‘Comfort objects’ สามคน สามวัย กับสิ่งของอุ่นใจ ที่กลับไปหาเมื่อไหร่ เรื่องราวในความทรงจำจะกลับมาปลอบประโลมเสมอ

เมื่อย้อนไปถึงความทรงจำวัยเด็ก เราจะนึกถึงอะไร

หลายคนอาจจะนึกถึงสิ่งเดียวกัน คือ ตุ๊กตา ผ้าเน่า หรือหมอนเน่าที่เคยกอดตอนเด็ก บางคนยังเก็บของเหล่านี้ไว้จนโต แต่บางคนไม่มีสิ่งนั้นแล้ว บ้างก็หาย บ้างก็ถูกทิ้ง เหลือเพียงความทรงจำว่าวัยเด็กของเราเคยมีสิ่งของเหล่านั้นอยู่ข้าง ๆ

สิ่งของนี้มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า ‘Comfort objects’ หมายถึง สิ่งของที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสงบ คุ้นเคย และปลอดภัย เรียกอีกอย่างว่า ‘วัตถุในช่วงเปลี่ยนผ่าน’ (transitional objects) เพราะช่วยให้เด็กก้าวผ่านช่วงเวลาจากการเป็นทารกที่พึ่งพาอาศัยพ่อแม่ ไปเป็นเด็กโตที่อิสระและพึ่งพาตัวเอง 

การกอด หรือมี Comfort objects อยู่ข้างกาย ช่วยให้เด็กหลายคนผ่อนคลายและนอนหลับสนิท เป็นเพื่อนที่สามารถพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวร่วมกัน 

เมื่อโตขึ้นสิ่งของเหล่านั้นอาจไม่จำเป็น เราสามารถหาสิ่งอื่นมาช่วยทดแทนทางความรู้สึกได้ สิ่งของนั้นอาจเปลี่ยนจากผ้าหรือตุ๊กตา เป็นสัตว์เลี้ยงหรือวัตถุอื่นที่ให้ความรู้สึกสบายใจกับตัวเอง

แต่สำหรับบางคน Comfort objects ยังจำเป็น และไม่สามารถให้สิ่งอื่นมาทดแทนได้ mappa จึงอยากพาไปฟังเรื่องราว comfort objects ของคนเหล่านี้กัน

เพื่อนเล่น เพื่อนคุย เพื่อนรัก

น้องเจ้าขา ‘ลลิลดา สัมมาขันธ์’ มีเพื่อนสนิทอยู่หนึ่งคน คือ ‘พี่ช้าง’ ตุ๊กตาช้างสีชมพูจาก IKEA 

“ซื้อให้ตอนวันเด็กปีแรกของน้องเจ้าขาค่ะ เขาเกิดมิถุนา แล้ววันเด็กก็คือมกราคมปีถัดไป ตอนนั้นเจ้าขาเป็นเด็กตัวเล็กนิดเดียว เพราะเขาเกิดมาน้ำหนักประมาณสองกิโลกรัม เพราะฉะนั้นเขาจะตัวประมาณขาพี่ช้างนี่แหละ”

“ตัวนี้คุณแม่เป็นคนเลือกให้ เพราะตอนนั้น IKEA มันกำลังดัง แล้วน้องเพิ่งเกิด อยากซื้ออะไรที่แบบมันล็อคตัวเค้าได้ ตัวเค้าเล็ก ตอนนั้นมันตัวใหญ่กว่านี้เยอะ 6 ปีแล้วเนอะ พอเอาพี่ช้างวางปุ๊บเนี่ย ขากับมือพี่ช้างจะล็อคตัวเขาได้พอดี แล้วเขาก็จะอยู่ในล็อคนั้น พี่ก็เลยซื้อตัวนี้ให้ ก็กลายเป็นว่าเป็นตุ๊กตาตัวเดียวที่ขาดแล้วต้องเย็บตลอด”

ฟังที่คุณแม่เล่า พี่ช้างอยู่ข้าง ๆ น้องเจ้าขาตั้งแต่แรกเกิด จากที่เป็นเด็กตัวเล็กในอ้อมกอดพี่ช้าง ก็โตขึ้นจนพี่ช้างกลายเป็นฝ่ายที่อยู่ในอ้อมกอดของน้องเจ้าขาแทน

“เวลาหนูไปเที่ยว บางวันก็ลืมพี่ช้าง หนูเลยต้องกลับมาหาพี่ช้าง”

แม้ว่าตุ๊กตาตัวเล็กอีกตัวจะเป็นตุ๊กตาช้างเหมือนกัน แต่ก็ทดแทนพี่ช้างสีชมพูนุ่มนิ่มตัวนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน ก็จะไม่ทิ้งพี่ช้างเด็ดขาด เคยลืมไว้ในที่ไกล ๆ เช่น เชียงคาน ก็วานให้คุณลุงช่วยส่งไปรษณีย์มาให้

“ชอบกอดตอนนอน เพราะฝันดีค่ะ” เวลานอนกอด  น้องเจ้าขาก็จะลูบตรงหู ตรงขา ซึ่งมีข้างหนึ่งที่นุ่มเป็นพิเศษ และจับบ่อยเป็นพิเศษ

คุณแม่เล่าว่าตอนประมาณ 2-3 ขวบ น้องเจ้าขาติดพี่ช้างมาก ถ้าไม่เจอก่อนนอนก็จะคิดถึงจนร้องไห้ บางครั้งคุณยายซักแต่ฝนตก พี่ช้างยังไม่แห้ง เอามากอดไม่ได้ น้องเจ้าขาก็ร้องไห้จนหลับไป เวลาพี่ช้างตากแดด ก็กลัวว่าจะเป็นไข้จากอากาศร้อน ก็จะอ้อนให้คุณแม่เอาพี่ช้างเข้าบ้าน

ทุกคนในบ้านรู้ว่าน้องเจ้าขารักพี่ช้างมาก หากพี่ช้างมีรอยชำรุด คุณยายจะเป็นคนซ่อมให้ เพราะคุณยายก็รู้ว่าไม่สามารถซื้อตัวใหม่มาแทนได้ 

น้องเจ้าขามองพี่ช้างเป็นเพื่อนสนิท ชอบเล่น ชอบกอด ชอบคุย และเล่าเรื่องราวประจำวันของตัวเองให้ฟัง

“พี่ช้างพูดไม่ได้  ฟังหนูอย่างเดียวไม่ตอบอะไร มีแค่หูสองข้าง พี่ช้างนั่งอยู่ หนูก็นั่งข้าง ๆ

“แล้วหนูก็คุยกับพี่ช้าง อันนี้หนูสนุกมากเลย”

คุณแม่บอกกับเราว่า เคยเห็นเวลาที่น้องเจ้าขารู้สึกเสียใจ เจอเรื่องกระทบจิตใจ ก็กลับมาเล่าให้พี่ช้างฟัง เช่นวันนี้โดนเพื่อนแกล้ง วันนี้เล่นและทำอะไรมาบ้าง บางครั้งก็เล่านิทานที่เรียนมาให้พี่ช้างฟังจนหลับไป

“สบายใจค่ะ” คือความรู้สึกของน้องเจ้าขา 

เพราะสนิทกับพี่ช้างมาก น้องเจ้าขาจึงเคยฝันว่าได้เจอพี่ช้าง ได้เล่นและพูดคุยกัน

“พี่ช้างตัวใหญ่ค่ะ ใหญ่มาก ใหญ่กว่าบ้านนี้อีก”

“พี่ช้างคุยแล้วก็เล่นกับหนู หนูไม่รู้มาก่อนว่าพี่ช้างมีชีวิตแล้วก็คุยกับหนู

“จ้าา ๆๆๆๆ แปร๊น ๆๆๆๆ” น้องเจ้าขาเลียนแบบเสียงพี่ช้างในฝันให้ฟัง

ถามต่อว่าอยากบอกอะไรกับพี่ช้าง น้องเจ้าขาก็เอ่ยอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า

“หนูรักพี่ช้างค่ะ”

ตุ๊กตาพูดไม่ได้ แต่เข้าใจเราทุกอย่าง

“ตุ๊กตาตัวแรกของเราชื่อ ‘น้องมายด์’ ได้จากเพื่อนแม่ เวลาไปขายของกับแม่ เราจะพาน้องมายด์ไปด้วยตลอด แล้วน้องหายไปตอนย้ายบ้าน

ตอนที่เริ่มโต เราก็ไม่ได้สนใจตุ๊กตาขนาดนั้น แต่ความทรงจำตอนเด็ก ๆ จะมีน้องมายด์ด้วยตลอด ทุกวันนี้ก็ยังจำได้”

จากตุ๊กตาตัวแรกที่ ‘อาทิตย์’ อาทิตยา จิรเฉลิมพงคณา ได้รับและกลายเป็นค้นพบว่าตัวเองชอบตุ๊กตา จนสะสมไว้หลายสิบตัว เพราะตุ๊กตาเป็นความสุขและความอบอุ่นใจในชีวิตของอาทิตย์

“เราชอบกองตุ๊กตาไว้บนเตียง เพราะไม่ชอบนอนคนเดียว มีตุ๊กตาอยู่ด้วยจะรู้สึกแบบอุ่นใจ เวลาซื้อตุ๊กตาก็จะรู้สึกมีความสุข

“มีช่วงหนึ่งที่ชอบสิงโตมาก อยากเลี้ยงสิงโต แต่เราไม่สามารถเลี้ยงสิงโตในชีวิตจริงได้ เลยชอบซื้อตุ๊กตาสิงโต ที่บ้านมีตุ๊กตาสิงโตเยอะมาก ตุ๊กตาสิงโตตัวแรกชื่อ ‘ฟูฟู’ เราชอบมาก ๆ ชอบเอามานอนกอดด้วย ผมน้องจะหยอย ๆ เซ็ตทรงผมได้ด้วย 

“เคยถ่ายรูปลงเฟซบุ๊คแล้วเขียนว่า อย่าบอกคนอื่นนะว่าแกเป็นตุ๊กตาที่เรารักมากที่สุด (หัวเราะ)  ไม่อยากให้ตุ๊กตาตัวอื่นในห้องรู้ กลัวอิจฉากัน คือนึกถึง Toy Story เพราะว่าตุ๊กตาตัวอื่นมันคุยกันได้ตอนที่เราไม่อยู่ ก็เมคว่ามันมีเรื่องราวมีชีวิตอะไรงี้”

‘ศะหรีเทา’ เพื่อนคู่กายของอาทิตย์ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย การต้องย้ายออกจากบ้านไปอยู่หอ ห่างไกลครอบครัว รวมถึงต้องปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ เป็นเรื่องไม่ง่าย ทำให้ศะหรีเทากลายเป็นคนที่อาทิตย์สนิทด้วยมากที่สุด ทำให้เธอรู้สึกว่าในสถานที่แตกต่างยังมีของที่ทำให้เธอรู้สึกอุ่นใจเสมอ

“เพื่อนตอนม.ปลายเป็นคนที่ให้ศะหรีเทา ขนาดตัวไม่ใหญ่มากแล้วนุ่มกำลังดี เราชอบเอามาทำเป็นหมอน เวลามีแสงเงาตกกระทบตอนมันก้มหน้า เราจะเห็นว่ามันมีอีโมชั่นแบบหน้าโกรธ หน้ายิ้ม หน้าอ้วน รู้สึกเอ็นดู น่ารัก 

“เริ่มเข้ามหาลัยอยู่กับรูมเมท เพื่อนเอาตุ๊กตาเราไปแกล้ง เอาไปยัดใส่ตู้เย็น เรารู้สึกเหมือนมีคนแกล้งน้องเราเพื่อนเรา เราต้องแก้แค้น เราเลยเอาตุ๊กตาเพื่อนไปมัดว่าโดนลักพาตัวเพื่อแก้แค้น เพราะเรารู้สึกว่าทำร้ายเพื่อนเราได้ไง เอาเพื่อนเราไปแช่ตู้เย็นตั้งนาน เรารู้สึกว่าเริ่มมีเรื่องราวกับศะหรีเทามากขึ้นเรื่อย ๆ เลยสนิทกับศะหรีเทามาก ชอบเอามากอด แล้วเวลาเอาไปเที่ยว จะรู้สึกสบายใจว่ามีศะหรีเทาด้วย รู้สึกว่ามีคนที่สนิท ที่นอนด้วยทุกวันอยู่กับเรา ตอนที่เราอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย”

อาทิตย์เล่าว่า ตัวเองเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว และเวลาที่มีปัญหาไม่กล้าที่จะบอกใคร ศะหรีเทาเลยกลายเป็นคนที่รับฟังเรื่องทั้งทุกข์และสุขของอาทิตย์

“บางช่วงเวลา เราไม่ได้ต้องการคำปลอบใจ แต่ต้องการคนฟัง พอมีตุ๊กตาอยู่ด้วย เหมือนเขาฟังเรา แล้วเราเป็นคนสร้างเขาขึ้นมา เขาก็คิดแบบที่เราคิด และเข้าใจเราที่สุดแล้ว เลยรู้สึกสบายใจที่คุยด้วย อย่างน้อย เรารู้สึกว่าตุ๊กตาไม่ตัดสินเรา ว่าทำไมเราถึงคิดแบบนั้น ทำไมเราถึงร้องไห้ แต่ฟังและอยู่ข้าง ๆ เรา เราก็รู้สึกว่าการเล่าเรื่องให้ศรีหะเทาฟัง มันคือการสะท้อนให้ตัวเองกลับมาฟังอีกที”

‘เพื่อนที่รู้ใจ’ สถานะที่อาทิตย์มอบให้กับศรีหะเทาเวลานี้ “ เพื่อนจะมีหลายระดับ แต่จะมีเพื่อนบางคนที่ให้ความรู้สึกพิเศษกับเรา เวลาคุยด้วยก็เข้าใจโดยที่ไม่ต้องพูดก็ได้ ไม่ต้องมองตารู้ใจอะ คือไม่มองก็รู้แล้ว”

จริง ๆ อยากขอบคุณศะหรีเทานะที่อยู่เป็นเพื่อน ในช่วงที่เรารู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงเข้ามาบ่อยมาก ทั้งเรื่องครอบครัว เพื่อน เรารู้สึกว่าศรีหะเทาอยู่ข้าง ๆ เราเสมอ แล้วมันคงรู้ทุกอย่างที่เราเคยพูดไป ก็ขอบคุณที่ฟังเราบ่น อยากมีศะหรีเทาอยู่ข้าง ๆ ตลอดไป”

ไม้แบดของคุณย่า กำลังใจของคุณพ่อ

“เราเป็นตัวแทนเขตไปชิงแชมป์ประเทศไทย แล้วแม่พ่อก็ซื้อไม้แบดอันที่สองให้นำไปแข่ง มีข้อแม้ว่าต้องเก็บเงินคนละครึ่ง

“ตอนนั้นได้ที่สอง เราก็มีความรู้สึกว่าคุ้นเคยกับไม้อันนี้ มันเป็นความภูมิใจ เพราะเราและแม่ก็เก็บเงินซื้อด้วยกัน เราก็ถือเคล็ดโดยใช้ไม้นี้แข่งเรื่อย ๆ”  

ไม้แบด เปรียบเมือนตัวแทนของ ‘แม่’ ที่ให้กำลังใจพ่ออุ้มทุกครั้งในการแข่ง

 “เราเคยดุแม่ ตอนแข่งสาธิตสามัคคี วันนั้นคอร์ดแบดลื่นมาก ก็เครียด แล้วแม่ก็เชียร์อยู่ข้างหลัง ทำไมลูกถึงแพ้ ทำไมถึงตีไม่ได้ เราก็หงุดหงิด พูดไปว่า “เพราะแม่เชียร์อย่างนี้เลยไม่มีสมาธิไง” โห งอนเลย ตั้งแต่นั้นแม่ไม่ไปเชียร์พ่ออีกเลย”

จากนั้น คนที่ยังไปเชียร์พ่ออยู่ตลอดคือป้าที่เป็นเพื่อนแม่ ส่วนแม่ของพ่อก็จะคอยถามว่าการแข่งเป็นอย่างไรบ้าง บางครั้งพ่อไปซ้อมที่สนามแบดสนามจันทร์ แม่ก็จะไปแอบดูอยู่ห่าง ๆ

“เรารู้ว่าแม่เสียใจ ก็อยากบอกแม่ว่าขอโทษนะ”

ไม้แบดที่แม่ของพ่อซื้อให้ จึงเป็นตัวแทนของแม่ไปกลาย ๆ

“มีไม้แบดอันนี้อยู่ด้วยมันอุ่นใจ แม้ช่วงหลัง ๆ ใช้ไม้อันอื่นตี แต่เราต้องพกอันนี้ไป บางทีเราใช้อันอื่นตีไปก่อน ถ้าแต้มใกล้ ๆ จะชนะ ก็เปลี่ยนเป็นอันที่คุณแม่ให้” 

พ่ออุ้มเล่าว่า หากรู้สึกกดดันตอนแข่ง ระหว่างพักจะพาไม้แบดไปนั่งทำสมาธิในห้องน้ำ แล้วพูดให้แม่ช่วยหน่อย ๆ ผ่านไม้แบดตัวแทนของแม่ เพื่อเรียกความมั่นใจก่อนแข่ง ซึ่งพ่ออุ้มก็ทำคะแนนได้ดีขึ้นจริง ๆ

 “รุ่นนี้เมื่อก่อนเราได้มาฟรีจากสปอนเซอร์ ปีละสามสี่อัน บางทีตีชนะ สะใจ หักไม้ทิ้งยังเคยเลย แต่อันของแม่นี่ไม่หัก”

แม้ไม้แบดอันนี้ชำรุด แต่พ่ออุ้มก็ยังคงเอาไม้ติดตัวไปแข่งด้วย  จนตอนหลังเปลี่ยนยี่ห้อไม้แบด เปลี่ยนสปอนเซอร์ พ่ออุ้มจึงตัดสินใจเก็บไม้ของแม่ไว้ที่บ้าน

“พอไม้ที่คุณแม่ซื้อให้มันร้าว ซ่อมแล้วน้ำหนักมันไม่เหมือนเดิม เราก็เก็บเป็นที่ระลึก ผ้าพันอะไรของเดิมหมด แล้วพ่อเอาไม้แบดที่มันร้าว ๆ ไปใส่แจกันอันใหญ่ ครูพละที่โรงเรียนแม่มาเห็นก็ขอ แม่นึกว่าลูกไม่ใช้ก็ให้เขาไปหมดเลย 

“เสียดาย เสียใจ ถ้ายังอยู่กับเรา ก็ได้ให้ลูกดู เก็บไว้เป็นที่ระลึก นี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ประสบความสำเร็จได้ก็เริ่มต้นจากไม้แบดอันนี้ พ่อได้เข้ามหาวิทยาลัยกับโครงการช้างเผือก ก็เพราะไม้แบดอันนี้”

ทุกวันนี้พ่ออุ้มก็ยังคงเล่นแบดมินตัน แข่งในที่ทำงานบ้าง  และมีไม้แบดใหม่ ๆ มากมาย แต่พ่ออุ้มก็ยืนยันว่าไม้อื่นไม่สามารถมาแทนที่ไม้แบดของแม่ได้จริง ๆ


Writer

Avatar photo

บรรณสิริ มีศรี

นักเรียนถ่ายภาพ ชอบวาดรูป สนใจภาษา และเป็นชาไทยเลิฟเวอร์

Photographer

Avatar photo

บรรณสิริ มีศรี

นักเรียนถ่ายภาพ ชอบวาดรูป สนใจภาษา และเป็นชาไทยเลิฟเวอร์

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts