- ดิสเล็กเซียคือความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การสะกดคำ การทำความเข้าใจและการเขียนอธิบาย
- ดิสเล็กเซียถูกเข้าใจว่า ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘พยายามไม่มากพอ’ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ดิสเล็กซิกพยายามมากเกินไป ยิ่งพยายามมากก็ยิ่งสับสน
- ไม่มีคำว่าสายสำหรับการช่วยเหลือลูก ความรู้คือพลัง ยิ่งคุณรู้มาก คุณก็ยิ่งถามคำถามจากผู้เชี่ยวชาญได้มากและเข้าถึงความช่วยเหลือลูกได้
ลูกอ่านหนังสือไม่ออก ลูกอ่านหนังสือช้ากว่าเพื่อน ลูกเขียนตัวหนังสือกลับหัวกลับหาง สัญญาณเหล่านี้อาจทำให้พ่อแม่หวั่นใจ นี่ใช่ดิสเล็กเซียหรือเปล่า อาจจะใช่ และอาจจะไม่ใช่ เพราะปัญหาการเรียนรู้ส่วนมากเป็นสเปกตรัม มีหลายระดับซับซ้อน ดิสเล็กเซียไม่ใช่ข้อยกเว้น
Christina Tan ผู้ก่อตั้ง Singapore Dyslexia Intervention Services และกระบวนกรเดวิส (Davis facilitator) คนแรกของสิงคโปร์ ร่วมสนทนากับเราในหัวข้อดิสเล็กเซีย เล่าถึงนิยาม สัญญาณบ่งชี้เบื้องต้น แนวทางการช่วยเหลือต่าง ๆ ประสบการณ์ตรงในการช่วยเหลือลูกสาวยาวนานกว่าทศวรรษ ตลอดจนให้ความเห็นในเรื่องระบบการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษ และการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐในบริบทประเทศสิงคโปร์
สำหรับผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นกับคำนี้ ดิสเล็กเซีย (dyslexia) คืออะไร
คำอุปสรรค ดิส (dys-) มาจากภาษาละติน แปลว่า ความยากลำบากหรือด้อยคุณภาพ ส่วน เล็กเซีย (lexia) ภาษากรีกแปลว่า คำศัพท์ พูดง่าย ๆ ดิสเล็กเซียคือความบกพร่องทางการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การสะกดคำ การทำความเข้าใจและการเขียนอธิบาย
สัญญาณเริ่มต้นของดิสเล็กเซียมีอะไรบ้าง
ผู้ปกครองมักจะสังเกตว่าเด็กเขียนหนังสือกลับหน้ากลับหลัง เช่น เขียนตัว b เป็น d ตัว p เป็น q หรือแม้แต่สับสนระหว่าง w กับ y เมื่อบอกให้อ่าน พวกเขาจะอ่านภาพสะท้อน (mirror image) หรือสับสนมากกับคำที่มีชุดอักษรใกล้เคียงกัน ยกตัวอย่างคำว่า ‘saw’ พวกเขาอาจอ่านผิดเป็น ‘was’ หรือคำทั่วไปอย่าง ‘house’ อาจอ่านผิดเป็นคำว่า ‘horse’ อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบอกใบ้แรก ๆ ที่เราจะเห็น
หากเป็นดิสเล็กเซีย ประสาทสัมผัสทั้งสี่อย่างจะได้รับผลกระทบ อย่างแรกคือการมองเห็น อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว คุณอาจเห็นคำเป็นภาพสะท้อน อ่านผิด ละคำ เปลี่ยนหรือแทนที่คำ การได้ยินก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้หูเพี้ยนได้ ตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยคงจะเป็นเวลาสอนว่าเครื่องหมายอัศเจรีย์ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘exclamation mark’ เด็ก ๆ อาจตอบว่า ‘escalation mark’ ความผิดเพี้ยนในการฟังนี้เองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางเลือกการช่วยเหลือด้วยการอ่านโดยใช้เสียง (phonics based reading approach) ไม่ได้ผลสำหรับดิสเล็กซิกส่วนมาก เพราะพวกเขาแยกเสียงและผสมเสียงได้ลำบาก
อีกประสาทสัมผัสหนึ่งที่ได้รับผลกระทบคือการบอกเวลา ห้านาทีนานแค่ไหน สิบนาทีรู้สึกยังไง พวกเขาไม่รู้สึกว่าเวลาล่วงไปแล้ว การบอกทิศทางก็ไม่ค่อยเก่ง พวกเขาอาจสับสนซ้ายขวา ท้ายที่สุด การรับรู้สมดุลและทักษะการทำงานแบบสอดประสานของพวกเขาจะผิดปกติ พวกเขาอาจจะดูซุ่มซ่าม ความตระหนักรู้ด้านการมองเห็นและพื้นที่ของพวกเขาบิดเบี้ยว ดังนั้น ดิสเล็กเซียคือความผิดปกติทางการรับรู้ของประสาทสัมผัสต่าง ๆ
สาเหตุของดิสเล็กเซียคืออะไร
ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ สาเหตุของดิสเล็กเซียคือความสับสน ความสับสนในสัญลักษณ์ และภาษาทุกภาษาคือสัญลักษณ์ ความสับสนนี้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า คนเป็นดิสเล็กเซียส่วนใหญ่เป็น ‘นักคิดด้วยภาพ’ (picture thinker) ดังนั้น เมื่อพวกเขามองอะไรก็ตามที่ไม่สามารถคิดภาพหรือนึกตามได้ สิ่งเหล่านั้นก็จะไร้ความหมายสำหรับพวกเขา โดยส่วนมากแล้ว วัตถุในชีวิตจริงส่วนมากไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ แต่ปัญหาจะเกิดเมื่อพวกเขาเห็นตัวอักษร ยกตัวอย่างเช่น จากมุมมองหนึ่งตัว p ดูคลายกับตัว q เป็นต้น นี่เป็นเรื่องที่ธรรมชาติมาก ๆ สำหรับคนเป็นดิสเล็กเซีย
มีปัจจัยสามประการที่ร่วมกันก่อให้เกิดความท้าทายที่เหล่าคนเป็นดิสเล็กเซียต้องเผชิญ ประการแรกคือความคิด ซึ่งคือความชอบคิดเป็นภาพ ประการที่สองคือความสามารถในการรับรู้ คนเป็นดิสเล็กเซียหรือที่เรียกว่าดิสเล็กซิก (dyslexic) มีความสามรถในการขยับมุมมองไปรอบ ๆ วัตถุ ซึ่งทำให้เกิดความสับสนอย่างมากเมื่อพวกเขาใช้ความสามารถนี้ขณะอ่าน ปัจจัยสุดท้ายคือความสับสนในกาลสถานที่และบุคคล (disorientation) อันเป็นวิธีการเฉพาะในการตอบสนองต่อความสับสน ยกตัวอย่างคุณขึ้นรถไฟ มีรถไฟอีกขบวนอยู่ข้าง ๆ เมื่อรถไฟขบวนนั้นเคลื่อนที่ คุณคิดว่ารถไฟของคุณเคลื่อนออกจากชานชาลา เกิดความขัดแย้งของข้อมูลระหว่างสิ่งที่ตาเห็นกับสิ่งที่สมองประมวลผล สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา เรื่องอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่สำหรับดิสเล็กซิก มันเกิดขึ้นเป็นร้อยเป็นพันครั้งตลอดวัน ผลคือความไม่สม่ำเสมออย่างสม่ำเสมอของพวกเขาที่ปรากฏให้เห็นเวลาเรียนรู้แบบฝึกหัดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับระดับความมั่นคงและสับสนของพวกเขา
เข้ามาทำงานเกี่ยวกับดิสเล็กเซียได้ยังไง
แน่นอนว่าเป็นเพราะลูกสาวเป็นดิสเล็กเซีย ตอนนี้ลูกอายุ 18 ปีแล้ว แต่ตรวจเจอดิสเล็กเซียตั้งแต่หกขวบ สมัยยังเด็ก อายุประมาณห้าขวบ เราส่งแกกับพี่สาวไปเรียนเสริมทักษะ ลูกสองคนเรียนเสริมทักษะภาษาอังกฤษห้องเดียวกัน แต่ฉันเห็นความแตกต่างในทักษะของลูกคนเล็กกับคนโต ลูกคนที่เป็นดิสเล็กเซียมีคลังศัพท์เยอะเวลาพูด แต่พอทางศูนย์แนะนำให้สอบเลื่อนชั้น แล้วฉันต้องพาแกไปเข้ารับการทดสอบแบบตัวต่อตัว ลูกจะไม่อยากมองคำศัพท์หรือตอบคำถาม สักพักแกจะงอแงและสติแตก ฉันคิดว่าแปลกมาก เธอใช้ภาษาพูดได้ แต่กลับจำศัพท์เดียวกันกับที่ใช้พูดไม่ได้ ตอนนั้นเองที่ฉันตั้งภารกิจออกตามหาคำตอบ ฉันไปคุยกับเพื่อนนักจิตวิทยา หลังจากทราบอาการ เพื่อนก็แนะนำว่าให้ตรวจเพิ่มเติมในด้านภาวะดิสเล็กเซีย
ฉันเจอกระบวนการชื่อว่ากระบวนการช่วยเหลือผู้เป็นดิสเล็กเซียเดวิส (Davis Dyslexia Correction) และหลังเข้ารับการช่วยเหลือไปได้ 30 ชั่วโมง จากที่ลูกสาวฉันจำศัพท์ไม่ได้และมีคลังคำจำกัด ลูกอ่านย่อหน้าที่มี 4-5 ประโยคได้ด้วยตัวเอง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นก่อนเข้ารับการช่วยเหลือ พอเห็นการเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างนี้ ตั้งแต่ตอนนั้นฉันก็อยากเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว แต่สมัยนั้นการฝึกอบรมมีแค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
แค่ราว ๆ ห้าปีที่ผ่านมานี้เองที่ฉันเดินทางไปเรียนอนุปริญญาด้านพิการศึกษา (disability studies) ฉันทำวิจัยอยู่ แล้วก็เพิ่งรู้ว่าเขามีเปิดอบรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฉันบินไปนิวซีแลนด์ทุก ๆ สามเดือนอยู่หนึ่งปีเพื่อเรียนภาคทฤษฎีให้จบ พอกลับมาสิงคโปร์ ฉันวางตารางทำงานจริง ทำงานร่วมกับคนธรรมดาและดิสเล็กซิก สมัยนั้นมีกระบวนกรเดวิสแค่คนเดียวในสิงคโปร์ ซึ่งค่อนข้างน่าเสียดาย เพราะมีดิสเล็กซิกจำนวนมากที่เข้ารับการช่วยเหลือด้วยเสียงแล้วไม่ได้ผลและต้องการทางเลือกการช่วยเหลืออื่น
คนเป็นดิสเล็กเซียมีมากแค่ไหน
พูดได้ว่าประมาณ 15-20% ของทุกกลุ่มประชากรเป็นดิสเล็กเซีย ในสิงคโปร์ เปอร์เซ็นต์ของเด็กประถมที่เป็นดิสเล็กเซียอยู่อันดับสูงสุด รองลงมาคือ ADHD และ ASD มันเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ค่อยมีใครตระหนักถึง ในอดีต คนปัดตกปัญหานี้ด้วยการตีตราว่า ‘เธอเรียนไม่ได้’ หรือ ‘เธอไม่มีพรสวรรค์ด้านการเรียนรู้’ นั่นเป็นสาเหตุที่ฉันคิดว่าทำให้ยังไม่มีการวินิจฉัยมากเพียงพอ
ความเข้าใจผิดที่คนส่วนมากมีต่อดิสเล็กเซียมีอะไรบ้าง
คนมักจะคิดว่าดิสเล็กเซียเกิดจากความเสียหายในสมอง แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง สมองต้องทำงานไม่ได้ไปตลอดสิ ในกรณีนี้ บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ คือดิสเล็กซิกใช้สมองซีกขวาในการประมวลผลข้อมูลที่ต้องใช้สมองซีกซ้าย ฉะนั้น ถ้าช่วยส่งเสริมและฝึกสมองซีกซ้ายใหม่ มันก็อาจจะดีขึ้นบ้างบางส่วน
การพูดว่าคนที่เป็นดิสเล็กเซียและต้องหัวทึบนั้นไม่เป็นความจริง คนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นดิสเล็กเซียเป็นคนที่มีระดับสติปัญญาปกติ ไม่อย่างนั้นคุณถูกการวินิจฉัยว่าเป็นอาการอื่น ดังนั้น ดิสเล็กเซียไม่ใช่ปัญหาความบกพร่องทางสติปัญญา
นอกจากนั้น ดิสเล็กเซียถูกเข้าใจว่า ‘ขี้เกียจ’ หรือ ‘พยายามไม่มากพอ’ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ดิสเล็กซิกพยายามมากเกินไป ยิ่งพยายามมากก็ยิ่งสับสน
อีกอย่างคือ ไม่จริงเลยที่ว่าดิสเล็กซิกทุกคนอ่านหนังสือไม่ออก ดิสเล็กซิกบางคนอ่านเก่ง แต่สับสนหน้าที่ของเครื่องหมายวรรคตอน และไม่รู้ความหมายของคำที่พบบ่อยบางคำ ส่งผลให้ความเข้าใจตัวบทผิดเพี้ยนไป ดิสเล็กซิกบางคนไม่เข้าใจคำถามโดยนัย ดังนั้นคำตอบจะต้องชัดเจนจึงจะเข้าใจได้ มันเป็นสเปกตรัม ดิสเล็กซิกแต่ละคนเผชิญความท้าทายแตกต่างกัน
สมัยนั้นการหากระบวนการช่วยเหลือที่ได้ผลในสิงคโปร์ยากไหม
ฉันมีตัวเลือกสองทาง แนวทางที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือแนวทางออร์ตอน-กิลลิงแฮม (Orton-Gillingham approach) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เสียงในการช่วยเหลือเป็นหลัก อีกกระบวนการที่ฉันเจอคือแนวทางเดวิส ผู้คิดค้นกระบวนการนี้คือโรนัลด์ ดี. เดวิส ซึ่งเป็นทั้งดิสเล็กเซียและออทิสติก เขาหัดอ่านหนังสือเองตอนอายุ 28 ปีและรักษาอาการออทิสติกด้วยตัวเอง เขาค้นพบว่าดิสเล็กเซียไม่ใช่โรค แต่เป็นผลรวมของปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ ความคิด ความสามารถในการรับรู้ และความสับสนในกาลสถานที่และบุคคล ซึ่งสามารถแก้ไขไปได้ทีละขั้น เขาร่วมมือกับนักจิตวิทยาการศึกษาจนค้นพบขั้นตอนซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแนวทางและเคล็ดลับที่บรรจุในกระบวนการเดวิส
ในสิงคโปร์ เด็กส่วนมากถูกสอนให้อ่านโดยใช้ระบบเสียง แต่นั่นไม่ได้ผลกับลูกสาวของฉัน กลับกัน ฉันพบว่ากระบวนการเดวิสตอบคำถามฉันหลายข้อ อย่างเช่นทำไมการเรียนรู้ของดิสเล็กซิกถึงไม่สม่ำเสมออย่างสม่ำเสมอ ทำไมถึงพูดได้แต่กลับจำคำเดียวกันกับที่พูดไม่ได้ ทำไมคำพบได้บ่อยถึงกระตุ้นให้ดิสเล็กซิกอ่านผิดเวลาอ่าน ทำไมถึงเขียนตัวหนังสือกลับด้าน ทำไมถึงอ่านข้ามบรรทัดเวลาอ่าน เราจะรับมือกับอุปสรรคเหล่านี้ยังไง ถึงตอนนั้นฉันตัดสินใจลองให้ลูกเข้ากระบวนการนี้ดูสักตั้ง
เล่าเรื่องกระบวนการเดวิสให้ฟังหน่อยได้ไหม ใช้วิธีใดบ้าง แต่ละขั้นตอนทำงานอย่างไร
แนวทางเดวิสเชื่อส่วนมากดิสเล็กซิกเป็นนักคิดด้วยภาพ ผู้มีปัญหาการรับรู้การมองเห็น การได้ยิน การรับรู้เวลา สมดุลและความสับสนในกาลสถานที่และบุคคล พวกเขาสับสนกับสัญลักษณ์ และภาษาทุกภาษาคือสัญลักษณ์ เมื่อความสับสนเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง พวกเขาจะสับสนในกาลสถานที่และบุคคลโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น อย่างแรกที่เราทำคือการปิดสวิตช์ความสับสนงุนงง เพราะมันนำไปสู่ความสับสนในกาลสถานที่และบุคคล มันคือการฝึกจิตใจให้เด็กมีการรับรู้ที่มีเสถียรภาพ และลดข้อผิดพลาดต่าง ๆ
ขั้นตอนถัดมา คือ การเข้าถึงจุดกำเนิดของความสับสนและเปลี่ยนให้เป็นความมั่นใจ เมื่อฝึกใช้เครื่องมือและเคล็ดลับได้อย่างชำนาญแล้ว เด็กจะมีพัฒนาการที่รวดเร็วและจะมีความสม่ำเสมอในการเรียนรู้ ดิสเล็กเซียช่วยเหลือได้แต่จะไม่หายไป ฉันมักเปรียบเทียบอย่างนี้ ถ้าคุณสายตาสั้น คุณจะต้องสั่งตัดแว่นตาที่จะช่วยให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้น แต่สภาวะสายตาสั้นยังคงเดิม ไม่สามารถกลับไปเป็นปกติได้
สิ่งอำนวยความสะดวกใดบ้างที่นักเรียนดิสเล็กซิกส่วนมากต้องการ
ดิสเล็กซิกมักจะมีความเร็วในการประมวลผลข้อมูลช้าเพราะต้องเปลี่ยนจากคำเป็นภาพและเปลี่ยนจากภาพเป็นคำอีกครั้ง ดังนั้น การเพิ่มเวลาให้จะช่วยได้มากหากต้องนั่งทำข้อสอบ บางคนอาจต้องการให้ข้อสอบพิมพ์ลงบนกระดาษแผ่นใหญ่พิเศษ ตัวอักษรขนาดใหญ่พิเศษ หรือพิมพ์ลงบนหน้าเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงใดในระบบการศึกษาจะช่วยสนับสนุนนักเรียนที่มีภาวะดิสเล็กเซียได้มากขึ้น
กุญแจสำคัญคือการเสริมความแข็งแรงให้กับจุดแข็งของพวกเขา หลายคนมองว่านี่เป็นความบกพร่อง ดังนั้น ครูหรือผู้ปกครองจึงมักจะใช้การฝึกและวิธีการที่เน้นย้ำซ้ำ ๆ เวลาสอนนักเรียนหรือลูกให้อ่าน ทว่าดิสเล็กซิกนั้นยังเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความทรงจำจะคงอยู่ได้นานขึ้นมาก หากพวกเขาสามารถใช้แนวทางการเรียนรู้ที่ผนวกประสาทสัมผัสหลายอย่างเข้าด้วยกัน และใช้ความสามารถด้านการมองเห็นและการรับรู้พื้นที่ของพวกเขา
รัฐบาลสิงคโปร์รับรู้ปัญหานี้หรือเปล่า มีแนวทางแก้ไขอย่างไรบ้าง
ความต้องการพิเศษทางการศึกษาเป็นปัญหาที่ตระหนักกันในสิงคโปร์ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้ก่อตั้งคณะนักการศึกษาสำหรับการศึกษาพิเศษ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วประกอบด้วยที่ปรึกษาในโรงเรียนและนักการศึกษาสำหรับการศึกษาพิเศษหนึ่งถึงสองคนเพื่อช่วยในด้านการเรียนรู้และพฤติกรรม ในโรงเรียนทั่วไป นักเรียนที่มีคะแนนรั้งท้าย 10% ที่มีปัญหาด้านการอ่านเขียนจะถูกดึงตัวแยกออกมาหลังเลิกเรียนแล้วจัดเข้ากลุ่ม แม้ว่านี่จะเป็นการดำเนินการที่ดี แต่อัตราส่วนระหว่างนักการศึกษาสำหรับการศึกษาพิเศษกับนักเรียนยังต่ำมาก อีกทั้งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการศึกษาไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
นอกจากการสนับสนุนทางการเรียนรู้จากโรงเรียน ผู้ปกครองสามารถเลือกส่งลูกไปที่ สมาคมดิสเล็กเซียแห่งสิงคโปร์ (Dyslexia Association of Singapore) ซึ่งแม้จะได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลแล้วแต่ยังมีค่าใช้จ่าย และต้องใช้เวลาในการรอเข้าร่วมชั้นเรียนนานพอสมควร
ผู้ปกครองรู้สึกผิดเมื่อรู้ว่าลูกมีภาวะดิสเล็กเซีย ฝากข้อความอะไรถึงพวกเขาหน่อยได้ไหม
เป็นธรรมดาที่ผู้ปกครองจะโทษตัวเองที่ไม่สังเกตอาการแต่เนิ่น ๆ หรือรีบเข้าถึงความช่วยเหลือเร็วกว่านี้ แต่แทนที่จะจมจ่อมอยู่กับความรู้สึกผิด ฉันบอกพ่อแม่ผู้ปกครองเสมอว่า ไม่มีคำว่าสายสำหรับการช่วยเหลือลูก ขั้นแรกคือการหาความรู้ที่จำเป็น เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาได้
ความรู้คือพลัง ยิ่งคุณรู้มาก คุณก็ยิ่งถามคำถามจากผู้เชี่ยวชาญได้มาก และเข้าถึงความช่วยเหลือลูกได้ คำถามจะนำไปสู่คำตอบ และคำตอบจะนำไปสู่ทางออกของปัญหา