‘ใส่สุด และ ใส่ใจ’ แนวคิดเลี้ยงลูกเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกสร้างความหมายของชีวิตตัวเองสไตล์ พ่อบอล แม่ปุ้ม

“เวลามองเข้ามาบ้านเรามันเห็นชัดเลยเหรอครับ เรื่องการสนับสนุนลูก” 

พ่อบอลถามย้ำเพื่อความแน่ใจ เพราะมองว่าการสนับสนุนในสิ่งที่ลูกอยากทำนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับพ่อแม่ทุกคน ทั้ง ‘พ่อบอล-จตุพร เจริญลาภนำชัย’ และ ‘แม่ปุ้ม-อรอนงค์ เจริญลาภนำชัย’ ต่างมีความเชื่อว่าการให้ลูกชายทั้งสองคน ‘จอมทัพ-จอมทัพ เจริญลาภนำชัย’ และ ‘ขุนพล-ขุนพล เจริญลาภนำชัย’ ได้ลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ลองผิดลองถูก ลองเรียนรู้เอง เป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่จะติดตัวลูกไปตลอด แม้วันหนึ่งความชอบของลูกอาจแปรเปลี่ยนไปก็ตาม

“บ้านนี้เลี้ยงลูกใส่สุดดี” คือคำพูดที่พ่อบอลได้ยินอยู่บ่อยครั้ง เพราะหลายคนมองเห็น ‘ความใส่สุด’ ของครอบครัวนี้ จากการที่ได้เห็นลูกชายคนโตอย่างจอมทัพทำกิจกรรมที่ชอบและสนใจ นั่นคือการถ่ายภาพสัตว์ป่า กระทั่งมีโอกาสได้พัฒนาฝีมือจนคว้ารางวัลจากเวทีประกวดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลการประกวดภาพถ่าย ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2565 รางวัล Nature in Focus Photography Awards 2022 และล่าสุดจอมทัพก็เพิ่งคว้ารางวัลชมเชยจากเวทีประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่าระดับโลก Wildlife Photographer of the Year – Highly Commended ปี 2022 มาอีกหนึ่งรางวัลด้วยวัยเพียง 14 ปี 

ส่วนลูกคนที่สองคือขุนพล เริ่มมีความสนใจในกิจกรรมที่หลากหลายทั้งการทำอาหาร อ่านหนังสือ และวาดรูป ได้ลองลงมือทำและได้ค้นพบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ถูกใจ ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าครอบครัวเจริญลาภนำชัยใส่ใจเรื่องของการเรียนรู้ การสนับสนุนลูกให้ได้มีประสบการณ์ และการสร้างความหมายของการเรียนรู้จากการได้มีโอกาสลงมือทำกิจกรรมที่หลากหลายอย่างแท้จริง

Mappa และ Starfish Education จึงชวนพ่อบอลและแม่ปุ้มมาลองพูดคุยกันถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ในครอบครัว แนวทางการเลี้ยงลูก และวิธีคิดของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อที่จะได้รู้ว่ากว่าจะมาเป็นสไตล์การเลี้ยงลูกที่คนนอกครอบครัวมองว่า ‘ใส่สุด’ ขนาดนี้ พ่อบอลและแม่ปุ้มต้อง ‘ใส่ใจ’ ในการเลี้ยงดูลูกชายทั้งสองมากขนาดไหน 

ความสัมพันธ์ที่ดี เริ่มต้นได้ด้วยบรรยากาศที่ดี

เชื่อว่าใครที่รู้จักครอบครัวเจริญลาภนำชัย จะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศความสัมพันธ์ของครอบครัวนี้ที่มีความผ่อนคลาย สบาย ๆ เป็นกันเอง เรียกได้ว่าเป็นบรรยากาศที่ทำให้คนในครอบครัวรู้สึกสบายใจ และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูก ๆ กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่

ปุ้มเลี้ยงลูกแบบเพื่อน เราสนิทกัน ซึ่งคนนอกมองเข้ามาก็อาจจะตกใจ แต่คือเวลาคุยกับเขา เราก็ยังคงมีบทบาทของความเป็นแม่อยู่ ซึ่งตรงนี้เราก็ได้รับอิทธิพลมาจากบอล จริง ๆ แล้วปุ้มเป็นคนที่เครียดง่าย ดีที่มีบอลเข้ามา คือบอลเป็นคนที่มองโลกในแง่บวกมาก เห็นหน้าโหด ๆ แต่เป็นคนโลกสวย ทำให้จากที่เราเป็นคนตึง ๆ เครียดง่าย ก็หย่อนลงบ้าง พอบรรยากาศในบ้านดี อะไร ๆ ก็ดี”

“ผมรู้สึกว่าพ่อกับแม่เลี้ยงแบบสบาย ๆ ก็เลยกล้าเป็นตัวเอง การไม่กดดันไม่ต้องอยู่ในกรอบ ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่า” จอมทัพยืนยันว่าบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความผ่อนคลาย ช่วยให้เขาได้เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มรูปแบบ

เลี้ยงลูกให้มีความสุข สนุกในแบบของเรา

กว่าจะกลายเป็นแนวทางการเลี้ยงลูกในแบบของครอบครัวเจริญลาภนำชัย แม่ปุ้มเคยตัดสินใจที่จะเข้าคอร์สอบรมสอนเลี้ยงลูก ด้วยความที่เพิ่งเคยมีลูกครั้งแรก ทำให้เกิดความกังวลใจว่าจะเลี้ยงลูกออกมาได้ไม่ดี แต่ท้ายที่สุดแม่ปุ้มก็เลือกที่จะเลี้ยงลูกในแบบของตัวเอง เพราะเชื่อว่าคนที่รู้วิธีในการรับมือกับลูกได้ดีที่สุดก็คือพ่อกับแม่

“แรก ๆ ด้วยความที่เราเป็นแม่ พอมีลูกคนแรกก็จะคิดว่าต้องไปเข้าคอร์ส ต้องอบรมเพื่อเอาหลักการมาเลี้ยงลูก ก็มีทั้งที่จำได้บ้างแล้วก็จำไม่ได้บ้าง แต่ท้ายที่สุดก็รู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องมานั่งทบทวนว่าถ้าลูกร้องก็ต้องทำอย่างนี้ เพราะเราใช้ความเป็นเราในการเลี้ยงลูกได้”

“เรารู้สึกว่าการเลี้ยงลูกมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องยึดตามแนวทางหรือว่าต้องเลี้ยงตามหลักการ แต่เราเลี้ยงลูกให้มีความสุข เลี้ยงลูกให้สนุกในแบบของเรา”

เรียนรู้ผ่านการเล่น เน้นการลงมือทำ

สิ่งหนึ่งที่พ่อบอลและแม่ปุ้มให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือวิธีการที่ให้ลูกได้เรียนรู้ผ่าน ‘การลงมือทำ’ เพราะด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ต่างก็ชื่นชอบการทำกิจกรรม ทำให้พวกเขาเชื่อว่าการที่ลูกได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทั้ง ‘จอมทัพ’ และ ‘ขุนพล’ จะได้ทักษะและสิ่งดี ๆ กลับไปจากการได้ลงมือทำอย่างแน่นอน

“ที่จริงแล้วอย่างเรื่องโรงเรียน ตอนแรกผมอยากให้ลูกเข้าเรียนที่อัสสัมชัญ เพราะตัวผมก็เรียนอัสสัมชัญมาก่อน แต่ปุ้มก็บอกว่ามีโรงเรียนที่เรียนรู้ผ่านการเล่นอยู่นะ แล้วก็เอาข้อมูลมาให้ดู ได้เห็นรูปโรงเรียน เห็นบรรยากาศ และเราก็ได้เห็นว่าเด็กได้ลงมือทำจริง ๆ อยากรู้เรื่องอะไรก็ลงมือทำสิ่งนั้น ซึ่งตอนเด็ก ๆ ผมก็เป็นสายกิจกรรม ก็เลยรู้สึกว่าโรงเรียนนี้ดี ตอบโจทย์” พ่อบอลเล่าถึงการตัดสินใจให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่เน้นกิจกรรมและการลงมือทำเป็นหลัก เพราะเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในตำราวิชาการ

“ด้วยความที่ปุ้มกับบอลก็ไม่ได้เป็นคนที่ซีเรียสหรือจริงจังกับเรื่องการเรียนขนาดนั้น เราเป็นคนชอบทำกิจกรรม ชอบเล่น มันก็เลยกลายเป็นวิธีการเลี้ยงลูกในแบบของเรา” แม่ปุ้มเสริม

“คือพอเวลาเราเห็นลูกเล่น แววตาเขาไม่เหมือนเด็กที่โรงเรียนทั่วไป เรารู้สึกว่าเขาได้เรียนรู้จากการที่เขามีพื้นที่ในการเล่น พอได้ลงมือทำ มันน่าจะซึมซับประสบการณ์ได้ดีกว่าการอ่านตำรา”

ด้วยแรงสนับสนุนของพ่อบอลและแม่ปุ้มที่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ผ่านการลงมือทำ จอมทัพจึงได้ทำกิจกรรมที่สนใจอย่างการถ่ายภาพท่ามกลางธรรมชาติ แม้จะคว้ารางวัลมากมายจากเวทีประกวดภาพสัตว์ป่าระดับโลก แต่จอมทัพยังคงแบ่งเวลาให้กับการเรียนตามปกติ และมีพ่อบอลกับแม่ปุ้มพร้อมสนับสนุนอย่าง ‘ใส่สุด’ อยู่เคียงข้าง

“ผมเป็นคนชอบถ่ายรูป ตอนจอมทัพเลี้ยงด้วงผมก็เอากล้องไปถ่ายรูปที่บ้าน แล้วพอเขาได้เห็นกล้องก็ลองเอามาถ่ายเล่น ๆ แต่ถามว่าลูกจริงจังเมื่อไหร่ อาจจะเป็นตอนที่ไปค่ายธรรมชาติที่ภูเขียว ก็ได้ไปเจอวิวที่สวย เจออากาศดี ๆ เจอสัตว์เยอะ ๆ ถ่ายรูปง่าย เขาก็เริ่มชอบมาเรื่อย ๆ” พ่อบอลเล่าถึงจุดเริ่มต้นความหลงใหลในการถ่ายรูปของจอมทัพลูกชายคนโต

“ตอนแรก ๆ พ่อเป็นคนสอนถ่ายรูปครับ แต่พอเราได้ออกไปถ่ายก็ได้เจอพี่ ๆ คนอื่น ๆ ที่มาช่วยสอนให้ เขาก็จะช่วยแนะนำเราว่าต้องทำอย่างไร บางทีก็อาจจะมีไปเวิร์กชอปบ้าง ซึ่งจริง ๆ สุดท้ายแล้วมันต้องไปซึมซับเอาเองว่าถ้าอยากได้เทคนิคแบบนี้จะต้องทำยังไงแล้วค่อยเอามาประยุกต์ใช้เอง” 

“ถ้าหากว่ามีวันหยุดหรือมีอะไรน่าสนใจ พ่อกับแม่ก็จะพาไปถ่ายรูปตลอดครับ มีทั้งทริปที่ไปป่าและไปอุทยาน หรือบางทริปก็ไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หลายคนจะเข้าใจว่าผมบุกเข้าไปในป่าลึกมาก แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้ลึกขนาดนั้น บางทีก็แค่ถ่ายอยู่ข้างหน้าบ้านพักตามปกติ อยู่แค่ในเขตอุทยาน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าครับ” จอมทัพอธิบายถึงทริปที่พ่อกับแม่มักจะพาเดินทางไปถ่ายรูปอยู่เสมอ ขอเพียงแค่มีสิ่งที่ลูกสนใจ พ่อและแม่ก็พร้อมที่จะเดินทางไปกับเขาทุกที่

ในขณะที่ขุนพลลูกชายคนเล็กก็ชื่นชอบการอ่านหนังสือและวาดรูป แม่ปุ้มเล่าว่าอิทธิพลส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เธอเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือให้ลูกฟังอยู่บ่อย ๆ เมื่อขุนพลได้ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก พอเริ่มโตขึ้นจึงมีนิสัยรักการอ่าน  

“ปุ้มเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เราอ่านให้เขาฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เราเป็นคนชอบหนังสือที่มีภาพสวย ๆ เราก็จะมีหนังสือแบบนี้เยอะ เขาก็จะซึมซับตั้งแต่เด็ก จะมีคุณพ่อคนหนึ่งแซวว่าเวลาเรานั่งอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เหมือนกับโลกนี้มีเพียงเราสองแม่ลูกกับหนังสือ 1 เล่ม เพราะแต่ก่อนขุนพลจะชอบฟังเราอ่านหนังสือมาก พอขึ้น ป.1 ปุ๊บเขาก็อ่านได้ปั๊บ จากนั้นเป็นต้นมาเขาก็อ่านเอง อ่านได้ทุกแนว” 

“เรื่องที่เป็นเล่มโปรดของผมคือ ‘The Broken Wing’ หรือ ‘ปีกหัก’ ของคาลิล ยิบราน ผมรู้สึกว่าถ้าเราอ่านหนังสือที่ใช้ศัพท์ประมาณนี้ เราจะสามารถเอาไปต่อยอดกับพวกงานเขียนได้เหมือนกัน คือช่วงที่ขึ้น ป.1 ผมชอบไปนั่งเล่นที่ห้องสมุดเพราะแอร์เย็น แต่ตอนนั้นยังอ่านหนังสือไม่ออก พอเริ่มอ่านหนังสือออกผมก็ไปยืมหนังสือที่ห้องสมุดตลอด จนตอนนี้ป.6 แล้วบางเล่มก็ยังไม่ได้คืนเลยครับ (หัวเราะ)” ขุนพลเล่าถึงความเป็นหนอนหนังสือที่ฉายแววตั้งแต่ขึ้น ป.1 ให้เราฟัง

เลี้ยงลูกแบบ ‘ใส่สุด’ และ ‘ใส่ใจ’ ต้องมีไลฟ์สไตล์แบบไหน

นอกจากจะให้ลูกได้ลองลงมือทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ พ่อบอลและแม่ปุ้มยังพาลูกชายทั้งสองไปลองทำกิจกรรมใหม่ ๆ ต่างสถานที่อยู่เสมอ เราติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ของครอบครัวนี้จากเพจ ‘พาลูกเที่ยวดะ’ เพจแบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยวของครอบครัว ซึ่งตอนนี้กำลังขยับขยายตัวให้เป็นศูนย์กลางในเรื่องของธุรกิจการท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว และยังมีการร่วมมือกับทางภาครัฐและเอกชนด้วย นอกจากนี้ยังเป็นเสมือนไดอารี่บนพื้นที่ออนไลน์ที่ได้บันทึกความทรงจำในการทำกิจกรรมของพ่อแม่ลูกไปในตัว

“คือเวลาเราเลี้ยงลูก ปุ้มก็จะชอบไหลไปกับเขา โชคดีที่ลูกเราไม่ได้มาทางสายวิทย์-คณิต (หัวเราะ) ซึ่งปุ้มกับบอลไม่ถนัด แล้วสิ่งที่เขาชอบมันก็เป็นสิ่งที่เราชอบ อย่างช่วงนี้ขุนพลชอบศิลปะชอบวาดรูป ปุ้มก็ชอบดูนิทรรศการ ก็จะชวนเขาไปดูนิทรรศการด้วยกัน จอมทัพชอบถ่ายรูปเข้าป่า เราชอบธรรมชาติก็ไปนั่งเฝ้าสัตว์กับเขา คือเราอินไปกับเขาด้วย เหมือนพากันไปในทิศทางเดียวกัน”

เมื่อได้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ในการสนับสนุนลูกของบ้านเจริญลาภนำชัย Mappa อดสงสัยไม่ได้ว่าพ่อบอลและแม่ปุ้มมีวิธีการจัดสรรเวลาในการเลี้ยงลูกอย่างไร จึงสามารถแบ่งเวลามาสนับสนุนลูกแบบ ‘ใส่สุด’ ได้อย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งทั้งสองก็ได้เล่าถึงการจัดสรรเวลาว่าโดยปกติแล้วงานที่พ่อบอลทำนั้นไม่ได้กำหนดเวลาในการทำงานอย่างชัดเจน จึงแบ่งเวลามาดูแลลูก ๆ และครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ส่วนแม่ปุ้มนั้นมีหลากหลายอาชีพ และมีออฟฟิศคือที่บ้าน ทำให้มีความยืดหยุ่นและจัดสรรเวลามาดูแลลูกได้อย่างใกล้ชิด แต่อีกสิ่งสำคัญที่พ่อบอลและแม่ปุ้มไม่ลืม คือการแบ่งเวลาให้กับตัวเอง

“ปุ้มเป็นคนชอบวิ่ง ชอบออกกำลังกาย คือเราก็ยังอยากมีพื้นที่ความสุขของเรานิด ๆ หน่อย ๆ ปุ้มก็จะจัดสรรเวลาด้วยการไปวิ่งในตอนเช้าก่อนที่ทุกคนจะตื่น พอกลับมาก็มาสวมบทเป็นแม่บ้าน หรือบางทีก็ไปวิ่งตามงานต่าง ๆ แล้วก็ฝากลูกไว้กับบอล ซึ่งบอลก็บอกให้เราไปเถอะ” 

‘ผมไม่อยากให้เขามัวแต่เลี้ยงลูกจนไม่ได้ทำอะไรเลย คือช่วงแรก ๆ ปุ้มจะเป็นคุณแม่ full-time เลี้ยงลูกเป็นหลัก เราก็อยากให้เขาไปพักผ่อน ไปหาเพื่อนบ้าง หาอะไรที่ชอบทำบ้าง ไปเอาความสุขก่อนไม่งั้นพลังจะตก” พ่อบอลอธิบายด้วยความเป็นห่วง เพราะเกรงว่าหากภรรยาทุ่มเทเวลาให้กับลูกมากเกินไป อาจทำให้เผลอละเลยความสุขส่วนตัวจนลืมเติมกำลังใจให้ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

แนวคิดเลี้ยงลูกที่เปิดโอกาสให้ลูกสร้างความหมายในชีวิตของตัวเอง

เมื่อถามถึงแนวคิดในการเลี้ยงลูก พ่อบอลเน้นย้ำถึงความธรรมดา สบาย ๆ ที่ใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกมาตลอด สิ่งสำคัญของแนวทางในการเลี้ยงลูกแบบนี้ คือต้องมีพื้นที่ให้ลูกได้รู้สึกถึง ‘ความปลอดภัย’ กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาด้วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ เมื่อถึงจุดที่เขารับมือไม่ไหวและต้องการความช่วยเหลือเมื่อไหร่ พ่อกับแม่ก็พร้อมที่จะยื่นมือให้เขาเสมอ

“เราเลี้ยงลูกตามปกติ เลี้ยงแบบบ้าน ๆ สบาย ๆ เวลาเขาล้มเราก็คอยยืนดูอยู่ข้าง ๆ ให้เขารู้ว่าเราเป็นห่วง แต่ให้เขาลุกเอง ถ้าต้องการความช่วยเหลือก็แค่ยื่นมือมาหาเรา การให้เขาได้เผชิญกับทุก ๆ สถานการณ์ด้วยตัวเองไม่ได้แปลว่าเราทิ้งเขา เรามองดูอยู่ห่าง ๆ ให้เขามีประสบการณ์จัดการปัญหาด้วยตัวเอง ได้ลองเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่” 

“พอลูกมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ความแตกต่างในสังคมเป็นสิ่งที่เขาต้องเจออยู่แล้ว ซึ่งพอโตขึ้นเขาก็อาจจะเปลี่ยนไป อย่างจอมทัพตอนเด็ก ๆ เขาจะเป็นคนที่มีความเป็นเอกเทศ ชอบเล่นคนเดียว เราก็ให้เขาเล่น แต่ตอนนี้เขาเข้ากับคนอื่นได้ดีมาก ก็คือมันเปลี่ยนตามวัยแหละแต่แค่ตอนนั้นเขาเป็นแบบนั้น”

‘ใส่ให้สุด’ อย่าหยุดที่จะเรียนรู้

“ประโยคที่ผมจะได้ยินอยู่บ่อย ๆ ก็คือ ‘บ้านนี้เลี้ยงลูกแบบใส่สุดดี เลี้ยงมันดี’ บางคนก็บอกว่า ‘เจ๋งอะ กล้าไปลุย’ ซึ่งจริง ๆ เราก็อาจจะไม่ได้ถึงกับเจ๋งขนาดนั้น แต่เรามองว่าการได้สนับสนุนลูกมันคือการให้โอกาสลูกได้ลองทำในสิ่งที่ชอบ ให้ลูกได้ลองเรียนรู้ และเราก็ได้ไปเรียนรู้กับเขาด้วย”

“เวลาได้ทำอะไรเราก็จะทำให้เต็มที่ อาจจะมีบ้างบางวันที่เรารู้สึกเหนื่อย ไม่ได้ออกไปไหน นอนเล่นเกมอยู่บ้าน คือวิธีการเลี้ยงลูกของเราก็ไม่ได้เพอร์เฟกต์นะ แต่เราแค่อยากทำให้มันเต็มที่จริง ๆ อยากสนับสนุนลูกในตอนที่เรามีโอกาสทำ”

แม่ปุ้มเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เธอตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยความ ‘ใส่สุด‘ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากความเชื่อในการได้ลงมือทำ ผนวกกับกำลังสนับสนุนจากพ่อบอลผู้เป็นเสมือนความมั่นคงของบ้าน ทำให้เธอมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว

“อย่างเรื่องวาดรูป ปุ้มก็เป็นประเภทที่พอลูกเริ่มจับดินสอได้ เราก็จะมีสมุดกับดินสอติดตัวไปทุกที่ แต่ก่อนจะค่อนข้างเข้มงวดเรื่อง iPad กับโทรศัพท์ แล้วพอเวลาเรานั่งกินข้าวเขาก็จะมานั่งวาดรูป ซึ่งแต่ก่อนเราก็วาดกับเขา พอผ่านไปสักพักเขาก็วาดของเขาเองได้ มันก็เหมือนกับเป็นกิจวัตร จนทุกวันนี้เขาก็ยังชอบที่จะวาดรูปอยู่”

ความชอบที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ทำให้การเรียนรู้นั้นสูญเปล่า

หลายคนอาจสงสัยว่าการที่พ่อบอลและแม่ปุ้มทุ่มเทกับการสนับสนุนลูกชายทั้งสองคนขนาดนี้ ถ้าหากวันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ลูกตัดสินใจเดินมาบอกว่าไม่อยากทำสิ่งนี้อีกต่อไปแล้ว พ่อกับแม่จะทำอย่างไร

“เราเชื่อว่าเขาน่าจะได้อะไรหลาย ๆ อย่างตลอดระยะเวลาที่เขาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่างจอมทัพก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นช่างภาพก็ได้ ปุ้มว่าเขาน่าจะได้อะไรหลาย ๆ อย่างนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว ขุนพลก็เหมือนกัน เขาน่าจะได้อะไรหลาย ๆ อย่างจากการทำอาหาร และสุดท้ายเขาก็ทำอาหารทานเองได้ ถามว่าเสียดายไหม เสียดาย แต่ท้ายที่สุดปุ้มเชื่อว่าเขาจะได้ทักษะและวิธีคิดบางอย่างจากการทำสิ่งเหล่านี้” แม่ปุ้มตอบด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น

สิ่งสำคัญที่แท้จริงที่ได้กลับมาจากการเลี้ยงลูกแบบ ‘ใส่สุด และ ใส่ใจ’ อาจไม่ใช่การที่จอมทัพได้รางวัลระดับโลก ขุนพลได้วาดรูปและอ่านหนังสือจนครบทุกเล่มที่มีอยู่ในบ้าน แต่สิ่งที่มีความหมายสำหรับพ่อบอลและแม่ปุ้มมากที่สุด คือการที่ประสบการณ์ในการลงมือทำกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นพื้นที่ให้ลูก ๆ ได้ริเริ่มสร้างความหมายของชีวิตตัวเอง ได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญของแต่ละคนคืออะไร อนาคตที่ดำเนินต่อไปข้างหน้านั้นลูกแต่ละคนอยากสร้างชีวิตตัวเองอย่างไร และอย่างน้อยที่สุดประสบการณ์เหล่านี้จะถูกบันทึกกลายเป็นความทรงจำอันล้ำค่าที่จะอยู่ในใจของพ่อแม่และลูก ๆ ตลอดไป


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts