- วัดพระธรรมกาย เคยเป็นหนึ่งในวัดที่มีผู้ศรัทธามากที่สุดในไทย โดยมีสมาชิกถึง 4 ล้านคน และวัดสาขา 131 สาขาทั่วโลก แต่ท่ามกลางความศรัทธาที่ท่วมท้น กระแสต่อต้านวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะประเด็นการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าก็รุนแรงไม่แพ้กัน
- ปี 2560 เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่เป็นที่จับตามองของคนทั้งประเทศ เมื่อพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและเป็นศูนย์รวมจิตใจของศิษยานุศิษย์ถูกกล่าวหาว่าพัวพันคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น
- ปี 2564 ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับไทยฝีมือดี ส่ง ‘เอหิปัสสิโก (Come and See)’ สารคดีที่ถ่ายทอดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่อต้านและกลุ่มสนับสนุนวัดพระธรรมกายเข้าฉาย โดยไม่ได้เป็นการตีแผ่ว่าใครดีใครร้าย แต่คือสารคดีที่จะทำให้เราตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเอง
เอหิปัสสิโก (Come and See) คือภาพยนตร์ไทยแนวสารคดีที่ไม่ใช่การตีแผ่ หากแต่เป็นการถ่ายทอดความเห็นของคนสองขั้วเกี่ยวกับ กรณีวัดพระธรรมกาย ผลงานกำกับของ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ที่เข้าฉายในปี 2564 ที่สร้างเสียงฮือฮาและเป็นการเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้คนดูได้เริ่มตั้งคำถาม จนเกิดเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงกันขึ้นอย่างกว้างขวาง
ย้อนกลับไป 4 ปีก่อนที่สารคดีจะได้เข้าฉาย เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศอย่างการบุกจับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (ซึ่งไม่อยู่วัดในเวลานั้น และตอนนี้ยังคงหายสาบสูญ) และการบุกค้นวัดพระธรรมกาย หลังจากพระธัมมชโยถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าพัวพันกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
ภาพอันวุ่นวายและดูรุนแรงเมื่อลูกศิษย์และพระลูกวัดปะทะกับเจ้าหน้าที่ DSI ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นถูกฉายซ้ำใน เอหิปัสสิโก แต่สิ่งที่พิเศษในสารคดีนี้คือ การชักชวนให้เรา ‘จงมาดูเถิด’ มาดูสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองของทั้งสองฝ่าย มารับรู้สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคิด
หากกล่าวถึงวัดพระธรรมกาย หลายคนคงรู้ดีว่า ก่อนที่จะมีการบุกค้นในปี 2560 อิทธิพลและความนิยมของวัดพระธรรมกายนั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ ศรัทธาจากญาติโยมทำให้วัดพระธรรมกายกลายเป็นวัดที่มีเงินบริจาคอย่างท่วมท้น แต่ในขณะเดียวกันวัดพระธรรมกายเองก็มักจะโดนโจมตีจากคนนอกทั้งเรื่องของหลักธรรมคำสอนที่บิดเบือนไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า เรื่องที่เชื่อว่าอัตตานั้นมีตัวตน มีรูปมีร่าง เรื่องการทำบุญที่ปริมาณเงินแปรผันตรงกับคุณภาพชีวิตในสวรรค์ เรื่องที่วัดมักจะจัดพิธีการต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงความยึดติดในวัตถุเงินทองและความสวยความงามซึ่งขัดต่อหลักปฏิบัติของพุทธแบบเถรวาทที่ชาวไทยรู้จัก
ยิ่งความนิยมพุ่งสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเสียงต่อต้านมากขึ้นเท่านั้น นั่นคือสถานการณ์ที่วัดพระธรรมกายต้องเจอมาตลอดแม้แต่ก่อนที่จะเกิดคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นขึ้นเสียด้วยซ้ำ
ณฐพลสัมภาษณ์ทั้งตัวแทนจากวัดพระธรรมกายอย่าง พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของวัดพระธรรมกายและศิษยานุศิษย์ ตัวแทนจากฝั่งผู้ที่ต่อต้าน ทั้งไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มโน เลาหวณิช อดีตพระนักวิชาการของวัดพระธรรมกายที่ผันตัวมาเป็นผู้ต่อต้านและลูกศิษย์คนอื่น ๆ ที่ถอนตัวออกมาจากการเป็นสมาชิกวัด รวมถึงมุมมองจากคนอื่น ๆ เช่น นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา นักวิชาการอิสระ หรือแม้แต่พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต
สารคดีไม่ได้ถ่ายทอดออกมาแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ได้ตัดสินว่าใครเป็นตัวร้ายหรือฝ่ายดี แต่เลือกใช้วิธีการตัดสลับสัมภาษณ์ของแต่ละฝ่ายโดยจับวางเนื้อหาที่ใกล้เคียงกันมาร้อยเรียงต่อกัน ทำให้เราได้มองเห็นเรื่องเดียวกันจากมุมมองของทั้งสองฝ่ายแบบทันทีทันใด
ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าวัดพระธรรมกายเล่นไสยศาสตร์ อาจเป็นสถานที่ฟอกเงิน แหล่งซ่องสุมของอาวุธหรือกองทัพ เผยแพร่คำสอนที่ขัดกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า การแสดงออกของธัมมชโยก็ผิดพระวินัยหลายข้อ และความรุ่งเรืองของวัดพระธรรมกายจะเป็นตัวบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา
ในขณะที่อีกฝ่ายยืนยันหนักแน่นว่าวัดพระธรรมกายนั้นสอนหลักธรรมคำสอนทั่ว ๆ ไปไม่ได้ต่างอะไรจากวัดอื่น ๆ อาจแตกต่างกันเพียงแค่วิธีการถ่ายทอด ส่วนการบริจาคครั้งละเยอะ ๆ นั้นก็หาใช่ความงมงายหรือโดนบังคับ พวกเขาเพียงแค่อยากตอบแทนผู้ที่ให้กำเนิดพวกเขาในทางธรรมเท่านั้น
ในขณะที่ มโน เลาหวณิช อดีตพระนักวิชาการของวัดธรรมกาย เล่าถึงความดำมืด ความโหดร้าย และทิฐิอันสูงลิ่วของพระธัมมชโยที่ทำให้เขาทนอยู่ในวัดพระธรรมกายต่อไปไม่ได้ พระสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของวัดพระธรรมกาย ก็กลับเล่าถึงความอ่อนโยน ละวางทิฐิ ให้อภัยและไม่ถือโกรธผู้อื่นของพระธัมมชโยด้วยเช่นกัน
คำถามสำคัญคือ “แล้วเราจะเชื่อใคร” เรามีทั้งศิษย์และอดีตศิษย์ให้เชื่อ ชุดความจริงแบบไหนคือความจริงที่ถูกต้องในเมื่อทั้งคู่ต่างเป็นศิษย์เช่นเดียวกัน เรามีทั้งอดีตพระและพระในวัดพระธรรมกายให้เชื่อ แล้วชุดความจริงแบบไหนกันที่เราควรเชื่อ
ไม่เพียงแต่ความเห็นอันหลากหลายจากกลุ่มคนที่ณฐพลไปสัมภาษณ์มา ที่จะทำให้เราไขว้เขว ตั้งคำถาม รู้สึกเหมือนจะได้คำตอบ แต่แล้วก็ถูกคำตอบของอีกฝ่ายทลายความเชื่อในคำตอบนั้นลง ณฐพลยังเล่นกับความเชื่อของเราด้วยการนำตัวเองเข้ามาในสารคดี บางครั้งเขาเข้ามาในรูปของเสียงที่พูดคุยกับคนที่เขากำลังสัมภาษณ์ บางครั้งเขาเข้ามาในรูปของฟุตเทจช่วงที่ผู้ให้สัมภาษณ์กำลังพูดถึงตัวเขา ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังดูอยู่นี้ไม่ใช่การถ่ายทอดข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่นี่คือสิ่งที่ผ่านมุมมอง ความคิด ความเชื่อของผู้กำกับมาแล้วอีกทีหนึ่ง
ต่อเมื่อเรารับรู้เรื่องราวมากขึ้นเรื่อย ๆ คำตอบหนึ่งที่เราได้จากข้อมูลที่ถูกป้อนจากสารคดีนี้ แต่ไม่ใช่คำตอบที่นำไปสู่ข้อสรุปใด ๆ ก็คือ นี่อาจไม่ใช่การต่อสู้ของฝ่ายที่ถูกและฝ่ายที่ผิด แต่เป็นการต่อสู้ว่าสิ่งไหน “ถูกที่สุด” ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็อาจจะวัดกันไม่ได้
“ศาสนาพุทธสร้างความเป็นคนดี บางทีสิ่งที่ธรรมกายสอนอาจไม่ต่างจากสิ่งที่เราได้เรียนรู้กันมา แต่แค่มีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ชอบ” วิจักขณ์ พานิช หนึ่งในนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาให้ความเห็นไว้ในสารคดี
นักวิชาการหลาย ๆ คนที่ณฐพลไปสัมภาษณ์ให้ความคิดคล้ายคลึงกันว่า บางที วัดพระธรรมกายอาจไม่ได้ต่างอะไรจากพุทธแบบไทย ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เป็นการขยายให้มันดูสุดโต่งเท่านั้น วัดพระธรรมกายทำให้เราเห็นตัวเราในภาพที่ชัดขึ้น และบางทีมันอาจเป็นภาพที่เราไม่อยากเห็น
ซึ่งหากตัดอคติและภาพความเวอร์วังอลังการของวัดพระธรรมกายออกไป และพิจารณาแต่เพียงคำสอนและความเชื่อของศิษยานุศิษย์ เราก็อดไม่ได้ที่จะเห็นด้วยคำนักวิชาการเหล่านั้น การทำให้อัตตามีตัวตนที่วัดพระธรรมกายมักจะถูกโจมตีเสมอ ก็ยังเป็นคำสอนที่บางครั้งเราก็ยังได้เห็นได้ยินมาจากพระเถรวาทที่เรายึดถือว่าเป็น “พุทธ” ที่ถูกต้องดีงามเพียงหนึ่งเดียวในไทย การบิดเบือนคำสอนพระพุทธเจ้าก็ยังเป็นเรื่องที่มีให้เห็นอยู่แทบทุกที่ การอวดอุตริหรือกล่าวถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ หรือแม้แต่การวัดผลสัมฤทธิ์ทางบุญจากปริมาณ “เงิน” บริจาคก็แทบจะกลายเป็นความเชื่อหลักของพุทธศาสนิกชนในไทย
จนเมื่อหนังเดินทางมาสู่บทสรุปปลายเปิด เราก็เพิ่งจะรู้ตัวว่า ที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านนั้นกลับมีจุดโฟกัสที่ไม่ต่างกันมากนัก และมันก็ได้สะท้อนออกมาจากสิ่งที่หนังเลือกจะหยิบมาถ่ายทอด นั่นคือ เราแทบไม่สนด้วยซ้ำว่าธัมมชโยจะทำผิดในคดีที่โดนกล่าวหาจริงหรือไม่ ทั้งที่นั่นอาจเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะสามารถพิสูจน์ได้อย่างกระจ่างด้วยการสืบพยานหลักฐาน
สิ่งที่ทั้งคนดูอย่างเรา ฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายสนับสนุนต่างก็พุ่งความสนใจและพยายามจะพิสูจน์ความคิดของตัวเองให้ได้ กลับเป็นการพิสูจน์ว่าสิ่งที่วัดพระธรรมกายสอนและสิ่งที่ศิษยานุศิษย์ของวัดเชื่อนั้นจริงแท้แค่ไหน ทั้งที่นั่นอาจเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรเราก็คงไม่สามารถพิสูจน์ได้เลย เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนก็ต่างมีชุดความเชื่อที่แตกต่างกัน และการจะตัดสินว่าสิ่งที่วัดธรรมกายและสาวกเชื่อนั้นผิดหรือถูก สุดท้ายก็เป็นการตัดสินผ่านความเชื่อของแต่ละคนอยู่ดี
“ศาสนาสมัยหนึ่งมันมีบทบาทแยะไปหมด ตั้งแต่สอนหนังสือเด็กไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้รัฐมาทำแทนหมดแล้ว ถ้าเผื่อมองในรูปนี้ โอเค คุณจะปราบธรรมกายเพราะหลวงพ่อทำไม่ดีอะไรก็แล้วแต่คุณเถอะ เรื่องของคุณ แต่ปัญหาคือผมคิดว่าธรรมกายเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามจะหาคำตอบในทางศาสนาให้คำสอนของพระพุทธศาสนาหรือตัวของพระพุทธศาสนาเองยังมีความหมายอยู่ในสังคมปัจจุบัน ผมว่าธัมมชโยก็พยายามตอบแต่ตอบไม่เหมือนท่านเหล่านั้นเท่านั้นเอง สมมติว่าไม่มีธรรมกายแล้ว คำถามก็ยังคงอยู่ว่าศาสนาพุทธมีความหมายหรือบทบาทอะไรกับสังคมไทยในปัจจุบัน คำตอบก็ยังไม่มีอยู่ดี” นิธิ เอียวศรีวงศ์ อีกหนึ่งนักวิชาการที่ปรากฏตัวในสารคดีเรื่องนี้กล่าว
ประเด็นความเชื่อที่เรากำลังถกเถียงและให้ความสนใจยิ่งไปกว่าประเด็นอื่น ๆ นี้อาจสะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อคือสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นแม้เราจะไม่อาจให้คำตอบว่าเหตุใดเราจึงยังคงเชื่อในสิ่งนั้น บางคนที่ต่อต้านธรรมกายไม่อาจบอกได้ว่าเหตุใดพุทธแบบเถรวาทจึงยังดีที่สุดแม้บริบทของสังคมจะเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับที่ศิษยานุศิษย์ของวัดพระธรรมกายเองก็ไม่อาจตอบได้ว่าเหตุใดพุทธแบบธรรมกายจึงดีที่สุด
เอหิปัสสิโก จึงไม่ใช่สารคดีที่ชวนเรามาหาคำตอบและบอกเราว่าจะได้คำตอบจากการ “มาดูด้วยตาตัวเอง” แต่คือสารคดีปลายเปิดที่ทำให้เรามีโอกาสตั้งคำถามกับความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อของผู้อื่น หรือความเชื่อของตัวเองก็ตาม