- EDeaf (Education for the Deaf) คือ พื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างคนหูหนวกและคนหูดี ผ่านห้องเรียนนอกหลักสูตรที่ไม่ได้สอนวิชาการ แต่สร้างกิจกรรมเพื่อเติมทักษะใหม่ให้คนหูหนวกเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น วิชาตัดต่อวิดีโอ ถ่ายภาพ ทำอาหาร ออกแบบกราฟิก เต้นและการแสดง เป็นต้น
- นัท ยุทธกฤต เฉลิมไทย หนึ่งในผู้ก่อตั้ง EDeaf เชื่อว่า คนหูดี-หูหนวกสื่อสารกันได้ แม้คนหูหนวกจะไม่ได้ยิน และคนหูดีจะใช้ภาษามือไม่ได้ แต่ยังมีอีกหลายวิธีที่เราจะเข้าใจกันและกัน
- ชวนคุยกับทีม EDeaf (อ่านว่า เอ็ด-เด็ฟ) โครงการที่อยากเปลี่ยนแปลงการศึกษาคนหูหนวก พวกเขาเชื่อว่า สภาพแวดล้อมที่เข้าใจและการโอบรับความแตกต่างจะช่วยเปิดพื้นที่ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคนหูหนวกหรือคนหูดีก็ตาม
ถ้าไม่รู้ภาษามือจะคุยกับคนหูหนวกรู้เรื่องไหม?
หลายคนตั้งคำถามและมองว่าการสื่อสารกับคนหูหนวกเป็นเรื่องยาก เราไม่มีวันเข้าใจ เพราะไม่รู้ภาษามือ ทำตัวไม่ถูกหากต้องเริ่มบทสนทนากับคนหูหนวกก่อน
แต่ในโครงการ EDeaf (Education for the Deaf) เปิดพื้นที่ให้คนหูดีและคนหูหนวกสื่อสาร แม้ไม่ได้ยินและไม่รู้ภาษามือ อย่างน้อยเป็นการพิสูจน์ว่า อุปสรรคที่แท้จริงไม่ใช่กำแพงภาษา แต่คือ ‘ทัศนคติ’ ที่ทำให้โลกของคนหูดีและคนหูหนวกห่างกัน
“สังคมไทยมองว่าคนพิการหรือคนหูหนวกจะต้องได้รับการช่วยเหลือตลอดเวลา แต่จริง ๆ แล้วคนหูหนวกสามารถลุกขึ้นมาทำอะไรได้เหมือนกัน เราอยากเห็นสังคมที่คนหูหนวกและคนหูดีอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ทำให้ทุกคนเห็นว่าคนหูหนวกก็เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสังคมได้เช่นกัน”
นัท ยุทธกฤต เฉลิมไทย ผู้ก่อตั้งโครงการ EDeaf เล่าว่า จุดประสงค์ของโครงการ คือ การเป็นพื้นที่ปลอดภัยระหว่างคนหูหนวกและคนหูดีให้พร้อมเรียนรู้ไปด้วยกัน
รายงานสถิติคนพิการในประเทศไทยของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2564 พบว่า ปัจจุบันมีผู้พิการทางการได้ยิน 393,027 คน มากเป็นอันดับ 2 ของผู้พิการทั้งหมด รองจากผู้พิการทางการเคลื่อนไหว
เราอาจเคยเดินสวนกับคนหูหนวกนับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เคยสังเกตเห็น พวกเขามีตัวตน เพียงแต่สังคมไม่ได้ยินเสียงก็เท่านั้น
mappa ขอพาคุณผู้อ่านมารับฟังและทำความรู้จักโลกการเรียนรู้ในคอมมูนิตี้คนหูหนวกไปพร้อมกับทีม EDeaf กลุ่มคนอาสาที่มีความเชื่อร่วมกันว่า คนหูหนวกสามารถเป็นเพื่อนกับคนหูดีได้ และคนหูหนวกก็เริ่มต้นเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้เหมือนกับคนทั่วไป ประกอบด้วย
- เอิ๊ก – ปารเมศ ภาษิตปรัชญา อดีตครูอาสาถ่ายภาพ และที่ปรึกษาโครงการ EDeaf
- ปิ่น – ปิตินันท์ ปัญญาศรีวินิจ Project Leader และหัวหน้าทีม Learning & Development EDeaf Season 4
- มายด์ – ลดาภรณ์ สันติชัยกมลกุล คนหูหนวกและอาสาสอนภาษามือ โครงการ EDeaf
- เบลล่า – วิมลศรี จินดานุ นักเรียนหูตึงในโครงการ EDeaf
พื้นที่เชื่อมสัมพันธ์ของโลกไร้เสียง
จุดเริ่มต้นของโครงการ เกิดขึ้นหลายปีก่อน เมื่อนัทเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกนักเรียนไทยไปโครงการแลกเปลี่ยนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งปีนั้นเป็นครั้งแรกที่นักเรียนหูหนวกได้รับการคัดเลือก “เราส่งน้องหูหนวกไปปีแรก พอกลับมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาตอนที่ไปอยู่อเมริกา เลยจัดค่ายเพื่อ inspire น้องหูหนวก ในค่ายก็ถ่ายทอดเรื่องการเข้าใจคนหูหนวก ให้คนหูดีและหูหนวกมาเป็นสตาฟ ให้น้องหูหนวกมาร่วมค่าย แต่สุดท้ายเราก็รู้สึกว่ามันแค่ inspire ไม่ได้มีการเรียนรู้ระยะยาว เลยเป็นที่มาของโครงการ EDeaf”
EDeaf คือ โครงการที่สร้างพื้นที่กลางสำหรับคนหูหนวกและหูดี ผ่านห้องเรียนนอกหลักสูตร โดยเปิดรับอาสาสมัครเข้ามาสอนวิชาทักษะอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากวิชาการให้นักเรียนหูหนวก เช่น วิชาถ่ายภาพ ทำอาหาร ตัดต่อวิดีโอ ออกแบบกราฟิก เต้นและการแสดง เป็นต้น
แต่ละซีซันเปิดรับสมัครทีมงานและครูอาสาหูดี – หูหนวกที่ถนัดในทักษะวิชาต่าง ๆ เพื่อเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับนักเรียนหูหนวกในโครงการหรือ ‘น้องหู’ ในสถาบันการศึกษาสำหรับคนหูหนวก
ปัจจุบันรูปแบบการเข้าระบบการศึกษาของเด็กหูหนวก แบ่งเป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ สามารถเรียนร่วมกับเด็กหูดีได้ในโรงเรียนที่มีหลักสูตรเรียนร่วม โดยมีครูสอนปกติ แต่จะมีล่ามภาษามือประกอบให้ กับอีกรูปแบบ คือ เรียนกับเด็กหูหนวกด้วยกันที่ ‘โรงเรียนโสตศึกษา’ เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กหูหนวกโดยเฉพาะ มีจำนวน 21 แห่ง ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งจะสอนโดยใช้ภาษามือเป็นหลัก
“ซีซันแรก ๆ เราเข้าไปที่โรงเรียนโสตศึกษา เป็นสังคมปิด เด็กหูหนวกอยู่ด้วยกันทั้งหมด เราจัดกิจกรรมพาเด็กออกมาข้างนอก สังเกตได้ว่าหลายคนทำตัวไม่ถูก จะสั่งน้ำแต่ไม่กล้า สั่งได้แต่เขาจะกลัวผิดกลัวถูก พอซีซัน 3 เปลี่ยนมาสอนที่วิทยาลัยดอนบอสโก ซึ่งเป็นโรงเรียนเรียนร่วม เด็กที่นี่พาพี่ไปซื้อน้ำได้ ไม่เคอะเขินกับการสื่อสารกับคนหูดี”
จากประสบการณ์ของ เอิ๊ก ปารเมศ ภาษิตปรัชญา อดีตครูอาสาวิชาถ่ายภาพและที่ปรึกษาโครงการ EDeaf เล่าว่า เด็กหูหนวกที่เรียนแบบเรียนร่วมจะมีทักษะการเข้าสังคมที่ดีกว่า เพราะคุ้นชินการสื่อสารกับคนหูดี การจัดกิจกรรมให้คนหูดี-หูหนวกได้ทำร่วมกันจะช่วยพัฒนาการสื่อสารของคนหูหนวก
นัทเสริมว่า การศึกษาของคนหูหนวกในไทยมีปัญหาหลายด้าน เช่น หลักสูตรของเด็กหูหนวกที่ใช้แบบเดียวกับหลักสูตรเด็กหูดี เพียงแต่ลดทอนเนื้อหาลง เพราะคลังศัพท์ภาษามือไทยมีจำกัด ต้องลดเนื้อหาตามความสามารถของผู้สอน ซึ่งส่วนใหญ่จบเอกสามัญทั่วไปแล้วมาเรียนภาษามือเพิ่มเพื่อสอนเด็กหูหนวก ทำให้เด็กหูหนวกได้รับความรู้พื้นฐานไม่ครบถ้วน หรือแม้แต่จำนวนโรงเรียนโสตศึกษาในไทยก็มีจำนวนน้อยมาก สะท้อนว่า ยังมีคนหูหนวกอีกหลายคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษา แม้จะเป็นสิทธิพื้นฐานที่เด็กคนหนึ่งควรได้รับ
EDeaf วางเป้าหมายระยะยาวของโครงการ คือ เสนอและปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของเด็กหูหนวก ปรับเนื้อหาทันสมัยตามความต้องการของสังคมในปัจจุบันเพื่อส่งเสริมการทำอาชีพและทักษะใหม่ ๆ โดยมีโจทย์หลัก คือ ทำให้คนหูหนวก-หูดีสามารถอยู่ร่วมกัน และเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียมกัน
“เราอยากสร้างความตระหนักให้สังคมเลยมีทีมประชาสัมพันธ์ (PR) ขึ้นมา ช่วยแชร์ข้อมูล สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนหูหนวก มีทีมจัดหาอาสาและทีมงาน (Recruit and Training) ดูแลการจัดเทรนนิ่งให้ครูอาสา เราอยากจะเข้าใจการศึกษาคนหูหนวกก็มีฝ่ายการเรียนรู้ (Learning and Development) มีหน้าที่สังเกตคลาสเรียน เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาต่อ ช่วงปีแรกเราก็พาทีมไปวิเคราะห์หลักสูตรคนหูหนวกเลยว่ามีช่องว่างตรงไหน หลักสูตรมีปัญหาอะไร แล้วถึงมีฝ่ายประสานงาน (Co-ordinator) ขึ้นมา” นัทอธิบายหน้าที่ของ core team ที่โครงการเปิดรับ ซึ่งล้วนเป็นอาสาสมัครทั้งหมด
เพื่อเสริมทักษะให้ตรงความต้องการของคนหูหนวก วิชาที่ EDeaf เปิดสอนจึงไม่เน้นทักษะวิชาการ แต่เป็นกิจกรรมที่คนหูหนวกสนใจ
ปิ่น ปิตินันท์ ปัญญาศรีวินิจ ในฐานะอาสาฝ่าย Learning and Development (LD) ผู้ช่วยออกแบบการเรียนรู้ให้คลาสเรียนของ EDeaf เล่าว่า วิชาทักษะที่เปิดสอน ไม่ว่าจะเป็นถ่ายภาพ ตัดต่อ ทำอาหาร หรือการเต้น มาจากการสำรวจในโรงเรียนว่าคนหูหนวกอยากเรียนอะไร แล้วจึงเปิดรับสมัครครูอาสาหูดีเข้ามาสอน
“เรารับสมัครคนที่มีทักษะในวิชานั้น ๆ เข้ามา แล้วก็จัดเทรนนิ่งให้ครูอาสา วันเทรนนิ่งมีทั้งการสอนภาษามือเบื้องต้น การนำเทคนิคที่ LD เก็บข้อมูลไว้ มาแชร์ว่า เรามีเทคนิคในการสอนน้องหูยังไงบ้าง เชิญคนหูหนวกหรือล่ามมาเล่าประสบการณ์ให้ครูอาสาฟังว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควรทำในห้องเรียน”
การเทรนนิ่ง คือ กิจกรรมที่พาอาสาสมัครหูดีก้าวเข้าสู่โลกไร้เสียงของคนหูหนวก ทำความเข้าใจวัฒนธรรมของคนหูหนวก ก่อนเริ่มกิจกรรมจริง ซึ่งจะช่วยให้การเรียนการสอนในห้องเรียน EDeaf ดำเนินไปด้วยความเข้าใจกันและกัน
เพราะมีเพียงความถนัดอย่างเดียวไม่พอ ครูอาสาจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย สื่อการสอนในห้องเรียนของ EDeaf จึงต้องปรับให้เข้ากับการเรียนรู้ของคนหูหนวก
“คนหูหนวกจะเรียนรู้จากภาพเป็นหลัก ครูอาสาที่ทำสไลด์สอนต้องดูเรื่องตัวอักษรหรือคำที่ใช้ ซึ่งควรเป็นคำที่เข้าใจง่าย ไม่ยาว มีรูปประกอบ ถ้ามีวิดีโอเปิดให้ดูด้วยก็จะดีมาก”
ปิ่นแนะนำว่า ในหนึ่งคาบเรียนไม่ควรใส่เนื้อหามากเกินไป เพราะต้องให้เวลานักเรียนหูหนวกทำความเข้าใจ ใช้เวลาอธิบายภาษามือประกอบ ควรมีครูอาสาอธิบายเพียงคนเดียว เพื่อให้น้องหูมีจุดโฟกัสภาษามือ โดยสัดส่วนของน้องหูและครูอาสาในห้องเรียน EDeaf คือ 1 ต่อ 1 เพราะจะสามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง และส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างคนหูดี-หูหนวกมากขึ้น
นักเรียนของ EDeaf มีทั้งคนหูหนวกและคนหูตึง โดยเด็กหูตึงส่วนใหญ่จะเรียนในโรงเรียนเรียนร่วม เพราะได้ยินเสียงบ้าง คนหูตึงแต่ละคนมีระดับการได้ยินมากน้อยแตกต่างกัน วัดเป็นเดซิเบล หากในห้องเรียน EDeaf มีนักเรียนหูตึงอยู่ด้วย จุดใดที่เพื่อนหูหนวกไม่เข้าใจก็จะมีนักเรียนหูตึงคอยช่วยอธิบาย
เชื่อมสัมพันธ์ สร้างฝัน และต่อยอดอาชีพ
“เป็นครู พนักงานบริษัท พนักงานโรงแรม ซักผ้า เช็กสินค้า แกร็บ”
คำตอบจาก มายด์ ลดาภรณ์ สันติชัยกมลกุล คนหูหนวกและอาสาสอนภาษามือ EDeaf เมื่อถามถึงอาชีพของคนหูหนวกในสังคมไทย เธอตอบด้วยภาษามือ และแปลเป็นคำพูดโดย เบลล่า วิมลศรี จินดานุ นักเรียนหูตึงของ EDeaf ผู้รับหน้าที่เป็นล่ามในวงสนทนาวันนี้
งานของคนหูหนวกถูกจำกัด เพราะหลายคนมองว่า ภาษา เป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน คนหูหนวกจึงมักได้ทำงานเบื้องหลังที่ไม่ต้องคุยกับคนมากนัก ทำให้โอกาสที่จะได้พูดคุยกับคนหูดีลดน้อยลงไปด้วย แต่การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหูหนวกไม่ได้ยากอย่างที่คิด
มายด์แชร์ประสบการณ์ว่า หากต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหูดีที่ไม่รู้ภาษามือ เธอจะใช้วิธีเขียนให้ดู อ่านปาก หรือแสดงสีหน้าท่าทาง เพื่อให้คนหูดีเข้าใจ รวมไปถึงการตกลงภาษามือบางคำกับผู้ร่วมงานหูดี เพื่อคุยแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น ครูอาสาและน้องหูในห้องเรียน EDeaf ก็ใช้วิธีเหล่านี้เช่นกัน
นอกจากการเชื่อมโลกคนหูดีและคนหูหนวกให้ใกล้กัน อีกหนึ่งเป้าหมายของ EDeaf คือ การเปิดโลกอาชีพและประสบการณ์ให้กับนักเรียนหูหนวก “คนหูหนวกในต่างประเทศเขาทำอาชีพใหม่ ๆ เป็นนักบิน ทำ coding เป็นหลายอย่างมาก แต่ในไทยยังมีช่องว่างตรงนี้อยู่” นัทอธิบาย
“เหมือนคนหูดีที่ตอนเย็นก็มีเรียนพิเศษตอนเย็น แต่วิชาทักษะเหล่านี้ไม่มีเปิดสอนสำหรับคนหูหนวก ถ้ามีส่วนใหญ่เป็นเย็บปักถักร้อย เรียนจบไปทำของขาย แต่สิ่งที่ EDeaf ทำ คือ ดูเทรนด์โลกด้วย อย่างยูทูบเบอร์ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อคอนเทนต์เป็นอาชีพได้ เราเลยสอนทักษะที่เขาไม่ได้หาเรียนได้ทั่วไปให้เขามีทักษะใหม่ ๆ” เอิ๊กเสริม
ในประเทศไทย คนหูหนวกมี Role Model และอาชีพที่ค่อนข้างจำกัด EDeaf จึงพยายามดึงอาสาสมัครหูดีเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้นักเรียนหูหนวกได้เห็นว่า ยังมีอีกหลายอาชีพในสังคมไทยที่คนหูหนวกสามารถทำได้
นัทมองว่า การเปิดสอนวิชานอกเหนือจากวิชาการทั่วไป จะช่วยเปิดโลก ประสบการณ์ และความฝันของคนหูหนวกมากขึ้น เป็นที่มาของกิจกรรม EDeaf ที่เน้นเสริมทักษะ เพื่อให้คนหูหนวกนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้
เมื่อการรับฟังต้องใช้ หัวใจ มากกว่า ใบหู
ถ้าคุณอยากเป็นเพื่อนกับหูหนวก สิ่งแรกที่มายด์แนะนำ คือ “เปิดใจให้กว้าง”
แค่เพียงทักทาย สวัสดี สบายดีไหม ทำอะไรอยู่ หรือกินข้าวหรือยัง ก็เพียงพอแล้วที่คนหูหนวกจะสัมผัสได้ถึงความจริงใจของคนหูดีที่อยากรู้จักพวกเขา
“ถ้าอยากคุยกับเขาจริง ๆ เราหาวิธีสื่อสารกันได้ อยากกินอะไรก็ชี้คุยกัน คนหูหนวกอยากสอนภาษามืออยู่แล้ว ถามเขาได้ว่าอันนี้ทำยังไง เขาก็อยากสอน” เอิ๊กบอกว่า แม้เรื่องภาษาอาจจะต่างกันบ้าง ด้วยข้อจำกัดของคำและไวยากรณ์ แต่หากมองเป็นการเล่นเกมส์ที่มีคำศัพท์ครบ แต่ต้องสลับคำให้ถูกที่ สักพักก็จะเข้าใจเองว่าหมายความว่าอย่างไร
“เราเรียนภาษาไทยไม่ค่อยครอบคลุม เขียนประโยคสลับคำ เพราะไวยากรณ์คนหูหนวกกับหูดีไม่เหมือนกัน” มายด์เล่าให้ฟังถึงข้อกังวลเมื่อครั้งยังเรียนในโรงเรียนโสตศึกษา
“อย่างเช่น จะบอกว่าไม่อร่อย ภาษามือเขาจะเป็น อร่อย ไม่มี (ทำภาษามือ)” เอิ๊กอธิบายเพิ่ม เพราะในภาษามือไม่มีคำเชื่อมประโยค ไวยากรณ์คนหูหนวกถอดมาจากภาษามือ จึงส่งผลให้เขียนคำสลับกัน แต่เวลาเขียนคุยกันก็ไม่จำเป็นต้องสลับคำ คนหูหนวกจะได้เรียนรู้ไวยากรณ์ของคนหูดีด้วย
เขามองว่า ภาษามือเป็นภาษาที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีคำขยายให้ฟุ่มเฟือย คนหูหนวกจึงค่อนข้างพูดตรง ฉะนั้นหากเข้าใจหลักการตรงนี้ ใช้คำเป็นคีย์เวิร์ด บอกเขา ใคร ทำอะไร ที่ไหน เท่านี้เขาก็เข้าใจ
นัทเสริมว่า ความถนัดของแต่ละโรงเรียนก็ส่งผลต่อวิธีสื่อสารและความเข้าใจของเด็กหูหนวกแต่ละคนด้วยเช่นกัน
“สำหรับคนหูหนวก ภาษาแรก คือ ภาษามือ ภาษาที่สอง คือ ภาษาเขียน บางโรงเรียนก็โฟกัสที่เขียน ทำให้น้องหูหนวกบางคนได้ภาษามือน้อยกว่า กลายเป็น conflict ของการเรียนรู้ แต่ละโรงเรียนก็เรียนไม่เหมือนกันอีก เรามีหลักสูตรแกนกลางก็จริง แต่ความถนัดของแต่ละโรงเรียนก็ต่างกัน”
ภาษามือ คือ ภาษาที่ตกลงกัน แต่ละประเทศมีภาษามือของตัวเอง หรือแม้แต่ในประเทศไทย ในแต่ละจังหวัด แต่ละโรงเรียนก็อาจใช้ไม่เหมือนกัน ถ้าคนหูหนวกต่างที่มาเจอกัน อาจต้องใช้เวลาปรับความเข้าใจให้ตรงกันระยะหนึ่ง หากวิชาใดมีคำศัพท์เฉพาะ ครูอาสากับน้องหูก็จะตกลงภาษามือที่ใช้เรียกคำนั้น ๆ ด้วยกัน
“สุดท้ายในชีวิตจริง เขาไม่ได้เจอคนที่ใช้ภาษามือได้ตลอด ไม่ได้มีล่ามตลอด และต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ก็เป็นคนหูดี คนหูดีในสังคมจึงควรเข้าใจว่า เวลาเจอคนหูหนวกต้องปรับตัวหรือสื่อสารยังไง ส่วนคนหูหนวกก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน ถ้าเขาเจอคนที่ใช้ภาษามือไม่ได้ เขาจะหาวิธีไหนเพื่อคุยกัน เพื่อเข้าใจกัน มันมีหลายวิธีมากที่ทำให้เราเข้าใจกันได้ แม้จะไม่ได้ภาษามือ” เอิ๊กบอก
นอกจากภาษามือ ยังมีการเขียน การอ่านปาก และหากมีโอกาสได้คุยกับคนหูหนวกจะเห็นว่า ระหว่างสนทนา พวกเขาจะแสดงสีหน้าประกอบภาษามือ มองแล้วเข้าใจได้ว่ารู้สึกอย่างไร วิธีอ่านปากและใช้ภาษาเขียนก็ช่วยได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่คนหูหนวกทุกคนที่จะอ่านปากได้
“คนหูตึงส่วนใหญ่อ่านปากได้ แต่ถ้าหูหนวกมีน้อยคน เพราะเขาไม่รู้ว่าการออกเสียงเป็นยังไง แต่ก็มีคนที่ไม่ได้หูหนวกตั้งแต่เกิด อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุตอนโต เขาอ่านปากได้ เพราะเคยได้ยินมาก่อน เดาได้ว่าคำนี้พูดว่าอะไร จริง ๆ คนหูหนวกที่ทำงานกับคนหูดีบ่อย ๆ ก็จะอ่านปากได้ดี” นัทอธิบาย
ช่วงโควิดคนหูหนวกอาจเจอปัญหาในการสื่อสาร เพราะการใส่แมสก์บดบังการแสดงสีหน้าและทำให้อ่านปากไม่ได้ เบลล่าเล่าว่า หากเป็นคนที่คุ้นเคยกัน เธอก็พอเดาจากน้ำเสียงได้ว่าพูดถึงอะไร
“พี่มายด์เป็นคนหูหนวกที่อ่านปากเก่ง เขาทำงานสื่อสารกับคนหูดีบ่อย อาจจะไม่ได้ยินตั้งแต่เกิด แต่ในโรงเรียนโสตศึกษาฯ สอนอ่านปากอยู่แล้ว ก็พอจะเดาประโยคต่อได้ ส่วนหูตึงอย่างเบลล่าก็จะอ่านได้ดีเพราะเขาได้ยินเสียงด้วย” เอิ๊กเสริม
หากโลกของคนหูดีและหูหนวกเข้าใกล้กันอีกสักนิด เราอาจจะได้คุยกันบ่อย ๆ และคงเป็นเพื่อนกันได้ไม่ยาก
สายสัมพันธ์ของ Deaf Community ที่เชื่อว่าทุกคนเรียนรู้ไปด้วยกัน
“มีหลายฟีดแบ็กจากครูอาสาบอกว่า ตอนแรกไม่กล้าคุยกับคนหูหนวก แต่ตอนนี้เริ่มกล้ามากขึ้นแล้ว ทักษะภาษามือนี่ได้แน่นอน ถ้าตั้งใจ (หัวเราะ) เพราะตอนสอนในห้องก็ต้องใช้ภาษามือ ใช้ความเข้าใจในการสื่อสาร ต้องใจเย็น empathize ใช้คำไหนดี ท่าทางแบบไหนดี ควรจะสื่อสารอย่างไร ควรระวังเรื่องอะไร เรียนรู้กัน”
ในฐานะผู้ก่อตั้ง EDeaf นัทมองว่า สิ่งที่อาสาสมัครจะได้รับกลับไปจากโครงการ คือ การได้เข้าใจวัฒนธรรมและภาษาของคนหูหนวก
แม้คลาสแรก ๆ ในห้องเรียน EDeaf จะมีล่ามอาสาคอยช่วยแปล เพราะครูอาสายังเริ่มต้นไม่ถูก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ห้องเรียนแห่งนี้จะทำให้ครูอาสากับน้องหูเรียนรู้และอยู่ร่วมกันได้เอง เมื่อทุกคนคุยกันได้ เป็นเพื่อนกันได้ ไม่มีล่ามก็ไม่เป็นไร ไม่เข้าใจก็แค่เขียนให้ดู หรือถามน้องหูว่าต้องทำภาษามืออย่างไร
“มันต้องใช้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทุกคนมาด้วยใจ วิธีการพูดก็ต้องคิดถึงใจเขาใจเราด้วย จากที่คุยกับหลาย ๆ ฝ่าย เขาบอกว่า ชอบที่จะทำ EDeaf เพราะถ้าอยากขึ้นมานำโปรเจกต์อะไร ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์มาก่อนก็ได้ แค่คุณมีใจอยากทำ ไม่มีใครตั้งคำถามกับความสามารถของเรา”
อดีตทีมงานซีซัน 3 ที่ขยับขึ้นมาเป็น Project Leader ในซีซัน 4 อย่างปิ่น บรรยายประสบการณ์ที่เธอได้รับจากโครงการให้ฟัง เพราะทีมงานใน EDeaf คือ กลุ่มอาสาสมัครทั้งหมด ทุกคนต่างมีงานหลักของตัวเอง นอกจากการเข้าใจธรรมชาติของน้องหูแล้ว การสื่อสารอย่างเข้าใจกับเพื่อนร่วมทีมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
และมากไปกว่าความเข้าใจ อีกสิ่งสำคัญที่อาสาสมัคร EDeaf จะได้รับกลับไปจากพื้นที่แห่งนี้ คือ
“ได้เป็นเพื่อนกับคนหูหนวกครับ” คำตอบสั้น ๆ เรียบง่ายที่เรียกรอยยิ้มให้กับทุกคน จากเอิ๊ก อดีตครูอาสาที่อยู่มาตั้งแต่ซีซันแรกของ EDeaf
อันที่จริงการเป็นเพื่อนกับคนหูหนวกนั้นไม่ยากเลย แค่ลองเปิดใจกล้าทำความรู้จักกับพวกเขา เรียนรู้คำทักทายภาษามือเบื้องต้น หรือนึกถึงคนหูหนวกบ้าง
“ทุก ๆ การกระทำอยากให้คนหูดีนึกถึงเขา include คนหูหนวกเข้าไปในสังคม แม้จะเป็นคนจำนวนน้อยในสังคม แต่เขามีภาษาและวัฒนธรรมของตัวเอง เราสามารถรู้จักและเรียนรู้ไปพร้อมกับเขาได้ ถ้าสื่อต่าง ๆ เล็งเห็นความสำคัญของภาษามือ แค่มีช่องเล็ก ๆ มีล่ามภาษามืออยู่ด้วย คงช่วยคนหูหนวกได้ดีมาก ๆ”
ปิ่นอธิบายว่า การใส่ซับไตเติลหรือเพิ่มช่องล่ามภาษามือในวิดีโอก็ทำให้คนหูหนวกเข้าถึงสื่อและเรียนรู้ได้ดีขึ้น ถ้าคนในสังคมมองเห็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ของคนหูหนวกมากขึ้น คนหูหนวกก็จะสามารถเรียนผ่านยูทูบได้เหมือนคนหูดี
นัทเสริมว่า อยากให้มีสื่อภาษามือมากขึ้น เพราะปัจจุบันถึงวิดีโอจะมีซับไตเติล แต่คนหูหนวกไม่ได้เข้าใจทุกคำ ส่วนใหญ่จึงโฟกัสภาพมากกว่าคำแปล “ในต่างประเทศ สื่อฝรั่งมีให้เรียนเยอะมาก ตามยูทูบ ภาษามืออเมริกา (American Sign) เสิร์ชเจอง่ายมาก แต่ภาษามือไทย (Thai Sign) นี่หาเรียนยาก”
เราอาจเคยเห็นล่ามภาษามือในรายการข่าวหรือประชุมสภา แต่เคยสงสัยไหมว่า คนหูหนวกดูละคร หรือรายการบันเทิงอื่น ๆ อย่างไร มายด์เล่าให้ฟังว่า เธอต้องอ่านซับไตเติลเป็นหลัก แต่ถ้าไม่มีก็ต้องอาศัยดูภาพ เดาจากสีหน้าของตัวละคร หรือให้คนในครอบครัวที่เป็นคนหูดีอธิบายให้ฟังอีกที
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคนหูหนวกที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
“ถ้าพ่อแม่มีลูกเป็นเด็กหูหนวกจะต้องทำยังไง ต้องเสริมพัฒนาการของเขายังไง องค์ความรู้ตรงนี้ในไทยยังขาดอยู่” ปิ่นอธิบายว่า ปัญหาการเข้าไม่ถึงสื่อทำให้เด็กหูหนวกไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนหูหนวกในสังคมไทยยังมีไม่มาก หลายคนติดภาพจำว่าคนพิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่เธอมองว่า ไม่ว่าจะเป็นคนหูหนวกหรือคนพิการประเภทไหนก็มีศักยภาพและทำทุกอย่างได้เหมือนกับเราทุกคน
“ตอนที่ไม่รู้จักเขา เราก็กังวลว่าจะสื่อสารยังไง แต่พอมาเรียนรู้กับเขา คนหูหนวกก็เป็นคนเหมือนเรา แค่สื่อสารกันคนละภาษา เหมือนคนต่างชาติที่ใช้คนละภาษากับเรา พอเราเข้าใจเขา เราจะรู้ว่าเขาทำได้เหมือนเราทุกอย่าง เราทำอาหารได้ เขาก็ต้องทำอาหารได้” เอิ๊กเปรียบเทียบให้เห็นว่าการคุยกับคนหูหนวกไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด และเราเป็นเพื่อนกันได้
“วันหนึ่งทุกคนอาจจะเป็นคนพิการก็ได้ แล้วเราจะอยู่ในสังคมแบบไหน? ถ้าเรามองว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นคนพิการได้ เราจะเริ่มคิดถึงว่า อะไรคือสิ่งที่คนพิการจำเป็นต้องใช้ ไม่ได้มองว่าต้องสงสาร แต่เป็นภารกิจที่ทุกคนต้องทำร่วมกันเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ” นัทย้ำจุดหมายของ EDeaf อีกครั้ง
เขาไม่เชื่อว่าระบบการศึกษาของคนหูหนวกจะดีขึ้นได้จากแรงสนับสนุนจากคอมมูนิตี้คนหูหนวกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างความตระหนักให้สังคมรับรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมทั้งคนหูดีและคนหูหนวก เพราะสังคมการเรียนรู้คนหูหนวกจะไปต่อไม่ได้หากขาดการมีส่วนร่วมของคนหูดี
และที่สำคัญคืออย่าลืม ‘เปิดใจ’
“เราอยากแลกเปลี่ยน คุยกัน สื่อสารกัน อยากรู้จักกับคนหูดี เรายินดีสอนภาษามือ ถ้าภาษามือไม่ได้ ก็เขียนคุยกันได้ ขอแค่เปิดใจ” มายด์และเบลล่าตอบปิดท้ายถึงสิ่งที่พวกเธออยากบอกกับคนหูดี ก่อนที่บรรยากาศการพูดคุยร่วม 2 ชั่วโมงที่ดำเนินไปอย่างช้า ๆ พร้อมรอยยิ้มและภาษาที่ไม่คุ้นเคยจะต้องจบลง
สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นคนหูหนวกหรือคนหูดี เราจะมีวิธีเข้าใจมนุษย์ด้วยกันเองเสมอ