LGBTI+

“ไม่ถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้” 3 วิธีสื่อสารให้ลูก LGBTI+ รู้ว่าพ่อแม่เข้าใจและยอมรับ

  • ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะเข้าใจความหลากหลายทางเพศของลูกได้ทันที พอลูก come out จึงมีตั้งแต่สับสนไปจนถึงต่อต้าน
  • แต่ก็ต้องยอมรับความจริงอีกข้อว่า ถ้าพ่อแม่เข้าใจและยอมรับ สุดท้ายเขาจะยอมรับตัวเอง  
  • นี่คือ 3 วิธีสื่อสารให้ลูกรู้ว่า พ่อ แม่และคนในครอบครัวยอมรับและเข้าใจในความเป็น LGBTI+

“โดยส่วนตัวเราไม่มีปัญหา แต่เรากังวลว่าในชีวิตข้างหน้าของเขา อนาคตของเขา เขาจะใช้ชีวิตลำบากไหม เพราะเรารู้ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม เรารู้สึกว่าลูกเราอาจจะใช้ชีวิตลำบากขึ้น เรากลัวว่าสังคมรอบข้างจะมีปฏิกิริยายังไง เขาจะโดนต่อต้านไหม นั่นคือสิ่งที่เรากังวล”

(แม่ของผู้ชายข้ามเพศท่านหนึ่ง)

หลังจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวรู้ว่าลูกหลานของตัวเองไม่ได้เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงตามเพศกำเนิด แต่ละคนอาจมีวิธีการรับมือแตกต่างกัน บ้างเข้าใจและยอมรับได้เลย บ้างขอไปศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศก่อน บ้างต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับตัว

นั่นเพราะไม่ใช่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวทุกคนจะเข้าใจความหลากหลายทางเพศของลูกได้ทันที ประกอบกับความกังวล ส่งผลให้บางครั้งพ่อแม่อาจแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรมาก หลายคนอาจรู้สึกสับสน ไม่รู้จะปฏิบัติกับลูกต่อไปอย่างไร บางคนแสดงออกอย่างเฉยชา ไม่รับรู้ เพิกเฉย ไม่พูดถึง อีกนัยหนึ่งคือไม่ตอบโต้หรือไม่ต่อต้านแต่ก็ไม่ได้ยอมรับ

“ก็เห็นมาเยอะ เขาบอกตัวเองเป็นผู้หญิง เขาก็ต้องชอบผู้ชาย แล้วตัวผู้ชายจะชอบจริงแค่ไหน เป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชายที่แปลงเพศ หรือเป็นผู้ชายที่ชอบผู้หญิงจริงๆ ตอนนี้มีความรู้สึกชอบแบบวัยรุ่นว่า ชอบกันแค่นั้นเอง ผมก็ห่วงเรื่องพวกนี้ ผมดูแล้วว่ามาแนวนี้ไม่ค่อยจีรังยั่งยืน” คุณพ่อที่ลูกชายมีความรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงเล่าความกังวลของตัวเอง 

สำหรับพ่อแม่บางคนการทำความเข้าใจอัตลักษณ์ทางเพศของลูกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกเป็นบุคคลข้ามเพศ พ่อแม่อาจยอมรับการเปลี่ยนแปลงร่างกายของลูกจากชายเป็นหญิงหรือหญิงเป็นชายได้ยาก บางคนอาจแสดงออกในลักษณะของการปฏิเสธ ตำหนิ ด่าทอ กีดกัน รังเกียจ ล้อเลียน ลงโทษ ทำร้าย ทุบตี ทรมาน บังคับให้แต่งงานกับคนที่พ่อแม่หาให้ หรือถึงขั้นประกาศตัดขาดความสัมพันธ์

จุดเริ่มต้นความเข้าใจ

พ่อแม่หรือผู้ปกครองอาจเกิดคำถามว่า เราจะเข้าใจและอยู่เคียงข้างลูกได้อย่างไร?

ถ้าเราจะเริ่มเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมๆ กับลูก ตอนนี้จะสายเกินไปไหม?

หลายคำถามที่เกิดขึ้นไม่ได้มีคำตอบตายตัว แต่มีหลากหลายวิธีที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และปรับตัวไปพร้อมกับการเลี้ยงลูกให้เติบโตตามสิ่งที่เขาอยากเป็น

3 วิธีการสื่อสารกับลูกเพื่อให้การยอมรับและสร้างความเข้าใจ

  • ให้พื้นที่ สำหรับผู้ปกครองที่ไม่อยากจะพูดคุยตรงๆ กับลูก แต่อยากสื่อสารว่าเรายอมรับตัวตนของลูก ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเพศอะไร สามารถทำได้ผ่านการให้พื้นที่สำหรับลูกได้แสดงออกและเป็นตัวของตัวเอง เช่น ได้เล่น ได้ทำกิจกรรม ได้แสดงออกตรงตามอัตลักษณ์ของเขา โดยไม่ตำหนิ ห้าม หรือลงโทษ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมั่นใจและทำให้ลูกๆ มั่นใจว่า พวกเขาได้รับการยอมรับตัวตนทางเพศ
  • อยู่เคียงข้าง หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดี เช่น ลูกถูกกลั่นแกล้ง ล้อเลียน หรือถูกเลือกปฎิบัติ ถ้าพ่อแม่หรือคนในครอบครัวออกมาปกป้อง จะทำให้ลูกเกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจ นำไปสู่การสร้างความเข้าใจและปรับความสัมพันธ์ในครอบครัว 
  • ไม่ตำหนิ ไม่ตั้งคำถาม“ทำไมจึงเป็นแบบนี้” ต่ออัตลักษณ์ทางเพศที่ลูกเป็น และให้การสนับสนุนพวกเขาเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นคงภายในจิตใจ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ลดความเสี่ยงในการสิ้นหวังกับชีวิต รวมถึงเป็นที่รักและเป็นที่ต้องการของคนในครอบครัว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้กลุ่ม LGBTI+ สามารถเผชิญแรงเสียดทานในการมีชีวิตคู่ การดูแลตัวเอง และการต่อสู้กับสังคมภายนอก 

“เราให้ความเป็นเพื่อน ให้ความเป็นกันเอง ให้ลูกพูดได้ทุกเรื่อง แล้วก็ไม่ตำหนิ ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด แต่ถ้าผิดมากถึงขั้นไม่ดีก็พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ขอร้องกันตรงไปตรงมา ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ต้องกลัวพ่อกับแม่จะเสียใจที่เขาเป็นแบบนี้” แม่ของเกย์คนหนึ่ง 

สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่สามารถทำได้ คือ การคอยเป็นกำลังใจ สนับสนุนตัวตนของลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ลูกสามารถเป็นตัวเองและแสดงออกได้อย่างมั่นใจ รวมถึงโอบอุ้มพวกเขาในวันที่ต้องรับแรงเสียดทานเกินกว่าที่จะรับไหวเพียงลำพัง สำหรับบางครอบครัวแค่ลูกๆ ดำเนินชีวิตปกติในปัจจุบัน นั่นก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองมากพอแล้ว 

“LGBTI+ ไม่จำเป็นตัวพิสูจน์ตัวเองด้วยการเป็นคนดีเสมอไป เราเป็นคนธรรมดา ใช้ชีวิตตามแบบปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วๆ ไป ให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้มีปัญหา การเป็น LGBTI+ ไม่ได้ทำให้เราแปลกแยก ใช้ชีวิตเหมือนคนธรรมดา ถ้าหนูเรียนหนังสือ หนูก็เรียนหนังสือไป ถ้าหนูทำงาน หนูก็ทำงานไป ทำให้เขาเห็นว่ารสนิยมทางเพศของเรามันไม่ได้กระทบกับการใช้ชีวิต” แม่ท่านหนึ่งกล่าวไว้ 

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และยืนหยัดไปกับคนที่เรารัก เพื่อให้เขาได้รับการยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็น และสำคัญที่สุดคือการยอมรับตัวเอง 

ที่มา: หนังสืออยู่ ร่วม สุข: เรื่องเล่าความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิด LGBTI+ 


Writer

Avatar photo

mappa learning

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts