เสียงรองเท้าเต้นรำกระทบพื้นไม้ เส้นผมของฝ่ายหนึ่งสะบัดส่าย เนคไทของอีกฝ่ายกระเด้งกระดอนไม่แพ้กัน คู่เต้นตรงหน้าเราตอนนี้คือ พิมพ์นรี ปิยะบุญสิทธิ และ สุไลมาน สวาเลห์ ครูสอนเต้นสวิงประจำโรงเรียนสอนเต้นที่ซ่อนตัวเงียบเชียบในบ้านหลังเล็กซอยพหลโยธิน 5 ท่ามกลางเงาไม้สีเขียวร่มรื่น
ทุกสัปดาห์ ที่นี่จะมีนักเรียนเต้นสวิงแวะเวียนมาเรียนและเต้นเป็นประจำ วันดีคืนดี เหล่าคุณครูก็พานักเรียนออกไปจัดงานเต้นสวิงกันข้างนอก เยาวราชบ้าง สวนสาธารณะบ้าง จนประโยค Rock, Step, Step, Step ดังก้องไปทั้งเมือง เชื้อเชิญให้ผู้คนที่รักการเต้นสวิง ไปจนถึงคนที่ไม่เคยเต้นสวิงมาก่อนในชีวิต อยากลองมาเข้าคู่กับคนแปลกหน้า และแลกลวดลายกันอย่างสนุกสนาน
Jelly Roll Dance Club คือชื่อของโรงเรียนที่เราพูดถึง ซึ่งนอกจากพิมพ์นรีกับสุไลมาน ก็มีผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง สมภพ กุละปาลานนท์, ชิษณพงศ์ ธนาธีรสวัสดิ์ และ นิทัสน์ อุดมดีพลังชัย มาช่วยลงแรงกายและแรงใจ ด้วยเป้าหมายเดียวกันคืออยากให้การเต้นสวิงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในไทย และช่วยผลักดันการเต้นสวิงให้เป็นกระแสในวงกว้างมากที่สุด
หลังออกสเต็ปกันพอหอมปากหอมคอ เราจึงชวนพิมพ์นรีและสุไลมานมาเล่าเรื่องราวสนุกๆ เบื้องหลังการสอน ความตั้งใจในการทำโรงเรียน ไปจนถึงความสัมพันธ์พิเศษที่เกิดจากการเต้นสวิง
เต้นกับคนแปลกหน้าสนุกตรงไหน เตรียมรองเท้าเต้นของคุณให้พร้อมแล้วมาหาคำตอบจากบรรทัดถัดไปกัน
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น Jelly Roll Dance Club เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบไหน
สุไลมาน : ความตั้งใจมีหลายอย่างเพราะเรามีผู้ก่อตั้งหลายคน แต่สำหรับสุกับแพทเอง เราอยากทำให้คนที่มาเรียนรู้สึกว่าการเต้นสวิงนั้นเป็นเรื่องสนุก อยากสอนพื้นฐานการเต้นที่ดีให้พวกเขา และอยากออกแบบคลาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ ส่วนสมภพก็จะโฟกัสเรื่องดนตรี ทำยังไงให้ดนตรีมันสนุกและจริงแท้ (authentic) เหมือนในยุคสมัยก่อน เขาจะดูเรื่องการพัฒนาดีเจและครูสอน
เหนืออื่นใด เป้าหมายหลักของ Jelly Roll Dance Club คือการเผยแพร่วัฒนธรรมการเต้นสวิงต่อสาธารณชนให้กว้างที่สุด เพราะเรารู้สึกว่าเราสนุก อยากแชร์ความสนุกนี้ให้คนอื่น
พิมพ์นรี : ยิ่งมีคนเต้นสวิงเป็น เราก็ยิ่งได้เต้นกับคนที่หลากหลาย มากกว่านั้น พวกเราคิดว่า ณ ตอนนี้ในไทยยังไม่มีครูสอนเต้นสวิงและนักดนตรีที่เล่นดนตรีเพื่อเต้นสวิงเป็นอาชีพหลักได้ เขาอยากทำให้แวดวงนี้ใหญ่ขนาดที่ว่ามีคนทำอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพได้จริงๆ นั่นคืออีกเป้าหมายหนึ่ง
ก่อนที่จะก่อตั้งโรงเรียน สังคมของการเต้นสวิงในไทยเป็นอย่างไร
สุไลมาน : การเต้นสวิงเข้ามาในไทยราว 10 ปีก่อน และก่อนหน้านี้ก็มีโรงเรียนที่สอนเต้นสวิงอยู่แล้ว เราเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่อยากทำให้แวดวงนี้กว้างขึ้น
ผมคิดว่าโรงเรียนทุกแห่งมีจุดเด่นและคาแรกเตอร์ของตัวเอง สำหรับ Jelly Roll Dance Club เราไม่ได้โฟกัสกับเรื่องท่าทาง (Choreography) ขนาดนั้น แต่อยากทำให้นักเรียนของเราเข้าสังคมได้จริงๆ และทลายกำแพงความเขินอายกับคนแปลกหน้าได้ ตอนเรียนจบ เราจึงให้นักเรียนของเราเข้าห้อง Social เลยเพื่อรู้จักคู่เต้นใหม่ๆ และได้รับประสบการณ์การเต้นสวิงเลย
สำหรับผม การเต้นที่ดีคือการสวมบทบาทเป็นทั้งผู้นำ (Lead) และผู้ตาม (Follow) ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงสอนเรื่องนี้กับนักเรียนตั้งแต่ต้น นอกจากจะทำเพื่อให้เขารู้ว่าเขาชอบบทบาทไหนมากกว่า ในระยะยาวมันยังช่วยให้คนเต้นเข้าใจอีกฝ่ายมากยิ่งขึ้น
คลาสที่ Jelly Roll Dance Club มีอะไรบ้าง
สุไลมาน : จะมีคลาส Swing Dance หลากหลายสไตล์ เริ่มตั้งแต่คลาส Lindy Hop หรือคลาสพื้นฐานที่เรามักเห็นในหนังขาวดำ ที่นี่เรามีคลาส Lindy Hop 1-2 คลาส Solo Jazz คือการเต้นเดี่ยวที่นำมาผสมกับ Lindy Hop ได้ คลาส Charleston ซึ่งเป็นการเต้นแบบเพลงเร็วที่นำมาผสมกับ Lindy Hop ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นจะมีคลาสสอน Choreograph ดังๆ คนมาที่มาเรียนกับเรา เด็กสุดคือม.4 และนักเต้นที่อายุเยอะสุดคือ 80-90 ปีเลย
อะไรดึงดูดให้คุณสองคนเข้าสู่วงการเต้นสวิง
พิมพ์นรี : ตอนแรกยังไม่ได้ชอบเต้นสวิง เพราะไม่รู้จักมันมากเท่าไหร่ แต่แพทอยากหากิจกรรมที่ทำให้เราได้เจอเพื่อน พอมาเต้นจริงๆ ก็เริ่มชอบดนตรี
จริงๆ แพทเป็นคนที่จะไม่เริ่มต้นบทสนทนาก่อน การเต้นสวิงเป็นการเข้าสังคมโดยไม่ต้องคุยกันก็ได้ ไม่ต้องรู้จักใครก็ได้ เราแค่มาเต้นด้วยกัน จบหนึ่งเพลงก็แยกย้าย
สุไลมาน : ส่วนผมชอบฟังดนตรี พอได้มาลองเต้นก็รู้สึกว่าการเต้นสวิงเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย สนุก และทุกครั้งที่ได้เต้นก็ไม่เหมือนเดิม เราได้เรียนรู้ดนตรี วัฒนธรรม และสิ่งใหม่ๆ จากคู่เต้น ซึ่งพอเราอินและศึกษาไปเรื่อยๆ มันก็สนุก
ความสนุกของการเต้นสวิงอยู่ตรงไหน
พิมพ์นรี : หนึ่งคือดนตรีสวิง มันเป็นดนตรีที่สนุก ทำมาเพื่อการเต้นเลย นอกจากนั้น การเต้นแต่ละครั้งจะไม่มีทางเหมือนกัน แม้จะเต้นกับคู่เต้นคนเดียวกันในเพลงเดียวกันก็ตาม เพราะฉะนั้น ยิ่งเราเต้นกับคนหลากหลาย เราจะยิ่งเห็นคาแรกเตอร์และสไตล์ของแต่ละคน เราจึงได้พบความแปลกใหม่ตลอดเวลา
สุไลมาน : บางทีเราฟังเพลงเดิมเราก็ได้ยินสิ่งใหม่ๆ ในเพลงนั้น เราก็จะเล่นอะไรใหม่ๆ กับคู่เต้นได้ ซึ่งคู่เต้นก็จะรีแอคกับสิ่งที่เราส่งไปอีก การเต้นสวิงทำให้เราต้องจดจ่อกับมันตลอดเวลา นี่คือความสนุก
ถ้าเราเต้นกับคู่ที่เคยเต้นด้วยกัน เราอาจพอเดาได้ว่าเขาจะเต้นยังไง แต่การเต้นกับคนไม่รู้จักกันเลย นอกจากจะทำได้เราได้เจอความแปลกใหม่ เขายังทำให้เราเห็นว่า เฮ้ย เราทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ เราเต้นท่านี้ได้ด้วยเหรอ
ในทางหนึ่ง การเต้นสำหรับเรามันคือการสื่อสาร
แล้วจริงๆ จุดประสงค์ของการเต้นสวิงคืออะไร คือการได้พบปะกับคนแปลกหน้าหรือเปล่า
สุไลมาน : การเต้นสวิงมีวิวัฒนาการของมัน เป็นศาสตร์ที่ผสมผสานบอลรูม แท็ป และการเต้นแบบแอฟริกัน-อเมริกันเข้าด้วยกัน ในยุค 20s-30s ที่คนขาวและคนดำแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ หากอ้างอิงตามประวัติศาสตร์ก็นับว่าใช่ มันคือการเข้าหาคนแปลกหน้าผ่านการเต้น
คุณบอกว่าสิ่งที่สนุกของการเต้นสวิงคือการรีแอคกับคู่เต้น เพราะฉะนั้น การเต้นสวิงแต่ละครั้ง ผู้เต้นก็ไม่ต้องเน้นท่าเป๊ะใช่ไหม
สุไลมาน : การเต้นสวิงเหมือนดนตรีแจ๊สที่มีคอร์ดพื้นฐาน แต่ตอนเล่นจริง ผู้เล่นก็โซโล่และลองอะไรใหม่ๆ ได้เอง แน่นอนว่าการเต้นสวิงต้องมีพื้นฐาน จับมือยังไง ส่งสัญญาณยังไง ที่เหลือจะเข้าคู่กันยังไงก็แล้วแต่ผู้เต้นเลย
ตอนผมสอนนักเรียน ผมไม่ได้สอนว่าต้องเต้นเป๊ะเลย สอนแค่ว่าคุณและคู่ของคุณต้องสนุก เอาอันนี้ให้รอดดีกว่า
พิมพ์นรี : แต่ละคนใส่ความเป็นตัวเองได้ บางทีเต้นท่าเดียวกัน บางคนเต้นไม่เหมือนกันเลย
ในการเต้นสวิง มีคำว่า ‘เต้นดี’ กับ ‘เต้นไม่ดี’ ไหม
พิมพ์นรี : มี หลักการพื้นฐานคือหนึ่ง-ต้องฟังเพลง เข้าจังหวะได้ สอง-ต้องรับฟังคู่เต้นและดูแลความปลอดภัยให้เขา ไม่กระชากแรง หากมีคนเต้นในแดนซ์ฟลอร์เยอะ เราก็ต้องดูองศาการเหวี่ยงตัวเขาไม่ให้ชนกับคนอื่น
สุไลมาน : แดนซ์ฟลอร์คือพื้นที่ที่เราควรแชร์สเปซด้วยกัน ไม่ใช่ว่าคนคนหนึ่งจะตะโกนใส่อีกฝ่ายตลอดเวลา ต้องมีการพูดคุยผ่านการเต้น ไม่ว่าจะภาษากาย การส่งสัญญาณ ถ้าเราอยากให้คู่ของเราเต้นเร็วขึ้น หรืออยากจะหยุด ลีดเดอร์ในการเต้นจะส่งสัญญาณยังไงให้เขาเข้าใจ
ทักษะที่สำคัญคือสติ อย่างลีดเดอร์จะชินกับการส่งสัญญาณ แต่หากวันดีคืนดีคู่เต้นอยากส่งสัญญาณบ้าง เขาก็ต้องรีแอคต่อสัญญาณนั้นให้ทันเช่นกัน
พิมพ์นรี : หรือบางทีเราคือการสลับบทบาทระหว่างเพลงก็มีเช่นกัน
แล้วในการเต้นสวิง มี Introvert หรือ Extrovert ไหม
สุไลมาน : ผมคิดว่า 90% ของนักเรียนที่นี่เป็นอินโทรเวิร์ต ผู้ก่อตั้งนี่ก็คนหนึ่ง (หัวเราะ)
พิมพ์นรี : ตอนที่ไม่ได้เต้นเราอินโทรเวิร์ตมากนะ ไม่ชวนคุยก่อน ไม่เข้าหาใครก่อน แต่เวลาเต้นเรารู้สึกว่ามันเป็น Safe Space ที่เราปล่อยตัวเองได้เต็มที่ ถ้าเป็นช่วงที่เราสนุก เราอาจจะเต้นจนไม่รู้สึกว่าเป็นอินโทรเวิร์ตเลยก็มี (ยิ้ม)
สุไลมาน : บางคนตอนนั่งเรียนอยู่หน้านิ่งมาก เราก็กังวลว่าเขาจะสนุกไหม แต่พอมา Social Dance ตอนที่เขาเต้นอยู่ เราจะเห็นอีกบุคลิกหนึ่งไปเลย เหมือนการเต้นทำให้เราค้นพบอีกบุคลิกหนึ่งในตัวเหมือนกัน
เห็นมีหลายครั้งที่คุณพานักเรียนออกไปเต้นข้างนอกโรงเรียน ความรู้สึกตอนเต้น Indoor กับ Outdoor ต่างกันไหม
พิมพ์นรี : เราว่าต่างนะ ตอนอยู่ข้างนอกจะมีคนที่เขามาดู มาถ่ายวิดีโอ ซึ่งทำให้คนเต้นอาจจะเขินนิดหน่อย
สุไลมาน : ในทางกลับกัน ผมคิดว่าเต้นข้างนอกก็ดีตรงที่ได้เจอกับคนอื่นๆ เพราะสุดท้ายแล้วเป้าหมายของเราคืออยากทำให้ดูสนุก อยากให้คนมาเต้นกับเรา วิ่งไปหาเขาเพื่อชวนเขาเต้น ทุกครั้งจะเจอคนที่ไม่เคยเต้นสวิงมาก่อนมาร่วมด้วยเสมอ
ในการเต้นทุกครั้ง บรรยากาศแบบไหนที่คุณอยากให้เกิดขึ้นในการเต้น
สุไลมาน : ต้องสนุก ปลอดภัย และโอบรับความหลากหลาย (Inclusive) นอกจากนั้นนักเต้นควรมีพื้นฐานที่ดี และที่สำคัญดนตรีต้องดี บางครั้งเราเล่นดนตรีสดที่เราต้องเวิร์กกับวงด้วยว่า ต้องเป็นดนตรีที่ไม่ทำให้นักเต้นเหนื่อยเกินไป หรือเป็นดนตรีที่มีลูกเล่นบางอย่างที่นักเต้นจะชอบ
การเต้นกับคนแปลกหน้าแตกต่างจากการเต้นกับคนรู้จักยังไง
สุไลมาน : บางทีเราเต้นด้วยกันมานาน เราก็พอเดาได้ว่าเขาจะเต้นยังไง รีแอคยังไง แต่พอได้เต้นกับคนแปลกหน้า มันมีหลายอย่างที่เราคิดไม่ถึง มันสนุกและได้เรียนรู้เขาไปพร้อมกัน พอจบการเต้นรอบนั้น บางทีเราคุยกันแล้วได้รู้ว่าเขามีวัฒนธรรมการเต้นที่แตกต่างจากบ้านเรา
เช่น คนยุโรปที่อยู่ทางเหนือหน่อย วัฒนธรรมของเขาคือในการเต้น 1 ครั้ง คุณต้องเต้นอย่างน้อย 2 เพลงนะ ซึ่งที่อื่นบนโลกนี้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยก็ได้ เราถามเขาว่าทำไม เขาบอกว่าถ้าคุณเต้นแค่เพลงเดียว เดี๋ยวคนอื่นก็คิดว่าคุณไม่สนุกนะ เสียความรู้สึกนะ (หัวเราะ)
พิมพ์นรี : เวลาเราเดินทางไปเต้นที่ต่างประเทศ เราจะเห็นตลอดว่า วิธีการเต้นของคนแต่ละประเทศสามารถบอกคาแรกเตอร์ของคนประเทศนั้นได้เหมือนกัน อย่างคนไทยจะมีความขี้เล่นในตัว แต่ถ้าไปเกาหลีเขาจะมีความท่าเป๊ะมาก บางประเทศก็จะขี้อาย เต้นแบบเซฟๆ
เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่คาแรกเตอร์ของคนประเทศนั้นด้วย แต่การเต้นบอกคาแรกเตอร์ของคนคนนั้นได้ บางทีเรารู้จักเขาโดยที่เราไม่เคยคุยกันเลยก็ได้
นอกจากธรรมชาติของผู้คน การเต้นสวิงทำให้คุณค้นพบอะไรอีกบ้าง
สุไลมาน : นอกจากการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเองและผู้อื่น บางครั้งการเต้นทำให้เรากลายเป็นเพื่อนสนิทกัน ได้เรียนรู้วัฒนธรรม งานอดิเรก บางครั้งไลฟ์สไตล์บางอย่างของเขาก็กลายเป็นไลฟ์สไตล์ของเราได้เลย เช่นบางทีเขาอาจจจะชอบกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการเต้นด้วย เราก็ได้ไปจอยกิจกรรมของเขา ได้สังคมใหม่
ผมสังเกตว่าในคอมมูนิตี้เต้นสวิง หลายครั้งมีคอมมูนิตี้ย่อยอีกทีอยู่ข้างใน เช่น บางครั้งเจอนักเต้นที่ชอบถ่ายรูป พอไปออกงานอีเวนต์เต้นข้างนอก พวกเขาก็รวมกลุ่มไปเต้นด้วย ไปถ่ายรูปด้วยกันด้วย บางกลุ่มเป็นนักดนตรีที่ทำให้ศึกษาดนตรีเพิ่มขึ้น บางกลุ่มชอบแต่งตัว เสพแฟชั่น ก็ทำให้เราแต่งตัวสนุกขึ้น
สิ่งเหล่านี้มันเติมเต็มชีวิต และทำให้เราค้นพบสิ่งใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งเราไม่ได้สนใจมันเลยก่อนจะมาเต้น
พิมพ์นรี : ส่วนแพทเหมือนได้ค้นพบตัวเองในอีกแง่หนึ่ง ก่อนจะมาเต้นเราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แค่เราสนุกและได้เจอเพื่อนทุกอาทิตย์ แต่พอเริ่มมาเป็นครู เราค้นพบว่าเราชอบการสอนเหมือนกันนะ เวลาเห็นนักเรียนในคลาสทำได้ เอนจอย Social Dance เราจะดีใจมาก
การเต้นเปลี่ยนมุมมองเรื่องความสัมพันธ์ของคุณไปบ้างไหม
สุไลมาน : เปลี่ยน ก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยคุยกับใคร ไม่ค่อยเข้าหาใคร แต่พอมาเต้นแล้วมันก็ทำให้เราเรียนรู้ว่าการสร้างความสัมพันธ์มีผลประโยชน์ต่อชีวิตค่อนข้างเยอะเหมือนกัน อย่างที่บอกว่าบางครั้งเราเจอความสนใจและงานอดิเรกใหม่ และผมรู้สึกว่าเราจะไม่เจอที่ไหนถ้าไม่ได้มาเต้นด้วยกัน
พิมพ์นรี : นักเรียนของเรามีพื้นเพหลากหลายมาก มีทุกรูปแบบ ถ้าไม่ได้มาเต้นเราคงแฮงก์เอาท์กับเพื่อนกลุ่มเดิม ชีวิตก็จะไม่เจอความหลากหลายเท่านี้ มากกว่านั้น ในฐานะอินโทรเวิร์ตที่ไม่ค่อยคุยกับใครก่อน การเต้นเป็นการละลายพฤติกรรมขั้นแรกที่ดีมาก
ในมุมมองของคุณ การเต้นให้อะไรกับคนคนหนึ่งบ้าง
พิมพ์นรี : ให้หลายอย่างมากเลยนะ ความสนุก ความสัมพันธ์ สุขภาพ และโอกาสต่างๆ ในชีวิต อย่างแพทเอง พอเป็นครู ปีนี้เราเพิ่งเริ่มเดินทางไปสอนต่างประเทศด้วย มันก็เพิ่มโอกาสให้การเจอเพื่อนที่เป็นคนโลคอลมากขึ้น ซึ่งถ้าไปเที่ยวปกติจะไม่ได้เจอคนเหล่านี้เลย
สุไลมาน : สำหรับผม การรวบรวมความกล้าที่จะออกมาเต้นคือการเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน ผมคิดว่าทุกคนจะต้องมีจุดหนึ่งในชีวิตที่เดินออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง และการเต้นเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจะทำได้
การได้เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันการเต้นสวิงให้เป็นที่รู้จักในไทย มีความหมายกับคุณอย่างไร
พิมพ์นรี : มีความหมายในแง่ที่ว่า พอเราไปออกงานอีเวนต์แล้วมีคนเดินมาขอบคุณ บอกว่ามีความสุขจังเลย มันทำให้เรามีความสุขไปด้วย
สุไลมาน : ผมก็เช่นกัน เราเห็นนักเรียนบางคนที่เข้ามาแล้วเป็นคนขี้อายมาก พอเราสอนเขาก็เกร็งๆ แต่พอจบชั่วโมงแล้วทุกคนทำได้ ทุกคนหัวเราะ สนุกกับการเต้น เคยมีนักเรียนมาบอกว่าเราเปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย ผมรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ (ยิ้ม)