“คนไม่รู้สั่งให้หยุด คนไม่อยากให้หยุดคือคนที่รู้” คุยเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะกับคนไม่มีนอกมีใน แค่ไม่อยากเห็นการศึกษาไทยย่อยยับไปกว่านี้

  • ธันวาคม 2564 คือ ครั้งแรกที่หลักสูตรฐานะสมรรถนะถูกนำไปใช้ในโรงเรียนและหลายคนก็หวังว่าหลักสูตรนี้จะเข้ามาลบ painpoint การศึกษาไทยได้ ทั้งลดเวลาเรียน ลดสอบ แต่เปิดพื้นที่ให้เด็กลองผิดลองถูก ลงมือทำ ค้นหาสมรรถนะของตัวเอง
  • แต่เมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีสั่งเบรกหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อป้องกันการสับสนให้กับผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาและลดภาระครู นักเรียน และพ่อแม่
  • mappa  live ครั้งที่ 12 ‘ย่อยยับไปแค่ไหนกับการดองหลักสูตรฐานสมรรถนะ คุยกับ 4 ตัวจี๊ดการศึกษา’ ชวนคุยเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อไม่ให้การศึกษาไทยถอยหลังและย่อยยับไปกว่านี้

13 คือ จำนวนปีการศึกษาที่นักเรียนไทยต้องเรียนหลักสูตรการศึกษาแกนกลางขั้นพื้นฐานพ.ศ. 2551

200 คือ จำนวนชั่วโมงเรียนของนักเรียนในหนึ่งปีการศึกษาตามโครงสร้างเวลาเรียนในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ. 2551

2,000 คือ จำนวนตัวชี้วัดและสาระแกนกลางต้องรู้และควรรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพ.ศ. 2551 สำหรับการจัดการเรียนรู้ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

เพราะตัวเลขเหล่านี้ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการศึกษาถูกตั้งคำถามจากบุคลากรการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ หรือ พ่อแม่

รวมถึง ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ พวกเขาจึงริเริ่ม ‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘การศึกษาฐานสมรรถนะ’ (Competency – based Education) ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาเดิมที่นักเรียนบอกว่า ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง 

หลักสูตรนี้ถูกใช้จริงในโรงเรียนประถมในเขตพื้นที่นำร่อง ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ต้นเดือนที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม สั่งเบรกหลักสูตรนี้ไว้ เพื่อป้องกันการสับสนของพ่อแม่และเป็นภาระของครู และนักเรียน

จึงเป็นที่มาของ mappa live ครั้งที่ 12 ‘ย่อยยับไปแค่ไหนกับการดองหลักสูตรฐานสมรรถนะ คุยกับ 4 ตัวจี๊ดการศึกษา’ 

  • ‘ครูจุ๊ย’  กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า 
  • ‘ครูทิว’  ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอน 
  • ณิชา พิทยาพงศกร  นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) 
  • ‘แม่บี’ มิรา เวฬุภาค CEO และ Founder Flock Learning และ mappa 

mappa ชวนทั้ง 4 คน คุยเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ หลักสูตรนี้คืออะไร อะไรคือผลกระทบจากการ ‘ดอง’ แล้วที่ผ่านมาการศึกษาไทยย่อยยับไปแค่ไหน และอนาคตการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

คุยเพื่อไม่ให้การศึกษาไทยถอยหลังแต่เดินหน้าต่อ คุยเพื่อให้สมรรถนะของเด็กไทยไม่ถูกดอง และคุยเพื่อส่งเสียงไม่ให้เรื่องนี้เงียบ..

หลักสูตรสมรรถนะคืออะไร? 

เมื่อเดือนตุลาคม 2564 กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ใช้ ‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ ในโรงเรียนประถมศึกษาตอนต้นของพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีผลบังคับใช้จริงในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ ในปี 2562  สพฐ.แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และถูกจัดเป็นนโยบายเร่งด่วน เมื่อ ‘ตรีนุช เทียนทอง’ มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในปี 2564

หลักสูตรนี้ถือเป็นการลด pain point การศึกษาไทย คือ ลดเรียน ลดสอบ แต่เน้นการลงมือทำ คืนครูให้ห้องเรียน เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย อนุญาตให้ครูพาเด็กๆ ออกจากตำรา สามารถค้นหาตัวเองตามสิ่งที่สนใจ  ลองผิดลองถูก และสามารถนำความรู้มาใช้งานได้จริง

เพื่อลบคำถามที่เกิดขึ้นว่า “เราเรียนวิชานี้กันไปทำไม สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้” แต่พวกเขาจะมีสมรรถนะที่จะติดตัวพวกเขาต่อไปในอนาคต ประกอบด้วย 6 สมรรถนะ ได้แก่

  1. จัดการตนเอง : รักตัวเองและผู้อื่น ตั้งเป้าหมายในชีวิต เท่าทันอารมณ์และจัดการความเครียดได้ด้วยตัวเองเพื่อนำไปสู้เป้าหมายของตนเอง สุขภาวะที่ดีและมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นที่ดี
  2. ความคิดขั้นสูง : คิดและตัดสินใจอย่างมีวิจารญาณบนหลักเหตุผล ใช้จินตนาการและความรู้สร้างทางเลือกใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้
  3. การสื่อสาร :  รับรู้ รับฟัง ตีความ  โดยใช้กระบวนการคิดซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ ความเข้าใจ การแก้ปัญหาร่วมกันผ่านการสื่อสารโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
  4. การรวมพลังทำงานเป็นทีม :  จัดระบบและกระบวนการทำงานด้วยตัวเองและร่วมกับผู้อื่น ประสานความคิดที่แตกต่างเพื่อตัดสินใจและแก้ปัญหาเป็นทีม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและจัดการความขัดแย้งได้  
  5. การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง  : การปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองไทยและพลโลก รู้เคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยยึดมั่นในความเท่าเทียม
  6. การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน : เท่าทันเทคโนโลยี อยากรู้อยากเห็น สามารถแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการดำรงชีวิตและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ตามแผนเดิม กระทรวงศึกษาธิการมีแผนเริ่มใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)ในปีการศึกษา 2565 ในระดับชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนที่มีความพร้อม และระดับชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนที่มีความพร้อมในปีการศึกษา 2566 และจะทยอยใช้ให้ครบทุกโรงเรียน ในปีการศึกษา 2567

“หลักสูตรฐานสมรรถนะจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนผ่านการศึกษาแบบเดิม ไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยน ‘ห้องเรียน’ เป็น ‘ห้องเรียนรู้’ ที่ผู้เรียนเข้าใจ ทำเป็น เห็นผลลัพธ์ และเด็กทุกคนมีโอกาสในการค้นพบเป้าหมายของตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ”  ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวไว้ในพิธีเปิดโครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ เปิดตัวเว็บไซต์ cbethailand.com ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

7 เดือนต่อมา รองนายกรัฐมนตรีสั่งเบรก ยืนยันใช้ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ต่อไปจนกว่าจะเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลง และย้ำว่า หลักสูตรเดิมมีการกำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะ และสมรรถนะไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้แบบ  Active Learning และการวัดผลประเมินผลเพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสม

“ยังไม่สมควรเปลี่ยนแปลงเพราะจะกระทบกับการจัดพิมพ์ตำรา ซึ่งจะเป็นภาระของครู ผู้ปกครองและนักเรียนในยามที่เศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน ถ้าเปลี่ยนหลักสูตรก็ต้องซื้อตำราใหม่ ครูก็ต้องอบรม ซึ่งจะเป็นภาระเพิ่มขึ้น จึงยังไม่ประสงค์ให้เกิดภาระเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะนี้” นายวิษณุกล่าว

ธันวาคม 2564 คือ ครั้งแรกที่หลักสูตรฐานะสมรรถนะถูกนำไปใช้ในโรงเรียน แต่เมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีสั่งเบรก mappa  live ครั้งที่ 12 ‘ย่อยยับไปแค่ไหนกับการดองหลักสูตรฐานสมรรถนะ คุยกับ 4 ตัวจี๊ดการศึกษา’ ชวนคุยเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อไม่ให้การศึกษาไทยถอยหลังและย่อยยับไปกว่านี้

ซึ่งหลังจากรองนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวกับสื่อมวลชนก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การสั่งเบรกอาจหมายถึงการหยุดชะงักการศึกษาไทยหรือไม่ 

สิ่งนี้ก็ยังเป็นคำถามที่ไร้คนตอบต่อไป.. คำถามต่อไป คือ การสั่งเบรกจะส่งผลกระทบอย่างไรกับการศึกษาไทยอย่างไร

จึงอยากชวนดูคำตอบของ 4 ตัวจี๊ดการศึกษาว่า ที่ผ่านมาการศึกษาไทยเป็นอย่างไร การที่หลักสูตรสมรรถนะพลาดโอกาสไปต่อ รูปแบบการเรียนรู้ของเด็กๆ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

อะไรควรเปลี่ยน ใครควรปรับ และทำไมพ่อแม่และประชาชนต้องรู้เรื่องนี้  ดูคำตอบได้จากบรรทัดต่อจากนี้ 

ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า

การศึกษาไทยไม่ได้หยุดนิ่ง แต่ถอยหลัง

  • หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นหลักสูตรในร่างพ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ที่เขียนด้วยแนวคิดเดิม มีการกำหนดว่า เด็กแต่ละช่วงวัยควรเรียนรู้และมีสมรรถนะด้านใด แต่จริงๆ แล้ว เด็กทุกคนแตกต่างและไม่สามารถนำลงบล็อคอายุได้ทุกคน
  • การศึกษาไทยไม่ได้หยุดนิ่งแต่ถอยหลัง ระบบการศึกษาไทยอิงกับระบบราชการซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ โรงเรียนต้องซื้อหนังสือเรียนตามที่กำหนด ไม่สามารถเลือกเองได้ หรือคุณครูอยากพานักเรียนทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเสริมทักษะแต่อาจติดกับดักเรื่องกฎระเบียบที่ไม่อนุญาตให้ทำ
  • หากผู้นำเข้าใจ การศึกษาจะเดินหน้าต่อได้ ความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนส่วนหนึ่งมาจากผู้นำ โดยเฉพาะต่างจังหวัด หากผู้นำเห็นความสำคัญจะสามารถสร้างการศึกษาที่เหมาะกับผู้เรียนและพื้นที่ แต่บางพื้นที่ยังมีโรงเรียนห่างไกล ไม่มีห้องเรียน แค่ไปโรงเรียนยังลำบาก 
  • ถ้าการศึกษาหลากหลาย สื่อการสอนจะไม่ใช่แบบฝึกหัด หากหลักสูตรฐานสมรรถนะถูกใช้จริง การออกแบบการเรียนรู้จะอยู่บนพื้นฐานการเรียนรู้แต่ละบุคคล หมายความว่า กิจกรรมจะหลากหลาย สื่อการสอนจะไม่ใช่แบบฝึกหัดแบบเดียวหรือเป็นสิ่งที่อยู่ในห้องเรียน อาจเป็นสิ่งของในชีวิตจริง ถือเป็นโอกาสที่คนทำสื่อการสอนจะพาสังคมและการศึกษาไปข้างหน้า 
  • การทำหลักสูตรต้องวางแผน รับฟังความเห็น แล้วใช้จริง เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันว่า หลักสูตรใหม่มีไว้เพื่ออะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นของการทำหลักสูตรการศึกษาไทย คือ ไม่มีการเตรียมพร้อม วางแผนงานไม่ชัดเจน ขาดการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน พ่อแม่ และคนออกแบบและผู้อนุมัติเข้าใจเรื่องหลักสูตรสมรรถนะไม่ตรงกัน แล้วประกาศใช้เลยซึ่งอาจทำให้เกิดความโกลาหลในทุกมิติ
  • การเบรกหลักสูตร คือ การปลุกประชาชนให้ตื่นมาหาคำตอบว่า เราอยากได้และอยากเห็นการศึกษาเป็นแบบไหน 

ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ตัวแทนจากกลุ่มครูขอสอน

เด็กทำอะไรได้ไม่รู้ แต่เด็กต้องทำข้อสอบได้ และครูต้องสอนให้ทัน

  • หลักสูตรสมรรถนะไม่ใช่แค่หลักสูตร แต่เป็นการตั้งคำถามว่าอยากเห็นอนาคตของประเทศแบบไหน และไม่ใช่การลบเนื้อหา แต่ลดทอน สอนให้เด็กๆ รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ และโฟกัสที่นักเรียน 
  • Active Learning ไม่ใช่คำใหม่ แต่เป็นเรื่องปกติในโลกศตวรรษที่ 21 แต่ปัจจุบันยังทำไม่ได้ ยังมีครูที่สอนตามหนังสือ ให้จดตามสไลด์ มีใบงาน คำถามคือตัวชี้วัดการสอนเยอะมาก แต่สอนไม่ทันเพราะมีกิจกรรมและภาระงานต่างๆ  
  • เด็กทำอะไรได้ไม่รู้ แต่เด็กต้องทำข้อสอบได้ เพราะผลสอบมาตรฐาน (O-NET) เป็นตัวตัดสินผู้บริหาร โรงเรียน และเด็ก ส่วนครูก็ต้องสอนตามเนื้อหาและตัวชี้วัดให้ครบ จึงมีปรากฎการณ์ที่ครูต้องสอนเด็กม.3 และม.6 ให้จบภายในเดือนธันวาคม ส่วนมกราคมเป็นช่วงเวลาที่ให้เด็กติวเพื่อสอบ
  • มากกว่าหลักสูตร คือ การช่วงชิงอำนาจและอุดมการณ์ หากพูดถึงสมรรถนะหลัก อาจเป็นเรื่องการทำงานเป็นทีมหรือการสื่อสาร แต่อีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ช่วงชิงอุดมการณ์ทางการเมืองและคุณค่าบางอย่างเพื่อกำหนดความคิดของคนในประเทศ แต่ถูกทำให้มองไม่เห็น แล้วถูกอำนาจนำมาช่วงชิงพื้นที่นี้ไป
  • เสียงของครูมีพลัง คนที่เข้าใจบริบทของห้องเรียนและนักเรียนมากที่สุด คือ ครู และผู้สอนจำเป็นต้องส่งเสียงและแสดงความเห็น ไม่ใช่มีโครงการไหนมาก็ทำหมด แต่ต้องเห็นพื้นที่ของตัวเองและเชื่อมั่นในตัวเองว่าครูมีพลัง
  • นอกจากครู สถาบันผลิตครูก็ต้องปรับตัว หากหลักสูตรนี้ประกาศใช้ หลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษาคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนตามเช่นเดียวกับวิธีการเรียนการสอนของครู 
  • หลักสูตรจะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ครูบางคนพยายามใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะควบคู่ไปกับตัวชี้วัดแบบเดิม แต่การเบรกทำให้ครูหลายคนหมดพลัง แต่อยากให้รัฐดึงความคิดและศักยภาพของครูเข้าไปอยู่ในหลักสูตรเพื่อพัฒนาเป็นสังคมที่เราอยากเห็น 

ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

“บริษัทที่ชื่อว่าประเทศไทย ถ้าต้องรอประธานบริษัทอาจไม่ทันเวลา”

  • หลักสูตรปัจจุบันผูกกับเวลาเรียนสองร้อยชั่วโมงและสองพันตัวชี้วัด ตอนนี้ระบบการศึกษาให้เด็กเลื่อนชั้นไปตามห้วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้และการวัดผลก็อิงกับเวลาเหล่านั้น และตามตัวชี้วัดและสาระแกนกลางที่ต้องรู้และควรรู้จามหลักสูตรการศึกษาแกนกลางขั้นพื้นฐานพ.ศ. 2551 สำหรับการจัดการเรียนรู้ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ระบุว่า ครูต้องสอนตามตัวชี้วัด 2,000 ตัวให้จบภายใน 1 ปีการศึกษาหรือประมาณ 200 ชั่วโมง เด็กจะเรียนรู้หรือไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ปัญหาของครู แต่ปัญหาคือทำยังไงให้จบ แต่ในหลักสูตรสมรรถนะเด็กจะเรียนตามจังหวะของตัวเอง
  • คู่มือการสอนจากสำนักพิมพ์คือแม่บทการสอนของครู คู่มือการสอนจะช่วยให้ครูมั่นใจว่า การสอนเพื่อตัวชี้วัดสองพันตัวสามารถทำได้ เพราะการประเมินผลยังต้องดูจากเกรด แต่ไม่รู้ว่าเด็กทำอะไรได้ 
  • ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรไหน เมื่อถึงเวลาก็ต้องเปลี่ยน การศึกษาต่างประเทศกำหนดชัดเจนว่าต้องปรับกี่ปี แต่ปัญหาของประเทศ คือ ยังคงใช้หลักสูตรเดิมมา 13 ปี โดยไม่ทำอะไร เนื่องจากความคิดย่อมมีวันหมดอายุ มีแนวคิดใหม่มาลบล้างข้อมูลเก่าในหนังสือเรียนได้ตลอดเวลา เป็นเรื่องเศร้าที่เด็กต้องอยู่กับหลักสูตรเก่า จึงจำเป็นต้องสอนกระบวนการคิด แต่สิ่งนี้ไม่อยู่ในผลสอบ อะไรที่ไม่ถูกทดสอบก็ถูกลืม
  • บริษัทที่ชื่อประเทศไทย ถ้าต้องรอฝ่ายบริหารอาจไม่ทันเวลา ระบบราชการไทยไม่ต่างจากองค์กรหนึ่ง มีรองประธานบริษัท ประธานบริษัท และทีมเขียนแผนกลยุทธ์ ซึ่งต่อให้คนทำแผนเขียนดีแค่ไหน แต่ถ้ารองประธานบริษัทไม่เอาด้วย พนักงานจะกล้าเริ่มทำสิ่งใหม่ได้อย่างไร เช่นเดียวกับปัญหาในประเทศไทยที่มีหลายปัญหาและต้องการคนทำงานและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกัน
  • ภาระที่เกิดจากการเปลี่ยนหลักสูตรไม่ใด้อยู่ที่พ่อแม่ แต่เป็นสำนักพิมพ์ ไม่ต้องห่วงพ่อแม่ว่าต้องจ่ายค่าหนังสือเรียน เพราะหนังสือเรียนรัฐบาลมีงบอุดหนุนจากโครงการเรียนฟรี 15 ปีอยู่แล้ว คนที่ต้องปรับตัวจึงเป็นสำนักพิมพ์ที่จัดทำตำราเรียน เพราะพวกเขายังคงสร้างสรรค์เนื้อหาตามหลักสูตรเดิม อีกมุมหนึ่งก็เป็นความท้าทายในยุค Digital Disruption เหมือนกับธุรกิจอื่น เพราะทุกวันนี้เด็กก็ไม่ได้เรียนตามตำราอย่างเดียว 
  • การนำร่องไม่ใช่จุดจบ มันควรได้ไปต่อ ทางทฤษฎีหลักสูตรสมรรถนะยังไม่ถูกดอง เพราะกฎหมายยังเปิดพื้นที่ นวัตกรรม 8 จังหวัดให้ทดลองหลักสูตรอื่นนอกจากหลักสูตรแกนกลางได้ และเป็นข้อพิสูจน์ว่าครูไทยมีศักยภาพ ถ้าปล่อยให้เขาลงมือทำและอนุญาตให้มีความหลากหลาย
  • ในสังคมที่มีอำนาจสูง ระบบอยู่ไม่นาน แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องเปลี่ยน การเปลี่ยนหลักสูตรเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนทุกอย่างในระบบได้ เนื่องจากการผลักดันหลักสูตร ต้องแก้ระเบียบ การประเมิน หรือโครงสร้างเวลาเรียนซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะคนทำงานด้านนโยบายจึงต้องหาหนทางใหม่ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง แม้เป็นเพียงจุดเล็กๆ
  • หลักสูตรถูกปัดตก แต่พ่อแม่ต้องเดินหน้าต่อ พ่อแม่ทุกคนรักลูก พาลูกหนีได้ก็หนี เขาไม่จำเป็นต้องอยู่ระบบการศึกษาแบบนี้ มันอาจจะลำบาก แต่จำไว้ว่าใครทำให้เราลำบาก 

แม่บี มิรา เวฬุภาค CEO และ Founder Flock Learning และ mappa

ต่อให้ไม่มีหลักสูตรการศึกษา เด็กก็เรียนรู้ได้อยู่แล้ว

  • ถ้าเอาเด็กเป็นตัวตั้ง การศึกษาจะหลากหลาย หากหลักสูตรและพ.ร.บ.ฉบับใหม่ เอาเด็กเป็นตัวตั้ง เปิดโอกาสให้เอกชนมาช่วยจัดการเรียนรู้ จะทำให้การศึกษามีความหลากหลายมากขึ้น
  • ทุกคนรู้ แต่พ่อแม่ไม่รู้ ขณะที่นักการศึกษาและคุณครูกำลังตื่นตัวและผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่พ่อแม่ยังไม่เข้าใจ เพราะไม่มีใครเคยบอกนิยาม จุดประสงค์ และเป้าหมายของหลักสูตรนี้
  • ระบบการศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องของลูกเรา แต่เป็นเรื่องของเด็กทุกคน ในโลกอนาคตจะเกิดทักษะใหม่ๆ ที่ลูกเราต้องตามให้ทันจึงจำเป็นมากที่พ่อแม่ต้องเข้ามาขับเคลื่อนระบบการศึกษา เพื่อให้ลูกมีการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดี 
  • ยุคพ่อแม่ทำงานหนักเพื่อชีวิตธรรมดา ยุคลูกทักษะที่ดีคือเรื่องจำเป็น เพื่อโอบอุ้มประชากรที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กยุคนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาที่ดีเพื่อสร้างคนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วางใจได้ว่าลูกจะรอดในวันที่เขาเติบโต
  • ตอนนี้ขอหลักสูตรอะไรก็ได้ที่ดีกว่าเดิม มีความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ในการทำหลักสูตรต้องถกเถียงและแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออก แต่ตอนนี้ขอหลักสูตรอะไรก็ได้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าแต่ก่อนก็พอ ยังไม่ต้องมีประสิทธิภาพ มีความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง
  • ต่อให้ไม่มีหรือไม่เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา เด็กก็เรียนรู้ได้อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงพ่อแม่ แต่เป็นห่วงระบบราชการและการประเมินแบบเดิมที่จะไปฉุดรั้งและถ่วงศักยภาพของเด็กมากกว่า เพราะการศึกษาคือตัวเร่งให้เกิดการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น โดยไม่ต้องกลับไปจุดเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง 
  • การซ่อมระบบการศึกษาเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องคิดอย่างจริงจัง ถ้าภาครัฐไม่คิดว่า ต้องพัฒนาเด็กให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เด็กจะรอดอย่างไร รัฐต้อง empower การเรียนรู้ของคนในประเทศ และความเข้าใจของประชาชนเรื่องการศึกษา เพื่อเติมสมรรถนะของคนในประเทศให้มากขึ้นจากเดิม อนุญาตให้มีความหลากหลายและเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม 

ที่มา

https://academic.obec.go.th/images/official/1622514876_d_1.pdf?fbclid=IwAR0hRC5QZRo2TIZDOLgif6fuyFhOiN2z5VY23TFEs7Bz3l6RBCiUYHonIVw

https://drive.google.com/file/d/1mKyU6tkVWlL5b6vfwHNEzqkcqVXf_H-m/view

http://cbethailand.com

https://www.komchadluek.net/news/487714

https://www.komchadluek.net/news/514065


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts