อัลบั้มภาพวัยเตาะแตะของลูกตัวน้อยวางเรียงจนล้นตู้
ภาพลูกน้อยที่กำลังอาบน้ำ กินข้าว นอน เล่น ร้องไห้กระจองอแง ถูกบันทึกผ่านกล้องตัวโปรดของพ่อกับแม่ เพื่อเก็บความประทับใจและช่วงเวลาต่างๆ เอาไว้ในความทรงจำ
การบันทึกช่วงเวลาดีๆ ของครอบครัวถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะคนประเทศไหนๆ นั่นเพราะทุกๆ เวลาที่ผ่านไป ลูกที่เคยตัวน้อยจะไม่น้อยเหมือนเก่าอีกต่อไป เขาจะค่อยๆ เติบโต มีสังคมเพื่อน ออกจากร่มเงาของพ่อแม่ และออดอ้อนไม่เก่งเหมือนเคย ภาพถ่าย วิดีโอ จึงราวกับไทม์แมชีนที่จะพาพ่อแม่ย้อนเวลากลับไปยังวันนั้น วันที่พ่อแม่ยังคงเปรียบเสมือนใจกลางจักรวาลของลูก
การบันทึกยังคงดำเนินไปไม่เปลี่ยนแปลง หากแต่สิ่งที่เปลี่ยนคือ ‘เทคโนโลยี’ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิต ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มตัวโปรดถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์มือถือและอัพโหลดบนเฟซบุ๊ค วิดีโอของเด็กน้อยที่กำลังเดินเตาะแตะถูกอัพโหลดลงยูทูบ ทุกอากัปกิริยาของลูกถูกผู้คนทั่วไปมองเห็นได้ผ่านแอพฯ ไอจี
พร้อมๆ กับความเป็น ‘ส่วนตัว’ ของเด็กคนหนึ่งที่นับวันก็ค่อยๆ อันตรธานไป
“เรื่อง privacy จะมีบางประเด็นที่ต้อง no หรือห้ามทำร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น เข้าแอคเคาท์ของลูก ปลอมแอคเคาท์ลูก บูลลี่ลูกบนออนไลน์ก็มี เช่น เอารูปโป๊ตอนเด็กๆ ของลูกมาโพสต์แล้วแท็กลูก เรื่องพวกนี้ห้ามทำแน่นอน ส่วนการแท็กลูกบนโลกออนไลน์เวลาไปเที่ยวกันสามารถทำได้ไหม อันนี้พ่อแม่ควรต้องถาม ต้องขอลูกก่อน”
‘หมอแนต’ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต มองว่าความรู้และความเข้าใจใน ‘สิทธิเด็ก’ ของครอบครัวไทยจำนวนหนึ่งอาจยังมีไม่มากนัก ยิ่งสิทธิของลูกบนโลกออนไลน์ พื้นที่นี้เปรียบดังปัญหาในกล่องดำ ความระมัดระวังยังคงหละหลวม และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กก็ไม่น้อยไปกว่ากัน
‘ภาพถ่าย วิดีโอ วีรกรรมสมัยเด็ก’ ลูกคือเจ้าของ
สิทธิบนเนื้อตัวเป็นของลูก
ภาพถ่าย วิดีโอ และวีรกรรมสมัยเด็กของลูก ก็เป็นของเขา
“ในบางกรณี เช่น ‘ไหน… ลุงเขาไม่ได้เจอหนูนานแล้ว ให้ลุงเขาหอมหน่อย’ เคสแบบนี้หาเส้นแบ่งตรงกลางยากมาก เพราะพ่อแม่อยากให้ลูกเอาใจญาติ เรื่อง privacy ในบ้านต้องคุยกันเยอะมากๆ เพราะพ่อแม่ยังไม่เข้าใจและไม่ได้ให้เกียรติเด็กเท่ากับคนคนหนึ่ง เขาจึงรู้สึกว่าไม่ต้องขอ หรือด้วยความสนิทกัน ทำให้ไม่ต้องขอ”
ความสนิทกันอาจทำให้ล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวได้ ซึ่งในทัศนะของหมอแนต สิทธิความเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเนื้อตัวหรือเรื่องราวในอดีต ครอบคลุมไปถึงข้อกฎหมาย เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเมิด สิ่งนี้คือ ‘basic human rights’ หรือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งความรู้ความเข้าใจของพลเมืองจะเป็นไปตามการพัฒนาของประเทศนั้นๆ ขณะเดียวกัน ประเทศก็จะพัฒนาไปตาม basic human rights ด้วย
“คน generation X ในประเทศไทยอาจไม่เข้าใจประเด็นนี้เพียงพอ เพราะ ณ ขณะนั้นประเทศเราไม่ได้ globalization โทษเขาไม่ได้นะ เพราะไม่มีใครบอกว่า basic human rights คือเรื่องซีเรียส มันคือพื้นฐานของการนำไปสู่เรื่องความรุนแรงทั้งหลายและอีกมากมายบนโลกใบนี้”
ความรัก ไม่เท่ากับ ความถูกต้อง
“ที่พ่อแม่ทำไป ก็เพราะรักลูกนะ”
“ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูกหรอก”
ความถูกต้องคือรากฐาน (foundation) ที่ควรอยู่คู่กับทุกสิ่ง รวมถึงความรักของพ่อแม่ แต่ ‘ความรัก’ ไม่เท่ากับ ‘ความถูกต้อง’ และไม่ใช่เรื่องที่เราจะเหมารวมเอาความรักไปครอบงำทุกสิ่งได้ แม้กระทั่งการเลี้ยงลูก
การละเมิดความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ไม่เพียงส่งผลทันทีต่อตัวของลูกในบางกรณี หากยังสามารถสร้างบาดแผลในโลกอนาคตที่ไม่ไกลนัก เป็นที่มาของคำว่า digital footprint หรือ ‘ร่องรอยบนโลกดิจิทัล’
“สมมุติว่าแม่ลูกถ่ายรูปคู่กัน แม่บอกว่าตัวเองอ้วนจังเลย แม่ก็เลยเข้าไปแต่งรูป บีบรูปให้ตัวดูเล็กลงนิดนึง ปรากฏว่ารูปนั้นเบี้ยวไปนิดนึง ลูกก็อาจจะถูกเพื่อนเอาไปล้อก็ได้ว่า ‘ไอ้บ้านเบี้ยว’ ขนาดว่าแม่ไม่ได้แต่งรูปลูกเลยนะ
“ต้องยอมรับว่าเรื่องแบบนี้บางครั้งมันเกินความรู้ของเรา (beyond knowledge) เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเราไม่สามารถมีความรู้ทุกอย่างที่จะระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้”
เราต่างเป็นผู้ท่องโลกออนไลน์ที่ทิ้งร่องรอยพฤติกรรมและข้อมูลเอาไว้มากมายในทุกๆ วัน สิ่งเหล่านี้สามารถถูกติดตามหรือพบเห็นได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ตลอดจนการใช้บริการเว็บไซต์
ข้อมูลหรือพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้ท่องโลกออนไลน์อย่างเราๆ ได้ทิ้งข้อมูลเอาไว้บนโลกดิจิทัล สามารถถูกติดตามและสืบค้นได้แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไรแล้วก็ตาม
“คนส่วนหนึ่งอาจยังไม่ถึงเวลาที่ digital footprint จะกลับมาหลอกหลอน แต่ก็มีคนอีกส่วนหนึ่งที่ถูกร่องรอยทางดิจิทัลของตัวเองกลับมาหลอกหลอนแล้ว เพราะการใช้งานบนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลายเพิ่งผ่านมาราว 10 ปี แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปสัก 20 ปี ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากจะถูก digital footprint หลอกหลอน
“นั่นเพราะ 10 ปีก่อน คนยังไม่ได้ใส่ข้อมูลอะไรมากมายลงไปในอินเทอร์เน็ต คนจึงยังไม่รู้ว่าผลที่ตามมาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
อะไรที่เป็นเรื่องของลูก นั่นคือสิทธิของลูก พ่อแม่จึงควรต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น แม้ในวันที่พ่อแม่อาจมองว่ายังไม่มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้น แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ในวันหนึ่งเรื่องราวของลูกจะไม่กลายเป็น meme บนโลกออนไลน์
“ปัจจุบันเราพูดเรื่อง meme มากขึ้น แม้แต่รูปดีๆ ก็กลายเป็น meme ได้ ฉะนั้น เราตอบไม่ได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ด้วยความรู้ของเราตอนนี้มีแค่นี้ ซึ่งไม่ได้แปลว่า สิ่งที่เราไม่รู้จะไม่เกิดขึ้นในอนาคต”
มากกว่านั้น การถามความสมัครใจ หรือขอความยินยอม (consent) จากลูก พ่อแม่ต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้ออกความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
“พ่อแม่ต้องไม่บอกว่า ‘พ่อแม่ทำเพราะรักลูกนะ ลูกโอเคหรือเปล่า แต่จริงๆ แม่รักลูกนะ ลูกโอเคไหม’ หลายเคสที่ผมเจอ ตีลูกก็เพราะรักลูกนะ ‘แม่รักลูกมากๆ แม่เลยตีลูกนะ ลูกโอเคหรือเปล่า’ ลูกก็แบบ ‘…โอเคก็ได้’
“บ้านเราอาจจะยังมีปัญหาเรื่องคอนเซ็ปต์ความคิด เราต้องเปิดพื้นที่ให้เขาแสดงความเห็นจริงๆ แต่การที่ลูกแสดงความเห็นว่าโอเค ก็ไม่ได้แปลว่ามันทำต่อได้นะ มันต้องตีความ และนั่นจะนำไปสู่การยอมรับและแก้ไขครับ”