“ทำไมไม่โตสักที อายุขนาดนี้แล้ว ยังจะแต่งตัวเป็นการ์ตูนแบบนี้อยู่อีก” พ่อถามลูกชายวัย 17 ปีที่กำลังจะออกไปงานรวมตัวของผู้ชื่นชอบการแต่งคอสเพลย์ “เฮ้อ เด็กสมัยนี้” พ่อถอนหายใจก่อนเตรียมจะไปพูดกับเพื่อนๆในแชทกลุ่ม และอ่านข่าวที่ขึ้นมาใน news feed ของตัวเอง
“พ่อไม่มีวันเข้าใจหรอก” ลูกชายไม่พูดอะไร แต่เมื่อก้าวเท้าออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟฟ้า ตอนนั้นเหมือนดังใจนึก บทความจากโซเชียลมีเดียก็กระเด้งขึ้นมาพอดี เป็นบทความที่พูดถึงเด็กที่ไม่ได้รับการสนับสนุนความฝันและความถนัดจากพ่อแม่ “เห็นไหม พ่อไม่มีวันเข้าใจจริงๆ พ่อเราเป็นเหมือนในข่าวนี้เลย” จากนั้นก็กดแชร์บทความนี้ไป พร้อมกับเพื่อนๆ จำนวนมากที่มากดไลค์แล้วกดแชร์ต่อกันต่อๆ เพราะมีประสบการณ์คล้ายๆ กัน
“พ่อไม่มีวันเข้าใจหรอก”
“พ่อไม่มีวันเข้าใจหรอก”
“พ่อไม่มีวันเข้าใจหรอก”
“เด็กสมัยนี้”
“เด็กสมัยนี้”
“เด็กสมัยนี้”
เสียงสนับสนุนอันมาจากความชาญฉลาดของอัลกอริทึ่มในโซเชียลมีเดียที่ช่วยหาบทความ โพสต์ หรือกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกันมาช่วยซ้ำและย้ำความคิดของ ‘พ่อ’ และ ‘ลูก’ ที่มี ‘ความแตกต่าง’ จากช่วงวัย วิธีคิด และวิธีการมองโลกแบบคนละยุคสมัย อันที่จริง ‘ความแตกต่าง’ แบบนี้ก็ดูปกติและเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมหลายต่อหลายครั้ง แต่ในโลกปัจจุบันมันถูกขยาย ถูกทำให้เสียงดังขึ้น และยิ่งพูด ยิ่งพิมพ์ ค้นหามากเท่าไหร่ ยิ่งได้ยินเสียงของมุมมองที่สอดคล้องกับความคิดของเรามากขึ้นเท่านั้น
โตมร ศุขปรีชา ให้นิยาม “echo chamber” ไว้ว่า ‘ห้องที่สะท้อนแต่เสียงตัวเอง’ เขากล่าวถึงโซเชียลมีเดียที่มอบอำนาจการคัดเลือกข้อมูลให้กับเรา (filter bubble) และทำให้เราเข้าถึงเฉพาะข้อมูลที่เป็นการตอกย้ำโลกทัศน์เดิมๆ แทนจะเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กว้างขึ้น และยิ่งเราพูดออกไปเสียงดัง และรุนแรงมากขึ้นเท่าไหร่ เสียงสะท้อนยิ่งกลับมาชัดมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อขาดการถกเถียง หรือมุมมองที่แตกต่าง ยิ่งทำให้เราเผลอปักใจเชื่อไปเองว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมน่าจะคิดเหมือนเรา
จากเรื่องของพ่อกับลูกต่างเจนเนอเรชั่น พ่อสร้าง echo chamber ของตัวเองขึ้นมาจากแชทกลุ่มเพื่อนๆ ที่มีลูกวัยเดียวกันมีปัญหาคล้ายๆ กัน และเข้าอกเข้าใจกันดี ส่วนตัวลูกเองเมื่อโพสต์ถูกเขียนขึ้น ได้รับยอดไลค์ และยอดแชร์ เสมือนตัวเลขเหล่านั้นย้อนกลับมาบอกว่า คนส่วนใหญ่ (เฉพาะที่แพลตฟอร์มกรองมาให้) คิดเหมือนกัน
ทั้ง ‘พ่อ’ และ ‘ลูก’ ต่างคนต่างสร้าง echo chamber ของตัวเองร่วมกับอัลกอริทึ่มของโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้ตัว พื้นที่ออนไลน์กลายเป็นพื้นที่คอนเฟิร์มวิธีคิดว่า ‘พ่อก็คิดถูก’ และ ‘ลูกก็คิดถูก’ ห้องที่สะท้อนแต่เสียงตัวเองทำงานอย่างขะมักเขม้นทุกวันจนทำให้ พ่อได้รับข้อมูลเฉพาะที่ตรงกับความเชื่อของพ่อ เช่นเดียวกันกับที่ลูกก็ได้รับสิ่งที่ตอกย้ำวิธีคิดของเขา และทั้งสองเริ่มปฏิเสธความคิดเห็นอื่นๆ ที่แตกต่าง และใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อลูกคู่นี้กำลังปรากฎขึ้นกับพวกเราทุกคนในทุก ๆ วันด้วยเช่นกัน
“การที่อินเตอร์เน็ตให้อำนาจผู้ใช้งานสามารถเลือกรับเนื้อหาตามที่ตนเองต้องการ อาจนำไปสู่แนวโน้มที่แต่ละคนเลือกเข้าร่วมกลุ่มกับคนที่มีมุมมองหรือความเชื่อคล้ายกัน และปิดกั้นการรับรู้มุมมองหรือความเชื่อของฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นว่า เทคโนโลยียิ่งช่วยพอกพูนอคติ ในใจของแต่ละคนให้หนาแน่นมากขึ้น” เดวิด โรเบิร์ต กริมส์ นักฟิสิกส์ชาวไอร์แลนด์ เขียนบทความที่ชื่อว่า “Echo chambers are dangerous – we must try to break free of our online bubbles” ในเว็บไซต์ The Guardian
confirmation bias หรือ ‘ความเอนเอียงแบบยืนยัน’ เป็น 1 ใน 127 cognitive biases หรือ ความเอนเอียงทางกระบวนการคิด ซึ่งเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่พัฒนาสมมติฐานของเราให้กลายเป็นความเชื่อที่แข็งแรง โดยการเลือกมองเฉพาะข้อมูล ที่อยากจะได้ยิน และอยากจะเชื่อเพื่อให้อัตตาของเราพึงพอใจ ในขณะที่การพิสูจน์ความจริง หรือการมองหาหลักฐานที่เห็นต่าง นั้นขัดกับสัญชาตญาณของมนุษย์ ดังนั้นเมื่อมีข้อมูลอะไรที่ ‘บังเอิญ’ ผ่านเข้ามาในหน้าจอสี่เหลี่ยม เราพร้อมจะเอนเอียงไปตามความเชื่อของเราทันทีอย่างไม่มีข้อสงสัย
ความเอนเอียงของกระบวนการคิดที่นำไปสู่ความขัดแย้ง
ความเอนเอียงเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เมื่อเราทุกคนต่างมี echo chamber ของตัวเอง และพื้นที่เหล่านั้นจะเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกันในโลกออนไลน์ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เรายังต้องพบเจอกันอยู่ทุกวัน เห็นกันทุกวัน โดยที่เราต่างพกเอาเสียงคอนเฟิร์มในโลกออนไลน์มาเป็นแรงสนับสนุนความคิดที่เรามีต่ออีกฝ่าย ‘พ่อ’ ที่ยังไม่เข้าใจภาพลักษณ์และตัวตนของลูก เลือกจะไม่ถาม และไม่ได้พยายามทำความเข้าใจความแตกต่างของรสนิยมและยุคสมัย แต่การรู้สึกไม่พอใจกับภาพลักษณ์ของลูก ทำให้พ่อไปบ่นระบายความอึดอัดนั้นในโลกออนไลน์แทนการพูดคุยเพื่อความเข้าใจ และเมื่อพ่อเลือกดังนั้น ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อนของตัวเอง’ ย่อมพร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และคอนเฟิร์มโลกทัศน์ของพ่อให้ชัดขึ้นทุกที
ตัวลูกเองก็เช่นกัน ในวัยที่กำลังค้นหาและพัฒนาตัวตนอาจไม่สามารถคุยหรือโต้เถียงกับพ่อในชีวิตจริงได้ และเลือกมองหาความเข้าใจจากคนวัยเดียวกันที่คิดคล้ายๆ กัน ทั้งสองฝ่ายสะสมอคติในใจ และนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่อาจบรรจบกันได้ ปรากฎการณ์นี้อาจเหมือนกับที่สารคดี “Five Steps to Tyranny” ของสำนักข่าว BBC เมื่อปี 2001 โดยที่ประเด็นสำคัญคือการชวนมองบันไดทีละขั้นในเชิงจิตวิทยาที่นำไปสู่ความรุนแรงและเกลียดชังระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง
บันไดของความขัดแย้งนี้มี 5 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1: แบ่งแยกพวกเขาจากพวกเรา
ขั้นที่ 2: เชื่ออำนาจโดยไม่ตั้งคำถาม
ขั้นที่ 3: พร้อมทำร้ายกันและกัน เมื่อรู้สึกเหนือกว่าพวกอื่นและอยู่ในอำนาจ
ขั้นที่ 4: เลือกข้าง เมินเฉยกับฝ่ายตรงข้ามและช่วยเหลือเฉพาะฝ่ายเดียวกัน
ขั้นที่ 5: ทำร้ายอีกฝ่ายได้แบบไม่ต้องลังเลใจ
สารคดีเรื่องนี้ถูกทำขึ้นภายใต้บริบทของผู้นำและผู้มีอำนาจทางการเมือง ที่ดูห่างไกลจากชีวิตของเรา แต่การพัฒนาของเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อาจกำลังกระจายวิธีคิดในลักษณะเดียวกันนี้ให้กับคนในสังคม ในขั้นที่สองที่กล่าวถึงอำนาจในบริบทการปกครอง อาจจะเป็นการพูดถึงอำนาจของสื่อในบริบทของประชาชน อย่างไรก็ดีในแทบทุกขั้น เราได้เห็นปรากฎการณ์เหล่านี้ของความเกลียดชัง และความรุนแรงเหล่านี้ผ่านสื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ แทบทุกประเด็นในปัจจุบัน
เมื่อโลกเปลี่ยนไป ‘พื้นที่ของความแตกต่าง’ ถูกขยายเสียงและถูกให้คุณค่า คำถามสำคัญคือ พื้นที่ตรงกลางที่จะเป็น ‘พื้นที่แห่งความเข้าใจ’ ในสังคมนั้นอยู่ตรงไหน พื้นที่นั้นจะเติบโตและพัฒนาขึ้นทันการแบ่งแยกที่ถูกไฮไลท์ขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติทุกวันนี้ไหม
เอาชนะ confirmation biases และขยายพื้นที่ echo chamber
ตัวอย่างของ ‘พ่อ’ กับ ‘ลูก’ เป็นตัวอย่างเล็กๆ จากหน่วยย่อยในสังคมที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตประจำวัน แต่สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในทุกส่วนของสังคม
‘ลูกน้อง’ ‘เจ้านาย’ ‘ครู’ ‘นักเรียน’ ‘ขั้วทางการเมือง’ ‘ความเชื่อทางสังคม’ โซเชียลมีเดียมีพื้นที่เพียงพอที่จะช่วยให้คนคิดคล้ายๆ กันพัฒนาความเชื่อ และวิธีคิดที่ของตัวเองให้ชัดเจน แต่การอยู่ร่วมกันในสังคมอาจจะต้องการมากกว่าความเชื่อที่หนักแน่นภายในกลุ่มของตัวเอง และอาจเรียกร้องให้ออกจาก echo chamber ไปทำความเข้าใจกันและกันให้มากขึ้น
ดร. ลิซ่า แมคเคลน จิตแพทย์ผู้อำนวยการด้านสุขภาวะทางการแพทย์จากศูนย์สุขภาพ Henry Ford ได้ให้คำแนะนำถึง 5 แนวทางในการออกจาก echo chamber เพื่อให้ทั้งบุคคลและสังคมมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางความคิดและจิตใจ ดังนี้
- ยอมรับว่าเราทุกคนต่างมี echo chamber ของตัวเอง และความเอนเอียงในกระบวนการคิดนั้นเกิดขึ้นจริง การรับรู้ความจริงข้อนี้ เป็นขั้นแรกที่ทำให้เรามีความพยายามมากขึ้นในการฟังและยอมรับมุมมองที่แตกต่างจากผู้อื่น ในขั้นที่ 1 นี้หากเรา ‘รู้ตัว’ ว่าเมื่อไหร่เราอยู่ใน echo chamber จะยิ่งทำให้เราตระหนักและออกจากพื้นที่ตรงนั้นได้เร็วยิ่งขึ้น
- ฝึกนิสัยของการเช็คข้อมูลจากหลายแหล่งข่าว เพื่อทำให้มั่นใจว่าได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอในเรื่องราวนั้นๆ
- มองหา หรือพูดคุยกับคนที่มีความคิดเห็นและมุมมองแตกต่าง และรับฟังด้วยความคิดของเขาด้วยความเคารพ
- จำไว้ว่า แค่เพียงเพราะคุณอยากให้บางอย่างเป็นจริง ไม่ได้แปลว่าเรื่องนั้นเป็นข้อเท็จจริง
- เลือกอ่านหนังสือหรือสื่อที่สร้างประสบการณ์ที่แตกต่างจากความเคยชินปกติ การอ่านจะช่วยให้มี empathy และความเข้าใจกับประสบการณ์ที่แตกต่างได้มากยิ่งขึ้น
บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ความสุขประเทศไทย x mappa ภายใต้โครงการ ‘อ่านมนุษย์’ สนับสนุนโดย ธนาคารจิตอาสา ความสุขประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จะชวนทุกท่านลองมองมนุษย์ให้ลึกไปมากกว่า ‘การตัดสินด้วยตา’ แต่รับรู้กันและกันได้ ‘ด้วยใจ’
อ้างอิง
https://blog.cofact.org/echo-chamber-hate-speech/ (จาก‘ECHO CHAMBER’สู่‘HATE SPEECH’:Cofact’
https://thematter.co/social/brief-1561738201/79734 (ทำไมมนุษย์ถึงมองว่าอีกฝ่ายควรถูกทำร้าย? เข้าใจผ่านสารคดี 5 Five Steps To Tyranny : The matter)
https://www.bbc.com/future/article/20180416-the-myth-of-the-online-echo-chamber (The myth of the online echo chamber : BBC)
https://www.henryford.com/blog/2022/02/why-its-important-to-get-out-of-your-echo-chamber Why It’s Important To Get Out Of Your Echo Chamber—And How To Do It : Henry Ford Health)
Social Network ‘เปิดโลกกว้าง’ หรือ ‘สร้างกะลา ปรากฎการณ์ Echo Chamber และผลกระทบทางสังคม : อัลเบอท ปอทเจส