- มีการพูดถึงภาวะซึมเศร้ามาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เมื่อ 460-370 ปีก่อนคริสตกาล แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบัน โรคซึมเศร้า กำลังถูกพูดถึงมากขึ้น และมีคนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเรื่อยๆ
- ต้นเหตุของซึมเศร้านั้นอาจไม่ได้มาจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองอย่างเดียว แต่รวมถึงประสบการณ์เลวร้ายที่แต่ละคนเจอ ซึ่งรวมถึงความคาดหวังจากครอบครัว ระบบการศึกษา และสังคมที่มีการแข่งขันสูงขึ้น
- mappa ชวนเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า กับ ผศ.นพ. ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ เพื่อให้เราเข้าใจตัวเอง และเข้าใจกันและกันมากขึ้น
หากย้อนดูประวัติของโรคซึมเศร้าจะพบว่ามีการพูดถึงภาวะนี้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เมื่อ 460 – 370 ปีก่อนคริสตกาล ฮิปโปเครตีส แพทย์ชาวกรีกผู้แยกการแพทย์ออกจากความเชื่อเรื่องศาสนาจนได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งการแพทย์” เชื่อว่าสมดุลของ “ธาตุทั้งสี่” ในร่างกายส่งผลต่อสุขภาวะทางกายและใจของมนุษย์
แปลว่า ‘ซึมเศร้า’ นั้นอยู่กับมนุษย์เรามาอย่างยาวนาน ทว่าที่ผ่านมายังไม่เป็นโรคที่ถูกพูดถึงและให้ความสนใจมากเท่าในปัจจุบัน ยิ่งในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ‘ซึมเศร้า’ กลายเป็นคำที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และดูเหมือนว่าจะมีคนที่ป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้มุมมองของคนบางกลุ่มที่มีต่อโรคซึมเศร้าและผู้ป่วยโรคนี้เปลี่ยนไป
บ้างมองว่าเป็นเพราะคนยุคนี้อ่อนแอ ไม่เข้มแข็งเท่าคนยุคก่อน บ้างมองว่าสภาพสังคมที่กดดันและเร่งเร้าทำให้ต้องแข่งขันกันมากขึ้น บ้างมองว่าซึมเศร้าเป็นเพียงข้ออ้างที่บางคนใช้เมื่อทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม และยังมีการถกเถียงกันด้วยว่าโรคซึมเศร้านั้นเกิดจากสารเคมีในสมองหรือปัจจัยอื่นกันแน่
mappa ชวนสนทนากับ ผศ.นพ. ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเปิดมุมมองอื่นๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง แต่ยังสะท้อนช่องว่างระหว่างยุคสมัย การศึกษาในระบบทุนนิยม และสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ เพื่อให้เราเข้าใจตัวเอง และเข้าใจกันและกันมากขึ้น
01 เศร้าแท้ เศร้าที่อะไร
‘โรคซึมเศร้า’ ต่างจาก ‘ความเศร้า’ ทั่วไปอย่างไร
โรคซึมเศร้าหมายถึงภาวะที่คนมีอาการเหมือนกำลังเศร้า แต่ ‘เศร้าค้าง’ เหมือนสมองส่วนอารมณ์ผลิตอะไรมาเป็นลบแล้วค้างอยู่ ภายนอกก็เหมือนคนเศร้าทั่วไป แต่ถ้าคนไข้มีพฤติกรรมตอบสนองจากปัญหาชีวิตมากกว่าปกติ เช่น นานกว่าปกติ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือท่าทางดูหนักกว่าปกติ ก็เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า โจทย์ที่นามธรรมก้ำกึ่งคือ เราต้องคิดว่าอะไรอยู่ในเกณฑ์ปกติ อะไรจะถือว่าไม่ปกติแล้ว แต่ละคนก็มีโจทย์ชีวิตไม่เท่ากันและมีความสามารถในการจัดการความเศร้าไม่เท่ากัน เลยต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
ในทางการแพทย์ใช้เกณฑ์อะไรในการจำแนกความเศร้าทั่วไปกับโรคซึมเศร้า
มันไม่มีเกณฑ์อะไรชัดเจน อย่างถ้าเราสมัครงานที่เราอยากทำแล้วไม่ได้ ที่ที่สองก็ไม่ได้ ที่ที่สามก็ยังไม่ได้ กลับมาบ้านโดนแม่ด่าอีก มีใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตมาอีก โดนถล่มถ่มทับไปเรื่อย ๆ ไม่มีข่าวดีเลยในชีวิต โดยภาพรวมมันก็จะดูเหมือนไม่ปกติ แต่ถ้าเราเป็นคนที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนั้นซ้ำ ๆ เราก็จะเข้าใจได้ว่าชีวิตมันเศร้า บางคนใช้วิธีการแยกว่า โรคซึมเศร้ามาจากสารเคมีในสมองไม่ได้มาจากปัญหาชีวิตถ้าเป็นปัญหาชีวิตจะระลึกได้ว่าเกี่ยวกับเรื่องใดเหตุการณ์ใด แต่เราก็พบว่าบางคนเขาจำทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ได้เสมอไป กว่าจะรู้และเข้าใจได้เวลาก็ผ่านไปพอสมควรแล้ว จะให้บอกว่ากรณีนี้ถ้าไม่มีเหตุการณ์กระตุ้นถือเป็นโรคซึมเศร้า ก็ไม่ใช่
ถ้าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ผมคิดว่าน่าจะชัด นิสัยและพฤติกรรมโดยภาพรวมมันก็เปลี่ยนแปลงชัด บางคนผมพอสังเกตได้ว่าโรคซึมเศร้ามีผลต่อสมองเขาเยอะมาก ทั้งวิธีพูด วิธีการแสดงออก ลักษณะ ปฏิกิริยาท่าทาง แต่กับบางคนท่าทางเหมือนเดิม ถ้าไม่ถามก็แทบไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร
ดังนั้นถ้าจะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือในสังคม ไม่ใช่เรื่องของความถูกต้องเป๊ะๆ ทางการแพทย์ ผมว่า ไม่ต้องแยกหรอกว่าวินิจฉัยนี้จริงแค่ไหน คนที่เศร้าตามเหตุการณ์ที่เจอก็ต้องช่วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่า อ๋อ นี่ใช้ชื่อโรคอ้าง เลยไม่ต้องไปเห็นใจ ไม่ต้องไปช่วย
เพราะในความเป็นจริง เมื่อไหร่ที่มนุษย์คนนึงไม่มีความสุข มนุษย์คนอื่นก็ควรต้องเห็นใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป การที่บอกว่าคนนี้ซึมเศร้าไม่จริง เราอย่าไปเห็นใจดีกว่า มันก็คิดลบเกินไป ถ้าคิดว่าคนนี้ทำเป็นซึมเศร้าเพื่อเรียกร้องความสนใจใส่ใจ นั่นแปลว่าเขาขาดอยู่ไง ก็น่าช่วยเหลืออยู่ดี
การเป็นซึมเศร้ามันคล้ายๆ กับมีป้ายแขวนว่า FRAGILE ‘เปราะบาง แตกง่าย กรุณาระมัดระวัง’ แต่การระมัดระวังหรือการเห็นอกเห็นใจอารมณ์ความรู้สึกคนอื่น จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้วไหม แม้ว่าจะป่วยไม่ป่วยก็ตาม
02 ‘ซึมเศร้าเพื่อนรัก’ เรารักอาการซึมเศร้าของเราได้จริงใช่ไหม?
เมื่อก่อนยังไม่ค่อยมีการพูดถึงโรคซึมเศร้า?
20 ปีที่ผ่านมา รูปแบบและมุมมองต่อโรคทางจิตเปลี่ยนไปเยอะ เมื่อก่อนมันเป็นสิ่งที่คนไม่ยอมรับ เพราะการตีความคำว่า ‘จิต’ ในสมัยก่อนมันแฝงความหมายเชิงลบ ภาษาไทยก็ใช้คำว่า ‘โรคจิต’ ในแง่ลบ โรคจิต ไม่ใช่โรคของจิต การขโมยกางเกงในชาวบ้าน ก็เป็นโรคจิต ฆ่าคน ก็เป็นฆาตกรโรคจิต เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาความหมายมันเป็นลบพอสมควร ผมไม่เรียกมันว่าดีขึ้นแต่ถูกพูดถึงมากขึ้นละกัน ยุคนี้มันสามารถบอกคนอื่นได้ บางทีก็จะโผล่มาในโปรไฟล์อินสตาแกรมของบางคน หรือเวลาสมัครงานหรือสมัครเรียน บางคนก็กล้าบอก บอกคล้าย ๆ ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในตัวเขา มันเป็นเรื่องของการสื่อสารนะ ก็ถือว่าได้สื่อสาร
สื่อดูเหมือนจะพูดเรื่องซึมเศร้ากันมากขึ้น มองปรากฏการณ์นี้อย่างไรบ้าง
ผมเห็นด้วยว่ามีข้อดี ดีกว่าไม่พูด ดีกว่าตายไปเลย เพราะอย่างน้อยก็ได้ระบายออกมาว่าไม่ไหวแล้ว ระหว่างเรามีลูกที่ล้มเหลวแล้วฆ่าตัวตายไปเลย กับลูกที่บอกว่าเศร้าจัง ผมว่ามันก็ช่วยชีวิตได้นะ อีกแง่หนึ่งมันก็เป็นบทเรียนชีวิต มันเรียกร้องให้ใส่ใจ ไม่ใช่กลัวใหักังวลแบบลูกชั้นจะเป็นไหม หรือแปลว่าฉันเลี้ยงลูกได้ล้มเหลวอะไรขนาดนั้น
แต่ก็เริ่มมีคอนเทนท์มากมายมากขึ้นจนมีบางสำนักตั้งข้อสังเกตว่าเรากำลัง romanticize ความซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า
ในฝั่งของคนที่ผลิตสื่อแบบนั้นออกมา ผมว่า เทียบกันนะ ให้เขาเกลียดมันกับให้เขาโอเคกับมัน การโอเคกับมันก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า อย่างซึมเศร้าเพื่อนรัก เขาก็ถือว่ามันเป็นเพื่อนรักของเขา เขาอาจไม่มีเพื่อนคนอื่นเลยต้องเป็นเพื่อนกับความเศร้า มันก็เป็นกลไกที่ทำให้เขาอยู่กับมันได้ ก็จัดว่าดี แต่ก็ยึดๆ ติดๆ นะ ไปคบเพื่อนชื่อ ‘สุขสงบ’ ชื่อ ‘เบิกบาน’ บ้างก็ได้
จากที่ศิลปินหลาย คนมักมีอาการซึมเศร้า หลายคนเลยเชื่อว่าความเศร้าทำให้เกิดการสร้างสรรค์ ความเชื่อนี้จริงหรือเปล่า
ผมไม่เห็นด้วยว่า ต้องอาศัยความเศร้าเท่านั้นถึงจะทำงานสร้างสรรค์ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางทีมันก็เป็นวัตถุดิบของงานสร้างสรรค์ บางคนต้องมีความหวั่นไหวนิดนึงเพื่อเป็นวัตถุดิบ แต่ก็มีศิลปินที่สร้างงานจากความสุข คำชื่นชม ความเข้าใจในชีวิตและรสชาติชีวิตที่หลากหลาย คุณก็จะมีแม่สีที่เต็มกว่า แต่ถ้าคุณอยากสื่อออกมาผ่านโทนสีเทาๆ ดำๆ หรือฝรั่งเขาว่าซึมเศร้าเป็นสีน้ำเงิน (BLUE) ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ คนก็เข้าถึง ผมเองก็ว่าเพลงรักเพราะๆ ซึ้งๆ มักเป็นแนวอกหักเหมือนกัน
บางคนก็แสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ผ่านร่างกาย อย่างการสัก คนไข้ผมบางคนที่สักเยอะๆ เขาไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะสักเป็นรูปอะไร เขาแค่อยากรู้สึกอะไรบ้าง ค่อยไปเลือกรูปเอาที่ร้าน แต่ผมก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่สักทุกคนจะมีแรงจูงใจเดียวกัน ก็ต้องดูเป็นรายๆ ไป
เท่าที่คุณหมอพูดมา มันมีความเป็นปัจเจกระดับหนึ่งเรื่องการแสดงออกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า บางคนก็สามารถมองซึมเศร้าเป็นข้อดีและพูดออกมาได้อย่างเป็นปกติในขณะที่บางคนมองว่าควรจะเลือกเก็บความซึมเศร้าไว้เฉพาะกับตัวเอง คุณหมอมีความคิดเห็นเรื่องนี้ยังไง
คำว่า ‘ซึมเศร้าเป็นเรื่องดี’ กับ ‘ซึมเศร้ามีข้อดี’ไม่เหมือนกัน ถ้าใครคิดว่าคนที่เห็นข้อดีของซึมเศร้าสมควรโดนประณาม มันก็เป็นการตัดสินจากมุมมองของตัวเองนะ เพราะเขาก็ไม่ได้ชวนให้ทุกคนมาเศร้ากันเถอะ ต่อไปนี้จงเศร้าอะไรขนาดนั้น
ความเศร้ามันเป็นอารมณ์ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่แรก ถ้าเป็นไปได้คงไม่มีใครอยากเศร้า แต่ระหว่างการเศร้ากับชาด้านไม่รู้สึกอะไรเลย สำหรับบางคนการได้มีความหมายในทางลบก็ยังถือว่ามีความหมาย ดีกว่าไม่มีความหมาย ไม่มีอะไรเลย
แล้วเราควรปฏิบัติต่อคนเป็นโรคซึมเศร้ายังไง
เรื่องจิตใจมันไม่มีสูตรตายตัว คนไข้บางคนของผมเขาก็บอกว่าเขาไม่ชอบคอนเทนต์ในอินเทอร์เน็ตที่บอกให้ทำแบบนั้น แบบนี้กับคนเป็นโรคซึมเศร้ามันทำให้เขาดูเอาแต่ใจ ทำให้คนอื่นต้องคอยประดิษฐ์ประดอยคำพูดที่มาพูดกับเขา เขาอยากให้ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเพื่อนมนุษย์ปกติ ไม่ต้องกังวลมากเป็นพิเศษ เพราะมันทำให้เขาอึดอัด
แต่ถ้าจะระวังคำพูด มันไม่ได้ระวังเฉพาะกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า มันควรต้องระวังกับทุกคน เพราะบางคนเป็นซึมเศร้าแต่เขาก็ไม่ได้บอกใคร เพราะฉะนั้นก็พูดกับเพื่อนมนุษย์ดีๆ แต่พูดอะไรผิดไปก็ขอโทษกันนะ มันก็อยู่ในวิสัยที่ปรับกันได้
03 โรคซึมเศร้า โลกซึมเศร้า
เหมือนว่าในยุคนี้ เด็กๆ จะเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะขึ้น
ผมไม่ได้มีสถิติว่ามันมากขึ้นจากจำนวนที่มากขึ้น หรือมากขึ้นเพราะถูกพูดถึงมากขึ้นกันแน่ แต่เท่าที่ผมรับรู้ผ่านการทำงานก็มีการมาพบจิตแพทย์เยอะขึ้น จริงๆ ก็อาจหมายถึงพ่อแม่พามามากขึ้น ก่อนซึมเศร้าก็มีสมาธิสั้น ในยุคผมเด็กๆ สักสามสิบปีก่อน ก็ไม่มีใครรู้จักโรคแบบนี้เป็นที่แพร่หลายนัก แต่ถ้าเป็นตอนนี้ มันก็จะมีเคสที่เข้าถึงการรักษามากขึ้น หรือเราจะบอกว่าเคสเยอะเพราะคนเรายุคนี้มีความสุขน้อยลง ก็ไม่มีการวัดประเมินที่ชัดเจน ผมว่าก็อาจเป็นไปได้ทั้งสองแบบ
ถ้าเยาวชนยุคนี้มีความสุขน้อยลงจริงๆ คุณหมอคิดว่าเป็นเพราะอะไร
ถ้าหันไปดูวิธีใช้ชีวิตของเยาวชนยุคนี้กับพวกคุณตอนเด็กๆ ก็อาจจะต่างกันมากมายละครับ ในบางมุมเราจะรู้สึกว่าเด็กยุคนี้น่าจะสบาย น่าจะมีความสุข มีไอแพดที่ดูหนังดูการ์ตูนได้ตลอดเวลา ได้กินอะไรดี ๆ ที่สมัยก่อนเรารู้สึกว่ามันแพงมาก แต่เราใช้มุมมองเรามามองเด็กยุคนี้ไม่ได้ เราต้องไปดูที่ความรู้สึกเขาว่า เขารู้สึกโล่งไหม อิสระไหม ถ้าเขานั่งว่าง ๆ เขาวาดรูปเล่นได้ไหม หรือมันมีความคาดหวังจากครอบครัวใส่เข้ามา
อะไรคือสาเหตุหลักๆ ที่เยาวชนเป็นซึมเศร้า
จริงๆ การที่เด็กคนหนึ่งเป็นซึมเศร้ามันไม่ได้เป็นเรื่องของการแพทย์อย่างเดียว ในแง่หนึ่งมันเป็นเรื่องของสังคม โดยเฉพาะสังคมที่มีโครงสร้างเชิงอำนาจแบบนี้ เพราะพอเด็กๆ รู้สึกว่าเปลี่ยนอะไรไม่ได้ รู้สึกว่าตั้งหลักไม่ได้ เด็กไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของชีวิตที่จัดการทางเลือกในชีวิตได้เอง เขาก็เศร้า ส่วนเด็กอีกกลุ่มอาจจะไม่ยอมแค่เศร้า อยากแย้งอยากต้านผู้ใหญ่หรือสังคม ก็ดูไปทางก้าวร้าว
ถ้าเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าทำไมเด็กยุคนี้ซึมเศร้ากันเยอะ ก็ต้องมองกว้างๆ ว่าไม่ใช่แค่สารเคมีในสมองของเขาไม่ดี แต่มันมีปัจจัยและพฤติกรรมที่ร่วมกันมา เช่น ช่วงที่เรียนออนไลน์ เพื่อนโทรมาเล่าว่า ลูกบอกว่าอยากตาย ไม่มีความสุข เรียนไม่รู้เรื่องเลย สอบก็ทำไม่ได้ ส่งกระดาษเปล่า มันก็เข้าใจได้นะ ว่าไม่มีความสุขกับการศึกษาแบบนี้
ทำไมระบบการศึกษาไทยทำให้เด็กไม่มีความสุข
ผมว่า พอเรามุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ในอนาคต ออกแบบชีวิตกันล่วงหน้า เด็กเลยไม่มีโอกาสจะพลาดหรือห้ามลังเลสงสัย ไม่มีโอกาสหยุดสำรวจค้นหา เหมือนชีวิตถอยหลังไม่ได้ ต้องไปข้างหน้าเท่านั้น มันเป็นสายพานของการศึกษาในระบบทุนนิยม เด็กเข้ามาแล้วสะดุดไม่ได้ ต้องรู้ว่าจะเรียนอะไร เลือกคณะที่ใช่ สมัครงานทันทีที่จบ ต้องได้อยู่ในบริษัทดี ๆ แล้วใครจะไปรู้ว่าทางเลือกไหนมันจะดีจะใช่
สังคมรีบเร่งมีส่วนผลักให้คนเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น
ผมว่าการใจร้ายอย่างหนึ่งที่คนไม่ได้เห็นว่าเป็นความใจร้ายเลยคือการเร่ง มันควรต้องเท่านั้นเท่านี้ ยังไม่รู้อีกเหรอ ยังไม่หายอีกเหรอ ระบบในสังคมมันเดินไปตามกำหนดกรอบเวลา พอมันมีเวลา ว่ามันควรต้องเท่าไหร่ มันเลยเกิดการตัดสิน
เราอาจจะไม่ได้ใจร้ายแบบเอามีดไปแทงเขา แต่มันไม่ได้เร็วเท่าที่เราคาดหวัง ความคาดหวังมันตัดสินแล้วว่าได้เรื่อง หรือไม่ได้เรื่อง ยิ่งในโลกทุกวันนี้ที่ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายไปหมด มันก็ต้องยอมรับว่าเราก็อยู่ฟรี ๆ ไม่ได้ พ่อแม่จะรอลูกพร้อมเมื่อไหร่ก็ลุกมาเรียนนะลูก มันก็ไม่ได้
แต่ผมก็ไม่ได้มองว่าเด็กเข้มแข็งหรืออ่อนแอเกินไป ผมมองว่ามันเป็นความเร่งรีบในสังคมยุคนี้ และเป็นความพร้อมทางเศรษฐกิจของทางครอบครัวด้วย บางบ้านรวยก็ไม่กดดันเพราะเรื่องเงิน
ความคาดหวังจากครอบครัวก็มีส่วนด้วย
ลูกเรียนคณะที่ไม่ชอบ พ่อแม่น้อยรายจะเชียร์ให้เปลี่ยน พ่อแม่ก็ไม่รู้หรอกว่าลูกพังหรือยัง เพราะที่เข็นๆ ฝืนๆ จนเรียนจบไปได้ก็มี ปัญหาต่อมาคือ พวกจบมาสาขาหนึ่งแต่ไม่ได้อยากทำงานในด้านนั้น เพราะไม่ได้ชอบ กลายเป็นเศร้าๆ ตอนใกล้จะจบเพราะกลัวอนาคต เป็น post-graduation depression ซึ่งช่วงนี้ก็เจอบ่อยขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่จะเรียนจบแล้วน่าจะดีใจ กลายเป็นเดี๋ยวนี้เรียนจบมาเครียดมาเศร้าซะงั้น ผมเข้าใจผู้ปกครองนะว่าเราไม่อยากให้ลูกเราออกมาเคว้ง แต่พอเราไม่ปล่อยเขาเคว้ง เราไม่ปล่อยเขาค้นหา แล้วที่เขาเป็นอยู่มันไม่มีความสุข เขาก็รู้สึกไม่มีตัวเลือก
ถ้าในบ้านที่ยืดหยุ่น พอมันสะดุด มันติด มันขัด ในช่วงเวลาที่เด็กไม่มีความสุข งงๆ กับชีวิต แต่เขาจะค่อยๆ คลำไป โอเคว่าอาจจะมีการเปราะบางและแตก แต่แตกไม่ใช่ว่าแตกแล้วพัง แตกแล้วยังช่วยกันกอบกู้ เรียนรู้การแตก เรียนรู้การพัง เรียนรู้ความผิดหวัง แต่บางคนพอผิดหวังแล้วมันคือผิด คือเรื่องไม่ควรไปเลย คือความล้มเหลว แล้วคำว่าโรคซึมเศร้ามันเลยมา
การที่ใครสักคนเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่ยังเด็กจะส่งผลกับเขายังไงบ้าง
ถ้าพูดในเชิงชีววิทยา มันส่งผลกับพัฒนาของสมองและการเชื่อมโยงในวงจรต่างๆ ที่ส่งผลในการคิด เพราะสมองมันไม่ใช่อวัยวะที่ลบอะไรทิ้งแล้วมาเริ่มกันใหม่ได้ ถ้าสิ่งที่เซฟไว้ตอนแรกเป็นประสบการณ์ที่เป็นลบมากๆ มันก็ส่งผลไปถึงอนาคต เช่น ถ้าโตมากับบ้านที่ใช้ความรุนแรง ตอนเด็กๆ เคยถูกทารุณกรรม เคยถูกล่อลวง มันไม่แปลกที่เขาจะไม่ศรัทธาในมนุษย์ ไม่แปลกที่เขาจะไม่ไว้ใจใครแม้กระทั่งคนที่จะไปช่วยเขา เพราะเขากลัวทำเขาผิดหวังอีก และมันก็ไม่แปลกที่เขาจะเกลียดตัวเอง เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมามันไม่มีความสุข แต่ก็ไม่ใช่เมื่อใดมีเรื่องแย่ในอดีตแล้วอนาคตต้องเจอความสิ้นหวังร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนคนคนนึงที่เคยพังไปแล้ว ให้กลับมาเชื่อใจมันยากกว่า ไม่เกิดเหตุการณ์แย่ๆ เลยแต่แรกคงดี แต่ก็นะ ชีวิตมันเลือกไม่ได้
แล้วเราจะช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่กำลังประสบกับภาวะซึมเศร้าได้อย่างไร
มันก็ต้องทำหลายอย่างเลยครับ ต้องช่วยทุกด้าน อย่างเด็กถูกบุลลี่ มันไม่ใช่ว่าเขาจะกลับมาเข้มแข็งได้ด้วยการมาพบจิตแพทย์ มันต้องแก้ไขกันที่โรงเรียน หรือที่บ้านจะช่วยเขาในระดับที่ไม่มากไปไม่น้อยไปยังไงบ้าง หรือถ้าเด็กคนนึง มีผลการเรียนออกมาไม่ดี ที่บ้านบ่นยืดยาว โทษเขาเปรียบเทียบเขากับคนอื่น เด็กก็รู้สึกเบื่อๆ เซ็งๆ ไม่อยากอยู่ ต้องมาพบจิตแพทย์ แต่พอพบจิตแพทย์แล้ว มันก็ไม่ได้แก้เหตุอะไรที่เจอ
บางทีสังคมก็ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาไม่ได้ทำให้เด็กมีความสุข บ้านไม่ได้เอื้อกับสุขภาพจิตที่ดี การมาหาจิตแพทย์เป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้ปัญหา พอกินยาหมอเสร็จ เขารู้สึกจัดการได้ ตั้งหลักได้ แต่โรงเรียนและบ้านไม่ได้ปรับอะไรเลย เจอสภาพแวดล้อมแบบเดิม เขาก็กลับมาเป็นใหม่
ถ้าการไม่มีความสุขยังกลายเป็นเรื่องผิดอีก ‘ทำไมซึมเศร้าล่ะ’ ‘ทำไมไม่มีความสุขล่ะ’ ‘นี่พวกเธอดีกว่าสมัยฉันเป็นเด็กตั้งเยอะ’ ‘คนยุคนี้เป็นอะไรกัน’ มันยิ่งไม่ได้เปิดโอกาสที่จะปรับจะเปลี่ยนอะไร มีแต่จะตัดสินเพิ่ม
สุดท้ายคุณหมออยากจะฝากอะไรในประเด็นเรื่องโรคซึมเศร้า
ผมเห็นใจเยาวชน ผมเองก็มีลูก ความรู้สึกที่มีจากลูกคนหนึ่งผมก็เป็นห่วงเด็กทั้งเจนที่ร่วมยุคสมัย ว่าโลกข้างหน้าที่รอพวกเขาอยู่มันจะเป็นไง มันอาจไม่เหมือนที่เราคิดไว้ว่าอยากให้เจอสิ่งดีๆ แต่ในนามของความห่วงใย เราเลยไปควบคุมว่า เขาต้องเป็นอย่างนี้ ต้องทำอย่างนี้ ต้องเรียนอันนี้ ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ให้ได้ ก็เครียดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พอ failed ซึมเศร้าก็มา
ผมเจอคนที่ทุกข์และมีบาดแผลทางจิตใจจากระบบการศึกษาที่มาพบจิตแพทย์มาไม่น้อยจริงๆ แหละ คนไข้บางรายเล่ามาด้วยความคับแค้นเลยว่า ครูคนไหนทำอะไรเขาบ้าง ผมไม่คิดว่า คนยุคหลังจำเป็นต้องเจอแบบเดียวกันหรือต้องใช้ระบบห้าสิบปีก่อนนี่เสมอไป เราปรับให้มันดีกว่าเดิมได้ ไม่ต้องมาไล่จดชื่อตัดคะแนนความประพฤติหรือทำโทษหรือต้องควบคุมกดดันกันถึงจะได้ดี ระดับความยอมทนในคนเจนก่อนกับเจนนี้ไม่เท่ากัน ผมไม่ได้หมายถึงเด็กรุ่นใหม่ควรต้องทนนะ สมัยก่อนเราก็ไม่ได้อยากทนหรอกจริงไหม แต่เราไม่มีทางเลือกต่างหาก