ในปี 1968 NASA มองหาเครื่องมือคัดเลือกบุคลากรที่ไม่ได้แค่เก่ง แต่ต้อง กล้าคิดต่าง เพราะในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ยังไม่ถูกสำรวจ ความรู้เดิมไม่มีทางพาเราไปถึงได้

เพื่อให้ได้คนเช่นนั้น NASA จึงหันไปหานักวิจัยสองคน Dr. George Land และ Dr. Beth Jarman ผู้พัฒนาแบบทดสอบที่สามารถวัดได้ว่าใครมีความสามารถใน “การคิดแบบแตกแขนง” หรือ “divergent thinking” ความสามารถในการสร้างทางเลือกหลายทางจากคำถามเดียว ซึ่งถือเป็น “หัวใจ” ของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ไม่ใช่การคิดผ่านการใช้เพียงความจำ และไม่ใช่การคิดเพียงเพื่อตอบคำถามให้ถูก
แบบทดสอบนี้ใช้คัดเลือกวิศวกรของ NASA ได้ผลดีจนทั้งสองเริ่มสงสัยว่า…
แล้วมนุษย์คนอื่น ๆ ล่ะ? โดยเฉพาะเด็ก ๆ เราเกิดมาพร้อมความสามารถนี้หรือไม่ และหากใช่ เราสูญเสียมันไปตั้งแต่เมื่อไร?
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ หนึ่งในการทดลองที่เขย่าโครงสร้างความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์มากที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์
คำตอบที่ทำให้พวกเขาตกใจ
คำถามนี้นำไปสู่การทดลองครั้งสำคัญที่ไม่ได้ตั้งใจจะสะเทือนวงการศึกษา แต่ก็ทำให้คนทั่วโลกต่างสนอสนใจ และตั้งคำถามว่า “ระบบการศึกษา” กำลังทำอะไรกับเรากันแน่
Land และ Jarman นำแบบทดสอบเดียวกันนี้ไปใช้กับเด็ก 1,600 คน ที่มีอายุระหว่าง 3 ถึง 5 ปี ซึ่งเข้าร่วมในโครงการ Head Start ซึ่งเป็นโปรแกรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในครอบครัวรายได้น้อย พวกเขาติดตามเด็กกลุ่มเดิมเป็นระยะเวลาหนึ่ง และทำการทดสอบซ้ำในช่วงอายุที่ต่างกัน
และนี่คือผลจากการทดสอบ

อายุ | ผลการทดสอบ (คิดแบบอัจฉริยะด้านความคิดสร้างสรรค์) |
5 ปี | 98% |
10 ปี | 30% |
15 ปี | 12% |
ผู้ใหญ่ (280,000 คน) | 2% |
เมื่อเด็กอายุ 5 ขวบ 98% ของพวกเขาได้คะแนนในระดับ “อัจฉริยะ” ด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ภายใน 5 ปี เมื่อพวกเขาอายุ 10 ปี ตัวเลขนั้นลดลงเหลือเพียง 30% และที่อายุ 15 เหลือเพียง 12% และเมื่อกลุ่มตัวอย่างขยายเป็นผู้ใหญ่จำนวน 280,000 คนทั่วประเทศ สัดส่วนของ “อัจฉริยะด้านความคิดสร้างสรรค์” ลดลงเหลือเพียง 2% เท่านั้น
นั่นคือการลดลงจาก จาก 98% เหลือ 2% ในเวลาไม่ถึง 20 ปี และไม่ได้เกิดจากสมองเสื่อม แต่เกิดจาก “ระบบ” ที่เราถูกสอนให้เชื่อตาม คิดไม่ออกนอกเส้น ให้รางวัลและแรงจูงใจเมื่อคิดตามได้ถูกต้อง และได้รับการเพิกเฉยเมื่อสงสัยบางสิ่งที่ไม่มีคำตอบจากตำรา
และนั่นคือระบบการศึกษา
Dr. Land สรุปว่า “เราไม่ได้เกิดมาอย่างไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เราถูกสอนให้เลิกใช้มัน”
ทำไมเด็กถึงคิดได้หลากหลาย และคิดได้แบบ divergent thinking?
เขาย้ำว่าพฤติกรรมที่ริดรอนความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่มันคือสิ่งที่เราเรียนรู้มาหรือพูดให้ตรงกว่านั้น มันคือสิ่งที่ระบบการศึกษาและกระบวนการเติบโตในสังคมปัจจุบันปลูกฝังให้เรา “เลิกใช้” นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของแบบทดสอบ หรือคะแนนเฉลี่ย แต่คือคำถามใหญ่ว่า เราสร้างระบบแบบไหนที่ทำให้เด็ก 5 ขวบแทบทุกคนที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ในแบบอัจฉริยะ มีกระบวนการคิดที่สามารถแตกแขนง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อยู่ตลอดเวลา แล้วเวลาผ่านไป 20 ปี เราทำให้ผู้ใหญ่ในสังคมเหลือกระบวนการคิดแบบนั้นเพียง 2%

คำตอบที่อาจเจ็บปวดก็คือ ระบบของเรานั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อถนอมความคิดสร้างสรรค์ แต่มักออกแบบมาเพื่อควบคุมมันให้อยู่ในกรอบ เพื่อให้จัดการง่าย วัดผลได้ และเดินตามเส้นตรงที่วางไว้
เด็กไม่ได้ “ไร้เดียงสา” แต่พวกเขาเพียงยังไม่ได้ถูกหล่อหลอมให้กลัวความผิดพลาด ยังไม่เคยถูกบอกว่าคำถามของพวกเขา “ไร้ประโยชน์” ยังไม่เคยถูกให้คะแนนลบเพียงเพราะ “คิดไม่เหมือนคนอื่น” พวกเขายังสามารถถามว่า “ทำไม?” ได้โดยไม่กลัวว่าจะไม่มีใครตอบ หรือไม่มีใครฟัง
และเมื่อเราเติบโตมาในระบบที่ต้องการคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียวสำหรับข้อสอบวัดผล และลงโทษความคิดที่ “ไม่เข้าเรื่อง” ก็ไม่น่าแปลกใจที่เราเลิกตั้งคำถาม และเลิกเชื่อในจินตนาการของตัวเอง

หลายสิบปีต่อมา Sir Ken Robinson นำงานวิจัยของ Dr. Land มาสะท้อนใน TED Talk ที่ทำให้โลกทั้งใบต้องฟัง เขาพูดในสิ่งที่คนในวงการการศึกษาอาจไม่อยากได้ยิน แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า โรงเรียนในรูปแบบปัจจุบัน ไม่เพียงไม่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ แต่ทำลายมันโดยไม่ตั้งใจ
เขาเปรียบโรงเรียนกับโรงงานอุตสาหกรรม ที่ผลิต “มาตรฐาน” เด็กในแบบเดียวกัน และประเมินคุณค่าด้วยตัวชี้วัดเดียวกัน ทั้งที่มนุษย์ไม่เคยถูกออกแบบให้เหมือนกัน
ในคำพูดของเขา “ถ้าคุณไม่เคยเตรียมตัวที่จะผิดพลาด คุณก็จะไม่มีวันริเริ่มอะไรที่เป็นจุดเริ่มต้นของบางสิ่ง”

สิ่งที่สำคัญในโลกปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ความรู้ที่มีอยู่แล้ว แต่คือความสามารถในการจินตนาการสิ่งที่ยังไม่มีอยู่และความสามารถแบบนั้นเริ่มจากการมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับความผิดพลาด
ดังนั้น คำถามจึงไม่ใช่ว่าเด็กคิดสร้างสรรค์ได้ไหม แต่คำถามคือเราสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเพียงพอให้เขายังรักษาความสามารถนั้นไว้ได้ไหม
ทุกวันนี้ในฐานะพ่อแม่ หรือบุคลากรทางการศึกษา
เราให้รางวัลเฉพาะคำตอบที่ถูก หรือให้พื้นที่สำหรับคำถามที่ไม่มีใครกล้าถาม?
เราให้เด็กนั่งเงียบในห้องเรียน หรือให้เขาลุกขึ้นแสดงความคิดของตัวเอง?
เราเรียกความคิดที่ไม่เหมือนกันว่า “นอกกรอบ” หรือ “ไม่มีเหตุผล”?
และที่สำคัญที่สุด เราในฐานะผู้ใหญ่ ยังจำได้ไหมว่า เราเคยเป็นเด็ก 5 ขวบที่กล้าคิด กล้าฝัน และไม่กลัวคำว่า “ผิด”
บางที ความเปลี่ยนแปลงอาจเริ่มจากคำถามที่เรียบง่ายที่สุด
คำถามที่เด็กคนหนึ่งถามขึ้นมาอย่างไร้เดียงสา แต่เปี่ยมพลัง
“ทำไมต้องทำแบบนี้?”
และหากเราฟังอย่างตั้งใจ คำถามนั้นอาจเปลี่ยนอนาคตทั้งใบ
ขอบคุณภาพประกอบจาก JR KORPA จาก Unsplash.com
อ้างอิง:
- George Land and Beth Jarman. Breaking Point and Beyond. 1992.
- Dr. George Land, TEDxTucson Talk, The Failure of Success, 2011.
- Sir Ken Robinson, TED Talk, Do Schools Kill Creativity?, 2006.
- CreatePotential & Suitable-Education Blog Series.