ความปลอดภัย การได้ลงมือทำ และความสัมพันธ์ 3 สิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการเพื่อสู้กับ Learning Loss

  • เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น โรงเรียนที่กลับมาเปิดเทอมหลาย ๆ โรงเรียนก็มุ่งเน้นไปที่การเร่งป้อนความรู้ให้เด็ก ๆ เพื่อทดแทนช่วงที่หายไป
  • แต่ชีวิตของเด็ก ๆ ในช่วงที่โรงเรียนปิดไปอาจต้องพบเจอปัญหาที่ใหญ่ไปกว่าการตามบทเรียนไม่ทัน
  • ความปลอดภัย การได้ลงมือทำ และความสัมพันธ์ อาจเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการเพื่อสู้กับ Learning Loss และไปโรงเรียนได้อย่างมีความสุข

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนต้องหยุดชะงักลงทั่วโลก จากรายงานในปี 2564 ของ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก พบว่าเพียงปีเดียวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีนักเรียนจำนวนกว่า 800 ล้านคนได้รับผลกระทบทางการศึกษาซึ่งมากกว่าครึ่งของจำนวนนักเรียนทั้งหมดทั่วโลก โดยเฉพาะการเผชิญกับ ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย’ (Learning Loss)’  

เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น หลาย ๆ โรงเรียนที่เริ่มกลับมาเปิดเรียนได้อีกครั้งจึงมุ่งเน้นไปยังการเร่งป้อนความรู้ให้กับนักเรียนเพื่อทดแทนช่วงเวลาที่หายไปแต่ในช่วงที่โรงเรียนปิด สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเด็ก ๆ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเรียนเท่านั้น พวกเขาต้องเผชิญปัญหาอีกมากมายที่อาจหนักหนากว่าการตามบทเรียนไม่ทัน

รายงานของยูนิเซฟในเดือนเมษายนปี 2564 พบว่า ในประเทศไทย เยาวชน 7 ใน 10 คนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตจากสถานการณ์โควิด-19 โดยประสบปัญหาเครียด ไม่สบายใจ และวิตกกังวล ขณะที่เยาวชนในพื้นที่ละตินอเมริกาและคาบสมุทรแคริบเบียนกว่า 25 เปอร์เซ็นต์มีภาวะวิตกกังวลและมีภาวะซึมเศร้า 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลสำรวจนักเรียนในแคลิฟอร์เนียพบว่าเด็ก ๆ เกินครึ่งประสบภาวะเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าบ่อยครั้งในช่วงที่โรงเรียนหยุดชะงัก ส่งผลให้จำนวนของเด็กที่มีความคิดฆ่าตัวตายก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย

จอยซ์ โดราโด ศาสตราจารย์คลินิกประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโกและผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและการตอบสนองบาดแผลทางใจในโรงเรียน (Healthy Environments and Response to Trauma in Schools) กล่าวว่า  เด็ก ๆ ที่ต้องกลับมาเรียนจึงต้องการมากกว่าแค่ความรู้ แต่ยังรวมถึงความใส่ใจในสุขภาพจิตของพวกเขาด้วย

โดราโดกล่าวในงานประชุมนักเขียนเพื่อการศึกษา (Education Writers Association Conference) ว่า สำหรับเหล่านักเรียน การกลับมาเรียนอีกครั้ง “จะมีตัวกระตุ้นที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนซึ่งทำให้คนรู้สึกตื่นกลัว หรือไม่ปลอดภัยอย่างฉับพลัน”

ในความเห็นของโดราโด หากเด็ก ๆ พบปัญหาเมื่อกลับไปเรียน พวกเขาอาจแสดงออกว่ากำลังต้องการ 3 สิ่ง ได้แก่ ความปลอดภัย การได้ลงมือทำ และความสัมพันธ์ 

เปลี่ยนมุมมองเพื่อฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้ และให้เด็ก ๆ ได้เป็นผู้ลงมือทำ

ทอร์รี วิกลันด์ ครูจากวินนิเพ็ก แคนาดา บอกว่าเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดเทอม เธอจะเน้นไปที่การฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าการเน้นเนื้อหา “ไม่สำคัญนักหรอกหากปีนี้เด็ก ๆ จะไม่รู้เรื่องพีชคณิต เรื่องที่สำคัญกว่าคือเด็ก ๆ ขาดโอกาสในการเติบโตและเรียนรู้ร่วมกัน”

วิกลันด์กล่าวว่าการพุ่งความสนใจไปที่เนื้อหาการเรียน ดูจะเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งที่เด็ก ๆ ‘พลาด’ ไป แต่อันที่จริงแล้วหากไม่มุ่งเพียงเนื้อหาการเรียน ในโอกาสนี้เด็ก ๆ ควรจะได้เห็นตัวอย่างจากผู้ใหญ่ว่าหาก ‘ล้ม’ แล้วต้อง ‘ลุก’ ได้

เช่นเดียวกับ รีเบกกา แบรนสเต็ตเตอร์ นักจิตวิทยาโรงเรียน ซึ่งกล่าวว่างานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าเมื่อเราให้ความสำคัญกับความแข็งแกร่งของเด็ก พวกเขาก็จะค่อย ๆ มีผลการเรียนที่ดีขึ้นเอง “หากคุณเข้ามาในสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ต้อนรับคุณด้วยการถามว่า ‘คุณรู้อะไรแล้วบ้าง และพรสวรรค์อะไรกันนะที่คุณจะนำมาแบ่งปันกับพวกเรา’ คุณก็คงจะมีแรงฮึดและอยากมีส่วนร่วมมากกว่าตอนที่ถูกต้อนรับว่า ‘ยินดีต้อนรับกลับนะ รู้ไหมว่าคุณเรียนช้าไปแค่ไหน’”

หลักคิดเรื่องการฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับครูและผู้ปกครอง หากมองว่าเด็ก ๆ ‘ถดถอยทางการเรียนรู้’ มุมมองนั้นก็อาจจะส่งผลให้เด็ก ๆ ขาดกำลังใจในการกลับมาเรียนรู้ แต่หากครูและผู้ปกครองมองเห็นความสามารถในการปรับตัวและการล้มแล้วลุกของพวกเขา เด็ก ๆ ก็จะเห็นคุณค่าของตัวเอง และมีกำลังใจในการเริ่มใหม่อีกครั้ง

ส่วนโดราโดมองว่าทั้งครูและผู้ปกครองต้องให้เด็กได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นผู้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เช่น หากเด็กไม่อยากทำการบ้านหลังเลิกเรียน พ่อแม่ควรให้ตัวเลือกกับเขา เช่น ถามว่า “ลูกอยากทำการบ้านตอนนี้ หรือว่าลูกอยากขอพักอีก 15 นาที หาอะไรกิน หรือไปดื่มน้ำ หรือไปเดินเล่น แล้วค่อยทำหลังจากนั้นล่ะ”

กระทรวงศึกษาธิการแคลิฟอร์เนียก็ได้แนะนำให้โรงเรียนเน้นไปที่กิจกรรมที่นักเรียนได้ลงมือทำด้วยตัวเอง เพราะการมอบตัวเลือกและให้สิทธิในการเป็นผู้ลงมือทำจะช่วยเยียวยาเด็ก ๆ ให้มีความกล้า และปรับตัวกับโรงเรียนได้ดีขึ้น

มอบโอกาสในการสานสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ

การมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ๆ มีความสำคัญต่อความสามารถในการเรียนรู้ และสุขภาวะที่ดีของเด็กด้วย แทมมี สตีเฟนส์ ครูจากไอดาโฮสังเกตเห็นว่าเด็กที่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากกว่าก็จะมีความเครียดน้อยกว่า และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากกว่า

ที่ โรงเรียนอนุบาล เจ ที แม็กวิลเลียมส์ ในเนวาดา มีโปรแกรมให้เด็ก ๆ ได้เข้ารับการสนับสนุนทางสังคมและอารมณ์ การเรียนรู้ด้านพลศึกษา ศิลปะ การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based learning) รวมถึงด้านวิชาการ เพื่อเตรียมเด็ก ๆ ให้พร้อมสำหรับเปิดเทอม โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อเด็ก ๆ จะได้ดูแลกันได้ทั่วถึง

วัยที่ต้องการการสานสัมพันธ์กับเพื่อนเพื่อช่วยในการกลับมาเรียนมากที่สุดดูเหมือนจะเป็นวัยที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น (pre-teen) เพราะเด็กวัยนี้จะต้องการการยอมรับจากสังคมและเสียงยืนยันจากเพื่อนเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญในระหว่างการเติบโต

เอมี แครนสตัน กรรมการบริหารจากเครือข่ายการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์แคลิฟอร์เนียมองว่า เด็กจะไม่สามารถมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้เชิงวิชาการได้เลยจนกว่าพวกเขาจะรู้สึกดีต่อตัวเองและรู้สึกมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อโรงเรียน เพราะเด็กต้องการเวลาที่จะกลับมาสานสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ เวลาสำหรับการฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม เวลาสำหรับการทำความรู้จักครูแต่ละคน และเวลาสำหรับการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันให้เข้ากับชีวิตในโรงเรียน สถานศึกษาจึงควรมีคาบที่เด็ก ๆ จะได้ร่วมพูดคุยเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง คาบเรียนที่เน้นเรื่องทักษะการสื่อสาร การรู้เท่าทันตัวเอง การสร้างความสัมพันธ์ และการแสดงออกทางอารมณ์

ครอบครัวและพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึก

พ่อแม่และครูหลายคนอาจพยายามจะไม่กล่าวถึงช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อีกเพราะคิดว่าเป็นผลดีกับเด็ก ๆ แต่ในความเห็นของโดราโด การพูดถึงข้อดีและข้อเสียของโควิด-19 กับเด็กจะช่วยเยียวยาพวกเขาได้

“หากเราทำราวกับว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น เราก็สูญเสียโอกาสในการได้เรียนรู้จากมัน” โดราโดกล่าว

เธอบอกว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางความรู้สึกให้เด็ก ๆ ที่ต้องกลับมาเรียนที่โรงเรียน ครูอาจเริ่มจากการให้เด็ก ๆ ได้มาเล่าว่าแต่ละครอบครัวก้าวพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากมาได้อย่างไร และแปรเรื่องเล่าเหล่านั้นมาสู่การปฏิบัติในห้องเรียนอีกที เธอยังแนะนำอีกว่าครูควรใส่ใจกับช่วงเวลาที่เด็ก ๆ อยู่กับครอบครัวมาก เพราะคนในครอบครัวจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เขาปรับตัวกับโรงเรียนได้

ไมเคิล ฟังค์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเรียนรู้นอกเวลาจากกระทรวงศึกษาธิการแคลิฟอร์เนียก็ได้กล่าวว่าความรักความเข้าใจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ฟื้นฟูการเรียนรู้ได้ “นักเรียนต้องรับรู้ว่าเขาถูกมองเห็น ถูกจดจำ และได้รับการสนับสนุนในตอนนี้ และที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาต้องรับรู้ได้ว่าเป็นที่รัก”

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่าการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จะทำให้เด็ก ๆ เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) และก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตในเด็กเพิ่มมากขึ้น แต่รีเบกกา แบรนสเต็ตเตอร์มองว่า การได้กลับมาโรงเรียนอีกครั้งจะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งผู้ปกครอง ครู และเด็ก จะได้ร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่เข้มแข็งขึ้น เสมอภาคขึ้น และเป็นมิตรต่อสุขภาพจิตและความรู้สึกของเด็ก ๆ มากขึ้นเช่นกัน

อ้างอิง

https://en.unesco.org/news/unesco-figures-show-two-thirds-academic-year-lost-average-worldwide-due-covid-19-school

https://www.unicef.org/thailand/press-releases/least-1-7-children-and-young-people-globally-has-lived-under-stay-home-policies-most

https://www.kqed.org/mindshift/58274/safety-agency-connection-priorities-to-help-students-transition-back-to-school

https://greatergood.berkeley.edu/article/item/what_can_you_do_about_pandemic_learning_losses

https://edsource.org/2021/why-mental-health-is-the-key-to-dealing-with-learning-loss/653087/embed


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts