‘โรงแรมครีม’ พื้นที่มหัศจรรย์ที่สร้างประตูมิติแห่งความเป็นไปได้ให้กับเด็กๆ

คุณเคยได้ยินเรื่องราวของโรงแรมมหัศจรรย์ที่ไม่เคยมีใครได้เห็นห้องพักไหม หรือถ้าให้นับจำนวนชั้นของโรงแรมก็ไม่แน่นอน แถมยังซ่อนประตูมิติไว้อีกหลายแห่ง ฟังดูแล้ว..อาจมีพลังงานบางอย่างซ่อนอยู่ก็เป็นได้ 

แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องราวของโรงแรมลี้ลับ แต่ที่นี่คือ ‘โรงแรมครีม’ ‘CREAM Bangkok’ หรือ ‘โรงแรมมหัศจรรย์’ สถานที่หลากหลายชื่อที่เต็มไปด้วยล้านเรื่องราวแห่งความเป็นไปได้ และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่การเรียนรู้ที่เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์และช่วงเวลาอิสระคือสิ่งสำคัญสำหรับเด็กทุกคน โรงแรมนี้จึงไม่ได้มีห้องหับที่พักเหมือนโรงแรมอื่นๆ แต่ให้ห้วงเวลามหัศจรรย์ที่เด็กๆ และครอบครัวจะได้เข้ามาทำกิจกรรมในรูปแบบ ‘คลับ’ และ ‘เวิร์กชอป’อาทิ การขีดเขียนทุกสิ่งที่อยู่ในความคิด การประดิษฐ์ทุกอย่างจากจินตนาการ การคิดค้น ทดลองเสมือนอยู่ในห้องแล็ป หรืออาจจะเพียงเล่นสนุกเท่านั้นก็เป็นได้

Mappa มาถึงโรงแรมครีมในบ่ายที่แดดร้อนเปรี้ยง แต่เพียงก้าวเท้าเข้ามาในโรงแรมก็พบกับรอยยิ้มมิตรภาพจาก ‘ครูใบปอ’ อ้อมขวัญ เวชยชัย ผู้ก่อตั้งโรงแรมครีม และได้รับการต้อนรับด้วยเครื่องดื่มชื่นใจจาก ‘ป้าออน’ นิออน ทรงพล หนึ่งในพนักงานคนสำคัญของโรงแรมครีมผู้เป็นที่รักของเด็ก ๆ ป้าออนประจำตำแหน่งอยู่ที่บาร์น้ำและขนมของโรงแรมครีม อีกหนึ่งพื้นที่ที่เด็กๆ แวะเวียนกันมาเติมเชื้อเพลิงก่อนใช้พลังไปกับความคิดและจินตนาการ

แน่นอนว่าเมื่อเข้ามาในโรงแรม สิ่งแรกที่ควรจะทำก็คือการ ‘เช็กอิน’ เพื่อเข้ามาเป็นแขกของโรงแรมมหัศจรรย์แห่งนี้ ที่นี่ไม่ได้ให้เซ็นต์ชื่อ หรือขอเก็บค่าห้องพัก แต่เป็นการตอบคำถามว่า “แขกประหลาดที่สุดที่เคยมาพักที่โรงแรมมหัศจรรย์คือ…” 

คำถามเช็กอินเข้าสู่โรงแรมครีมจะเป็นคำถามปลายเปิดที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน เพื่อให้เด็ก ๆ หยุดคิด และเขียนตอบ เป็นการเตรียมเด็ก ๆ ถึงเนื้อหาและกิจกรรมที่พวกเขาจะได้เจอในวันนั้น นอกจากนั้นคำตอบน่ารักสดใสของเด็กๆ ยังเอามาพูดคุยเปิดบทสนทนาเพื่อให้ครูทำความรู้จักเด็ก ๆ ได้อีกด้วย 

ที่ชั้นแรกเราถูกดึงดูดด้วยเรื่องเล่ามหัศจรรย์

นอกจากเคาน์เตอร์เช็กอินและบาร์เครื่องดื่มแล้ว ที่ชั้นหนึ่งยังมีบ่อน้ำใครๆ ก็ต้องเดินไปส่องดูใกล้ ๆ ครูใบปอเล่าว่าตอนนี้ในบ่อน้ำมีพี่เต่าสองตัว เต่าสองตัวนี้เป็นเจ้าของโรงแรม อยู่ที่นี่มาตั้งแต่ก่อนพื้นที่นี้นี้จะกลายเป็นโรงแรมครีม แต่พี่เต่าขี้อายเลยไม่ค่อยออกมาโชว์ตัว ถ้าใครเจอก็จะถือว่าวันนั้นเป็นวันที่โชคดี ด้านข้างบ่อน้ำมีโซนหนังสือและบอร์ดเกม หนังสือที่เรียงรายอยู่บนชั้นเป็นหนังสือของครูใบปอที่อ่านแล้วนึกอยากให้เด็กๆ ได้อ่านด้วย จึงใช้เวทย์มนต์เคลื่อนย้ายสิ่งของ ย้ายทั้งหมดมาอยู่ตรงนี้

ครูใบปอพาเราไปหยุดหน้าประตูบานหนึ่งที่ (ดูเหมือนจะ) ถูกล็อกเอาไว้ 

“นี่เป็นประตูทางไปห้องพักของโรงแรมครีม แต่เปิดเท่าไหร่ก็เปิดไม่ออก ตั้งแต่เปิดโรงแรมครีมมาสี่ปียังไม่มีใครเปิดห้องพักห้องนี้ได้เลย ห้องพักเต็มอยู่ตลอดเวลา คิดว่าข้างในนี้มีห้องพักอยู่เยอะมากแต่ว่าเราไม่เคยจองห้องพักได้ เด็ก ๆ ก็มีทฤษฎีต่าง ๆ เยอะมาก เช่น เราจะเปิดประตูห้องพักได้ก็ต่อเมื่อเกิดฝนดาวตกในตอนกลางวัน”

ประตูชวนฉงนนี้จึงกลายเป็นอีกเรื่องเล่าที่ชวนให้เราอยากสำรวจและรู้จักโรงแรมมากขึ้น แต่เอ… ตอนนี้เด็กๆ ไปไหนกันหมดน้าาา 

ครูใบปอเฉลยว่า ที่ตอนนี้เรายังไม่เห็นเด็ก ๆ เพราะ ‘ครูบีม’ (ทชาภัทร ขลิบปั้น) และ ’ครูวาว’ (ณัฐกานต์ ปานศรี) ทีมครูมหัศจรรย์ของโรงแรมครีมกำลังพาเด็ก ๆ เล่นสนุกอยู่ที่ด้านบน 

เราตามไปดูกันเถอะ

ที่ชั้นสองเราเห็นพื้นที่ทดลองความเป็นไปได้ 

ขณะขึ้นบันไดไปชั้นสอง เราเห็นร่องรอยตามกำแพงอยู่มากมาย ทั้งข่าวสารจากหน้าหนังสือพิมพ์หรือกระดาษที่เต็มไปด้วยการขีดเขียนของเด็ก ๆ ครูใบปอบอกว่าพื้นที่ตรงนี้คือพื้นที่บันทึกเรื่องเล่าของโรงแรมครีม เราเห็นภาพ (แอบ) ถ่ายพนักงานโรงแรมก่อนหน้าทีมครูใบปอที่มองยังไงก็ไม่เหมือนมนุษย์ มีหน้าหนังสือพิมพ์ที่เล่าถึง 5 สถานที่ลึกลับรอบโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโรงแรมครีม ภาพของสิ่งมีชีวิตลึกลับที่ซ่อนตัวอยู่ในบ่อน้ำ  และข่าวการพบเจอรถประหลาดที่ลานจอดรถของโรงแรมครีม แม้ทั้งหมดนี้จะถูกทำขึ้นมาแต่ก็ทำให้เราเริ่มเข้าใจที่มาที่ไปของคำว่า ‘โรงแรมมหัศจรรย์’ แล้ว

“ความมหัศจรรย์สำหรับเราคือความเป็นไปได้ที่หลากหลาย เราเล่นกับคำว่ามหัศจรรย์เพราะเมื่อมันมหัศจรรย์ปุ๊บ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ความคิดที่ว่า ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้’ มันทำให้เด็ก ๆ ได้เล่าเรื่องหรือได้ใช้มันกับการทำอะไรต่าง ๆ ความคิดของเด็กจะพรั่งพรูถ้ามันไม่มีกรอบไปครอบความคิดของเขา”

ตอนนี้เราก็อยู่ที่ชั้นสองแล้ว ที่ชั้นสองก็ยังเจอมุมที่หนังสือถูกจัดวางเรียงราย พร้อมกับแว่นขยายและกล้องส่องทางไกลที่เชิญชวนให้เข้าไปหยิบจับและสำรวจ

“ตรงนี้เป็นมุมสำรวจ ใช้จัดแสดงสำหรับแต่ละช่วงเวลา อย่างอาทิตย์ถัดไปจะเรียนรู้เรื่องเมืองกัน ครูก็จะเตรียมหนังสือที่เป็นภาพฉายของเมืองหรือเรื่องเล่าของเมืองในแง่มุมต่าง ๆ บางทีก็เอาข้าวของประหลาดหรือต้นไม้ประหลาดมาวาง ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นเล่นสนุกกับอะไรหรือวุ่นวายกับอะไร”

“มีโซนของรีไซเคิลที่เด็ก ๆ ใช้ถ่ายทอดความคิดผ่านการประดิษฐ์ มีกิจกรรมที่เป็นรูปแบบ ‘คลับ’ เรียกว่า After School Club ซึ่ง ณ เวลานั้นทุกคนจะเป็นเจ้าของช่วงเวลาของตัวเอง ในบางวันอาจจะได้เห็นการวิ่งขึ้นวิ่งลงมาหยิบมาหาของ บางวันอาจจะนั่งประดิษฐ์หรือบางวันอาจจะอยากลงไปเล่นข้างล่าง เด็ก ๆ ที่โรงแรมนี้ค่อนข้างจัดการตัวเองได้ ถ้าเด็กที่คุ้นเคยกับโรงแรมหน่อยก็จะหยิบของใช้ได้เลย รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน อุปกรณ์อะไรที่จะนำมาใช้รองรับความคิดของเขา”

ครูใบปอเล่าพร้อมพาเราเดินไปรอบ ๆ ชั้นสอง ซึ่งเราพบหลักฐานเป็นกองวัสดุรีไซเคิล อุปกรณ์การประดิษฐ์ โต๊ะตัวเล็กใหญ่ ผลงานฝีมือเด็กๆ มากมาย หนังสือวางเรียงรายบนชั้นและพื้นที่ระเบียงนอกบ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มองเห็นกันได้โดยไม่มีอะไรมากั้น

“เวลามีกิจกรรมเราก็จะจัดพื้นที่หลายรูปแบบ มีการขยับสลับเปลี่ยนตามที่เห็นว่าเหมาะกับกิจกรรมนั้น ๆ พยายามจัดให้เป็นที่ที่มองเห็นกันเพื่อการรับส่งพลังงาน บางทีเราได้รับแรงบันดาลใจจากคนที่กำลังตั้งใจทำอะไรอยู่ การได้ยินเสียงเพื่อนก็ทำให้เรามีไอเดียอยากจะทำบ้าง”

ก่อนเดินไปถึงชั้นสาม เราเริ่มได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วของเด็ก ๆ ดังลอดออกมาจากห้อง พร้อมกับเจอคำถามแปะอยู่บนกำแพงว่า “คิดว่าโรงแรมครีมมีกี่ชั้น” และมีคำตอบหลากหลายเขียนด้วยลายมือไม่ซ้ำกัน ตั้งแต่ 127 ชั้นบนฟ้า 65 ชั้นใต้ดิน 182 กับอีกครึ่งชั้น ไปจนถึง 1000 แสนล้านชั้น เราสนุกกับการคิดตามเด็กๆ ไปด้วย ตอนที่กำลังนึกอยู่ว่ามีกี่ชั้นกันนะ ก็ได้ยินเสียงครูใบปอเคาะห้องที่ชั้นสามเพื่อส่งสัญญาณให้เด็ก ๆ ว่ากำลังมีแขกมาเยี่ยม

ที่ชั้นสามเราเห็นช่วงเวลามหัศจรรย์ 

ที่ชั้นสาม เราเห็นเด็ก ๆ กำลังเล่าถึงผลงาน ‘Homemade Marble run’ และ ‘Buddy Project’ 

ของตัวเองด้วยสีหน้าภาคภูมิใจและแววตาเปล่งประกาย คลอไปกับน้ำเสียงจากความตื่นเต้นของเพื่อน ๆ 

‘Homemade Marble Run’ เป็นหนึ่งในเวิร์กชอปของโรงแรมครีมที่ชวนเด็ก ๆ สร้าง ’เส้นทาง’ การผจญภัยของเจ้าลูกกลิ้งกลม ๆ จากข้าวของใกล้ตัวอย่างกระดาษลัง ขวดน้ำหรือแม้กระทั่งหนังสือนิทาน เด็ก ๆ ได้ประดิษฐ์ ทดลองและแก้ไขปัญหาผ่านการเล่นสนุกและเฝ้ามองลูกกลม ๆ กลิ้งกลุก ๆ ไปตามทาง ซึ่งครูใบปอเล่าว่าเวิร์กชอปนี้มาจากการสังเกตช่วงเวลาอิสระ ของเด็ก ๆ ที่ชอบเล่นสนุกไปกับบางสิ่งแล้วค่อยนำมาออกแบบเป็นเวิร์กชอป

‘Buddy Project’ ก็เช่นกัน ครูใบปอเล่าว่าเด็ก ๆ มักจะพาตุ๊กตาตัวโปรดมาที่โรงแรมจึงใช้โอกาสนี้มาออกแบบแรงจูงใจที่ดึงเอาความรักในการขีดเขียนหรือการเล่าเรื่องของเด็กออกมา โดยมีเจ้า ‘Buddy’ เป็นสื่อกลาง ในเวิร์กชอปนี้เด็ก ๆ จะได้ออกแบบเพื่อนจากจินตนาการ ขีดเขียนเรื่องเล่าอย่างมีความหมายและลงมือตัดเย็บเจ้า  ‘Buddy’ ในแบบของตัวเอง

“เราใช้นิทานเพื่อเติมข้อมูลและให้ไอเดียกับเด็ก ๆ โดยมีตุ๊กตาเป็นตัวดำเนินเรื่อง นิทานเป็นตัวช่วยดึงความคิด ดึงไอเดีย เราดูว่าเด็ก ๆ มีความสนใจในเรื่องอะไร ควรจะเอานิทานแบบไหนเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยระหว่างทาง ถ้าเราทำให้เด็กเห็นว่านิทานสามารถทำเป็นเรื่องเล่ายังไงได้บ้าง เด็กก็จะอยากทำนิทานที่มีตัวละครเป็นของเขาเอง” ครูใบปอพูดเสริม

โรงแรม 3 ชั้นกับเป้าหมาย 3 ข้อ

ครูใบปอเล่าถึงที่มาของโรงแรมครีมว่ามีโมเดลมาจาก ‘Writing center’ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ อย่างร้านขายของสำหรับมอนสเตอร์แห่งหนึ่งในลอนดอน ที่นำความคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดไปบนฉลาก เช่น ลูกอมสำหรับมนุษย์หมาป่าเพื่อให้ชุ่มคอหลังหอนเสียงดังเมื่อเจอพระจันทร์เต็มดวง หรือไหมขัดเขี้ยวอันแหลมคมของแวมไพร์ เรื่องราวสนุกสนานเหล่านี้จะดึงดูดเด็กให้ไปที่ร้าน ซึ่งข้างในเป็นพื้นที่สำหรับขีดเขียนเรื่องราว ทำให้เด็ก ๆ ได้เจอกับอะไรที่น่าสนใจแล้วก็อยากมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง แค่ฟังดูก็น่าตื่นเต้นจนอยากลองไปสัมผัสหน้าร้านดูสักครั้ง 

ด้วยความรักในการขีดเขียนและเล่าเรื่องบวกกับชอบใช้เวลาไปกับเด็ก ๆ ทำให้ความอยากที่จะสร้างพื้นที่การเรียนรู้เป็นโจทย์ในใจของครูใบปอมาตลอดหลายปีที่เป็นครูอนุบาลและเมื่อถึงเวลาที่ไอเดียกลั่นตัวเต็มที่ครูใบปอก็ลงมือทำโรงแรมมหัศจรรย์แห่งนี้ทันที

“ครูใบปอมีไอเดียสนุก ๆ ที่อยากจะชวนเด็ก ๆ เล่นเยอะ คิดว่าถ้ามีพื้นที่ที่ไม่ต้องอยู่ในกรอบของอะไรเลยจะมหัศจรรย์ที่สุด ไม่ต้องมีกรอบของโรงเรียนด้วยนะ เป็นแบบที่เราออกแบบเองได้ เล่นสนุกแค่ไหนก็ได้ ขอแค่มีเวลาและมีเด็ก ๆ อยู่ในพื้นที่ก็จะดีมากๆเลย”

พื้นที่การเรียนรู้อย่างโรงแรมครีมไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็น ‘โรงเรียน’ แต่เป็น ‘โรงแรม’ ครูใบปออธิบายว่าในเรื่องเล่าที่อยู่ในโรงแรม มักจะมี ‘ตัวละคร’ ‘สถานที่’ และ ’แรงจูงใจ’ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้สามารถล้อไปกับรูปแบบของโรงแรมได้ ยิ่งเป็นโรงแรมมหัศจรรย์แล้วอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ครูใบปอยกตัวอย่างสนุก ๆ ให้พวกเราฟังว่าโรงแรมนี้อาจตั้งอยู่บนจุดตัดของเวลา ทำให้ประตูมิติเปิดแล้วมีแขกมหัศจรรย์มาโผล่ได้ ซึ่งเรื่องเล่าแบบนี้ครูใบปอบอกว่าทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้องค์ประกอบของเรื่องเล่าได้อย่างเป็นธรรมชาติ

“ในภาษาไทย คำว่า ‘โรงแรม’ กับ ‘โรงเรียน’ มันใกล้กัน เราอยากบอกทุกคนว่าการเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นในโรงเรียนเท่านั้น มันเกิดขึ้นที่โรงแรมได้ด้วยนะ” ครูใบปอยิ้ม

เมื่อการเรียนรู้เกิดในโรงแรม แม้เราอาจคุ้นเคยกับการเรียนในห้องเรียนแบบมีขั้นตอน มีตารางคอยบอกว่าถึงเวลาไหนเราควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร แต่สำหรับโรงแรมครีมแห่งนี้ ครูใบปอให้ความสำคัญกับ ‘ช่วงเวลาโล่ง ๆ และอิสระในการเล่น’ การออกแบบการเรียนรู้ของที่นี่จึงเป็นการออกแบบที่ให้เด็กได้เป็น ‘เจ้าของการเรียนรู้’ ตั้งแต่เริ่มเช็กอิน 

“ ‘ช่วงเวลาโล่งๆ’ เป็นสิ่งสำคัญ เราได้เห็นความเป็นไปได้ที่เยอะมาก ถ้าเรามีเวลาอิสระให้เด็กได้ทดลองมากพอ ก็ส่งผลดีกับเราด้วยเพราะเด็กจะรู้ว่าเขาจะทำอะไรต่อโดยที่เราไม่ต้องดุ ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ ทุกอย่างเป็นพลังขับเคลื่อนจากข้างในเขา”

ครูใบปอย้ำตลอดการพูดคุยว่าเด็กเป็นคนที่เห็นความเป็นไปได้หลากหลายหากได้รับอิสระที่มากพอและสิ่งนี้ก็เป็นพลังให้กับเด็ก ๆ ในการขีดเขียน คิดค้น ทดลอง และปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์

“สิ่งที่เป็นหัวใจเลยก็คือความคิดสร้างสรรค์” ครูใบปอเปรยขึ้นเมื่อเราเอ่ยถามถึง ‘เป้าหมาย’ ของโรงแรมครีม พร้อมบอกต่อว่าอยากเห็นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ ในเรื่องเล่าต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบหนังสือ ตุ๊กตา งานประดิษฐ์ สิ่งที่เด็กพูดและเล่ารวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหาของเด็ก ๆ 

ครูใบปอพูดถึงเป้าหมายข้อสองต่อ คือ ‘ความรักในการอ่าน เขียน เรียนรู้’ ซึ่งหมายถึงในหนทางของการสื่อสารมากกว่าการอ่านออกเขียนได้ 

“เพราะฉะนั้นครูใบปอจะไม่แตะงานเขียนของเด็ก ๆ เลย ให้เขารู้สึกสบายใจและอยากจะเล่าให้มากที่สุด ปล่อยให้เด็ก ๆ นั่งทำ แล้วเรานั่งอยู่ด้วย สิ่งที่อยากได้คือการทำให้เด็ก ๆ รู้สึกมี ownership ในงาน เวลาที่เด็กเล่าแล้วมีคนสนใจอยากเล่น มีเพื่อนมารุมล้อม มันดีกับตัวเด็กมาก ๆ สำหรับเราอันนี้เป็น outcome ของทุกอย่าง”

“เป้าหมายข้อสามคือ ‘ความภูมิใจในตัวเอง’ ความรู้สึกที่ว่าเราเป็นคนมหัศจรรย์นะ คิดอะไรเจ๋ง ๆ ได้เยอะเลยนะเนี่ย ครูใบปอให้น้ำหนักอยู่ที่เด็ก เราถามเด็ก ๆ ตั้งแต่เริ่มเช็กอินเลยว่า วันนี้เขาคิดยังไง อยากรู้อะไรบ้าง เด็กจะรู้สึกว่าเขามีความสำคัญกับพื้นที่นี้ ทุกความมหัศจรรย์ของโรงแรมมหัศจรรย์ มันประกอบสร้างมาจากเรื่องเล่าของเด็ก ๆ” 

“เราอยากให้เรื่องเล่านี้ กระจายไปโดนหลาย ๆ คน มันเป็นพลังมากเลยนะ หลายครั้งก็ได้ยินมาจากคนที่ไม่ได้มีลูกหรือไม่ได้อยู่ในวงการเด็ก เขาก็สนุกกับการได้ติดตามความมหัศจรรย์ของเด็ก ๆ เราอยากให้พลังงานและความมหัศจรรย์ของเรื่องเล่าเหล่านี้ยังคงอยู่กับที่นี่ให้มากที่สุด แล้วก็มีเรื่องเล่าเข้ามาให้ได้เยอะที่สุด ทำยังไงให้เรายังมีพลังที่จะรักษาความสนุก ความมหัศจรรย์ ความสดใหม่อยู่เรื่อย ๆ”

พลังงานที่ทำให้โรงแรมครีมเดินทางมา 4 ปีเต็ม 

วันเด็กในแต่ละปีจะเป็นวันครบรอบของโรงแรมมหัศจรรย์แห่งนี้ ครูใบปอบอกกับเราว่า

เด็กหลายคนโตมากับโรงแรมครีม และระยะเวลาสี่ปีก็เป็นช่วงเวลาที่มากพอที่จะได้เห็นเด็ก ๆ เติบโต 

“เด็ก ๆ รักที่นี่นะ เราขอบอกแบบขี้โม้นิดนึง (หัวเราะ) เด็ก ๆ ให้เราเป็นพื้นที่สำคัญในชีวิตของเขา นึกถึงเราอยู่เสมอ เด็ก ๆ รู้สึกมี ownershipในที่นี่ ครูใบปอก็ดีใจ เพราะมันก็เกินกว่าสิ่งที่เราจะนึกออกเหมือนกัน”

ครูใบปอพูดด้วยแววตาที่เปล่งประกาย จนอดไม่ได้ที่จะถามถึงสิ่งชุบชูใจหรือแหล่งพลังงานที่ทำให้เปิดโรงแรมครีมมาถึงสี่ปี

“พลังของที่นี่คือเรื่องเล่าของเด็ก ๆ มันเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง เป็นงานเดิม ๆ ที่เราอยากตื่นมาทำทุกวัน เราได้เจอเด็ก ๆ ที่แต่ละวันไม่เหมือนกันเลย เรารอคอยมากว่าความเพี้ยนในวันพรุ่งนี้ที่ครูใบปอจะได้เจอมันคืออะไร ทำให้เรามีพลังอยู่เสมอ อยากจะมาดวลไพ่ อยากจะมาทำอะไรสนุก ๆ แล้วเด็ก ๆ ก็ส่งพลังกลับมาในแบบที่เป็นพลังบวกมาก ๆ ด้วย”


Writer

Avatar photo

ปลื้มปีติ เหลืองสุวิมล

Learning designer ที่กำลังเรียนรู้เรื่องการเรียนรู้ ได้เรียนรู้ว่าการเรียนรู้ก็เรียนรู้ได้

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts