วยเรื่องการรักษา แต่ก็มีรูโหว่อยู่บ้างเนื่องจากบางคนยังเข้าไม่ถึงระบบ ทำให้เสียโอกาสไม่ได้รับสวัสดิการ โดยเฉพาะสวัสดิการเด็กก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าพ่อแม่ไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอและเหมาะสม ทั้งด้านเวลา ทุน ยา การศึกษา ก็จะมีปัญหาเรื่องการพัฒนาให้เต็มศักยภาพได้
ปัญหาความเหลื่อมล้ำมาจากการที่เรามีสวัสดิการไม่เพียงพอ เราจะขจัดความเหลื่อมล้ำได้ก็ต่อเมื่อลูกต้องได้ดีกว่าพ่อแม่ เพราะถ้าลูกไม่สามารถพัฒนาได้ดีกว่าพ่อแม่ เขาก็จะตกอยู่ใน vicious cycle (วงจรอุบาทว์) วนไป รัฐจึงต้องเอาสวัสดิการไปช่วยให้เขาหลุดพ้นจากวงจรนี้
ในฐานะเป็นคุณพ่อที่ลูกชายประสบปัญหาการได้ยิน หากเรามีรัฐสวัสดิการหรือมีการสนับสนุนที่ดีจากรัฐจะช่วยได้มากแค่ไหน
ตอนนี้ลูกผมอายุ 21 แล้ว ตอนแรกเขาเกิดมาเป็นเด็กปกติ แต่พออายุ 1 ขวบ ญาติเริ่มทักว่าทำไมเรียกไม่หัน เราก็ไม่ได้เอะใจ พอ 1 ขวบ 2 เดือน ก็พาไปตรวจ จำได้ว่าพยาบาลแจ้งว่าให้ไปเรียนภาษามือ เพราะลูกหูหนวกสนิท เราก็ช็อก เฮ้ย…ตายแล้ว หูหนวกคืออะไรวะ คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก แต่จริงๆ ไม่เลย
ช่วง 6 เดือนแรก เราก็พยายามหาความรู้ รู้สึกได้เลยว่าสิ่งที่ขาดตอนนั้นคือแหล่งความรู้ ข้อมูลก็ค่อนข้างกระจัดกระจาย ซึ่งถ้ามีสวัสดิการช่วยเหลือเด็กพิเศษหรือเด็กที่มีปัญหา พ่อแม่ก็จะมีกำลังใจในการก้าวเดิน และเลือกเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับลูกได้ในอนาคต
คำที่ว่า “การเลี้ยงลูกมีความเสี่ยง” หมายถึงอะไร
ความเสี่ยงที่ว่า คือเราอาจเลี้ยงลูกไม่ได้ตามทฤษฎีเป๊ะๆ อย่างผมมีลูกเป็นเด็กพิเศษ เราก็ไม่อยากให้เขาเจ็บปวดมากกว่านี้ เราก็ตามใจเขาบ้าง ไม่ค่อยกล้าดุเขา แต่เราก็ต้องระวัง ต้องมีสติ เอาความรู้ทฤษฎีมาประกอบเพื่อลดความเสี่ยงนั้น อย่างช่วง 20 ปีที่แล้วไม่ค่อยมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเด็กหูหนวก เราก็ต้องดิ้นรนเยอะ ต้องหาข้อมูลเยอะมาก
สายสัมพันธ์ระหว่างคุณชัชชาติกับลูกเป็นอย่างไร
ก็เป็นแบบตบจูบๆ (หัวเราะ) เป็นสไตล์วัยรุ่นๆ ผมศึกษาจากหนังสือหมอประเสริฐ (ผลิตผลการพิมพ์) ที่บอกว่าเด็กอายุ 0-3 ขวบ ถ้าครอบครัวมีความผูกพันกันจะช่วยดึงลูกไม่ให้เตลิด ยิ่งลูกเราหูหนวก เราไม่สามารถเชื่อมเขาด้วยเสียงได้ เขาไม่ได้ยินอะไร ช่วงผ่าตัดก็ต้องสัมผัสเขาเยอะๆ ต้องอุ้มกอด ต้องใช้ Visual Cue (การใช้ภาพและสีเพื่อสื่อความหมาย) ซึ่งการสัมผัสก็ช่วยทดแทนได้ เรื่องความสัมพันธ์มันไม่ได้ซับซ้อน แต่เราต้องให้เวลา ให้ความเอาใจใส่
ผมมีข้อสังเกตเรื่องความสัมพันธ์ 3 ข้อ คือ
หนึ่ง-ความสัมพันธ์เป็นไดนามิค หมายความว่า ความสัมพันธ์ของเรากับลูกช่วงหนึ่งก็แบบหนึ่ง พอลูกโตขึ้นความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนตามสถานการณ์ เพราะฉะนั้นอย่าประมาท คิดว่าสถานการณ์ดีแล้ว ความสัมพันธ์ดีแล้ว เราต้องปรับความสัมพันธ์ให้สอดคล้องต่อความต้องการหรือความรู้สึกของลูกด้วย
สอง-ความสัมพันธ์คือการยึดโยง บางคนบอกว่าเป็นการยึดโยงลูกไว้ เหมือนเราเป็นสมอ แต่ผมว่าลูกเป็นสมอที่ยึดเราไว้มากกว่า เพราะมีอะไรเราก็คิดถึงเขา ความสัมพันธ์นี้ช่วยดึงให้เราอยากอยู่กับเขาตลอด
สาม-ความสัมพันธ์ที่ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็ว มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก ดังนั้นถ้ามีปัญหาต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อย่าเก็บไว้คนเดียว
การจะสร้างสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นได้ต้องมีทรัพยากร เช่น เวลา เงิน อาชีพ และความช่วยเหลือหลายๆ อย่าง แต่สำหรับพ่อแม่หลายคนที่ไม่พร้อม การมีสวัสดิการจะช่วยให้พวกเขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกมากขึ้นไหม
ผมว่าบริบทมันเปลี่ยน แต่ก่อนในสังคมชนบทอาจไม่ได้ต้องการสวัสดิการมาก เพราะเรามีเวลาอยู่กับลูก แต่พอเป็นสังคมเมือง เราเป็นแค่น็อตตัวหนึ่งในเครื่องจักรใหญ่ เราเอาฟันเฟืองหรือความรู้ที่มีไปแลกเงินเพื่อมาใช้ชีวิต พอเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบแล้ว เราไม่สามารถหยุดตัวเองเพื่อไปดูแลลูกได้ ตรงนี้รัฐต้องมาช่วยดูแล
ดังนั้น หลักง่ายๆ คืออาจจะให้คนไม่ต้องทำงานหนัก เพื่อให้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ถามว่าทำได้ไหม ถ้าดูโครงการที่มีอยู่ อย่างปี 2563 รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยการให้เงินเด็กอายุ 0-6 ขวบ คนละ 600 บาท สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่อคนต่อปีน้อยกว่า 100,000 บาท มีเด็กเข้าโครงการกว่า 2 ล้านคน ทำไปแล้ว 1 ปี ใช้เงินประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เยอะเลยสำหรับงบประมาณปี 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นสวัสดิการจึงเป็นเรื่องที่ทำได้
ถ้าสามารถฝากท้องฟรี คลอดลูกฟรี ลาคลอดได้โดยมีเงินรองรับ หรือเด็กได้รับการศึกษาฟรี ชีวิตรูปแบบนี้จะดีอย่างไร
ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กเกิดใหม่ในไทยลดลงอย่างไม่น่าเชื่อ จากปีละ 700,000 เหลือ 500,000 คน เพราะพ่อแม่ไม่มั่นใจกับอนาคต ว่ามีลูกแล้วจะมีความมั่นคงไหม จะหาโรงเรียนให้ลูกยังไง จะมีงานทำ หรือจะมีปัญหาสุขภาพไหม พอพ่อแม่ไม่มั่นใจอนาคตตัวเองก็ส่งผลถึงความไม่มั่นใจในอนาคตลูกด้วย และแสดงถึงความล้มเหลวในระบบสวัสดิการของรัฐ เพราะประชาชนในประเทศไม่มีความมั่นใจในอนาคต แต่ถ้ารัฐมีสวัสดิการที่เหมาะสม พ่อแม่จะมั่นใจ ไม่กลัว และกล้าที่จะมีลูกมากขึ้น
ยกตัวอย่าง ผมเคยเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ มีเงินเดือนถึงเกษียณ มีบำนาญ ลูกก็มีโอกาสเข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีสวัสดิการต่างๆ ทำให้เราไม่กังวลเรื่องการมีลูก ทำให้เรามั่นใจ นี่คือสิ่งที่คนทั้งประเทศต้องการเรื่องสวัสดิการที่เหมาะสม
สวัสดิการที่จะส่งผลไปถึงลูก ไม่ใช่แค่สวัสดิการของลูกอย่างเดียว แต่คือสวัสดิการพ่อแม่ด้วย ต้องให้พ่อแม่มี safety net ที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลไปถึงความสัมพันธ์กับลูกด้วย เพราะถ้าเรามีลูกและเต็มไปด้วยความกลัว ความไม่แน่ใจในอนาคต มันกระทบถึงอารมณ์และความสัมพันธ์ของเรากับลูกด้วย สวัสดิการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ อีกเยอะ
ในความเห็นคุณชัชชาติ ถ้าสายสัมพันธ์ดี อะไรจะดีบ้าง
หลายคนบอกสายสัมพันธ์เกิดขึ้นในช่วงที่เด็กอายุ 0-3 ขวบ แต่ผมคิดว่าสายสัมพันธ์มันสามารถพัฒนาได้ตลอด ขณะเดียวกัน โซ่ความสัมพันธ์จะดีได้ เราก็ต้องดีด้วย เราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ถ้าเรายังมีความโกรธ เกลียด อิจฉา มองโลกในแง่ร้าย ใช้ความสัมพันธ์ยึดเขาไว้โดยที่เขาไปหาอิสระอย่างอื่นไม่ได้ มันก็เป็นผลลบ
ปัจจุบันความขัดแย้งในสังคมมีมาก ผู้ใหญ่บางคนเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง และยึดความสัมพันธ์กับลูกว่า ลูกต้องคิดเหมือนเรา ผมว่ามันต้องเปิดกว้าง ปรับตัวเอง และเอาใจเขามาใส่ใจเราเยอะๆ การมีสายสัมพันธ์ที่ดีเป็นการยึดโยงให้เราเข้าใจลูกว่าเขาต้องการอะไร เขารู้สึกอะไร อย่าเอาสายสัมพันธ์ไปเป็นตัวตัดสินลูก แต่เอาไว้เชื่อมโยงเพื่อเข้าใจเขาให้มากขึ้น
การออกมาทำงานเพื่อบ้านเมือง เพราะอยากเห็นลูกมีชีวิตที่ดี จะขยายผลไปถึงสังคมโดยรวมด้วยไหม
ตอนแรกก็ไม่ได้คิดเรื่องสังคมอะไรมาก แต่พอลูกมีปัญหา เราต้องหาข้อมูล ขอความช่วยเหลือ และเจอพ่อแม่เด็กหูหนวกจำนวนมาก บางคนลำบากกว่าเราเยอะ เด็กบางคนไม่ได้รับการดูแลเลย ทำให้เราคิดว่าชีวิตมันโหดร้าย โดยเฉพาะกับคนที่ไม่มีโอกาสที่ดี
พอเราเห็นปัญหามันก็ผลักดันเป็น passion ที่เราอยากเห็นคนมีชีวิตที่ดีขึ้น ยิ่งช่วงโควิดที่คนจำนวนมากอยากเห็นสังคมดีขึ้น คนก็ออกมาช่วยกัน นี่คือจุดแข็งของคนไทย หรือที่เรียกว่า social capital (ทุนทางสังคม) ที่มีคนออกมาช่วยคนอื่นแม้ไม่ได้รับผลตอบแทน แต่ออกมาเพราะมีความสุขที่เห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น
ถามว่าแล้วจะขยายผลอย่างไร รัฐก็ต้องเห็นและเข้ามาสนับสนุน โดยใช้คนกลุ่มนี้เป็นแรงหนุน รัฐอย่ามองประชาชนเป็นลูก แต่ต้องมองเป็นเพื่อนร่วมงาน ไว้ใจ และให้กำลังเขา ให้สวัสดิการที่เหมาะสม สร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง รัฐไม่สามารถดูแลทุกคนได้ แต่สวัสดิการที่ลงมา เช่น การให้งบแก่ชุมชนให้เขาดูแลกัน อาจทำให้สวัสดิการทำได้ง่ายและถึงตัวมากขึ้น
เราสามารถเอาความคิดแบบพ่อบ้านหรือพ่อในครอบครัว มาสวมเป็นพ่อเมือง เพื่อบริหารบ้านเมืองได้ไหม
ผมพูดตรงๆ ว่าอันนี้อันตราย หมายถึงว่าการบริหารธุรกิจถ้าคิดจะบริหารแบบครอบครัวจริงๆ แล้วไม่เหมาะ เพราะถ้ามีพนักงานโกง เราไล่ออกได้ แต่เราไล่ลูกออกไม่ได้
ผมว่าครอบครัวกับบริษัทต่างกัน แนวคิดบริหารครอบครัวหรือพ่อบ้าน มาเป็นพ่อเมืองหรือบริหารเมือง ความสัมพันธ์มันต่างกัน คอนเซ็ปต์ครอบครัวกับการบริหารเมืองอาจใช้กันได้ไม่เต็มที่ เพราะประชาชนไม่ใช่ลูก เขาเป็นเจ้านายเราด้วยซ้ำ แต่จุดหนึ่งที่เอามาใช้กันได้คือ หัวใจของการบริหารเมืองต้องเข้าใจความต้องการพ่อแม่ เข้าใจปัญหาเขา หน้าที่เราคือมาแก้ปัญหานั้น หน้าที่เราไม่ใช่พ่อแม่เมือง ฉะนั้นเราไม่ได้เล่นบทพ่อแม่เมือง แต่เล่นบทผู้บริหารที่เข้าใจพ่อแม่ ครอบครัว และลูกเขา
ถ้าเป็นพ่อเมืองแล้ว อะไรเป็นปัญหาที่ควรแก้มากที่สุด
ถ้าดูความต้องการของคนกรุงเทพฯ คือความต้องการรอบตัว เช่น ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม เวลา ถ้าเราใช้เวลาเดินทางน้อยลง เราก็จะมีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น
ต่อมาเรื่องสวัสดิการพื้นฐาน อย่างศูนย์บริการด้านสาธารณสุข โรงเรียน สวนสาธารณะที่มีคุณภาพใกล้บ้าน คือสิ่งที่ต้องมี เพราะเวลาคือสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ ถ้าเราพัฒนาตรงนี้ได้ ชีวิตจะดีขึ้น
ผมว่ายังมีแนวทางที่จะทำได้ แต่ปัญหาคือเราไปโฟกัสกับเมกะโปรเจ็คต์มากไป เราใช้เงินจำนวนมากกับการทำอุโมงค์ยักษ์ รถไฟฟ้าหลายๆ หมื่นล้าน แต่เราลืมนึกถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่อยู่หน้าบ้านเรา ทางฟุตบาธที่เดินลำบาก ไฟที่ไม่ติดบนถนนที่ไม่มีความปลอดภัย จริงๆ ต้องโฟกัสกับเวลาที่ครอบครัวต้องใช้ในระดับเส้นเลือดฝอยให้มากขึ้น พอเอาเวลากลับมา คุณภาพของการอยู่ด้วยกันในครอบครัวก็จะมากขึ้น
จากงานวันเกียรติยศ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่คุณชัชชาติได้ไปพูด โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ที่ว่าในประเทศกำลังพัฒนามักสอนเด็กให้เชื่อฟังผู้ใหญ่ มีระเบียบวินัย และต้องเรียนสูงๆ แต่ประเทศพัฒนาแล้วจะสอนว่า ต้องเคารพสิทธิสาธารณะ รับฟังความเห็นผู้อื่น และช่วยเหลือคนแปลกหน้า จากความต่างตรงนี้ คิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องเปลี่ยนวิธีการสอนให้เด็กเคารพสิทธิ รับฟัง หรือมี empathy
ผมว่าต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน หมายถึงต้องมีการฝึกฝนให้มี empathy ช่วยเหลือ หรือรับฟังความเห็นผู้อื่นก่อน แต่ที่เราสอนให้เด็กมีระเบียบ ให้เรียนเก่ง เพราะนั่นคือสิ่งที่เรารับมา จริงๆ แล้วหัวใจคือต้องสังเกตตัวเองก่อน ก่อนที่จะไป empathy คนอื่น ต้องมี self-empathy ก่อน ว่าเราทำอย่างนั้นไหม ช่วยเหลือหรือทำเพื่อส่วนรวมไหม ถ้าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมว่าเราเชื่อมโยงกับลูกได้ เพราะมาจากสิ่งที่เราทำประจำวัน ลูกก็จะเห็นและทำตาม
ถ้าต้องการปลูกฝังการเป็นพลเมืองให้เด็กได้รู้ว่าสิทธิและหน้าที่เขามีอะไร เราจะช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ได้อย่างไร
ต้องมาจากพ่อแม่ด้วยว่าแอคทีฟแค่ไหน ไม่ได้ดูดายสิ่งที่เกิดขึ้น และชี้ให้ลูกเห็นตัวอย่างที่เราทำ ผมว่าเราทำได้ส่วนหนึ่ง แต่จะมีพลังมากถ้ารัฐส่งเสริมกิจกรรม active citizen ให้พวกเขามีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาของเมือง เช่น ทำแพลตฟอร์มให้พวกเขาโหวตว่ามีปัญหาอะไร ได้รับการแก้ไขหรือยัง เป็นการแก้ปัญหาจาก top-down และ bottom-up ด้วย
คุณชัชชาติเห็นอะไรบ้างในเด็กรุ่นใหม่ และคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่น่าผลักดันพวกเขาต่อ
เด็กสมัยใหม่มีความคิด มีข้อมูล มีความเป็น active citizen มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ดี บางทีผู้ใหญ่ชอบไปบอกว่าเด็กคิดผิด เราอย่าเพิ่งไปตัดสินเขา เผลอๆ เราเองอาจคิดผิดมาตั้งนานก็เป็นไปได้ เด็กสมัยใหม่เขามีความแอคทีฟมากขึ้น เขามีความกังวลเรื่องอนาคตตัวเองว่าจะไปไม่รอด จะอยู่ในสังคมที่ไม่ดี เพราะสุดท้ายเขาก็จะเป็นคนที่มาแทนเรา
ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการโดยเฉพาะการศึกษาฟรี และมีคุณภาพเท่ากัน คิดว่าโรงเรียนทางเลือกยังมีความจำเป็นไหม
ก็คงต้องมี เพราะผมเชื่อเรื่องความแตกต่าง และทำให้โรงเรียนพัฒนามาตรฐานตัวเองด้วย โรงเรียนทางเลือกจะเป็นตัวกระตุ้นการศึกษา ถ้าทุกโรงเรียนเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรแปลกใหม่ สุดท้ายก็อาจล้าสมัยได้ ยิ่งถ้ามาตรฐานโรงเรียนทั่วไปดี การมีโรงเรียนทางเลือกยิ่งไม่ง่าย โรงเรียนทางเลือกมันทำให้เรามี innovation ใหม่ๆ สุดท้ายจะเป็นมาตรฐานที่ขยับให้เกิดการปรับตัวกันได้
อะไรเป็นอุปสรรคของการมีรัฐสวัสดิการที่ดี
ผมว่าเรื่อง mindset การจัดลำดับความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องการลงทุนที่มีประโยชน์มาก ปัญหาทั้งหมดในประเทศมาจากคน ไม่ใช่การที่เราไม่มีรถไฟฟ้า มันเป็นเรื่องการลงทุนกับคน เพราะประเทศคือคน
ถ้าแม่คนหนึ่งคลอดลูกและมีเวลาอยู่กับลูกอย่างเต็มที่ โดยมีเงินเดือนรองรับ และพ่อก็สามารถลางานมาเลี้ยงลูกได้ คิดว่าเด็กคนนี้จะเป็นอย่างไร
ตามทฤษฎีก็คงจะเป็นเด็กที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ ลูกผมเป็นอย่างนั้น เพราะตอนเขาหูหนวก เราพาเขาไปผ่าตัดหูที่ออสเตรเลีย และเรียนพูดที่นั่น แต่หลักการของออสเตรเลียไม่ได้สอนลูกให้พูด แต่สอนพ่อแม่ พ่อแม่ต้องไปเรียนอาทิตย์หนึ่ง เพื่อมาสอนลูกพูดที่บ้าน เราต้องฝึกพูดกับลูกทุกเวลา จนเด็กที่หูหนวกสามารถพูดได้ ตรงนี้มันแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ การเอาใจใส่ ทุ่มเท อยู่กับลูก สามารถเปลี่ยนเด็กคนหนึ่งได้เลย ดังนั้น ถ้าพ่อแม่มีเวลาที่มีคุณภาพอยู่กับลูก ไม่มีความกังวลเรื่องความไม่แน่นอน หรือมีความกลัวในชีวิต จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยืนยาวได้ เด็กจะรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ และพัฒนาเรื่องความสัมพันธ์ได้ ผมว่านี่เป็นการลงทุนระยะยาวที่ดี
ถ้าสังคมเรามีคนที่เอาใจใส่ซึ่งกันและกันมากขึ้น มีจิตใจที่เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น สังคมก็จะเปลี่ยนไป การที่พ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูก 0-3 ปี ไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ แต่ยังเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการในมิติอื่นของเด็กๆ ด้วย เช่น การคิด การมีมนุษยสัมพันธ์กับคนอื่น ผมเชื่อว่าถ้าเด็กมีคุณภาพ ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพมากขึ้น สังคมจะดีขึ้นด้วย
ความเป็นพ่อสอนอะไรคุณชัชชาติบ้าง
เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ และชีวิตเราเกิดมามีหน้าที่หลัก คือการดูแลลูกและครอบครัว ถ้าดูแลเขาไม่ได้ดีก็อย่าไปทำอย่างอื่นมาก เวลาพูดเรื่อง cost leadership คือ lead yourself before you lead others คือนำชีวิตตัวเองก่อน ค่อยไปนำคนอื่น สำหรับผมคือ ถ้าเราจัดการเรื่องลูกได้ดี ก็จะสามารถจัดการเรื่องอื่นได้
รัฐสวัสดิการที่ดีในความคิดคุณชัชชาติมีอะไรบ้าง
ถ้าเน้นเรื่องลูก ก็ต้องทำให้พ่อแม่มีเวลาที่เหมาะสมให้ลูกได้ มีรายจ่ายที่เหมาะสมในการเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพ มีการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่เหมาะสม เหล่านี้คือสิ่งสำคัญ
ต้องลงทุนเรื่องคนมากขึ้น เราอาจจะสร้างถนนให้น้อยลง แต่สร้างโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กให้ดีขึ้น รัฐต้องลงไปดู และลดระเบียบให้น้อยลง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ สวัสดิการต้องให้สอดคล้องกับความต้องการ เช่น ปัญหาของชุมชนคืออะไร และรัฐจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับความต้องการเขา
สวัสดิการจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ เพราะถ้าเราไม่มีสวัสดิการที่ดี คนจะไม่กล้ามีลูก จำนวนเด็กก็จะลดลง สุดท้ายก็จะไม่มีใครทำงานมาจ่ายภาษี ปัญหาก็จะรุนแรงขึ้น ถ้ารัฐไม่ลงทุนสร้างสวัสดิการตอนนี้ ประเทศก็จะถดถอยลงเรื่อยๆ
สุดท้าย เรามีโอกาสที่จะสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีได้ไหม
ถ้าเรามีเรือดำน้ำได้ เราก็มีสวัสดิการที่ดีได้ (หัวเราะ) หมายความว่าเรามีเงิน ซึ่งก็ขึ้นกับการใช้งบประมาณ การจัดลำดับความสำคัญว่าต้องให้อะไรก่อน โดยแบ่งงบเลยว่าจะทำอะไร เช่นเรื่องบัตรทองยังทำได้ แล้วขยายมาเรื่องการศึกษา หรือดูแลเด็กแรกเกิด ต้อง think big start small ขึ้นอยู่กับ mindset ด้วย ถ้าเริ่มจากสิ่งที่จำเป็นที่สุดก่อนก็จะพัฒนาประเทศได้ ซึ่งผมเชื่อว่าเรื่องคน เรื่องเด็ก เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
รับชม mappa Live ครั้งที่ 5 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์: สายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี มาจากรัฐสวัสดิการ”