หมอแพมชวนอ่าน

บทลงโทษสูงสุดของบ้านนี้คือ ไม่อ่านนิทานด้วยกัน

  • คุยกับ หมอแพม เจ้าของเพจ ‘หมอแพมชวนอ่าน’ เรื่องประสบการณ์การอ่านตั้งแต่คุณหมอยังเป็นเด็กจนมีครอบครัว มีลูกสาว คุณหมอใช้การอ่านเลี้ยงลูกอย่างไร
  • การอ่านคือการสั่งสมประสบการณ์ที่เด็กไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นหนังสือใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่เพียงหนังสือนิทานเท่านั้น หนังสือจะพาเด็กไปเจอเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ตามจินตนาการของเขา
  • การอ่านคือวิธีปรับปรุงโครงสร้างสมองลูกอย่างง่ายที่สุด พ่อแม่ทุกคนทำได้จริง ทำได้ทุกบ้าน ไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ แค่เล่าเรื่องจากภาพนั่นก็เพียงพอแล้ว

ถ้าลูกสาวทำผิด บทลงโทษสูงสุดของบ้าน ‘หมอแพม’ พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี เจ้าของเพจ หมอแพมชวนอ่าน คือ ‘ไม่อ่านนิทานด้วยกัน’

เพราะบ้านนี้คุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง นอกจากความเป็นนักอ่านของคุณแม่แล้ว สำหรับหมอแพม การอ่านคือวิธีปรับปรุงโครงสร้างสมองลูกอย่างง่ายที่สุด ทำได้จริง ทำได้ทุกบ้าน

และถ้าไม่เริ่มต้นอ่านสักที…

“เราอยู่ในยุคนี้ ไม่ใช่เราเลี้ยงลูกให้ดีคนเดียวแล้วสังคมจะดีขึ้นได้ มันต้องไปด้วยกัน ต้องช่วยกัน ต้องอ่านไปด้วยกัน” 

การอ่านของคุณหมอเริ่มต้นได้อย่างไร 

หมอเป็นคน อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สิ่งบันเทิงเดียวที่หาได้ในวันเสาร์อาทิตย์ คือ ห้องสมุดประชาชนที่แม่พาไป 

แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเสียตั้งแต่เล็ก ที่บ้านเป็นร้านเสริมสวย เขาก็จะยุ่งตลอด บ้านเจี๊ยบในหนังเรื่อง แฟนฉัน คือบ้านหมอเลย เป๊ะเลย ถ้าเราอยู่บ้านเราก็จะโดนกวาดผม ล้างผมให้ลูกค้า หรือไม่ก็ช่วยแม่กวาดขยะ 

พอที่บ้านเป็นร้านเสริมสวยก็รับนิตยสาร สตรีสาร หญิงไทย มา ท้ายเล่มจะมีโซนนิทานอยู่นิดหนึ่ง 

ตั้งแต่จำความได้ ลูกค้าแม่ก็คือเพื่อนแม่แหละ อ่านนิทานให้เราฟัง พอมีลูกจ้างในร้านก็ให้เขาอ่านให้ฟัง  จน ป.1 ป.2 เริ่มเรียนสะกดคำ พอเราอ่านหนังสือออกเราก็รู้สึกเหมือนติดปีก ไม่ต้องพึ่งใครแล้ว 

จน ป.4 ป.5 พออ่านหนังสือได้ เราเริ่มจับทางได้ว่าแม่ไม่ค่อยใช้งานแฮะ รู้สึกมันเป็นอะไรที่พิเศษ คือ แม่ไม่มีเวลาอ่านให้เราฟังอยู่แล้วแต่เขาให้ความสำคัญ พอเราอยากได้ อยากอ่านเรื่องไหน เขาก็จะไปหามาให้ หรือให้เราไปหายืมที่ห้องสมุด มันก็เลยเหมือนเป็นอาวุธของเรามาตั้งแต่นั้น 

แม่จะรู้สึกว่าตัวเองเรียนน้อย เขาจะบอกว่าเขาไม่มีสมบัติอะไรนะ สิ่งที่จะให้ติดตัวเราได้คือการศึกษา  ทุ่มเทให้การเรียนของเรามาก

เรารู้สึกว่าเรามีสิ่งที่เราไม่มีในหนังสือ เราเป็นแค่เด็กบ้านนอก ไม่ได้เจออะไรมากมาย แต่ในหนังสือ มันมีจินตนาการ มีทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นในสิ่งที่เราไม่สามารถเป็นได้ในโลกความเป็นจริง เลยรักการอ่านมาก

ตอนนั้นห้องสมุดประชาชนเป็นอย่างไร  

ห้องสมุดประชาชนจะเป็นห้องสมุดเล็กๆ มีโซนเด็กอยู่นิดเดียว แต่พอแล้วสำหรับเด็กอย่างเรา 

แม่ย้ายให้ไปเรียนในเมืองตอน ป.4 เป็นความคิดที่ล้ำมากในสมัยนั้น เพื่อนแม่ยังทักเลยว่าจะพยายามไปทำไม ทำไปทำไม คือเราขอบคุณแม่มากเลย เพราะจุดนั้นมันคือจุดเปลี่ยน พอแม่ทำอย่างนั้น เรารู้เลยว่าเขาให้ความสำคัญกับการเรียนมาก

พอไปเรียนในเมือง ตอนเช้าต้องตื่นตีห้า ติดรถเพื่อนแม่ไปโรงเรียน ถึงโรงเรียนเช้าพร้อมลุงภารโรง ไม่มีอะไรทำก็นั่งอ่านหนังสือ ตอนเย็นไปนั่งรอรถเมล์ก็อ่านหนังสืออีก แล้วเราก็เรียนดี ติดท็อปแหละ แต่ไม่ถึงกับเป็นที่ 1 ตลอด 

สิ่งที่เรามีคือหนังสือ อ่านไปเรื่อย เราไม่รู้หรอกว่าหนังสือจะมาช่วยเราตอนไหน เรารู้สึกว่ามีความรู้รอบตัวเยอะ แต่ไม่ได้ไปออกในข้อสอบคุณครูไง เราก็เลยอาจจะไม่ได้โดดเด่นที่สุด

ทีนี้พอมัธยมไปเรียนโรงเรียนสาธิตที่มหาวิทยาสงขลานครินทร์ ปัตตานี ซึ่งเรียนเข้ากับสไตล์เรามากเลย ให้เด็กลงมือทำ เราก็ค่อยๆ เฉิดฉาย

มันมีอยู่ครั้งหนึ่งตอนเดินทาง เรานั่งรถ ตอนเด็กๆ เราก็จะถามว่าทำไมข้างหน้าเหมือนมีแอ่งน้ำแต่พอไปถึงแล้วมันไม่มี เราสงสัยมากเลย แต่ไม่มีใครตอบได้ พอเราไปเรียนมัธยมก็รู้ว่าอ๋อ อันนี้เขาเรียกมิราจ

ความรู้ที่เคยอ่านในหนังสือมันจะมาลิงค์กับวิชาเรียน จน ม.5 ม.6 พีคมาก สอบแข่งขันเพื่อทำมาหากินน่ะ คว้ารางวัล ปังๆๆๆ เราไม่ได้พยายามในการเรียน แต่รู้สึกว่ามีจิ๊กซอว์เต็มไปหมดอยู่แล้ว พอเราไปเรียน อ๋อ มันอันนั้นไง มันก็ต่อปั๊กๆๆๆ เข้ารูปเข้ารอย สิ่งนั้นคือการอ่าน

การอ่านคือการสั่งสมประสบการณ์ที่เด็กไม่รู้ตัว ข้อสอบคุณครูในโรงเรียนมันไม่ใช่ข้อสอบชีวิตไง แต่เวลาเราไปเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่าง มันจะมีสิ่งที่เราเคยเจอมาแล้ว ให้คำตอบเรา ณ เหตุการณ์ตรงหน้าน่ะค่ะ ซึ่งเราบอกไม่ได้จริงๆ ว่าแต่ละวันเราจะเจอเหตุการณ์อะไร หรือเจอปัญหาอะไร

เหมือนเก็บเกี่ยวไปเรื่อยๆ?

ใช่ค่ะ เพราะฉะนั้น เด็กที่อ่านเยอะๆ ไม่ต้องไปหวังว่าเขาจะมีผลการเรียนที่โดดเด่น แต่เดี๋ยวมันจะค่อยๆ แสดงผลของมันเองในระยะยาว

หมอมีความเชื่อเรื่อง ‘เวลาที่เหมาะสม’ มากๆ เราเร่งเรียน เร่งเข็นเด็ก โดยเฉพาะเด็กประถม เหมือนให้เด็กอายุ 1 ขวบไปวิ่งแข่ง กล้ามเนื้อก็ยังไม่พร้อม เดี๋ยวพอถึงวันหนึ่งเมื่อกล้ามเนื้อพร้อม อะไรพร้อม เขาจะวิ่งได้เอง สิ่งที่เราจะต้องรักษาไว้คือ ‘ความอยาก’ ในใจเด็ก ถ้ามีความอยาก เดี๋ยวมันก็ไปเอง เดี๋ยวพร้อมก็ไปเอง อย่าไปทำลายความอยาก

หนังสือเล่มแรกที่คุณหมอว้าว คือเล่มไหน

ตอนประมาณ ป.4 ป.5 อ่าน อุ้ยเสี่ยวป้อ เป็นหนังสือของพ่อที่เสียไป

คุณพ่อรักการอ่านด้วย?

ใช่ค่ะ พอเราอ่านก็รู้สึกทำไมมันสนุกอย่างนี้ แล้วสำนวนการแปลก็จะไม่เหมือนที่เราอ่าน มันต้องตีความ ฉันจะไม่ไปไม่ แปลว่าฉันไป ซ้อนในซ้อน วรรณกรรมจีนมันจะสนุก

ป.6 อ่านนิยายซีไรต์ เรื่อง ครอบครัวกลางถนน แต่มันก็ลึกแหละ ไม่ค่อยเข้าใจ เขาพูดถึงสภาพสังคมของกรุงเทพฯ พ่อแม่ทำอะไรบนถนนรถติด 

แล้วพอมัธยม อะไรที่ดังๆ ก็อ่านไปเรื่อย ศพใต้เตียง แต่พอมัธยมไปอยู่หอพัก ฉันติดปีกแล้ว (ยิ้ม) ไปเจอร้านเช่าการ์ตูนไง อ่าน สแลมดังค์ ใน Boom (นิตยสารการ์ตูนรายเดือนในเครือเนชั่น) มีวันหนึ่งที่ สแลมดังค์ จบ คือป่วย แต่ไม่ได้ป่วยนะ แต่ลาเพื่อจะอ่านตั้งแต่เล่มหนึ่งยันเล่มจบ (สแลมดังค์ ยุคนั้นมี 24 เล่มจบ) แล้วก็ไปสิงอยู่ตามร้านเช่าการ์ตูน ก็จะหายจากวรรณกรรมเยาวชนไป

ส่วนใหญ่การ์ตูนยุค 80 90 จะนำเสนอเรื่องราวของพวกขี้แพ้ loser อย่างเช่น GTO คนไม่ได้เรื่องท้ายที่สุดมาเป็นคุณครู บ้านเรามันจะออกแนวนี้ พอมามหาวิทยาลัย ก็กลับมาอ่านพวกวรรณกรรมเยาวชนอีก ชอบ แฮร์รี พอตเตอร์ มาก เป็นวรรณกรรมที่โตไปพร้อมๆ กับเรา 

เราเห็นหมอหลายคนเป็นนักเขียน มันมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างหรือเปล่า ระหว่างหมอกับนักเขียน 

พัฒนาการทางภาษาของเด็กมันเหมือนกับ ‘กาลักน้ำ’ นึกถึงภาชนะใส่น้ำเรียงกัน ถังแรกต้องเต็มก่อน แล้วพอมันเต็ม มันก็ล้นไปยังถังต่อมา 

หมายความว่า ‘กาแรก’ ต้องฟังๆๆๆ เก็บข้อมูลให้มากจนล้นไป ‘กาที่สอง’ แล้วเด็กจะเริ่มพูดๆๆๆ ล้นแล้วถึงจะไป ‘กาที่สาม’ การอ่าน อ่านๆๆๆ แล้วถึงจะล้นไป ‘กาที่สี่’ การเขียน เพราะฉะนั้น พอเทียบค่าถังสี่ใบ การฟัง พูด อ่าน เขียน มันคือประสบการณ์วัยเด็ก

การที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเยอะเหมือนสร้างขนาดถัง เด็กที่มีถังมาก ใบใหญ่มาก เขามีประสบการณ์มากอยู่แล้ว แล้วพออ่านจนล้น อีกขั้นหนึ่ง (ถังใบต่อมา) มันต้องใหญ่อยู่แล้วเพื่อรับน้ำที่เอ่อตลอดเวลา มันจะใหญ่ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น การที่เราเป็นนักเขียน นักเขียนทุกคนต้องเคยเป็นนักอ่าน  

การเรียนรู้ของมนุษย์ เราไม่เคยเรียนรู้จากการนั่งอยู่เฉยๆ แล้วนึกถึงสิ่งใหม่ได้เอง ไม่มีทาง ถ้าไม่มีนิวตัน ก็ไม่มีไอน์สไตน์ ไม่มีไอน์สไตน์ก็ไม่มีคนอื่นๆ ในโลกตามมา เราคิดค้นสิ่งใหม่น่ะใช่ แต่การคิดค้นสิ่งใหม่ คำว่าใหม่ ต้องมาจากการต่อยอดจากฐานเดิม

การเรียนรู้เรื่องภาษา มันจึงมี พีเรียด (เวลา) ของตัวมันเอง เหมือนขวบปีแรก ต้องเรียนรู้เรื่องคำนามกับคำกริยา ต้องมีให้มากพอมันถึงจะพูดได้ พอหลังจากนั้น ต้องมีเรื่องโครงสร้าง (structure) ที่จะเอาคำมาเชื่อมกัน แล้วค่อยมาเรื่องบริบท มันต้องเป็นไปตามหลักธรรมชาติแบบนี้เสมอ ไม่มีการเรียนข้ามขั้น

ถ้าข้ามขั้น ไปโหลดอะไรเยอะก็ไม่มีประโยชน์ เพราะมันต้องเรียนผ่านการเชื่อมโยง เชื่อมเป็นขั้นๆ ฉะนั้นในเด็กเล็ก ฟังให้มาก พอมีฐานมากเดี๋ยวมันจะล้นไปเรื่องของการพูดเอง แล้วการพูด เด็กที่อ่านมากกับเด็กที่อ่านไม่มาก จะพูดคนละระดับกันเลย

เด็กที่อ่านเยอะจะพูดด้วยโครงสร้างภาษาที่เรารู้กัน การที่เขาเห็น เขาอ่าน มันจับได้ในบริบท เพราะการอ่านมันทำให้สามองค์ประกอบมาเจอกันโดยที่เราไม่ต้องพยายาม หนึ่ง) คำ สอง) บริบทที่ใช้ สาม) การทำซ้ำ เขาเห็นซ้ำๆ เขาเห็นเล่มนี้ซ้ำๆ เล่มนี้พูดอย่างนี้ คือมันจะเชื่อมโยงคำพูดเป็นธรรมชาติมาก 

จึงตอบคำถามว่าทำไมหมอถึงเปิดเพจ คือเราอยู่ในยุคนี้  ไม่ใช่เราเลี้ยงลูกให้ดีคนเดียวแล้วสังคมจะดีขึ้นได้ มันต้องไปด้วยกัน ต้องช่วยกัน อาจารย์สอนเสมอว่า ใครเก่งจงทำ ใครรู้จงสอน เราอาจไม่ได้เป็นคนเก่งมาก ไม่ได้ไปอยู่ส่วนกลางที่มีอำนาจอะไรใดๆ แต่เราสามารถสร้างเวทีของเราเองได้ 

ทุกวันนี้เขียนเพจ ใครศีลเสมอ มารับไปอ่านไปเถอะจ้ะ ได้โปรดรับความรู้นี้ไปเถอะจ้ะ เราส่งความจริงใจ เราเลี้ยงลูกแบบนี้ เราแค่อยากแชร์ประสบการณ์ว่า เราทำแบบนี้ ไม่ใช่จะมาบอกว่าเราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ หรือเราเลี้ยงลูกสำเร็จเพราะลูกเราก็ยังเล็ก 

EF คือประสบการณ์เก่าที่ดี เพราะว่าคนคนหนึ่งเวลาเผชิญกับปัญหาปุ๊บ มันต้องดึงประสบการณ์เก่ามาประมวลผล แล้วแก้ปัญหาให้ตัวเองถึงจุดหมาย อย่างที่คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พูดเสมอว่า EF ไม่ใช่จริยธรรม ฉะนั้น การแก้ปัญหาต่อหน้าที่เกิดขึ้นกับคนคนหนึ่งเป็นประสบการณ์เก่าที่เขามี แล้วเอามาทำให้ตัวเองผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพ่อแม่ก็คือการใส่ประสบการณ์ดีๆ ให้ลูก เท่านั้นเอง

ประสบการณ์ดีๆ มีหลายอย่าง ประสบการณ์ดีๆ สร้างโครงสร้างสมอง ด้วยวิทยาศาสตร์ด้านสมอง ในปัจจุบัน ล้ำขนาดถ่ายรูปสมองแบบเรียลไทม์ ถ่ายรูปเส้นเลือดว่าไปเลี้ยงสมองได้ยังไง เพราะฉะนั้น ประสบการณ์ดีสร้างโครงสร้างสมองที่ดี แล้วประสบการณ์ดีๆ ที่เราจะแชร์ให้คนอื่นก็มีหลายอย่าง การเลี้ยงดูเชิงบวกก็มีหลายท่านทำไปแล้ว และการเลี้ยงดูเป็นอะไรที่นามธรรมมากเลยนะ

ไม่มีทางที่การเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัวจะเหมือนกัน?

ใช่ๆ เช่น เราแชร์เรื่องนี้ แต่อีกบ้านหนึ่งเอาไปใช้ไม่ได้ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย 

อันดับแรก เด็กเป็นผ้าสีพื้น สมมุติเด็กคนนี้เป็นผ้าสีเหลือง ถ้าเราอยากจะได้เขียว แม่ก็ต้องเติมน้ำเงิน แต่เด็กบ้านอื่นเขาอาจจะเป็นสีชมพู เติมน้ำเงินลงไปมันก็ไม่ได้เขียวไง เรารู้สึกว่าการเลี้ยงดูเป็นเรื่องส่วนบุคคลสุดๆ  

อันที่สอง สายสัมพันธ์ เราจะไปบอกแต่ละบ้านได้ไหมว่าให้เวลากับลูกเท่านั้นเท่านี้ แต่ละคนมีปูมหลังไม่เหมือนกัน ปากกัดตีนถีบไม่เหมือนกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยู่ในตำราและพิสูจน์มาเป็นร้อยปีแล้วว่าได้ผล คือ หนังสือ

ต่อให้ร้อยปี หมอเชื่อว่าหนังสือไม่มีวันตาย เพราะมันสมบูรณ์ในตัวมันเอง มันคือการส่งต่อความรู้ของมนุษย์สู่มนุษย์ ซึ่งสมองมนุษย์เป็นสิ่งที่สร้างประสบการณ์แล้วส่งต่อรุ่นสู่รุ่น 

หมอทำอย่างอื่นให้พวกคุณไม่ได้ ก็อ่านเถอะ หนังสือมันดี สำเร็จรูป ไม่ได้มีอะไรยาก เลยรู้สึกว่าถ้าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อ่านหนังสือ พ่อแม่ทุกคนทำได้ เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดแล้วในการที่จะปรับปรุงโครงสร้างสมองลูก แล้วมันใช้ได้จริง ง่ายที่สุดแล้วในการแก้ปัญหาเด็ก ทำไมจะไม่ทำล่ะ 

ถ้าพ่อแม่อ่านหนังสือไม่เป็นล่ะ ก็เล่า เปิดภาพแล้วเล่าเรื่องก็ได้ ภาพมันทำงานกับตัวอักษร ตัวอักษรคือการเปล่งเสียงให้มีความหมาย ถ้าคุณพ่อคุณแม่อ่านไม่ได้จริงๆ ก็แค่เล่าเรื่องจากภาพก็เพียงพอแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านั้น ลูกไม่ได้ต้องการเยอะ เขาต้องการแค่เวลาคุณภาพ

พ่อแม่ที่อยากอ่านกับลูก เตรียมพร้อมอย่างไรดี 

ช่วง 0 ถึง 3 เดือนแรก เด็กไม่ได้ต้องการอะไร เด็กแค่ต้องการความสนใจ หิวได้กิน เหงาได้กอด รู้สึกไม่สบายตัวได้ผ่อนคลาย คุณแม่ก็เหมือนกัน ช่วง 3 เดือนแรกมันมีความเครียด ขนาดหมอเองเป็นหมอเด็กมาตั้งเกือบสิบปีก่อนมีลูก ยังเป็นบ้าเลยช่วงนั้น (หัวเราะ) 

ถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่ต้องผลักดันตัวเอง เพราะว่าบางคนอาจไม่ใช่นักอ่านไง คุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้เป็นนักอ่านมาก่อนมักถามว่า ตัวเองไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ จะทำยังไง หมอบอกว่าต้องเริ่มให้เร็ว แต่ถ้าช่วงไหนเครียดก็ไม่ต้องผลักตัวเองขนาดนั้น แค่สบายใจแล้วก็ทำ

มีคนถามว่า ลูกไม่อ่านทำยังไงดี อ่านแล้วเดินหนี อ่านแล้วไม่ฟัง ทั้งหมดนี้เป็นความคาดหวังของพ่อแม่ล้วนๆ เลย คำว่าอ่านในเด็กเล็ก เด็กปฐมวัย หมายความว่า พ่อแม่อ่านให้ลูกฟัง ซึ่งการฟังเป็นสิทธิส่วนบุคคล คุณบังคับเด็กไม่ได้ แต่สิ่งที่คุณทำได้คือ อ่านให้เป็นปกติ 

หมอจะได้รับคำถามเสมอว่าถ้าลูกไม่อาบน้ำจะทำยังไงคะ ก็ต้องจับอาบค่ะ เหมือนกับการอ่านหนังสือ ทำให้เป็นกิจวัตรไง คือสิ่งที่ต้องทำ ลูกไม่กินข้าว เดือดร้อนใช่ไหม? การอ่านก็เช่นเดียวกัน

ทำให้การกินข้าว อาบน้ำ อ่านหนังสือ มีค่า มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันในทุกๆ วัน ไม่ใช่ว่าอ่าน/ไม่อ่าน ไม่ต้องคิด มันเหมือนการอาบน้ำ ใน 1 ปีเราอาจจะมีบางวันที่ไม่อาบ เช่นเดียวกันอาจมีบางวันที่คุณไม่ได้อ่านหนังสือ แต่ถ้าคุณทำให้เป็นปกติ อ่านได้ก็คืออ่าน ไม่ต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ แค่ทำไปทุกวัน 

มีความพยายามในการส่งเสริมการอ่านของคุณหมออะไรบ้างที่ล้มเหลว 

ผิดหวังเยอะมาก เพราะเราคือสายซื้อ เล่มที่เราคิดว่าดี เราก็มุ่งมั่นมาก ลูกเราจะต้องชอบแน่ๆ เลย แต่ความจริงคือ ลูกเดินหนีเลย เดินไปหยิบเล่มที่อ่านทุกวันมา เป็นเรื่องปกติมากในวัยเด็ก เพราะไทม์มิ่งสำคัญมาก ความเข้าใจของเด็กจะเพิ่มขึ้น หนึ่ง สอง สาม สี่ เหมือนเด็กขึ้นบันได บางทีเราไปซื้อบันไดขั้นที่สิบมาตอนเขาอยู่ขั้นที่ห้า เขาก็ไม่อ่าน 

หนังสือมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ มันไม่ล้าสมัย มันรอได้ วันนี้อ่านไม่ได้ก็ไม่ต้องเสียใจ เก็บไว้ก่อน

ความล้มเหลวสอนอะไรคุณหมอบ้าง

พอลูกไม่อ่าน เขาก็จะรู้สึกว่า อ้าว ลูกฉันไม่อ่านหนังสือดี ทำไมชอบอ่านหนังสืออีกประเภทหนึ่ง อันนี้ไม่ใช่ความผิดหวัง ความชอบมันบังคับกันไม่ได้ อีกอย่าง หนังสือดีสำหรับผู้ใหญ่ บางทีอาจไม่ใช่สำหรับวัยเขา 

ลูกชอบอะไร ก็ใส่เล่มนั้นไป มีอยู่ช่วงหนึ่งน้องพรีม (ลูกสาว) ชอบไดโนเสาร์มาก สมมุติตัวเองเป็นแม่ไดโนเสาร์ปากเป็ด แทนตัวเองทุกคำเลย เราก็ป้อนไดโนเสาร์ สารานุกรมไดโนเสาร์ เขาก็จะลงลึกอยู่สักพักหนึ่งแล้วเขาจะเปลี่ยน จำไว้ว่าเด็กโตขึ้นทุกวัน เด็กเปลี่ยนทุกวัน ไม่ต้องกลัว วันนี้ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าพรุ่งนี้ไม่ได้ 

เราเป็นหมอทางเดินหายใจ หมอก็บอกว่าลูกคุณแม่เป็นโรคทางเดินจมูกนะคะ ให้ล้างจมูก แม่ก็จะบอกว่าเคยแล้วค่ะคุณหมอ ร้องไห้ใหญ่เลย หมอก็เลยถามว่าครั้งสุดท้ายที่เคยลองเมื่อไหร่คะ คุณแม่บอกเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว หนนี้ลองใหม่ เด็กเปลี่ยนได้ทุกวัน เพราะยังอยู่ในกระบวนการการเติบโต หนังสือก็เช่นกันค่ะ เล่มนี้ไม่เกิดวันนี้ไม่ใช่ไม่โดน เดี๋ยวมาใหม่ อันนี้จะเชื่อมโยงไปถึงเด็กที่แวดล้อมไปด้วยหนังสืออีกนะคะ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีหนังสือล้อมรอบตัว จะเกิดนักอ่านได้ง่ายกว่า เพราะบางทีว่างแล้วไม่รู้ทำอะไร ไหนลองอ่านดูหน่อย โอกาสในการเข้าถึงมากกว่า 

พ่อแม่ที่กลัวตัวเองอ่านไม่สนุกทำอย่างไรดี

ต่อให้เราอ่านตามตัวอักษร หนังสือที่ดีมันจะกำกับโทนมาให้เราเอง คือแค่อ่านไป ไม่ต้องเล่นใหญ่ 

ถ้าเราเล่นใหญ่ ล้นกว่าหนังสือ ลูกจะมาโฟกัสที่การแสดงของเรา ไม่โฟกัสที่ตัวอักษร ดังนั้นอ่านตามตัวอักษรแต่อ่านให้มีโทนเสียง ถ้าคุณแม่เป็นคนโมโนโทน ก็อ่านไปตามตัวอักษร แต่ต่อให้โมโนโทนแค่ไหนก็ไม่ใช่หุ่นยนต์ มนุษย์เราจะเป็นธรรมชาติมากกว่า และเด็กชอบเสียงแม่ 

แล้วเนื้อหา เราควรเลือกอย่างไร 

พ่อแม่กลัวความรุนแรง เห็นลูกชอบไปอ่านรามเกียรติ์ สามก๊ก ฆ่ากันเลือดสาด หมอเลยถามว่า ตอนเด็กๆ เราเคยดูขบวนการห้าสีไหม เรื่องราวมันจะดำเนินเป็นรูปแบบมากเลยนะ พอพระเอกในร่างมนุษย์เริ่มแพ้ ก็จะแปลงเป็นร่างนี้ แล้วจะมีตัวร้ายซึ่งสุดท้ายพระเอกฆ่าตายเรียบเลยนะ ถามว่ามันผิดไหม ตอนนั้นเราไม่รู้สึกว่าพระเอกผิดเลยนะ ซึ่งจริงๆ เด็กยังไม่มีความคิดในเชิงเทา เขายังไม่มีสีเทา เด็กน่ะ ดำก็ดำ ดีก็ดี นี่คือความคิดของเด็ก คนดีต้องชนะไง ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ แล้วไปดูขบวนการห้าสีตอนนี้สิ อาจจะมองว่าใช้ความรุนแรง

เหมือนนิทาน แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ น่ะ ยักษ์ผิดตรงไหน แจ๊คฆ่ายักษ์เฉยเลย อันนี้เรามองในมุมผู้ใหญ่ แต่เด็กน่ะ เขาจะคิดในเชิง concrete thinking หรือคิดแบบรูปธรรม ความดี ความไม่ดี เห็นชัดมากๆ ขั้วตรงข้ามกันสุดๆ เพราะฉะนั้นนิทานคลาสสิกระดับโลกมันจึงยังอยู่จนถึงปัจจุบันไง เพราะมันเรียบง่าย ยักษ์คือตัวแทนของคนไม่ดี แจ๊คคือความดี (ไหม) เด็กจึงไม่คิดลึกถึงขั้นลงไปในรายละเอียด เพราะฉะนั้นเรื่องสามก๊กในวัยเด็กกับสามก๊กในวัยผู้ใหญ่ก็จะเป็นคนละส่วนกัน

เวลาหมอเลือกนิทาน หนึ่ง คือหมออ่านเองทุกเล่มก่อน เราไม่ปล่อยหลุด เราจะมีสำนักพิมพ์ที่เราไว้ใจ ไม่ใช่ทุกคนที่เขียนนิทานได้ และนิทานบางเรื่องมันเป็นเรื่องการตลาดจริงๆ อันนี้พูดรวมๆ เนื่องจากหมอซื้อทุกสำนักพิมพ์ จะมีบางสำนักพิมพ์ที่ใช้ราคาเป็นตัวดึงพ่อแม่ อุ๊ย มีตั้งสองภาษาราคาถูกมาก แต่พอไปดูในเนื้อความ เรารู้เลยว่าเขาไม่ให้ความสำคัญกับการแปล เพราะมันเป็นภาษาที่งง แปลแบบตรงตัว ภาษาไม่ละเมียดละไมแบบนี้เราก็ไม่เอา เราอยากให้ลูกของเรามีความรุ่มรวยทางภาษาไม่ใช่แค่เรื่องของปริมาณนะ มันต้องมีคุณภาพด้วย 

อันที่สอง เรื่องของภาพ บางเรื่องภาพดูทึมไป หรือดูรุนแรงไป เด็กบางคนอาจจะไม่ได้คิด แต่ลูกสาวหมอค่อนข้างอ่อนไหวค่ะ โทนมืดก็ไม่ชอบ เราอยากให้นิทานเป็นเรื่องของความสุข เราก็ไม่ควรเลือกเรื่องที่ลูกกลัว อย่างเรื่องผี เมื่อก่อนจริงๆ พรีมเขาไม่ได้กลัวผี แต่ด้วยความที่ภาพมันดูน่ากลัว น่าสยดสยองก็ยังไม่อ่าน ความกลัวเป็นเรื่องปกติ พอเขาถึงวัยเขาอยากรู้เขาก็หาอ่านเอง เรื่องภาพเรื่องภาษาต้องระวัง 

สรุปต้องเลือกค่ะ นิทาน พ่อแม่ต้องอ่านก่อน

นิทานเรื่องนี้ควรสอนให้รู้ว่าอะไรไหมคะ

ไม่ชอบเลย ไม่เคยพูดกับลูกเลย และบ้านนี้ไม่ซื้อนิทานอีสปให้ลูกอ่านเลย เพราะว่าต้นกำเนิดของนิทานอีสป คือ นักเล่านิทานให้ราชวังฟัง แต่ละเรื่องมันลึก มันอาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ 

ตัวละครอะไรหลายอย่าง ตอนเด็กๆ เรารู้สึกสนุกนะ เราก็ไม่ได้ซีเรียสกับนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เช่น กระต่ายกับเต่าถามลูกว่า อยากเป็นอะไร ลูกอาจจะตอบว่า เต่า เพราะว่าโทนเสียงคนชื่นชมเต่า เต่ามีความพยายาม หมอเลยบอกว่าถ้าเป็นแม่ แม่อยากเป็นกระต่ายที่มันไม่นอนหลับ เรื่องนี้มันมีโทนการเล่า มีอคติให้ตัวละครตัวหนึ่งตัวใดมันดูดีขึ้นมา จริงๆ กระต่ายกับเต่าไม่ควรแข่งแต่แรกแล้ว กระต่ายกับเต่า 

กระต่ายมันวิ่งเร็ว แต่ว่ามันอาจจะหมดแรงเร็ว เต่าอาจจะอึด อะ เต่าไปมาราธอนไหมล่ะ กระต่ายก็มาร้อยเมตรสิลูก อย่างนี้ แล้วนิทานอีสปมันน่ากลัวตรงที่ไม่มีลิขสิทธิ์ มันอยู่ที่การแปลของแต่ละสำนักพิมพ์เลย เขาเอาแกนเรื่องมา อย่างเรื่อง ลูกเป็ดขี้เหร่ บางสำนักพิมพ์ด่าลูกเป็ดตั้งแต่วัวยันเจ้าของฟาร์มน่ะ คือ แค่ไม่เหมือนเพื่อนมันต้องเลวขนาดนั้นเลยเหรอ ใช้คำว่า ไปให้พ้นนะ น่าเกลียด อันนี้หมอไม่ซื้อ จะว่าโลกสวยก็โลกสวยแหละ เพราะช่วงปฐมวัยอยากให้เห็นความสวยงามไว้ก่อน 


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

Avatar photo

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

Related Posts