ทุกความสัมพันธ์มีวันที่ต้องจากลา : โทโรนา ออฟฟิศแห่งการลาจาก

  • โทโรนา ออฟฟิศแห่งการลาจาก ผลงานนวนิยายของซนฮย็อนจู นักเขียนหญิงจากประเทศเกาหลีใต้ บอกเล่าเรื่องราวถึงโลกในจินตนาการที่การตัดขาดจากบางสิ่งบางอย่างดูจะเป็นเรื่องยาก ชวนหนักใจ และเสียเวลา บริษัทโทโรนาแห่งนี้จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ในการบอกลาแทนทุกคน
  • ‘อีกาอึล’ หญิงสาววัยสามสิบผู้ดิ้นรนหางานประจำและได้มารับตำแหน่งผู้จัดการการลาจากที่ “โทโรนาแห่งการลาจาก” เธอได้เรียนรู้ว่าโลกใบนี้มีรูปแบบความสัมพันธ์อันซับซ้อนอยู่มากมาย แต่สิ่งที่ซับซ้อนมากที่สุดคือ ‘จิตใจของมนุษย์’
  • การเดินออกจากความสัมพันธ์ การลาจากสถานที่ที่ผูกพัน หรือการตัดใจลาจากสิ่งของ ดูจะเป็นเรื่องที่ทำใจได้ยาก แต่ถ้าการตัดบางสิ่งทิ้งไปนั้นทำให้เราได้ตัวตนกลับคืนมา นั่นก็อาจเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า

“การปิดฉากความรักไม่ใช่ตราบาป แต่การเหนี่ยวรั้งความรู้สึกที่แปรเปลี่ยนไปแล้วเอาไว้ต่างหากที่เป็นเรื่องเจ็บปวด ดังนั้นถ้าอยากซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง การแจ้งให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงการลาจากก่อนถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผล”

บนโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งความรัก ความผูกพัน และความคุ้นชินก็ก่อตัวขึ้นอย่างฉับพลันและพังทลายลงในเวลาอันสั้น

แต่นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสัมพันธ์’ 

ไร้ซึ่งความคงที่ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแปรผันได้เสมอ

โทโรนา ออฟฟิศแห่งการลาจาก เป็นผลงานนวนิยายของ ซนฮย็อนจู นักเขียนหญิงจากประเทศเกาหลีใต้ หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวถึงโลกในจินตนาการที่การตัดขาดจากบางสิ่งบางอย่างของคนหนุ่มสาวดูจะเป็นเรื่องยาก ชวนหนักใจ และเสียเวลา บริษัทโทโรนาแห่งนี้จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ในการบอกลาแทนพวกเขา

เรื่องราวในนวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าผ่านมุมมองตัวละครหลักอย่าง ‘อีกาอึล’ หญิงสาววัยสามสิบผู้ต้องการอิสระทางการเงินและกำลังตามหางานประจำ จนจับพลัดจับผลูได้มาสัมภาษณ์งานที่บริษัทโทโรนา และได้มารับตำแหน่ง ‘ผู้จัดการการลาจาก’ ของออฟฟิศแห่งนี้ในที่สุด

หน้าที่ของอีกาอึล คือการอาศัยช่องว่างในความสัมพันธ์ที่เหี่ยวเฉา จากนั้นเข้าไปตัดมันให้ขาด และทำให้ลูกค้าเคยชินกับชีวิตหลังการลาจากความสัมพันธ์นั้น เช่น การพาลูกค้าทำพิธีบอกลาหนังสือหลายร้อยเล่ม ก่อนที่จะพาเขากลับไปอยู่ในห้องหนังสือที่หลงเหลือเพียงความว่างเปล่าราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

อีกาอึลคือหญิงสาวผู้ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านความรัก ไม่เคยถูกทิ้ง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เธอได้รับการคัดเลือกจากบอสให้มาทำตำแหน่งนี้ เพราะผู้จัดการการลาจากที่ดีจะต้องไม่มีอารมณ์ร่วมไปกับผู้ถูกบอกลา หรือถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ ‘ห้ามรู้สึกสงสารฝ่ายที่ไม่ใช่ลูกค้า’

“ลูกค้าของเรามีเอกลักษณ์เหมือนกัน คือเผชิญหน้ากับการจากลาด้วยตัวเองไม่ได้ พวกเขาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือจิตใจอ่อนแอจนพูดเองไม่ได้ อีกกลุ่มหนึ่งคือพวกไม่สนใจความเจ็บปวด ไม่ว่าลูกค้าจะเป็นแบบไหนเราก็ต้องช่วยเหลือเขา ทำหน้าที่ของผู้ส่งสารที่รับฟังข้อเรียกร้องของอีกฝ่ายอย่างจริงใจ จำเอาไว้ว่าคนที่เราต้องปกป้องคือลูกค้าของเราไม่ใช่คนที่ถูกบอกลา” นี่คือคำที่บอสย้ำเตือนกับพนักงานในออฟฟิศโทโรนาแห่งการลาจากแห่งนี้อยู่เสมอ

เมื่อหน้าที่ของผู้จัดการการลาจากเริ่มต้นขึ้น อีกาอึลได้พบกับเรื่องราวการจากลาในความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบของคน สิ่งของ สถานที่ และยังได้รู้ว่ามีคนที่ต้องการใช้บริการการจากลาในรูปแบบอื่น ๆ อยู่ด้วย เช่น ต้องการบอกลานิสัยและความเคยชินของตัวเอง ต้องการบอกลาสัตว์เลี้ยง และเมื่อเธอได้ก้าวเข้าสู่วงจรความสัมพันธ์ของลูกค้า เธอก็พบว่าหน้าที่ของการเป็นผู้จัดการการลาจากนี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่เธอเคยคิด

เหตุผลของการลาจากของลูกค้าแต่ละคนล้วนต่างกันออกไป บางคนบอกลาเพื่อความสบายใจของตนเอง บางคนบอกลาเพื่อความสบายใจของคนอื่น และบางคนก็ยอมฝืนใจจากลาสิ่งที่รัก เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากใครสักคน

อีกาอึลใช้เวลาเพื่อศึกษาเรื่องราวความสัมพันธ์ของลูกค้า และทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่อรับแรงกระแทกจากทุกฝ่าย และบทบาทนี้เองที่ทำให้ผู้อ่านอย่างเราได้ตระหนักถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความพอดีในการจากลา’ 

ในโลกความเป็นจริงนี้ยังคงไม่มีบริษัทที่เป็นตัวแทนในการบอกลาอย่างที่ออฟฟิศโทโรนาในเล่มกำลังทำอยู่ เราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบหน้าที่นั้นเอง แต่รูปแบบในการจากลาที่เราเลือกใช้อาจไม่เหมือนกัน หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้กลับมาขบคิดว่าเราจะมีวิธีการบอกลาอย่างไรให้จุดจบของความสัมพันธ์นั้นไม่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง และไม่พุ่งตรงไปกรีดแทงความรู้สึกของอีกฝ่าย หรือหากฝ่ายที่ถูกบอกลานั้นไม่ใช่ผู้คนแต่เป็นสิ่งของ เราก็ควรจะไตร่ตรองถึงคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ให้ดีเพื่อที่จะได้ไม่สูญเสียตัวตนของเราไป 

‘โทโรนา ออฟฟิศแห่งการลาจาก’ ไม่ได้เป็นเพียงนวนิยายที่เล่าถึงเพียงการตัดขาดจากความสัมพันธ์ แต่ยังเล่าถึงการที่ผู้บอกลานั้นให้ความสำคัญกับ ‘ตัวตน’ ของตัวเอง และนี่คือสิ่งสำคัญที่ซนฮย็อนจู ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อยากสื่อถึงผู้อ่านทุกคน

“ฉันอยากบอกคนหนุ่มสาวที่กำลังล่องลอยอยู่ในโลกโดยไม่มีเวลาได้ทำความรู้จักกับตัวเองจนรู้สึกกดดันและท้อแท้ว่า ไม่ว่าเมื่อไร การทำตามหัวใจตัวเองก็ยังไม่สาย” คือข้อความจากซนฮย็อนจูถึงผู้อ่าน

เรามองเห็นความเจ็บปวดในทุกจุดจบของความสัมพันธ์ เห็นความลำบากใจของผู้ที่ต้องเป็นฝ่ายบอกลา เห็นความผิดหวังและไม่อยากรับรู้ความจริงจากฝ่ายที่ถูกบอกลา แต่ท้ายที่สุด ทุกฝ่ายจะได้ตัวตนของตัวเองกลับคืนมาอีกครั้งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

การจากลาในแง่หนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ทำให้เราได้กลับมาสู่จุดเดิมของตัวเองและกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง เมื่อมีความสัมพันธ์ดี ๆ ที่ควรรักษา ก็ย่อมมีความสัมพันธ์ที่ไม่ควรเหนี่ยวรั้งไว้ แต่ก็มีข้อควรคำนึงอย่างหนึ่งที่อาจใช้ได้ในหลายกรณีนั่นคือ เราควรจะบอกลากันอย่างไรเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างได้รับตัวตนของตัวเองกลับคืนมา

ไม่แน่ว่านิยายเล่มนี้อาจจะช่วยปลอบประโลมใจทุกคนที่กำลังเหนื่อยล้ากับความสัมพันธ์ได้บ้างไม่มากก็น้อย


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา อุดทะอิน

เจ้าแกะที่ชอบวาดรูป ชอบอ่าน ชอบฟัง ชอบกินทุกอย่าง และเป็นติ่งไปเรื่อย

Related Posts