“หิวแสง (แล้วไง)” โดย ณิชา พิทยาพงศกร

“แก เรางงมาก ทำไมคำว่า “หิวแสง” ถึงเป็นคำด่าในไทยวะ” 

เพื่อนสาวคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนถามฉันขึ้นมา ระหว่างที่พวกเรานั่งดริ๊งค์เม้ามอยตอนรับโอกาสที่เธอกลับมาไทย

เออ ทำไมนะ?

เอาจริงๆ ฉันเองก็เคยเห็นคำนี้บ่อยๆ ด้วยโทนเหยียดๆ ทั้งในโลกโซเชียลและได้ยินในโลกความจริง 

“ยัยคนนั้นน่ะหิวแสง” 

“นักวิชาการคนนี้หิวแสงจัง” 

“น้องคนนั้นทำตัวหิวแสงเหลือเกินน้าา”

ตัวฉันเอง สมัยเป็นเริ่มทำงาน ก็เป็นเด็กปากแจ๋วคนนึงที่เคยแซะคนอื่นว่า “หิวแสง” 

จนวันที่ประสบการณ์ทำงานมากขึ้น สปอตไลท์เริ่มเฉียดกลายมาใกล้ตัวๆ หลายครั้งฉันก็หลบ บางทีก็ดันหลังคนอื่นไปแทน บางครั้งฉันก็รับ (แต่ต้องทำท่าว่ารับแบบเสียไม่ได้นะ อย่าดีใจออกนอกหน้าไปเชียว) เพราะกลัวโดนคนเขานินด่าว่า “หิวแสง” แต่ในอีกมุมนึงของใจ มีเสียงกระซิบบอกว่า “แต่นั่นมันที่ของเธอนะ เธอนั่นแหละที่ควรจะได้รับแสงนั้น”

ทำไมคนเราต้องมีชีวิตที่ซับซ้อนขนาดนี้กับเรื่องแสงวะเนี่ย

พาลคิดต่อไปถึงหนังสือของป้ามล ธิชา ณ นคร ที่ฉันเคยอ่านแล้วชอบมาก หนังสือชื่อ “เด็กน้อยโตเข้าหาแสง” เป็นหนังสือซึ่งต้องการให้สังคมเห็นว่า เด็กทุกคนต้องการการยอมรับ ความอบอุ่น และความเชื่อว่าพวกเขามีความดีงามในตัว เปรียบเหมือนแสงที่สาดส่องมาที่เขา ทำให้เขาเติบโตงอกงามได้ แม้จะเคยก้าวพลาดมาก่อน

ตัวฉันเองก็เพิ่งไปเจอป้ามลตัวเป็นๆ ในงานเสวนาชื่อ “เวทีปล่อยแสง” มันเป็นเวทีที่ให้คนที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษามาเล่าสิ่งเจ๋งๆ ที่แต่ละคนได้ลงมือทำ

ถ้าไม่นับว่า ในทางพฤตินัยแล้ว เวทีนั้นมันปล่อยแสงจริง ในแง่ที่แสงไฟหน้าเวทีโคตรจ้าจนตาฉันแทบบอด ฉันก็ตีความว่า เรื่องเล่าที่สร้างแรงบันดาลใจเหล่านั้น คือแสงแบบนึง

เอ… งั้นแสงมันก็ดูจะเป็นสิ่งดีนี่หว่า สาดไปที่ต้นไม้ ต้นไม้ก็โต ส่องไปที่เด็ก เด็กก็ดีขึ้น 

แล้วอย่างนี้ การอยากได้แสง มันผิดตรงไหน ทำไมคำนี้มันกลายเป็นคำด่าไปได้วะเนี่ย?

ลองเทียบกับภาษาอื่นสิ คำว่า “หิวแสง” น่าจะใกล้เคียงกับคำว่า “attention seeking” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งก็มีความหมายทางลบเหมือนกัน แต่ไม่แรงมากเท่ากับภาษาไทย แค่ประมาณว่า เรียกร้องความสนใจ เท่านั้นเอง

เพื่อนสาวสาธยายต่อ ว่าเธอเองในฐานะเจ้าของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ก็ต้องโพสต์บทความ อัพเดตกิจกรรมต่างๆ ของตัวเองลงบน feeds อยู่เสมอเพื่อสร้างตัวตนให้บริษัทและตัวเธอเอง ว่ามีความเชี่ยวชาญ รู้ลึก รู้จริงในสิ่งที่ทำ สิ่งเหล่านี้ คนไทยอาจจะมองว่าเรียกร้องความสนใจหรือหิวแสงก็ได้ แต่ไม่เห็นเพื่อนต่างชาติเธอจะทักท้วงอะไร เขากลับมองว่า มันเป็นเรื่องปกติมาก ของมันก็ต้องทำไม่ใช่เรอะ 

“ถ้าเราไม่แสดงออกสิ่งที่ตัวเองมีออกไป แล้วใครจะมาแสดงออกให้เราวะ ถ้าไม่ชอบสิ่งที่คนอื่นแสดงออก เราก็แค่แสดงออกจุดยืนของเราไปสิ จะไปคอยด่าเขาว่าหิวแสงทำไม” 

นั่นสิ พอมาคิดดู ในแง่ของการใช้งาน การด่าคนอื่นว่า “หิวแสง” มันเป็นวิธีการแบบ passive agressive ที่คนไทยโคตรถนัดในการต่อต้านสิ่งที่เราไม่ชอบ (เช่นเดียวกับ การแซะ แขวน และ ปั่น ซึ่งเป็นกริยาแบบใหม่ในโลกร่วมสมัยที่ก็น่าเอามาคุยเหมือนกัน) 

เพราะลึกๆ แล้ว เราไม่กล้าพอที่จะแสดงจุดยืนหรือความเห็นที่ตรงข้ามกับคนที่พูดเสียงดังกว่า รึเปล่า

เราไม่พอใจที่เขาได้สปอตไลท์ แต่เราก็ไม่กล้าพอที่จะแย่งสปอตไลท์มาจากเขา อย่างนั้นรึเปล่า

หรือเราไม่กล้ายืดอกรับเครดิตในสิ่งที่เราทำ เพราะสำนวนว่า “ทำตัวดีและเด่นจะเป็นภัย” ที่เราเคยได้ยินกันมา


อีกประเด็นหนึ่งที่ควรคิดก่อนด่าคนว่าหิวแสง คือ บางทีก็เป็นพวกเราเองนี้แหละเป็นคนไปให้แสงเขา

ฉันลองวิเคราะห์คนถูกตราหน้าว่าเป็นคนหิวแสงโดยชาวเน็ต จะพบว่า คนเราต้องมี 3 ปัจจัยสำคัญครบถึงจะได้สมญานามว่า “หิวแสง” (วิเคราะห์ไปทำไมเนี่ย กับงานการอื่นทำไมไม่ขยันแบบนี้นะเรา)

ปัจจัยแรกคือ ต้องมีการแสดงออกที่เยอะ ทั้งเชิงปริมาณและ/หรือคุณภาพ เช่น ให้ความเห็นกับสาธารณะบ่อยๆ ออกสื่อหลายๆ ที่ มีความเห็นกับทุกๆ เรื่อง หรือมีการแสดงออกที่ปลุกเร้าอารมณ์ (sensational) ออกแบบมาเพื่อดึงดูดความสนใจโดยแท้ หรือมี persistency อย่างมาก คือไม่ว่าใครจะด่ายังไง ฉันก็จะโพสต์ต่อไป

ปัจจัยที่สองคือ ไอ้การแสดงออกเนี่ย มันต้องได้รับความสนใจกลับมามากด้วย ไม่ว่าจะบวกหรือลบก็ตาม เช่น มีแฟนคลับมาร่วมเชียร์ หรือมีคนเกลียดมาร่วมด่า ทัวร์ลง มีคนแคปไปแขวนต่อ ฯลฯ 

ปัจจัยที่สาม คือ คนรับชมมีความรู้สึกลึกๆ ว่า คนที่แสดงออก ไม่คู่ควรที่จะได้ความสนใจนี้ มองว่าคนคนนี้ไม่มีเครดิตพอที่จะแสดงออก เช่น ไม่มีความรู้ / ตำแหน่งที่เหมาะสม / ความเชี่ยวชาญ / รสนิยม / พื้นเพเหมาะสมที่จะมาแสดงออกเรื่องนี้ หรือบางทีก็หมั่นไส้ ไม่ถูกจริต แค่นั้นแหละ

จะเห็นว่า ปัจจัยแรก เกิดจากเจ้าตัว แต่ปัจจัยที่สองและสามเนี่ย บางทีมันเกิดจากมุมมองของคนรับชม ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเจ้าตัวเลย

สมมติว่า ตัวฉันเองโพสต์เยอะๆ ถี่ๆ ทุกเรื่อง แต่ไม่มีใครมาสนใจ หรือคนอ่านมีแค่หมู่เพื่อนที่จริตตรงกัน ก็จะไม่ถูกด่าว่าหิวแสง แต่ถ้าดั๊นมีคนเอาไปแขวน หรือสื่อเริ่มอยากชวนไปสัมภาษณ์ แล้วฉันรับปากไปออกโดยไม่คิดอะไร แล้วดันพูดไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม ถูกแคปเอาไปแขวนด่า เริ่มมีแฟนคลับและ haters (ทั้งๆ ที่ฉันก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น) ก็อาจจะโดนด่าว่าหิวแสง

คำว่า หิวแสง มันเหมือนเป็นการบอกกลายๆ ว่าคนนั้นไม่คู่ควรกับแสงแต่ยังกระเสือกกระสนหา เป็นพวก wannabe แต่บางที เขาก็แค่อยู่ของเขา คิดแบบนี้ ทำแบบนี้อยู่แล้ว แต่เราไปสนใจ ไปให้แสงเขาเอง แล้วเราก็ด่าเขาว่า หิวแสง


“มีบริษัทนึงเป็นคู่แข่งเรา CEO มันสร้าง content ตลอด ไลฟ์ที่นู่นที่นี่ตลอด คนในวงการก็ให้ความสนใจ มองว่าภาพลักษณ์ดี เรารู้ว่า product มันไม่ได้ดีอะไรหรอก แต่คนรู้จักเราบอกว่า เนี่ย เธอดูเขาเป็นตัวอย่าง เธอต้องโพสต์แข่งกับมัน เพราะ 1 นาทีที่ลูกค้าอ่านโพสต์เธอ ก็คือ 1 นาทีที่ลูกค้าไม่อ่านโพสมัน มันคือ 1 นาทีที่เธอแย่งมาได้จากมันเว้ย”

“โอ้ว แปลว่า วิธีการเอาชนะพวกหิวแสง คือเราต้องหิวแสงกว่าสินะ” ฉันคิดในใจ 

เรื่องนี้ก็พ้องกับความจริงว่าใน attention economy หรือโลกธุรกิจที่ตั้งอยู่บนความสนใจ ใครที่แย่งความสนใจของคนจำนวนมากได้ย่อมได้เปรียบกว่า และสามารถเอาความสนใจเหล่านั้นไปแปรเป็นอิทธิพลและเงินทองได้ (that’s how social media works, man!)

แล้วนึกต่อไปถึงบทสนทนากับน้องคนหนึ่งในวงวิชาการก่อนหน้านี้ เราคุยกันว่า ถ้านักวิชาการที่รู้จริงดันไม่ชอบออกสื่อ ก็จะทำให้สื่อต้องเชิญคนอื่นที่รู้น้อยกว่ามาพูดแทน แล้วถ้าคนนั้นเผยแพร่ข้อเท็จจริงผิดๆ ออกไปในสาธารณะ ถึงตอนนั้น เราอาจจะรู้สึกว่า ตัวเองควรหิวแสงมากกว่านี้ก็ได้

บางครั้ง คนเรามันก็ต้องมีความเชื่อ ว่าเราก็มีความคิดเห็นหรือจุดยืนที่มันพอไปวัดไปวาได้ แต่ถ้าเราปฏิเสธที่จะพูดแล้วก็มานั่งด่าคนที่กล้าพูดมากกว่าเรา เราก็เสียเวลาชีวิตเปล่าๆ 

หรือเราไม่พูดเพราะกลัวว่าจะโดนด่าว่าหิวแสง ความคิดเห็นที่เรามีก็ไม่มีที่ทางจะ “เปล่งแสง” แข่งขันกับกระแสความคิดอื่นได้เลย

บางที คนที่เราด่าว่าหิวแสง เขาแค่เปล่งแสงเก่งกว่าเรา ก็เท่านั้นเอง


Writer

Avatar photo

ณิชา พิทยาพงศกร

นักวิจัยอิสระและนักจัดกระบวนการเรียนรู้ แม่ลูกสองที่รักการเต้นรำและการทำกาแฟ

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts