วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 งาน RELEARN FESTIVAL 2025 ซึ่งจัดต่อเนื่องกันมากว่า 4 สัปดาห์ได้เดินทางมาสู่โค้งสุดท้าย โดยยังคงจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ในฐานะส่วนหนึ่งของเทศกาล Bangkok Design Week ภายใต้ความร่วมมือของ Mappa สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ช่วงสำคัญของกิจกรรมประจำสัปดาห์ที่ 5 คือช่วงเสวนาบรรยากาศอบอุ่นในธีม “Daddy’s Talk: คุณพ่อขอคุย” ซึ่งประกอบด้วยสปีกเกอร์คุณพ่อรุ่นใหม่ ได้แก่
- พ่อทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล
- พ่อเคน นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร The Standard
- พ่อศา ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ Mappa ชวนพวกเขาทั้งสามคนมาเปิดหัวข้อสนทนาถึงบทบาทของตนทั้งในฐานะพ่อคน และในฐานะพลเมืองคนหนึ่งที่กำลังส่งต่อโลกให้กับคนรุ่นถัดไป
เริ่มจากคอนเซปต์พื้นฐานในการเลี้ยงลูกของแต่ละคน
พ่อทิม: “เริ่มจากการเป็นเพื่อนให้มากกว่าเป็นพ่อ คือต้องมีการกำหนดกรอบและขอบเขตบางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้ทั้งเราและลูกได้ฟีดแบ็กและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพราะผมเองก็เป็นพ่อคนครั้งแรก
“ในฐานะนักการเมือง เรายังสามารถไปเล่าไปเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องมาทำงาน แต่ในฐานะพ่อคนนี่มันไม่มีโรงเรียนสอน เราจึงต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ช่องทางสำคัญทางหนึ่งก็คือเรียนรู้จากลูก และในการที่จะสร้างโอกาส สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้แสดงออกอย่างเป็นตัวเอง ตลอดจนแลกเปลี่ยนกับเราได้อย่างเท่าเทียม เราก็ต้องเป็นพ่อที่เหมือนกับเพื่อนของเขา”
พ่อเคน: “ออกตัวก่อนว่าผมเพิ่งเป็นพ่อคนมา 8 เดือน ก็เลยยังมีความงงๆ อยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้พูดถึงความตั้งใจ ผมอยากเป็นให้ได้ทั้งพ่อและแม่ของเขา สมัยนี้เส้นแบ่งระหว่างบทบาทพ่อกับบทบาทแม่เริ่มพร่าเลือน พ่อแม่เริ่มมีหน้าที่เหลื่อมกันมากขึ้น ไม่ได้เหมือนกับสมัยก่อนที่พ่อจะต้องเป็นเสาหลักอันเข้มแข็ง ส่วนแม่เป็นผู้ตามที่มีความละเอียดอ่อนกว่า
“จริงอยู่ ปัจจุบันผมยังคงทำงานเป็นหลักในขณะที่ภรรยาลาออกมาดูแลลูก แต่เราทำงานเป็นทีมเวิร์คมากกว่าที่จะขีดเส้นบทบาทกันตายตัว ผมไม่อยากเป็นพ่อที่เอาแต่ทำงานอยู่นอกบ้านอย่างเดียว ผมอยากเปลี่ยนผ้าอ้อม อยากนอนข้างๆ อยากใช้เวลากับลูก อยากเป็นผู้นำทางอารมณ์ของเขา และอยากอยู่ใกล้ชิดในช่วงเวลาสำคัญๆ เหมือนกับแม่ของเขา
“และผมคิดว่าพ่อแม่สมัยใหม่จำนวนมากเองก็คิดทำนองเดียวกัน พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตกันไปตามครรลอง แต่เริ่มหันมาออกแบบครอบครัวในแบบของตัวเองและจัดสรรบทบาทหน้าที่ให้เหมาะกับบริบทของตนมากขึ้น”
พ่อศา: “เท้าความก่อนว่าในช่วงก่อนจะมีลูกเราออกแบบชีวิตในฐานะพ่อเอาไว้ต่างจากที่เป็นปัจจุบันนี้พอสมควร แล้วก็มีโอกาสได้ทำตามแผนนั้นในช่วง 6 เดือนแรกที่ลูกลืมตาดูโลก แต่ผมก็ต้องมาเจอจุดพลิกผันตอนที่ท่านผู้ว่า (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ขอแรงสนับสนุนจากผม ให้เข้ามาช่วยทำหน้าที่รองผู้ว่า
“แนวคิดหลักในการเลี้ยงลูกของผม ณ ตอนนี้จึงเป็นการสนับสนุนภรรยาในทุกๆ ด้านที่พอทำได้ ด้วยตำแหน่งหน้าที่ ตัวผมเองใช้เวลากับลูกได้น้อยลง ส่วนภรรยาผมต้องดูแลลูกแทบตลอด 24 ชั่วโมง ผมเลยอยากดูแลภรรยาซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเรื่องลูกให้ดีที่สุด
“แต่โชคดีอย่างหนึ่งที่แฝงอยู่ในโชคร้าย คือบางครั้งงานเมืองกับเรื่องลูกก็เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่แค่เพราะเราสามารถพาลูกออกไปเปิดหูเปิดตาเจอนั่นเจอนี่ในฐานะรองผู้ว่าเท่านั้น แต่รวมไปถึงงานนโยบายด้วย
“ลูกของผมเองก็เป็นลูกค้า เป็นประชากรของเมืองนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะความเปลี่ยนแปลงในด้านระบบการศึกษา ระบบคมนาคม หรือการกระจายตัวของสวนและพื้นที่สีเขียว ย่อมส่งผลต่อลูกทั้งสิ้น ยิ่งเราทำนโยบายให้ดีขึ้นเท่าไร ก็เหมือนเราได้มีส่วนในการออกแบบอนาคตของลูกมากขึ้นเท่านั้น”
จากแนวคิดสู่แนวทางที่นำไปปฏิบัติได้จริง
พ่อทิม: “สำหรับผม หลักๆ เลยคือการหันไปให้ความสัมพันธ์กับคุณภาพของเวลา แทนที่จะมัวไปโฟกัสกับปริมาณ แรกๆ ผมรู้สึกผิดที่ไม่มีเวลาให้ลูกในแง่ของปริมาณ แต่พอโตขึ้นในฐานะพ่อคน ผมก็เปลี่ยนความคิด แค่ได้ใช้เวลาดีๆ ด้วยกันวันละ 15 นาทียังดีกว่าอยู่ด้วยกัน 6 ชั่วโมงแล้วมัวแต่มองหน้าจอ ถ้าเรามีวิธีสื่อสารที่ดี เวลาน้อยนิดก็มีคุณภาพได้
“ดังนั้น ผมกับลูกจะใช้เวลาช่วงสั้นๆ ที่มีคุณภาพร่วมกันในลักษณะที่เป็นกิจวัตร ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเช้า ในระหว่างปั่นจักรยานไปส่งเขาที่โรงเรียน ผมมักจะมีโจทย์อะไรบางอย่างที่ทิ้งไว้ให้เขาได้คิดระหว่างวัน เป็นต้นว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดจากตลอดทั้งวันนี้คือช่วงไหน แล้วจากนั้นช่วงเย็นตอนที่ไปรับเขา หรือตกค่ำก่อนเข้านอน เราก็จะได้พูดคุยถามไถ่กันเรื่องต่างๆ
“นอกจากนี้ เรื่องวิธีที่เราใช้ในการสื่อสารกับลูกในช่วงนี้ก็สำคัญ ผมไม่อยากเป็นพ่อแบบที่คอยชี้นิ้วบงการหรือดุเขาทุกเรื่อง ฉะนั้น เวลามีเรื่องอะไรที่รู้สึกว่าอยากจะถ่ายทอดให้เขาได้ขบคิด ผมก็จะไปหาหนังสือภาพหรือนิทานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นมาอ่านไปด้วยกันกับเขา จะได้ใช้เวลาร่วมกับเขาอย่างมีคุณภาพไปด้วย
พ่อศา: คำพูดหนึ่งที่ผมชอบมากคือ “ลูกไม่ได้เป็นตามที่เราสอน แต่ไม่ได้เป็นตามที่เราเป็น” เรื่องการใช้หนังสือภาพหรือนิทานเข้ามาเป็นสื่อกลางนี่ผมเห็นด้วยกับพี่ทิมมากๆ เพราะได้เห็นว่าความชอบและตัวตนของลูกมันแปรผันไปตามที่สิ่งเราทำกับเขาจริงๆ ไม่ใช่ตามคำพูดของเรา
ผมกับลูกชายอ่านหนังสือภาพเกี่ยวกับไดโนเสาร์ด้วยกันเล่มหนึ่ง ปรากฏว่าเขากลายเป็นคนที่รักสัตว์และสนใจธรรมชาติมาก เวลาไปเที่ยวสวนสัตว์ ตัวเงินตัวทองนี่เป็นสัตว์ชนิดโปรดของเขาเลย เพราะเป็นสัตว์ที่คล้ายกับไดโนเสาร์ในหนังสือภาพ
พ่อเคน: ในฐานะพ่อมือใหม่ที่มีลูกวัยไม่ถึงขวบ อยากเน้นย้ำถึงความสำคัญของการตั้งใจและจดจ่ออยู่กับช่วงเวลานั้นให้ได้จริงๆ ทั้งผมและสปีกเกอร์อีกสองท่านต่างก็เป็นคนทำงาน เราเข้าใจกันดีว่าคนทำงานย่อมมีอะไรมากมายโลดแล่นอยู่ในหัวตลอดเวลา หรือกระทั่งว่ามีงานที่คิดว่าทำไปด้วยได้ในระหว่างเลี้ยงลูก
แต่การรับฟังอย่างเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับลูกในวัยที่ยังไม่สามารถสื่อสารกับเราด้วยคำพูดได้ เวลาที่เขาร้องไห้ ร้องหิว ร้องเจ็บ ร้องนอน ร้องเปลี่ยนผ้าอ้อม มันต่างกันนะครับ ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยคิดมาก่อนว่ามันจะต่าง แถมช่วงแรกๆ ผมก็ดันฟังไม่ออกเหมือนคุณแม่ของเขาจนเริ่มนึกโทษตัวเอง แต่พอเราเริ่มปล่อยวางตรงนั้นได้ แล้วพยายามอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุดเมื่อใช้เวลากับลูก มันก็ค่อยๆ ดีขึ้น

แบ่งเวลาจากการรับผิดชอบบทบาทผู้นำไปรับผิดชอบบทบาทพ่อได้อย่างไร
พ่อศา: เราใช้ชีวิตระยะไกลกันอยู่เป็นระยะสั้นๆ ก่อนที่เมื่อปลายปี 2567 ภรรยากับลูกผมจะย้ายถิ่นฐานเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อให้อยู่ใกล้กัน จากตอนนั้นเป็นต้นมา ผมก็จะพยายามแบ่งเวลาตอนเย็นกับเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ติดภารกิจมาใช้เวลากับครอบครัวให้ได้มากที่สุด แต่บางโอกาส ก็จะมีภารกิจที่ลูกสามารถติดตามไปด้วยได้ในเวลางานด้วย
พ่อทิม: เรื่องภารกิจก็คล้ายกันกับรองศา ตามชื่อหนังสือที่เคยเขียนไปเลยครับ ลูกสาวผู้แทน แต่เนื่องจากเขาอยู่ในวัยที่พอรู้เรื่องแล้ว เราก็จะเปิดโอกาสให้เขาได้ตัดสินใจเองด้วยว่าอยากหรือไม่อยากไป ถ้ามีโอกาสได้ไป เขาก็จะได้เรียนรู้ผู้คน ซึ่งต่างจากการเรียนรู้ในระบบการศึกษา
ข้อคิดสำคัญว่าด้วยการเลี้ยงลูกในยุคสมัยปัจจุบัน
พ่อเคน: พ่อแม่ไม่ใช่ช่างไม้ แต่เป็นชาวสวน และลูกก็ไม่ใช่หุ่นไม้ให้พ่อแม่ตัดแต่งตามความพอใจ แต่เขาคือเมล็ดพันธุ์ มีตัวตน มีอัตลักษณ์ที่รอวันเติบโต หน้าที่ของพ่อแม่คือสร้างสวนที่เหมาะกับกล้าต้นนี้ ให้เขาได้เติบโตและเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ เขาคือเมล็ดพันธุ์พืชชนิดใด เติบโตมาเป็นต้นอะไร เหมาะกับดินหรืออากาศแบบไหน จะพร้อมบานเมื่อไร เหล่านี้คือโจทย์ของพ่อแม่ทั้งสิ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราต้องระลึกเอาไว้เสมอว่า กล้าต้นนี้อาจจะไม่ได้โตมาออกดอกงามอย่างที่เราคาดหวัง สุดท้ายแล้วเขาอาจไม่ออกดอกผล หรือกระทั่งล้มลงไปเลยก็ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ชาวสวนที่ดีจะไม่โทษต้นกล้า แต่จะคิดหาสาเหตุและหนทางที่จะมอบโอกาสใหม่ให้เขาได้เติบโตต่างหาก
พ่อศา: ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ปลายทางการเลี้ยงลูกของคนแต่ละรุ่นมักฉีกจากกัน และคนรุ่นลูกก็คงจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างจากที่เราคาดหวังมาก แต่เป้าหมายหลักที่ผมและภรรยาตั้งเอาไว้ด้วยกันคือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อยากเลี้ยงเขาให้โตมาเป็นคนที่รักและภูมิใจในตนเอง ไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใครให้เจ็บปวด สอนให้เขารู้จัก “Joy of Missing Out” ซึ่งมันก็จะย้อนกลับมายังคำถามที่ว่า แล้วเราควรเลี้ยงลูกในแต่ละช่วงวัยอย่างไร
วัย 0-8 ขวบเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมากในการส่งเสริมพัฒนาการสมองของเด็ก แต่ปัจจุบัน เราไม่มีครู ไม่มีโรงเรียนที่จะมาเปิดสอนพ่อแม่ว่า ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้สมองเขามีพัฒนาการสมวัยที่สุด ผนวกกับการศึกษาปฐมวัยเองก็ไม่อยู่ในภาคบังคับ
พ่อทิม: เข้าใจตัวเองให้ได้ก่อนเข้าใจลูก บริหารจัดการตัวเองให้ได้ก่อนดูแลลูก คำสำคัญที่ควรคำนึงถึงอย่างมากคือ “predictablity” หรือการวางรากฐานชีวิตให้เขาสามารถที่จะคาดเดากิจวัตรของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องลุ้น กังวล หรือรู้สึกท่วมท้นเพราะความเครียด และรากฐานที่ว่านี้จะไม่มีทางก่อสำเร็จได้เลยหากเรายังดูแลตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำ
เมื่อลูกสามารถที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่ากิจวัตรจะเป็นอย่างไร การตกลงอะไรร่วมกันก็จะง่ายขึ้น ไม่ต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไช แล้วเราก็จะสามารถบ่มเพาะให้เขามีความรับผิดชอบได้ภายใต้เงื่อนไขยืดหยุ่นที่ปล่อยให้เขามีอิสระของตัวเองในระดับหนึ่ง

ฝากข้อความทิ้งท้ายถึงพ่อแม่รุ่นใหม่หัวอกเดียวกัน
พ่อศา: ผมเชื่อมั่นในตัวทุกคน เราอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่พ่อแม่ทุกคนย่อมมีสักสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำได้ดีเสมอเมื่อเป็นเรื่องของลูก ผมอยากเชิญชวนทุกคนให้มาแบ่งปันสิ่งดีๆ ที่คุณรู้และสิ่งดีๆ ที่คุณมี เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่เด็กๆ จะเติบโตขึ้นมาได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี
พ่อเคน: ในยุคที่โลกอยู่อยากขึ้นทุกที แถมยังไม่มีตำราเลี้ยงลูกสำเร็จรูปคอยชี้แนะ ตำราที่ดีที่สุดของแม่พ่ออาจเป็นตำราของเราเอง เพราะตัวเราก็ขวนขวายหาอ่านความรู้อะไรใหม่ๆ และฝึกทักษะใหม่ๆ ได้ตลอดอยู่แล้ว แถมคนที่ใช้เวลากับลูกมากที่สุด รู้จักลูกดีที่สุด รู้ว่าอะไรเหมาะกับลูกที่สุดก็คือตัวเราเอง
ฉะนั้น ก็ทดลองทำให้ดีที่สุด แต่หากผิดพลาดก็อย่าตีอกชกตัวเองไปเลย อย่าลืมว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่เองก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เราคงไม่สามารถสมบูรณ์แบบตามตำราได้ทุกอย่าง
พ่อทิม: เข้าใจมากๆ ว่าการเป็นพ่อแม่คนในสมัยนี้ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาระเราไม่ได้มีแค่ลูก แต่ยังมีพ่อแม่ต้องดูแลด้วย หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Sandwich Generation กันมาบ้างแล้ว พ่อแม่ยุคใหม่จำนวนมากเป็นคนรุ่นนี้ที่ต้องตอบสนองความต้องการของคนสองรุ่นที่ประกบบนประกบล่างเราอยู่เหมือนขนมปังแซนด์วิช
ฉะนั้น อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมนึกถึงอำนาจในมือเรา ทุกคนคือประชาชนผู้มีอำนาจในการกดดันรัฐบาลให้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนทุกรุ่นให้ดีขึ้น ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน